ในยุคนี้เราอาจไม่ต้องสงสัยแล้วว่า ไลฟ์โค้ช หรือ ผู้ให้คำปรึกษาการใช้ชีวิตให้มีความสุข คืออะไร เพราะชื่ออย่าง ผู้กองเบนซ์, ฌอน, มาสเตอร์ป๊อบ น่าจะเป็นชื่อที่เราได้ยินมาตลอดช่วงหลายเดือนหรือหลายปีที่ผ่านมาทางสื่อต่าง ๆ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้หรอกว่าแท้จริงพ่อของพวกเขาคือใคร (พ่อทางด้านอาชีพนะ) ใครกันที่หาญกล้าบัญญัติตัวเองเป็นไลฟ์โค้ชขึ้นมาบนโลกใบนี้และได้รับการยอมรับกว้างขวางจนทุกวันนี้

โค้ช เป็นศัพท์ที่เกิดมาและคุ้นเคยอยู่ในสายงานด้านกีฬามาก่อน จนราวปี 1974 หนังสือชื่อ The Inner Game of Tennis ของ ธิโมที กัลเวย์ ได้กล่าวถึงการชนะคู่ต่อสู้ในเกมเทนนิส ว่าต้องจัดการศัตรูภายในตัวเราด้วย และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำหลักการของโค้ชกีฬามาปรับใช้กับเรื่องของการพัฒนาตนเองของคนทั่วไป และกัลเวย์ก็กลายเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นสำคัญแรก ๆ ก่อนเกิดวงการไลฟ์โค้ชแบบจริง ๆ จัง ๆ ด้วย

ธิโมที กัลเวย์

ปัจจัยสำคัญในยุคถัดมาคือตลอดช่วงทศวรรษที่ 1970 เวอร์เนอร์ เออร์ฮาร์ด หนึ่งในบุคคลสำคัญอีกคน ก็ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมชื่อ EST (Erhard Seminars Training) ขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล แต่ที่สำคัญคือเออร์ฮาร์ดได้เชื่อมโยงกลุ่มคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของวงการไลฟ์โค้ชให้มาเชื่อมโยงกันผ่าน EST ของเขาด้วยนั่นเอง จนได้รับการกล่าวถึงว่า เป็น ผู้ประสาน (The Connector) ในประวัติศาสตร์วงการไลฟ์โค้ช และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่เออร์ฮาร์ดนำมานั้นก็คือบุคคลที่เรากำลังพูดถึงว่าเป็น พระบิดาแห่งการไลฟ์โค้ช นามของเขาคือ โทมัส เจ. ลีโอนาร์ด

เวอร์เนอร์ เออร์ฮาร์ด

ลีโอนาร์ด ไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแต่อาศัยการศึกษาทางไปรษณีย์ด้านวางแผนการเงิน ประกอบกับประสบการณ์การทำงานให้คำปรึกษาจนได้ใบรับรองประกอบอาชีพจากคณะกรรมการแห่งชาติ และได้เข้าทำงานเป็นผู้ดูแลด้านการลงทุนของบริษัทที่เป็นมรดกตกทอดจาก EST นามว่า Landmark Education ในช่วงทศวรรษ 1980 ในการให้คำปรึกษาด้านการเงินกับลูกค้าลีโอนาร์ดได้พบว่า ปัญหาการเงินเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของปัญหาที่ผู้คนประสบจริง ๆ พวกเขาต่างต้องการการให้คำชี้แนะด้านการใช้ชีวิตให้มีความสุขต่างหากล่ะ

โทมัส ลีโอนาร์ด

ลีโอนาร์ดจึงเริ่มประยุกต์การชี้แนะการใช้ชีวิตจากความรู้หลายแขนงเพื่อให้มีชีวิตที่มีความสุขมาใส่ในหลักสูตรด้านการวางแผนการเงิน จนวันหนึ่งลูกค้าของเขาคนหนึ่งก็ถามว่า “ทำไมมันไม่มีหลักสูตรไลฟ์โค้ชชิ่งแบบเพียว ๆ เลยนะ” และนั่นก็จุดประกายให้ลีโอนาร์ดหันมาคิดจริงจังเกี่ยวกับการเป็นไลฟ์โค้ช

จริง ๆ ในตอนนั้นมีหลายคนแล้วที่เรียกตนเองว่าไลฟ์โค้ชในอเมริกา หรืออย่างฝั่งยุโรปเองก็มีลูกศิษย์ทางความคิดของกัลเวย์เอาหลักคิดเรื่อง Inner Game มาใช้ และเรียกว่า การโค้ชชิ่ง ตั้งแต่ปี 1981 เช่นกัน แต่ก็เป็นเพียงการให้คำปรึกษาแบบส่วนบุคคลในห้องเล็ก ๆ หรือเขียนเป็นหนังสือเสียมากกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ลีโอนาร์ดถูกขนานนามว่า พระบิดาแห่งไลฟ์โค้ช ในเวลาต่อมา นั่นก็มาจากแนวคิดแบบอุตสาหกรรมที่ยกระดับการไลฟ์โค้ชชิ่งสู่สังคมวงกว้างและการสร้างมาตรฐานทางอาชีพขึ้นนั่นเอง

หนึ่งในข้อครหาสำคัญเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชคือ มันไม่มีสถาบันหรือหลักสูตรที่เป็นศาสตร์รองรับ ใครก็อ้างตัวว่าเป็นไลฟ์โค้ชได้หมด ลีโอนาร์ดน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่มองทะลุไปยังภายภาคหน้าว่าย่อมเกิดปัญหาใหญ่ และที่ตลกคือเหมือนเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ปัญหานั้นพอกพูนไปพร้อมกัน

ในปี 1992 ลีโอนาร์ดก่อตั้ง Coach University ขึ้นเพื่อเป็นคอมมูนิตี้เพื่อสอนการไลฟ์โค้ชชิ่ง แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยจำนวนสมาชิกไลฟ์โค้ชกว่า 7,000 คนใน 38 ประเทศ โดยเริ่มต้นจากการสอนที่บ้านของเขาเองก่อนจะขยายวงผ่านการสอนทางไกลไปในหลายประเทศผ่านทางเทเลคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้สามารถเข้าถึงการชี้แนะการใช้ชีวิต และเรียนรู้การเป็นไลฟ์โค้ชด้วย ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยโค้ชชิ่งของเขากลายเป็นมหาวิทยาลัยเสมือน (Vertual University) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น

ลีโอนาร์ดยังเล็งเห็นความแข็งแกร่งของช่องทางอินเทอร์เน็ตที่กำลังบูมขึ้นเป็นลำดับ และได้ยกระดับการโค้ชชิ่งของเขาให้ยิ่งใหญ่ไปทั่วโลกจนมีสมาชิกหลายหมื่นคน จนเป็นผู้นำในการก่อตั้งสมาพันธ์ด้านการไลฟ์โค้ชนานาชาติที่ชื่อ The International Coach Federation (ICF) ขึ้นมาสำเร็จในปี 1995

แต่ไม่นานนักเขาเองก็จำใจต้องเดินออกจาก ICF ด้วยหลักคิดที่ต่างกันเกินไป เช่นว่า ลีโอนาร์ดมองว่าไลฟ์โค้ชยังต้องการปรับตัวตามสังคมอยู่เสมอ และควรยืดหยุ่นให้ความรู้กันและกัน แต่ ICF มุ่งไปที่การสร้างให้ไลฟ์โค้ชเป็นอาชีพที่มีมาตรฐานสูงเข้มงวดและเข้าถึงยากมากกว่า หรือการที่ ICF ยอมรับการโค้ชชิ่งแบบเจอหน้ากันจริงเท่านั้น ห้ามให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์อย่างเด็ดขาด ขณะที่ลีโอนาร์ดเป็นคนแรกที่นำร่องใช้การชี้แนะผ่านโทรศัพท์ จนภายหลัง 95% ของการไลฟ์โค้ชเกิดขึ้นผ่านโทรศัพท์ทั้งสิ้น เป็นต้น

หลังจากถอนตัวออกมา ลีโอนาร์ดก็เดินสายไปทั่วโลกและก่อตั้งชุมชนไลฟ์โค้ชออนไลน์ที่ชื่อว่า Coachville ที่รวมเหล่าสมาชิกตามแนวทางที่ยืดหยุ่นไปกับยุคสมัยและตรงกับหลักคิดว่า ทุกคนเป็นโค้ชให้แก่กันและกันได้ (ในความหมายผู้ทรงปัญญาด้านใดด้านหนึ่งตามที่คนนั้นเชี่ยวชาญ) จนมีสมาชิกในปัจจุบันถึงมากกว่า 30,000 คน ใน 175 ประเทศทั่วโลก และเมื่อ ICF ไม่ออกใบรับรองการไลฟ์โค้ชตามแนวคิดของลีโอนาร์ด เขาก็ผลักดันจนเกิดการก่อตั้ง International Association of Coaching (IAC) มาออกใบรับรองแทน ซึ่งอย่างไรก็ตามทั้ง ICF และ IAC ต่างก็เป็นสถาบันที่ช่วยให้ไลฟ์โค้ชเป็นอาชีพที่มีการตรวจสอบรับรองในระดับหนึ่งด้วย และทำให้เขาได้ฉายา ผู้แพร่สาร (The Transmitter) ซึ่งทำให้ไลฟ์โค้ชมีมาตรฐานในการสู่สังคมด้วย

ในด้านหนึ่งเขาเข้ามาเพื่อจัดระเบียบให้ไลฟ์โค้ชมีหลักมีแบบแผน แต่อีกด้านหนึ่งฟังเผิน ๆ เขาก็ส่งเสริมว่าใครก็เป็นไลฟ์โค้ชได้ด้วยเหมือนกัน แต่จริง ๆ ก็ต้องมองให้ลึกด้วยว่า ลีโอนาร์ดสนับสนุนให้ทุกคนแบ่งปันภูมิรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต แต่ใครที่จะสอนคนอื่นโค้ชคนอื่นเป็นอาชีพ ก็ต้องเข้ามาอบรมและผ่านการรับรองด้วย ไม่ใช่เพียงศึกษาเอาเองหรืออ่านเอาเอง การร้องหาใบรับรองจากองค์กรที่น่าเชื่อถือสำหรับเหล่าไลฟ์โค้ชจึงเป็นเรื่องงจำเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญต้องพึงระลึกเสมอตามที่ลีโอนาร์ดมักพร่ำบอกว่า “การโค้ชชิ่งไม่ได้ทำเพื่อให้คนป่วยไข้หายดี หากแต่ทำเพื่อให้คนสุขภาพดีกลายเป็นคนที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม” ดังนั้นนี่ไม่ใช้การแทนที่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้อย่างแน่นอน

ในวัย 47 ปีด้วยการโหมงานหนักอย่างต่อเนื่อง ทั้งเดินสายไปพูดทั่วโลก ทั้งเขียนหนังสือกว่า 7 เล่ม และออกโทรทัศน์กว่า 200 รายการ ทั้งรายการ Los Angeles Times, NBC Nightly news, Time, Newsweek, Fortune และ The Times (London) จนคนทั่วไปต่างสงสัยว่าเขาเอาเวลาไหนไปพักผ่อน ทำให้เขาเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ก่อนหน้าที่จะเปิด IAC อย่างเป็นทางการไม่กี่เดือนในปี 2003

ตลอดช่วงอาชีพไลฟ์โค้ชของเขาได้ช่วยผู้คนผ่านแนวทางการชี้แนะการใช้ชีวิตไว้มากมายหลักแสนหลักล้านคนทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านแนวคิดอย่าง

“เมื่อคุณเกิดแรงบันดาลใจ คุณไม่จำเป็นต้องการแรงกระตุ้นอื่นใดอีก และแรงบันดาลใจนั้นก็เกิดจากผู้คนและวิธีคิดที่อยู่รอบตัวมากกว่าวัตถุสิ่งของ”
“คนที่รอคอยไม้ร่ายมนต์วิเศษบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้ มักมองไม่เห็นว่าตัวเขานั่นล่ะคือคนที่สามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเองได้”
“การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของผมคือการพบว่าทุกคนแตกต่างและมีเอกลักษณ์ การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคหน้าผมคาดหวังว่านั่นคือ การที่ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน”
“โอกาส ไม่เคยเคาะประตูบอก พวกมันกระซิบเตือนเพียงแผ่วเบา คุณต้องฟังมากกว่าพูด”
“การตกปากรับคำเป็นสิ่งที่เจ้านายต้องการจากคุณ แต่ทางเลือกคือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมี”
“แค่ทำในสิ่งที่คุณทำได้ จงอย่าพูดว่าคุณทำอะไรได้”
“ชีวิตเราเริ่มต้นตอนที่เราตระหนักว่าเราเป็นเจ้าของชีวิตที่เหลืออยู่”

และอีกมากมายคำสอนเตือนใจ ซึ่งทั้งหมดก็ตกผลึกมาจากการที่เขาได้สัมผัสผู้คนและได้ชี้แนะปัญหามาอย่างยาวนานนั่นเอง

น้องฟรินจ์ สุนัขผู้เดินทางทั่วอเมริกากับลีโอนาร์ด

แต่อย่างไรก็ดีเราก็ได้เรียนรู้ว่าแม้แต่บิดาแห่งการไลฟ์โค้ช ก็ยังดำเนินชีวิตผิดพลาดเป็นเหมือนกัน ทั้งเรื่องความขัดแย้งกับองค์กรที่เขาก่อตั้งเอง หรือรากฐานที่เขาวางไว้บางอย่างก็เอื้อให้คนที่ไม่ได้ศึกษาการโค้ชชิ่งจริง ๆ มาสวมรอยได้โดยง่าย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหย่อนยานในเรื่องรักษาสุขภาพของตนเอง ที่เป็นข้อผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขานั่นเอง

ที่มา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส