การมาของ COVID-19 ไม่ได้มาเพียงแค่เฉพาะไวรัส และโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งเราก็จะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่ผุดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความปกติใหม่” หรือที่เรียกว่า New Normal แน่นอนว่า วงการคอนเสิร์ตและ Showbiz ก็เป็นอีกวงการที่ต้องชะงักงันจากความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ เพื่อไม่ให้ศิลปินและบุคลากรในการจัด Showbiz ต้องถูกชะงักงันไปมากกว่านี้ คอนเสิร์ตออนไลน์จึงดูจะเป็นโจทย์ใหม่ ที่แม้ว่าอาจไม่ใช่การเข้ามาแทนที่ของคอนเสิร์ตจริง ๆ เสียทีเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่หลาย ๆ ค่ายเพลงเริ่มทดลองทำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะที่ “พอจะทำอะไรได้” เพื่อให้แม่น้ำสายนี้มีธารน้ำมาหล่อเลี้ยงบ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี
แม้ว่า GMM Online Festival จะไม่ใช่เทศกาลดนตรีออนไลน์แรกของไทย และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เองก็เริ่มออกตัว ทดลองทำเทศกาลคอนเสิร์ตออนไลน์นี้ในช่วงเวลาที่เริ่มจะปลดล็อกดาวน์แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการดนตรีไทย และธุรกิจ Showbiz ตัดสินใจ “ทดลอง” ทำคอนเสิร์ตออนไลน์ 2 วัน วันละ 7 ชั่วโมง และมีศิลปินหลากหลายกว่า 21 ศิลปิน ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่จะมองข้ามผ่านได้ง่าย ๆ และแน่นอนว่าถ้าสำเร็จ มันก็อาจจะกลายเป็น “แม่น้ำสายใหม่” ที่จะเติบโตกลายเป็นธุรกิจที่มีโอกาสให้ต่อยอดได้อย่างแน่นอน
นับเป็นวาระโอกาสอันดี ที่ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ GMM Music จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หรือที่เขาอนุญาตให้เราเรียกอย่างเป็นกันเองว่า “พี่เจ๋อ” ได้เปิดต้อนรับให้ #beartai เข้าไปนั่งพูดคุยกันถึงที่ห้องทำงานของเขาบนชั้น 42 ของตึกแกรมมี่ เพื่อเล่าถึงสถานการณ์ทางธุรกิจดนตรีและ Showbiz ในวิกฤติโควิด-19 และคอนเสิร์ตออนไลน์ รวมถึงความพิเศษของ GMM Online Festival เทศกาลดนตรีครั้งแรกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้เราได้ฟัง
อยากให้พี่เจ๋อเล่าถึงธุรกิจเพลงและ Showbiz ของ GMM Music ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หน่อยครับว่าได้รับผลกระทบอะไรแค่ไหนบ้าง
ต้องเรียนว่า จากสถานการณ์โควิด คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งเราก็ต้องมีสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่บริษัทเองก็ต้องมีให้กับประชาชนและประเทศชาติ อย่างแรกเลยแน่นอนก็คือ เราก็ต้องหยุดจัดตามคำสั่งของทางรัฐบาล ผลกระทบทางธุรกิจก็ย่อมต้องมีผลกระทบโดยตรง ซึ่งผลกระทบก็มีอยู่หลายส่วน ส่วนที่หนึ่งก็คือ การจัด Showbiz ก็จะถูกระงับไปช่วงหนึ่ง ส่วนที่สองก็คืองานจ้างที่เกิดขึ้นในผับและบาร์ ส่วนที่สามคือโรงเรียนที่ต้องหยุดตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนร้านคาราโอเกะก็ต้องหยุดด้วย
ซึ่งทางแกรมมี่เองเตรียมตัวในเรื่องนี้มาพอสมควร จริง ๆ เราได้ยินเรื่องโควิดมาตั้งแต่ปลายธันวาคมปีที่แล้ว ถ้าย้อนหลังไปจะพบว่า เราจัด Music Festival ก็คือ GENIE FEST 2020 ตอน Rock Mountain ตอนช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งเราก็ได้มีมาตรการป้องกันและระมัดระวังอยู่
ถ้าถามผมว่า เราต้องรับมือกับเรื่องนี้หนักมากไหม ผมว่าเราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริงนะครับ ในการที่จะรับมือเรื่องดังกล่าว แล้วเราก็มีการร่วมมือกับภาครัฐให้มากที่สุด
ในเชิงของการทำธุรกิจ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า มันกระทบแน่นอน แต่ว่าบริษัทเองมีช่องทางการสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง หนึ่งในช่องทางที่ต้องเรียนว่ามีผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงที่ผ่านมาก็คือช่องทางดิจิทัล ซึ่งบริษัทได้ปูพื้นฐานเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปีแล้ว ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะเดินหน้าบริษัทต่อไปได้
พี่เจ๋อได้มีแผนการรองรับแผนธุรกิจในสถานการณ์โควิด-19 ไว้อย่างไรบ้างครับ
ต้องเรียนอย่างนี้ครับ เราแบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่เรารู้ว่าโควิดมันมาแล้วล่ะ คือช่วง Quarter ที่ 1 เราเองก็มีการประเมินสถานการณ์ว่าธุรกิจใดได้รับผลกระทบโดยตรง หรือธุรกิจไหนได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งเราทำตัวเลขใน Quarter ที่ 1 ได้ค่อนข้างโอเค แต่ว่าสิ่งที่เราทบทวนเป็นอย่างแรกก็คือความปลอดภัยของพนักงานและศิลปิน อันนั้นคือสิ่งแรกที่เรามีมาตรการรองรับ เพราะเราก็ไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นในตึกนี้เลยในกลุ่มของพี่น้องพนักงานและศิลปิน เพราะฉะนั้น การรับมือในเชิงธุรกิจเนี่ย ผมคิดว่าคงไม่มีบริษัทไหนรับมือได้ 100% ใน Quarter ที่ 1 เรามีการจัด Showbiz ซึ่งเราก็ต้องสร้างความมั่นใจว่า การมาชม Showbiz ของแกรมมี่ จะมาตรการที่ทำให้เกิดความปลอดภัย
ยกตัวอย่าง Rock Mountain นี่แหละครับ เพราะว่าเรารู้แล้วว่าเกิดการระบาดของโควิดที่ประเทศจีน ซึ่งการจะเข้างานได้ ก็ต้องมีการตรวจวัดไข้ ตรวจว่ามีความผิดปกติไหม แล้วก็มีทีมแพทย์รองรับอยู่ ซึ่ง ณ ตอนนั้นสถานการณ์ในภาพรวมถือว่ายังไม่วิกฤติ ช่วง Quarter ที่ 2 เป็นช่วงที่เราต้องให้ความร่วมมือ แล้วก็พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า ตอนนั้นเราเองไม่ได้ทำอะไรนอกเสียจากการประเมินสถานการณ์ว่าจะเดินไปสู่ทิศทางใดที่ไม่เหมือนเดิม เราก็มีการวางแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก เราก็ยังไม่ได้หยุดเดิน ซึ่งก็คือ Showbiz นี่แหละ
เรามีความเชื่อว่า พอถึงจุดหนึ่งแล้ว มันก็จะต้องเดินไปสู่สถานการณ์ที่คลี่คลาย ไม่ช้าก็เร็ว เพราะฉะนั้นแผนธุรกิจ Showbiz ของแกรมมี่เองก็ไม่ได้ยกเลิก เราแค่ทำการเลื่อนออกไป ศิลปินก็ยังคงซ้อมอยู่ มีเวลาให้ซ้อมมากขึ้น มีเวลาเขียนสคริปต์ที่มากกว่าเดิม การเตรียมงาน การทำ Community ของ Showbiz ให้แข็งแรง ก็ยังคงมีการทำอยู่ทุกวันจนถึงตอนนี้
เมื่อเราเดินเข้าสู่ Quarter ที่ 3 ก็เป็นช่วงที่มีการปลดล็อกให้เราจัด Showbiz ได้แล้ว ซึ่งผมและทีมงานเองก็ได้มีการเดินเข้าไปหารือร่วมกับ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ในการที่จะทำ Showbiz หรือ Music Festival ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการอะลุ่มอล่วยของภาครัฐ ซึ่งก็จะเป็นเฟสของ Quarter 3 และ Quarter 4 ที่จะเริ่มกลับมาจัด Showbiz แล้ว และในระหว่างนี้ก็มีการเพิ่มธุรกิจใหม่ขึ้นมาก็คือ Online Festival
พอช่วงนี้เป็นช่วงที่เริ่มจะปลดล็อกดาวน์แล้ว พี่เจ๋อมองถึงเป้าหมายของธุรกิจ Showbiz ต่อไปอย่างไรบ้างครับ
ในการจัดการ Showbiz ต่อจากนี้เป็นต้นไป ก็จะไล่จากสเกลเล็ก ไปหาสเกลใหญ่นะครับ สิ่งที่เราคุยกับภาครัฐก็คือ เราให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ตรงตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข การเริ่มจากสเกลเล็กทำให้เราได้ทบทวนความพร้อม ความถูกต้อง ซึ่งการจัด Showbiz จะมีสองปัจจัยหลัก ๆ ก็คือสถานที่และผู้จัด ซึ่งในส่วนของสถานที่ เราต้องมีการพูดคุยกันถึงมาตรการและมาตรฐานในการที่เราจะสามารถจะควบคุมได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ต้องการให้มีผู้ติดเชื้อในงานของเรา รวมถึงผู้จัดเองก็ต้องมีการควบคุมตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขด้วย
ในฐานะที่พี่เจ๋อเคยพูดไว้ว่า ธุรกิจ Showbiz เป็นเหมือนกับแม่น้ำสายใหม่ การมาของโควิด-19 และคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือ Online Music Festival ทำให้พี่เจ๋อยังคงคิดเหมือนเดิมไหมครับ
จริง ๆ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ โรคภัยไข้เจ็บที่มันเกิดขึ้น ทุกคนก็คงกำลังรอวัคซีน แต่การดำเนินธุรกิจ Showbiz มันก็กลายเป็นแม่น้ำสายหนึ่งขึ้นมาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวมันเองก็สร้างเม็ดเงินให้กับบุคลากรของอุตสาหกรรมนี้เยอะ ผมคิดว่ามีผลกระทบแน่นอน แต่คงไม่ใช่จุดจบ แต่มันจะเป็นโอกาสของแม่น้ำที่เราเชื่อว่ายังอุดมสมบูรณ์อยู่ ทำไมผมถึงเชื่อแบบนั้น
ผมคิดว่าหลังมาตรการล็อกดาวน์ ผมว่าทุกฝ่ายคงอยากให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้า ธุรกิจ Showbiz เองก็มี Stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) เยอะอยู่เหมือนกัน ทั้งคนทำไฟ ทำเสียง ทำภาพ แพล็ตฟอร์ม ฯลฯ มีทุกอย่างอยู่ในนั้นเยอะมาก สังคมกำลังตั้งคำถามว่า สเกลไหนเหรอที่มันจะถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ในทางธุรกิจเราก็สงสัยว่า แล้วสเกลไหนล่ะที่จะกำไร สเกลไหนที่สปอนเซอร์เขาอยากจะสปอนเซอร์ ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องทำการบ้าน และพาให้ธุรกิจ Showbiz มันเดินไปข้างหน้าให้ได้ ผมก็เลยยังมีความมั่นใจสูง เพราะว่าเราถูกจำกัดแค่ปริมาณความหนาแน่นของคนดู แต่ช่องทางในธุรกิจนี้ผมว่ายังมีโอกาส
ในขณะที่แม่น้ำอีกเส้นที่ผุดขึ้นมาก็คือ Online Festival ผมว่านี่ก็เป็นอีกเส้นหนึ่งของธุรกิจนะครับ โดยนัย ผมคิดว่าสองสิ่งนี้แทนกันไม่ได้ คนอยากได้ประสบการณ์ที่แตกต่าง
ถ้าคนไหนที่คิดว่าการทำ Online Music Festival เหมือนกับการทำ Showbiz เลย ในความคิดส่วนตัว ผมมอง ว่าแบบนั้นจะเป็น Online Festival ที่ไม่สำเร็จ เพราะเรากำลังมอบประสบการณ์ที่คนดูหาไม่ได้จากการดูคอนเสิร์ตทั่วไป
พี่เจ๋อมองหรือคาดหวังความเติบโตของ Online Showbiz ไว้แค่ไหนครับ
ตอนนี้ผมคิดว่าข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เป็นคนแรก เราก็รู้ตั้งแต่แรกว่าเราไม่ได้อยากเดินเกมเร็ว มันมีเหตุผลของการไม่อยากเดินเร็วอยู่ คือว่า
การจะเดินตามสิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรมใหม่ (New Normal) การที่เราจะนิยามว่ามันจะเติบโตได้ เราต้องผ่านร้อนผ่านหนาวก่อนน่ะ
เราต้องรู้จริง ๆ ว่ามันมีโอกาสได้ทดลอง ได้ผิดพลาด มีการปรับเปลี่ยน เราถึงจะเดินเส้นทางนี้ให้เป็นธุรกิจถาวร เพราะฉะนั้นสำหรับผม ช่วงนี้ถือเป็นการที่เราทุกฝ่ายมีโอกาสได้ทดลองประสบการณ์นี้ร่วมกัน
ผมคิดว่า ทุกภาคส่วนก็คงมีจุดประสงค์ที่จะทำแบบ A B หรือ C ซึ่งแกรมมี่เองก็ต้องการทำ Online Concert ด้วยการจัด Online Festival เพราะเราเองก็อยากจะมีคนดูมากกว่า 1,000 คน โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบที่มีข้อจำกัด
เพราะฉะนั้นการเดินไปสู่คน เราก็อยากจะเห็นเหมือนกันว่า ถ้าเราทำแบบนี้แล้ว จะมีคนร่วมมือกับเรามากเท่าไหร่ จะเห็นได้จากการที่เราตั้งราคาบัตร เราตั้งราคาในแบบที่เราไม่ได้แสวงหากำไรสูงสุด อันนี้ผมว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นการทดลองร่วมกันระหว่างคนดู ศิลปิน และบริษัท เพื่อเดินไปสู่ทิศทางของการทำ Online Concert ว่าจะไปได้ดีแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันก็ค่อนข้างจะเดินไปได้ด้วยดี
พี่เจ๋อได้ตั้ง KPI กับคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ไว้บ้างไหมครับ ว่าอะไรที่จะเป็นปัจจัยให้ประสบความสำเร็จได้บ้าง
แน่นอนครับว่า การทำสิ่งนี้มันเป็นการทดลองของทุกภาคส่วน ถ้าถามผม ผมว่าโดยเฉลี่ย ถ้าจะเรียกว่า Music Festival ได้เนี่ย ต้องมี 10,000 คนขึ้นไป อันนี้ก็ถือว่าเป็นขั้นต่ำของความคาดหวังที่เราจะเดินไปข้างหน้า แต่ถ้าถามว่าจะไปจบที่ตรงไหน เราคงตอบไม่ได้ เพราะว่าสเกลที่เราเริ่มต้น มันก็เป็นสเกลของการทดลองศิลปินที่มีความหลากหลาย เราไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงส่งว่า เวลาที่เราทำในสิ่งที่ไม่ได้เชี่ยวชาญ เราก็ควรที่จะเห็นตัวเลข สถิติ หรือเอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้งก่อน
จุดเริ่มต้นของ GMM Online Festival มีที่มาอย่างไรบ้างครับ
ผมคิดว่าในช่วงโควิด ทุกท่านก็คงได้ Work From Home ได้ทบทวน ผมเองก็ได้ตั้งสติกับธุรกิจทั้งหมดว่าเราจะเดินยังไงดีในภาวะที่ 2 ปีจากนี้ วัคซีนจะมาทันหรือไม่ จุดเริ่มต้นของเราก็เหมือนกับ Case Study ของทุก ๆ คนนี่แหละครับ แต่ถ้าถามส่วนตัวผมเลย ผมคิดว่ามาจากการที่เราเป็นห่วงคนในอุตสาหกรรม ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก สถานการณ์โควิดทำให้เราจัดคอนเสิร์ตไม่ได้ ควบคู่กับศิลปินไม่มีงานในผับบาร์ รายได้ของศิลปินมาถึงจุดที่วิกฤติ
เราก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้เรายังคงมีงานอยู่ ยังมีรายได้กลับคืนสู่ศิลปิน ศิลปินหนึ่งคนหรือหนึ่งวงไม่ได้มีแค่ตัวเขาเอง แต่ยังมีเด็กวง มีค่าใช้จ่ายที่เดินอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะไม่มีงาน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความคิดแรกเลย ที่เราคิดว่าเราควรจะทำสิ่งที่ควรทำ เราไม่ได้อยากทำเฉพาะศิลปินคนใดคนหนึ่งแล้วก็จบไปทีเดียว แกรมมี่มีศิลปินอยู่หลายร้อยคน เราจะทำยังไงเพื่อที่จะตอบสนองได้ดีที่สุด
สอง จริง ๆ ผมคิดว่าแนวโน้มพฤติกรรมคนที่เสพออนไลน์ คล้ายคลึงกับพฤติกรรมการเสพทีวี เหมือนการดูรายการทีวี ซึ่งเราก็เข้าไปศึกษาในหลาย ๆ เคส กับหลาย ๆ พาร์ตเนอร์ ที่จะทำให้เราเองได้มอบประสบการณ์ที่แตกต่าง เราจะทำยังไงล่ะที่จะมอบประสบการณ์ที่แตกต่างจากคอนเสิร์ตทั่วไป เพราะอย่างที่ผมบอกว่า มันคงไม่สามารถมาแทนที่คอนเสิร์ตทั่วไปได้
สามคือ ต้องเรียนว่า พี่ ๆ น้อง ๆ ในแกรมมี่ทุกคนน่ารัก ซึ่งผมเองก็มีโอกาสได้คุยกับคุณฟ้าใหม่ (ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ สายธุรกิจ GMM Music) และทีมงานหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งทีมดิจิทัล แพล็ตฟอร์ม ทีม Showbiz ทีมโพรโมท ทุกคนก็มีความคิดเห็น แล้วก็เอามากองรวมกัน มันก็เลยเป็นจุดกำเนิดที่เรารู้สึกว่า โอเค เราจะต้องเดินไปข้างหน้านะ เราก็เลยอยากลองว่าสิ่งนี้มันจะไปจบที่จุดไหน มันก็เลยมาจบตรงที่ว่า คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้เราจะจัด 2 วัน วันละ 7 ชั่วโมง และมีศิลปินที่หลากหลาย
คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ เตรียมงานกันนานแค่ไหนครับ
รีบมากเลยครับ (หัวเราะ) เพราะว่าพอเป็นออนไลน์ เราคงมามัวรำกันอยู่ไม่ได้ แล้วสถานการณ์โควิดก็สร้างผลกระทบกับในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะกับศิลปิน การเตรียมงานก็เลยไม่ได้มีเวลามากนัก แต่ว่าคนที่มาเตรียมงานทั้งหมด เป็นคนที่มีประสบการณ์ในการทำ Showbiz ทำรายการโทรทัศน์ ประสบการณ์ในการทำ AR Technology รวมถึงการร่วมมือกับแพล็ตฟอร์มระดับโลกอย่าง VLIVE มันเลยทำให้ปัจจัยปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีมันคลี่คลายไปได้เยอะ เพราะเขาเองก็มีความพร้อมสูงในการที่เราจะสามารถทำเรื่องนี้ได้
แน่นอนว่า คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของไทย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาบ้างแล้ว พี่เจ๋อคิดว่าอะไรเป็นจุดที่แตกต่างของคอนเสิร์ตครั้งนี้บ้างครับ
อันดับแรก ด้วยความเป็นปัจเจกของศิลปินนะครับ เราไม่คิดว่าศิลปินแต่ละคนเหมือนกันจนแยกความแตกต่างไม่ได้ ซึ่งคอนเสิร์ตนี้ เรารวมศิลปินฮิตจากหลาย Segment ทั้งพอป ร็อก อินดี้ เข้ามาอยู่ใน Festival เดียวกัน นี่คือความแตกต่างอย่างแรก อย่างที่สองคือ ประสบการณ์จากในแอป VLIVE ที่จะมอบประสบการณ์ให้กับคนดูได้อย่างเป็นรูปธรรม
สาม ก็คือการใช้ AR Technology ซึ่งทีมผลิตของแกรมมี่ก็ได้คิด Motion Graphic เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีนี้ ผมว่าสามสิ่งนี้ก็คงจะทำให้เกิดความหลากหลาย แต่สิ่งที่ผมคิดว่าแตกต่างที่สุด ผมคิดว่าด้วยสถานการณ์ที่ศิลปินทุกท่าน ห่างไกลจากผู้ชมไปนานมาก อย่างน้อยก็ต้องมี 3 เดือน ผมคิดว่าคงไม่มีใครคิดโชว์รูปแบบเดิม ๆ หรอกครับ ทุกคนต้องสร้างสรรค์ให้มีความแตกต่าง และได้พูดคุยกับศิลปินอย่างเต็มที่ ซึ่งอันนี้เป็นความมั่นใจที่ผมเชื่อมั่นครับ
ทำไมพี่เจ๋อถึงเลือกพาร์ตเนอร์กับ VLIVE ทั้ง ๆ ที่ก็มีแพลตฟอร์มหรือระบบออนไลน์อื่น ๆ ให้เลือกมากมาย
อย่างที่ผมบอกว่า เราไม่ได้เป็นผู้จัด Online Festival ที่เชี่ยวชาญที่สุด เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่เราทำคือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าเรามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เรามองเห็นว่า หนึ่ง การที่เราจะทำ Online Concert เราไม่ได้อยากจะจำกัดจำนวนผู้ชมเพียงแค่ 1,000 คน ซึ่งก็ตอบโจทย์อย่างหนึ่งแล้วว่า ทำไมเราถึงไม่ได้ใช้ระบบที่คอนเสิร์ตออนไลน์อื่น ๆ ใช้ แล้วใช้ VLIVE ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเราแทน สองก็คือ เราคิดว่าประสบการณ์ที่จะทำให้แตกต่างได้ มันต้องมาจาก Technology Provider ที่มีเสถียรภาพ รันแล้วไม่สะดุด ซึ่งเราทดลองแล้วค้นพบว่า VLIVE เป็นระบบที่มีความแข็งแรงที่สุด และน่าจะตอบโจทย์ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่ไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวมากนัก
ซึ่ง VLIVE เองก็ตอบโจทย์ที่เราเองก็อยากให้คอนเสิร์ตนี้มีความเป็น Global ด้วย ด้วยความที่ว่าเทคโนโลยีตอนนี้มันเข้าถึงจากที่ไหนก็ได้ มันถูกเสพจากที่ใดก็ได้น่ะครับ เพราะฉะนั้น แน่นอนว่า คนที่จะซื้อบัตร ก็จะมาจากที่ใดก็ได้เช่นกัน แม้ว่า Majority ของเราจะเป็นศิลปินไทย แฟนเพลงส่วนใหญ่ก็อยู่ในประเทศ แต่ว่าก็สามารถที่จะมีแฟนคลับจากต่างประเทศ หรือคนไทยในต่างประเทศที่รักและชอบศิลปินของเราเข้ามาชม ผมว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุด
ถ้าคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้สำเร็จด้วยดี พี่เจ๋อมองว่าจะมีการจัดครั้งต่อไป และมีการขยายสเกลมากขึ้นกว่าครั้งนี้บ้างไหมครับ
แน่นอนครับ สำหรับผม ผมก็ถือคติที่ว่า “look before leap” คือเราจะเดินทางโดยไม่ซี้ซั้วน่ะ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือว่า เราควรจะอยู่ในสภาพของการเรียนรู้ตลอดเวลา ทำเสร็จแล้ว รู้ว่าอะไรบกพร่อง อะไรทำสำเร็จ แล้วก็เดินหน้าต่อไป ความฝันของเราก็คือ อยากจะให้มันกลายเป็นธุรกิจให้ได้ แน่นอนว่าในการจัดครั้งแรก มันก็จะเต็มไปด้วยเรื่องที่ดี และเรื่องที่ต้องปรับปรุง ผมเองก็มีเป้าหมายว่า อยากจะให้มันเดินไปสู่การเป็นธุรกิจให้ได้ นี่คือความตั้งใจครับ
อยากให้พี่เจ๋อบอกหน่อยครับว่า ทำไมเราถึงต้องมาดู GMM Online Festival ครั้งนี้ด้วย
ถ้าจะให้แนะนำจุดเด่นของ GMM Online Festival ครั้งนี้ ผมคิดว่าไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยครับ เพราะว่าเราจัดเต็มศิลปินจำนวนมาก มีถึง 21 ศิลปิน และจัด 2 วัน 2 คืน วันละ 7 ชั่วโมง คุณซื้อบัตร ก็คือการซื้อ 600 VCOIN หรือเท่ากับ 350 บาท ซื้อทีเดียวคุ้มสุด ๆ ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำไปร่วมสมทบทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula VRC) อีกด้วยครับ
สองก็คือ เรามี AR Technology ซึ่งมันก็เป็นความฝันหนึ่งของศิลปินที่อยากจะสื่อสารกับแฟนเพลงเหมือนกัน ให้เขาได้เจอประสบการณ์ที่แตกต่าง เป็นประสบการณ์รูปแบบใหม่
สามก็คือ มันมีเรื่องของความคิดถึงอยู่นะ ทั้งระหว่างศิลปินและผู้ชม ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเป็นความแตกต่างของโชว์ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นศิลปินคนนี้แล้วจากที่หนึ่ง แต่พอมาเห็นในรูปแบบออนไลน์ เป็น Online Festival ครั้งนี้ ทั้งศิลปินและคนดูก็น่าจะได้พบกับประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกันนะ คนดูก็ได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการชมคอนเสิร์ต ส่วนศิลปินแต่ละคนเขาก็รอเจอกับทุกคนอยู่
เพราะว่าไม่ได้เจอกับแฟน ๆ มานานมากแล้วเหมือนกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส