ที่ผ่านมาตามสื่อต่าง ๆ เราคงเคยเห็นภาพเจ้าไวรัสโคโรน่าที่มีหน้าตาเป็นลูกกลม ๆ และมีหนามอยู่รอบตัว อันเกิดจากเปลือกหุ้มด้านนอกที่ประกอบด้วยโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเป็นปุ่ม ๆ (spikes) ยื่นออกไปจากอนุภาคไวรัส ทำให้เห็นเหมือนเป็น “มงกุฎ” ซึ่งคำว่า Corona ก็เป็นภาษาลาตินที่แปลว่ามงกุฎนั่นเอง

ในวันนี้ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้หาวิธีที่เราจะ “ได้ยิน” เจ้าไวรัสชนิดนี้ด้วยการแปลงโครงสร้างหนามแหลมของมันให้กลายเป็น “เสียงดนตรี” !!!

 

เสียงทั้งหมดที่เราได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นระฆังลมกรุ๊งกริ๊ง เครื่องสายงาม ๆ ฟลูตหวาน ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนส่วนประกอบต่าง ๆ ในส่วนที่เป็น “หนาม” ยื่นออกมาของโคโรน่าไวรัสซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้มันสามารถเข้าไปจับตัวกับเซลส์ชนิดอื่นจนทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลส์นั้นนั่นเอง เช่นเดียวกันกับโปรตีนชนิดอื่น ๆ ในหนามของไวรัสโคโรน่าซึ่งมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบย่อมมีกรดอะมิโนรวมอยู่ด้วย ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีชื่อว่า “Sonification” (คือการแปรค่าเสียงให้กลายมาเป็นข้อมูลเชิงรูปธรรม) นักวิทยาศาสตร์จาก Massachusetts Institute of Technology จึงสามารถแปลงแต่ละอนุภาคของกรดอะมิโนให้กลายเป็นตัวโน้ตหนึ่งตัว และเปลี่ยนโปรตีนทั้งหมดให้กลายเป็นโน้ตดนตรีหนึ่งบทเพลง

ในความเป็นจริงเจ้ากรดอะมิโนพวกนี้จะไม่ได้เป็นสายที่ยืดออกเป็นเส้นตรง แต่จะม้วนหรือพับเข้าหากันทำให้โปรตีนมีโครงสร้างสามมิติ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้คุณลักษณะนี้มาปรับเป็นค่าความยาวและความดังของแต่ละตัวโน้ต ส่วนการสั่นสะเทือนของโมเลกุลเนื่องจากความร้อนก็ก่อให้เกิดเสียงเฉพาะของมันด้วยเช่นกัน

หลายคนอาจมีคำถามว่า “แล้วจะเปลี่ยนไวรัสโคโรน่าให้กลายเป็นเสียงดนตรีทำไม?” คำตอบก็คือด้วยวิธีนี้อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาส่วนของโปรตีนที่แอนติบอดีหรือยาสามารถเข้าไปจับตัวได้ ง่าย ๆ เลยด้วยการค้นหาท่อนเพลงที่มีโครงสร้างตอบสนองกับส่วนนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้กล่าวว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่เร็วกว่าและใช้สัญชาติญาณมากกว่าวิธีทั่วไปที่นิยมทำกันในการศึกษาโปรตีน เช่น การสร้างแบบจำลองโมเลกุล (Molecular Modeling) พวกเขายังเสริมอีกว่าหากนำเอาท่อนเพลงที่ได้มาจากหนามแหลมของโปรตีนไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของโปรตีนอื่น ๆ ที่ถูกนำมาแปรค่า มันจะเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งเราจะพบกับสิ่งที่สามารถเข้าไปจัดการกับเจ้าหนามโปรตีนของไวรัสโคโรน่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้นั่นเอง !!

ในส่วนของบทเพลงที่เราได้ฟังกันนี้ เสียงของเครื่องดนตรีที่เราได้ยินนั้นเป็นเกิดจากการเลือกของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เอง โดยใช้เสียงของพิณญี่ปุ่น “โกโตะ” เครื่องดนตรีประจำชาติของญี่ปุ่น (คล้าย ’จะเข้’ ของบ้านเรา) ผสมผสานกับเครื่องดนตรีตะวันตกอย่างเช่นเครื่องสตริงหรือฟลูต ซึ่งให้เสียงที่ไพเราะและเหมาะสมกับท่วงทำนองอันสบายจากบทเพลงนี้ซึ่งช่วยปลอบประโลมจิตใจของเราในยามนี้ได้เป็นอย่างดี

สามารถเข้าไปฟังบทเพลงอื่น ๆ ได้อีกใน soundcloud ของ Markus J. Buehler หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์จาก Massachusetts Institute of Technology ที่ทดลองโพรเจ็กต์บทเพลงจากไวรัสโคโรน่านี้

Source

https://www.sciencemag.org/news/2020/04/scientists-have-turned-structure-coronavirus-music#

Markus J. Buehler

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส