นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ลุกลามชีวิตปกติของเรา ส่วนตัวผู้เขียนเองมีอุปกรณ์จากครอบครัว Xiaomi (เสียวหมี่) เพิ่มเข้ามาในบ้านอย่างน้อยก็ 4 ชิ้น และจากการที่เห็นข่าวบริษัทเสียวหมี่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ดูเป็นนวัตกรรมในชีวิตประจำวันจริง ๆ อย่างสม่ำเสมอ แล้วก็รู้สึกอยากได้อยากลองไปเสียทุกครั้ง อาจด้วยคุณภาพกับราคาที่สร้างความคุ้มค่าแบบยั่วยวนใจสุด ๆ ด้วยนั่นล่ะ

ผลิตภัณฑ์มากมายในครอบครัวของเสียวหมี่

จนวันหนึ่งผู้เขียนก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า แล้วไอ้เสียวหมี่นี่เป็นใครกันนะ? (ในบริบทว่าผู้เขียนทราบอยู่แล้วว่าเป็นชื่อบริษัท แต่ใครกันล่ะที่อยู่เบื้องหลัง) อะไรที่เริ่มมีอิทธิพลกับชีวิตเรามาก ๆ เราก็ควรรู้จักนิสัยใจคอเขาสักหน่อยดีกว่า

จุดเริ่มต้นของ Xiaomi

Xiaomi ก่อตั้งขึ้นจากคน 8 คน บางคนเป็นถึงอดีตระดับหัวหน้าหรือผู้บริหารองค์กรใหญ่อย่างเช่น Google , Microsoft หรือ Motorola มาแล้ว บางคนเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จสูงในจีน บางคนเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาดีไซน์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง น่าสนใจว่ามีคนเก่ง ๆ อยู่มากมายเช่นนี้ แต่พวกเขากลับยกให้ชายผู้ที่ไต่เต้าความสำเร็จด้วยมือตนเองจากศูนย์ อย่าง เหลยจุ่น (Lei Jun, 雷军) เป็นผู้นำและเป็นภาพลักษณ์ของบริษัท

ผู้ร่วมก่อตั้ง Xiaomi
ผู้ร่วมก่อตั้ง Xiaomi

ต้องบอกว่าถ้าจะหาใครสักคนที่เป็น สตีฟ จอบส์ หรือ บิล เกตส์ ของเสียวหมี่ ก็คือชายที่ชื่อ เหลยจุ่น นี่เอง

เหลยจุ่น เกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1969 ในเมืองเซียนเถา เมืองที่ติดไปทางตะวันตกของอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ครอบครัวของเหลยจุ่นทำอาชีพครูที่ฐานะไม่ได้ร่ำรวยหรือมีอันจะกินนัก นั่นอาจเป็นแรงผลักดันให้เขามีนิสัยเข้มงวดกับตัวเองในเรื่องการเรียนมาเสมอ

ปี 1987 เมื่อเมืองเล็ก ๆ อย่างเซียนเถาไม่เพียงพอต่อความใฝ่รู้ของเขาอีกต่อไป ในวัย 18 ปี เหลยจุ่นสามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในมณฑลหูเป่ยสำเร็จ ที่นั่นเขาเข้าศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเป็นครั้งแรกที่เขาต้องตกอยู่ในความเครียดของการแข่งขัน เหลยจุ่นพบว่าในยามที่เขางีบกลางวันอันเป็นนิสัยติดตัวมาแต่เด็ก เพื่อน ๆ ในหอพักของเขาต่างอ่านหนังสือและเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างหนัก ความรู้สึกที่จะถูกทิ้งอยู่เบื้องหลังคนเดียวทำให้เขากลายเป็นคนที่ขยันเพิ่มเข้าไปอีกเท่าตัว

เหลยจุ่น Xiaomi

เขามักตื่นแต่เช้าเพื่อรีบไปจองที่นั่งแถวหน้าสุดในชั้นเรียน และยามว่างที่เคยงีบหลับก็กลายเป็นเวลาของห้องสมุดเสมอ สองความเปลี่ยนแปลงธรรมดาแต่สำคัญนี้ นำพาให้เขามีโชคชะตาที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

จุดเปลี่ยนของโชคชะตา

ประการแรก การมารอเรียนแต่เช้า ทำให้เขาพบกับ จ้างถง (Zhang Tong) สาวน้อยแสนเฉลียวฉลาดผู้ที่กลายมาเป็นรักแรกและรักเดียวแห่งชีวิตของเหลยจุ่น มีผู้ศึกษาชีวประวัติของเหลยจุ่นกล่าวไว้ว่า “หากไม่มีจ้างถง ก็คงไม่มีเสียวหมี่เช่นกัน” แม่ทัพที่เก่งกาจต้องการหลังบ้านที่เกื้อหนุนฉันใด จ้างถงก็คือบุคคลที่ชีวิตของเหลยจุ่นไม่อาจขาดในการตามฝันพิชิตโลกไปได้ฉันนั้น

ประการที่สอง การเข้าห้องสมุดสม่ำเสมอ ทำให้วันหนึ่งเหลยจุ่นได้พบหนังสือเรื่องของ Silicon Valley สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กำเนิดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ในเรื่องราวเหล่านั้นมีบุคคลหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากให้เหลยจุ่น เขาคือ สตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทนามอุโฆษอย่างแอปเปิ้ลนั่นเอง หลังจากเหลยจุ่นอ่านหนังสือจบเขานั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ เขาได้แต่เดินคิดไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัยในใจมีแต่เรื่องราวของสตีฟ จอบส์ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อยู่เต็มหัว ใช่เขาอยากประสบความสำเร็จอย่างจอบส์

ช่วงมหาวิทยาลัย เขาได้มา 2 อย่าง ความรัก และความฝัน ซึ่งทั้งสองอย่างคือเข็มทิศในชีวิตของเขา

ผลลัพธ์จากความตั้งใจเรียน ทำให้ความสามารถในการเขียนโปรแกรมของเขาโดดเด่นเป็นที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปีแรกของการเรียนเขาได้เขียนโปรแกรมซึ่งในปีถัดมามันได้ถูกนำไปใส่ไว้ในตำราเรียนของมหาวิทยาลัย เพื่อน ๆ ร่วมรุ่นของเหลยจุ่นต่างพูดถึงเขาว่า “อีกสิบปีข้างหน้าเขาจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากสุดในรุ่นอย่างแน่นอน” ทว่าคำชมที่คงทำคนอื่นลำพองใจจนตัวลอยนี้กลับเป็นแรงกดดันสำหรับเหลยจุ่นเสียมากกว่า เขาคิดแต่ว่า ถ้าอีก 10 ปีฉันไม่ประสบความสำเร็จล่ะ? ฉันจะล้มเหลวไม่ได้เด็ดขาด

Steve Jobs Apple

เรียนรู้อย่างอดทน

และในปี 1992 เมื่อจบ 4 ปีในระดับปริญญาตรี เขาก็เริ่มหางานทำในดินแดนแห่งธุรกิจเทคโนโลยีของอู่ฮั่น ย้อนกลับไปในตอนที่ยังเรียนอยู่ เหลยจุ่นประทับใจกับโปรแกรมออฟฟิศเวอร์ชันจีนตัวแรกที่ชื่อ WPS อย่างมาก และนั่นก็ชักพาให้เขาไปหา เฉียวป่อจุ่น (Qiu Bojun) ผู้ก่อตั้งบริษัท Kingsoft ในปักกิ่ง บริษัทที่ถูกขนานนามว่า Microsoft แห่งเมืองจีน ซึ่งสร้างโปรแกรมดังกล่าวขึ้นมา

หากคิงซอฟต์สร้างคนอย่างเฉียวป่อจุ่นขึ้นมาได้ ทำไมจะสร้างแบบนั้นขึ้นมาอีกคนไม่ได้ล่ะ?

และการได้เริ่มทำงานในฐานะวิศวกรคอมพิวเตอร์ตัวเล็ก ๆ ของคิงซอฟต์ กระทั่งไต่เต้าจนได้เป็น CEO ของบริษัทด้วยเวลาเพียง 6 ปี ในปี 1998 จนนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นสำเร็จ ก็ทำให้เห็นฝีมือและความทุ่มเทที่ไม่ธรรมดาของเหลยจุ่น ย้อนดูตัวเราในช่วงอายุ 29 ปีพวกเราทำอะไรสำเร็จบ้าง สำหรับเหลยจุ่นเขาทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน 6-7 วันต่อสัปดาห์ และกลายเป็น CEO ของบริษัทที่เขาชื่นชมในสมัยเรียน

เหลยจุ่น กับ เฉียวป่อจุ่น
เหลยจุ่น กับ เฉียวป่อจุ่น

นอกจากเป็นที่ฝึกวิชาอดทนให้แก่เหลยจุ่นแล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่า คิงซอฟต์คือสถานที่กำเนิดรากฐานการตลาดแบบเสียวหมี่ ที่เน้นทำของคุณภาพดี กำไรน้อยหน่อย แต่ขายได้เยอะ ขึ้นมาก็ว่าได้

เพราะแทบตลอดมาบริษัทด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ในจีนโดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์ต้องเผชิญมรสุมของการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างหนัก จะหาคนใช้ของแท้ของมีลิขสิทธิ์ช่างยากเย็น เหลยจุ่นคือคนที่พาคิงซอฟต์เข้าสู่สงครามฆ่าโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 1999 ด้วยแนวคิดการตลาดแบบ เอากำไรน้อยแต่ขายให้ได้ปริมาณมาก เขาลดราคาโปรแกรมจาก 168 หยวน เหลือเพียง 28 หยวน เพื่อจูงใจให้คนมาใช้ของแท้ ในครั้งนั้นคิงซอฟต์ทำยอดขายได้ถึง 1.1 ล้านก็อปปี้ ทะลุเป้าอย่างไม่เคยทำได้มาก่อน เป็นชัยชนะด้านลิขสิทธิ์ครั้งสำคัญของวงการซอฟต์แวร์ในจีนด้วย

(อ่านต่อหน้า 2)

วิสัยทัศน์และการไม่ยอมแพ้

แต่เหลยจุ่นไม่ได้หยุดพอใจกับชัยชนะในสงครามเล็ก ๆ แค่นั้น เขารู้สึกถึงกระแสสงครามการเปลี่ยนแปลงของตลาดภายนอกที่กำลังก่อตัว และคิดว่าถึงเวลาต้องเข้าไปร่วมกระแสคลื่นใหญ่ที่กำลังเข้ามาในนาม อินเทอร์เน็ต เสียที

ในปี 1998 ตลาดเทคโนโลยีจีนเริ่มขยับตัวครั้งใหญ่ เมื่อ หม่าฮั่วเถิง (Ma Huateng) ก่อตั้ง Tencent และในปีถัดมา หม่าหยุน หรือ แจ็ก หม่า (Jack Ma) ก็ได้ก่อตั้ง Alibaba เหลยจุ่นเองก็ไม่ต่างกับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในวงการคนอื่น ๆ ในปี 1998 เขาพยายามเสนอซื้อบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตอย่าง NetEase ของ ติงเหล่ย (Ding Lei) แต่ถูกปฏิเสธ

ติงเหล่ย ผู้ก่อตั้ง NetEase
ติงเหล่ย ผู้ก่อตั้ง NetEase

การพลาดอาวุธสำคัญในครั้งนั้น ส่งผลให้เหลยจุ่นต้องลงสู้ในตลาดอินเทอร์เน็ตด้วยสิ่งที่ตัวเองมี เขาปรับเว็บขายโปรแกรมออนไลน์ของคิงซอฟต์อย่าง Joyo.com มาเป็นเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซที่ให้บริการขายหนังสือออนไลน์ในช่วงต้นปี 2000 และสามารถก้าวขึ้นเป็นร้านค้าปลีกหนังสืออันดับ 2 ของจีน แม้ในอีก 4 ปีถัดมาเขาจะขายมันให้บริษัท Amazon ไปทำเป็น Amazon.cn อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ทำให้เหลยจุ่นได้เรียนรู้การทำตลาดในสินค้าประเภทอื่น ๆ ขยายมุมมองของเขาจากแค่เรื่องซอฟต์แวร์เท่านั้น และสะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งใด

ปี 2007 หลังความสำเร็จในการนำคิงซอฟต์บุกตลาดหุ้นฮ่องกง ปักชื่อ Microsoft แห่งเมืองจีน กับชื่อของเขาลงในใจนักลงทุนอย่างฝังแน่น เหลยจุ่นรู้สึกว่าเขาใช้เวลาหลายปีที่ว่างเปล่า ไม่ได้สร้างคุณค่าใด ๆ แก่ผู้คนเลย หัวใจเขาต้องการอิสระและเวลาใคร่ครวญถึงอนาคต ความฝันที่ยังต้องออกไปท้าทาย และบางทีอาจเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ต่างจากเดิม เขาลาออกจากคิงซอฟต์ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และหันมายื่นโอกาสให้กับบริษัทสตาร์ทอัปใหม่ ๆ ที่ต้องการเงินทุนเริ่มต้นธุรกิจในฐานะ Angel Investor ที่ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ให้คนรุ่นใหม่

ผมมีความฝันที่เกินตัวอยู่นิด ๆ ผมอยากเปลี่ยนภาพสินค้าของจีนที่ว่าไร้คุณภาพและมีราคาแพง ให้คนจีนได้ใช้สินค้าที่มีรูปลักษณ์ที่ดี มีคุณภาพดี ๆ และราคาไม่แพง แบบสินค้าที่คนอเมริกันใช้

เหลยจุ่นกล่าวถึงเหตุผลในตอนที่ลาออกจากคิงซอฟต์

รักแท้คือพลัง

มาถึงตรงนี้ดูเหมือนการต่อสู้ของ เหลยจุ่น ช่างราบรื่นราวโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เบื้องหลังนั้น เขาล้มมาหลายครั้ง เพราะต้นทุนของเขามีแค่ความรู้ ฝีมือ และตัวเปล่า การไต่เต้าจากพนักงานจนเป็นผู้บริหารในยุคสมัยที่เศรษกิจจีนยังตกต่ำไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน แต่ทุกครั้งที่ท้อกำลังใจสำคัญของเขาคือ จ้างถง คู่ชีวิตที่ยามต้องกัดก้อนเกลือกินอยู่หลายปีก็ไม่เคยออกปากบ่น มีคนเปรียบเปรยพวกเขาว่าเป็นเหมือนหนังเรื่อง Us and Them ของผู้กำกับ เรเน่ หลิว ทางเน็ตฟลิกซ์ เพียงแต่ตอนจบต่างไป

 Us and Them ของผู้กำกับ เรเน่ หลิว ทางเน็ตฟลิกซ์

เหลยจุ่น กล่าวไว้ว่า คุณต้องทำงานหนักเท่านั้นถ้าจะสร้างอะไรสักอย่างให้สำเร็จ เขาทำงาน 16 ชั่วโมงทุกวันไม่มีวันหยุดในสมัยที่ทำงานให้คิงซอฟต์ และในตอนนี้ที่เสียวหมี่ ถึงเขาจะยืดหยุ่นขึ้น แต่ก็ยังกระตุ้นให้ทุกคนยังคงทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน

จ้างถงคือคนหนุนหลังคนบ้างานอย่างเหลยจุ่น โดยไม่แม้จะปริปากบ่น
ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเหลยจุ่นและจ้างถง จัดว่าเรียบง่ายและแทบไม่ค่อยมีรู้นัก บางคนยังเข้าใจว่าภรรยาของเหลยจุ่นคือ จ้างถงที่เป็นดาราซึ่งเป็นคนละคนกัน ทั้งนี้เพราะจ้างถงไม่ค่อยปรากฏตัวในสื่อนัก
ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเหลยจุ่นและจ้างถง จัดว่าเรียบง่ายและแทบไม่ค่อยมีใครรู้นัก บางคนยังเข้าใจว่าภรรยาของเหลยจุ่นคือ จ้างถงที่เป็นดาราซึ่งเป็นคนละคนกัน ทั้งนี้เพราะจ้างถงไม่ค่อยปรากฏตัวในสื่อนัก

ในหนังเรื่อง Us and Them พระเอกและนางเอกมาจากเมืองเดียวกันและมีความฝันไปล่าโอกาสในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง ตอนนั้นเศรษฐกิจของจีนยังไม่เฟื่องฟูทุกคนต่างต้องดิ้นรนอย่างยากลำบาก พระเอกมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจไอที แต่ความเป็นโนบอดี้ของเขาจึงมอบความสะดวกสบายให้แฟนสาวได้เพียงห้องรูหนูกับชีวิตเกือบหาเช้ากินค่ำ มีเพียงคำว่าความฝันคอยหล่อเลี้ยงใจแทนข้าวปลา

 Us and Them ของผู้กำกับ เรเน่ หลิว ทางเน็ตฟลิกซ์

ความยากลำบากนำความไม่เข้าใจมาสู่กันง่ายดาย นั่นคือภาพจำลองของคู่หนุ่มสาวเกือบทุกคู่ในยุคสมัยแห่งความยากแค้น และบทสรุปในหนัง พระนางต่างแยกทางกันไป แต่ในชีวิตจริงเหลยจุ่นกับจ้างถงไม่เคยทิ้งกัน พวกเขาคือคู่ชีวิตที่หลายคนอิจฉา และวันนี้จ้างถงก็มีลูกกับเหลยจุ่นถึง 2 คน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่เรียกร้องแสงสีหรือการปรากฏตัวแบบคนดังแต่อย่างใด

จ้างถงเคยกล่าวให้กำลังใจเหลยจุ่นไว้ว่า “การปีนเขาไม่ใช่เพื่อให้โลกเห็นคุณ แต่เพื่อให้คุณเห็นโลกนี้ต่างหาก” ทัศนคติที่ดีจากคู่ชีวิตที่แข็งแกร่งคือพลังมหาศาลสำหรับเหลยจุ่นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ในหนังพระนางมีทุกอย่าง ยกเว้นคำว่า “เรา” แต่เหลยจุ่นกับจ้างถงพวกเขารักษาคำว่า “เรา” แล้วจึงมีทุกอย่าง

ความฝันควรอยู่ห่างไปตรงนั้นเสมอ เพื่อให้เราไม่หยุดนิ่ง

พูดถึงความฝัน แม้จ้างถงอาจมองว่าเธอได้รับสิ่งที่วาดฝันจากเหลยจุ่นมากเพียงพอแล้ว เพราะเธอเคยได้กล่าวถึงความฝันไว้ว่า “สำหรับฉันความฝันไม่ได้อยู่เพียงแต่ในเรื่องของการงานและการเรียน มันอยู่ในชีวิตและความรักด้วย” เธอไม่เคยโยนภาระของความฝันไว้เพื่อกดดันคู่ชีวิตของเธอ จริง ๆ แล้วต่อให้ทุกข์ยาก แต่ขอเพียงมีกันและกันก็อาจเพียงพอสำหรับความฝันที่จ้างถงต้องการแล้ว

แต่สำหรับเหลยจุ่นความฝันที่เขาเคยสัญญากับจ้างถงในยามที่ยังต่อสู้อย่างยากลำบากว่าสักวันเขาจะเป็นได้อย่าง สตีฟ จอบส์ ที่สามารถเขย่าโลกให้สั่นสะเทือนนั้น ยังเรียกว่าห่างไกลนัก แต่กระนั้นก็มีบางอย่างได้เริ่มเกิดขึ้นในปี 2010 นั้นเอง

วันที่ 6 เมษายน 2010 เหลยจุ่นกับเพื่อนอีก 7 คน ก่อตั้งบริษัทชื่อ Xiaomi Inc. ขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนา UI ของตนเองที่ชื่อ MIUI (Mobile Internet User Interface) สำหรับมือถือและแท็บเล็ตที่ใช้พื้นฐานของแอนดรอยด์ และด้วยความใส่ใจในลูกค้าเสมอ เหลยจุ่นเป็นคนที่จะวางและกำหนดการตลาดของเสียวหมี่ด้วยตนเองทั้งหมด เพื่อให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียดการโฆษณา ความใส่ใจในลูกค้านี้เองทำให้เขาเห็นว่ามีคนหลายคนชื่นชอบใน MIUI มาก หากแต่พวกเขาไม่มีปัญญาซื้อโทรศัพท์แพง ๆ ที่มี MIUI ได้ และประชาชนชั้นแรงงานจะถีบตัวออกจากสถานะลำบากได้อย่างไร หากเครื่องมือที่จำเป็นในการสร้างรายได้และโอกาสอย่างมือถือมีราคาแพงเกินเอื้อมแบบนี้

บริษัท Xiaomi ในวันแรกเริ่ม
บริษัท Xiaomi ในวันแรกเริ่ม

เหลยจุ่นจึงเริ่มคิดที่จะสร้างสมาร์ตโฟน คุณภาพสูง ที่ราคาไม่แพงของตนเองขึ้นมา ด้วยแนวคิดการทำธุรกิจแบบที่เขาเคยทำในคิงซอฟต์ และเป็นก้าวสำคัญสู่ความยิ่งใหญ่ที่พาเสียวหมี่ขึ้นมาเบียดพื้นที่ตลาดมือถือโลกได้ในเวลาไม่กี่ปี นับเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จไวที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

ในปี 2014 เหลยจุ่นได้รับเลือกจากนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นนักธุรกิจแห่งปี จากยอดขายมือถือ 2.1 ล้านเครื่องภายในเวลาเพียงแค่ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสถิติโลกสำหรับมือถือที่ขายผ่านออนไลน์ได้มากที่สุด และทำให้เขาติดอันดับที่ 87 ของมหาเศรษฐีโลกจากการจัดอันดับในปีนั้น

และในปี 2017 เสียวหมี่ใช้เวลาเพียง 7 ปี ก็สามารถทำรายได้ทะลุ 1 แสนล้านหยวนได้เร็วที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก ยิ่งเมื่อเทียบกับ Google ที่ใช้เวลา 9 ปี, Facebook ใช้เวลา 12 ปี, Tencent ใช้เวลา 17 ปี, Apple ใช้เวลา 20 ปี และ Huawei ที่ใช้เวลา 21 ปี ถึงจะทำสำเร็จ ก็เห็นเลยว่าเสียวหมี่คือคลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกสำคัญของโลกไอที

ภาพงานฉลอง 1 แสนล้านหยวน
ภาพงานฉลอง 1 แสนล้านหยวน

โดยย้อนกลับไปในปี 2011 เหลยจุ่นได้ให้คำอธิบายไว้ว่า เสียวหมี่ หมายถึง เม็ดข้าวเม็ดเล็ก ๆ เพื่อสะท้อนว่าพวกเขาจะเริ่มสร้างจากสิ่งเล็ก ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะแสวงหาความสมบูรณ์แบบในทีเดียว โดยยังอิงถึงพุทธปรัชญาที่ว่าข้าวเม็ดเล็ก ๆ ก็ยิ่งใหญ่เทียมภูเขาได้ ซึ่งสะท้อนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาที่คอยสังเกตความต้องการผู้ใช้และค่อย ๆ ปรับพัฒนาจนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในแบรนด์ได้ในที่สุด

นอกจากนี้คำว่า หมี่ ที่แปลว่า ข้าว นั้น ยังคอยย้ำถึง MI หรือ Mobile Internet ที่เป็นชื่ออินเทอร์เฟซของพวกเขา และยังคล้องกับ MI ที่มาจาก Mission Impossible ที่เหมือนสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ด้วย มีคนเปรียบเทียบว่าชีวิตเหลยจุ่นเหมือนอยู่ในบทหนังของโจวชิงฉือ ที่ตัวเอกตกต่ำก่อนจะกลับมายิ่งใหญ่ในภายหลัง

เหลยจุ่น ดีหรือร้าย แล้วแต่ใครมอง

มีมุมดี ๆ ก็อาจมีมุมตรงข้าม อยู่ที่จุดยืนในการมอง และนี่อาจเป็นบทสรุปเพื่อให้เห็นภาพของเหลยจุ่นในองศาต่าง ๆ กัน จุดที่คนมักพูดถึงคือเหลยจุ่นเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์คนสำคัญคนหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2013 และเป็นการพูดได้ยากว่าความสำเร็จแบบก้าวกระโดดที่เด่นชัดขึ้นในทุกปีนับแต่ก่อตั้งบริษัท จนออกดอกอกผลยิ่งยวดในปี 2014 หลังจากเขามีที่นั่งในสภาประชาชนแห่งชาติจีนเพียงปีเดียว ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นเพราะอิทธิพลของพรรค หรืออย่างน้อยก็เพราะสถานะความเป็นสมาชิกพรรคที่กรุยทางให้ง่ายขึ้น

ในวันประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน
ในวันประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน

คำว่าเสียวหมี่เอง ก็มีข้อสังเกตว่าเป็นคำที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ เพราะเมื่อมีการออกตัวประมวลผลที่ชื่อ Rifle ออกมา ก็ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่ามันคือสโลแกน ข้าวและปืนไรเฟิล ซึ่งถูกใช้ในฝั่งจีนสมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ชาวจีนหลายคนมองว่าเสียวหมี่คือบริษัทที่มาลบล้างอิทธิพลสินค้าของญี่ปุ่นไปได้ ทั้งยังคือแบรนด์ตัวแทนชาวจีนที่สามารถต่อสู้ในตลาดโลกเทียบเท่า โซนี่ ของญี่ปุ่น และ ซัมซุง ของเกาหลีใต้ได้ด้วย

มาสคอตเสียวหมี่คือกระต่ายที่มีผ้าพันคอแดงแบบสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
มาสคอตเสียวหมี่คือกระต่ายที่มีผ้าพันคอแดงคล้ายสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

ยังไม่รวมข้อกล่าวหาว่ามีการดึงข้อมูลผู้ใช้มือถือและบราวเซอร์ของเสียวหมี่แม้จะอยู่ในโหมดไม่ระบุตัวตนกลับไปที่จีนด้วย ซึ่งแม้ภายหลังจะมีการอัปเดตและแก้ไขปัญหาเรียบร้อย แต่มันก็อยู่ที่คนมองแล้วว่าเสียวหมี่ตั้งใจทำแล้วโดนจับได้ หรือแค่เผลอเรอเท่านั้น

แต่มองในแง่หนึ่ง เหลยจุ่นนับเป็นคนที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมาก (ในแง่ชาตินิยม) เขาเป็นนักลงทุนใจดีที่ให้โอกาสสตาร์ทอัปตั้งตัว สมัยอยู่คิงซอฟต์เขาเอาเงินโบนัสที่ได้จากการบริหารงานทั้งหมดของเขาแบ่งหารให้พนักงานทุกคนแทนการเก็บไว้คนเดียว เขาสร้างอาคารเรียนและให้ทุนการศึกษาจำนวนมหาศาลทุกปีกับสถาบันที่เขาเรียนมา ยังไม่นับความตั้งใจในการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของสินค้าจีน และให้คนจีนได้ใช้ของที่ดีมีความปลอดภัยด้วย ไม่แปลกที่สินค้าเสียวหมี่แทบทุกอย่างถึงตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อย่างสบายใจ ในขอบเขตที่ใครก็เป็นเจ้าของได้

เหลยจุ่น Xiaomi

มีคนสังเกตว่าผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่มีชื่อฝรั่งทั้งสิ้น หม่าฮั่วเถิง ผู้ก่อตั้ง Tencent มีอีกชื่อคือ โพนี หม่า (Pony Ma), หม่าหยุน ผู้ก่อตั้ง Alibaba มีอีกชื่อว่า แจ็ก หม่า (Jack Ma), ติงเหล่ย ผู้ก่อตั้ง NetEase มีอีกชื่อว่า วิลเลียม ติง (William Ding) และ หลี่ เยี่ยนหง ผู้ก่อตั้ง Baidu ก็มีอีกชื่อว่า โรบิน หลี่ (Robin Li) แต่เหลยจุ่น ก็คือ เหลยจุ่น

ในขณะที่ความชื่นชอบต่อ สตีฟ จอบส์ เป็นแรงผลักดันให้เขามาถึงวันนี้ และความใส่ใจทำในสิ่งที่ผู้คนต้องการใช้จะเป็นเป้าหมายที่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็ไม่กระดากถ้าจะต้องลอกความเป็นสตีฟ จอบส์ ถ้ามันตอบโจทย์ความสุขของลูกค้า เพราะถ้าคนชอบดีไซน์ของไอโฟน เสียวหมี่ก็จะมีดีไซน์เช่นนั้น เพราะถ้าคนชอบการพรีเซนต์สินค้าของจอบส์ เหลยจุ่นก็จะพรีเซนต์แบบนั้นเช่นกัน จนเขาได้รับฉายา สตีฟ จอบส์ แห่งเมืองจีน ซึ่งเป็นทั้งคำชื่นชมและคำค่อนแคะ แต่สำหรับเหลยจุ่นการเลียนแบบจอบส์มันอาจเป็นเพียงการตอกย้ำตัวเองว่าเขาได้บรรลุความฝันที่เนิ่นนานมาแล้วเสียที

ในความคิดของเหลยจุ่นแรงบันดาลใจที่เขาได้จากจอบส์อาจมีขอบเขตที่กว้างไกลมากกว่าแค่ไฟในการทำตามฝัน (และล่าสุดก็มีคนพบว่าจริง ๆ มือถือเครื่องหลักของเขาเป็นไอโฟนไม่ใช่เสียวหมี่ด้วย – แต่ก็ไม่แปลกอะไรนะถ้าเขาชอบจอบส์ขนาดนั้น แล้วคงไม่มีทางศึกษาสินค้าใดดีที่สุดเท่าการลองใช้เอง)

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 ที่ผ่านมา เหลยจุ่นได้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริษัทเสียวหมี่ และดำรงตำแหน่ง CEO เพียงอย่างเดียว แต่กระนั้นเขาก็ยังมีภาระในการดูแลกิจการในมืออีกมาก มีคนบอกว่าวัน ๆ หนึ่งเหลยจุ่นจะมีการประชุมมากถึง 11 ครั้ง หวังว่าบางทีการลงจากตำแหน่งครั้งนี้ก็อาจเพิ่มเวลาที่เขาจะมีให้กับจ้างถงและลูก ๆ มากขึ้น ในวันที่ฝันทุกอย่างน่าจะเป็นจริงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะมองในมุมไหน เหลยจุ่น ก็คือนักธุรกิจที่มีหัวใจบริการ มีความสมถะเรียบง่าย และใส่ใจช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติอย่างน่านับถือที่สุดคนหนึ่ง

อ้างอิง

https://new.qq.com/omn/20180505/20180505A0J5AI.html
https://www.zhihu.com/question/20615865
https://fortune.com/2016/03/03/china-national-peoples-congress-alibaba/

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส