หลังจากที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลายประเทศเริ่มขยับตัวโดยเฉพาะในส่วนของงานถ่ายทำทั้งในภาคส่วนธุรกิจอย่าง Netflix ที่มีแผนเริ่มดำเนินการถ่ายทำทั้งในเกาหลีใต้และไอซ์แลนด์  หรือในประเทศออสเตรเลียที่กองถ่ายละครอย่าง Neighbours คิดมาตรการความปลอดภัยกันขึ้นมาใช้ในการถ่ายทำ และล่าสุดที่อังกฤษเองก็กำลังมีการวางแผนจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับกองถ่ายจากในส่วนของสมาพันธ์ภาพยนตร์เพื่อเปิดโอกาสเหล่า “คนกอง” ให้ได้กลับไปทำงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกันอีกครั้ง และล่าสุดกับความเคลื่อนไหวจากฝั่งไทยที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมนำโดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้แถลงถึงเกณฑ์สำหรับเสนอทางรัฐบาลเพื่อใช้ในกองถ่ายในไทยทุกประเภททั้งหนังและละคร โดยหากได้รับการอนุมัติจะเริ่มประกาศใช้หลังวันที่ 3 พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่ง WHAT THE FACT ก็ขอเจาะลึกถึงเกณฑ์ทีละข้อพร้อมบอกข้อดีข้อเสีย รวมถึงช่องโหว่ที่อยากแนะนำให้ทางกองถ่ายทั่วประเทศได้คำนึงถึง ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย

 WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

นาย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (ภาพจาก เว็บไซต์ กระทรวงวัฒนธรรม)

กองถ่าย-ถ่ายได้แต่ทีมงานต้องไม่เกิน 50 คน

WHAT THE FACT อังกฤษหามาตรการป้องกัน COVID 19 ให้กองถ่าย

กองถ่าย The Witcher ของ Netflix

ข้อดี ของเกณฑ์นี้คือการจำกัดจำนวนคนที่หนาแน่นให้เบาบางลงในกองถ่าย

ข้อเสีย ในกองถ่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่การจำกัดทีมงานจะทำให้การทำงานยากขึ้นและไม่คล่องตัว

ข้อเสนอแนะ อ้างอิงจากกองถ่าย Neighbours ของออสเตรเลียที่แบ่งพื้นที่ถ่ายทำและทีมงานเป็น 4 ส่วน จะช่วยให้ความหนาแน่นกองถ่ายเบาบางลง และยังเป็นมาตรการที่ทำให้การทำงานต่อเนื่องได้อีกด้วย

ตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย เตรียมเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยโดยพร้อมเพรียง

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ตั้งจุดตรวจคัดกรอง (ขอบคุณภาพประกอบจาก Bangkok Post)

ข้อดี อันนี้เป็นเกณฑ์การทำงานพื้นฐาน ถือว่าเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่แม้แต่คนกองเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อแนะนำ อันนี้คิดว่าอาจจะยังปลอดภัยไม่พอ หากจะให้ดีกองถ่ายควรเพิ่มทีมงานบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปในกองถ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการป้องกันหรือรับมือกรณีมีผู้ป่วยไวรัส COVID-19 เท่านั้นแต่ยังสามารถรักษาอาการบาดเจ็บ หรือ ป่วยไข้ ในเบื้องต้นในกองถ่ายได้อย่างทันท่วงที ไม่เสียเวลาอีกด้วย

ถ่ายทำทุกครั้งต้องขออนุญาตและมีเจ้าหน้าที่รัฐสังเกตการณ์ พร้อมรายงานหากมีผู้ป่วย COVID-19

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ถ่ายทำต้องขออนุญาติและมีเจ้าหน้าที่รัฐสังเกตการณ์ (ขอบคุณภาพประกอบจาก Khaosod English)

ข้อดี คือเกณฑ์ตรงนี้แทบจะเป็นเกณฑ์เดียวกับเวลาขอจัดกิจกรรมทางศาสนาเลย ข้อดีหลัก ๆ คือเป็นการคุมเข้มไม่ให้มีการละเมิดกฏหมายที่ตอนนี้เราเน้นเรื่องสุขภาพในภาวะโรคระบาดเป็นหลัก

ข้อเสีย บอกตามตรงว่าการให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้มีความรู้ด้านสาธารณสุขมาดูแลในส่วนนี้ ค่อนข้างเป็นการใช้คนที่ไม่ถูกกับงานสักเท่าไหร่ อีกอย่างมันจะทำให้กองถ่ายขาดความคล่องตัวหากต้องถูกทักท้วงด้วยผู้คุมกฎที่อาจไม่ได้มีมาตรฐานในการตัดสินที่เหมือนกันจนทำให้ทีมงานทำงานลำบากและเพิ่มภาระด้านงบประมาณโดยใช่เหตุ

ข้อแนะนำ หากเปลี่ยนเป็นทางราชการจะจัดหาบุคลากรทางการแพทย์มาประจำกองถ่ายให้จะเป็นการดีมากกว่า และยังช่วยให้รายงานผู้ป้วย COVID-19 ในกองถ่ายโดยมีแพทย์คอยยืนยันข้อมูลให้อีกด้วย

ถ่ายทำห้ามเกินเคอร์ฟิว

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ถ่ายห้ามเกินเคอร์ฟิว (Photo by Lisa Marie David/Rappler)

ข้อดี อันนี้บอกตามตรงว่าหาข้อดีได้ยากเหลือเกิน เพราะงานสร้างสรรค์มันแทบไม่สามารถมาถูกจำกัดเวลาในการทำงานแบบนี้ได้

ข้อเสีย อย่างที่บอกไปแล้วว่า เคอร์ฟิว ถือเป็นมาตรการที่มาจำกัดการทำงานสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นเราคงได้เห็นแต่หนังหรือละครที่ถ่าย Day for night  (ถ่ายกลางวันให้เป็นกลางคืน) กันเป็นว่าเล่นแต่ข้อจำกัดหลัก ๆ คือมันได้แค่ในห้องปิดแล้วจัดไฟหลอกเอาซึ่งบางกองอาจหาความสมจริงได้ยากเหลือเกิน และมันจะส่งผลต่อมาตรฐานการทำงานอย่างช่วยไม่ได้

ข้อแนะนำ  หลัก ๆ คืออาจต้องมีการผ่อนปรนเรื่องเวลาในการทำงาน แต่ไปกำหนดเรื่องของมาตรฐานระยะเวลาการทำงานของทีมงานแทนโดยยึดหลักของ กะในการทำงาน 12 ชั่วโมง ซึ่งทางกองถ่ายจะมีการกำหนดเรต กะกลางวัน และ กะกลางคืน อยู่แล้ว เพื่อผ่อนปรนและอำนวยความสะดวกให้ทำงานออกมามีคุณภาพดีกว่า

ถ่ายทำในสตูดิโอ งดการสัมผัสและใกล้ชิดทุกรูปแบบ

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ภาพจากรายการจานเด็ดที่พิธีกรและแขกใส่ Faceshield (ภาพประกอบจาก บ้านเมือง)

ข้อดี หากเป็นรายการโทรทัศน์คิดว่าไม่มีปัญหา อย่างในปัจจุบันรายการในช่อง Workpoint ก็มีการให้พิธีกรใส่เครื่องป้องกันใบหน้าหรือ Face Shield ที่ทำให้เรายังเห็นหน้าตาพิธีกรอยู่ และมีการทำฉากกั้นระหว่างคอมเมนเตเตอร์แต่ละท่าน ตามหลัก Social Distancing

ข้อเสีย แน่นอนเลยว่าหากเป็นละครหรือภาพยนตร์ ผู้กำกับต้องหาทางคิดเล่นแร่แปรธาตุให้ภาพของนักแสดงที่อยู่ห่างกันดูใกล้กันมากขึ้น และอาจเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณไปอีกสำหรับการถ่ายทำที่จะต้องซับซ้อนขึ้นไปโดยปริยาย

ข้อแนะนำ แน่นอนล่ะว่าทีมงานสร้างสรรค์ต้องคิดมุมกล้องเพิ่มเติมซึ่งถือเป็นมาตรฐานใหม่ที่ต้องปฏิบัติในช่วงนี้

หมดสิทธิ์แซ่บ! แบนฉากกอด จูบ ลูบคลำ หรือใกล้ชิดชวนจิ้น (แต่หากจำเป็นให้ยื่นบทเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลพิจารณาก่อนได้)

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ห้ามมีฉากกอด จูบ ใกล้ชิด ทุกรูปแบบ

ข้อดี มันก็ถือเป็นมาตรฐานใหม่ในช่วงไวรัส ระบาด ที่ช่วยป้องกันโรคให้นักแสดง ซึ่งก็ตรงตามมาตรฐานของกองถ่าย Nieghbours ของออสเตรเลีย

ข้อเสีย อย่างแรกเลยคือละครหรือหนังมันจะไม่แซ่บเท่าเดิมแน่นอน..ฮ่าาาาา  แต่ยิ่งกว่านั้นคือมันเป็นท้าทายให้บทละครหรือบทภาพยนตร์ต้องเลี่ยงฉากประเภทนี้ เป็นการจำกัดจินตนาการแน่ ๆ หากจะมองแบบเผิน ๆ

ข้อแนะนำ ความจริงในข่าวก็มีการแถลงแล้วว่าทาง กระทรวงวัฒนธรรม แนะนำให้ใช้เทคนิคพิเศษแทน  หรือเป็นมุมกล้องแบบเดียวกับกองถ่าย Neighbours และไม่แน่นี่อาจเป็นการท้าทายให้ผู้ผลิตคอนเทนต์คิดงานภาพแบบใหม่เพื่อสื่อสารความรัก หรือ ความใกล้ชิดออกมาเป็นมิติใหม่ในการแสดงความรักในโลกยุคโรคระบาดแบบสร้างสรรค์ก็เป็นได้

จากเกณฑ์ของกระทรวงวัฒนธรรมที่เสนอออกมา ทางเรายังเห็นว่ามันขาดเกณฑ์ส่วนอื่นที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยในกองถ่ายเพิ่มเติม ดังนั้นทาง WHAT THE FACT จึงขอรวบรวมข้อแนะนำเพิ่มเติมดังนี้

เลี่ยงถ่ายทำพื้นที่เสี่ยง

หนึ่งในรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวคือการเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะในน้ำ ดังนั้นพวกฉากถ่ายใต้น้ำอาจต้องพิจารณาดี ๆ เพราะในน้ำเชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ง่ายที่สุด

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ภาพฉากใต้น้ำจาก เคว้ง (Netflix)

คัดกรองสุขภาพทีมงาน

เชื่อเถอะว่าแม้จะมีการตรวจคัดกรองหน้ากองถ่าย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เชื่อจะเล็ดลอดมายังกองถ่ายอยู่ดี ดังนั้นหากเป็นไปได้ต่อไปทางทีมงานอาจต้องมีการตรวจสุขภาพทั้งทีมงานและนักแสดงทุกคนเพื่อเป็นหลักฐานและสร้างความมั่นใจให้ทุกคนในกองถ่ายอย่างแท้จริง โดยอาจต้องยอมตัดใจหากทีมงานคนไหนติดเชื้อคงต้องจ้างคนอื่นมาแทน

ประกันสุขภาพกองถ่าย

อันนี้หลายกองถ่ายที่ได้มาตรฐานจะมีการทำประกันชีวิตให้ทีมงานอยู่แล้ว โดยอาจเพิ่มความมั่นใจด้วยการซื้อประกันกลุ่มสำหรับกองถ่าย และจะให้ดีรัฐบาลอาจมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือในส่วนนี้สมทบเพิ่มจากที่ทางบริษัทเจ้าของคอนเทนต์จะจ่ายไหว

มาตรฐานอาหารกองถ่าย

โดยปกติแล้วตามกองถ่ายต่าง ๆ จะมีการเลี้ยงข้าวกองเป็นปกติ กองไหนมีงบประมาณเยอะหน่อยก็มักจะมีทีมงานที่เรียกว่า Craft หรือ Catering มาให้บริการปรุงอาหารในกองถ่าย แต่อีกกรณีก็อาจมีการซื้อข้าวกล่องเลี้ยงกองกัน สำหรับในภาวะโรคระบาดแบบนี้อาจจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยตรวจตรากองถ่ายในส่วนของอาหารเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัย เพราะหากจะให้งดการบริการอาหารไปเลยอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่นอน

ควบคุมความใกล้ชิดในการแต่งหน้า ทำผม

ตรงนี้อาจนำแนวคิดของกองถ่าย Neighbours มาใช้ก็ได้ด้วยการงดการแต่งหน้าให้นักแสดงชายไปเลยเพื่อลดการใกล้ชิดและสัมผัส ส่วนนักแสดงหญิงทางกองถ่ายอาจยังต้องแต่งหน้าปกติ เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสใบหน้านักแสดงโดยตรง ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยถุงมือหรืออุปกรณ์เสริมที่อาจมีการคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการแต่งหน้าโดยเฉพาะ ส่วนการทำผมมักมีระยะห่างระหว่างช่างกับนักแสดงแต่จะให้ดีควรอุปกรณ์ป้องกันมากขึ้น

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

การทำผม แต่งหน้าควรมีอุปกรณ์ป่องกัน (ภาพประกอบจาก ABC News)

จัดโซนทำงานต่าง ๆ ให้ชัดเจนและต้องมีมาตรฐานด้านความถี่ในการทำความสะอาด

จากประสบการณ์แล้วในกองถ่ายที่มีมาตรฐานจะมีการจัดโซนการทำงานเป็นระบบอยู่แล้ว รวมถึงเสื้อผ้า เครื่องประดับ และอุปกรณ์ประกอบฉากที่จะต้องมีการทำความสะอาดก่อนมาถึงนักแสดง แต่สิ่งที่อาจจะต้องเพิ่มคือการแบ่งโซนที่ชัดเจนและมีการเพิ่มในส่วนของ แม่บ้านกองถ่าย ที่จะต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อแต่ละโซนให้บ่อยครั้ง และจดบันทึกการทำความสะอาดอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดโรค

ยกระดับมาตรฐานห้องน้ำกองถ่าย

คงต้องยอมรับล่ะว่ามันเป็นความธรรมดาของมนุษย์มากที่จะต้องขับถ่าย แต่กองถ่ายโดยทั่วไปมักจะให้ความสำคัญเพียงการจัดหาห้องน้ำให้เพียงพอ แต่ในภาวะนี้อาจต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้เข้าไปด้วย แอลกอฮอล์เจลสำหรับเช็ดทำความสะอาดสุขภัณฑ์ก่อนใช้ และ ต้องมีการจัดเตรียมสบู่ให้ทีมงานเพียงพอต่อการล้างมือ

ทำความสะอาดอุปกรณ์ถ่ายทำทุกชิ้น

เรื่องความสะอาดในกองอาจจะต้องถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่ทีมงานต้องสัมผัสโดยตรงอย่าง กล้อง ไฟ และ อุปกรณ์เสียงต่าง ๆ ที่ยอมรับเถอะว่าบางทีเราทำความสะอาดเพียงแค่เอาฝุ่นออกเท่านั้น แต่ใน พ.ศ. นี้ความสะอาดระดับนั้นอาจไม่เพียงพอต่อไป โดยบริษัทที่ให้เช่าอุปกรณ์อาจต้องมีการจัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับอุปกรณ์แต่ละประเภทมาประจำไว้ เพราะไม่เพียงแต่ทีมงานเท่านั้นอย่างนักแสดงเองที่จะต้องติดไมโครโฟน ไวร์เลส อย่างใกล้ชิดกับร่างกายก็ควรมั่นใจในความสะอาดของอุปกรณ์ด้วย

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ควรทำความสะอาดกองถ่ายและอุปกรณ์ถ่ายทำ (ภาพจาก Brand Inside)

จัดเบาะนั่งสำหรับรถตู้ทีมงานและนักแสดง

เพื่อความสะดวกและการควบคุมเวลากองถ่ายส่วนใหญ่มักจะใช้บริการรถตู้เพื่อขนส่งทีมงานไปยังกองถ่ายจากหน้าบริษัทถ่ายทำ หรือ บริเวณที่มีการนัดหมาย แต่คราวนี้งานของ ผู้จัดการกองถ่ายคงต้องคำนวณดี ๆ แล้วว่าหากรถ 1 คันเคยบรรจุคนได้มากเท่าไหร่อาจต้องลดจำนวนและมีการคำนวณคนโดยเว้นระยะที่นั่งและทำเครื่องหมายเว้นระยะห่างระหว่างผู้โดยสารให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อบนรถตู้ รวมถึงการทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจลสำหรับทุกเบาะที่นั่งและมีการฆ่าเชื้อโรคภายในตัวรถที่ใช้ขนส่งทีมงานทุกคันอีกด้วย

ระบบติดตามการเดินทางของทีมงาน

จริง ๆ ตรงนี้มีแอปรองรับเยอะมาก หากผู้จัดการกองถ่ายจะเพิ่มระบบการรายงานการเดินทางในระยะเวลาก่อนถ่ายทำได้จะช่วยในการป้องกันโรคได้มีประสิทธิภาพทีเดียว

จัดหาพยาบาล หรือ บุคลากรการแพทย์ ไว้ในกองถ่าย

อย่างที่เราได้บอกไปก่อนหน้านี้ การมีแพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ในกองถ่ายถือว่าสร้างความอุ่นใจให้ทุกคนในกองถ่ายมากที่สุด และหากเป็นไปได้คือการเตรียมรถพยาบาลสำหรับคนส่งผู้ป่วยทันทีเมื่อมีอาการต้องสงสัย หรือ มีการบาดเจ็บจากการถ่ายทำ

ติดตั้งเต็นท์ตู้ความดันลบครอบเตียงเผื่อกรณีพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ COVID-19

ตรงนี้คงปฏิบัติได้ยากที่สุด แต่เชื่อเถอะว่ามันคือปราการด่านสุดท้ายหากเกิดเหตุสุดวิสัยเจอผู้ป่วยติดไวรัส COVID -19 จริง เต้นท์ตัวนี้จะช่วยไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป โดยเป็นไปได้อาจมีการขอเช่าจากโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือติดต่อทางหน่วยงานที่ผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

WHAT THE FACT เจาะมาตรการกองถ่ายไทยกระทรวงวัฒนธรรม

ตู้ความดันลบครอบเตียงผู้ป่วย COVID-19 ชองคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อแนะนำในเบื้องต้น ซึ่งหากมีมาตรการที่ได้รับการรับรองและประกาศใช้จากทางรัฐบาล เราจะนำมารายงานกันอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง 

อ้างอิง

รายละเอียดการรับบริจาคเพื่อผลิตตู้ความดันลบครอบเตียงผู้ป่วย COVID-19 เพื่อส่งต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส