กระแสการประท้วงอันสืบเนื่องมาจากเหตุความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอันส่งผลให้ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ หนุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 46 ปี ต้องเสียชีวิตและเป็นชนวนเหตุให้เกิดการต่อสู้เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้ประท้วงได้ทำการแฮกสัญญาณวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรบกวนไม่ให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น แค่นั้นยังไม่พอกลุ่มผู้ประท้วงยังปล่อยเพลงเพลงหนึ่ง เข้าไปรบกวนสัญญาณวิทยุสื่อสารด้วย นั่นก็คือเพลง ‘Chocolate Rain’ บทเพลงที่เคยเป็นไวรัลฮิตเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่ทำให้เราฮาไปกับมัน จนอาจมองข้ามสาระสำคัญที่ว่าบทเพลงนี้มีเนื้อหาต่อต้านการเหยียดผิวด้วย และตั้งแต่วันที่บทเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จนกระทั่งบัดนี้ปัญหาการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย
“ทุกหน่วยโปรดทราบ ตอนนี้คลื่นวิทยุของเราได้ถูกบล็อก ฉันไม่รู้เลยว่าพวกคุณกำลังพูดอะไรอยู่”เสียงเจ้าหน้าที่สาวดังขึ้นมาอย่างร้อนใจ คลอไปกับเสียงเพลง ‘Chocolate Rain’ เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ได้ยิน
อาจจะนึกออกยากกันเสียหน่อยกับไวรัลตัวนี้ที่โด่งดังแพร่หลายในช่วงเวลาที่ไอโฟนยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้และเพิ่งมีเฟซบุ๊กได้เพียงแค่ 3 ปี ‘Chocolate Rain’ คือคลิปวิดีโอที่มีเด็กหนุ่มผิวสี หัวเกรียน หน้านิ่ง ที่มาพร้อมเสียงร้องอันทุ้มใหญ่ขัดกับเจ้าตัวที่ยังดูเด็กอยู่ ส่วนทำนองเพลงก็ซ้ำไปซ้ำมา และตลอดทั้งเพลงเราได้ยินคำว่า ‘Chocolate Rain’ มากถึง 52 ครั้ง !! และลีลาการร้องที่เวลาร้องเสร็จแต่ละทีต้องหลบไมค์นั้นก็ช่างน่าประทับใจ แถมมีขึ้นซับบอกไว้ด้วยกันสงสัย ว่าไอ้ที่หลบออกมาจากไมค์นั้นทำเพื่อป้องกันไม่ให้เสียงสูดลมหายใจมันเข้าไปที่ไมค์ (**I move away from the mic to breathe in**)
เมื่อ 13 ปีก่อน เทย์ ซอนเดย์ (Tay Zonday) หรือ อดัม ไนย์เรียร์ บาห์เนอร์ (Adam Nyerere Bahner) เด็กหนุ่มวัย 24 ปีที่เติบโตมาในครอบครัวผสมที่คุณแม่เป็นคนผิวสีส่วนคุณพ่อเป็นคนผิวขาวซึ่งทำงานเป็นครูด้วยกันทั้งคู่ ได้กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนหลังจากอัพโหลดวิดีโอเพลง ‘Chocolate Rain’ ที่เขาแต่งเอง ร้องเอง ถ่ายวิดีโอเองแบบบ้าน ๆ ในห้องของเขา จนกลายเป็นไวรัลในช่วงซัมเมอร์ปี 2007 ผ่านมา 13 ปีจนวันนี้มียอดวิวกว่า 126 ล้านวิวแล้ว
เนื้อหาของเพลง ‘Chocolate Rain’ ครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับการเหยียวผิว เหยียดเชื้อชาติ ตั้งแต่
การล้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของการเลือกปฏิบัติ (“The schoolbooks say it won’t be here again”) จนถึงความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติในระบบยุติธรรมทางอาญา (“The same crime has a higher price to pay / The judge and jury swear it’s not the face”) ไปถึงการใช้แรงงานทาสในการเปลี่ยนผ่านของสหรัฐอเมริกาสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก (“Dirty secrets of economy/Turns that body into GDP”).
ส่วนชื่อเพลง ‘Chocolate Rain’ นั้นก็ชวนให้ตีความถึงความหมายที่ซ่อนเอาไว้ ซึ่งอาจตีความได้ว่า ‘ช็อกโกแลต’ ซึ่งมีสีน้ำตาลนั้นหมายถึง ‘คนผิวสี’ ส่วน ‘สายฝน’ เป็นการอุปมาถึงความยากลำบากและการกดขี่ที่คนผิวสีต้องพบเจอนั่นเอง
ในช่วงแรก ซอนเดย์ ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยความหมายที่แท้จริงของชื่อและบทเพลง ‘Chocolate Rain’ มากนัก หากแต่พูดถึงความสำคัญของการตีความสิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใน
“เราอาศัยอยู่ในสังคมที่ความชัดเจนกำลังแพร่ระบาดและขาดแคลนซึ่งการไตร่ตรองใคร่ครวญ และผมคิดว่าเสน่ห์ที่คงทนของ ‘Chocolate Rain’อยู่ที่การเป็นคำถามที่ชวนให้เราคิดหาคำตอบ”
“ความหมายของ ‘Chocolate Rain’ คืออะไร? บางคนอาจตีความว่ามันอาจมีสารทางการเมืองหรือสารเกี่ยวกับความยุติธรรมหรืออำนาจทางสังคม สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ มีคนที่ไม่ต้องการจะถกเถียงในหัวข้อเหล่านี้แน่ ๆ แต่ถ้าพวกเขาสามารถถูกชักนำจากคนที่ไม่ต้องการขบคิดไตร่ตรองใด ๆ มาสู่การเริ่มตั้งคำถามและพยายามหาความหมายของสิ่งเหล่านี้ว่า ‘อะไรคือความหมายของ Chocolate Rain’ แล้วล่ะก็ ผมว่านี่ล่ะเป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเลย”
และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซอนเดย์ ก็เริ่มให้สัมภาษณ์ถึงความหมายที่ซ่อนไว้มากขึ้น
“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่มีสองเชื้อชาติ คุณแม่ของผมเป็นคนดำส่วนคุณพ่อเป็นคนขาว เราไม่เคยคุยกันหรือพูดถึงกันและกันว่า ‘ดำ’ หรือ ‘ขาว’ เลย ดังนั้นมันเลยทำให้ผมค่อนข้างจะตกใจเวลาที่ออกไปสู่โลกภายนอกในช่วงวัยรุ่นและพบเจอปัญหาเรื่องเหยียดผิวมากมายเหลือเกิน และสิ่งเหล่านั้นมันไม่เคยพูดถึงชีวิตของผมหรือความเป็นมนุษย์ในแบบที่ผมรับรู้เลย ผมเดาว่าทั้งหมดของเพลง ‘Chocolate Rain’ นั้นมันเป็นบทเพลงบัลลาดที่พูดถึงการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว”
แต่ถึงอย่างนั้นซอนเดย์ก็ยังปล่อยให้บทเพลงนี้เปิดกว้างต่อการตีความอยู่ดี โดยเปรียบเปรยเหมือนกับการเอาลูกให้คนอื่นเลี้ยง เราเป็นผู้ให้กำเนิดแต่ผู้สร้างความหมายนั้นคือผู้เลี้ยงดู
“เพลงของผมเหมือนกับลูก มันเหมือนกับว่าคุณตั้งท้องและให้กำเนิดเด็กคนหนึ่ง แล้วทันทีทันใดคุณก็มอบเด็กคนนั้นให้สาธารณชนนำไปเลี้ยง”
ในช่วงเวลาที่ทั่วประเทศมีการประท้วงจากเหตุการณ์ฆาตกรรม จอร์จ ฟรอยด์ ซอนเดย์ก็ได้มีส่วนร่วมด้วยการปล่อยเพลง ‘Chocolate Rain’ เวอร์ชันร้องคู่กับเปียโน ที่เขาได้ทำไว้ในวาระครบรอบ 10 ปีของเพลงนี้
และนอกจากนี้ เหมือนซอนเดย์จะได้ตอบความสงสัยของเราแล้วว่า แท้จริงแล้วเขาเบี่ยงตัวหลบไมค์บ่อย ๆ ทำไม
“ผมเบี่ยงตัวออกจากไมค์เพื่อเรียกหาความยุติธรรม”
ซอนเดย์ ได้กล่าวเอาไว้ในทวิตเตอร์ของเขา
สำหรับ เทย์ ซอนเดย์ ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปหลังจาก Chocolate Rain ได้กลายเป็นไวรัลฮิต เขาได้กลายเป็นคนดังที่ถูกเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ไม่เว้นวัน ไม่ว่าจะเป็นรายการดังอย่าง Opie & Anthony Show, G4TV’s Attack of the Show!, VH1’s Best Week Ever, Lily Allen and Friends หรือ Jimmy Kimmel Live! ได้ขึ้นหน้าปก Los Angeles Times ได้เป็นวอยซ์แอกเตอร์พากย์เสียงให้กับสื่อมัลติมีเดียฉลองครบรอบ 50 ปีองค์การนาซ่า เป็นกรณีศึกษาในตำราการตลาด ถูกค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 3-4 รายเชิญให้เซ็นสัญญาเป็นศิลปิน แบรนด์น้ำอัดลมชื่อดัง Dr.Pepper ชักชวนให้มาแต่งเพลงให้กับตัวสินค้า Diet Cherry Chocolate ของ Dr.Pepper
เพลง Chocolate Rain ถูกศิลปินดังนำไป cover เช่น จอห์น เมเยอร์ หรือ Tré Cool มือกลองวง Green Day
นอกจากนี้ซอนเดย์ยังถูกเชิญให้ไปเล่น MV รางวัลแกรมมี่ “Pork and Beans” ของวง Weezer และ ไบรอัน เบล มือกีตาร์วง Weezer ได้ร่วมเล่นเพลง Chocolate Rain เวอร์ชันอะคูสติกร่วมกันกับซอนเดย์
ทุกวันนี้ เทย์ ซอนเดย์ ยังคงทำงานสร้างสรรค์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวอยซ์แอกเตอร์ นักแสดง นักแสดงตลก และยูทูบเบอร์ ส่วนผลงานเพลงนั้นซอนเดย์ก็ยังคงทำออกมาบ้างเป็นระยะ อย่างเพลง ‘Algorithm Venom’ ที่พูดถึงระบบอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่เหมือนจะรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ และ ‘Plant A Tree’ ที่พูดถึงความสำคัญของต้นไม้และมีการเปิดรับบริจาคด้วย แต่ก็ไม่มีเพลงไหนที่ได้รับความนิยมและขึ้นชั้นคลาสสิกเทียบเท่ากับ ‘Chocolate Rain’ อีกเลย
ติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานของ เทย์ ซอนเดย์ ได้ทางยูทูบ TayZonday และทวิตเตอร์
Source
Hackers Jammed Chicago Police Scanners With Internet Classic ‘Chocolate Rain’
10 Years Later, ‘Chocolate Rain’ Is Still the Wokest Song Ever
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส