คริสตอฟ เพนเดอเรกกี (Krzysztof Penderecki) นักประพันธ์เพลงและวาทยกรชาวโปแลนด์ได้เสียชีวิตที่บ้านพักในเมืองกรากรุฟ (Krakow) ในวัย 86 ปีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผลงานของเพนเดอเรกกีครอบคลุมตั้งแต่งานดนตรีคลาสสิกไปจนถึงงานเพลงประกอบภาพยนตร์ดังอาทิ “The Exorcist” และ “The Shining”อีกทั้งยังส่งอิทธิพลไปถึงศิลปินพอป ศิลปินร็อกมากมาย
เพนเดอเรกกีคือหนึ่งในนักประพันธ์เพลงที่มีผลงานโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และไม่เคยหยุดที่จะผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นในทศวรรษที่ 1960 พร้อมแนวคิดที่ “ขบถ” และ “ล้ำหน้า” จนทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้า (avant-garde) เขาได้ผลิตงานเพลงออกมามากมายในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นซิมโฟนี โอเปร่า เรควีเอ็ม (Requiem) โครัล และคอนแชร์โต
เพนเดอเรกกีนั้นเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศของสงครามและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของโปแลนด์ บรรยากาศอันขมุกขมัวของสังคมที่เขาอยู่ดูเหมือนจะไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ใด ๆ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ โชคดีที่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 โปแลนด์อนุญาตให้คนในประเทศสามารถฟังดนตรีตะวันตกได้ ทำให้เพนเดอเรกกีในวัยหนุ่มได้มีโอกาสฟังงานเพลงสุดล้ำที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานดนตรีอิเล็กทรอนิกและงานดนตรีสุดล้ำจากจอห์น เคจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการประพันธ์เพลงในช่วงแรก ๆ ของเขาเป็นอย่างมาก
จากนั้นเป็นเวลาหลายปีที่เพนเดอเรกกีสั่งสมความรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะย้อนกลับไปศึกษางานของนักประพันธ์เพลงชื่อก้องอย่าง บรุ๊กเนอร์ และอีกมากมาย ในขณะเดียวกันก็เปิดรับอิทธิพลดนตรีสมัยใหม่ให้เข้ามาปะทะกันในห้วงความคิดของเขา
ในช่วงทศวรรษแรกของเพนเดอเรกกีนับเป็นช่วงที่โดดเด่นและร้อนแรงมากสำหรับเขา ด้วยผลงานที่สดใหม่และไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่างเช่น “Threnody for the Victims of Hiroshima” (1960), “Polymorphia” (1961) และ “St. Luke Passion” (1966) ทำให้ชื่อเสียงของเขาขจรไกลไปในระดับสากลตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่น
“Threnody for the Victims of Hiroshima” คืองานเพลงที่นักประพันธ์หนุ่มนามเพนเดอเรกกีในวันนั้นประพันธ์ขึ้นมาจากแรงบันดาลใจในงานของ จอห์น เคจ (John Cage) เจ้าของบทเพลงสุดอึ้งที่เงียบที่สุดในโลกอย่าง 4’33” ตอนแรกเขาจึงตั้งบทเพลงนี้ว่า 8’37” เพื่อเป็นการคารวะแด่จอห์น เคจ Threnody for the Victims of Hiroshima เป็นงานดนตรีสุดล้ำที่ประกอบไปด้วยการบรรเลงจากเครื่องสายถึง 52 ชิ้น !! นำเสนอซาวด์ป่วนปั่นอันหม่นเศร้าที่สะท้อนถึงภัยจากการทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์ เพื่อเป็นการอุทิศแด่เหยื่อของสงครามในเมืองฮิโรชิมานั่นเอง
ในด้านงานเพลงประกอบภาพยนตร์ งานเพลงของเพนเดอเรกกีนั้นเข้ากันได้ดีกับภาพยนตร์สยองขวัญและฆาตกรรม เราจะพบงานเพลงสุดหลอนของเขาได้ใน “Shutter Island” ของ มาร์ติน สกอร์เซซี “Fearless” ของ ปีเตอร์ เวียร์ “Wild at Heart” และ “Inland Empire”ของ เดวิด ลินช์ “The Shining” ของ สแตนลีย์ คูบริก รวมไปถึง “The Exorcist” ของ วิลเลียม ฟรีดกิน
เป็นที่น่าสนใจว่าดนตรีของเพนเดอเรกกีนั้นกลับเป็นที่ชื่นชอบจากศิลปินพอปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ร็อบบี โรเบิร์ตสันจากวง The Band หรือ เคล ออคเร็เก (Kele Okereke) จาก Bloc Party ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับแรงบันดาลใจจากเขาทั้งนั้น แต่ที่รับไปเต็ม ๆ เลยเห็นจะเป็น จอนนี กรีนวู้ด (Jonny Greenwood) จากวงร็อกหัวก้าวหน้า “Radiohead” นั่นล่ะ ยกตัวอย่างเช่น งานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “There Will Be Blood” ของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่กรีนวู้ดแต่งก็มีเพลงที่ชื่อว่า “Popcorn Superhet Receiver” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Threnody for the Victims of Hiroshima” เต็ม ๆ
กรีนวู้ดเคยพูดถึงความประทับใจที่มีต่อบทเพลงของเพนเดอริกกีไว้ในบทสัมภาษณ์กับทาง The Guardian ว่า
“งานเพลงในช่วงแรก ๆ ของเพนเดอเรกกีและงานเพลงออเคสตราทั้งหลายของเขานั้นมีความทันสมัยมาก หากให้ผมคิดไปถึงดนตรีในโลกอนาคต ผมมักจะคิดถึงโลกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นสังคมดิสโทเปีย เป็นอนาคตที่ล่มสลาย และสิ่งที่ผมได้แนวคิดมาจากสิ่งที่เพนเดอเรกกีทำนั่นคือ การพาศักยภาพของเครื่องดนตรีให้ไปไกลกว่ากรอบจำกัดของมัน มันช่างเป็นสิ่งที่สุดประหลาดและก็ทันสมัยไปพร้อม ๆ กัน”
R.I.P. Krzysztof Penderecki (1933-2020)
Source
https://www.nytimes.com/2020/03/29/arts/music/krzysztof-penderecki-dead.html
https://culture.pl/en/article/music-is-not-for-everyone-an-interview-with-krzysztof-penderecki
https://www.theguardian.com/music/2020/mar/29/a-guide-to-krzysztof-penderecki-music
https://www.theguardian.com/music/2012/feb/23/poles-collide-jonny-greenwood-penderecki
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส