ฮอลลีวูดมีช่องทางในการหาไอเดียมาสร้างหนังได้หลากหลาย ทั้งจากเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อสร้างหนังโดยเฉพาะ ดัดแปลงมาจากนิยายขายดีบ้าง เอาทีวีซีรีส์ฮิต ๆ มาดัดแปลงเป็นหนังบ้าง แต่ช่องทางหนึ่งที่นิยมกันมากและส่วนใหญ่มักจะประสบความสำเร็จก็คือการสร้างหนังจากเหตุการณ์จริง หรือนำชีวประวัติบุคคลจริงมาสร้าง เลือกจากบุคคลที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จัก หรือได้เคยสร้างวีรกรรมที่น่าตื่นตะลึงไว้ แต่ภาพยนตร์คือธุรกิจที่มีการลงทุนสูง ถ้าจะเล่าแบบตามจริงเป๊ะก็ไม่น่าจะสนุกเสียทีเดียว ผู้เขียนบทก็จำต้องใช้กลเม็ดเด็ดพราย ปรับนิดเสริมหน่อยเพื่อความสนุกของภาพยนตร์แล้วก็ส่งผลให้หนังได้เงิน สตูดิโอได้กำไร ในบทความนี้เราหยิบหนังดัง 9 เรื่อง ที่สร้างจากบุคคลจริงที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์พร้อมกับเผยให้รู้ว่า ผู้สร้างได้ปรับเปลี่ยนตัดหรือเพิ่มส่วนใดไปจากเรื่องราวจริง
1.A Beautiful Mind (2001) : ผู้ชายหลายมิติ
ผู้กำกับ : รอน โฮเวิร์ด
แสดงนำ : รัสเซล โครว์, เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี, พอล เบตทานี
ทุนสร้าง : 58 ล้านเหรียญ
รายได้ : 316 ล้านเหรียญ
หนังรับบทนำโดย รัสเซล โครว์ หนังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้และด้านรางวัล คว้าไปถึง 4 ออสการ์ จากการเข้าชิง 8 รางวัล เป็นหนังที่ส่งให้รัสเซล โครว์ ได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปีก่อนหน้าเขาเพิ่งคว้าออสการ์สาขานำชายมาจาก Gladiator (2000) ในเรื่องนี้รัสเซล สวมบทบาทเป็น จอห์น ฟอร์บส์ แนช อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล บทหนังดัดแปลงตัวตนของจอห์น ฟอร์บส์ แนช ได้บิดเบือนจากตัวตนจริงของเขาไปมาก เพื่ออรรถรสของภาพยนตร์ แต่กระนั้นบทภาพยนตร์ฝีมือของ อกิวา โกลด์แมน ก็ยังสามารถคว้ารางวัลออสการ์ไปได้สำเร็จ
ในจุดหลัก ๆ ก็อย่างเช่น จอห์น ไม่เคยขึ้นพูดปราศรัยในวันที่เขารับรางวัลโนเบล แต่ในหนังกลับมีฉากที่เขาขึ้นพูด, จอห์น ไม่เคยทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม, ในหนังได้สร้างภาพให้จอห์นพ่อที่ดีงามน่ายึดเป็นแบบอย่าง จุดนี้ล่ะที่ห่างไกลจากตัวตนจริงของจอห์น ฟอร์บส์ แนช เพราะเขาเป็นพ่อที่ไม่เอาไหนอย่างมาก จอห์นมีลูกกับภรรยานอกสมรส และเขาไม่เคยรับผิดชอบลูกชายคนนี้เลย
2. The Pianist (2002) : สงคราม ความหวัง บัลลังก์ เกียรติยศ
ผู้กำกับ : โรมัน โปลันสกี
แสดงนำ : เอเดรียน โบรดี, เอมิเลย ฟอกซ์, เอ็ด สตอปพาร์ด
ทุนสร้าง : 35 ล้านเหรียญ
รายได้ : 120 ล้านเหรียญ
หนังเล่าเรื่องราวของ วลาดิสลอว์ สปิลมันน์ นักเปียโนมืออาชีพผู้มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ หนังเล่าเรื่องราวจากความทรงจำของ วลาดิสลอว์ ซึ่งความเป็นจริงแล้วเขาเกิดในกรุงวอร์ซอ ประเทศโและโปแลนด์ อยู่ที่นั่นตลอดทั้งชีวิต แต่ในหนังที่เราเห็นนั้นกลับถ่ายทำที่ คราเคา ประเทศโปแลนด์เช่นกัน เหตุที่ต้องมาถ่ายทำที่คราเคาก็เพราะ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ฮิตเลอร์ได้ทำลายสลัมในวอร์ซอ และตึกรามบ้านช่องส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว ผู้กำกับโรมันจึงเลือกใช้ย่านเมืองเก่าในคราเคาให้ดูเหมือนกรุงวอร์ซอให้ได้มากที่สุด โดยยึดต้นแบบจากภาพเขียนของ คานาเล็ตโต ศิลปินชาวอิตาเลียน ที่เขาเขียนภาพทิวทัศน์บรรยากาศในกรุงวอร์ซอไว้เป็นจำนวนมาก
3. The Untouchables (2011) : ด้วยใจแห่งมิตร พิชิตทุกสิ่ง
ผู้กำกับ : โอลิวิเย นาร์กาเช, เอริก โทเลนาโด
แสดงนำ : ฟรองซัวร์ คลูเซต์, โอมาร์ ซี
ทุนสร้าง : 10 ล้านเหรียญ
รายได้ : 426 ล้านเหรียญ
หนังฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จมากสุดในประวัติศาสตร์ ส่งให้ชื่อของโอมาร์ ซี กลายเป็นดาราแถวหน้าของฝรั่งเศส หนังยังถูกฮอลลีวูดนำมารีเมกในชื่อ The Upside เมื่อปี 2017 เรื่องราวดราม่าสุดซาบซึ้งกับมิตรภาพของชาย 2 คนที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว หนึ่งคนคืออดีตนักโทษ อีกคนคือมหาเศรษฐีเอาแต่ใจที่พิการจากอุบัติเหตุทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมาตั้งนั่งรถเข็นไฮเทคตลอดเวลา
หนังมีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวตัวเอกในเรื่องไปจากตัวตนจริงอย่างมาก ในหนังนั้น ฟิลิปเป พอซโซ ดิ บอร์โก มหาเศรษฐีที่ต้องนั่งรถเข็นนั้นเป็นพ่อหม้ายเสียภรรยาไปในอุบัติเหตุ แต่เรื่องราวจริงนั้นภรรยาเขาบาดเจ็บหนักจากอุบัติเหตุนั้น และทนทุกข์กับอาการบาดเจ็บอยู่ถึง 3 ปีจึงลาโลกไป ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ทั้งคู่ได้รับเด็ก 2 คนมาเป็นบุตรบุญธรรม แต่ในหนังไม่พูดถึงลูกบุญธรรมทั้ง 2 คนนี้เลย
ตอนจบของหนังก็ต่างจากความจริงเช่นกัน ฟิลิปเปย้ายไปอยู่ในโมร็อกโค ที่นี่เขาเจอกับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกสาว 2 คน ทั้งคู่ตกหลุมรักและแต่งงานกัน ส่วนแอบเดล ยาสมิน เซลลู ผู้ดูแลที่เป็นอีกตัวละครหลักของเรื่องนั้น ในหนังบอกว่พื้นเพของเขามาจากเซเนกัล แต่ตัวจริงของเขานั้นมาจาก แอลจีเรีย
4. Escape from Alcatraz (1979) : ฉีกคุกอัลคาทราซ
ผู้กำกับ : ดอน ซีเกล
แสดงนำ : คลินต์ อีสต์วูด, โรเบิร์ต บลอสซัม, แพททริก แม็คกูฮาน
ทุนสร้าง : 8 ล้านเหรียญ
รายได้ : 43 ล้านเหรียญ
เรื่องราวของ แฟรงค์ มอร์ริส, แคลเรนซ์ และจอห์น แองกลิน 3 นักโทษตัวจริงที่สามารถแหกคุกอัลคาทราซ ที่ขึ้นชื่อว่าคุ้มกันแข็งแกร่งที่สุดของโลกได้สำเร็จ หลังหนีออกไปแล้วไม่มีใครรู้ว่าทั้ง 3 ยังมีชีวิตรอดหรือไม่ จนกระทั่ง 1 ปีผ่านไป มีผู้ได้รับจดหมายจาก จอห์น แองกลิน ที่ไม่ระบุที่มา ยืนยันว่าทั้ง 3 คน ยังมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยดี ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องราวจริงนั้นตื่นเต้นสุดระทึกอยู่แล้ว พอมาแปลงเป็นบทภาพยนตร์ผู้เขียนบทจึงไม่ต้องเติมเสริมแต่ง หรือบิดเบือนอะไรมากมาย
หนังยกกองถ่ายไปถ่ายทำกันที่คุกอัลคาทราซจริง ๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเท่านั้น เพราะว่านักโทษตัวจริงนั้นถูกขังอยู่ใน ส่วน B แต่หนังไปถ่ายทำกันส่วน C ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมคุกอัลคาทราซก็ยังสามารถเห็นหลุมที่ทั้ง 3 ขุดเพื่อหลบหนีได้อยู่ พร้อมทั้งกระดาษที่ปิดหลุม และหัวปลอมที่หล่อจากปูนปลาสเตอร์ ก็ยังเก็บไว้ให้นักท่องเที่ยวชม
5. Hachi: A Dog’s Tale (2009) : ฮาชิ หัวใจพูดได้
ผู้กำกับ : ลาสซี่ ฮอลสตรอม
แสดงนำ : ริชาร์ด เกียร์, โจน อัลเลน, แครี-ฮิโรยูกิ ทากาวะ
ทุนสร้าง : 16 ล้านเหรียญ
รายได้ : 46 ล้านเหรียญ
ที่จริงเวอร์ชันฮอลลีวูดนี้ รีเมกมาจากหนัง Hachi-ko เวอร์ชันญี่ปุ่นที่สร้างในปี 1987 อีกที ซึ่งเวอร์ชันนั้นน่าจะใกล้เคียงกับเรื่องราวจริงมากกว่า พอมาเป็นเวอร์ชันฮอลลีวูดให้ริชาร์ด เกียร์ รับบทนำ หนังก็เลยต้องปรับเปลี่ยนสถานที่หลักจากโตเกียว มาเป็นสหรัฐอเมริกา อีกจุดหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนก็คือ สาเหตุการตายของตัวละครหลัก ในเรื่องจริงนั้น ศาสตราจารย์ฮิเดะซาบูโระ อุเอโนะ นั้นตายด้วยสาเหตุเลือดออกในสมอง แต่ในหนังนั้นตายด้วยภาวะหัวใจวาย ในส่วนฮาชิ หมาตัวหลักของเรื่องนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนที่มา ฮาชิตัวจริงนั้น ศาสตราจารย์ไปซื้อมาจากร้านขายสุนัข แต่ในหนังก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ดูน่าสงสารมากขึ้น ด้วยการเขียนให้ศาสตราจารย์เจอฮาชิเป็นหมาหลงอยู่ที่สถานีรถไฟ
6. 127 Hours (2010) : 127 ชั่วโมง
ผู้กำกับ : แดนนี่ บอยล์
แสดงนำ : เจมส์ ฟรานโค, แอมเบลอร์ แทมบลิน, เคต มารา
ทุนสร้าง : 18 ล้านเหรียญ
รายได้ : 60 ล้านเหรียญ
หนังเอาชีวิตรอด ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือที่อารอน ราลสตัน เขียนบันทึกช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายในระยะเวลา 127 ชั่่วโมง ที่เขาต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะต้องเลือกที่จะต้องสละแขนขวาเพื่อเอาชีวิตรอด เรื่องนี้เจ้าตัว อารอน ราลสตัน ตัวเอกของเรื่องสุดสะพรึงนี้ มายืนยันเองเลยว่า เรื่องราวในหนังถ่ายทอดเหตุการณ์ออกมาได้ใกล้เคียงเหตุการณ์จริงที่เขาประสบมาอย่างมาก มีบางจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ใช่จุดสำคัญเท่านั้น ที่จะต่างออกไปจากเรื่องจริง ตัวอย่างเช่นฉากแรกตอนที่อารอนได้พบกับ 2 นักปีนเขา อารอนได้สอนเทคนิคการปีนเขาให้กับ 2 คนนั้น แต่ในหนังนั้นอารอนพาพวกเขาไปดูทะเลสาบที่แอบซ่อนอยู่ในหุบเขา
7. The Pursuit of Happyness (2006) : ยิ้มไว้ก่อนพ่อสอนไว้
ผู้กำกับ : แกเบรียล มุคซิโน
แสดงนำ : วิล สมิธ, แธนดี นิวตัน ,เจเด็น สมิธ
ทุนสร้าง : 55 ล้านเหรียญ
รายได้ : 307 ล้านเหรียญ
หนังดราม่าน้อยเรื่องที่ วิล สมิธ รับแสดง และเป็นหนังที่หลายคนหลงรักและอยู่ในหลายชื่อหนังโปรด ที่นอกจากจะฉากเรียกน้ำตามากมายแล้วยังเป็นหนังที่ให้กำลังใจผู้ชมได้อย่างดีอีกด้วย วิล สมิธ ฝากบทบาทการแสดงที่น่าจะเรียกได้ว่าดีที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต ต่อจาก Ali (2001) แล้วหลังจากเรื่องนี้เขาก็ยังไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกเลย
วิล สมิธ รับบทเป็น คริส การ์ดเนอร์ นักธุรกิจค้าหุ้นที่ประสบความสำเร็จ ผู้ก้าวมาจากจุดที่ติดลบ เขาต้องเร่รอนแบบไร้ที่ซุกหัวนอนกับลูกชายวัย 5 ขวบ ของเขา ที่ได้เจเด็น สมิธ มาร่วมแสดงกับพ่อได้อย่างน่ารักน่าชัง เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากของ แกเบรียล มุคซิโน ที่เอาพ่อลูกจริง ๆ มาแสดงด้วยกัน ทำให้เข้าขากันดีมาก และสื่ออารมณ์ถึงผู้ชมได้อย่างชะงัดนัก และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอีกเช่นกัน ที่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวในจุดนี้ให้แตกต่างจากความเป็นจริง เพราะในเรื่องจริงนั้น ตอนที่คริส การ์ดเนอร์ ต้องเผชิญจุดตกต่ำสุดในชีวิตนั้น ลูกเขายังเป็นเด็กทารกอยู่เลย ซึ่งถ้ายึดตามจริงการสื่ออารมณ์หนังจะลดน้อยถอยลงไปมาก เพราะเด็กทารกแสดงและเชื่อมอารมณ์กับพ่อไม่ได้ แต่พอปรับเรื่องให้เป็นเด็ก 5 ขวบ จะสามารถรับส่งอารมณ์กันได้ดีกว่า อีกจุดเล็ก ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนคือ ตอนที่คริส ไปขอฝึกงานในบริษัทโบรคเกอร์นั้น เขายินดีรับข้อเสนอที่ได้ฝึกงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แต่เรื่องจริงนั้นบริษัทจ่ายค่าจ้างให้คริส แต่ปรับเปลี่ยนตรงนี้ก็เพื่อให้เรื่องราวของคริสในหนังนั้น ดูน่าสงสารมากขึ้น
8. Catch Me If You Can (2002) : จับให้ได้ถ้านายแน่จริง
ผู้กำกับ : สตีเวน สปิลเบิร์ก
แสดงนำ : ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, ทอม แฮงก์ส, คริสโตเฟอร์ วอล์กเค็น
ทุนสร้าง : 52 ล้านเหรียญ
รายได้ : 352 ล้านเหรียญ
อีกหนึ่งผลงานจดจำของสตีเวน สปิลเบิร์ก ที่จับเอา ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ ทอม แฮงก์ส 2 ซูเปอร์สตาร์แถวหน้าของฮอลลีวูดมาประชันกัน ในหนังแนวตำรวจจับผู้ร้าย แต่ผู้ร้ายรายนี้คืออาชญากรจอมต้มตุ๋นระดับตำนาน ที่เมื่อพ้นโทษแล้วเขาสามารถเอาวิชาชีพด้านมืดนี่ล่ะ มาสอนบรรดาตำรวจได้ แล้วยังเขียนเรื่องตัวเองออกมาเป็นนิยายขายดีอีกด้วย หนังก็ดัดแปลงมาจากนิยายของ แฟรงค์ อบาเนล เองนี่แหละ และได้ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มาสวมบทบาทอาชญากรจอมเจ้าเล่ห์ผู้มากเสน่ห์ได้อย่างเหมาะสมมาก
แน่นอนว่าเพื่อเพิ่มรสชาติความดราม่าให้กับหนัง สตีเวน สปิลเบิร์ก จึงต้องขอปรับเรื่องราวจากความเป็นจริงและจากหนังสือต้นฉบับเสียหน่อย ในฉากที่แฟรงค์ อบาเนล ได้กลับไปพบพ่อของเขาอีกครั้งในชุดกัปตันสายการบิน เพื่อให้พ่อรู้สึกภูมิใจในตัวเขา ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้เป็นถึงนักบิน แต่ในความเป็นจริงนั้น ตั้งแต่แฟรงค์ออกจากบ้านเขาก็ไม่ได้เจอพ่ออีกเลย อีกฉากก็คือในฉากแมวจับหนู แฟรงค์โดนตำรวจจับตัวได้ในฝรั่งเศส เขาถูกคุมตัวขึ้น โบอิ้ง 737 มายังอเมริกา ในหนังนั้นแฟรงค์ล่อหลอกตำรวจ แล้วแอบหนีไปได้จากห้องน้ำ แต่ในเรื่องจริงนั้น แฟรงค์หายตัวไปจากท้ายเครื่องบินโบอิ้ง
9. I, Tonya (2017) : ทอนย่า บ้าให้โลกคลั่ง
ผู้กำกับ : เครก กิลเลสปี
แสดงนำ : มาร์ก็อต ร็อบบี้, เซบาสเตียน สแตน, แอลลิสัน เจนนี
ทุนสร้าง : 11 ล้านเหรียญ
รายได้ : 53 ล้านเหรียญ
หนังสายรางวัล ที่มาร์ก็อต ร็อบบี้ ขอแสดงฝีมือให้ชมว่าเธอไม่ได้มีดีแค่รูปร่างหน้าตา แต่เธอก็เป็นนักแสดงที่มีฝีมือด้วย แล้วงานแสดงของเธอใน I,Tonya ก็เป็นทีป่ระจักษ์ ผลงานการแสดงของเธอเรียกเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ได้เป็นอย่างดี แล้วเธอก็มาได้ถึงจุดเกือบสูงสุดของอาชีพการแสดง แม้จะเข้าวงการมาไม่นาน บท ทอนย่า ฮาร์ดิง ส่งให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก แต่ก็พลาดไป เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เองจาก Bombshell
ใน I, Tonya รับบทเป็นตัวเอกของเรื่อง ทอนย่า ฮาร์ดิง นักสเก็ตลีลาหญิงเจ้าอารมณ์ ในหนังนั้นเธอมีคู่ปรับในวงการคือ แนนซี เคอร์ริแกน ที่ชิงดีชิงเด่นกันอยู่เสมอ เพื่อเป็นที่หนึ่งในทีม ในชีวิตจริงนั้น เมื่อเดือนมกราคม 1994 สามีเก่าของทอนย่า ได้ทำร้ายร่างกายแนนซี เคอร์ริแกน แต่ทอนย่ากลับออกตัวว่าเธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทำร้ายร่างกายระหว่างสามีเธอกับแนนซีแต่อย่างใด แต่เธอก็โดนข้อหาสมรู้ร่วมคิดและให้การปกปิดการกระทำผิดของสามีอยู่ดี ความผิดครั้งนี้ส่งผลให้เธอถูกแบนจากวงการสเก็ตน้ำแข็ง ทำให้อาชีพที่เธอรักเป็นอันต้องยุติ
แต่ในหนังนั้น หนังค่อนลงลึกเรื่องราวตรงนี้ แล้วขยายความมากขึ้นให้คนดูได้รับฟังเหตุผลจากทางฝั่งของทอนย่า แถมให้ตัวละครรอบข้างได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ การที่เพิ่มรายละเอียดพวกนี้ลงไป ทำให้คนดูได้มีส่วนร่วมไปกับเนื้อหาของหนัง ได้ดูแล้ววิเคราะห์ตามว่าการกระทำของทอนย่านั้นถูกต้อง สมควรแล้วหรือไม่
จาก 9 เรื่องที่ยกมาล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีว่า นี่คือมายาของฮอลลีวูด นี่คือสินค้าจากสตูดิโอผู้สร้างหนัง ที่สร้างมาเพื่อหวังผลกำไรจากค่าตั๋วเป็นหลัก ฉะนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่าต่อให้เราเห็นคำขึ้นต้นหนังว่า Based on True Story ก็อย่าปักใจเชื่อนักว่าเรื่องราวที่ปรากฏบนจอนั้น จะเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่เราได้รับรู้ชีวิตความเป็นไปของตัวละครจากบุคคลจริงเหล่านั้น ความเป็นจริงแล้วเขาอาจจะดีกว่าหรือเลวร้ายกว่าภาพที่ถูกนำเสนอออกมาในหนังก็เป็นได้