เป็นหนังที่เพียบพร้อมคุณค่าทั้งสาระบันเทิงอีกเรื่อง ที่ยังอยู่ในใจผู้ชมตลอดมา แม้ว่าวันนี้จะมีอายุครบ 20 ปีแล้วก็ตาม หนังประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน

  •  ด้านเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์หนังได้คะแนนใน Rottentomatoes.com สูงถึง 76%
  •  ด้านรางวัลหนังเข้าชิงออสการ์แบบเป็นประวัติการณ์ มากถึง 12 รางวัล แต่ก็คว้ามาได้ 5 รางวัล ซึ่งรวมไปถึงรางวัลใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
  •  ด้านรายได้ หนังใช้ทุนสร้างไป 103 ล้านเหรียญ ถ้าเทียบอัตรเงินเฟ้อในปีนี้ก็เท่ากับ 154 ล้านเหรียญ กวาดรายได้ทั่วโลกไปถึง 460 ล้านเหรียญ เทียบอัตราเงินเฟ้อปีนี้ก็เท่ากับ 691 ล้านเหรียญ เป็นตัวเลขที่สตูดิโอเจ้าของหนังยิ้มแป้นได้เลย
รัสเซล โครว์ กับผู้กำกับ ริดลีย์ สกอตต์

รัสเซล โครว์ กับผู้กำกับ ริดลีย์ สกอตต์

จากความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทำให้ รัสเซล โครว์ กลายเป็นนักแสดงคู่ขวัญของผู้กำกับ ริดลีย์ สกอตต์ เนื่องจากถูกคอกันดีทำงานกันได้เข้าขา ทำให้มีหนังของคู่นี้ออกมาต่อเนื่องถึง 5 เรื่อง Gladiator (2000), A Good Year (2006); American Gangster (2007); Body of Lies (2008) และ Robin Hood (2010) แต่เรื่องถัดไปก็ไม่มีเรื่องใดประสบความสำเร็จได้เท่ากับ Gladiator อีกเลย

เป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างหนึ่งที่ว่า ปกติวิสัยของฮอลลีวูดแล้ว หนังที่ประสบความสำเร็จถึงเพียงนี้ เราจะต้องได้เห็นสตูดิโอรีบเข็นภาคต่อออกมาภายในระยะเวลาไม่กี่ปีให้หลัง แต่กับ Gladiator แล้ว กว่าสตูดิโอจะประกาศสร้าง Gladiator 2 ก็เมื่อปี 2018 นี่เอง แต่เหตุด้วย Gladiator ได้จบไปอย่างสวยงามแล้วในภาคแรก ตัวละครหลักตายกันหมดแล้ว พลอตของภาค 2 เลยต้องเขียนให้กระโดดข้ามไปอีก 25 ปีข้างหน้า แล้วเล่าเรื่องราวของ ลูเซียส ลูกชายของ ลูซิลลา บทของ คอนนี นิลเซ็น ในภาคแรก ที่เป็นหลายชายของ คอมโมดดัส บทของ วาคีน ฟินิกซ์ ซึ่ง ลูเซียส เป็นเด็กชายที่ชื่นชมในตัว แม็กซิมัส เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเติบโตขึ้นมาโดยมี แม็กซิมัส เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ

ลูเซียส ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นตัวเอกใน Gladiator 2

ลูเซียส ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นตัวเอกใน Gladiator 2

โพรเจกต์ภาคต่อนี้มีเพียง ริดลีย์ สก็อตต์ ผู้กำกับคนเดียวเท่านั้นที่กลับมารับหน้าที่ ส่วนมือเขียนบทในภาคนี้ได้ ปีเตอร์ เครก มารับหน้าที่ ปีเตอร์ ขึ้นแท่นมือเขียนบทที่ฮอลลีวูดต้องการตัว เพราะผลงานที่ผ่านมาอย่าง The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 และ 2 ก็ประสบความสำเร็จดี แล้วยังตอกย้ำด้วย Bad Boys for Life ที่กวาดรายได้ไปถล่มทลาย แถมยังมี Top Gun: Maverick จ่อคิวฉายอีกเรื่อง

ปีเตอร์ เครก มือเขียนบทที่เริ่มงานเขียน Gladiator 2 ไปแล้ว

ปีเตอร์ เครก มือเขียนบทที่เริ่มงานเขียน Gladiator 2 ไปแล้ว

แต่หลังจากที่มีข่าวว่า ปีเตอร์ เครก มารับผิดชอบบทภาพยนตร์ Gladiator 2 ตั้งแต่ปี 2018 มานั้น จนถึงบัดดนี้ก็ยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าอีกเลย ก็หวังว่าสตูดิโอจะรีบเดินหน้าให้ได้เปิดกล้องในเร็ววัน เพราะว่าตอนนี้ ริดลีย์ สกอตต์ ก็ปาเข้าไป 83 ปีแล้ว แกจะยังมีเรี่ยวแรงกำกับหนังแอ็กชันคนตีกันได้ไหวอีกหรือไม่

ถึงตรงนี้เรามาย้อนอดีตความสำเร็จของ Gladiator กันด้วย 20 เกร็ดน่ารู้จากหนังที่หลายคนน่าจะยังไม่เคยรู้กันมาก่อน เชื่อว่าหลาย ๆ ข้อ น่าจะอ่านแล้วต้องชวนให้หยิบหนังมาเปิดดูกันอีกสักรอบเป็นแน่

ฉากต่อสู้กับ ไทกริส แห่ง กอล

ฉากต่อสู้กับ ไทกริส แห่ง กอล

1.ในฉากที่แม็กซิมัส ต้องต่อสู้กับ ไทกริส แห่งกอล ในสนามที่ล้อมรอบด้วยเสือ 5 ตัวนั้น เป็นการดัดแปลงบทภายหลัง เพื่อในบทดั้งเดิมนั้นฉากนี้จะใช้ “แรด” เข้าแาก แต่ว่าถ่ายทำได้ยากไม่ว่าจะเป็นการฝึกแรด ที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย หรือถ้ามาใช้ซีจี ก็งบประมาณบานปลายอีก จึงเปลี่ยนมาให้แม็กซิมัสต่อสู้กับเสือแทน การถ่ายทำฉากนี้ใช้เสือจริงเข้าฉาก แม้ว่าจะเป็นเสือโคร่งที่ฝึกมาจนเชื่องแล้ว แต่ทีมงานก็ไม่ชะล่าใจ ได้เตรียมพร้อมป้องกันด้วยการให้สัตวแพทย์ประจำการพร้อมลูกดอกยาสลบ เพื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน ตัวรัสเซล โครว์ เองก็ต้องรักษาระยะห่างจากเสือไว้ 4-5 เมตร ตลอดการถ่ายทำ

2.รัสเซล โครว์ ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่จะมารับบทเป็น แม็กซิมัส ตัวเลือกแรกที่จริงแล้วคือ เม็ล กิ๊บสัน ในวันที่ถ่ายทำนั้น เม็ล อายุ 43 ปีแล้ว ซึ่งเขาก็ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวเขาเองอายุเกินจากบทไปมากแล้ว ตัวเลือกต่อมาคือ แอนโตนิโอ แบนเดราส และ ฮิวจ์ แจ็กแมน แต่สุดท้ายก็มาจบที่ รัสเซล โครว์ ซึ่งอายุ 36 ปี ในวันนั้น

Pollice Verso

Pollice Verso

3.มีการชักจูงความสนใจ ริดลีย์ สกอตต์ ด้วยวิธีการแปลก ๆ ผู้อำนวยการสร้างของหนัง วอลเธอร์ เอฟ.พาร์คส์ และ ดักลาส วิก ได้เข้าพบ ริดลีย์ สกอตต์ เพื่อยื่นข้อเสนอให้เขามากำกับ Gladiator พร้อมกับนำภาพเขียนลือชื่อ Pollice Verso ผลงานของศิลปิน Jean-Léon Gérôme’s ที่เขียนไว้ในปี 1872 โดยผู้อำนวยการสร้างทั้งสองกล่าวว่าเขาอยากจะสร้างหนังที่มีบรรยากาศนักสู้ในสนามประลองตามบรรยากาศในภาพนี้เลย ชื่อภาพที่ว่า Pollice Verso นั้น แปลว่า “หัวแม่มือชี้ลงพื้น” การชักจูงสำเร็จไปด้วยดี ริดลีย์ สกอตต์ ตอบรับข้อเสนอ และยังใช้เรื่องราวในภาพนี้มานำเสนอในฉากไคลแมกซ์ของหนัง ที่คอมโมดัส ทำสัญลักษณ์หัวแม่มือคว่ำลง

4.บทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ จอห์น โลแกน นั้น ไม่ได้เขียนให้ลูกและภรรยาของแม็กซิมัสโดนฆ่า แต่เนื้อหาในส่วนนี้ถูกเขียนเติมแต่งเข้าไปภายหลัง จุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มแรงผลักดันให้กับแม็กซิมัสที่ต้องการแก้แค้น คอมโมดัส

ต้องสร้างชุดเกราะขึ้นมาใช้ถ่ายทำจำนวนมาก

ต้องสร้างชุดเกราะขึ้นมาใช้ถ่ายทำจำนวนมาก

5.เนื่องด้วยเป็นหนังย้อนยุค และใช้นักแสดงในฉากรบจำนวนมาก ทำให้หนังต้องใช้ชุดนักแสดง ชุดเกราะ อาวุธต่าง ๆ มากมาย ไม่มีโรงงานไหนที่สามารถผลิตชุดจำนวนมากในระยะเวลาที่กำหนดได้ทัน สุดท้ายชุดเกราะเหล็กกว่า 100 ชุด ชุดหนังจากโพลียูรีเธนอีกกว่า 500 ชุด ก็ผลิตเสร็จสิ้นด้วยฝีมือของทีมงานกองถ่ายนั่นเอง ใช้เวลาในการผลิต และตัดเย็บ 3 เดือน ได้ผลงานออกมาเป็นชุดเกราะและอุปกรณ์รวมแล้วกว่า 27,500 ชิ้น

ป่าเบิร์นวูด

ป่าเบิร์นวูด

6.ฉากเปิดเรื่องที่แม็กซิมัสนำทัพโรมันต่อสู้กับกองทัพคนเถื่อนเยอรมาเนียในป่านั้น กองถ่ายยกขบวนไปถ่ายทำกันที่ ป่าเบิร์นวูด ในอังกฤษ กระทรวงทรัพยากรและป่าไม้ของอังกฤษ ไอ้อนุรักษ์ป่านี้ไว้ ห้ามตัดไม้ในพื้นที่นี้โดยเด็ดขาด ทำให้ป่าเบิร์นวูดนั้นอุดมสมบูรณ์มาก และถูกใช้เป็นฉากหลังในการถ่ายทำหนังและทีวีซีรีส์ดัง ๆ หลายเรื่องแล้วเช่น Band Of Brothers, Warhorse, Robin Hood, Thor: The Dark World, Captain America, Wolfman และ The Avengers: Age of Ultron ใช้เวลาในการถ่ายทำแค่ฉากนี้ถึง 20 วัน

Ouarzazate

Ouarzazate

7.ฉากโรงเรียนสอนการต่อสู้นั้น ไปถ่ายทำกันที่เมือง Ouarzazate ในโมร็อกโก อยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาแอตลาส ทุกวันนี้อุปกรณ์ประกอบฉากหลายชิ้น ยังคงทิ้งค้างไว้ที่เมืองนั้น นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมและถ่ายภาพกับอุปกรณ์ประกอบฉากเหล่านี้ได้ เมืองโบราณนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังหลายเรื่องเช่น Lawrence of Arabia, The Living Daylights, The Last Temptation of Christ, The Mummy, Legionnaire, Salmon Fishing in the Yemen และ Game of Thrones

ฉากภายในโคลอสเซียม

ฉากภายในโคลอสเซียม

8.ฉากภายในสนามโคลอสเซียมนั้น ทีมงานสร้างสนามจำลองขึ้นมาที่เมือง ริคาโซลี, มอลตา ฉากที่สร้างขึ้นมานั้นมีขนาดเท่าสนามโคลอสเซียมจริง แต่สร้างแค่ฐานล่างในความสูง 15 เมตร ที่เห็นคนดูด้านล่างเพียงไม่กี่แถว ส่วนแถวบน ๆ ที่เห็นในหนังนั้นใช้เทคนิคซีจีล้วน ๆ แม้จะใช้ปูนและไม้อัดเป็นหลักในการก่อสร้าง จุดประสงค์แค่ใช้งานถ่ายทำเพียงแค่ชั่วคราว แต่แค่นี้ก็ต้องสร้างกันหลายเดือนกว่าจะเสร็จ ใช้ต้นทุนในการก่อสร้าง 1 ล้านเหรียญ

โอลิเวอร์ รีด ในบท พร็อกซิโม

โอลิเวอร์ รีด ในบท พร็อกซิโม

9.เรื่องที่ช็อกทีมงานมากที่สุดในระหว่างถ่ายทำ Gladiator คือการเสียชีวิตของนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ โอลิเวอร์ รีด ผู้รับบทนายทาส พร็อกซิโม เขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ขณะอยู่ระหว่างถ่ายทำในมอลตา ด้วยวัย 61 ปี ที่เครียดสุดคือฉากที่โอลิเวอร์ รีด ต้องแสดงยังถ่ายทำไม่หมด ทีมงานต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ตัวแสดงแทน แล้วใช้เทคนิคซีจีเอาหน้าของโอลิเวอร์ รีด มาซ้อนทับ จากผลงานที่เราได้ชมกันไป ก็ถือว่าแนบเนียนมาก เฉพาะการแก้ไขปัญหานี้ใช้งบประมาณไปมากถึง 3.2 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

10.วิลเลียม นิโคลสัน ผู้เขียนบทภาพยนตร์ เห็นว่างานของเขาไม่มีอะไรต้องทำในกองถ่ายแล้ว เขาจึงกลับบ้านที่อังกฤษ พอถึงบ้านเท่านั้นล่ะ โทรศัพท์เขาก็ดังขึ้นทันที แจ้งข่าวร้ายว่า โอลิเวอร์ รีด เสียชีวิตกะทันหัน เขาต้องมาแก้ไขบทโดยด่วน วิลเลียม ต้องรีบซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวแรกกลับกองถ่ายทันที

Play video

11.บทพูดที่แม็กซิมัสบรรยายสภาพบ้านที่เขาจากลูกและเมียมานั้น เป็นบทพูดด้นสดของรัสเซล โครว์ เอง ที่เขานึกถึงบ้านเกิดในออสเตรเลียโดยเฉพาะท่อนที่เขาพูดถึงกลิ่นในยามเช้าและยามค่ำ เช่นเดียวกับประโยค “Am I not merciful?” ของคอมโมดัส ก็เป็นคำที่ วาคีน ฟินิกซ์ คิดขึ้นมาเอง ตอนที่เข้าฉากกับ คอนนี่ นิลเซ็น ปฏิกิริยาตอบรับจากเธอในบท ลูซิลลา นั้นจึงมาจากความรู้สึกขณะนั้นจริง ๆ

Play video

12.เหตุผลเดียวที่ โอลิเวอร์ รีด ตอบรับแสดงในบท พร็อกซิโม นั้น เพราะเขาจะได้ถือโอกาสนี้ได้ตัวฟรีบินไปดูโชว์ในอังกฤษสัก 2-3 โชว์

13.ฉากที่สอดแทรกเข้ามาบ่อย ๆ เป็นภาพช่วงสั้นที่เห็นแม็กซิมัสเดินเล่นในทุ่ง แล้วเอามือสัมผัสไปตามยอดข้าวสาลี แม็กซิมัสที่เห็นฉากนี้ไม่ใช่ รัสเซล โครว์ แต่เป็นสตันท์ของเขาที่ สจวร์ต คลาร์ก

14.แม้ฉากเสี่ยงอันตราย รัสเซล โครว์ จะใช้ตัวแสดงแทน แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็บาดเจ็บอย่างมากจากการถ่ายทำ Gladiator นิ้วชี้ขวาของเขาไม่มีความรู้สึกไปถึง 2 ปี เหตุจากฝึกฟันดาบอย่างหนัก เอ็นร้อยหวายฉีกขาด กระดูกเท้าแตก กระดูกบริเวณสะโพกร้าว เอ็นกล้ามเนื้อแขนเคลื่อนออกจากช่อง

สัญลักษณ์แห่งการ ไว้ชีวิต

สัญลักษณ์แห่งการ ไว้ชีวิต

15.ในการแข่งขันกลาดิเอเตอร์ตามจริงแล้วนั้น การชูนิ้วหัวแม่มือขึ้นแปลว่า “ให้สังหาร” กลับกันถ้าชูนิ้วหัวแม่มือลงคือ “ไว้ชีวิต” แต่ทีมงานสร้างพิจารณาแล้วว่า ถ้าดำเนินตามจริงคนดูจะสับสนกับรูปแบบความเข้าใจในปัจจุบัน จึงยึดถือตามค่านิยมในปัจจุบันจะดีกว่า

16.รัสเซล โครว์ ลดน้ำหนักลงถึง 18 กิโลกรัม เพื่อบทแม็กซิมัสนี้ เขาบอกว่าไม่ได้ควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดแต่อย่างใด ก็เพียงแค่ทำงานในฟาร์มตัวเองที่ออสเตรเลียให้หนักขึ้นเท่านั้น

รอยแผลจริง จากอุบัติเหตุในการถ่ายทำ

รอยแผลจริง จากอุบัติเหตุในการถ่ายทำ

17.ในฉากรบแรกของหนัง เราจะสังเกตเห็นแผลบนแก้มขวาของรัสเซล โครว์ นั่นไม่ใช่การเมกอัป แต่เป็นแผลจริง เกิดจากม้าในฉากเกิดอาการตื่นตระหนกแล้วทำให้รัสเซล โครว์ หงายท้องร่วงลงมา แก้มขวาเขาโดนกิ่งไม้ถากจนเป็นรอยแผล

ภาพเขียนจำลองเหตุการณ์ที่ นาร์ซิสซัส บีบคอกษัตริย์ คอมโมดัส จนตาย

ภาพเขียนจำลองเหตุการณ์ที่ นาร์ซิสซัส บีบคอกษัตริย์ คอมโมดัส จนตาย

18.ตามประวัติศาสตร์จริงนั้น คอมโมดัส เป็นกษัตริย์โรมันเพียงคนเดียวที่เคยลงสนามมาเป็นนักสู้กลาดิเอเตอร์อยู่หลายครั้ง คอมโมดัสไม่ได้เสียชีวิตในสนาม แต่ถูกลอบปรงพระชนม์ในห้องแต่งตัว โดยนักกีฬาชื่อ นาร์ซิสซัส

วิลเลียม นิโคลสัน

วิลเลียม นิโคลสัน

19.มีดราม่าในกองถ่ายระหว่าง รัสเซล โครว์ กับผู้เขียนบทภาพยนตร์ วิลเลียม นิโคลสัน เหตุจาก รัสเซล โครว์ ไม่พอใจบทพูดจากฝีมือของวิลเลียม นิโคลสัน รัสเซล จึงเอาบทพูดไปปรับแก้ใหม่ที่เขาคิดว่าเหมาะกับบทของเขามากกว่า และหลาย ๆ ครั้งที่รัสเซล โครว์ ด้นสดในบางฉาก อ้างถึงบทพูดดัง “And I will have my vengeance, in this life or the next” เป็นประโยคที่รัสเซล โครว์ ไม่ชอบเอาเลย เขาถึงออกปากตำหนิ วิลเลียม นิโคลสัน “บทพูดของคุณมันขยะชัด ๆ แต่ผมน่ะเป็นนักแสดงระดับโลก เดี๋ยวผมจะทำให้ดูว่าผมสามารถพูดบทห่วย ๆ ของคุณให้ฟังดูดีขึ้นเอง” อาจจะเพราะประโยคนี้มันไม่สามารถด้นหรือปรับแต่งให้ดีกว่านี้แล้วก็ได้ ทำให้รัสเซล โครว์ ต้องพูดไปตามบทเป๊ะ ๆ วิลเลียม นิโคลสัน ก็น่ารักที่ไม่ตอบโต้อะไรเลย เขาเพียงแต่น้อมรับ “จากที่รัสเซลว่ามา บทพูดผมอาจจะห่วยจริง ๆ ก็ได้นะ” แต่แล้วบทภาพยนตร์ Gladiator ฝีมือของ วิลเลียม นิโคลสัน ก็ได้เข้าชิงออสการ์ในปีนั้น เขาเคยได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้วจาก Shadowlands (1993)

ริชาร์ด แฮร์ริส และ รัสเซล โครว์

ริชาร์ด แฮร์ริส และ รัสเซล โครว์

20.รัสเซล โครว์ นี่โจทก์เยอะจริง โอลิเวอร์ รีด ไม่ชอบขี้หน้าเขาทันทีที่แรกเห็น ถึงขนาดเคยออกปากท้าต่อยกับรัสเซล โครว์ มาแล้ว แต่ก็มีทั้งคนรักคนเกลียดนะ รัสเซล โครว์ ถูกคอกับ ริชาร์ด แฮร์ริส นักแสดงอาวุโสผู้รับบท ซีซาร์ เขาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรื่องนี้

อ้างอิง อ้างอิง