ลองจินตนาการดูว่ามันจะเจ๋งแค่ไหน หากในเวลาที่คุณฟังเพลงแล้ว คุณสามารถเห็นสีสันของเพลงปรากฏแจ่มชัดออกมาด้วยตาของคุณ หรือแม้กระทั่งสัมผัสรสชาติจากบทเพลงเหล่านั้นได้ !!!   ฟังดูแล้วเหมือนเป็นความสามารถพิเศษแบบ X-Men แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือ ‘ลักษณะพิเศษ’ อันเกิดจาก ‘การรับรู้ข้ามช่องสัมผัส’ ที่ร่างกายรับประสาทสัมผัสได้ตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไปในเวลาเดียวกัน ที่รู้จักกันในนามว่า ซินเนสทีเซีย (Synesthesia) นั่นเอง

ซินเนสทีเซีย คือ ‘การรับรู้ข้ามช่องสัมผัส’ ซึ่งจะมีอาการที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นคือ การมองเห็น, การดมกลิ่น, การลิ้มรส, การสัมผัส และการได้ยิน ทำงานปะปนหรือข้ามช่องกัน เป็นเพียง ‘อาการ’ หรือ ‘ลักษณะพิเศษ’ ไม่ใช่โรคที่เป็นอาการป่วย หรือความผิดปกติของสมองแต่อย่างใด แต่มันคือ ‘การรับรู้ข้ามช่องสัมผัส’ ที่ร่างกายเราสามารถรับประสาทสัมผัสได้ตั้งแต่ 2 ทางขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองหลายส่วน ซึ่งการรับรู้ข้ามช่องสัมผัสที่เกิดขึ้นนั้นทำให้คนที่มีอาการซินเนสทีเซียมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันออกไปด้านหลายรูปแบบ แต่โดยรวมแล้วสามารถจัดให้อยู่ใน 4 รูปแบบต่อไปนี้คือ เห็นตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นสี , เกิดความรู้สึกต่างๆ หลังจากการลิ้มรสชาติ , ได้ยินเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือตัวโน้ตแล้วเห็นเป็นสี และสัมผัสรสชาติได้จากตัวอักษร ซึ่งลักษณะเหล่านี้ที่พบบ่อยที่สุดก็คือ เห็นตัวอักษรหรือตัวเลขเป็นสี และได้ยินเสียงเป็นสี ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่พบในหมู่ของศิลปินชื่อดังหลายคน เช่น วาซีลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) ผู้บุกเบิกศิลปะแนวนามธรรมชาวรัสเซีย ที่เห็นสีสันเวลาฟังดนตรี และ ได้ยินเสียงดนตรีเวลาวาดภาพ ศิลปะทั้งสองอย่างจึงมีอิทธิพลถึงกันและกัน หรือ ฟินเซนต์ ฟาน ก๊อก (Vincent Van Gogh) เองก็ดูเหมือนว่าจะเป็นซินเนสทีเซียด้วย เพราะเขาเคยกล่าวว่าตนเองนั้นเป็น ‘นักดนตรีแห่งสีสัน’

ในวงการดนตรีมีนักร้อง นักดนตรีชื่อดังจำนวนมากเหมือนกันที่มีอาการซินเนสทีเซีย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ส่วนใหญ่จะเป็นในแบบที่ได้ยินเสียงดนตรีแล้วเห็นเป็นสีหรือรูปร่าง ในแง่มุมหนึ่งการเป็นซินเนสทีเซียอาจกระทบต่อการดำรงชีวิตอยู่บ้าง เหมือนที่ เดฟ ไฮน์ส หรือ Blood Orange หนึ่งในนักดนตรีที่เป็นซินเนสทีเซียเคยพูดไว้เหมือนกันว่า บางครั้งอาการมันก็มากเกินไปจนมันทำให้เขาเสียสมาธิและหลุดโฟกัสไปได้เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นทั้งเขาและศิลปินทั้งหลายต่างก็รู้วิธีที่จะอยู่กับมันและแปรเปลี่ยนมาเป็น ’เครื่องมือพิเศษ’ ในการสร้างสรรค์งานเพลงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อได้รู้ว่าบทเพลงที่เราได้ฟังจากศิลปินเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงจากความสามารถพิเศษอันมหัศจรรย์จากซินเนสทีเซีย ใน 10 คนที่เราคัดเลือกมานี้อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นตัวแทนของกลุ่มศิลปินที่มีประสบการณ์กับซินเนสทีเซียและได้เล่าให้ฟังถึงวิธีการทำงานของพวกเขา ซึ่งพอเราได้รู้และย้อนกลับไปฟังบทเพลงของพวกเขาอีกครั้ง มันทำให้รู้สึกสนุกขึ้นมาเหมือนกันกับการได้ลองจินตนาการตามว่าศิลปินเหล่านี้จะเห็นภาพและสีแบบไหนตอนที่ทำเพลงเหล่านี้

Dev Hynes / Blood Orange

ไปแปลกใจเลยที่เวลาเราฟังเพลงของ Blood Orange แล้วเราจะรู้สึกว่ามันมีสีสันมากเลย เดฟ ไฮน์ส หรือที่เรารู้จักกันในนาม Blood Orange นั้นคือคนดนตรีที่ใช้ประสบการณ์การเป็นซินเนสทีเซียในการทำเพลงอย่างจริงจัง และ ไฮน์ส ก็เคยไปบรรยายเกี่ยวกับซินเนสทีเซียและการทำเพลง ในหลายต่อหลายที่รวมไปถึงบนเวที Ted Talk ที่ TEDxMarthasVineyard ซึ่งเขาได้สาธิตการทำเพลงจากภาพในหัวที่เกิดจากอาการซินเนสทีเซียให้ชมกันแบบสด ๆ 

ภาพที่เห็นนี้เป็นโครงร่างเพลงของ ไฮน์ส ก่อนที่เขาจะเติมแต่งมันในแต่ละส่วนจนสมบูรณ์ เพลงถูกแบ่งออกเป็น 4 ท่อนโดยแต่ละท่อนจะมีสีของตัวเองอันเกิดจากเสียงดนตรีที่มีอารมณ์แตกต่างกัน เช่น C จะเป็นสีเหลือง F เป็นสีชมพู E คือสีน้ำตาล และ A เป็นสีแดง ไฮน์ส ค่อย ๆ เติมโน้ตลงไปราวกับจิตรกรที่แต้มสีลงไปบนผืนผ้าใบจนกลายเป็นภาพวาดอันงดงาม

ปกติแล้วในขณะที่ ไฮน์ส กำลังแต่งเพลงหรือเล่นดนตรีภาพในหัวของเขาจะเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีสีสัน รวมไปถึงในระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันที่ประสาทสัมผัสทางภาพและเสียงจะทำงานผสมกัน

‘มันปรากฏขึ้นกับผมในแบบที่การรับรู้ทางภาพและเสียงนั้นจะผสมกัน ทุกเสียงที่ผมได้ยินจะทำงานกับสี และทุกสีที่ผมเห็นจะทำงานกับเสียง ผมจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นกระแสธารที่ไหลต่อเนื่องพาดผ่านไปทั้งห้อง และจะกระเด้งสะท้อนกับทุกสัมผัสและทุกเสียง เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผมเรียนรู้ว่าอะไรคือ color palette ที่ผมรักมากที่สุด’

ด้วยเหตุนี้ ไฮน์ส จึงมักใช้คอร์ดแบบเดิมซ้ำ ๆ ในบทเพลงของเขา เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็น color palette ที่เขารักที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงมัน

Charli XCX

พอปสตาร์สาว ชาร์ลี เอ็กซ์ซีเอ็กซ์ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการจากการร่วมงานกันกับ Icona Pop คู่ดูโออิเล็กทรอนิกพอปจากสวีเดนในบทเพลง ‘I Love It’ ที่เธอร่วมร้องและใช้เวลาแต่งมันนานถึง 5 ปี จนบทเพลงนี้ได้ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ใน UK แต่ถึงอย่างนั้นเธอกลับไม่อยากสนใจและไม่อยากร้องมันอีกเลยหลังจากทำเสร็จแล้ว (วันที่เธอรู้ตัวว่าเพลงอาจจะขึ้นถึงอันดับ 1 เธอหนีไปดูหนังเรื่อง World War Z กับแม่เลย) ด้วยเหตุผลที่แปลกประหลาดนั่นคือ ‘เพลงนี้เป็นสีที่ไม่ใช่สีสำหรับเธอ’ แต่มันคงไม่น่าแปลกใจนักหากมันคือคำอธิบายจากคนที่เป็นซินเนสทีเซีย 

ชาร์ลี เอ็กซ์ซีเอ็กซ์ เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่รับรู้ดนตรีเป็นสีสัน เช่น เธออธิบายเพลงของ The Cure ว่าเป็น ‘สีน้ำเงินเข้ม หรือ ดำ แต่มีหมู่ดาวสีชมพูอันสุกสกาวและเมฆน้อยสีชมพูล่องลอยอยู่บนนั้น’ เธอบอกว่ามันช่วยในการแต่งเพลงได้มากเลยทีเดียว สีที่เธอชอบได้ส่งอิทธิพลในงานเพลงของเธออย่างชัดเจน “ฉันเห็นดนตรีเป็นสีสัน ฉันรักดนตรีที่เป็นสีดำ สีชมพู สีม่วง หรือ สีแดง แต่ฉันเกลียดดนตรีที่เป็นสีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล”  หรือ อย่างงานเพลงในอัลบั้ม ‘True Romance’ ซึ่งเป็นอัลบั้มเดบิวต์ของเธอ ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก color palette จากหนังของ เซร์ช เกนสบูร์ (Serge Gainsbourg) เรื่อง L’amour et l’amour (Slogan) และหนังคัลท์พังก์ยุค 80s อย่าง Ladies and Gentleman, the Fabulous Stains (1982)

Billie Eilish และ Finneas O’Connell

แม้แต่สาวน้อยมหัศจรรย์ บิลลี อายลิช และ ฟินนีส์ พี่ชายของเธอก็เป็นซินเนสทีเซียด้วยเหมือนกัน ทุกสัมผัสที่ทั้งคู่รับรู้จะถูกแปลออกมาเป็นภาพที่มีสีสัน อย่างจำนวนตัวเลข หรือ วัน 7 วันในสัปดาห์ ก็จะมีชุดสีเฉพาะของมัน ดังนั้นเวลาทำเพลงทั้งคู่มักจะคิดออกมาเป็นภาพ รูปร่าง รูปทรง ที่มีสีสัน  

“ฉันคิดออกมาเป็นภาพก่อนเป็นอย่างแรกในทุก ๆ สิ่ง และฉันก็มีภาวะซินเนสทีเซียด้วย ดังนั้นทุกอย่างที่ฉันทำ ฉันคิดถึงสีของมัน พื้นผิวของมัน มันเป็นวันไหนของสัปดาห์ มันคือตัวเลขอะไร และ รูปร่างของมันเป็นอย่างไร”

อย่างในเพลง ‘Bury a Friend’ บิลลีก็ได้อธิบายว่า เพลงนี้มันมีสีเทา ดำ น้ำตาล และอะไรก็ตามที่ดาร์ก  ๆ ส่วนเพลง ‘Xanny’ นั้นจะมีความนุ่มนวล เบาบางกว่า ‘เหมือนเวลาที่คุณสัมผัสกับหมอกควัน’

ฟินนีส์ เองก็มีการรับรู้แบบเดียวกับบิลลี โดยเสียงและถ้อยคำนั้นจะถูกแปรออกมาเป็นสี

“อย่างในเพลงของผม ผมจะเปรียบมันกับสีหรือรูปทรงอะไรบางอย่าง เช่นในเพลง ‘Let’s Fallin Love for the Night’ มันให้อารมณ์เป็นสีส้มอมแดง มีกลิ่นเหมือนมะนาวหรือผลส้ม นี่คือภาพที่ผมเห็นจากเพลงของผม”

Lorde

ลอร์ด นักร้องสาวจากนิวซีแลนด์ผู้ได้ยินทุกสุ้มเสียงเป็นสีสัน ได้อธิบายว่าสำหรับเธอแล้วซินเนสทีเซียคือแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังทุกบทเพลงของเธอ นั่นหมายความว่าในทุกบทเพลงของเธอนั้นจะมีภาพอันมีสีสันปรากฏขึ้นมาในใจในเวลาที่เธอกำลังสร้างสรรค์มันขึ้นมา

“ในวินาทีที่ฉันเริ่มแต่งเพลง ฉันสามารถเห็นเพลงที่เสร็จสมบูรณ์แล้วว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่ามันจะยังดูมัว ๆ ไม่ชัดเจนนักก็ตาม”

เวลาที่เธอแต่งเพลง เธอจึงพยายามที่จะแต่งแต้มเสียงดนตรีให้ตรงกับภาพและสีที่เธอเห็น “ฉันพยายามทำมันออกมาให้มีเสียงแบบเดียวกับภาพที่ฉันเห็นอยู่” เช่น ในตอนที่เธอแต่งเพลง ‘Tennis Court’ เธอได้อธิบายว่ามันเริ่มจากสีที่เธอไม่ชอบ เธอเลยค่อย ๆ แต่งเติมเสริมแก้มันไปจนเป็นสีที่โอเค

“ถ้าหากสีของเพลงนั้นมันน่าเกลียดเกินไป บางครั้งฉันแทบไม่อยากทำมันต่อเลย ในตอนที่ฉันเริ่มแต่งเพลง ‘Tennis Court’ แล้วใช้ pad เล่นคอร์ดขึ้นมา ตอนนั้นฉันเห็นพื้นผิวสีแทนที่แสนน่าเกลียด และมันทำให้ฉันรู้สึกแย่ จากนั้นฉันเลยมาแต่งท่อนพรีคอรัสและเริ่มเขียนเนื้อเพลง จากนั้นเพลงทั้งเพลงก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวที่น่าเหลือเชื่อเพียงชั่วข้ามคืน !”

Pharrell Williams

ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์’ เจ้าของบทเพลง ‘Happy’ คนนี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นซินเนสทีเซีย แถมยังมีการรับรู้ที่ค่อนข้างลึกซึ้งละเอียดละออเลยทีเดียว

“มันมีสีพื้นฐาน 7 สี แดง ส้ม เหลือง เขียว ฟ้า น้ำเงินคราม และ ม่วง ซึ่งแต่ละสีก็จะแทนตัวโน้ตแต่ละตัว และสีขาว นั้นเป็นเสียงอ็อกเทฟที่เกิดจากการรวมกันของสีทั้งหมด”

ดังนั้นมันจึงหมายความว่าคอร์ดย่อมเกิดจากการผสมของสีแต่ละเฉดสีเข้าด้วยกัน และ ท่วงทำนองของเพลงก็เหมือนกับการผสมผสานสีสันต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะ สำหรับ วิลเลียมส์ แล้วซินเนสทีเซีย คือ กระบวนการในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของเขา

“มันเป็นจุดอ้างอิงเดียวที่ผมใช้ในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตอนแรกผมไม่คิดว่าผมมีสิ่งที่คนเค้าเรียกว่า ‘ความสามารถพิเศษ’ หรือ ‘พรสวรรค์’ อะไรแบบนั้น แต่ความสามารถในการเห็นและรู้สึกด้วยวิธีที่ผมเป็นอยู่นี้มันคือพรสวรรค์สำหรับผมจริง ๆ ซึ่งผมไม่จำเป็นที่จะต้องมีมันเลย แต่ถ้ามันถูกพรากไปจากผมแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมจะสามารถทำเพลงได้อีกรึเปล่า ผมไม่สามารถจะไปต่อได้ เพราะผมไม่มีมาตรวัดที่จะใช้ทำความเข้าใจอะไรได้อีก”

Kanye West

ดนตรีสำหรับ คานเย เวสต์ แล้วเปรียบเสมือนภาพวาด การทำเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลงก็เหมือนกับการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมขึ้นมาหนึ่งชิ้น 

“ทุกเสียงที่ผมสร้างสรรค์มันคือภาพวาด ผมเห็นดนตรีเป็นสีและรูปทรง และมันมีความสำคัญกับผมมากเวลาที่ผมทำการแสดงหรือทำวิดีโอที่สีสันของภาพนั้นแมตช์กับเสียงดนตรี อย่างในเพลงที่มีท่อนเปียโนขึ้นมา ผมจะทำภาพในโทนขาวดำให้เข้ากันกับอารมณ์เพลง  ถึงแม้ว่าเปียโนสำหรับผมจะเป็นสีฟ้า เบสและสแนร์จะเป็นสีขาว ไลน์เบสจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือ สีม่วงเข้ม”

Stevie Wonder

ในกรณีของ สตีวี วันเดอร์ นี่ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เพราะถึงแม้วันเดอร์จะตาบอดตั้งแต่ 6 สัปดาห์หลังคลอด แต่เขาก็สามารถมองเห็นสีของดนตรีได้ภายในหัวของเขา รวมไปถึงเห็นเป็นรูปร่างของสิ่งต่าง ๆ (อาจไม่ใช่ภาพวัตถุจริงเหมือนที่เราเห็นแต่เป็นภาพจากความรู้สึกที่เคยสัมผัสสิ่งนั้น) เช่น เสียงกีตาร์ของ เวส มอนต์โกเมอรี เป็นเนย เสียงฝนเป็นคอนเฟลก ซึ่งนั่นทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมงานดนตรีของเขามันถึงได้งดงามขนาดนี้

https://www.youtube.com/watch?v=NiRj5m63oig

Duke Ellington

สำหรับหนึ่งในตำนานของวงการบิ๊กแบนด์แจ๊สแห่งยุคสวิง ‘ดุ๊ก เอลลิงตัน’ โน้ตแต่ละตัวคือสีแต่ละสีที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าโน้ตตัวนี้จะต้องมีสีนี้ตลอดไป เพราะเฉดของสีนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่นโน้ตตัวนั้น 

“ผมได้ยินโน้ตตัวหนึ่งที่สมาชิกในวงเล่นและตอนนั้นมันก็มีสีหนึ่ง ผมได้ยินโน้ตตัวเดิมอีกครั้งแต่คราวนี้เล่นโดยอีกคนและมันมีสีที่เปลี่ยนไป”

นอกจากเอลลิงตันจะได้ยินโน้ตเป็นสีแล้ว เขายังสามารถเห็นพื้นผิวของมันได้อีกด้วย เขายกตัวอย่างเช่น

“ถ้าแฮร์รี คาร์นีย์ (มือแซ็กโซโฟน และ แคลริเน็ต) เล่นโน้ตตัว D มันจะเป็นผ้ากระสอบสีน้ำเงินเข้ม และถ้าจอห์นนี ฮอดจ์ส (มืออัลโตแซ็กโซโฟน) เล่นโน้ต G มันจะกลายเป็นผ้าซาตินสีฟ้าสว่าง”

Tori Amos

สำหรับ โทรี เอมอส ประสบการณ์ทางซินเนสทีเซียกับเสียงดนตรีของเธอจะแตกต่างจากคนอื่นสักหน่อย ตรงที่ว่ามันจะถูกแปรค่าเป็นแสง เธอเล่าว่าในการแต่งเพลงมันเหมือนกับการไล่ตามหาแสง

“เพลงของฉันจะปรากฏตัวราวกับข่ายใยของแสง ที่ฉันค่อย ๆ แกะมันออกมา ฉันทำแบบนี้มาเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว ฉันไม่เคยพบโครงสร้างของเพลงไหนที่เหมือนแบบถอดแบบกันมาเลย ฉันไม่เคยเห็นเส้นแสงเหล่านี้ที่เหมือนกันเป๊ะเลยสักครั้ง แต่ที่แน่ ๆ คือ ทางเดินคอร์ดที่เหมือนกันจะมีแพทเทิร์นแสงแบบเดียวกัน … มันเหมือนกับฉันพยายามจะจินตนาการถึงคาไลโดสโคปที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

Franz Liszt

ซินเนสทีเซีย นั้นไม่ได้เป็นกันเฉพาะนักดนตรีในสมัยนี้เท่านั้น นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อก้องชาวฮังการีอย่าง ฟรานซ์ ลิสซ์ ผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19 เองก็มีคุณสมบัติของซินเนสทีเซียด้วยเหมือนกัน ลิสซ์มักจะขอให้นักดนตรีในวงออเคสตราของเขาเล่นเสียงให้มีความ ‘เบลอ’ ขึ้นหน่อย และ มักจะพูดอะไรแปลก ๆ แบบว่า “ท่อนนี้มันคือสีม่วงเข้ม ๆ ได้โปรด เล่นให้มันอยู่ในสีนี้หน่อยนะ !” ในขณะที่นักดนตรีของเขารู้สึกว่านี่มันต้องเป็นมุกแน่เลย แต่ต่อมาพวกเขาก็ได้รู้ว่า ลิสซ์นั้นเห็นสีในบทเพลงที่เขาประพันธ์ขึ้นมาได้จริง ๆ

https://www.youtube.com/watch?v=uNi-_0kqpdE

นอกจากนี้ก็ยังมีศิลปินคนอื่นอีกเช่น Frank Ocean , Billy Joel , Mary J. Blige ที่เห็นเสียงดนตรีเป็นสีสันหรืออย่าง Aphex Twin ก็มาแปลกด้วยการ ‘ได้กลิ่น’ เวลาได้ยินเสียงดนตรี หรือแม้แต่เจ้าพ่อเพลงประกอบภาพยนตร์สุดล้ำอย่าง Hans Zimmer ก็เคยกล่าวไว้ว่าเวลาที่เขาทำเพลงนั้นเขาสามารถ ‘ได้ยินสี’ จากเพลงที่เขากำลังทำอยู่ด้วย

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส