สำหรับใครหลายคนการนอนหลับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่เป็นภารกิจท้าทายที่ต้องรับมือในแต่ละค่ำคืน ความเครียดสะสม ความวิตกกังวล หรือภาระงานที่ยังค้างคา คือสาเหตุหนึ่งของการนอนไม่หลับ เพราะคอยแต่ว่ายวนในทะเลความคิดไม่หยุดหย่อน จนแม้เหนื่อยล้าและจมลงไปก็ยังไม่วายผุดขึ้นมาว่ายวนใหม่อีกหน

แน่นอนว่าเราอาจพยายามหากลวิธีในการเกลี้ยกล่อมจิตใจที่ไวยิ่งกว่าลิงน้อยจอมซนนี้ให้อยู่นิ่ง ๆ ลงบ้าง บางคนเลือกจะอ่านหนังสือสบาย ๆ ก่อนนอน บางคนอาจนอนนับแกะ บางคนอาจนั่งสมาธิ ซึ่งแต่ละวิธีก็ต่างก็ได้ผลดีที่แตกต่างออกไปตามแต่ละบุคคล มีอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและใช้ได้ผลนัก ก็คือ การฟังเพลงที่มีองค์ประกอบในการปรับคลื่นความคิด จิตใจ และสมองให้ผ่อนคลายลง

หนึ่งในดนตรีที่มีประสิทธิภาพในการขับกล่อมจิตใจให้ผ่อนคลายคือ ดนตรีแอมเบียนต์ (Ambient) เสียงเพลงบรรเลงท่ามกลางห้วงอารมณ์อันล่องลอยคอยขับกล่อมจิตใจ ดนตรีแอมเบียนต์ไม่มีเนื้อร้องให้เราครุ่นคิด ไม่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนชวนให้เราต้องติดอยู่ในนั้น มีแต่เพียงพื้นที่ว่างทางอารมณ์ให้เราได้หย่อนใจลงไปพักผ่อน ลองให้ 20 อัลบั้มต่อไปนี้ช่วยให้เรานอนหลับฝันดีในทุกค่ำคืนของเรากันดีกว่าครับ

 

Sleep (2015), Max Richter

แค่ชื่ออัลบั้มก็บอกยี่ห้อแล้วว่าต้องทำให้ “หลับ” ได้อย่างแน่นอน “Sleep” ประกอบไปด้วยบทเพลงทั้งหมด 31 บทเพลงในความยาวอัลบั้ม 8.5 ชั่วโมง !!! สามารถเปิดฟังได้ตั้งแต่หลับยันตื่น บางทีตื่นแล้วอัลบั้มยังเล่นไม่จบ ซึ่ง Max Richter ก็มีความตั้งใจเช่นนั้นจริง ๆ คือ ให้ความยาวของอัลบั้มพอดิบพอดีกันกับระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของเราโดยอ้างอิงจากแนวคิดประสาทวิทยาการนอนหลับ เพราะเขาเห็นว่าการนอนนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตเรามากเพียงใดจึงอยากให้อัลบั้มนี้เป็นเพื่อนคอยขับกล่อมเราไปตลอดทั้งราตรี บทเพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้เรียงร้อยอย่างงดงามบนท่วงทำนองของเปียโน ออร์แกน เครื่องสาย เสียงร้องโซปราโน และ ซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ ลองปล่อยใจให้สบายไม่ต้องจับต้นชนปลายอะไรแล้วปล่อยไหลไปกับท่วงทำนองได้เลยครับ

Play video

 

 

 

Ambient 1: Music for Airports (1978), Brian Eno

สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 จาก ไบรอัน อีโน เป็นอัลบั้มแรกในซีรีส์ ‘Ambient’ ทั้ง 4 ของเขาที่ตั้งชื่อขึ้นมาเพื่อแยกประเภทงานเพลงของเขาให้ชัดเจนระหว่างงานแอมเบียนต์ งานทดลอง และงานมินิมอล

งานเพลงในชุดนี้ถูกออกแบบมาให้เล่นเป็นลูปเหมือนงานซาวด์อินสตอลเลชั่น โดยมีเสียงบรรยากาศของสนามบินเข้ามาผสานด้วย ถึงแม้ Ambient 1: Music for Airports จะไม่ใช่งานเพลงอัลบั้มแรกที่เป็นงานดนตรีในสไตล์แอมเบียนต์ แต่มันคืองานเพลงอัลบั้มแรกของโลกใบนี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ดนตรีแอมเบียนต์”

Play video

 

Mixing Colours (2020), Roger Eno & Brian Eno

ผลงานอัลบั้มชุดล่าสุดจากเจ้าพ่อแอมเบียนต์ ไบรอัน อีโน ที่จับมือกันกับน้องชาย โรเจอร์ อีโน ถ่ายทอดบทเพลงอันอ่อนโยนและเป็นมิตรต่อจิตใจของคนฟัง ผ่านกระบวนการทำงานที่เรียบง่ายของสองพี่น้อง โดยเริ่มจากโรเจอร์ที่ทำ midi เปียโนขึ้นมาก่อนแล้วส่งต่อไปให้กับไบรอันจัดการจนเสร็จออกมาเป็นบทเพลงที่เรียบง่าย งดงาม และชวนผ่อนคลายยิ่งนัก

Play video

 

Gymnosphere: Song Of The Rose (1977),

Jordan De La Sierra

ผลงานจาก Jordan De La Sierra บันทึกเสียงในปี 1977 ในสตูดิโอชั้นใต้ดินเล็ก ๆ ในเบิร์กลีย์ก่อนที่จะนำเทปที่บันทึกเสียงไว้ไปเปิดในมหาวิหาร Grace Cathedral ในซานฟรานซิสโก และบันทึกเอาเสียงดนตรีที่สะท้อนภายในพื้นที่นั้นเอาไว้ แล้วนำเอาเทปนี้กับเทปต้นฉบับมามิกซ์เข้าด้วยกันจนออกมาเป็น หมอกฝันอันงดงามที่เรียงรายด้วยตัวโน้ตที่เข้าจับกุมกับห้วงอวกาศแห่งพื้นที่ได้อย่างงดงาม

Play video

 

And Their Refinement Of The Decline (2007),

Stars Of The Lid

คล้อยหลังจากที่ได้ปล่อยอัลบั้มมาสเตอร์พีซ Tired Sounds Of Stars Of The Lid เป็นเวลาหกปี สองคู่หู Brian McBride และ Adam Wiltzie ในนาม “Stars of The Rid” ก็ได้กลับมาพร้อมงานเพลงในสไตล์ซิมโฟนีมินิมอลความยาวสองชั่วโมงชุดนี้ที่เรียงร้อยดนตรีผ่านเสียงกีตาร์ ฮอร์น เปียโน และ เครื่องดนตรีคลาสสิก

Play video

 

 

A Winged Victory For The Sullen (2011),

A Winged Victory For The Sullen

อัลบั้มเปิดตัวที่ใช้ชื่อวงเป็นตัวเปิด อันนาม A Winged Victory For The Sullen นี้คือการรวมตัวกันอย่างฉกาจฉกรรจ์ของ Adam Wiltzie แห่งวง Stars Of The Lid กับ มือเปียโนและนักแต่งเพลงมือฉมัง Dustin O’Halloran นี่คือคำตอบว่าถ้าสองคนนี้มารวมตัวกันซาวด์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร มันมีทั้งความฟุ้งฝันในห้วงอารมณ์สงบงันอันซีเนมาติก นี่คือ 45 นาทีอันมีคุณค่าและนำพาจิตใจไปสู่การหลับใหลอย่างมีคุณภาพ

Play video

 

Ruins (2014), Grouper

สตูดิโออัลบั้มชุดที่สิบของ Liz Harris นักดนตรีสาวชาวอเมริกันที่สร้างผลงานภายใต้ชื่อ “Grouper”  เพลงทุกเพลงในอัลบั้ม Ruins บันทึกเสียงที่ Aljezur ประเทศโปรตุเกสในปี 2011 ยกเว้นเพลงสุดท้ายที่ Liz Harris บันทึกที่บ้านของแม่ในปี 2004 บทเพลงทั้งหมดคือห้วงอารมณ์ที่ก่อเกิดจากความเศร้าที่สั่งสมในช่วง 2-3 ปีจากความขุ่นเคืองทางการเมืองและตะกอนขุ่นในห้วงอารมณ์ที่หมักหมมเอาไว้ของ Liz ทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการบันทึกเสียงอย่างง่าย ๆ ด้วยเครื่องบันทึกเสียง 4-track แบบพกพา, สเตอริโอไมค์ของ Sony และ อัพไรท์เปียโน ชื่อของอัลบั้มและแนวคิดของงานได้มาจากตอนที่ Liz ปีนเขาหลายไมล์เพื่อไปสู่ชายหาด และได้ผ่านซากปรักหักพังของนิคมเก่าหลายแห่งและหมู่บ้านเล็ก ๆ อัลบั้มนี้จึงเป็นเสมือนบันทึกการเดินในแต่ละวันและสิ่งปลูกสร้างที่ล่มสลายเหลือทิ้งไว้เพียงร่องรอยของความรัก ฟังดูแล้วหม่นพอดูเลย และตัวเพลงก็มีรสชาติความหม่นเศร้าอยู่ไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นท่วงทำนองของมันกลับเบาสบายและชวนผ่อนคลายได้อย่างน่ามหัศจรรย์

Play video

 

The Disintegration Loops (2002), William Basinski

The Disintegration Loops เป็นอัลบั้มซีรีส์สี่ชุดจากนักแต่งเพลงอาวองการ์ดชาวอเมริกัน William Basinski ที่ออกมาในปี 2002 และ 2003 บทเพลงในงานชุดนี้ประกอบด้วยเสียงจากลูปเทปที่ค่อย ๆ สึกกร่อนในแต่ละครั้งที่พวกมันผ่านหัวเทป เกิดเป็นผลลัพธ์ทางเสียงที่ไม่คาดคิดจากความพยายามของ Basinski ในการถ่ายโอนข้อมูลที่บันทึกแบบอนาล็อกไปยังรูปแบบดิจิทัล

ช่วงเวลาที่สร้างงานชุดนี้เสร็จอยู่ในช่วงเหตุการณ์ 9/11พอดีซึ่ง Basinski ได้เห็นภาพเหตุการณ์จากดาดฟ้าของที่พักในบรุกลิน ภาพหน้าปกของอัลบั้มเป็นภาพของเส้นขอบฟ้าของมหานครนิวยอร์กหลังจากการพังทลายลงของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ Basinski จึงอุทิศงานเพลงชุดนี้ให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย

Play video

 

Seven Waves (1982), Suzanne Ciani

อัลบั้มเปิดตัวของ Suzanne Ciani ที่อ่อนหวาน งดงามและโรแมนติก เป็นตัวอย่างอันดีของดนตรีนิวเอจอิเล็กทรอนิกส์บนท่วงทำนองที่ไร้กาลเวลา สุ้มเสียงอันอ่อนโยนท่ามกลางเสียงคลื่นซัดสาดบางเบา เสียงซินธ์ที่ไล่ล้อคลอเคล้าไปกับเมโลดีในรูปแบบของดนตรีคลาสสิก นำพาจิตใจของผู้ฟังให้เคลิ้มฝันไปได้เป็นอย่างดี

Play video

 

Healing Music (1981), Joanna Brouk

ผลงานจากปี 1981 ของศิลปินหญิงผู้บุกเบิกงานดนตรีอิเล็กทรอนิก Joanna Brouk ซึ่งเธอเอ่ยว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากโน้ตดนตรีและที่ว่างอันเงียบสงบที่เกิดขึ้นระหว่างโน้ตแต่ละเสียงด้วย ด้วยเหตุนี้อัลบั้ม Healing Music จึงก่อกำเนิดมาจากท่วงทำนอง จังหวะ และความเข้มของเสียง แต่ในขณะเดียวกันก็มีปฏิสัมพันธ์กับที่ว่าง อันก่อให้เกิดความสงบงาม ดังเช่นในเพลงโซโล่ฟลูตความยาว 25 นาทีจาก Maggi Payne ภายใต้การชี้แนะของ Brouk ลมหายใจในแต่ละช่วงของ Payne เปรียบเสมือนดั่งหนึ่งตัวโน้ตที่วางตัวลงไปในท่วงทำนองของบทเพลง

Play video

 

Tomorrow Was The Golden Age (2014), Bing & Ruth

David Moore ผู้ควบคุมวงอองซอมเบิลได้ลดขนาดจากวง 11 ชิ้นที่บันทึกเสียงอัลบั้มแรกของ Bing & Ruth ให้เหลือเพียง 7 ชิ้นในงานชิ้นนี้โดยมี คลาริเน็ต 2  เบส 2  หนึ่งเชลโล และ เทป ดีเลย์กับเปียโนของมัวร์ เรียงร้อยผ่านส่วนผสมของดนตรีแชมเบอร์กับการเรียบเรียงบทเพลงในสไตล์ที่เกือบจะคล้าย Post-Rock

Play video

 

Till Human Voices Wake Us (2014), Siavash Amini

อัลบั้มแรกที่วางจำหน่ายกับค่ายเพลงนอกประเทศตัวเองของศิลปินอิหร่านนาม Siavash Amini “Till Human Voices Wake Us” อัลบั้มรวมบทเพลงมินิมอลแนวทดลอง 10 บทเพลงผลผลิตจากโลกของบทกวีและเสียงดนตรี ที่สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจในบทกวีของ ที.เอส.เอลเลียต ผสมผสานเสียงดนตรีในโลกดิจิทัล จนออกมาเป็นผลงานที่สงบงัน ลุ่มลึก ดิ่งล้ำลงไปในพื้นที่แห่งจิตใจ

Play video

 

Piano Cloud Series: Volume One (2016), Various Artists

อัลบั้มรวมบทเพลงเปียโนเบาสบายจากค่ายเพลงสัญชาติสวีเดนนาม 1631 Recordings ที่มีทั้งผลงานของผู้ร่วมก่อตั้งค่าย David Wenngren และหลากศิลปินอาทิ Nils Frahm และ Peter Broderick นี่คืออัลบั้มที่ดีที่เป็นส่วนผสมตรงกลางระหว่างงานเพลงบรรเลงเปียโนเพราะ ๆ กับดนตรีแอมเบียนต์

Play video

 

Screws(2012), Nils Frahm

ผลงานของเขาในอัลบั้มด้านบนคงเป็นเพียงหยดน้ำหนึ่งหยดที่ร่วงหล่นลงในมหาสมุทร หากจะให้พูดถึงงานเพลงบรรเลงเปียโนอย่างพิถีพิถันของ นิลส์ ฟราห์ม ศิลปินชาวเยอรมัน ที่สร้างสรรค์งานเพลงในอัลบั้มนี้ในช่วงหยุดพักด้วยนิ้วเพียงเก้านิ้วหลังจากนิ้วโป้งหักไปในอุบัติเหตุ จนออกมาเป็นงานเพลงที่สงบงาม เรียบง่าย และ สร้างความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ ประโลมให้เราคล้อยหลับใหลในยามค่ำคืน

Play video

 

Orphée (2016), Jóhann Jóhannsson

ผลงานเดี่ยวชุดสุดท้ายจาก โยฮานน์ โยฮานน์สัน ผู้ล่วงลับ ศิลปินชาวไอซ์แลนด์เจ้าของบทเพลงอันเย็นเยือก หลอนลึก สงบงันในความเศร้า เคล้าคลอไปในท่วงทำนองอันงดงาม ผู้ได้สร้างสรรค์บทเพลงอันทรงคุณค่าไว้มากมายทั้งงานเดี่ยวของตัวเองและงานดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม อาทิ ผลงานของผู้กำกับ เดนิส วิลล์เนิฟ อย่าง Prisoners , Sicario และ Arrival

Play video

 

Seven Days Walking (2019), Ludovico Einaudi

ผลงานชิ้นล่าสุดจากมือเปียโนชาวอิตาลี Ludovico Einaudi (ผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Third Murder ของ ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ) ที่ถึงแม้จะยาวสู้งานดนตรี 8.5 ชั่วโมงใน Sleep ของ Max Richter แต่ก็ถือว่าสูสี เพราะความยาวรวมของ Seven Days Walking ก็ปาไปว่า 6 ชั่วโมง โดยออกแบบมาเพื่อให้ผู้ฟังไว้ใช้ฟังในแต่ละวันตามชื่อของอัลบั้มซึ่งจะแบ่งออกเป็นอัลบั้มย่อยเจ็ดอัลบั้ม และนี่คืองานเพลงที่สงบซึ้ง เปี่ยมไปด้วยความหวัง และแน่นอนชวนเคลิบเคลิ้มหลับใหล

Play video

 

Ego Death (2018), 36

น่าจะเรียกว่าเป็น EP มากกว่าสำหรับอัลบั้มนี้ เพราะมีความยาวเพียง 26 นาทีกับ 4 บทเพลง แต่ก็ถือได้ว่าอิ่มเอมและเป็นงานเพลงที่ฟังดูสงบที่สุดในผลงานของ 36 ( นึกว่าชื่อหนังของ เต๋อ นวพล) มีเพลงที่มีซาวด์ซินธ์ได้อารมณ์แบบในหนัง Bladerunner ด้วย เป็นอัลบั้มที่ฟังเพลินจนอยากฟังซ้ำเลยล่ะ

Play video

 

Vrioon (2002),

Alva Noto & Ryuichi Sakamoto

Vrioon คืองานดนตรีมินิมอลที่ผสมผสานระหว่างการบรรเลงเปียโนอันดำดิ่งเปี่ยมอารมณ์กับเนื้อสัมผัสของซาวด์อิเล็กทรอนิกที่ผสานกันในห้วงอารมณ์อันสงบงันลึกซึ้ง ผลงานชิ้นแรกที่คลอดออกมาจากการสำเริงทางอารมณ์ร่วมกันของสองศิลปินสุดล้ำ ริวอิจิ ซากาโมโตะ และ Alva Noto ในปี 2002 งานเพลงชุดแรกในซีรีส์ “Virus” ที่ประกอบด้วย Vrioon (2002), Insen (2005), Revep (2006), utp_ (2008), และ Summvs (2011) ซึ่งเมื่อเอาอักษรตัวหน้าของชื่ออัลบั้มทั้งห้ามารวมกันก็จะได้คำว่า “Virus” นั่นเอง

Play video

 

Wet Land (1993), Hiroshi Yoshimura (吉村弘)

ผลงานในช่วงทศวรรษที่ 90s ของฮิโรชิ โยชิมูระ ศิลปินผู้บุกเบิกงานดนตรีแอมเบียนต์ในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80s กับงานดนตรีในสไตล์มินิมอลที่ผสมท่วงทำนองอันไพเราะจากซาวด์อิเล็กทรอนิกให้ผสานไปกับเสียงจากธรรมชาติอันงดงาม ซึ่ง “Wet Land” นี้เป็นงานดนตรีที่โยชิมูระตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับจิตใจของผู้ฟังโดยเฉพาะเลย

Play video

 

Oasis Of The Wind II ~ A Story Of Forest And Water ~ (1993),

Takashi Kokubo (小久保隆)

ทาคาชิ โคคุโบะ คือนักประพันธ์เพลงและนักออกแบบเสียงชาวญี่ปุ่น ผู้สร้างสรรค์งานเพลงมามากมายทั้งงานดนตรีบรรเลงสุดอิ่มเอม ดนตรีประกอบอนิเมะ งานอาวองการ์ดทั้งหลาย รวมไปถึงงานโปรโมทผลิตภัณฑ์อย่างอัลบั้ม “Get At The Wave” ที่ทำให้กับเครื่องปรับอากาศไฮ-เอนด์ของ‘ซันโย’ โคคุโบะได้ออกผลงานในช่วงปี 1992-1993 มาทั้งสิ้น 10 อัลบั้มภายใต้ซีรีส์ที่ชื่อว่า “Ion Series” ทั้ง 10 อัลบั้มนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ซีรีส์ย่อย ซีรีส์ย่อยละ 5 อัลบั้ม หนึ่งซีรีส์ออกมาในปี 1992 อีกซีรีส์ในปี 1993 อัลบั้ม A Story Of Forest And Water เป็นอัลบั้มแรกในซีรีส์ย่อยที่สอง หรือเป็นอัลบั้มที่ 6 ในซีรีส์ชุดนี้นั่นเอง

Play video

 

Source

Whathifi

BBC

dummymag

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส