ดั่งดวงหฤทัย 2020 ออนแอร์มาถึง 9Ep เข้าไปแล้ว สิ่งที่เห็นเด่นชัดถนัดตาจนพาลคิดไปว่า นี่คืองานแฟชันวีคใช่ไหมเนี่ยก็คงไม่พ้นเรื่องคอสตูมของนักแสดง ที่เริดหรูอลังการดาวล้านดวงดั่งคำโฆษณาที่บอกไว้ว่า ละครเรื่องนี้ทุ่มทุนกับชุดนักแสดงไปกว่า 500 ชุด OMG ชุดเยอะจริงด้วย เพราะสิ่งที่เห็นประจักษ์ต่อสายตาก็ชุดของ เจ้าฟ้าหญิงทรรศิกากัญญาวดี ที่เปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเปลี่ยนอีกชนิดที่เจ้าสาวในวันแต่งงานยังต้องอาย ฉากเดียว วันเดียวเปลี่ยนชุดเยอะจนนางพระกำนัลน่าจะมือเหี่ยวไปตาม ๆ กัน ทำให้คิดตามไปว่าชุดของนักแสดงที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้จัดมาจากยุคไหนกันนะ เพราะถ้าเทียบกับเนื้อเรื่องตามบทประพันธ์แล้วละก็ บอกตามตรงว่ามันไปคนละทางเลยทีเดียว

แต่ก็เข้าใจได้ค่ะว่าจินตนาการใหม่กับบทใหม่ที่ใส่ลงไป ทำให้ความอังการออกมาประมาณนี้ จนมองหายุคไหนไม่เจอแล้วจริง ๆ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจของคอสตูมในเรื่องไปได้นอกจาก ยุควิคตอเรีย ทำให้นึกถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่เป็นเรื่องราวของยุคนั้น แต่ที่อลังการงานสร้างจนต้องตลึงในความงามที่ยิ่งกว่านางเอกภาพยนตร์ในเรื่องต่าง ๆ แล้ว ก็คือคอสตูมมลังเมลืองของเขานี่ละค่ะ แต่ละเรื่องก็มีคอสตูมที่เข้ากับเนื้อเรื่องจนแทบจะไม่มีที่ติกันเลยทีเดียว แต่ก่อนที่เราจะไปส่องว่าภาพยนตร์เรื่องไหนบ้างที่มีคอสตูมกระโปรงสุ่ม เรามาทำความรู้จักแฟชันในยุควิคตอเรียคร่าว ๆ กันก่อน

แฟชันของสาว ๆ ในยุควิคตอเรีย แฟชันกระโปรงสุ่ม

ยุควิตตอเรียเป็นแฟชันที่เกิดในช่วง ศตวรรษที่ 19 ช่วงของปี ค.ศ. 1840-1890 หลายคนสับสนระหว่างยุควิคตอเรีย กับ ยุคเรอเนซองส์ ก็จะบอกว่าแฟชันมันคนละยุคกันนะคะและเป็นยุคที่ห่างไกลกันมาก ๆ ยุคเรอเนซองส์เป็นยุคเฟื่องฟูที่อยู่ในช่วง ศตวรรษที่ 15-16 แฟชันของสาว ๆ ในยุคนั้นก็จะเป็นเสื้อคว้านโชว์อก ดันตูมเอวกิ่ว ใส่สุ่มพองออกข้าง ๆ เป็นวงรี จนมาถึงช่วงที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงขึ้นครองราชแฟชันในยุคนี้ก็เริ่มมิดชิดมากขึ้น จนเรียกกันว่าเป็น ยุคเอลิซาเบธ คือปิดมาถึงคอแล้วแถมยังมีแผงคอเป็นระบายเข้ามาอีก มีข่าววงใน (อีกแล้ว) เมาท์มอยกันว่า เพราะพระนางมีปัญหาด้านผิวพรรณ ก็เลยสร้างแฟชันผู้หญิงทาหน้าขาวด้วยลีด (เครื่องสำอางโบราณ มีส่วนประกอบคือตะกั่วขาวผสมกับขี้ผึ้ง ไขมันสัตว์ น้ำมันและไข่ขาว) แถมยังสวมเสื้อปิดคอ ถึงฉลองพระองค์ชุดไหนไม่ใช่เสื้อปิดคอ พระองค์ก็พอกพระฉวีส่วนอื่น ๆ ด้วยลีดอยู่ดี  จนความนิยมแผ่มาถึงสตรีชั้นสูงในยุคนั้นให้แต่งตามพระองค์กันไปด้วย จะว่าไปแล้วก็เหมือนบ้านเรานั่นแหละค่ะ สาว ๆ ในวังแต่งอย่างไร สาว ๆ สูงศักดิ์นอกวังก็เห็นว่านำสมัย จึงมักจะแต่งตาม ๆ กันมาแบบนั้น เป็นเหมือนกันทุกประเทศ

Catherine Élise Blanchett จากภาพยนตร์เรื่อง elizabeth the golden age

Catherine Élise Blanchett จากภาพยนตร์เรื่อง elizabeth the golden age

ที่เข้าใจเอาเองว่าแรงบันดาลใจของคอสตูมในดั่งดวงหฤทัย น่าจะมาจากแฟชันยุควิคตอเรีย ก็เพราะกระโปรงสุ่มบาน ๆ และลวดลายตกแต่งที่วิจิตรตระการตา ของแต่ละนางในละครที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงแต่งกายด้วยชุดในแบบวิคตอเรียตอนต้น มีเพียงเชื้อพระวงศ์ทางทานตะที่แต่งกายแตกต่างออกไป ณ จุดนี้ อิชั้นก็เข้าใจได้ กับแฟชันผสมผสานของชนชั้นสูงจากดินแดนที่ใช้เส้นทางเดินเชื่อมต่อกันแบบสามแคว้นนี้ เหมือนบ้านเราอีกอ่ะแหละที่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มีชุดประจำถิ่นแตกต่างกัน ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีภาพยนตร์เรื่องไหนบ้าง ที่คอสตูมมลังเมลืองจนเป็นที่จดจำของใครหลายคน ซึ่งคัดมา 4 เรื่องที่ประทับใจจริง ๆ จากมากมายหลายเรื่องที่ทำเป็นภาพยนตร์ออกมาในยุคเดียวกัน

1.Anna Karenina

แฟชันในภาพยนตร์เรื่องนี้งดงามติดตาตรึงใจมาก จนนึกถึงเป็นเรื่องแรก ชุดของนางเอกบอกเลยว่าสวยงามทุกชุด หลายชุดดีไซน์ออกมาเรียบหรู บางชุดดีไซน์ออกมาเซ็กซี่เย้ายวน แต่ยังคงรสนิยมจนได้รับรางวัลออสการ์ สาขา Best Costume Design 2012 เป็นแฟชันในยุควิคตอเรียทั้งหมดเลย เริ่มมาตั้งแต่วิคตอเรียตอนต้น ที่ยังมีสุ่มบาน ๆ เสริมก้น จนสุ่มแฟบลงมาในวิคตอเรียตอนปลาย

Keira Knightley จากภาพยนตร์เรื่อง anna karenina

Keira Knightley จากภาพยนตร์เรื่อง anna karenina

Anna Karenin สร้างจากนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมโรแมนติกของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ในชื่อเดียวกันและเป็นนวนิยายที่มีความหนาเกือบ 1,000 หน้าเลยทีเดียว เรื่องนี้เป็นชีวิตรักที่สังคมไม่ยอมรับของ Anna Karenin เพราะเรื่องที่เธอทำมันคือเรื่องผิดศีลธรรมจนทำให้ชีวิตพบกับความทุกข์สาหัส ถูกสังคมหยามเหยียด สุดท้ายเธอตัดสินใจฆ่าตัวตายอย่างน่าอนาถ ด้วยการให้รถไฟทับตาย

2.Gone with the wind

หรือในชื่อภาษาไทยว่า วิมานลอย ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์ไปถึง 8 สาขา จาก 13 สาขาในปี 1940 สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของ มาร์กาเร็ต มิทเชลล์ (MARGARET MITCHELL) ซึ่งตลอดชีวิตของเธอก็เขียนเรื่องนี้ไว้แค่เรื่องเดียวนั่นแหละ แฟชันสตรีในเรื่องนี้เป็นแฟชันของสตรีผู้มีอันจะกิน หรูหราฟู่ฟ่าตั้งแต่ตอนแรกแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามฐานะและอายุของ สการ์เลตต์ โอฮารา ตัวเอกของเรื่องไปเรื่อย ๆ ก็สมศักดิ์ศรีสาวน้อยลูกเจ้าของไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ในรัฐจอร์เจีย

Vivien Leigh จากภาพยนตร์เรื่อง Gone with the wind

Vivien Leigh จากภาพยนตร์เรื่อง Gone with the wind

Gone with the wind เป็นเรื่องราวของ สการ์เลตต์ โอฮารา ผู้มีชีวิตแสนสุขสบาย ชอบผู้ชายแต่เขาไม่รักเลยแต่งงานกับคนอื่นเพื่อประชด แต่สามีก็ไปรบและตายในเวลาต่อมา เธอเป็นหม้าย บ้านเมืองตกอยู่ในช่วงสงครามทำให้ชีวิตเธอพลิกผันแต่เธอก็สู้ชีวิตทุกรูปแบบและแต่งงานอีกครั้งแต่สามีคนที่สองก็ถูกยิงตาย เรียกว่าผ่านความผิดหวังสมหวังแบบสมบุกสมบันจนแต่งงานครั้งที่สาม แล้วก็แท้งลูก แล้วสามีก็ตายอีกแล้ว เรียกว่าเป็นชีวิตโศก ๆ สุดคลาสสิคของผู้หญิงสวย ๆ ที่ต้องเป็นม่ายผัวตายมันทุกรอบก็ว่าได้

3.the young victoria

เป็นภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์ ปี 2009 ในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ก็ดูชุดของพระนางแต่ละชุดช่างสวยหวานจนแทบจะนึกไม่ถึงเลยว่าจะทรงเป็นราชินีที่ครองราชยาวนานที่สุดในประวัติศาสจร์และทรงมีสายพระโลหิตสืบทอดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ทั่วยุโรป

Emily Blunt จากภาพยนตร์เรื่อง the young victoria

Emily Blunt จากภาพยนตร์เรื่อง the young victoria

The Young Victoria เป็นภาพยนต์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของราชินีวิคตอเรีย กับ พระสวามี เจ้าชายอัลเบิร์ต ที่ทำออกมาได้ละเอียดอ่อน โรแมนติก สวยงามมาก ๆ  เนื้อเรื่องก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติเจ้าหญิง การเมืองการปกครองและความรักของทั้งสองพระองค์ที่ต้องผ่านบทพิสูจน์มากมาย ทั้งสองพระองค์ครองคู่กันยาวนานถึง 20 ปี มีโอรสธิดา 9 พระองค์ เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 42 ด้วยโรคไทฟอยด์  หลังจากเจ้าชายสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ราชินีวิคตอเรีย ทรงแต่งชุดดำไว้ทุกข์และไม่แต่งงานอีกเลยตลอดชีวิต จนถูกขนานนามว่า the widow of windsor

4.Marie Antoinette

เรื่องนี้ไม่ใช่แฟชันยุควิคตอเรียหรอกค่ะ แต่เป็นแฟชันที่อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ช่วง ปีค.ศ. 1714-1730  เรียกว่า ยุคจอร์เจียน (Georgian)  ชื่นชอบคอสตูมของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษจึงคัดมาอยู่ในหมวดคอสตูมพิเศษนี้ด้วยซะเลย ก็ดูเสื้อผ้าหน้าผมเขาซะก่อน ขนกันมาเต็มตั้งแต่หัวจรดเท้าทั้งแฟชันทรงผมของสตรีสูงศักดิ์ในสมัยนั้นที่เรียกว่า ฟองตางเก (The Fontange) เป็นการเกล้าผมสูงไว้กลางศีรษะ ประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ โบว์บ้างอะไรบ้างก็ว่ากันไป ก็เอาที่คิดว่าเริดที่สุดนั่นแหละ ซึ่งถ้าใครยิ่งทำผมสูงยิ่งแสดงถึงฐานะ เรียกว่าข่มกันที่หัวกบาลกันเลย และด้วยความอลังเบอร์นี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ปี 2006

Marie Antoinette

Marie Antoinette

Kristen Dust จากภาพยนตร์เรื่อง Marie Antoinette

Kristen Dust จากภาพยนตร์เรื่อง Marie Antoinette

Marie Antoinette ฉบับนี้ คือการตีความหมายใหม่ต่อราชินีแห่งฝรั่งเศส ผ่านมุมมองของ โซเฟีย คอปโปล่า ผู้กำกับและมือเขียนบทจากภาพยนตร์เรื่อง Lost in translation ซึ่งไม่ได้เดินเรื่องตามประวัติศาสตร์ นางตัดทอนแง่มุมการเมืองออกไปแต่เน้นไปที่ความรู้สึกของพระนางมารี อองตัวเน็ต ผ่านการตีความและพยายามเข้าใจสภาพจิตใจของพระองค์ แต่ยังเก็บประเด็นที่คนทั่วไปรับรู้ว่า มารี อองตัวเน็ต ใช้ชีวิตในแวร์ซายส์อย่างฟุ้งเฟ้อ จัดงานเลี้ยงบ่อย กินดื่มอย่างสำเริงสำราญ เหมือนกับจะบอกว่านี่ก็คือการกระทำของเด็กสาวที่ได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างนี่แหละ

เพราะนับตั้งแต่ก้าวเข้าเขตแดนฝรั่งเศส การปรับตัวจากการที่ถูกเข้มงวดขึ้นไม่อิสระเหมือนบ้านตัวเอง พสกนิกรนอกวังไม่ให้การยอมรับ รวมถึงชนชั้นสูงในราชสำนักต่างก็จับตามอง ลองใครมาเป็นพระองค์บ้างก็น่าจะเครียดและหาทางระบาย เรียกว่าเป็นการมองต่างมุมและตีความอย่างที่อยากจะเข้าพระทัยพระนางผู้โดดเดี่ยวในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย  ซึ่งเรื่องราวตามประวัติศาสตร์เราก็ทราบกันอยู่แล้วว่า สุดท้ายพระนางก็ถูกประหารด้วยกิโยตินระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส

ห็นคอสตูมของแต่ละเรื่องและความเลิศหรูอลังการที่คอสตูมแต่ละค่ายตั้งใจสร้างผลงานกันออกมา จนคว้ารางวัลใหญ่มาครองกันได้แล้ว แรงบันดาลใจของ “ดั่งดวงหฤทัย”  ก็ไม่น่าจะหนีจากนี้ไปได้หรอกค่ะ

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส