เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา Netflix ได้ฉายภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่นำแสดงโดย Chris Hemsworth (คริส เฮมสวอร์ธ) นั่นคือ Extraction ซึ่งมีพื้นหลังเป็นประเทศบังกลาเทศ โดยได้ใช้เทคนิคการปรับภาพให้ออกมาในโทนสีเหลือง แต่ตอนถ่ายทำในสถานที่จริงนั้นเป็นภาพสีธรรมชาติ
เทคนิคนี้เรียกว่า ฟิลเตอร์สีเหลือง (Yellow Filter) ซึ่งมักจะใช้กับภาพยนตร์ที่เดินเรื่องในประเทศอินเดีย, เม็กซิโก ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการสื่อถึงสภาพอากาศที่ร้อน และทำให้ภาพพื้นที่ที่ปรากฏบนจอนั้น ให้ความรู้สึกสกปรก และแห้งแล้ง
อีกทั้งยังดูเหมือนว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีูวู้ดจะจงใจใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองกับประเทศที่พวกเขาดูว่าเป็นสถานที่อันตราย หรือหรือทำให้มันดูน่ารังเกียจมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศเหล่านี้มักจะมีข่าวในด้านความรุนแรง มากกว่าที่จะถูกสื่อต่าง ๆ นำเสนอในด้านความสวยงามของธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยว
Sulymon นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจจากแคลิฟอร์เสีย ผู้ซึ่งครอบครัวมาจากประเทศอินเดีย, ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ได้กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องชวนให้อารมณ์เสียอย่างยิ่ง มันเป็นวิธีที่ชาวตะวันตกใช้ในการเหยียดเชื้อชาติกับสถานที่และผู้คนเหล่านี้”
ก่อนหน้า Extraction นั้น ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่โทนสีในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น
- Traffic (2000) ภาพยนตร์รางวัลออสการของผู้กำกับ Steven Soderbergh (สตีเว่น โซเดอเบิร์ก) ใช้โทนสีเหลืองในการกล่าวถึงประเทศเม็กซิโก และโทนสีฟ้าในการกล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกา
- Darjeeling Limited (2007) ของผู้กำกับ Wes Anderson (เวส แอนเดอร์สัน) ในฉากที่กล่าวถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ในประเทศอินเดีย
- ซีรีส์ Breaking Bad (2008-2013) ในฉากที่กล่าวถึงประเทศเม็กซิโก
นั่นอาจกล่าวได้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกันมักจะใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองเมื่อต้องการกล่าวถึงประเทศแห้งแล้ง, มีมลพิษสูง และเป็นเขตสงคราม แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงประเทศในแถบตะวันตก ก็มักจะใช้โทนสีเขียว หรือฟ้า
ยกตัวอย่างเช่นฉากในภาพยนตร์ Twilight (2008) หรือ The Bourne Identity (2002) เป็นต้น ที่ตัวละครนำจะมีโทนสีผิวที่ขาว แต่ตัวละครใน Extraction หรือ Traffic ที่เป็นชาวอินเดีย หรือเม็กซิกัน นั้น สีผิวจะถูกนำเสนอออกมาในโทนน้ำตาล
ก่อนหน้านี้ ผู้ชมในประเทศบังคลาเทศ ก็ได้แสดงความผิดหวังกับมุมมองของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ Extraction ที่มองประเทศของตนในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตามความเป็นจริง และบิดเบือนในหลาย ๆ ส่วน มีความผิดเพี้ยนทั้งด้านภูมิศาสตร์, วัฒนธรรม และผู้คน
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของศิลปะการสร้างภาพยนตร์ และความจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำเพื่อควบคุมงบประมาณ แล้วล่ะก็ การใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองสำหรับที่ผู้สร้างภาพยนตร์คิดว่าเป็นแถบเขตร้อน หรือแห้งแล้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้
แต่ถ้าคิดในการกลับกัน ผู้ชมบางกลุ่มก็มีแนวคิดว่า การเลือกใช้ฟิลเตอร์สีเหลือง หรือฟ้า เพื่อแบ่งแยกมุมมองที่มีต่อประเทศนั้น ๆ เหมาะสมหรือไม่ และจะส่งผลต่อมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประเทศนั้น ๆ จนส่งกลายเป็นเหยียดเชื้อชาติในอนาคตหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง : matadornetwork
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส