ฟลอเรียน ชไนเดอร์ (Florian Schneider) หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์สุดล้ำจากเยอรมันนาม Kraftwerk (ครัฟท์แวร์ค) [แปลว่า โรงไฟฟ้า ในภาษาเยอรมัน] ผู้เปลี่ยนสุ้มเสียงแห่งวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์-พอปไปตลอดกาล ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 73 ปี
ข่าวดังกล่าวได้รับการยืนยันจากรัลฟ์ ฮึทเทอร์ (Ralf Hütter) ผู้ร่วมงานของชไนเดอร์มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ซึ่งกล่าวว่าชไนเดอร์เสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ก่อนหลังผ่านวันเกิดปีที่ 73 ได้ไม่กี่วัน และมีพิธีฝังศพเป็นการส่วนตัว
ชไนเดอร์ เกิดเมื่อปี 1947 เป็นบุตรชายของพอล ชไนเดอร์ – เอสเบเลน สถาปนิกผู้โด่งดังที่ออกแบบสนามบินของเมืองโคโลญจน์ ชไนเดอร์เริ่มเล่นดนตรีเป็นครั้งแรกตอนเรียนที่ ดึสเซลดอร์ฟ (Düsseldorf) โดยเริ่มต้นในวงดนตรีที่ชื่อ Pissoff จากนั้นจึงมีบทบาทในวงการดนตรีร็อกแนวทดลองของเยอรมันที่ถูกขนานนามว่า “krautrock” จากนั้นชไนเดอร์ได้ตั้งวง Organization ร่วมกับ รัลฟ์ ฮึทเทอร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวง Kraftwerkในปี 1970
ชไนเดอร์เริ่มต้นจากการเล่นฟลูต ไวโอลิน และ กีต้าร์ โดยมักผสมเอฟเฟกจากซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ลงไปด้วย ต่อมาความสนใจในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของชไนเดอร์ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เขาพบว่าฟลูตนั้นมีข้อจำกัดเกินไป เลยตัดสินใจไปซื้อไมโครโฟน ลำโพง ตัวทำเสียงเอคโค่ ซินธิไซเซอร์ และเริ่มเข้าสู่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มตัว
หลังจากสามอัลบั้มที่ทำร่วมกับ ฮึทเทอร์ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 Kraftwerk ได้ปล่อยอัลบั้ม Autobahn อันเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมของพวกเขาและได้ขยับขยายกลายเป็นวงสี่ชิ้น อัลบั้มนี้มีเสียงซินธิไซเซอร์เป็นตัวเอกและได้สร้างสุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของ Kraftwerk ทำให้มันได้รับความนิยมและไต่ขึ้นถึง Top 5 ของชาร์ตเพลงในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
การเติมเสียงสังเคราะห์ และ ดรัมแมชชีนที่ซับซ้อนและลุ่มลึก ผสานด้วยด้วยเสียงร้องอันโดดเด่นของฮึทเทอร์ ทำให้ Kraftwerk ได้สร้างผลงานอันทรงคุณค่าต่อมาอีกหลายอัลบั้มที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และพอปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสี่อัลบั้มนี้ คือ Radio-Activity (1975) Trans-Europe Express (1977), The Man-Machine (1978) และ Computer World (1981) ซึ่ง Kraftwerk อธิบายว่าดนตรีของพวกเขาคือ “industrielle volksmusik” ซึ่ง เดวิด โบวี ถอดความให้ว่ามันคือ “ดนตรีโฟล์กจากโรงงาน” นั่นเอง
Kraftwerk ได้กลายเป็นรากฐานของดนตรี ซินธ์พอป ที่เติบโตและครองวงการในยุค 80s บทเพลงของพวกเขาได้ถูกนำไปคารวะด้วยการนำเอาท่วงทำนองไปใช้ในบทเพลงของศิลปินมากมายอาทิเพลง Trans-Europe Express ที่ถูกนำไปใช้โดย Afrika Bambaataa & the Sonic Sonic Force ในบทเพลงฮิปฮอปสุดฮิต ‘Planet Rock’ ในขณะที่อัลบั้ม Computer World มีอิทธิพลอย่างมากวงการเพลง เฮ้าส์ และ เทคโน ที่เติบโตขึ้นในชิคาโกและดีทรอยต์ในทศวรรษที่ 80s
ผลงานของพวกเขาได้ชักพาให้ได้ไปรู้จักกับ เดวิด โบวี และ อิกกี พอป ซึ่ง พอปเคยเล่าว่าเขาและชไนเดอร์เคยไปตามล่าหาซื้อหน่อไม้ฝรั่งด้วยกัน และเพลง V-2 Schneider ของ โบวี ก็เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นการยกย่องชไนเดอร์ นอกจากนี้อัลบั้ม “Low” (1977) ของ เดวิด โบวี ยังได้รับอิทธิพลจากแนวดนตรี Kraftrock ของเยอรมัน อันผสมผสานไว้ด้วยกลิ่นอายของไซคีเดลิคร็อก ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และ อิทธิพลจากศิลปะแนว avant-garde ซึ่ง Kraftwerk คือหนึ่งในแนวหน้าที่วางรากฐานของดนตรีแนวนี้
เดวิด โบวีเคยให้สัมภาษณ์ถึงความหลงในงานดนตรีของ Kraftwerk ไว้ว่า
“สิ่งที่ผมหลงใหลใน Kraftwerk คือความมุ่งมั่นเฉพาะตัวของพวกเขาที่จะแยกออกจากทางเดินคอร์ดแบบอเมริกันแบบที่นิยมทำกันและโอบกอดด้วยความรู้สึกของชาวยุโรปเอาไว้แล้วแสดงมันออกมาผ่านทางดนตรีของพวกเขา”
ชไนเดอร์ผู้มีรอยยิ้มอันแฝงไว้ด้วยความลึกลับ คือผู้ที่อุทิศพลังของตนให้กับเสียงดนตรีออย่างเต็มที่ ทุกสตูดิโออัลบั้มของ Kraftwerk คือผลพวกจากความคิดสร้างสรรค์ของชายคนนี้ไม่ว่าจะเป็น The Man-Machine หนึ่งในอัลบั้มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด หรือ บทเพลง The Model ซินธ์พอปเศร้า ๆ ที่ติดท็อปชาร์ตของ UK ในปี 1982 เป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี ที่ ฟลอเรียน ชไนเดอร์ และ Kraftwerk ได้สร้างสรรค์ผลงานดนตรีอันทรงคุณค่ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70s จนถึงปี 2003 ที่ผลงานอัลบั้มชุดสุดท้ายได้ถูกปล่อยออกมา
หลังจากสร้างสรรค์สตูดิโออัลบั้มชุดสุดท้าย Tour De France Soundtracks ในปี 2003 และได้ออกทัวร์ร่วมกับวงอีกสักพัก ในปี 2008 ชไนเดอร์ก็ได้ตัดสินใจยุติบทบาทและลาออกจากวงที่เขาเริ่มต้นมันมาด้วยตัวของเขาเองในที่สุด
ชไนเดอร์ไม่ได้ให้เหตุผลอะไรเลยสำหรับการตัดสินใจลาออกจากวง ซึ่ง ฮึทเทอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง The Guardian ไว้ว่า ชไนเดอร์นั้นใช้เวลาทำงานกับโพรเจกต์อื่น ๆ เป็นเวลานานหลายต่อหลายปี จนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมกับ Kraftwerk เลย และ หลังจากที่ชไนเดอร์ได้ลาออกจากวงทั้งคู่ก็ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกันอีก
จนในปี 2015 ชไนเดอร์ได้เปิดตัวบทเพลงชิ้นใหม่ Stop Plastic Pollution โดยร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ Dan Lacksman เพื่อสร้างสรรค์บทเพลงที่ปลุกจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการไปว่ายน้ำในมหาสมุทรที่ชายฝั่งของกานาดูชาวประมงจับอะไรไม่ได้นอกจากขยะพลาสติกที่ติดมากับอวน
Kraftwerk นับเป็นวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างคุณูปการต่อวงการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาได้สร้างกระแสความนิยมดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80s และได้มีวงดนตรีรุ่นใหม่นำเอาแนวทางที่พวกเขาได้วางรากฐานเอาไว้มาพัฒนาสานต่อออกมาเป็นแนวดนตรีใหม่ ๆ อาทิ เฮ้าส์ ,เทคโน, อิเล็กโทรพอป, ซินธ์พอป และได้นำเอาบทเพลงของพวกเขามาทำใหม่รวมไปถึงนำเอาท่วงทำนองเพลงของพวกเขามาใช้อยู่เสมอตราบจนกระทั่งในปัจจุบัน
อิทธิพลของฟลอเรียน ชไนเดอร์และ Kraftwerk นั้นยิ่งใหญ่มากดังคำกล่าวของผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์ที่พูดถึงชไนเดอร์ว่า
“การกล่าวว่าเขานั้นมีอิทธิพลอย่างมากและเปลี่ยนวิถีแห่งเสียงของโลกดนตรีก็ยังดูเหมือนว่าเป็นการพูดยกย่องที่น้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ”
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของปูชนียบุคคลแห่งโลกดนตรีคนนี้เราจะมารำลึกถึงผลงานของชไนเดอร์และ Kraftwerk ผ่าน 10 บทเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของพวกเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกันครับ
10. Ruckzuck (1970)
เวลาพูดถึง Kraftwerk เรามักจะนึกถึงเสียงสังเคราะห์จากซินธิไซเซอร์และเสียงกลองจากดรัม แมชชีน แต่หากเราอยากได้ยินเพลงของ Kraftwerk ในแบบที่ใช้เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม เราสามารถย้อนกลับไปฟังได้ใน Ruckzuck (แปลว่า “ชั่วพริบตา”) แทร็กแรกของอัลบั้มเปิดตัวที่ใช้กีต้าร์ ออร์แกน ไวโอลิน และ กลอง โดยมี ฮึทเทอร์เล่นทำนองหลักบนฟลูต แต่มีการเล่นซ้ำจังหวะและให้อารมณ์เหมือนกับดนตรีเทคโน
9. Autobahn (1974)
เสียงปิดประตูรถ เครื่องยนต์ถูกสตาร์ท เสียงแตรดังขึ้น เสียงซินธิไซเซอร์ครวญออกมาเป็นท่วงทำนองที่ฟังได้ว่า Au-To-Bahn แล้วพาเราควบทะยานไปกับท่วงทำนองของการเดินทางในเวลา 22 นาที นี่คือหนึ่งในบทเพลงอันเป็นลายเซ็นของ Kraftwerk บทเพลงแห่งท้องถนนและเครื่องยนต์ บนท่วงทำนองที่ชวนให้คิดถึงงานของบีชบอยส์ กับเนื้อร้องสุดมินิมอล (“Wir fahren, fahren, fahren auf der Autobahn”) มันคือบทเพลงที่ถูกขนานนามว่าเป็น “เสียงร้องขับขานจากเครื่องยนต์”
8. Radioactivity (1975)
หนึ่งในบทเพลงที่น่าฟังที่สุดของ Kraftwerk ที่นอกจากจะน่าฟังแล้วยังย้ำเตือนให้เราหวาดกลัวภัยจากกัมมันตภาพรังสี บทเพลงนี้มีสองเวอร์ชันคือเวอร์ชันในปี 1975 และ 1991 ซึ่งในเวอร์ชันหลังมีการเปลี่ยนเนื้อร้องให้เข้ากับสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ท่ามกลางท่วงทำนองจากสัญญาณวิทยุ เสียงเบสทุ้มต่ำที่เน้นย้ำไปตลอดเพลง เสียงซินธ์ในคีย์ไมเนอร์หม่น และ เสียงฟู่ว ๆ ราวกับเสียงไอน้ำจากเซฟตี้วาล์ว และเนื้อร้องเท่ ๆ อย่าง “radioactivity, discovered by Madame Curie”
7. Trans-Europe Express (1977)
นี่คือตัวอย่างอันชัดเจนของเหตุผลที่ Kraftwerk ควรได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินพอปที่มีอิทธิพลมากที่สุดนับจากโลกนี้มี The Beatles มา พวกเขาได้พัฒนาซาวด์อันเป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีของเยอรมันยุคหลังสงคราม โดยหลอมรวมเอาอิทธิพลทางดนตรีจากดนตรีคลาสสิก โฟล์กของเยอรมัน บีชบอยส์ และ Velvet Underground จนพัฒนามาเป็นอิเล็กทรอนิกส์พอปในแบบฉบับของตัวเอง ท่วงทำนองของเพลงนี้ได้เป็นต้นธารของงานดนตรีในแนว อิเล็กโทร เทคโน เฮ้าส์ ดั๊บสเตป และอีกมากมาย และส่งอิทธิพลต่อศิลปินในยุคหลังตั้งแต่ Joy Division ไปยัน Daft Punk ท่วงทำนองของเพลงนี้ได้ถูก Afrika Bambaataa & Soul Sonic Force นำมาใช้ในเพลงฮิปฮอป ‘Planet Rock’ ของพวกเขาด้วย
6. The Model (1978)
The Model หรือ Das Model ผลงานจากอัลบั้มชุดที่ 7 The Man-Machine หนึ่งในบทเพลงฮิตของ Kraftwerk ที่พัฒนามาจากบทกวีของ Emil Schult ที่เขียนเกี่ยวกับนางแบบสาวสวยที่เขาได้พบเจอในไนท์คลับที่เมืองโคโลญจน์ เพลงนี้มีคนนำไปคัฟเวอร์มากมายหลากหลายเวอร์ชันแต่เวอร์ชันที่หวือหวาน่าเร้าใจก็คงเป็นของวงฮาร์ดร็อกจากเยอรมันนาม Rammstein ที่เปิดขึ้นมาด้วยเสียงกล่าวเปิดจาก Mathilde Bonnefoy มือตัดต่อจากภาพยนตร์เยอรมันเรื่องดัง Run Lola Run (1998) และภาพยนตร์สารคดีรางวัลออสการ์ Citizenfour (2014)
5. The Robots (1978)
เริ่มต้นเพลงด้วยเสียงเหมือนหุ่นยนต์กำลังวอร์มเครื่อง เมื่อมันเข้าที่ท่วงทำนองจึงบรรเลงอย่างเต็มที่ผ่านเสียงร้องนิ่ง ๆ ของหุ่นยนต์ว่า “We are the robots” พร้อมกับซาวด์อันเปี่ยมชีวิตชีวาที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าพลังจากภายในของหุ่นยนต์นั้นมันช่างเปี่ยมไปด้วยสีสันเหลือเกิน นี่คือบทเพลงอันบรรเจิดที่เกิดจากจินตนาการว่าหากบทเพลงของพวกเขาถูกบรรเลงโดยหุ่นยนต์แล้วมันจะเป็นอย่างไร และเป็นบทเพลงไฮไลท์ในการแสดงคอนเสิร์ตของ Kraftwerk ที่ทุกคนเฝ้ารอชมอย่างใจจดใจจ่อ
4. Neon Lights (1978)
ดูเหมือนว่านี่จะเป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองเบาสบายชวนผ่อนคลายที่สุดของ Kraftwerk แล้ว ด้วยท่วงทำนองคีย์เมเจอร์อันชวนเบิกบาน และเนื้อร้องที่สะท้อนถึงความสว่างไสวจากแสงไฟยามค่ำคืน จินตนาการเห็นภาพเมืองที่เต็มไปด้วยแสงไฟอันงดงามท่ามกลางความมืดมิด “Neon lights / Shimmering neon lights / And at the fall of night /This city’s made of lights” ตอนฟังเพลงนี้บางทีก็ชวนให้คิดถึงท่วงทำนองของ U2 อยู่เหมือนกัน ซึ่ง U2 ก็เอาเพลงนี้ไป cover จริง ๆ
3. Computer Love (1981)
ผลงานจากอัลบั้ม “Computer World” ที่ธีมของมันว่าด้วยเรื่องของการคืบคลานเข้ามาของคอมพิวเตอร์ในสังคมโลกทศวรรษที่ 80s และเสมือนเป็นการพยากรณ์อิทธิพลของคอมพิวเตอร์ที่มีต่อโลกในอนาคตได้อย่างค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว Computer Love เป็นบทเพลงของ Kraftwerk ในสไตล์ซินธ์พอปที่มีเมโลดี้สวยงาม ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกคุ้น ๆ หู หากเคยฟังเพลง “Talk” ของ Coldplay ที่นำเอาท่วงทำนองจากเพลงนี้ไปใช้
2. Tour de France (1983)
เพลงฮิตในปี 1983 ที่ถูกนำมารีมิกซ์อีกสองครั้งในปี 1984 และ 1999 และถูกรวมไว้ในอัลบั้ม Tour de France Soundtracks ในปี 2003 ที่ทำขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี การแข่งจักรยานทางไกลรอบประเทศฝรั่งเศส “ตูร์เดอฟร็องส์” เพลงนี้โดดเด่นด้วยท่วงทำนองที่สมกับเป็นซาวด์แทร็กสำหรับการแข่งจักรยานตูร์เดอฟร็องส์จริง ๆ เพราะมันประกอบไปด้วยท่วงทำนองอันมีสีสัน เสียงอันเกิดจากการปั่นจักรยาน เช่นเสียงของโซ่จักรยาน และเสียงสูดลมหายใจเข้าไปลึก ๆ ของนักปั่น
1.Stop Plastic Pollution (2015)
บทเพลงชิ้นสำคัญจากฟลอเรียน ชไนเดอร์ที่เล่าเรื่องราวผ่านสายตาของชาวประมงในหมู่บ้านในกานาที่ตกปลาแล้วไม่ได้อะไรกลับมานอกจากขยะพลาสติกที่ติดมากับอวน เนื้อร้องของเพลงก็เอ่ยออกมาอย่างซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา จริงใจดีไม่มีอะไรซับซ้อน ผ่านท่วงทำนองจากท้องสมุทรทั้งเสียงหยดน้ำ เสียงคลื่น และเสียงโซนาร์ เป็นบทเพลงอิเล็กทรอนิกส์รักโลกที่มีเสน่ห์ดีเลยทีเดียว
Source
https://www.theguardian.com/music/2020/may/06/florian-schneider-kraftwerk-co-founder-dies-aged-73
https://www.theguardian.com/music/2020/may/07/kraftwerk-their-30-greatest-songs-ranked
https://www.theguardian.com/music/2013/jan/27/kraftwerk-most-influential-electronic-band-tate
https://www.beartai.com/lifestyle/395445
https://www.nytimes.com/2020/05/07/arts/music/florian-schneider-kraftwerk-songs.html
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส