ยังคงอยู่ในบรรยากาศครบรอบ 35 ปีหนังไซไฟแฟนตาซีผจญภัยที่อมตะนิรันดร์กาลที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก อย่างไตรภาค Back to the Future (1985-1990) ที่ย้ำอีกครั้งว่า สามารถรับชมทั้ง 3 ภาคกันได้แบบยาว ๆ ใน Netflix ของไทยได้แล้วตอนนี้ วันนี้ What the Fact ขอรวบรวม 37 เรื่องที่เราขอท้าว่า คุณพลาดไปแน่น ๆ ตอนดูหนังทั้ง 3 ภาคที่ผ่านมา จากบทความของเว็บไซต์ Mentalfross โดย Sean Hutchinson กับคนที่รักและปวารณาตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้แล้วละก็ ลองมาเล่นเกมกันสนุก ๆ ว่า คุณรู้ทุกข้อเหล่านี้หรือไม่ หรืออ่านแล้วลองย้อนกลับไปดูอีกสักรอบก็เข้าท่านะ

ภาพคนห้อยอยู่กับนาฬิกา แรงบันดาลใจมาจากหนังเงียบ Safety Last (1923)

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ฉากในบ้าน (จริง ๆ คือโรงรถ) ของ Doc ที่เต็มไปด้วยนาฬิกาหลายรูปแบบตอนเปิดเรื่องและ Marty แวะมาหาแต่ Doc ไม่อยู่บ้าน ในฉากนี้ Marty ได้ยินนาฬิกาทั้งโรงรถตีบอกเวลาพร้อมกันตอน 8 โมง แต่เมื่อได้คุยโทรศัพท์กับ Doc ถึงจะรู้ว่า จริง ๆ แล้วเขาตั้งนาฬิกาทั้งหมดในบ้านไว้ช้ากว่าความจริง 25 นาที ส่วนภาพผู้ชายห้อยอยู่บนเข็มนาฬิกาที่จะสื่อไปถึงเหตุการณ์ที่ Doc ประสบแบบเดียวกัน (แต่ตอนต้นเรื่องใครจะไปรู้นอกจากดูซ้ำรอบสอง) เป็นภาพจากหนังตลกที่เป็นหนังเงียบเรื่อง Safety Last (1923) นำแสดงโดย Harold Lloyd แม้ว่าจะนามสกุลเดียวกันกับ Christopher Lloyd แต่พวกเขาไม่ได้เป็นญาติกันหรอกนะ

รถยี่ห้อ Statler Toyota ที่กลายมาเป็นรถสุดรักของ Marty ในเส้นเวลาใหม่

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

เสียงโฆษณาตอนวิทยุตั้งแต่เปิดเรื่อง เป็นเสียงโฆษณาการขายรถรุ่นกระบะ 4 ล้อใหม่ของ Statler Toyota ซึ่งเพิ่มเริ่มขายจริง ๆ ในปี 1985 ถ้าใครได้ดูหนังไปเรื่อย ๆ จนตอนท้ายและในภาค 2 จะรู้ว่า รถกระบะสีดำคันที่เพิ่งเอาเข้ามาขายในเมือง Hill Valley เมื่อ Marty ย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงอดีต พอกลับมาในปัจจุบัน รถคันนี้จะตกเป็นของเขา ร้านขายรถของ Statler จะเป็นฉากหลังที่อยู่กับหนังทั้ง 3 ภาค แต่เปลี่ยนฉากหลังไปตามบริบทของเรื่อง ตั้งแต่ร้านขายม้าในปี 1885 (ภาค 3), ร้ายขายรถในปี 1955 (ภาค 1) และร้ายขายรถในอนาคต ในปี 2015 (ภาค 2)

Stanley Kubrick ก็ขอมาแจมในหนังกับเขาด้วย

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ผู้กำกับ Stanley Kubrick คือผู้กำกับระดับตำนานที่โด่งดังมากับหนังไซไฟที่มีชื่อเสียงอย่าง A Clockwork Orange (1971) และ 2001: A Space Odyssey (1968) มาถึงหนังเรื่องนี้ที่ก็มีความเป็นไซไฟก็ไม่พ้นจะต้องแฝง Easter Egg บูชาครู ในฉากที่ Marty กำลังไปเปิดตู้แอมป์เพื่อทดลองเล่นกีตาร์ในโรงรถของ Doc และในรูเสียบของตู้แอมป์มีแปะสติ๊กเกอร์ CRM 114 ซึ่งอ้างอิงถึงเครื่องมือของวิทยุในเรื่อง Dr. Strangelove (1964) ยาที่ใช้ในการทดลองชื่อ Serum 114 ใน A Clockwork Orange และหมายเลขซีเรียลของยานอวกาศที่ไปยังดาวพฤหัสในเรื่อง 2001: A Space Odyssey

Marty ใส่เสื้อยีนส์ที่มีเข็มกลัดสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ถ้าใครตาดีจะเห็นเข็มกลัดบนเสื้อยีนส์ของ Marty และมีความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์สังคมสักหน่อย จะรู้ว่าสี่ดำและสีแดงนั้นเป็นงานอาร์ตของสหภาพโซเวียต ซึ่งจัดที่แกลอรีในเมืองลอนดอนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนในปี 1971 ในตอนที่หนังฉายเมื่อปี 1985 นั้นสหภาพโซเวียตยังคงมีอยู่ และอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มของสงครามเย็น ก่อนที่จะล่มสลายไปในปี 1991 หลังภาค 3 เข้าฉาย 1 ปี

Used Cars (1980) หนังเรื่องแรกของผู้กำกับ ซ่อนอยู่ในหนังด้วย

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

Used Cars (1980) คือหนังเรื่องที่สองของผู้กำกับ Robert Zemeckis เขียนบทโดย Bob Gale (คนเดียวกับ Back to the Future) เป็นหนังแนวตลกที่นำแสดงโดย Kurt Russell แม้ไม่ได้โด่งดังมาก แต่ก็เข้าตา Steven Spielberg และทำให้เขาได้พูดคุยกันเรื่องการทำหนัง Back to the Future แต่ต่อมา Zemeckis เกิดเปลี่ยนใจ ไม่อยากเกาะชื่อเสียง Spielberg ก็เลยรอไว้ก่อนและไปสร้างหนัง Romancing the Stone (1984) ที่ประสบความสำเร็จกว่า ในตอนนั้นก็ถึงเวลาที่จะกลับมาดันโพรเจกต์เรื่องนี้ต่อ ในหนังจะมีฉากที่เห็นป้าย Used Cars เป็นสถานที่แห่งหนึ่งใน Hill Valley และในฉากเปิดเรื่องที่ Deborah Harmon มารับบทนักข่าวอ่านข่าวการโจรกรรมพลูโตเนียมของชาวลิเบีย ก็คือหนึ่งในนักแสดงของ Used Cars ด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=_csw31W6wYs

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ผู้ออกแบบฉากของหนัง ขอเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Hill Valley

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ตอนที่ Marty กลับไปยังอดีตปี 1955 ใหม่ ๆ นั้น เขาได้พบเห็นรถกระจายเสียงที่รณรงค์ให้คนไปโหวตให้กับ Red Thomas ในการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกเทศมนตรีของ Hill Valley เป็นสมัยที่สอง (ล้อกับปี 1985 ที่นายกเทศมนตรีผิวดำตอนนั้นก็กำลังลงเลือกตั้งรอบสองเช่นกัน) ความจริงแล้วในรูปตัวละครนี้ในป้ายหาเสียงของ Red Thomas คือผู้ออกแบบฉากของหนังเรื่องนี้อย่าง Haul Gausman ที่ขอเนียน ๆ แฝงรูปตัวเองเข้าไปในหนัง แถมยังมารับบทรับเชิญเป็นคนจรจัดอีกด้วย

ครูคัดเลือกวงดนตรีของ Marty คือนักร้องที่ร้อง Soundtrack ของหนัง

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ตอนต้นเรื่องนั้น Marty และเพื่อน ๆ วง The Pinheads กำลังจะไปคัดตัวเป็นวงที่ไปประกวดในนามโรงเรียน และถูกครูปกครองดูถูกว่า คนอย่างเธอก็เหมือนพ่อที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย Marty มาคัดตัวกับกรรมการ 4 คน ก่อนที่หัวหน้าผู้คัดตัวจะบอกว่า เสียงดนตรีแบบร็อกแอนด์โรลของ The Pinheads มันหนวกหูเกินไป รู้หรือไม่ว่า นักแสดงที่มารับบทนี้คือ Huey Lewis แห่ง Huey Levis & The News เจ้าของเพลง The Power of Love ที่เป็น Soundtrack ประกอบหนังเรื่องนี้ รวมถึงในฉากห้องนอนของ Marty ตอนที่ถูกปลุกด้วยเสียงเพลง Back in Time (ก็ของ Lewis อีก) ในห้องนอนก็มีโปสเตอร์อัลบั้มของ Huey Levis & The News ชื่ออัลบั้ม Sports แปะอยู่เช่นกัน

ชื่อทีมงานหลังกล้องก็ขอมาอยู่ในหนังด้วย

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังยุคก่อนที่ทีมงานเบื้องหลังก็อยากจะขอมีส่วนร่วมเข้าไปเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้จะรู้แค่ตัวเองกับทีมงานด้วยกันก็เถอะ อย่างในฉากที่ Marty กับ Jennifer เดินกลับจากโรงเรียนหลัง Marty ออดิชันวงดนตรีไม่สำเร็จ ทะเบียนรถคันหนึ่งที่พวกเขาเดินผ่านเขียนว่า “FOR MARY” ซึ่งหมายถึง Mary Radford ผู้กำกับกองที่สองของหนัง ส่วนในฉากโรงเรียนตอนย้อนอดีตไปปี 1955 จะมีป้ายรณรงค์หาเสียงให้กับ Ron Woodward เพื่อแข่งเป็นรองประธานของโรงเรียน จริง ๆ แล้ว Ronald T. Woodward  คือหนึ่งในตากล้อง key grip ของเรื่องนั่นเอง

ป้ายชื่อโรงหน้าโรงในแต่ละยุค บอกอะไรบ้าง?

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
George ‘Buck’ Flower

ป้ายที่แปะชื่อหนังอยู่หน้าโรงหนังภายในเมือง Hill Valley ก็เป็นเครื่องบอกยุคสมัยของหนังอีกอย่างเหมือนกัน เพราะชื่อหนังนั้น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ฉายจริงในปี 1955 และ 1985 (ยกเว้น 2015 ที่ก็จะเก่งเกินไปถ้าบอกไว้ได้ถูก เช่น Mad Max: Fury Road) ในฉากของปี 1985 ชื่อหนังคือ Orgy American Style (1973) หนังผู้ใหญ่ที่แสดงโดย George ‘Buck’ Flower ซึ่งเขาก็มาแสดงเป็นตัวละคร Red คนจรจัดที่นอนอยู่แถว ๆ ที่รถเดอลอรีนข้ามเวลามาด้วย ส่วนป้ายโรงหนังของปี 1955 คือหนังชื่อเรื่อง The Atomic Kid (1954) นำแสดงโดย Mickey Rooney

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

นอกจากนี้ จะเห็นว่า ในปี 1985 โรงภาพยนตร์แทบจะไม่ได้รับความนิยมและกลายเป็นสถานที่ซอมซ่อไปเลยเมื่อเทียบกับอดีตปี 1985 หรืออนาคตปี 2015 ที่ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ 3D ทันสมัย (มี Jaws ภาค 19 ที่ภาคแรกกำกับโดย Spielberg ผู้อำนวยการสร้างของหนังเรื่องนี้…ในโลกความเป็นจริง แค่ภาค 4 ก็ลงฉายแบบโฮมวิดีโอและยุติการสร้างต่อ ไปไม่ถึงภาค 19 จริง ๆ ล่ะนะ) ส่วนในฉากอีกโรงหนังอย่าง The Essex Theater ก็ปรากฎชื่อหนังอย่าง Cattle Queen of Montana (1954) ซึ่งนำแสดงโดย Ronald Reagan ซึ่ง Doc ถาม Marty ตอนเจอกันครั้งแรกในปี 1955 ว่าใครเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่ง Marty ตอบว่า Reagan Doc ก็เลยหัวเราะใหญ่ว่า “ดาราหนังคนนั้นเนี่ยนะ จะได้เป็นประธาธิบดี?” และชื่อหนัง Assembly of Christ ในโลกอนาคตที่เสื่อมโทรม มี Biff เป็นนายกเทศมนตรี หนังเรื่องนี้ไม่มีอยู่จริงนะ

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ลุง Joey ตอนเด็กไม่ยอมออกจากคอก บอกใบ้ว่า โตขึ้นลุงจะ (ชอบ) ติดคุก

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

น้า Joey คือน้องชายของ Lorraine แม่ของ Marty ที่ฉากต้น ๆ เรื่องบนโต๊ะกินข้าวของครอบครัว McFly แม่ของ Marty ยกเค้กที่ทำไว้ต้อนรับน้า Joey ที่กำลังจะออกจากคุก แต่ปรากฎว่า เขาไม่ได้รับการประกันตัวเลยต้องอยู่ในคุกต่อไป ฉากนี้ล้อกับตอนที่ Marty ย้อนเวลาไปเจอตาและยายและน้า ๆ ทั้งหลายของเขา น้า Joey ที่เด็กสุด ยายบอกว่าชอบอยู่ในคอก และพอจะอุ้มออกมาก็ร้องงอแง สื่อให้เห็นแววการโตไปจะชอบอยู่ในห้องขังตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว

ตากับยายและแม่ของ Marty ชอบกินเมนูมีทโลฟ

ในคืนเดียวกันกับที่เกิดเหตุย้อนเวลา Marty ต้องกินเมนูมีทโลฟถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือมื้อเย็นที่บ้านในปี 1985 ส่วนเมื่อย้อนเวลาไปปี 1955 ที่บ้านตากับยายของเขา Marty ก็ได้กินเมนูนี้อีกรอบ แสดงให้เห็นว่าตระกูลทางแม่ของเขานั้นชอบกินเมนูมีทโลฟกันมาหลายรุ่น ในบทร่างแรก ๆ นั้น Marty จะเกลียดการกินมีทโลฟด้วย แต่ถูกตัดออกไป

ครอบครัว McFly ติดละครไซไฟอวกาศ The Honeymooners

ในตอนต้นเรื่องที่ครอบครัว McFly ยังเป็นครอบครัวห่วย ๆ และออกจะเพี้ยนด้วยนั้น George McFly ติดซีรีส์เรื่อง The Honeymooners เมื่อปี 1955 ขนาดที่ครอบครัวกำลังกินข้าวอยู่แต่เขาแทบไม่ได้สนใจสิ่งที่ Lorraine กำลังพูดเลย เพราะมัวแต่ดูซีรีส์เรื่องนี้อยู่ ตอนที่ปรากฎในหนังคือตอน The Man from Space ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์อวกาศบุกโลก เป็นตอนที่ George ชอบเป็นพิเศษจนเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายไซไฟอวกาศ (และทำให้ Marty ปลอมตัวด้วยชุดป้องกันกัมมันตภาพรังสีไปหลอกพ่อเพื่อให้ไปตามจีบแม่ให้สำเร็จตอนปี 1955)

นอกจากนี้ ในฉากที่ Marty ไปโผล่ที่บ้านตากับยาย ตาที่เพิ่งซื้อโทรทัศน์มาใหม่ก็เปิดซีรีส์ตอนเดียวกันนี้ให้ครอบครัวดูกันทั้งบ้าน Marty ก็โพล่งขึ้นมาว่า เขาเคยดูตอนที่ทีวีเอามาฉายรีรัน ทำให้บ้านแม่ของ Marty ในยุคอดีตงงกันหมด เพราะซีรีส์เพิ่งจะออกอากาศเป็นครั้งแรก แต่ถ้าเอาตามจริง Marty ย้อนเวลาไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1955 แต่ซีรีส์ตอนนี้ออกอากาศครั้งแรก 31 ธันวาคม 1955 ช้ากว่าในเนื้อเรื่องไปเดือนกว่า

ไม่ว่าจะไปยุคไหน Marty ก็ขอกินน้ำ Pepsi

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ปรากฎเป็นฉากหลังของเรื่องตลอดทั้งช่วงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คือการที่ Marty จะต้องไปดื่มน้ำเป๊ปซี่โคล่าตามยุคสมัยต่าง ๆ โดยฉากในปัจจุบันปี 1985 นั้น Marty มีกระป๋องเป๊ปซี่ฟรีไร้น้ำตาลอยู่บนหัวเตียง โดยเป๊ปซี่แบบไร้น้ำตาลนี่เพิ่งมีการวางตลาดจริงมาตั้งแต่ปี 1982 หรือถ้าในตอนถ่ายทำปี 1984 ก็เพิ่งจะ 2 ปีเท่านั้นเอง เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มที่บ่งบอกยุคสมัยของเรื่องผ่านหนังเลยทันที ส่วนในอดีตนั้นจะมีฉากที่ Marty เปิดขวดแบบฝาจีบไม่ออก จน George ผู้พ่อต้องเอาไปเปิดกับที่เปิดข้างตู้ขายให้ ส่วนในฉากอนาคตขวดเป๊ปซี่ก็ปรากฎอยู่ในร้านยุค 80s จำลอง ที่มาเป็นภาชนะสุญญากาศกลับหัวแบบล้ำสุด ๆ ที่ในโลกปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้ล้ำไปขนาดนั้น

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ทำไม่ชื่อห้างจึงเปลี่ยนไปในเส้นเวลาใหม่?

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)
A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ในฉากนี้ถ้าใครตาดีจะเห็นตั้งแต่ตอนหนังฉายว่า ชื่อห้างในตอนต้นเรื่องแรกก่อนที่ Marty จะย้อนเวลากลับไปในอดีต ชื่อห้างที่เกิดเหตุชื่อว่า Twin Pine Mall ซึ่งหมายถึง ต้นสนแฝดสองต้น แต่พอตอนท้ายเรื่องที่ Marty ไปเปลี่ยนแปลงอดีตแล้วกลับมายังจุดเกิดเหตุเพื่อจะยับยั้งไม่ให้ผู้ก่อการร้ายชาวลิเบียฆ่า Doc ห้างได้เปลี่ยนชื่อเป็น Lone Pine Mall ซึ่งหมายถึงต้นสนเพียงต้นเดียวแล้ว ถ้าใครจำได้ตอนที่ Marty ย้อนเวลากลับไปโผล่ที่ไร่ของตาแก่ Peabody ที่เป็นเจ้าของที่ของห้างนี้ Marty ได้ขับเดอลอรีนหนีจากตาแก่ที่เอาปืนมาไล่ยิงชนเข้ากับต้นสนแฝดแสนรักจนกระจุย เหลือแค่ต้นเดียว ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมห้างจึงเหลือชื่อแค่ Lone Pine นั่นเอง

ผู้กำกับและผู้เขียนบทชอบเลข 21

มีแฟนหนังตั้งข้อสังเกตว่า Bob Gale ผู้เขียนบท และ Robert Zemeckis นั้น น่าจะชอบเลข 21 เอามาก ๆ อย่างเช่นตอนที่น้องหมา Einstein ของ Doc ที่ส่งไปเป็นหมาตัวแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินทางข้ามเวลาได้ น้องถูก Doc ส่งไปในอนาคตที่ตอนเวลาตี 1 กับ 21 นาที ส่วนปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่มากพอจะให้รถเดอลอรีนข้ามเวลาได้ หนังก็กำหนดไว้ว่าต้องมากถึง 1.21 กิกะวัตต์ ซึ่งก็มีเลข 21 เข้ามาเกี่ยวข้องอีก

คำทำนายว่า Doc จะตายจากสติกเกอร์ท้ายรถบรรทุก

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ท้ายรถบรรทุกของที่ใช้ขนรถเดอลอรีนและเปิดตัวยังยิ่งใหญ่ในฉากนี้ ถ้าใครตาดี (มาก ๆ เพราะสติกเกอร์ติดรถบรรทุกนั้นเล็กมาก และไม่มีฉากโฟกัสใกล้ ๆ ให้เห็นด้วยนะ) เขียนว่า “One Nuclear Bomb Can Ruin Your Whole Day” หรือระเบิดนิวเคลียร์หนึ่งลูก สามารถทำลายวันทั้งวันของคุณได้เลย ซึ่งก็เหมาะกับพล็อตเรื่องของหนังที่การขโมยพลูโตเนียมที่ใช้ทำระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้พวกผู้ก่อการร้ายลิเบียตามมาถล่อม Doc จนถึงฆาตนั่นเอง

Doc บอกเป็นนัย ๆ ถึงเนื้อหาหนังภาค 2

ระหว่างการทดลองของ Doc เขาได้บอก Marty ว่า เขาฝันอยากจะเห็นอนาคตไปอีกหลาย ๆ ปี ได้เห็นวิวัฒนาการอันล้ำหน้าของมวลมนุษยชาติ และอยากจะเห็นว่าใครเป็นผู้ชนะการแข่งขันกีฬา World Series ในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งเนื้อเรื่องส่วนนี้น่าจะเป็นอะไรที่ติดอยู่ในใจผู้เขียนบท เพราะก็ถูกนำมาขยายความในภาค 2 ตอนที่ภาคแรกประสบความสำเร็จทางรายได้มาก เมื่อ Marty ได้ไปอนาคตและมีแผนการอยากจะรวยเลยเอาหนังสือ Grays Sports Almanac รวบรวมรายชื่อทีมชนะกีฬาประเภทต่าง ๆ กลับมาในปัจจุบัน แต่ Doc รู้เสียก่อนเลยจะทำลายทิ้ง แต่ดันไปตกอยู่ในมือ Biff วัยแก่ ที่เดินทางข้ามเวลาไปให้ Biff วัยหนุ่มในปี 1955 ไปแทงพนันจนรวยเละ และเกิดเป็นเหตุหายนะของเส้นเวลาในภาค 2 นั่นเอง

ปืนในภาคแรกกับภาค 3 คือปืนกระบอกเดียวกัน

A screen shot from 'Back to the Future' (1985)

ในฉากนี้มีแฟนหนังตาดีเห็นว่า ปืนที่ Doc ใช้ยิงพวกผู้ก่อการร้ายลิเบียในภาคแรก ยุคปัจจุบันปี 1985 นั้น คือปืนกระบอกเดียวกันกับที่่ Doc ในปี 1955 หยิบขึ้นมาในภาค 3 ตอนที่จะช่วย Marty ย้อนกลับไปในยุคตะวันตกปี 1885 นั่นเอง

(ติดตามเนื้อหาตอนที่ 2 ได้ เร็ว ๆ นี้)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส