เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานหลายทศวรรษว่า ดนตรีจะช่วยทำให้เรา Productive หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นจริงหรือไม่ ไม่กี่ปีมานี้ มีหลายผลงานวิจัยออกมาเผยความจริงว่า เพลงส่วนใหญ่ที่ฟังกันอาจไม่ใช่ตัวเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง
“Mozart Effect” หรือจะเป็นแค่เพลงของโมซาร์ทเท่านั้น
เริ่มกันด้วยปรากฏการณ์ที่ทำให้คนหันมาฟังเพลงเพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเอง หรือ “Mozart Effect” ที่ทำให้เกิดกระแสยอดฮิตอย่างการเปิดเพลงของโมซาร์ทให้ทารกในครรภ์ฟัง เพื่อช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ความเชื่อนี้มีจุดกำเนิดจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ.1993 ที่อ้างว่า มนุษย์จะทำงานจำเพาะบางอย่าง เช่น การพับกระดาษ ได้ดีขึ้นหลังจากฟังเพลงของโมซาร์ท 10 นาที
กระทั่งในปื ค.ศ. 2015 ก็ยังมีงานวิจัยพบว่า เพลงของโมซาร์ทช่วยเพิ่มคลื่นสมอง “อัลฟา แบนด์” ซึ่งเป็นคลื่นที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การเรียนรู้และการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังพบว่า การแบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งฟังเพลง Sonata for Two Pianos in D, K. 448 ของโมซาร์ท (Mozart) อีกกลุ่ม ฟังเพลง Für Elise ของบีโธเฟ่น (Beethoven) เป็นเวลา 10 ชั่วโมง ใน 10 สัปดาห์ ค้นพบว่า หนูที่ฟังเพลงโมซาร์ทสามารถจดจำและหาทางออกจากทางวงกตได้ดีกว่าหนูที่ฟังเพลงของบีโธเฟ่นด้วย
หากเป็นแค่บทเพลงของนักประพันธ์ชื่อดังบางคนเท่านั้นที่มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ แล้วเราจะเชื่อถือได้อย่างไรว่าดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของเราจริง ? นั่นจึงเป็นที่มาของอีกหนึ่งคำอธิบายว่า อันที่จริงแล้วเพลงไม่ได้ยกระดับการเรียนรู้หรือความฉลาดของเรา แต่มันเพียงแค่ทำให้เรา ‘รู้สึก’ แบบนั้นต่างหาก
ที่มาของแนวคิดนี้มาจาก “Activation theory” ทฤษฎีที่ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงยุค 60 ในห้วงเวลานั้น ผู้คนล้วนต้องทำงานที่น่าเบื่อ เช่น การดูแลสายพาน การผลิตสินค้าในโรงงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คนทำงานได้นานขึ้น จึงเกิดความคิดหาวิธีการ ‘กระตุ้นความสนใจ’ ของคนให้โฟกัสกับงานตรงหน้า
คาเรน แลนเดย์ (Karen Landay) นักไวโอลินเชี่ยวชาญและนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอละบามา (University of Alabama) ผู้ศึกษาในหัวข้อนี้ กล่าวว่า “การกระตุ้นความสนใจจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่หากใช้มากเกินไปก็จะเป็นการลดประสิทธิภาพลงแทน”
แล้วอะไรคือเสียงที่ช่วยกระตุ้นความสนใจนั้น ?
นักวิจัยพบว่า เสียงในสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป เช่น เสียงตามท้องถนน เสียงในเมือง เสียงผู้คนพูดคุยกัน นำมาซึ่งการ ‘ลดประสิทธิภาพ’ การทำงานของคนส่วนใหญ่ ทว่ายังโชคดีที่เราสามารถจัดการลดเสียงเหล่านั้นให้น้อยลงได้ อย่างไรก็ตาม มีอยู่เสียงหนึ่งที่จัดการรับมือได้ค่อนข้างยาก นั่นคือเสียงพูดที่ไม่ต่อเนื่องหรือไม่มีความสม่ำเสมอ (Intermittent speech) มันคือเสียงที่คุณได้ยินเป็นคำ ๆ หรือเป็นประโยคแล้วมีจังหวะหยุดคั่นเป็นพัก ๆ ซึ่งเป็นเสียงปกติที่พบได้โดยทั่วไปในออฟฟิต
จากผลการวิเคราะห์ 242 ตัวอย่างในงานศึกษาหนึ่ง พบว่า เสียงพูดที่ไม่ต่อเนื่องหรือไม่มีความสม่ำเสมอจะลดประสิทธิภาพต่องานประเภทที่ใช้การประมวลผลทางความคิด (Cognitive tasks) อย่างการตั้งใจฟัง อ่าน พิมพ์ข้อความ หรือทำงานเกี่ยวกับตัวเลขอย่างมาก มีผลยิ่งกว่าการฟังเสียงที่ดังอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีเสียงเลย อย่างไรก็ตาม เสียงสองประเภทหลังก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่ดี
งานวิจัยผลของดนตรีต่อคนที่มีบุคลิกต่างกัน พบว่า คนที่มีบุคลิกแบบเก็บตัว (Introvert) ที่มีความไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ จะมีความไวต่อเสียงเหล่านี้ด้วย ทำให้ทำงานในสภาวะที่มีเสียงรบกวนได้ไม่ดีนัก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า คนที่มีความจำดี เช่น จำหมายเลขโทรศัพท์ก่อนกดโทรออกได้ หรือคนที่จับประเด็นเวลาที่สนทนากันได้ตลอด จะเป็นคนที่สามารถรับฟังเสียงดนตรี หรือเพลงต่อเนื่องขณะทำงานได้ ดังนั้นแล้วหากคุณเป็นคนประเภทที่มีบุคลิกแบบเปิดเผย (Extrovert) และมีความจำที่ดี การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงคลอในจังหวะสม่ำเสมอ อาจจะดีกับคุณมากกว่าการทำงานแบบไม่มีเสียงเลย
เบาเกินไปก็ไม่ดี ดังเกินไปก็คิดไม่ออก
มีการทดลองหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ (University of Illinois) ให้ผู้เข้าร่วมทำงานที่ใช้ความสร้างสรรค์ และให้ฟังเสียงหลากหลายรูปแบบในระดับความดังที่แตกต่างกันไปพร้อม ๆ กัน พบว่า เมื่อพวกเขาระดมความคิดนสภาวะที่มีเสียงระดับต่ำ (ประมาณ 50 เดซิเบล ซึ่งเป็นเสียงที่พบได้ในออฟฟิตทั่วไป) กลับได้ไอเดียสร้างสรรค์น้อยกว่าการทำงานแบบเดียวกันในระดับเสียงปานกลาง (ประมาณ 70 เดซิเบล เสียงเบากว่าเครื่องดูดฝุ่นที่อยู่ห่างออกไป 10 ฟุตเล็กน้อย)
เหตุการณ์นี้ให้คำอธิบายแก่เราว่า เมื่อเสียงเพิ่มขึ้น ผู้เข้าร่วมต้องใช้พลังในการรวบรวมความคิดมากขึ้น และสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างแนวคิดใหม่ ๆ และความคิดแบบภาพใหญ่ (Big picture) ก็จะฝุดขึ้นมาได้มากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน หากเสียงนั้นดังเกินไป ก็จะกลายเป็นการทำลายความคิดนั้นไปแทน
แล้วตกลงเสียงเพลงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานหรือไม่ ?
การศึกษาในปี ค.ศ. 2011 สรุปความว่า “เสียงดนตรีนั้นรบกวนกระบวนการอ่าน และมีผลต่อการจดจำเล็กน้อย แต่กลับมีผลบวกอย่างยิ่งในการสร้างปฏิกิริยาทางอารมณ์และการพัฒนาฝึกฝนในเชิงกีฬา” นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีผลการวิจัยอื่นที่พบว่า ดนตรีไม่ได้เพิ่มประสิทธิผลอย่างยิ่งยวดตามที่เราเคยเชื่อกัน แต่มันทำให้เรา ‘รู้สึกดี’ ต่างหาก และความรู้สึกนั่นแหละ ที่อาจจะทำให้เราทำงานได้ดี
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป แต่แลนเดย์ก็ได้ทิ้งท้ายด้วยคำน่าสนใจว่า “มันขึ้นอยู่กับ” อะไรมากกว่า คนเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อดนตรีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งลักษณะของงาน บุคลิกส่วนตัว ประเภทของดนตรีที่ชอบ และการควบคุมตัวเองขณะฟังเพลง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออารมณ์และประสิทธิภาพการทำงานของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่มีทางเลยที่จะใช้บทเพลงใดบทเพลงหนึ่ง เป็นสูตรสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่คนทุกคน
และเพราะแบบนี้ เราเลยรวบรวมบทเพลงหรือดนตรีที่เข้าข่ายลักษณะที่ดีตามผลงานวิจัย คือ ไร้เนื้อร้อง เป็นทำนองต่อเนื่อง ไม่หนักหน่วงหรือเบาบางจนเกินไป เหมาะแก่การฟังยามทำงานมาให้ จะเลือกฟังแบบไหน ก็แล้วแต่จริตและความชอบได้เลยครับ
รวมหลากเพลย์ลิสต์ไว้ฟังยามทำงาน
สายเปียโน ฟังง่ายสบายหู
Soft Rain Sound and Sleep Music – Graduation ของ Tido Kang
Peder B. Helland – Bright Future [Full Album]
สายแจ๊สฟังเพลิน ๆ
Smooth jazz Chill out lounge ของ Dr. SaxLove
สายปลุกใจด้วยอนิเมะ เกม การ์ตูน
The Legend of Zelda Piano Ver.
สาย Relax เบาสบาย สุดผ่อนคลาย
(Peaceful Relaxing Soothing) Meditation – Monoman
1 A.M Study Session – [lofi hip hop/chill beats]
Relaxing Background Guitar Music