หากพูดถึงชื่อของ พีช พชร จิราธิวัฒน์’ เชื่อว่า นามสกุล ‘จิราธิวัฒน์‘ ของเขา คงทำให้เราคิดถึงธุรกิจยักษ์ใหญ่ของครอบครัว และภาพของความสมบูรณ์พร้อม

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็รู้จักพีช จากบทบาทอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นทายาทแห่งตระกูลจิราธิวัฒน์เลย

หลายคนอาจจดจำเขาในบทบาทที่หลากหลาย บ้างก็เป็นนักแสดง บ้างก็นักดนตรี หรืออาจจะเป็นเจ้าของธุรกิจมั่นฝรั่งทอด Potato Corner แต่ไม่ว่าจะเป็นบทบาท หรือเส้นทางไหน พีชได้เลือกเดินบนเส้นทางนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งอาจไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบราวฝันแบบที่ใครอาจเข้าใจว่ามันง่ายดายและสมบูรณ์พร้อม ทั้งหมดนี้คือชีวิตที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ อะไรคือเหตุผลบนเส้นทางที่เขาเลือกเดิน มาพบคำตอบได้ในเรื่องราวต่อไปนี้ได้เลยครับ

[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP.28 พีช พชร จิราธิวัฒน์ | PEACH PACHARA และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องราว]

‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’

ทุกคนย่อมมี ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ด้วยกันทั้งนั้น เราเองมักจะรู้สึกว่าชีวิตคนอื่นดีและสมบูรณ์แบบ เพราะเรามักจะมองเห็นความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตของเรา ในขณะที่เราเห็นแต่ความสมบูรณ์พร้อมในชีวิตของผู้อื่น พีช ‘พชร จิราธิวัฒน์’ ผู้ที่มักถูกมองว่าเป็นคนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเอง ก็มีความรู้สึกว่าชีวิตของตนนั้นไม่สมบูรณ์แบบด้วยเช่นกัน

ความสบายซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา สำหรับพีชแล้วมันอาจแปรเป็นความกดดันได้ หากเขาใช้ชีวิตอย่างประมาท การเติบโตมาเป็นลูกหลานเจ้าของธุรกิจใหญ่ ย่อมต้องพบกับความกดดันและการแข่งขันในหมู่ลูกหลานด้วยกันเอง และสิ่งนี้เองที่ทำให้พีชรู้สึกมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ มีบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำซึ่งในบางขณะอาจขัดต่อความปรารถนาที่แท้ของตน

ในวัยเด็กพีชเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเข้มงวด ด้วยความที่เจ้าตัวเองก็เป็นเด็กซนพอสมควรพ่อแม่เลยต้องมีวิธีปราบที่เข้มข้น เคยมีครั้งหนึ่งที่พีชต้องขึ้นไปพูดต่อหน้าเพื่อน ๆ และครู แต่ด้วยความขี้อายจึงไม่กล้าทำ กลับมาบ้านเมื่อแม่รู้เรื่องจึงลงโทษด้วยการพาไปปล่อยวัด และให้อยู่คนเดียวสักครู่ เพราะแม่อยากสอนให้พีชรู้ว่าความกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะพูดและทำในสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ด้วยความที่เติบโตมาบนความเพียบพร้อม และอยู่ในจุดที่คิดว่าดีแล้ว อาจทำให้พีชไม่ได้มีความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อที่จะเป็นที่หนึ่ง หรือ เอาชัยในสิ่งใดมาให้ได้ เพียงแค่ใช้ชีวิตรักษามาตรฐานของตัวเองไปเรื่อย ๆ ก็พอ แต่เมื่อเติบโตขึ้น ได้ทำงานและต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น ความคิดของพีชก็ได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเป็นนักแสดงหรือการอยู่ในวงการบันเทิงที่มีการแข่งขันที่เข้มข้น พีชจึงรู้สึกว่าตัวเองจะถอยหลังกลับไปใน safety net ของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป กลายเป็นว่าสิ่งที่คอยหนุนหลังเขาไว้คือสิ่งผลักดันให้พีชต้องก้าวเดินไปข้างหน้า และทำมันให้ดีที่สุด

UNSAFTY PATH สู่เส้นทาง…ที่เลือกเดินด้วยตัวเอง

‘จากเด็กขี้อายกลายเป็นตัวเอกในหนัง’

การแสดงแรกของพีชคือบท ‘คุ้ง’ และ ‘เค’ วัยรุ่นฝาแฝดที่มีใจรักในเสียงดนตรี จากภาพยนตร์เรื่อง Suck Seed ห่วยขั้นเทพ พีชเริ่มต้นการแสดงครั้งนี้ด้วยความสนุก เพราะเป็นหนังวัยรุ่นที่มีเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน เลยรู้สึกเหมือนไปเล่นมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นฝีมือการแสดงของพีชก็เข้าขั้นจนได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 21 สาขาผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และมีงานแสดงต่อมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานภาพยนตร์อย่าง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน , เคาท์ดาวน์ , ไบค์แมน ทั้งสองภาค , ซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น รวมไปถึงละคร แรงตะวัน, เสน่ห์รักนางซิน และ ข้ามสีทันดร เป็นต้น

ชื่อเสียงที่พุ่งเข้ามา ทำให้พีชในเวลานั้นมีชีวิตอยู่เพื่อความนิยมชมชอบที่มากขึ้น และสิ่งนี้เองที่ทำให้พีชรู้สึกว่ามันสปอยล์ตัวเขา การที่มีคนอื่นปฏิบัติต่อเขาเปลี่ยนไป ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะไม่ถือสาเอาความเมื่อทำผิดพลาดหรือขาดวินัย นั่นทำให้พีชใช้ชีวิตเละเทะ และขาดวินัยในการทำงาน เมาไปกองถ่ายบ้าง ไปทำงานสายบ้าง ไม่ตั้งใจทำงานบ้าง เพราะคิดว่าทุกคนพร้อมที่จะโอเคกับเขาเสมอ

จนมาพบกับ ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ที่พีชแสดงนำโดยรับบท ต็อบ เศรษฐีหนุ่มข้าวของกิจการสาหร่าย ‘เถ้าแก่น้อย’ พีชจึงรู้สึกว่ามีคนมาดึงเขากลับมาสู่ทางอันควร เขาทั้งโดนด่า โดนกดดันทุกวัน พี่ย้งทำแบบนี้เพื่อ push ให้พีชทำหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด ทลายลิมิตที่มี ลองไปให้ไกลกว่านั้น ทะเลาะกันจนร้องไห้แล้วร้องไห้อีกทั้งคู่ จนในที่สุดก็ได้ผล เพราะมันทำให้พีชทลายข้อจำกัดของตัวเองที่มักมี perception ในการแสดงก่อนและเดินไปตามนั้น โดยไม่ยอมเปิดรับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้าในการแสดง ณ ขณะนั้น และในที่สุดพีชก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ซึ่งไม่เพียงทำให้การแสดงของเขาพัฒนาขึ้น แต่ยังทำให้พีชรู้สึกว่าตนเองเป็น ‘มนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ขึ้น’

(อ่านต่อหน้า 2)

‘นักดนตรีและนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์’

จากวงการนักแสดงก้าวต่อมาของพีชก็คือ ‘วงการเพลง’ พีชเองเคยแต่งเพลงเก็บไว้เรื่อย ๆ ตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว จนต่อมาได้พบกับ บีม ภากร มุสิกบุญเลิศ (สมาชิกวง Knock The Knock อดีตสมาชิกวง Siam Secret Service และเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินค่ายสไปซี่ดิสก์) ซึ่งตนเองมีความชื่นชอบอยู่แล้ว จึงคุยกันว่าผลงานที่เคยทำเก็บไว้จะนำไปพัฒนาต่อได้อย่างไรบ้าง เลยตกลงทำงานร่วมกันเป็นวงที่ชื่อว่า ‘White Rose’ 

ในช่วงที่ทำ ‘White Rose’ พีชมองว่ามันคือความผิดพลาดของเขา จากการโดนค่ายเพลงกดดันให้ทำเพลงพอปและเพลงที่สามารถนำไปเล่นสดได้ จนสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลิกทำในที่สุด

“มันคือสิ่งที่ทำลาย Creativity ของมนุษย์ การที่มีลิมิตบางอย่างที่เราไม่รู้ว่าจะวัดผลมันได้ยังไง เช่นคำว่า แต่งเพลงที่คนจะชอบ เราจะไปรู้ได้ยังไงว่าคนชอบอะไร และถ้าเราแต่งเพลงที่คนชอบ value ที่เรามีต่อเพลงมันก็ไม่ถูกต้อง”

พีชเชื่อว่าเพลงที่ดีนั้นมีความเป็นส่วนตัวมากเช่นเพลง ‘Creep’ ของ Radiohead ไม่ได้แต่งขึ้นโดยคิดว่ามันจะต้องเป็นเพลงฮิต แต่มันกลับเข้าถึงและเชื่อมโยงกับคนฟังได้เป็นอย่างดี

งานดนตรีของ White Rose เป็นสไตล์อิเล็กทรอนิกส์-พอป / อิเล็กทรอนิก-ร็อก ชื่อของวงมาจากกลุ่มนักศึกษาเยอรมันที่ต่อต้านนาซีในสมัยสงครามโลก ด้วยการเขียนหนังสือ วาดรูป แต่งเพลง เป็นการต่อต้านด้วยการใช้ศิลปะ ด้วยความชอบใจในแนวคิดพีชและพี่บีมจึงนำเอาชื่อนี้มาใช้ เพราะทำให้รู้สึกว่ามีพลัง อีกทั้งยังเป็นคำที่สามารถรวมกลุ่มหลาย ๆ คนที่มีความคิดในหมวดหมู่เดียวกันมาอยู่ด้วยกันได้ คนฟัง White Rose จึงไม่ใช่แค่แฟนเพลง แต่เป็นผู้ร่วมวงพวกเขาด้วย

White Rose ไม่ได้ทำผลงานออกมาเป็นอัลบั้ม แต่ปล่อยออกมาเป็นซิงเกิล เช่น Free Fall , สัญญาที่ไม่จริง (DEAR YOU) และ ฉันมีเพียง

‘Free Fall’ คือ ซิงเกิลที่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นการแนะนำให้เห็นถึงสไตล์ของวง Free Fall มาจากการนำเอาคำว่า อิสระและความหวัง มาเป็นตัวตั้ง และถูกคิดขึ้นในช่วงที่เมืองไทยกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสะท้อนความหวังและความเชื่อที่อยากจะเห็นสิ่งที่ดีในบ้านเมืองเรา

‘ฉันมีเพียง’ บทเพลงที่มีเนื้อหาสื่อถึงความรู้สึกไร้ค่าของตัวละครวินในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ที่รับบทโดยพีช

ในเพลง ‘สัญญาที่ไม่จริง’ นี้ทั้งคู่ได้ร่วมงานกับวง Tahiti 80 ที่มาทำให้เพลงนี้เป็นอิเล็กโทรพอปที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น เนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงคำถามที่ค้างคาใจของคนที่เลิกรากันไปแล้ว

ในด้านงานดนตรีตอนนี้พีชมีอีกบทบาทหนึ่งคือ การเป็นผู้บริหารโพรดักชันสตูดิโอสำหรับทำเพลงประกอบภาพยนตร์ และเป็นที่ปรึกษาสำหรับ Live Concert ที่ชื่อ Viveka & Vehement Recording and Live Music Production ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของเขาที่ทำร่วมกันกับพี่บีม ภากร คำว่า วิเวก้า มาจาก ภาษาสันสกฤตคือคำว่า ‘วิเวก’ ที่แปลว่า เงียบสงัด วังเวง ส่วนคำว่า Vehement นั้นแปลว่า ดุดัน ดุเดือด รุนแรง เป็นการนำเอาสองสิ่งที่เหมือนคนละด้านมาอยู่ด้วยกันนั่นเอง  ก่อนหน้าที่จะตั้งบริษัทพีชและพี่บีมได้เคยทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มาบ้างแล้วเช่น Ten Years Thailand , Vanishing Point เลยพัฒนามาตั้งบริษัทด้วยกัน และทั้งคู่ก็เป็นนักแต่งเพลงหลักของบริษัทแต่งเองและโปรดิวซ์เอง

องค์ความรู้ทางด้านดนตรีนั้นพีชได้มาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่คุณย่าเป็นชาวอังกฤษซึ่งมีวัฒนธรรมทางดนตรีที่แข็งแรง พีชเลยได้ซึมซับมา เช่น เริ่มฟังเดวิด โบวี ตั้งแต่ 6 ขวบ เลยทำให้ชื่นชอบและจดจำได้ตั้งแต่นั้นมา และ พีชเองนั้นชอบที่จะเอาปกอัลบั้มมาเปิดดูว่า เพลงนี้มาจากใคร ใครเป็นคนแต่ง ใครเป็นคนโปรดิวซ์ ก็เลยอยากเป็นโปรดิวเซอร์มาตั้งแต่ 8 ขวบ เริ่มเห็นว่าการทำเพลงหนึ่งให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้มีแต่คนร้อง  การได้เห็นคำว่า produce by บนปก ทำให้พีชรู้ว่ามีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์งานเพลงนั่นก็คือ โปรดิวเซอร์ เลยรู้สึกอยากเป็น ชอบ Tony Visconti (โปรดิวเซอร์ เดวิด โบวี) มาตั้งแต่เด็ก  อยากเป็น Brian Eno (ผู้บุกเบิกดนตรีแอมเบียนต์และโปรดิวเซอร์ของศิลปินดังมากมาย) ยิ่งด้วยตอนนั้นเป็นคนขี้อาย เลยคิดว่าการร้องเพลงเป็นเรื่องยาก เลยอยากที่จะเป็นคนเบื้องหลังมากกว่าคนเบื้องหน้า ชอบนั่งฟัง แล้วจด แยกชิ้น วิเคราะห์ ส่วนและองค์ประกอบของดนตรี จดเก็บไว้หมด ว่าเพลงนั้นทำยังไง เชื่อมต่อท่อนกันแบบไหน แล้วก็ลองทำเองเรื่อย ๆ จนเกิดความเข้าใจและสร้างงานของตนเองได้ พีชนั้นเอาจริงเอาจังกับดนตรีมาก ตอนที่คิดอยากเป็นโปรดิวเซอร์ก็มีเป้าหมายตั้งไว้ไปถึง ‘แกรมมี่ อวอร์ด’ และพอทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ก็อยากไปให้ถึงออสการ์ในสาขาซาวด์แทร็กด้วยเช่นกัน

“ผมเชื่อว่าการ dream big นั้นมีประโยชน์ เพราะจะทำให้เรารู้ว่าจะทำยังไง อย่างน้อย worst case โคตร ๆ ก็ใกล้กว่าคนอื่นเค้าวะ”

‘Potato Corner’

เริ่มมาจากการที่พีชอยากมีร้านอาหารตั้งแต่เด็ก เป็นเด็กอ้วน ชอบกิน เจอเพื่อนที่ชอบกินเหมือนกันก็เลยชวนมาทำธุรกิจอาหารร่วมกัน ตอนแรกจะทำเป็น full service restaurant แต่ลองทำไปทำมาแล้วยาก พอดีเพื่อนไปเจอแบรนด์ Potato Corner ที่ฟิลิปปินส์เห็นคนต่อแถวเยอะ เลยคิดว่าต้องเวิร์กแน่ พีชเลยบินไปดู ไปลองกินแล้วเห็นว่าอร่อยดี ราคาไม่แพง ซื้อง่ายขายคล่อง น่าจะเหมาะกับคนไทย และ ถึงแม้ว่าเฟรนช์ฟรายส์นั้นจะดูเหมือนมีสถานะเป็นตัวประกอบ เช่น ในร้านแมคโดนัลด์ที่ขายเบอร์เกอร์เป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือสินค้าที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง คนที่ไปแมคโดนัลด์ส่วนใหญ่ไปซื้อเฟรนช์ฟรายส์ (โดยที่อาจไม่ซื้อเบอร์เกอร์เลยด้วยซ้ำ)

การซื้อแบรนด์ Potato Corner เข้ามาทำในไทย นั้นไม่ยากเนื่องจากเจ้าของเองก็เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุน้อยเหมือนกัน เลยเหมือนเห็นตัวเองในอดีตเลยรู้สึกโอเคกับพีชและเพื่อน อีกทั้งยังเห็นถึงความตั้งใจจริง

พีชทำธุรกิจนี้มา 3-4 ปีแล้ว ปีแรกยังมีแค่ 3 สาขา แต่ตอนนี้มีถึง 49 สาขาแล้ว เหตุที่โตเร็วเพราะร้านไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ ก็เปิดร้านได้แล้ว จึงเข้าถึงโลเคชันได้ง่าย หลากหลายพื้นที่ ราคาไม่แพง ซื้อง่ายขายคล่อง กินตอนไหนก็ได้  เป้าหมายสูงสุดของการทำ Potato Corner สำหรับพีชคือ อยากให้เวลาคนนึกถึงฟาสต์ฟู้ด แล้วนึกถึง Potato Corner ก่อน

สิ่งที่เรียนรู้จากการทำธุรกิจ ทำให้พีชเป็นคนที่ละเอียดอ่อนขึ้น ใส่ใจกับรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

“พวก communication ต่าง ๆ จริง ๆ ต้องคิดเสมอว่า มนุษย์ทุกคนอายุสมองประมาณสามขวบ ถ้าเราอธิบายอะไรก็ตามให้เด็กสามขวบฟังไม่ได้ แสดงว่ามันไม่เวิร์ก”

BEING PACHARA ความเป็น ‘พีช พชร’

พีชมีอายุ 27 ปีในวันนี้ แต่ได้ทำอะไรมามากมาย แต่สำหรับพีชแล้วมันเหมือนกับเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น อาจจะเห็นว่าเขาทำเยอะสิ่ง แต่ในแต่ละสิ่งนั้นเพิ่งทำมาไม่นาน ยังมีเส้นทางที่ต้องเดินไปอีกไกล สำหรับการเป็นนักร้อง นักแสดง นั้นทางบ้านไม่ได้ว่าอะไร ชอบอะไรก็เป็น เพียงแค่ทำให้ดีเท่านั้น แต่หากพูดถึงการมารับตำแหน่งบริหารงานของทางบ้าน พีชรู้สึกว่าตนเองยังไม่พร้อม ยังรู้สึกว่าต้องเก่งกว่านี้ ไม่อยากเข้าไปเพราะเป็นลูกเป็นหลาน ตอนเด็ก ๆ พีชเคยถูกส่งไปเป็นพนักงานแคชเชียร์ เช็กสต็อก จึงเข้าใจ perception ของการเป็นลูกน้องที่มองเจ้านายว่าเป็นอย่างไร พอโตมาได้ทำงานในอีกบทบาทหนึ่งก็เข้าใจความรู้สึกอีกแบบ เลยมีความเข้าใจทั้งสองฝั่ง

“ถ้าผมไปทำงานที่บ้าน ผมรู้ว่า perspective ลูกน้องต้องมองว่า กูจะทำใจไหว้คนนี้ได้ยังไงวะ แม่งไม่เห็นเก่งเลย แม่งผ่านอะไรมาวะ ก็ไม่ได้ดีขนาดนั้นนี่หว่า”

เป็นทีมต้องเชื่อใจ จึงอยากเก่งกว่านี้จะได้นำทีมได้

“ความรวย ความรัก ความสุข”

หากถามถึงความหมายของคำทั้งสามนี้ พีชให้ความหมายของแต่ละคำไว้ว่า

‘ความรวย’

ไม่ชอบคำว่ารวยเพราะจะทำให้พอใจกับมันแล้วจะหยุดอยู่กับที่ หรือความรวยจะทำให้เราเป็นวัตถุนิยม มองโลกแบบฉาบฉวย เป็นคำที่ยืนอยู่บนความเกลียดชังของมนุษย์ เมื่อใดมนุษย์มองกันในด้านนี้เราจะเกลียดคนอื่นได้ง่ายขึ้น

“ความอิจฉาจะเกิดง่าย เราจะอยากได้ของคนอื่น เราจะริษยาคนอื่น เราจะไม่พึงพอใจที่คนอื่นเค้าทำได้”

‘ความรัก’

ความรักเหมือนตาชั่ง เราไม่ควรเสียสละอะไรเพื่อความรักเลย เราไม่ควรพยายามเพื่อมัน มันควรเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ฝืน ถ้าเราเสียสละให้มัน เราจะสูญเสียบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องเสีย สังเกตว่าคนที่อยู่ด้วยกันได้ เค้าไม่ต้องพยายามอะไร ไม่ต้องพยายามมากจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป เลยรู้สึกว่ามันควรอยู่ตรงกลาง หา balance ให้ได้

“เราไม่ควร sacrifice อะไรเพื่อความรักเลย เราไม่ควรพยายามเพื่อมัน มันควรเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ฝืน ถ้าเรา sacrifice ให้มัน เราจะสูญเสียบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องเสีย”

‘ความสุข’

สำหรับคำว่า ‘ความสุข’ นั้นพีชมองว่า ความสุขไม่มีจริง เพรามันเป็นเรื่องของช่วงเวลา ณ ขณะนั้นจริง ๆ อย่างทำอะไรสำเร็จก็ดีใจ ณ ตอนนั้น แล้วมันก็หายไป มันได้แค่รู้ว่าตอนนั้นเรามีความสุขนะ แต่เรามันเอามาวิเคราะห์ ‘ความสุข’ ไม่ได้เลย

จริง ๆ แล้วความสุขในทัศนะของพีช ก็คือ ‘การไม่อยู่’ เพราะการมีชีวิตอยู่คือความทรมานต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

“ผมเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่คือความทรมานในฐานะมนุษย์”

สุดท้ายแล้วเมื่อถามว่าอยากให้คนจดจำ พีช พชร ในฐานะไหน พีชได้ทิ้งท้ายในคำถามนี้ไว้ว่า  

“จำในแบบที่เค้าอยากจำ anything ผมก็เป็นคนดีของคนบางคน และก็เป็นคนชั่วของคนบางคน ผมว่ามนุษย์ควรจะจำเราได้แค่นั้น เหมือนเราเป็นฮีโร่ในแบบที่เป็นตัวร้าย จำผมไปแบบนั้นก็ได้”

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส