ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Martin Scorsese อาจจะอกหักนิดหน่อยกับการที่ The Irishman (2019) ผลงานที่ไปร่วมสร้างกับ Netflix เมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้รับรางวัลออสการ์กลับบ้านไปเลยสักสาขาเดียว แต่ความทะเยอทะยานในการใช้เทคโนโลยีลดอายุใบหน้าของนักแสดงหรือ De-Aging ก็อาจมองได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของการนำเทคโนโลยีถ่ายทำแบบใหม่มาใช้กับวงการหนัง (แม้ว่าผู้กำกับหลายคนเช่น George Miller แห่ง Mad Max: Fury Road (2015) จะเห็นว่ายังไม่ค่อยเนียน และที่เคยคิดจะใช้เทคนิคนี้ย้อนวัยบท “ฟูริโอซ่า” ของ Charize Theron ก็เลยล้มเลิกไปแคสท์หานักแสดงวัยรุ่นมาเล่นเลยดีกว่า)
เทคโนโลยีที่่ว่านี้ที่ลดอายุนักแสดงอย่าง Robert De Niro, Al Pacino และ Joe Pesci ให้เหมาะกับเนื้อเรื่องที่แบ่งเป็นหลายช่วงวัย ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ทุนสร้างสูงถึง 159 ล้านเหรียญฯ (ระดับหนังเมนสตรีมซูเปอร์ฮีโรเลยทีเดียว) และทำให้ก่อนจะได้มาร่วมทุนกับ Netflix ไม่มีสตูดิโอไหนพร้อมจะเสี่ยงลงทุนด้วยเลย
เหตุการณ์คล้าย ๆ กันนี้กำลังเกิดขึ้นกับผลงานชิ้นถัดไปของ Scorsese อีกครั้ง เรื่อง Killers of the Flower Moon ดัดแปลงจากหนังสือแนวสารคดีของนักหนังสือพิมพ์ David Grann ผู้เขียน The Lost City of Z (เป็นฉบับหนังออกฉายปี 2016) เดิมที่ค่ายหนังผู้ได้สิทธิ์จัดจำหน่ายอย่าง Paramount ที่จนถึงตอนนี้ชักไม่แน่ใจและอยากหาคนหาร เพราะทุนสร้างที่ประมาณการณ์น่าจะสูงถึง 225 ล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว (เฉียด ๆ ทุนสร้างของ Avatar (2009) ภาคแรกที่ 230 ล้านเหรียญฯ โดยในรายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าวว่า ผู้บริหาร Paramount ยอมให้แค่ 180 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น
เบื้องลึกเบื้องหลังของการออกมาหาผู้ร่วมออกทุนสร้างของ Paramount นั้น The Hollywood Reporter รายงานว่า Paramount นั้นมั่นใจในทีแรกว่าคงไม่มีค่ายไหนที่มาร่วมหาร แต่เดินแผนนี้เพื่อกดดันให้ Scorsese ใจอ่อน ยอมลดทุนสร้างของหนังลง แต่กลายเป็นว่า “เกมพลิก” เพราะ Apple Studios ที่เป็นสตรีมมิงรายใหญ่รายหนึ่งได้ยื่นความประสงค์จะออกทุนสร้างเกินครึ่ง ราว 150 ล้านเหรียญฯ ร่วมกับ Imperative Entertainment ให้กับ Scorsese และให้ Paramount ถอยฉากไปเป็นเพียงหุ้นส่วนผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น
เป็นไปได้ว่า Apple Studios อยากจะประสบความสำเร็จเหมือน Netflix เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้า Apple Studios จะได้ไป Netflix ก็ได้ยื่นข้อเสนองบทุนสร้าง 215 ล้านเหรียญฯ ด้วย แต่ก็ยังไม่ชนะ Apple Studios จึงอดไป ยังไม่แน่ชัดว่าทำไมหนังถึงใช้ทุนสร้างแพงขนาดนั้น หรือว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ ที่จะถูกนำมาใช้ในหนังอีก แต่เท่าที่รายงานมีข้อมูล ค่าตัว 20 ล้านเหรียญฯ ของ Scorsese และ DiCaprio และ 15 ล้านเหรียญฯ ของ De Niro แค่นี้ก็ปาไป 55 ล้านเหรียญฯ แบบยังไม่ได้เริ่มถ่ายหนังสักฉากเลย
อีกปัญหาหนึ่งที่ Paramount เกิดความกังวลกับหนัง เพราะ Scorsese เลือกที่จะเปลี่ยนรายละเอียดสำคัญของเนื้อเรื่อง (ต่อจากนี้จะสปอยล์หนัง ถ้าไม่อยากรู้เรื่องก่อนดู ขอให้ข้ามไป)
เดิมทีนั้น หนังจะบอกเล่าเรื่องราวของ “เท็กซัส แรนเจอร์” เจ้าหน้าที่ FBI ที่หน่วยงานเพิ่งตั้งได้ไม่นาน เข้ามาสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชาวอินเดียนในนครโอคลาโฮมาของสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 1920 ที่มีการค้นพบน้ำมันในที่ดินเขตสงวนของชาวอินเดียน ซึ่งวางตัว Leonardo DiCaprio ไว้ในบทพระเอก และให้ Robert De Niro เรับบทเป็น “วิลเลียม เฮลย์” คนเลี้ยงวัวที่ถูกตัดสินว่าเป็นคนก่อคดีฆาตกรรม
แต่ต่อมา Scorsese และ DiCaprio เกิดคุยกันแล้ว อยากจะแก้บท เปลี่ยนให้ DiCaprio มารับบทตัวร้าย (ทำนองเดียวกับที่ DiCaprio เคยรับบทร้ายไว้อย่างถึงใจใน Django Unchained (2012) ของ Quentin Tarantino) “เออร์เนสท์ เฮลย์” หลานชายของตัวละครของโรเบิร์ต เดอ นิโร ที่ต้องเกี่ยวข้องกับปริศนาที่ว่าลุงของเขาอาจเป็นแพะรับบาป นี่เองที่ทำให้ Paramount กังวลว่า หนังจะเปลี่ยนโทนไปและทำให้ผู้ชมทั่วไปเข้าถึงหนังได้ยากขึ้น
หนังจะเป็นการโคจรมาเจอกันของนักแสดงศิษย์ก้นกุฏิต่างยุคของ Scorsese คนแรกคือ Robert De Niro ที่เล่นหนังให้ Scorsese มาแล้วทั้งหมด 9 เรื่องตั้งแต่ 1973-1995 ก่อนจะกลับมาเจอกันอีกใน The Irishman มีผลงานระดับตำนานอย่าง Taxi Driver (1976) และ Raging Bull (1980) ส่วนอีกคนก็คือ Leonardo DiCaprio ที่เคยร่วมงานกันมาทั้งหมด 5 เรื่อง ต้ังแต่ 2002-2013 เรื่องเด่น ๆ ก็อย่าง The Departed (2006) ที่ทำให้ Scorsese ได้ออสการ์ และ The Wolf of Wall Street (2013) ที่ทำให้ DiCaprio ได้เข้าชิงออสการ์แบบเป็นตัวเต็งแต่พลาดไป
Killers of the Flower Moon ได้ Eric Roth จาก Forrest Gump (1994), The Curious Case of Benjamin Button (2008), A Star is Born (2018) และ Dune (2020) ฉบับรีเมกมารับหน้าที่เขียนบท หนังมีกำหนดจะเริ่มถ่ายทำในเดือนมีนาคม 2021 และยังไม่มีกำหนดสตรีมมิงในตอนนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส