หากใครเคยได้ชมภาพยนตร์หนังไดโนเสาร์ในตำนานอย่าง Jurassic Park (1993) ก็อาจจะพอจำเรื่องราวในเรื่องได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ได้นำ DNA ของแมลงในยุคดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในฟอสซิลลักษณะไข่สีเหลืองอำพันมาสกัดและนำไปเพาะพันธุ์ฟื้นคืนชีพไดโนเสาร์มากมายอย่างที่เห็นกันในภาพยนตร์ แม้ว่าจะดูเหนือจินตนาการไปหน่อย แต่รายงานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดก็ได้ค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่ถูกห่อหุ้มไว้เช่นเดียวกับในหนัง และยังเป็นไดโนเสาร์ “ตัวที่เล็กที่สุดในโลก” เท่าที่เคยถูกขุดพบมาอีกด้วย
การค้นพบไดโนเสาร์ที่ตัวเล็กที่สุดและเป็นสปีชีส์ใหม่ ได้รับการเรียกว่า Oculudentavis khaungraae ถูกประกาศการค้นพบโดยทีมนักขุดฟอสซิลชื่อ “Weirdest fossil” ซึ่งขุดซากฟอสซิลอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาร์ พวกเขาพบฟอสซิลไข่สีเหลืองอำพันที่ภายในนั้นมีโครงกระดูกของไดโนเสาร์ลักษณะคล้ายนกมีอายุถึง 99 ล้านปี โดยขนาดของซากนกใกล้เคียงกับขนาดของนกฮัมมิงเบิร์ด นกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์มองว่า การค้นพบครั้งนี้น่าสนใจตรงที่มนุษย์จะได้ศึกษาวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ว่า จากนกขนาดเล็กชนิดนี้จะวิวัฒน์ไปเป็นไดโนเสาร์ขนาดมหึมาในช่วงเวลาต่อมาได้อย่างไร
ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยถูกขุดพบก่อนหน้านี้ คือพันธ์ุ Microraptor ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 100 กรัม แต่ฟอสซิลนกไดโนเสาร์นี้มีขนาดเพียงแค่ 2 กรัมเท่านั้น “การที่สัตว์จะวิวัฒน์หรือกลายพันธุ์ให้ร่างกายหรืออวัยวะมีขนาดเล็ก มักจะมีสาเหตุจากหลายประการเช่น เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประสาทสัมผัสที่ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม หรือการรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมตามสภาวะต่าง ๆ” ศาสตราจารย์ Jingmai O’Connor แห่งหน่วยงานด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศจีนให้คำอธิบายเอาไว้
การที่สายพันธุ์นี้ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oculudentavis ก็เป็นเพราะลักษณะของปากที่ยื่นยาวออกมาคล้ายสายพันธ์ุของสัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงการมีฟันที่แหลมคมภายในปากเป็นจำนวนมาก จึงถูกสันนิษฐานว่า เจ้า Oculudentavis khaungraae น่าจะเป็นสายพันธุ์ประเภทนักล่า “พวกเราโชคดีมาก ๆ ครับที่ค้นพบฟอสซิลชิ้นนี้ และมันยังเหลือรอดมาให้พวกเราได้เจอหลังผ่านเวลามานานถึง 99 ล้านปีแล้ว” O’Connor กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส