สิ่งหนึ่งที่พูดได้คือ ยามใดที่มีวิกฤตแน่นอนว่าเราคงอยากกล่าวโทษใครสักคน หรือสักอย่าง ทว่าถ้ามองถึงการแก้ปัญหาการกล่าวโทษอาจเป็นอย่างสุดท้ายที่ควรทำ และบางทีโลกทุกวันนี้ก็ยังขาดทัศนคติแง่บวกมากไปหน่อย เพราะทัศนคติที่ดีอาจช่วยแก้ปัญหาจริง ๆ ได้มากกว่าการวิจารณ์ เช่นเดียวกับที่กัปตันซัลลี่ในหนัง Sully เคยกล่าวว่า ชีวิตมนุษย์นั้นช่างสั้นนัก เราต้องใช้ชีวิตอย่างคนมองโลกแง่บวกให้ได้มากที่สุด วันนี้เราเลยขอนำเสนอหนังที่พูดถึงวิกฤตบนเครื่องบินที่กำลังจะตก อันอาจเปรียบเปรยได้ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เราต่างต้องเผชิญและคิดว่าช่างไร้ทางออก แต่มันก็ซ่อนแง่มุมด้านบวกที่พาเหล่าตัวเอกในหนังให้ผ่านมันมาได้ หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตไปได้เช่นกัน
Sully (2016)
จากเหตุการณ์จริงในปี 2009 เมื่อเครื่องบินสายการบิน US Airways ชนเข้ากับฝูงนกจนเครื่องยนต์ดับลงหลังจากที่เพิ่งขึ้นบินได้เพียง 3 นาทีเท่านั้น กัปตันซัลลี่นักบินผู้ทำหน้าที่ขับเครื่องบินโดยสารมากว่า 40 ปีของเครื่อง จึงตัดสินใจนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินบนแม่น้ำฮัดสันที่อยู่ใกล้ที่สุด และการตัดสินใจสุดเสี่ยงครั้งนั้นก็ได้ช่วยชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือไว้ได้ทั้งหมด
จนเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่ผู้คนเรียกขานว่า “ปาฏิหาริย์กลางแม่น้ำฮัดสัน”
ความน่าสนใจของหนังเกิดขึ้นหลังจากนั้นและเป็นเวลาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนหนังด้วย เมื่อกัปตันซัลลี่ต้องถูกคณะกรรมการความปลอดภัยทางการบินสอบสวนครั้งใหญ่ จากเดิมที่ไม่น่ามีอะไรเพราะทุกคนต่างมองว่าเขาคือฮีโรของเมืองทั้งนั้น แต่ก็เป็นเรื่องขึ้นมาจนได้หลังจากคอมพิวเตอร์จำลองการบินทำการวิเคราะห์ว่าเขามีทางเลือกและเวลามากพอที่จะนำเครื่องไปจอดลงสนามบินใกล้ ๆ อย่างปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องยื่นความเสี่ยงให้กับทุกคนด้วยการเอาเครื่องลงจอดในแม่น้ำ ที่ว่ากันตามประวัติศาสตร์การบินโลกแล้วอัตราความสำเร็จน้อยมากจนเข้าขั้นปาฏิหาริย์จริง ๆ
จุดน่าสนใจในเรื่องนี้คือ เมื่อเอานักบินที่เชี่ยวชาญมาลองบินทดสอบในแบบจำลองเดียวกับสถานการณ์ที่ซัลลี่เจอ ทุกคนสามารถคุมเครื่องไปจอดได้ปลอดภัยในสนามบินทั้งสิ้น ตรงนี้ยิ่งซ้ำเติมซัลลี่ว่าตัดสินใจพลาดอย่างแรงและรอดมาได้แค่เพราะโชคดี แต่แล้วเมื่อซัลลี่ร้องขอให้นักบินทุกคนทำสิ่งหนึ่งในการทดสอบ ปรากฏว่านักบินทุกคนทำเครื่องตกโดยไม่มีใครได้ไปถึงสนามบินสักคน และสิ่งที่ซัลลี่ร้องขอให้ทำนั่นก็คือ ขอให้คิดแบบมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องเจอกับสิ่งไม่คาดคิดและต้องตัดสินใจหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะก่อนหน้านี้นักบินทุกคนใช้การตัดสินใจแบบคอมพิวเตอร์ คือรู้ว่าจะเจอกับอะไรและต้องทำอะไรได้ทันที พวกเขาไม่ได้ต้องลังเลหรือคิดอย่างที่ซัลลี่ประสบเลย นั่นคือคำตอบว่าสิ่งที่ซัลลี่ทำเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะรับมือในสถานการณ์นั้น
ผลสรุปในหนังของผู้กำกับ คลินต์ อีสต์วูด และนักแสดงนำอย่าง ทอม แฮงก์ส เรื่องนี้ ทำให้เราหันกลับมาศรัทธาในพลังวิเศษของมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดอีกครั้ง และอีกประการคือสอนเราว่า การจะกล่าวโทษใครสักคนที่อยู่ในวิกฤต โดยใช้จุดยืนของตัวเองที่ปลอดภัยกว่าไปตัดสิน อาจเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมากก็เป็นได้ และไม่มีใครรู้ชะตาของตัวเองหรอกว่าจะต้องเจออะไร
Flight (2012)
หนังเรื่องนี้เหมือนเอาเรื่องของกัปตันซัลลี่มามองในมุมดาร์ก หนังเล่าถึงกัปตันวิปผู้ที่ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมบินเพราะเพิ่งผ่านทั้งการมีเซ็กซ์ ดื่มเหล้าและเสพยา ตลอดจนขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่ก็ฝืนทำการบิน ปรากฏว่าเครื่องบินไฟลท์นั้นเกิดเหตุขัดข้อง และเขาก็ใช้ความเชี่ยวชาญส่วนตัวในการบังคับเครื่องบินที่หมุนกลับหัวมาลงจอดได้สำเร็จ โดยมีผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตเพียง 6 คน เรื่องความไม่พร้อมก็เรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดเพราะความไม่พร้อมของเขา ทั้งเขายังเอาตัวรอดแก้ปัญหาได้ดีด้วย ทว่ามองในภาพรวมของเหตุการณ์เขาคือฮีโรหรือจำเลยกันแน่ล่ะ?
หนังเรื่องนี้ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมกคิส และนักแสดงนำ เดนเซล วอชิงตัน มุ่งที่จะสร้างข้อถกเถียงในเรื่องศีลธรรม และตรรกะความเป็นจริงในตัวคนดู มากกว่าจะเสนอความตื่นเต้นหวือหวาของเหตุการณ์ เพราะช่วงเวลาส่วนใหญ่ในหนังก็อยู่ที่การสืบสวนหาความจริงของเหตุการณ์ ที่แปรเปลี่ยนให้ฮีโรกับคนบาปอยู่ใกล้กันมากบนเส้นคั่นเชิงเหตุผลสำหรับแต่ละคนที่ดู และสำหรับใครที่ดูมาก็คงรู้ว่า สุดท้ายแล้วกัปตันวิปก็พบว่าทางออกจากความรู้สึกผิดและการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การยอมรับความจริง อยู่กับความจริง ซึ่งรวมถึงความผิดพลาดของตนเองด้วย เพราะไม่มีใครเติบโตขึ้นได้โดยไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
Air Force One (1997)
เจมส์ มาร์แชล ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังเดินทางกลับประเทศพร้อมครอบครัวและคณะผู้ติดตามด้วยเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง แอร์ฟอร์ซวัน แต่ปรากฏว่ามีผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงแฝงตัวขึ้นเครื่องมา ก่อนจะฆ่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนเครื่องและจับคนที่เหลือเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ปล่อยตัวหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ถูกคุมขังในรัสเซีย
ประธานาธิบดีถูกกันตัวและพาหนีไปใต้ท้องเครื่องบินได้ทัน ที่นั่นมีเครื่องบินเล็กสำหรับให้คนหนึ่งคนใช้หลบหนีได้ แต่มาร์แชลเป็นอดีตทหารที่มีศักดิ์ศรีเขาจึงตัดสินใจไม่หนีเอาตัวรอดเพียงลำพัง และเลือกลุยเดี่ยวสู้กับผู้ก่อการร้ายเพื่อช่วยตัวประกันและครอบครัวของตนเอง เขาต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายที่โหมกระหน่ำมาเป็นระยะไม่ขาด ทั้งยังมีคนทรยศที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มตัวประกันนั้นด้วย
หนังเป็นแนวแอ็กชันผสมการเมืองที่เอามันเข้าว่า และดูสนุกมาก ๆ ผลงานของผู้กำกับ วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน และนักแสดงนำอย่าง แฮร์ริสัน ฟอร์ด ในบทประธานาธิบดีสหรัฐ และถ้าอยากรู้ว่าการที่กัปตันซัลลี่เอาเครื่องบินลงจอดบนน้ำอันตรายขนาดไหน หนังเรื่องนี้ก็มีคำตอบให้ชมด้วย
ถ้ามองในแง่การตัดสินใจกู้วิกฤตบนเครื่องบินนี่เป็นอีกตัวอย่างที่บอกว่า การแก้วิกฤตคือการช่วยไปที่คนไม่ใช่ช่วยตัวเครื่องบิน แม้เครื่องบินนั้นจะมีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์สำคัญมายาวนานอย่างไรก็ตาม
(อ่านต่อหน้า 2)
Con Air (1997)
คาเมรอน โพ คืออดีตทหารที่ติดคุกจากการปกป้องภรรยาของเขาจากกลุ่มคนเมาที่เข้ามาหาเรื่อง จนเผลอฆ่าหนึ่งในนั้นตาย หลังจากรับโทษจนครบร่วมสิบปี โพก็กำลังจะได้ขึ้นเครื่องขนส่งนักโทษเพื่อกลับบ้านไปหาลูกและเมีย แต่ความโชคร้ายคือกลุุ่มนักโทษบนเครื่องที่เขาต้องโดยสารไปนั้นได้วางแผนฆ่าผู้คุมและยึดเครื่องบินจนสำเร็จ โพที่ติดร่างแหในเหตุการณ์นี้จึงเลือกแฝงตัวว่าเป็นคนร้ายคดีร้ายแรงที่ขอร่วมขบวนไปด้วย ทั้งนี้เพื่อได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้คุมที่ยังรอดชีวิตกับเพื่อนนักโทษของเขาที่ป่วยขั้นรุนแรง โดยโพต้องขัดขวางและต่อสู้กับหัวหน้าอาชญากรสุดเหี้ยมโหดและฉลาดเป็นกรดบนเวทีลอยฟ้าที่ไร้ทางหนี จนกระทั่งใกล้ถึงฉากสุดท้ายแล้ว ก็ยังต้องลุ้นพาเครื่องลงจอดบนถนนในแอลเอเพราะน้ำมันหมดอีก
หนังเต็มไปด้วยสถานการณ์เดือด ๆ ชวนลุ้น และความเท่แบบติดตา จากฝีมือการกำกับครั้งแรกของ ไซมอน เวสต์ โดยการดันของ เจอร์รี บรักไฮม์เมอร์ ผู้อำนวยการสร้างคนดัง และยังได้นักแสดงนำอย่าง นิโคลัส เคจ มาแจมด้วย
หนังยังแสดงให้เห็นว่าการแก้วิกฤต คือ การฉวยทุกโอกาสที่เข้ามา และไม่ย่อท้อแม้อุปสรรคจะทำลายโอกาสนั้นสักกี่ครั้ง สุดท้ายแล้วไม่มีใครที่แพ้ไปได้ตลอดกาลหรอกนะ
Snakes on a Plane (2006)
ซามูเอล แอล. แจ็กสัน รับบทเอฟบีไอชื่อ ฟลินน์ ที่ต้องคุมตัวพยานในคดีฆ่าอัยการขึ้นเครื่องบินไป แต่ปรากฏว่าคนร้ายในคดีดังกล่าวเป็นเจ้าพ่อใหญ่ก็เลยสั่งคนขนงูพิษเป็นร้อย ๆ ตัวแอบขึ้นไปบนเครื่อง กะว่าจะปล่อยออกมาให้ฆ่าพยานทิ้งไปพร้อมผู้โดยสารทั้งลำเพื่อกลบเกลื่อนด้วย แต่แค่พลอตและสถานการณ์สุดมันกับเหล่างูนับร้อยคงได้อารมณ์หนังเกรดบียังไม่พอ บทเลยบันดาลให้นักบินทั้งสองคนต้องมาตายไปอีกระหว่างการแก้ปัญหางูพิษเต็มลำ ความหวังสุดท้ายในการนำเครื่องลงได้จึงเหลือเพียง เสี่ยงให้โอกาสผู้โดยสารที่เคยเล่นเกมจำลองการบินคนหนึ่งมาลองขับนำเครื่องลงจอด
ก็ตามว่าหนังเกรดบีเอามันล้วน ๆ จริง ๆ ล่ะ แต่หนังก็ยังให้เราได้เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาว่า การเรียนรู้และฝึกฝนถึงจะไม่เคยได้ทำจริง ก็ยังดีกว่าไม่เคยคิดจะลงมือทำอะไรเลย และอย่างน้อยที่สุดมันก็ช่วยเติมโอกาสให้ไม่กลายเป็น 0% ได้ล่ะนะ
Airplane! (1980)
หนังตลกเบาสมองที่มีดาราตลกรุ่นใหญ่อย่าง เลสลี นีลสัน มารับบทแพทย์ที่บังเอิญอยู่บนเครื่องบิน ซึ่งบังเอิญอีกว่าเขาพบว่าอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องทำให้ผู้โดยสารบางคนตลอดจนนักบินเกิดอาหารเป็นพิษจนตาย ร้อนไปถึงพระเอกของเราอย่าง เท็ด ที่เป็นอดีตนักบินรบที่หลังจากสงครามก็เกิดอาการเกลียดกลัวการขับเครื่องบินจนต้องขอลาออกมาขับแท็กซี่ และวันนี้เขาก็จำใจมาขึ้นเครื่องบินลำนี้เพียงเพื่อง้อแฟนที่เป็นแอร์โฮสเตสเท่านั้นเอง สถานการณ์สร้างวีรบุรุษทำให้เขาต้องบังคับจิตใจกลับมาคุมเครื่องบินอีกครั้ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ช่วยนักบินที่เป็นตุ๊กตาพองลมอัจฉริยะที่ชื่อ ออตโต ซึ่งขับได้แต่เอาเครื่องลงไม่เป็น และคำแนะนำทางวิทยุสื่อสารจากอดีตผู้บังคับบัญชาสมัยเป็นทหารของเขาเท่านั้น
นี่คือหนังตลกคลาสสิกที่วางรากฐานในหนังตลกยุคถัดมา และก่อให้เกิดหนังอย่าง The Naked Gun สุดฮาตามมาภายหลังด้วย
สำหรับเรื่องนี้ ก็สามารถสอนเราว่า วิกฤตบางอย่างผู้แก้ปัญหาอาจเพียบพร้อมด้วยฝีมือและความพร้อม แต่อาจต้องเริ่มปรับแก้ที่จิตใจก่อนเป็นอันดับแรกจึงจะทำได้สำเร็จ เช่นเดียวกับเท็ด
United 93 (2006)
จากเหตุการณ์จริงเมื่อเช้าวันที่ 11 กันยายน 2001 เมื่อเที่ยวบิน ยูไนเต็ด 93 ที่บรรทุกผู้โดยสารรวมทั้งลูกเรือจำนวน 44 ชีวิตได้ทะยานขึ้นฟ้า โดยไม่รู้เลยว่าพวกเขาอยู่บนเครื่องบิน 1 ใน 2 ลำที่ผู้ก่อการร้ายอัลเคดาต้องการยึดเพื่อนำไปก่อเหตุพุ่งชนเพนตากอน โดยยังมีอีก 2 ลำที่มีเป้าหมายเป็นตึกแฝดอย่างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ด้วย น่าสนใจว่าจากเครื่องทั้งหมด 4 ลำ มีเพียง ยูไนเต็ด 93 ที่ผู้ก่อการร้ายไม่สามารถนำไปก่อเหตุสำเร็จ สาเหตุสำคัญมากจากความร่วมมือร่วมใจเสียสละชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือนั่นเอง เมื่อพวกเขาทราบข่าวที่เกิดขึ้นที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ พวกเขาก็รู้ชะตากรรมของตนเองว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่พวกเขาเลือกสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะพวกเขาสู้กลับกลุ่มก่อการร้ายแบบเอาตัวเข้าแลกและพร้อมตาย ผลคือพวกเขาทำให้เครื่องบินลำนี้พุ่งตกพื้นก่อนที่จะไปสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศสำเร็จ
ผู้กำกับ พอล กรีนกลาส นำเสนอหนังในมุมมองกึ่งสารคดีได้สุดตราตรึงใจ เราได้เห็นผู้คนบนเครื่องที่ส่งข้อความหาคนที่รักเป็นครั้งสุดท้าย และฉากจบที่กระชากอารมณ์ราวการตัดจบ แต่กลับลากยาวในความรู้สึกอึ้งตื้อในหัวใจผู้ชมได้ยาวนาน
หนังเรื่องนี้ยังสอนว่าถึงจุดหนึ่งในวิกฤต อาจต้องยอมเสียสละตนอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะที่ไม่อาจมีอะไรทดแทนได้ นั่นคือความหมายของฮีโรในโลกความเป็นจริงที่ไม่มีซูเปอร์แมนมาบินแบกเครื่องลงจอดสวย ๆ หรือมีทีมอเวนเจอร์สบินมาจับผู้ก่อการร้ายและยึดเครื่องคืนแบบสบาย ๆ ด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส