เคนนี โรเจอส์ (Kenny Rogers) ตำนานแห่งวงการเพลงคันทรีผู้มีบทบาทสำคัญในการพาดนตรีแขนงนี้ให้ไปสู่หูผู้ฟังในวงกว้าง ฮิตติดชาร์ตในระดับเดียวกับเพลงพอป ในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 ได้ลาลับจากไปในวัย 81 ปีอย่างสงบที่บ้านพักใน แซนดี้ สปริงส์ รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางครอบครัวอันเป็นที่รัก
เคนนี โดนัลด์ โรเจอส์ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปี 1938 ที่เมืองฮิวส์ตัน เป็นลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 8 คน พ่อของเขา “เอ็ดเวิร์ด ฟลอยด์ โรเจอส์” เป็นช่างไม้และนักดนตรีสมัครเล่นที่ติดเหล้า ส่วนแม่ของเขา “ลูซีล เฮสเตอร์ โรเจอส์” จบการศึกษาแค่เพียงเกรด 3 แต่สามารถดูแลครอบครัวทั้งหมดได้ด้วยการรับจ้างทำความสะอาดและทำงานในโรงพยาบาล
ถึงแม้ว่าพ่อของเคนนีจะไม่ได้เป็นนักดนตรีอาชีพ แต่ก็ได้สร้างบรรยากาศทางดนตรีขึ้นในบ้าน เครื่องดนตรีที่พ่อเล่นคือไวโอลิน ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ก็จะเล่นเครื่องโน้นเครื่องนี้แตกต่างกันไป และมีวาระโอกาสให้ได้เล่นดนตรีร่วมกันอยู่บ่อย ๆ
พอเข้าโรงเรียนเคนนีก็เข้าไปอยู่ในวงประสานเสียงทั้งในโรงเรียนและที่โบสถ์ แต่ความสนใจในด้านดนตรีจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นในตอนที่เขามีอายุ 12 ปีหลังจากที่ได้มีโอกาสไปดูเรย์ ชาลส์เล่นในคอนเสิร์ต
“เขาเหมือนดั่งของขวัญจากพระเจ้า ผู้คนพร้อมจะหัวเราะในทุกสิ่งที่เรย์พูด พวกเขาปรบมือให้ในทุกเพลงที่เรย์ร้อง”
เคนนีรู้สึกขึ้นมาในใจถึงความมหัศจรรย์ของบทเพลงและเสียงดนตรี ความปรารถนาบางอย่างได้หยั่งรากลงไปในใจของเขาแล้ว
“ผมไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นผมจะร้องเพลงได้ไหม รู้แต่เพียงว่าผมหลงใหลในความจริงใจจากเสียงดนตรีของเขาก็เท่านั้นเอง”
หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษทั้งสองก็ได้มีโอกาสร่วมร้องในเพลงเดียวกันจากการเป็นหนึ่งในนักร้องชั้นแนวหน้าที่มาร่วมกันขับขานบทเพลง “We Are The World”
ในช่วงไฮสคูล เคนนีได้ฟอร์มวงดนตรีแนว doo-wop ขึ้นมาชื่อว่า “The Scholars” ซึ่งเขารับหน้าที่ร้องประสานและเล่นกีตาร์ หลังจากวงแตก เคนนีก็ยังคงเดินหน้าในเส่นทางสายดนตรีจนได้มีซิงเกิลแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวออกมาในปี 1957 ชื่อว่า “That Crazy Feeling”
ในช่วงทศวรรษที่ 50 เคนนีได้เข้าสู่เส้นทางดนตรีด้วยการร่วมงานกับนักร้องแจ๊สนามบ็อบบี ดอยล์ และเข้าร่วมเล่นกับวงโฟล์กประสานเสียงนาม “New Christy Minstrels” ในปี 1961 เล่นดับเบิลเบส กีตาร์เบส และร่วมร้องด้วย
ต่อมาในปี 1967 เคนนีและสมาชิกวง New Christy Minstrels จำนวนหนึ่งได้ออกจากวงและไปฟอร์มวงใหม่ด้วยกันคือ “The First Edition” จนมีเพลงฮิตออกมาในปี 1968 ชื่อว่า “Just Dropped In (To See What Condition My Condition Was In)” บทเพลงไซคีเดลิกร็อกที่ไต่ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดในอันดับที่ 5 ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินเพลงนี้ในฉากฝันของหนังตลกร้ายจากพี่น้องโคเอนเรื่อง “The Big Lebowski”
จากนั้นเคนนีค่อย ๆ มีบทบาทในฐานะหัวหน้าวง The First Edition และมีเพลงฮิตออกมาในปีต่อมาคือ “Ruby, Don’t Take Your Love to Town” จากนั้นแนวทางดนตรีของวงก็เริ่มออกไปทางคันทรีมากขึ้น
เคนนี โรเจอส์บอกว่าเพลงที่เขาร้องนั้นสามารถจัดประเภทได้ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือเพลงบัลลาดที่พูดในสิ่งที่ผู้ชายทุกคนอยากจะบอกและผู้หญิงทุกคนอยากจะได้ยิน อีกแบบคือเพลงเล่าเรื่องที่สะท้อนสังคม
อย่างเพลง “Reuben James” เพลงฮิตติดชาร์ตในปี 1969 ก็เป็นเพลงที่เกี่ยวกับชายผิวดำที่เลี้ยงเด็กผิวขาว ส่วน “Ruby, Don’t Take Your Love to Town” อีกหนึ่งเพลงฮิตจากปีเดียวกันก็เกี่ยวกับทหารผ่านศึกคนหนึ่งที่กลับมาจากสงครามเวียดนาม เขากลายเป็นคนไร้สมรรถภาพและต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น ในทุก ๆ คืนเขาต้องทนมองดูภรรยาตนเองออกไปพบกับชายอื่น
“She’s leavin’ now cause I just heard the slammin’ of the door
The way I know I’ve heard it slam 100 times before
And if I could move I’d get my gun and put her in the ground”
เธอกำลังออกไปอีกแล้วเพราะผมได้ยินเสียงเปิดประตู
แบบเดียวกับที่ผมเคยได้ยินมาแล้วกว่าร้อยครั้ง
และหากผมสามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ผมจะไปเอาปืนและสอยเธอให้ร่วงเลย
ในที่สุด The First Edition ก็เป็นอันต้องแยกทางกันในปี 1976 จากนั้นเคนนี โรเจอส์ก็ฉายเดี่ยวมาโดยตลอด และได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินชื่อดังในยุคนั้นหลายคนอาทิ ดอลลี่ พาร์ตัน และ ชีน่า เอสตัน รวมไปถึง ไลโอเนล ริชชี คู่หูนักแต่งเพลงของเคนนี
จากนั้นซิงเกิล “Lucille” ในปี 1977 นั้น ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในฐานะศิลปินเดี่ยวของเคนนี เพลงนี้สามารถไต่ขึ้นถึงอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงพอปใน 12 ประเทศ มียอดขายมากกว่า 5 ล้านก๊อปปี้ และทำให้เคนนีโด่งดังกว่าช่วงที่อยู่กับวง The First Edition
“Lucille” คือบทเพลงบัลลาดเล่าเรื่องในสไตล์ของเคนนี เล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานในการพบเห็นหญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า “Lucille” ที่กำลังทอดทิ้งสามีของเธออย่างโหดร้าย
“You picked a fine time to leave me, Lucille
With four hungry children
And a crop in the field
I’ve had some bad times
Lived through some sad times
But this time you’re hurting won’t heal
You picked a fine time to leave me, Lucille”
เธอเลือกเวลาทิ้งฉันได้ดีเหลือเกิน ลูซีล
ในเวลาที่ลูกน้อยทั้งสี่ของเรากำลังหิวโหย
และไหนจะผลผลิตในไร่ของเราอีก
ฉันเคยผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายมาหลายครั้ง
ต้องมีชีวิตในความหม่นหมองอีกหลายครา
แต่ในครั้งนี้บาดแผลที่เธอทิ้งไว้รักษาคงไม่หาย
เธอช่างเลือกเวลาทิ้งฉันได้ดีเหลือเกิน ลูซีล
อีกหนึ่งเพลงดังในยุคนี้ของเคนนีคือ “The Gambler” บทเพลงอันคมคายที่เปรียบเปรยการเล่นไพ่กับการใช้ชีวิต ที่ออกมาในปี 1978 บทเพลงนี้ทำให้เคนนีได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1980 และได้รับการคัดเลือกในปี 2018 ให้อยู่ใน National Recording Registry โดย หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress)
“You got to know when to hold ’em, know when to fold ’em
Know when to walk away and know when to run
You never count your money when you’re sittin’ at the table
There’ll be time enough for countin’ when the dealing’s done”
คุณควรต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะถือมันไว้ เมื่อไหร่ควรจะทิ้งไพ่
เมื่อไหร่ควรจะเดินจากไป เมื่อไหร่ควรจะวิ่ง
อย่าไปนับเงินในตอนที่คุณยังนั่งอยู่ที่โต๊ะ
เรามีเวลามากพอที่จะนับมัน เมื่อเกมนั้นจบลง
จากนั้น “The Gambler” ได้ถูกพัฒนามาเป็นละครซีรีส์แนวคาวบอยทางโทรทัศน์ในทศวรรษที่ 80s ซึ่งเคนนีรับบทนำเป็นตัวละครที่ชื่อว่า “The Gambler”
จากนั้นเคนนี โรเจอส์ก็ได้รับบทบาทการแสดงต่อมาอีกหลายเรื่องส่วนใหญ่เป็นละครซีรีส์ทางโทรทัศน์ ส่วนภาพยนตร์ขนาดยาวเคนนีได้แสดงหนึ่งเรื่องคือ “Six Pack” ในปี 1982
นอกจากบทบาทการแสดงแล้วเคนนียังเป็นนักถ่ายภาพมือฉกาจ โดยออกตีพิมพ์ผลงานภาพถ่ายสองเล่มด้วยกันคือ “Kenny Rogers’ America” (1986) รวมภาพถ่ายสถานที่สำคัญในอเมริกาและสถานที่อื่น ๆ ที่น่าสนใจ และ “Your Friends and Mine” (1987) รวมภาพ portrait ของเหล่าเซเลบทั้งหลายอาทิ เรย์ ชาร์ลส์, อลิซาเบธ เทย์เลอร์ และ ไมเคิล แจ็กสัน
อีกบทบาทหนึ่งที่ประสบความสำเร็จของเคนนีคือการเป็นเจ้าของกิจการ Kenny Rogers Roasters ร้านอาหารเมนูไก่ที่เขาร่วมทุนกับจอห์น วาย. บราวน์ จูเนียร์ อดีตผู้ว่าการรัฐเคนทักกีและผู้บริหารของไก่ทอด KFC นั่นเอง นอกจากเปิดสาขาในอเมริกาแล้ว ยังขยายการตลาดไปในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ละแวกบ้านเรานั่นเอง
ตลอดระยะเวลากว่า 81 ปีของเคนนี เขาได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าแล้ว ได้ทำในหลายสิ่งหลายอย่างที่ตัวเองรัก สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าฝากไว้ให้กับโลกใบนี้ แม้ในวันนี้กายเขาจะได้จากไป แต่จิตวิญญาณที่เคนนี โรเจอส์ทิ้งไว้ในผลงานของเขาจะยังคงอยู่ตลอดไป และเราจะระลึกถึงเขาเสมอเมื่อได้ยินเสียงดนตรีจากผู้ชายคนนี้อีกครา.
Source
https://www.nytimes.com/2020/03/21/arts/music/kenny-rogers-dead.html
https://variety.com/2020/music/obituaries-people-news/kenny-rogers-dead-dies-1203541233/
http://sportsandentertainmentnashville.com/kenny-rogers-the-photographer/
https://en.wikipedia.org/wiki/Kenny_Rogers
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส