หนังไซไฟแนววิทยาศาสตร์หรืออวกาศ เป็นหนังอีกประเภทที่นอกจาก “บท” ที่จะเนรมิตเรื่องราวตามจินตนาการออกมาให้อยู่บนโลกที่เหนือจริง (ตามชื่อของแนวหนัง Science-Fiction) องค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังก็จะยิ่งขับเน้นให้หนังแนวนี้มีความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความสนุกของผู้ชมที่มีกับหนังด้วย โดยเฉพาะสถานที่และโลเคชันที่หนังเลือกมาใช้ถ่ายทำก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน
วันนี้ What the Fact จะชวนผู้อ่านออกไปเที่ยว (แม้ตัวจะนั่งอยู่กับที่และอ่านบทความนี้อยู่ก็ตาม) กับสถานที่ถ่ายทำหนังไซไฟในตำนานทั่วโลก และถ้าอยากหาสถานที่ท่องเที่ยวนอกลิสต์นี้ว่ามีอยู่ตรงจุดไหนอีกบ้างบนโลก ลอง search Sci-Fi Films Location ใน Google Map ดูได้เลย
Bradbury Building เมืองลอสแอนเจลิส ใน Blade Runner (1982)
ตึกเก่าแก่ที่สุดในลอสแอนเจลิส ตั้งอยู่ที่ 304 Brodway ถนน West 3rd Street สร้างมาตั้งแต่ปี 1893 ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติโดย National Register of Historic Places ในปี 1971 และได้รับการจัดเป็น National Historic Landmark ในปี 1977 ใน Blade Runner นั้นถูกใช้เป็นฉากที่ Rick Decarkd ตัวละครนำของเรื่อง รับบทโดย Harrison Ford ต่อสู้กับหุ่นยนต์ปฏิวัติ แม้ว่าจะสร้างมานานแต่ยังคงความคลาสสิกจนเป็นที่ถูกใจทีมสร้างหนังและมิวสิกวิดีโอหลายต่อหลายเรื่อง เลือกที่แห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำ หนังเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ (500) Days of Summer (2009) และหนังขาวดำเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง The Artist (2011)ด้วย ดูสถานที่อื่น ๆ ในเมืองลอสแอนเจลิสที่ถูกใช้เป็นโลเคชันของ Blade Runner ได้ที่นี่
Hotel Nikko เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ใน Total Recall (1990)
Hotel Nikko หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Hyatt Regency โรงแรมหรูระดับ 4 ดาวของเมืองเม็กซิโก ซิตี้ เป็นโรงแรมหรูกลางเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายรายรอบ เช่น Bosque de Chapultepec city park กองถ่ายเรื่อง Total Recall (1990) ก็เข้าพักในโรงแรมนี้ระหว่างการถ่ายทำ ผู้กำกับภาพของหนังมองเห็นสถาปัตยกรรมที่เรียบหรูแต่ดูดีของตัวตึก เลยถ่ายทำบางฉากที่ล็อบบี้ของโรงแรมนี้ด้วย ปัจจุบันแม้ว่าจะเปลี่ยนบริษัทผู้บริหารไปแล้ว แต่ตัวตึกและสถาปัตยกรรมภายนอกยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ นอกจากโรงแรมนี้แล้วทีมงาน Total Recall ยังไปถ่ายทำกันที่สถานีรถไฟใต้ดิน Metro Chabacano และ Metro Insurgentes ด้วย
เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ใน Robocop (1987)
แม้ว่าตามเนื้อเรื่องในหนังจะเป็นเมืองดีทรอยท์ แต่ทีมงานกลับไปใช้สถานที่ต่าง ๆ ในเมืองดัลลัสเป็นที่ถ่ายทำหลัก ทั้ง Dallas City Hall ที่ถูกใช้เป็นตึกสำนักงานใหญ่ของ Omni Consumer Products ลิฟท์ของ OCP นั้นถ่ายทำกันที่โถงลิฟท์ของ Plaza of the Americas ห้างใหญ่ที่ใช้ทุนสร้างถึง 100 ล้านเหรียญฯ ของเมืองดัลลัส ส่วน Detroit City Hall นั้นไปถ่ายทำกันที่ Dallas Municipal Building นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ห้องบอลลูม Sons of Herman Hall และด้านนอกตึก Crozier Tech High School ที่ใช้ถ่ายทำสถานีตำรวจ Detroit Police Station ดูภาพโลเคชันทั้งหมดได้ที่นี่
Fort Worth Water Gardens รัฐเท็กซัส ใน Logan’s Run (1976)
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ Logan’s Run (1976) ที่สวยจับใจผู้ชมก็คือ Fort Worth Water Gardens น้ำตกขนาดใหญ่ที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมจนเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของเมืองฟอร์ทเวิร์ธ น้ำตกนี้สร้างขึ้นในปี 1974 ออกแบบโดยสถาปนิก Philip Johnson และ John Burgee มีลักษณะเป็นน้ำตกขั้นบันไดที่นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเดินสำรวจความสวยงามได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังกันหน่อย เนื่องจากด้านล่างสุดเป็นสระน้ำ ที่เคยมีผู้เสียชีวิตมาแล้วถึง 4 คน ในปี 2004 เป็นเด็ก 3 คนและผู้ใหญ่ 1 คนที่ตกลงไปในสระและจมน้ำเสียชีวิต เพราะน้ำในสระลึกกว่าปกติเนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้มีการปิดปรับปรุงชั่วคราวและเปิดใหม่ในปี 2007 โดยปรับระดับน้ำจาก 9 ฟุต ให้เหลือเพียง 2 ฟุตเท่านั้น
Millennium Mills ประเทศอังกฤษ และ Espaces d’Abraxas ประเทศฝรั่งเศส ใน Brazil (1985)
หนังสุดล้ำเรื่อง Brazil (1985) ของผู้กำกับ Terry Gilliam ทำเอาผู้ชมตื่นตะลึงไปกับการกำกับศิลป์ที่สวยงาม และเรื่องราวอันแสนพิศวงในหนังก็ถูกทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยสถานที่ถ่ายทำ เช่น Millennium Mills โรงสีร้างแสนน่ากลัวของประเทศอังกฤษที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ถ่ายทำฉาก Department of Records ที่ทำงานของ Sam Lowry นำแสดงโดย Jonathan Pryce ตัวละครหลักของเรื่อง ปัจจุบันนี้ยังคงใช้เป็นที่ถ่ายทำ MV และหนังอีกหลายเรื่องเช่น The Man From U.N.C.L.E. (2015) ส่วนที่ฝรั่งเศสก็มี Espaces d’Abraxas ตึกสไตล์นีโอ-กรีก สูง 18 ชั้น ที่ใช้เป็นฉากสำคัญในการหลบหนีของ Sam Lowry ในตอนท้ายเรื่อง และความสวยงามโดดเด่นของมันยังไปปรากฏในหนัง The Hunger Games :Mocking Jay Part 1 (2014) อีกด้วย
Hyperion Sewage Treatment Plant ใน Soylent Green (1973)
หนังที่เล่าถึงโลกในอนาคตที่ล่มสลายเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมจนเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร นำแสดงโดย Charlton Heston แม้ว่าเหตุการณ์ตามท้องเรื่องเกิดขึ้นที่นิวยอร์ก และหนังก็ถ่ายทำในสตูดิโอเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีฉากสำคัญ บางฉากที่ใช้โลเคชันถ่ายทำในเมืองลอสแองเจลิส เช่น ฉากการตัดสินใจฆ่าตัวตายของ Sol Roth (เอ็ดเวิร์ด จี โรบินสัน) ชายผู้รู้ความลับของ Soylent Green ทีมงานใช้ตึก Los Angeles Memorial Sports Arena สนามกีฬาอเนกประสงค์ในการถ่ายทำ แต่ถ้าใครอยากไปตามรอยฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องอย่างโรงงานผลิต Soylent Green อาหารแห่งโลกอนาคตที่มีความลับสุดสยอง ต้องไปที่ Hyperion Sewage Treatment Plant โรงงานบำบัดน้ำเสียของเมืองลอสแอนเจลิส โดยโรงงานแห่งนี้ยังถูกใช้ถ่ายทำหนังไซไฟอีกหลายเรื่อง ดูภาพสถานที่อื่น ๆ ที่เป็นโลเคชันของหนังได้ที่นี่
(อ่านต่อหน้าถัดไป)
Eastern State Penitentiary รัฐเพนซิลวาเนีย ใน 12 Monkeys (1995)
สถานที่ถ่ายทำเรื่องนี้อาจจะดาร์กและน่าสะพรึงกว่าเรื่องอื่น Eastern State Penitentiary เป็นคุกจริงที่ใช้ถ่ายทำ 12 Monkeys (1995) ซึ่งตามเนื้อเรื่องปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลบ้าที่ Jeffrey Goines (Brad Pitt) เข้าพักรักษาตัวอยู่ คุกนี้สร้างขึ้นในปี 1829 เป็นคุกเก่าแก่ ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นตัวตึกเรียงตัวกันเป็นรูปใบพัดคล้ายกังหันลม เป็นคุกยุคบุกเบิกและเป็นต้นแบบให้กับคุกอื่น ๆ อีกกว่า 300 แห่งทั่วโลก ที่นี่เคยมีนักโทษชื่อดังถูกคุมขังอยู่หลายคนเช่น Al Capone แถมยังเป็นคุกที่ใช้เงินทุนในการสร้างแพงที่สุดในโลก ปัจจุบันนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญ National Historic Landmark ของสหรัฐฯ และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ 10 โมงเช้า – 5 โมงเย็น นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ล่าท้าผีขึ้นชื่อแห่งหนึ่งในอเมริกา เพราะมีรายงานการเห็นวิญญาณนักโทษออกมาหลอกหลอนผู้คนบ่อยครั้ง
เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ใน The Matrix Trilogy (1999-2003)
ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่หนังซึ่งไม่อยากใช้ทุนสร้างสูงมาก มักจะเลือกขนขบวนทั้งกองไปถ่ายทำกันที่นี่ เช่นเดียวกับ The Matrix ทั้ง 3 ภาคในฉากเมืองที่อยู่ในโลกเสมือน ทั้งตึก Metacortex ที่ทำงานของ Neo (Keanu Reeves) ในฐานะโปรแกรมเมอร์ก่อนที่เขาจะค้นพบความจริงก็คือ ห้าง Metcenter ส่วนฉากที่ Morpheus พา Neo ไปฝึกทำความเข้าใจกับโลกใหม่ของเขา และ Neo วอกแวกไปกับหญิงสาวในชุดแดงนั้น ถ่ายทำที่น้ำพุในย่าน Martin Place ซึ่งออกแบบ โดย Lloyd Rees นักออกแบบภูมิทัศน์ชื่อดัง ย่านนี้ยังใช้ถ่ายทำฉากต่อสู้ของภาค The Matrix Revolutions อีกด้วย ส่วนในภาค The Matrix Reloaded ถ่ายทำที่ White Bay Power Station ในฉากกลุ่มปฏิวัติพยายามทำลายโรงไฟฟ้า ส่วนฉากที่ Neo กับเทพพยากรณ์พบกันใน The Matrix Revolutions ถ่ายที่สวน Royal Botanic
Ronald Reagan Trade Center เมืองวอชิงตัน ดีซี ใน Minority Report (2002)
แม้ว่าเรื่อง Minority Report (2002) จะถ่ายทำในลอสแองเจลิสเป็นส่วนใหญ่ แต่ตามเนื้อเรื่องหลักแล้วเกิดขึ้นที่วอชิงตัน ดีซี ทำให้ต้องมีตึกสำคัญของที่นี่เข้าฉากด้วย โดยทีมงานก็เลือก Ronald Reagan Trade Center ตึกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเมืองวอชิงตัน ดีซี ให้เป็นศูนย์บัญชาการของ Department of PreCrime สถานที่ทำงานของ John Anderton (Tom Cruise) เจ้าหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมล่วงหน้า แต่ถ้านักท่องเที่ยวจะไปเยี่ยมชมคงได้ดูแต่ภายนอก เพราะตึกนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานของรัฐบาลที่คนทั่วไปเข้าไม่ได้ เช่น U.S. Agency for International Development, U.S. Customs and Border Protection และ Woodrow Wilson International Center for Scholars
Point Dume ชายหาดมาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย ใน Planet of the Apes (1968)
ฉากที่ George Taylor (Charlton Heston) ค้นพบความจริงเกี่ยวกับที่มาของ “พิภพวานร” ในฉากสุดท้ายอันทรงพลังของเรื่อง Planet of the Apes (1968) ฉากนั้นไปถ่ายทำกันที่ Point Dume จุดท่องเที่ยวสำคัญของ Westward Beach ในมาลิบู เมื่อหนังออกฉายทำให้หาดนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คอหนังมักจะไปตามรอย นอกจากมีชายหาดให้มาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจแล้วยังเป็นจุดปีนผายอดนิยม เพราะแนวหินเรียงตัวง่ายต่อการปีน เหมาะกับผู้เริ่มต้นปีนใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังสามารถไปเที่ยวชายหาดที่อยู่ติดกันอย่าง Zuma Beach ซึ่งกว้างขวางสะดวกสบายกว่า เหมาะแก่การทำกิจกรรมชายหาดอีกด้วย
Samalayuca Dune Fields ประเทศเม็กซิโก ใน Dune (1984)
Samalayuca Dune เป็นเนินทรายอันสวยงามในประเทศเม็กซิโก ซึ่งชื่อพ้องกับภาพยนตร์เรื่อง Dune (1984) ฉบับที่แล้วที่ไปใช้เนินทรายแห่งนี้ถ่ายทำพอดี ชื่อเรียกของสถานที่แห่งนี้ตามภาษาท้องถิ่นคือ Medanos de Samalayuca ซึ่งคำหลังคือชื่อของทะเลทรายทั้งแถบนั้นที่ทอดยาวตั้งแต่ตอนกลางของประเทศเม็กซิโก ไปถึงชายแดนรัฐเท็กซัสและรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ทะเลทรายแห่งนี้ยังเป็นที่ินิยมของนักเล่นเซิร์ฟบอร์ดและกลุ่มที่ชอบขับรถออฟโรดอีกด้วย นอกจากนี้หนัง Conan The Destroyer (1984) ก็เคยมาถ่ายทำที่ทะเลทรายแห่งนี้ด้วยเหมือนกัน
Battersea Power Station เมืองลอนดอน ใน Children of Men (2009)
กว่า 70 ปีที่โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์ โฆษณา และมิวสิกวิดีโอมากมาย ด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นภาพติดตาด้วยปล่องควัน 4 ปล่อง แถมยังดังขึ้นไปอีกเมื่อถูกเลือกมาประกอบทำเป็นภาพปกของศิลปินวง Pink Floyd กับอัลบั้ม Animals ปี 1977 ส่วนในหนังไซไฟฟอร์มดี Children of Men (2009) ก็เลือกใช้สถานที่แห่งนี้ให้เป็น Ark of Art ศูนย์รวบรวมงานศิลปะของชาติหลังโลกล่มสลาย และถ้าใครสังเกตในฉากของสถานที่นี้ดี ๆ จะเห็นลูกโป่งหมูบินในฉากหนึ่ง ที่ผู้กำกับใส่ไว้เพื่อคารวะหน้าปกอัลบั้มนั้นของ Pink Floyd ที่มีเพลง Pigs on the Wing อยู่ด้วย
(อ่านต่อหน้าถัดไป)
San Rafael Swell รัฐยูทาห์ และ Vasquez Rocks Natural Area Park รัฐแคลิฟอร์เนีย ใน Star Trek (2009)
ฉากดาววัลแคนบ้านเกิดของ Spoc ในหนังฉบับรีเมก ปี 2009 ก่อนจะถูกทำลายเสียเหี้ยนโดยฝีมือของตัวร้าย Nero จากดาวโรมูลัส ฉากนี้ใช้ทัศนียภาพที่สวยงามของหุบเขา San Rafael Swell หุบเขาความยาว 121 กิโลเมตร กว้าง 64 กิโลเมตร ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะของชั้นหินผิวโลก ก่อให้เกิดลักษณะหินแปลกตา ทั้งรูปโดมแบบต่าง ๆ ที่โป่งขึ้นของชั้นหินทราย หินดินดาน หินปูน ซึ่งเกิดขึ้นแบบนี้มาตั้งแต่ 40-60 ล้านปีก่อน ผู้คนชอบมาทำกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ บริเวณนี้ ทั้งปีนเขา ตั้งแคมป์ ขี่ม้า พายเรือในแม่น้ำแถวนี้ และขี่รถ ATV นอกจากนั้นก็ยังมี Vasquez Rocks Natural Area Park ในรัฐแคลิฟอร์เนียร์อีกด้วย
Keahua Arboretum รัฐฮาวาย ใน Avatar (2009)
ฉากดาวแพนดอราของชาวนาวีได้รับแรงบันดาลใจมาจากป่าและสถานที่สวย ๆ หลายที่ในโลก รวมถึงป่า Keahua (อ่านว่า คาวายอี) Arboretum รัฐฮาวายในสหรัฐฯ ด้วย นักแสดงอย่าง Sigourney Weaver ก็เดินทางไปถ่ายทำฉากของเธอที่สวนรุกขชาติป่าไม้เขตร้อนขนาดใหญ่บนเกาะนี้ด้วย เกาะแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ เพราะมีการดูแลสภาพของทรัพยากรธรรมชาติไว้อย่างสมบูรณ์และเขียวขจีอย่างที่เห็น และจุดเด่นที่สุดก็คือต้นยูคาลิปตัสสีรุ้งที่มีเปลือกหลากสีที่สวยงามมาก ๆ
Chott el Djerid ประเทศตูนิเซีย ใน Star Wars: A New Hope (1977)
ดาวทาทูอินที่เป็นเปิดหัวเรื่องของ Star Wars ที่ถ่ายทำเป็นภาคแรกและสร้างความมหัศจรรย์จนคนตื่นตะลึงในสถานที่ที่ไม่นึกว่าจะอยู่บนโลกเดียวกันกับเรานี้ ภายในเรื่องนี้คือดวงดาวที่เก่าแก่ที่สุดในกาแล็กซี่ และเคยเป็นมหาสมุทรขนาดใหญ่มาก่อนที่จะแห้งแล้ง กลายเป็นดาวทะเลทรายและมีน้ำใช้อยู่แค่เพียง 1% ซึ่งกันดารขนาดนี้ Obi-Wan ก็เลยเอา Luke Skywalker มาซ่อนตัวจาก Darth Vader ได้สำเร็จนั่นเอง สถานที่ถ่ายทำคือ Chott el Djerid ทะเลสาบน้ำเค็มขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศตูนีเซีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่า เป็นสถานที่บนโลกมีสภาพคล้ายกับดาวอังคารมากที่สุด โดยในช่วงหน้าร้อนนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียสจนทำให้น้ำแห้งขอดเหลือแต่เกลือสีขาวโพลน หากจะไปเที่ยวหน้าร้อนก็ใช้รถได้ ส่วนถ้าหน้าที่มีน้ำก็ต้องเดินทางด้วยเรือเข้าไป
Tikal National Park ประเทศกัวเตมาลา ใน Star Wars: A New Hope (1977)
ในขณะที่ Star Wars เป็นหนังไซไฟสงครามอวกาศที่บางดาวเต็มไปด้วยความล้ำหน้าทันสมัย แต่ก็จะมีดาวอีกหลายดวงในเรื่องที่เป็นอารยธรรมที่ล้าหลังหรือไปซ่อนตัวอยู่ในป่ารก อย่างฐานทัพลับของกลุ่มกบฎที่ตั้งอยู่บนดาวยาวิน 4 ที่เต็มไปด้วยป่าดงดิบ และมี Massassi Temple ที่ด้านในเป็นแหล่งส่องสุมกำลังพล ฉากนี้สถานที่จริงอยู่ที่ประเทศกัวเตมาลา นั่นคือ Tikal National Park ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกเมื่อปี 1979 ด้วย โดยสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาอารยธรรมมายา ยุคก่อนการค้นพบของ Christopher Columbus ที่เป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกา คาดว่าถูกสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนกระทั่งมีผู้ค้นพบสถานที่แห่งนี้ราวปี 1853 หลังจากนั้นเหล่านักโบราณคดีและนักล่าสมบัติก็แห่แหนกันเข้าไป ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เรียบร้อย
Jedediah Smith Redwoods State Park รัฐแคลิฟอร์เนีย ใน Star Wars: Return of the Jedi (1983)
ฉากต่อสู้ยกสุดท้ายในช่วงไคลแมกซ์ในภาค Return of the Jedi (1983) บนดาวเอ็นดอร์ของเหล่าอีว็อค (ตัวที่หน้าเหมือนหมีเต้นได้นั่นละ) จริง ๆ แล้วอยู่ใกล้กับกองถ่ายฮอลลีวูดมาก เพราะก็คือ Jedediah Smith Redwoods อุทยานทางธรรมชาติที่ดูแลโดย Red Wood National and State Parks ตั้งชื่อของอุทยานตาม Jedediah Smith นักสำรวจที่มีชื่อเสียงของอเมริกา กินพื้นที่มาถึง 10,430 เอเคอร์ (หรือราว 42 ตารางกิโลเมตร) จุดเด่นก็คือต้นสนเรดวูดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (แต่ไม่ใช่ต้นที่สูงที่สุดนะ) มีความกว้าง 6.1 เมตร และสูง 100 เมตร และมีสัตว์หลากหลายสายพันธ์ุ์ให้ได้ไปเยี่ยมชม ทั้งปลาเทราต์สีรุ้ง, แซลมอน, หมีดำ, กวางหางดำ, ชิพมังค์ และแร็คคูน ที่นี่สามารถมาตั้งแคมป์เที่ยวได้ และมีบ้านพักไปรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 100 หลังตลอดเส้นทางเดินป่ายาว 29 กิโลเมตร
Royal Palace เมืองกาแซร์ตา ประเทศอิตาลี ใน Star Wars: The Phantom Menace (1999) & Attack of the Clone (2002)
พระราชวังขององค์หญิง Padmé Amidala ที่โอ่อ่าอลังการนั้น จริง ๆ ก็คือพระราชวังกาแซร์ตาในประเทศอิตาลี เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งเนเปิลล์แห่งราชวงศ์บูร์บง เป็นหนึ่งในพระราชวังแบบบาโรกที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1752 โดยพระเจ้า Charles ที่ 7 ทรงทำงานใกล้ชิดกับสถาปนิกผู้ออกแบบชื่อ Luigi Vanvitelli แต่สุดท้ายพระองค์ก็ไม่ได้มีโอกาสบรรทมในพระราชวังสุดรักนี้แม้แต่คืนเดียว เพราะทรงสละราชสมบัติในปี 1759 เพื่อไปเป็นพระมหากษัตริย์สเปนแทน พระราชวังแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วเมื่อปี 1997 (ก่อน The Phantom Menace ฉาย 2 ปี) นอกจากเรื่องนี้แล้ว Mission Impossible ภาค 3 (2006) และ Angels and Demons (2009) ก็เคยมาถ่ายทำที่นี่เช่นกัน
(อ่านต่อหน้าถัดไป)
Hook and Ladder 8 เมืองนิวยอร์ก ใน Ghostbusters (1984)
สถานที่ปฏิบัติงานของทีมบริษัทกำจัดผี จริง ๆ แล้วก็คือ สถานีดับเพลิง Hook & Ladder No.8 ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนน North Moore Street ตัดกับ Varick Street ซึ่งหลังจากที่หนัง Ghostbusters (1984) โด่งดังนั้น สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่ที่มีคนแวะไปถ่ายรูปเสมอ และด้านนอกสถานีดับเพลิงก็มีการประดับป้ายและตราสัญลักษณ์ของหนังเต็มไปหมด สิ่งที่หลายคนเฝ้ารอจะถ่ายรูปและวิดีโอก็คือตอนที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะเปิดประตูใหญ่ออกไปปฏิบัติงาน เผยให้เห็นป้ายบริษัท Ghostbusters ที่อยู่ด้านในที่สถานีติดไว้ตั้งแต่หนังมาถ่ายทำและก็ไม่คิดจะเอาออกด้วย
Carlsbad Caverns National Park รัฐนิวเม็กซิโก ใน Journey to the Centre of the Earth (1959)
Journey to the Centre of the Earth (1959) ภาคต้นฉบับ หนังไซไฟที่มีความล้ำมาก ๆ มาตั้งแต่ยุคโน้น ดัดแปลงจากหนังสือของนักเขียนแนวนี้ที่มาก่อนกาลมาก ๆ อย่าง Jules Verne เล่าเรื่องราวการดำดิ่งลงสู่สะดือโลก ที่เป็นจุดศูนย์กลางโลกใต้พิภพ ซึ่งทีมงานก็ต้องฉลาดในการหาสถานที่ถ่ายทำที่สวยงามและอลังการใต้ดิน มาลงเอยที่อุทยาน Carlsbad Caverns National Park ที่มีหินงอกหินย้อยสุดตระการตา อุทยานแห่งนี้กว้างขวางราว 46,000 เอเคอร์ หรือราว ๆ 186 ตารางกิโลเมตร จุดเด่นที่น่าสนใจก็คือ การเข้าไปชมโถงถ้ำห้องต่าง ๆ ใหญ่สุดเรียกว่าห้อง Big Room หรือ The Hall of the Giants มีพื้นที่กว้างราว 357,469 ตารางฟุต โดยเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของสหรัฐฯ เลยทีเดียว
Devil’s Tower รัฐไวโอมิง ใน Close Encounters of the Third Kind (1977)
หนังไซไฟของผู้กำกับ Steven Spielberg สร้างอิทธิพลอย่างมากในยุค 70s และภาพจำของหนังที่มนุษยชาติจะได้เผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลกในหนัง Close Encounters of the Third Kind (1977) ก็มีภาพจำเป็นภูเขาที่เหมือนแท่งปล่องตั้งตระหง่านขึ้นไปบนฟ้าที่อยู่ในฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง สถานที่แห่งนี้คือ Devil’s Town หรือหอคอยปีศาจ ส่วนชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ จะเรียกว่า หุบเขาหมี ที่มาของชื่อหุบเขาปีศาจนั้นเกิดมาจากในปี 1875 มีพันเอกคนหนึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวและล่ามชาวพื้นเมืองแปล Bad God’s Tower เพี้ยนเป็น Devil’s Town ตั้งแต่นั้นมาคนที่มาเที่ยวก็เลยจดจำในชื่อหลังตลอดมา
Arecibo Observatory ประเทศเปอร์โตริโก ใน Contact (1997)
คอหนังสายลับ James Bond 007 อาจจะคุ้นกับสถานที่แห่งนี้เพราะเป็นฉากไคลแม็กซ์ของ Goldeneye (1995) ตอนแรกของ Pierce Brosnan ที่ปะทะกับตัวร้ายที่แสดงโดย Sean Bean แต่ในหนังไซไฟอวกาศเรื่อง Contact (1997) ก็ไปใช้ Arecibo Observatory เป็นสถานที่ถ่ายทำเช่นกัน หอสังเกตการณ์นี้เป็นหอส่งสัญญาณวิทยุที่มีกล้องโทรทัศน์วิทยุแบบ single-aperture ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ติดตั้งไว้เหนือพื้นดิน 350 เมตร เป็นแหล่งศึกษาทางดาราศาสตร์ขององค์กรระดับโลกหลายแห่ง ทั้งค้นคว้าเรื่องการส่งสัญญาณวิทยุ ชั้นบรรยากาศ และสัญญาเรดาร์ Arecibo Observatory ยังเคยปรากฏอยู่ในข่าวเมื่อโครงการ SETI@home โครงการส่งสัญญาณไปในอวกาศเพื่อติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว ก็มาใช้บริการที่แห่งนี้ด้วย
Marin County Civic Center ใน Gattaca (1997)
Gattaca (1997) คือหนังไซไฟดรามาแฝงปรัชญาที่มีงานสร้างสุดเนียบอีกเรื่อง โดยโลเคชันหลัก ๆ ของเรื่องถ่ายทำที่ Marin County Civic Center ศูนย์ที่ทำการธุรกิจแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Frank Lloyd Wright ที่ออกแบบและสร้างขึ้นอย่างล้ำสมัยมาตั้งแต่ปี 1960 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น National Historic Landmark แล้วเรียบร้อย เคยถูกใช้ถ่ายทำภาพยนตร์แนวไซไฟมาแล้วมากมาย เช่น THX 1138 (1971) ของ George Lucas แห่ง Star Wars ซึ่งเขาก็ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่แห่งนี้นำไปออกแบบสถานที่บนดาวนาบูของ Star Wars อีกด้วย
Dawdon Colliery เมืองคันทรี เดอร์แฮม ประเทศอังกฤษ ใน Alien 3 (1992)
ฉากคุกที่มีบรรยากาศมืดมัวชวนขนลุกของหนัง Alien ภาค 3 (1992) ที่ได้ David Fincher มากำกับได้ไปถ่ายทำกันที่เหมืองถ่านหินเก่าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมทะเลของอังกฤษ ซึ่งเปิดทำเหมืองมาตั้งแต่ปี 1900 จนมาปิดตัวลงเมื่อปี 1991 ช่วงที่กิจการรุ่งเรืองมากที่สุดนั้นมีคนงานมากถึง 3,862 คน แต่ที่นี่ก็เกิดเหตุเศร้าสลดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้คนงานเสียชีวิตตลอด 91 ปีอยู่ถึงร้อยกว่าศพ เพราะยังไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้คนงานมักจะพลัดตกจากที่สูง หรือโดนหินหล่นทับ แม้ทางรัฐจะทำการปรับภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณนี้หลังเหมืองปิดกิจการไปแล้ว บริเวณชายฝั่งก็ยังเต็มไปด้วยคราบเขม่าถ่านหินและน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมาก
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส