ดรามาในเวลานี้ที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างของเชื้อชาติ สีผิว และเพศสภาพ อันนำไปสู่ความเห็น มุมมอง ทัศนะที่แตกต่างกัน ที่กลายเป็น “ปัญหา” การยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม ดูจะไม่ได้มีแค่ประเด็นเรื่อง #BlackLivesMatter ที่มีการออกมาเรียกร้องเรื่องการเหยียดสีผิวเท่านั้น ล่าสุดนักแสดงอย่าง Daniel Radcliffe เจ้าของบทพ่อมดน้อย “แฮร์รี พอตเตอร์” ที่โด่งดังซึ่งกำลังจะมีหนัง Guns Akimbo เข้าฉายในบ้านเรา 18 มิถุนายนนี้ ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อความเห็นของเจ้าของนิยายพ่อมดน้อยอย่าง J.K. Rowling ที่ถูกสื่อนำไปโยงประเด็นดรามาว่า พวกเขาขัดแย้งกัน
จุดเริ่มต้นของดรามา (ที่สื่อพยายามสร้างและเชื่อมโยง) ครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อ J.K. Rowling ได้ทวีตบทความหนึ่งชื่อ Opinion: Creating a more equal post-COVID-19 world for people who menstruate หรือแปลเป็นไทยว่า การสร้างโลกใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับ “ผู้มีประจำเดือน” ลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว
คำที่กลายมาเป็นประเด็นของการถกเถียงครั้งนี้ก็อยู่ที่ “People who menstruate” หรือ “ผู้มีประจำเดือน” นี่เอง ที่บทความที่ Rowling แชร์นั้น จะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงล็อกดาวน์กับกลุ่มเพศหญิงที่ทำให้ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ด้านสุขอนามัยส่วนตัวได้ ตั้งแต่การซื้อกระดาษชำระ ผ้าอนามัย และเครื่องใช้อื่น ๆ แต่เกิดเลี่ยงไปใช้คำว่า “ผู้มีประจำเดือน”
ก่อให้เกิดความสงสัยว่า ผู้ที่ผ่าตัดข้ามเพศไปแล้วแต่ยังมีประจำเดือนอยู่ หรือผู้ที่ข้ามเพศมาเป็นหญิงแล้วแต่ไม่มีประจำเดือน ถือเป็น “ผู้หญิง” ที่เข้าข่ายควรได้รับความช่วยเหลือตามที่บทความนี้กล่าวถึงด้วยหรือไม่? และก็ทำให้คนที่ติดตาม Rowling สงสัยว่า การโหนกระแสทวีตครั้งนี้ของเธอ มีเจตนาเหยียดกลุ่มคนข้ามเพศที่ไม่ใช่ผู้หญิงแท้ ๆ ด้วยหรือเปล่า?
หลังจากที่เธอทวีตข้อความนี้ออกไป จึงมีผู้คนเข้ามาแสดงความไม่พอใจที่เธอเหยียดกลุ่มคนข้ามเพศ โดยมีคนมาทวีตกลับ เพื่อยกตัวอย่างว่า เธอนั้นเป็นผู้ชายข้ามเพศ (เพศกำเนิดเป็นผู้หญิงแล้วข้ามเพศไปเป็นผู้ชาย) แต่เธอก็ยังเป็นคนที่มีประจำเดือนอยู่ ส่วนแม่ของเธอซึ่งเป็นผู้หญิงแท้ ๆ ที่อายุเยอะแล้ว ตอนนี้กลับไม่มีประจำเดือนแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ Rowling เข้าใจเสียใหม่ว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีประจำเดือนทุกคนก็ได้
ต่อมา J.K. Rowling จึงได้ออกมาทวีตชี้แจงว่า เธอไม่ได้เจตนาจะเหยียดกลุ่มคนเพศอื่น ๆ เธอรู้จักคนที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศจำนานมาก ดังนั้นเธอจึงรักและเคารพในสิทธิของกลุ่มนี้ และจะร่วมประท้วงด้วยหากคนกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
แต่ในมุมมองของเธอนั้น เธอก็เติบโตมากับการรู้จัก “ ผู้หญิง” ในความหมายตามเพศกำเนิด (Sex) จริง ๆ ที่มีแค่ผู้ชายและผู้หญิง และเธอคิดว่าในบทความนี้ก็ควรจะใช้คำว่า “ผู้หญิง” ไปเลย โดยที่เธอไม่เห็นด้วยที่จะตีความคำว่า “ผู้หญิง” ให้ซับซ้อนขนาดที่ต้องบอกว่า “ผู้มีประจำเดือน” เพื่อเลี่ยงการถูกตั้งคำถามว่าผู้หญิงรวมถึงคนข้ามเพศด้วยหรือไม่ (นัยยะว่า คนข้ามเพศเป็นการแบ่งตามเพศสภาพ (Gender) ความเป็นจริงนั้น นอกเหนือการจัดประเภทของเพศตามเพศกำเนิดในความคิดของเธอ แต่เธอไม่ได้มีเจตนาจะเหยียดอะไร)
ต่อมาก็ยังมีคนทวีตไปโจมตีคำอธิบายของเธอต่ออีกว่า ทำไมถึงไม่สามารถแยกคำว่า เพศกำเนิด (Sex) กับเพศสภาพ (Gender) ได้ตามหลักการทั่วไปในปัจจุบัน? ซึ่งการตอบโต้กันไปกันมาไม่จบสิ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ J.K. ก็ไปโต้ตอบแบบต่อความยาวสาวความยืดกับบางทวีตเองด้วย (ในระดับ ส.ส.ปารีณา VS บุ๋ม ปนัดดา อย่างไรอย่างนั้น) จนกระทั่งการมาถึงของ Daniel Radcliffe นักแสดงผู้มีชื่อเสียงและสนิทกับ J.K. ในฐานะผู้ทำคลอดเขาเข้าสู่วงการแสดงอีกคนหนึ่งจากบทแฮร์รี พอตเตอร์ เขาก็ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้เช่นกัน
Radcliffe เป็นผู้สนับสนุนโครงการ Trevor Project องค์กรรณรงค์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มคน LGBTQ นั่นทำให้เขาคิดว่า เขาต้องออกมาแสดงความเห็นในกรณีนี้บ้าง แม้ว่าจะรู้ดีว่าสื่ออาจจะนำเรื่องของเขาและ J.K. ออกไปตีข่าวในทำนองที่ว่า พวกเขาคิดเห็นไม่ตรงกันจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ที่ถ้าเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ในความเห็นของเขากล่าวแค่เพียงว่า ในทัศนะของนั้น “ผู้หญิงข้ามเพศ” ก็คือผู้หญิง
เขาไม่เห็นด้วยกับคำนิยามหรือการกระทำใด ๆ ที่พยายามจะลบตัวตนและศักดิ์ศรีของคนข้ามเพศ ปัญหาที่โครงการที่เขาสนับสนุนพบก็คือ คนกลุ่มนี้มักถูกเลือกปฏิบัติจาก “เพศสภาพ” และ “เพศสถานะ” ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ การสนับสนุนความคิดและยอมรับตัวตนของคนข้ามเพศ มากกว่าจะต่อต้านและอาจทำให้เกิดเรื่องร้าย ๆ ตามมาเช่นการฆ่าตัวตาย
จากดรามาในครั้งนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้แฟน ๆ นักอ่านและแฟน ๆ ภาพยนตร์ รู้สึกเสียใจและผิดหวังกับท่าทีของ J.K. Rowling ที่ (อาจมีการตีความว่าเธอ) เหยียดคนข้ามเพศ ทั้งที่ในหนังสือนั้นเธอให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางสถานะต่าง ๆ (อย่างเช่น การที่แฮร์รี่และรอน ยังรักเฮอร์โมโอนีที่เป็น “เลือดสีโคลน” (คนที่เกิดจากมนุษย์ธรรมดากับพ่อมดแม่มด) ตามที่เดรโก มัลฟอยที่เป็นพวก “เลือดบริสุทธิ์” เหยียดตลอดเวลา หรือการที่กลุ่มของแฮร์รีและเพื่อน ๆ ให้ความสำคัญกับเอลฟ์ที่เป็นตัวแทนของ “ทาส” ในเนื้อเรื่อง จนปลดปล่อยด็อบบี้ เอลฟ์เพื่อนของพวกเขาให้เป็นไทได้) แม้เธอจะไม่ได้เขียนบทความนี้ขึ้นเอง แต่เธอก็เลือกจะแชร์บทความนี้อันสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่ความเข้าใจผิด
Daniel Radcliffe ยังกล่าวถึงประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่รู้สึกว่า ความทรงจำและความประทับใจดี ๆ ที่มีต่อหนังสือ Harry Potter ถูกทำร้ายจากการแสดงความเห็นในครั้งนี้ของทั้ง J.K. Rowling และตัวเขา และคอมเมนต์โจมตีต่าง ๆ เขาก็ต้องขอโทษด้วยอย่างมาก
“ผมหวังว่าพวกคุณจะไม่สูญเสียความทรงจำดี ๆ ที่เรื่องราวเหล่านี้มีให้กับคุณ หากหนังสือ Harry Potter เคยสอนคุณว่า ความรักเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ หากหนังสือเคยสอนให้คุณเชื่อมั่นในความหลากหลาย และต่อต้านพวก “เลือดบริสุทธิ์” ที่กดขี่คนที่อ่อนแอกว่า หากคุณเชื่อว่าตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่อง เป็นเพศสภาพที่ไม่จำเป็นต้องมีคำจำกัดความ อาจเป็นเกย์ อาจเป็นไบเซ็กชวล หากคุณพบว่า สิ่งต่าง ๆ ในหนังสือเชื่อมโยงกับตัวคุณ และได้ช่วยคุณผ่านช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เลวร้ายในชีวิตมาได้…
“สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องระหว่างคุณกับหนังสือที่คุณอ่าน และมันจะไม่มีใครแม้แต่ผม J.K. หรือคอมเมนต์ต่าง ๆ มาทำร้ายและทำลายความเชื่อและความรู้สึกดี ๆ ที่คุณมีลงได้อย่างแน่นอน…รักเสมอ, Dan”
และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความเห็นต่างได้ถูกนำไปเป็นชนวนของความขัดแย้ง เพราะในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้มีเฉพาะความเห็นที่ถูกและผิดอย่างที่เป็นขาวกับดำเสมอไป และในเหตุการณ์นี้ หากวิเคราะห์ดี ๆ แล้ว J.K. Rowling อาจแค่ต้องการแสดงความเห็นในมุมมองของเธอเท่านั้น แต่ก็ถูกจับไปโยงประเด็นว่า ความเห็นนั้นเป็นการเหยียดกลุ่มคนข้ามเพศจากคำพูดที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนของเธอ ส่วนความเห็นของ Daniel Radcliffe ก็เป็นเพียงแค่การแสดงความเห็นสนับสนุนกลุ่มคนข้ามเพศของเขา โดยที่ไม่ได้มีประเด็นตอบโต้กับ J.K. อย่างที่สื่อพยายามตีประเด็นด้วยซ้ำไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส