วิกฤตการณ์ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจทั่วโลก วงการภาพยนตร์ก็เป็นอีกธุรกิจใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างจัง ทั้งในด้านสตูดิโอผู้สร้างหนังที่ต้องเลื่อนกำหนดฉายหนังของตัวเองออกไป กองถ่ายทุกเรื่องต้องหยุดถ่ายทำ ส่วนหนังที่ฉายเสร็จแล้วก็ไม่มีทั้งโรงฉายและคนดู เพราะแฟรนไชส์โรงหนังรายใหญ่ ๆ ก็ปิดกิจการชั่วคราว หนังบางเรื่องที่เพิ่งออกฉายก็หมดหนทางที่จะเก็บรายได้ ถึงเปิดฉายต่อไปก็ยากที่จะทำเงิน ทางด้านโรงหนังก็เดือดร้อนหนัก เพราะคนเริ่มเก็บตัวเองอยู่กลับบ้าน ไม่มีใครกล้าที่จะเข้าโรงหนังในช่วงนี้ เพราะโรงหนังเป็นสถานที่ปิดตายเสี่ยงต่อการติดไวรัส ในช่วงระยะวิกฤตนี้ สตูดิโอใหญ่ ๆ ล้วนเจ็บหนัก ต่างก็ต้องคิดหาช่องทางที่จะสร้างรายได้กลับเข้าบริษัท
ยูนิเวอร์แซลเป็นสตูดิโอใหญ่รายแรกที่เริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางใหม่ท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้ ตอนนี้ยูนิเวอร์แซลมีหนัง The Invisible Man ที่กำลังทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่แล้ว Covid-19 ก็มาขัดขวางรายได้ในช่วงกอบโกยเสียอย่างนั้น อีกเรื่อง The Hunt หนังระทึกขวัญที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม นี้ ออกฉายไม่กี่วันโรงหนังก็ทยอยปิดทำการ หนังยังไม่ทันได้ทุนคืนเลย ยูนิเวอร์แซลก็เลยทำการตลาดด้วยการปล่อยหนังทั้ง 2 เรื่องนี้ให้ผู้ชมสามารถเช่าดูทางออนไลน์ได้ (via on-demand platforms) เริ่มเปิดบริการไปเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม นี้ แต่ราคาเริ่มต้นค่อนข้างสูงไปหน่อยนะ $19.99 (ประมาณ 650 บาท) พอมีเสียงบ่นว่าค่าบริการสูงจัง ทางยูนิเวอร์แซลก็แนะนำให้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการเช่าหนังดูที่บ้านอย่างนี้ เทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องขับรถออกไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ ที่จะต้องมีเพิ่มมาทั้งค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าอาหารและอื่น ๆ จิปาถะ แล้วการจ่ายค่าเช่าหนังจากทางยูนิเวอร์แซลก็สามารถรับชมได้ทั้งครอบครัว จะดูกี่รอบก็ได้ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากชำระเงิน
พอยูนิเวอร์แซลเปิดบริการเช่าหนังออกมาแบบนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างจังก็คือ เครือข่ายโรงภาพยนตร์รายใหญ่สุดในสหรัฐฯ อย่าง AMC ที่ออกตัวต่อต้านระบบดูหนังผ่านสตรีมมิงมาโดยตลอด ว่าแนวทางการตลาดแบบนี้ไม่เห็นใจเจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์กันเลย โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ มานี่ เจ้าของหนังเริ่มมีช่องทางการตลาดใหม่ ด้วยการเอาหนังออกฉายในโรงภาพยนตร์เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แล้วก็หันมาปล่อยให้เช่าชมออนไลน์ พอเป็นหนังใหม่ชนโรงก็จะเก็บค่าเช่าได้แพงหน่อย แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่วิกฤตการณ์ไวรัสแพร่ระบาด บีบบังคับให้โรงหนังต้องปิดตัวชั่วคราวแบบนี้ ก็เป็นข้ออ้างอย่างดีที่บรรดาสตูดิโอใหญ่จะเปิดเช่าหนังออนไลน์กันแบบนี้ ซึ่งก็เป็นโอกาสเหมาะเจาะสอดคล้องพอดีกับความต้องการของผู้ชมที่อยู่ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน การเช่าหนังออนไลน์จึงเป็นช่องทางการหาความบันเทิงที่ดี แต่ก็มีผู้คนอีกจำนวนมากที่กังวลกับการเติบโตของตลาดเช่าหนังออนไลน์แบบนี้ ทั้งเจ้าของโรงภาพยนตร์ ทั้งคอหนังที่รักการเสพหนังบนจอใหญ่ ที่ห่วงว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ตลาดโรงภาพยนตร์จะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมหรือไม่
รายที่เครียดหนักสุดก็หนีไม่พ้น AMC ธุรกิจเครือข่ายโรงภาพยนตร์ ที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 มาตั้งแต่ต้นปี มาถึงตอนนี้ ราคาหุ้นในตลาดของ AMC ตกลงมากกว่า 60% Cinemark และ Regal อีก 2 เครือข่ายโรงภาพยนตร์ก็เจ็บหนักพอ ๆ กัน ตอนที่สิ่งเดียวที่บรรดาเจ้าของเครือข่ายโรงภาพยนตร์จะทำได้ก็เพียงแต่เฝ้าภาวนาให้ภาวะวิกฤตผ่านพ้นไปโดยวัย และหนังเบอร์ใหญ่ ๆ ที่เลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ให้กลับมาเข้าโรงฉายโดยเร็ววัน และที่สำคัญคือ คนดูจะไม่เคยชินกับการนอนดูหนังอยู่บ้าน แต่ยังรักบรรยากาศการดูหนังในโรงภาพยนตร์เช่นเคย
ในขณะที่เจ้าของโรงภาพยนตร์เฝ้าภาวนาอยู่นั้น ศัตรูตัวสำคัญของโรงภาพยนตร์ก็คือ NETFLIX ก็เหมือนได้โอกาสทองในช่วงนี้ จัดโปรโมชันเรียกลูกคัาใหม่สุด ๆ ล่าสุดนี่เปิดบริการใหม่ Netflix Party ให้เราเปิดหนังหรือซีรีส์ดูพร้อมกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ที่ไหนก็ได้ ได้รับชมไปพร้อม ๆ กัน แถมมีห้องแชตให้เมาท์มอยกันได้ขณะรับชมอีกด้วย ส่วน DIsney+ ก็เพิ่งปล่อย Frozen 2 และโปรแกรมใหญ่อย่าง The Rise of Skywalker ออกมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม นี้เอง เชื่อว่าไม่นานนี้ก็ต้องได้เห็นโปรโมชันเด็ด ๆ จากค่ายสตรีมมิงอื่น ๆ อย่าง Apple TV+, HBO Max และ Amazon Prime ตามมาอย่างแน่นอน แล้วอาจจะซ้ำร้ายไปกว่านั้น ถ้าบรรดาสตูดิโอใหญ่เห็นแนวทางนำร่องของยูนิเวอร์แซลที่ปล่อยเช่าหนังแล้วไปได้ดี แล้วเปิดเช่าหนังใหม่ ๆ บนช่องทางออนไลน์ ตามอย่างยูนิเวอร์แซล แทนที่จะเลื่อนหนังไปเรื่อย ๆ จนกว่าวิกฤตการณ์จะสงบ ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ ถ้ามาแนวนี้ หนทางรอดของเครือข่ายโรงภาพยนตร์ก็ดูจะริบหรี่เต็มทน
ทวิตเตอร์ทางการจาก Disney ที่ประกาศปล่อยหนัง Frozen II ทาง DisneyPlus
It’s here! #Frozen2 is now streaming on #DisneyPlus in the US. Coming to Canada, Netherlands, Australia and New Zealand this Tuesday. pic.twitter.com/0bxRUYNPXg
— Disney (@Disney) March 14, 2020
มองตามภาพจริง การที่บรรดาสตูดิโอผู้สร้างหนังจะเลือกช่องทางใหม่ ๆ ในการเสิร์ฟสินค้าให้ตรงความต้องการผู้บริโภคตามสถานการณ์ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะแต่ละสตูดิโอก็เจ็บหนักไม่แพ้เครือข่ายโรงภาพยนตร์ คาดการณ์กันว่าในช่วงที่ Covid-19 แพร่ระบาดนี้ ธุรกิจภาพยนตร์ฮอลลีวูดสูญเสียรายได้ไปแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญ และในขณะที่สถานการณ์ยังเลวร้ายอยู่ในขณะนี้ ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียก็ย่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ
และแน่นอนว่าความสูญเสียมหาศาลขนาดนี้ ย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างเรา ๆ อีกด้วย กระทบในแง่ไหน ก็ในแง่โอกาสที่จะได้ดูหนังใหม่ ๆ ฟอร์มใหญ่ก็จะมีน้อยลง เมือสตูดิโอบาดเจ็บหนักขนาดนี้ การที่จะอนุมัติควักเงินทุนในการสร้างหนังเรื่องใหม่ ๆ ก็ยากขึ้น คิด คำนวณ ใคร่ครวญกันมากขึ้น จะมีการอนุมัติสร้างในโพรเจกต์ที่มั่นใจจริง ๆ เรื่องไหนพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสเสี่ยงก็น่าจะยกเลิกไป รวมไปถึงบางเรื่องที่เคาะไฟเขียวไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ถึงกำหนดเปิดกล้อง ก็อาจจะโดนยกเลิกในช่วงนี้ก็เป็นได้ อธิบายให้เห็นภาพชัด ๆ ว่า หลังสถานการณ์คลี่คลาย เราก็จะได้ดูแต่หนังซูเปอร์ฮีโร และหนังภาคต่อจากแฟรนไชส์ที่สร้างมาแล้วทำเงินอย่างแน่นอนเช่น Mission Impossible, Fast, Jurassic World ประมาณนี้
เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่าวันหนึ่งธุรกิจโรงภาพยนตร์อาจจะมาถึงจุดจบ แต่การมาของ Covid-19 ก็เหมือนการเร่งให้วาระสุดท้ายของธุรกิจโรงภาพยนตร์เขยิบมาเร็วขึ้นเท่านั้น การมาถึงจุดเปลี่ยนในช่องทางการรับชมภาพยนตร์ก็เป็นไปตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี เช่นเดียวกับรถที่ใช้น้ำมัน แล้วกำลังจะมาใช้ไฟฟ้า หรือเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมากสุดก็คือธุรกิจเพลงและดนตรี ที่พบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในช่วงต้นยุค 2000s กับการเข้ามาของเทคโนโลยี Mp3 ที่สะดวกในการรับฟังและแบ่งปัน โดยผู้ริเริ่มตลาดนี้ก็คือ Napster และการเข้าร่วมตลาดของมหาอำนาจรายใหญ่อย่าง Apple ที่เปิดบริการ iTunes และ Ipod มารองรับตลาด Mp3 ซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ถึงกาลต้องโบกมือลาให้กับ Tower Record เจ้าพ่อเก่าในวงการธุรกิจดนตรี ถึงแม้รูปแบบการเสพดนตรีจะเปลี่ยนไป แต่ธุรกิจดนตรีก็ยังทำรายได้อยู่ในระดับพันล้านเช่นเดิม ตลาดใหญ่ในวันนี้ก็มาในรูปแบบสตรีมมิงที่กำลังห้ำหั่นกันระหว่าง Spotify, Apple และ Youtube ที่เพิ่งโดดลงมาร่วมในช่องทาง Youtube Music
ตอนนี้ที่น่าติดตามสุดก็คือ หลังผ่านพ้นวิกฤต Covid-19 แล้ว ธุรกิจโรงภาพยนตร์จะกลับมายืนในจุดความนิยมเดิมได้หรือไม่ ถ้ากลับมาแล้วจะรักษาสถานภาพไปได้อีกยาวนานแค่ไหน จะมีกลเม็ดในการต่อสู้กับช่องทางสตรีมมิงอย่างไร ผู้สร้างหนังไทยจะหันมาขายหนังใหม่ผ่านช่องทางสตรีมมิงด้วยหรือไม่ ถ้าใครรักใครชอบที่จะดูหนังในโรงภาพยนตร์เช่นเคย ไม่เพียงแเต่เอาใจช่วยนะครับ ต้องขยันออกไปสนับสนุนซื้อตั๋วดูหนังในโรงเพื่อต่ออายุให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์กันนะครับ