One Take” เป็นภาพยนตร์สารคดีของ BNK48 เรื่องที่สองผลงานการกำกับของอดีตนักแสดงสาวที่หันมาทำงานด้านการกำกับ โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล” ที่จะพาเราไปสัมผัสกับโลกหลังเวทีของสาว ๆ BNK 48 ที่กำลังพยายามแข่งขันฟันฝ่าเพื่อที่จะได้อยู่ท่ามกลางแสงไฟเจิดจ้า

โดยประเด็นของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เลือกที่จะโฟกัสไปที่ “การแข่งขัน” บนเส้นทางของความฝันระหว่างสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 กับรุ่นที่ 2

Play video

สมมุติว่าถ้าเราได้โอกาสมา แต่ว่าคนในวงเขาไม่ได้ยินดีกับเรา หนูรู้สึกว่ามันน่ากลัว”

 

“เราต้องแข่งกับทุกคนในวง ถึงแม้เราจะบอกว่าเราไม่ได้แข่งก็ตาม”

 

“แต่หนูก็ต้องขอโทษที่หนูมีความโลภ ที่อยากได้ตำแหน่งตรงนี้เหมือนกัน”

 

แค่ได้ยินถ้อยคำของเหล่าสมาชิกจากในตัวอย่างหนังเราก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของการแข่งขันที่ “มาคุ” และความโหดร้ายของ “ระบบ” ที่ทำให้เด็กสาวเหล่านี้ต้องมาต่อสู้กันเพื่อขึ้นไปเปล่งกระกายบนเวทีที่ “ไม่มีที่ยืนสำหรับทุกคน”

ย้อนกลับไปในปี 2018 กับ “Girls Don’t Cry” ภาพยนตร์สารคดี BNK 48 เรื่องแรกที่กำกับโดย “เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” อันเปรียบเสมือนกับหนังภาคแรกของ “One Take” ซึ่งได้พาเราไปสำรวจถึงภายในใจกลางความรู้สึกของเหล่าสมาชิกที่พร้อมมีรอยยิ้มสดใสบนเวทีแต่อาจมีบาดแผลเก็บไว้ภายในใจ

บรรยากาศมาคุของการแข่งขันระหว่างสมาชิกถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่ใน Girls Don’t Cry แล้ว หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ (ซึ่งตอนนี้สามารถรับชมได้แล้วทาง Netflix) คงยังจำกันได้ถึงฉากหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่มีความ “ดรามาติก” ที่สุดของหนังภาคนี้คือ ภาพการฝึกซ้อม “ข้างเวที” เพียงลำพังของ “จิ๊บ” สุชญา แสนโคต หนึ่งในสมาชิก BNK 48 รุ่น 1 ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็น “เซ็มบัตสึ” แต่ก็ยังคงแสดงถึงความพยายามที่ไม่ย่อท้อด้วยการขึ้นมาซ้อมไปพร้อมกับเพื่อน ๆ อยู่เสมอ

จิ๊บ BNK 48

 

จิ๊บผู้ไม่เคยย่อท้อต่อความฝัน

จิ๊บได้พูดถึงเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง “วันแรก (Shonichi)” ที่ร้องว่า “คำว่าพยายาม ไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ” และมีคนมาคอมเมนต์เธอว่า “ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร แต่จิ๊บน่ะพยายามมากพอแล้วรึยัง?”

 เป็นคำคอมเมนต์ที่ปล่อยออกไปโดยที่ไม่รู้เลยว่าคนที่ถูกกล่าวหาเค้าได้พยายามมากมายแค่ไหน

“คนที่มาบอกว่าคนอื่นพยายามไม่พอน่ะ เคยลองพยายามแล้วรึยัง คำที่บอกว่า ‘พยายามไม่พอ’ น่ะมันต้องพยายามขนาดไหนมันถึงจะพอสำหรับเค้า”

 “ความพยายาม” อาจไม่ได้เป็นแค่เพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ใครสักคนได้รับชัยชนะ โดยเฉพาะบนเวทีที่มี “ความนิยมชมชอบ” เข้ามาเป็นตัวตัดสิน เหมือนที่ “ปัญ” หนึ่งในสมาชิกที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น ๆ ของ BNK 48 ได้แสดงความเห็นไว้ว่า

“เมมเบอร์อันเดอร์หลายคนมีความสามารถมากกว่าเซ็มบัตสึ บางทีอาจจะมากกว่าหนูด้วยซ้ำ อย่างจิ๊บนี่ก็ร้องเพลงเก่งมากแต่ว่าความนิยมน้องเค้าไม่ดีเพราะอะไรหลาย ๆ อย่าง”

แต่อย่างน้อยจิ๊บก็เคย “ชนะ” มาแล้วครั้งหนึ่งจากการถูกเลือกมาเป็นสมาชิก BNK 48 นั่นย่อมเป็นการการันตีว่าเธอนั้น “มีของ” แน่ ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ “ทักษะการร้องเพลงที่ดี” แต่ดูเหมือนว่ามันยังคงถูกซ่อนเอาไว้รอวันส่องประกายออกมาเท่านั้นเอง

“It’s Me” คือบทเพลงที่ประกาศความเป็นไปของจิ๊บหลังเรื่องราวใน Girls Don’t Cry ที่จบลงไปโดยที่เรายังไม่เห็นดอกผลในความพยายามของจิ๊บ ในทางหนึ่งการที่ให้จิ๊บเป็นคนร้อง “It’s Me” และใช้เป็นซิงเกิลเปิดภาพยนตร์สารคดีภาคนี้อาจดูเป็นการจงใจ “dramatize” เพื่อให้ความรู้สึกที่เรามีต่อ “ตัวละครจิ๊บ” ในหนังภาคแรกส่งต่อมาที่ “ตัวละครจิ๊บ” ในหนังภาคต่อมา

แต่ถ้าเราไม่ตัดสินว่ามันเป็นไปในมิตินั้น ต้องบอกว่า “It’s Me” คือการแปรสภาพของจิ๊บจาก “ลูกเป็ดขี้เหร่” สู่ “นางหงส์ขาว” ที่สง่างามและองอาจ

ท่วงทำนองอันละมุนเศร้าในบรรยากาศที่ล่องลอยของ It’s Me จากการเรียงร้อยท่วงทำนองของ “ศรัทธา โรจนกตัญญู” หนึ่งในทีมเรียบเรียงเสียงเครื่องสายจากบทเพลง “นิรันดร์” ของ Bodyslam ผสานกันกับการเรียบเรียงเสียงดนตรีของ “Nonaka Yuichi” ผู้เรียบเรียงดนตรีให้กับ AKB 48 หลายเพลง อาทิ Kimi wa Melody เป็นเสมือนเวทีที่ตระเตรียมมาอย่างดีให้จิ๊บได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เซอร์ไพรส์คนฟังอย่างเราเหมือนกันก็คือ เนื้อร้องที่เขียนโดยเบนจามิน จุง ทัฟเนล” หรือ “เบน อดีตนักร้องนำวง Silly Fools” ที่นอกจากจะเรียงร้อยอารมณ์ผ่านภาษาไทยได้อย่างงดงามแล้ว ในช่วงที่กระแส BNK 48 ยังแรงใหม่ ๆ จากเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย Koisuru Fortune Cookie” เบนเคยโพสต์ไว้ในเชิงเสียดสีถึง BNK 48 ว่า “อยากรู้ว่าเทรนด์ BNK 48 จะไปต่อได้สักกี่น้ำ Girlband แบบนี้ Asia Only!” แต่ในวันนี้เบนกลับเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานร่วมกับ BNK 48 และทำได้ออกมาได้ดีเสียด้วย

 

“แตกต่างจากใครเขา ไม่เห็นจะเป็นไร

แต่ละคนมีเรื่องราว เข้าใจ

ไม่เห็นต้องเหมือนใคร

 

มีวันที่ท้อแท้ พ่ายแพ้ในหัวใจ

แต่บางวันมีเรื่องราวที่ดี

อยากเป็นอย่างนี้ตลอดไป

 

เรียนรู้และเข้าใจ

สุดท้าย….นี่คือฉัน

 

*I have to be true

It’s all I can do

I can’t be you …. Huuuuu”

 

เสียงอันแผ่วหวานของจิ๊บค่อย ๆ กลั่นเอาความรู้สึกจากข้างในเผยออกมาสู่ภายนอก  อารมณ์ละมุนค่อย ๆ โชยขึ้นมาทีละนิดก่อนที่อารมณ์จะพวยพุ่งเกินขีดกั้นใด ๆ ในช่วงท้ายของบทเพลง การไล่อารมณ์ของเพลงนั้นทำได้ดีมาก น้อยแต่หนักแน่นในความรู้สึก ทั้งท่วงทำนองดนตรี เนื้อร้อง และเสียงร้องของจิ๊บคือสามประสานที่ทำงานกันอย่างสามัคคี

แต่ยังมีอีกหนึ่งพลังที่เข้ามาประสานคืองาน Music Video ผลงานการกำกับของ “เอิร์ธ วิโรจน์ สุวรรณรักษ์กูล” (ผู้กำกับ MV “แฟนหาย” ของ The Richman Toy และ “ทำได้ไง” ของ Mon Monik) ที่ทำออกมาได้ดีมาก ทั้งการวางองค์ประกอบภาพ การจัดแสง และ การใส่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ค่อย ๆ สร้างภาพการกลายร่างของจิ๊บจากลูกเป็ดขี้เหร่ที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมเศร้าเฝ้าร้องเพลงเงียบ ๆ เพียงลำพังในขณะที่ทุกคนเฉิดฉายอยู่ภายในจอโทรทัศน์ แสงสีเหลืองส้มคือสีที่ใช้ผสมลงไปในห้วงอารมณ์เศร้านี้ ก่อนที่มันจะกลายตัวไปเป็นสีฟ้าในช่วงที่จิ๊บค่อย ๆ ทอประกายออกมาก่อนออร่าของเธอจะสว่างจ้าในแสงขาว ที่เปิดตัวเธออย่างไม่มีปิดบังเพื่อให้เราได้เห็นถึงความสง่างามของ “หงส์ขาว” คนนี้

Play video

ไม่รู้ว่าหลังจากได้ฟังเพลงนี้แล้ว ใครจะยังมีคำถามถึง “ความพยายาม” ของจิ๊บอยู่อีกรึเปล่า

แต่เราว่าวันนี้จิ๊บน่าจะได้คำตอบแล้วว่า “ต้องพยายามแค่ไหนมันถึงจะพอ” เพราะนี่ล่ะคือ “ดอกผลของคนพยายาม” ที่แท้จริง.

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส