สำหรับคอหนังในยุคปัจจุบันที่อายุต่ำกว่าเลขหลัก 3 อาจจะโตมากับหนังไทยในแนวฟีลกู๊ดจากค่ายหนังอารมณ์ GTH/GDH แต่ถ้าถามพี่ ๆ รุ่นใหญ่วัยเลข 3 ถึง 4 ขึ้นไป ก็จะได้รับคำตอบว่าเติบโตมากับหนังวัยรุ่นแห่งยุคจากอาร์เอสฟิล์มที่เป็นส่วนหนึ่งของค่ายเพลงที่ชิงอันดับหนึ่งกับค่ายแกรมมี่อย่างอาร์.เอส. โปรโมชั่น ในยุคนั้นหนังจากอาร์เอสฟิล์มและไฟว์สตาร์ คือแหล่งร่วมการนำศิลปินนักร้องไปเล่นหนังอย่างครบวงจร ร้องเพลงดังก็ไปเล่นหนัง และขายอัลบั้มซาวด์แทร็กจากหนังได้อีกต่อหนึ่ง

อาร์เอสสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 2535 ปีเดียวกับที่ก่อตั้งค่ายเพลง โดยมีผลงาน รองต๊ะแล่บแปล๊บ เป็นผลงานเรื่องแรกในช่วงที่ศิลปิน ทัช ณ ตะกั่วทุ่งโด่งดังสุดขีด ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาจะตั้งอาร์เอสฟิล์มผลิตภาพยนตร์ขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวภายใต้การบริหารของคนวงการหนังอย่าง ผู้กำกับ “อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา” ที่ก่อนหน้านั้นโด่งดังจากงานกำกับ ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย (2528), ดีแตก (2530) และ ฉลุย (2531) ร่วมกับคู่หู “ปื๊ด-ธนิตย ์จิตนุกูล” ที่ปรึกษา (หลังจากบริหารค่ายหนังอาร์เอสฟิล์ม ก็ไปก่อตั้งค่ายหนังฟิล์มบางกอกที่สร้างหนังดังอย่าง บางระจัน กำกับโดยปื๊ดต่อ)

อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา
M39 เซอร์ไพรส์วันเกิด ผกก.อารมณ์ดี พี่ยอร์ช ฤกษ์ชัย 30 เม.ย. 2557 09:35 ...
จันทิมา เลียวศิริกุล, ยอร์ช-ฤกษ์ชัย และ มณฑล อารยางกูร ตอนที่มาอยู่ M39 แล้ว

ต่อมามีการเปลี่ยนบริหารมาเป็น “ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล” ผู้กำกับ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว ต่อมาในปี 2543 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากอาร์เอสฟิล์มเป็นชื่อค่ายอาวองท์ จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเรื่อยมา ตั้งแต่ราเชนทร์ลาออกไปอยู่สหมงคลฟิล์ม ก็มี “จันทิมา เลียวศิริกุล” และ “มณฑล อารยางกูร” เข้ามาบริหารก่อนที่ไม่กี่ปีต่อมา ก็ลาออกไปตั้งค่ายหนังเอ็ม 39 หลังจากนั้นค่ายหนังที่เริ่มต้นมาจากอาร์เอสฟิล์ม ก็ได้ลดบทบาทของตัวเองและถอนตัวจากวงการหนังไทยไป

อย่างไรก็ตามหนังของอาร์เอสฟิล์ม ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2546 ที่ถือว่าเป็นยุคทอง เต็มไปด้วยหนังที่ประสบความสำเร็จและถูกพูดถึงมาก (หนังเรื่องสุดท้ายจริง ๆ คือ บางกอกกังฟู (2554) รวมแล้วมีหนังทั้งหมด 51 เรื่อง) แจ้งเกิดศิลปินให้กลายเป็นนักแสดงควบคู่ไปด้วย ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ไทยที่หลายคนคงคิดถึงบรรยากาศนั้น วันนี้ What the Fact ขอพาย้อนความคิดถึงกับ 15 หนังสุดฮิตของค่ายนี้ ผ่านช่อง YouTube Channel ของค่ายพระนครฟิล์ม และของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ที่ได้นำมาลงให้แฟน ๆ ได้ชมกันฟรี ๆ ซึ่งสามารถเข้าไปชมอีกหลายเรื่องได้เลยที่นี่

รองต๊ะแล่บแปล๊บ (2535)

https://www.youtube.com/watch?v=TBGKoFDEASg&t=2s

ภาพยนตร์เพลงผสมแฟนตาซี สร้างขึ้นจากกระแสความโด่งดังของ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ที่แจ้งเกิดจากอัลบั้ม “ทัช ธันเดอร์” แนวเพลงพอปแด๊นซ์ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกจากการสร้างของ บริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีบริษัทในเครือที่เป็นบริษัทสำหรับผลิตภาพยนตร์โดยเฉพาะ หนังยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของนักแสดงตลก “ตั๊ก-บริบูรณ์ จันทร์เรือง” ที่ในขณะนั้นยังอายุ 13 ปี ในเรื่องเขายังได้ฝึกฝีมือการเต้นแบบพี่ทัชด้วย นอกจากนั้นหนังยังการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ด้วย

หนังเข้าฉายวันแรก 14 มีนาคม 2535 และไมีการออกอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์แนวพอปแด๊นซ์และกลายเป็นเพลงฮิตทั้งหมด เช่น สู้ และ โดนจู่โจม นอกจากนั้น และยังภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวของวง “ไฮแจ็ค” ก่อนที่จะออกอัลบั้มเพลงของตัวเองอีกไม่กี่เดือนถัดมา วงนี้เป็นวงที่มีชื่อเสียงด้านการเต้นของอาร์เอสและต่อมาก็เป็นทำหน้าที่เป็นครูสอนเต้นประจำค่ายอาร์เอสด้วย

  • นักแสดง: ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, ตั๊ก-บริบูรณ์ จันทร์เรือง, วาสนา พูนผล, ภาณุเดช วัฒนสุชาติ, จตุรงค์ โกลิมาศ
  • ผู้กำกับ: ปรัชญา ปิ่นเแก้ว (เกิดอีกทีต้องมีเธอ, องค์บาก, ต้มยำกุ้ง)
  • เรื่องย่อ: “ทัช” (ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง) ฝันจะเป็นแชมป์การแข่งขันเต้น แต่นักเต้นคู่ปรับของเขานั้นมีฐานะและอิทธิพลเหนือกว่า จนกระทั่งเขาได้รองเท้าเก่าคู่หนึ่งซึ่งเกิดมีชีวิตขึ้นมาหลังถูกฟ้าผ่า และสามารถพัฒนาให้ทัชกลายเป็นนักเต้นชั้นยอด แต่ในวันก่อนแข่งรองเท้าคู่ใจของเขากลับถูกทำลายยับเยิน ทัชจึงชั่งใจว่าจะลงแข่งหรือไม่เมื่อไม่มีความหวังใดเหลืออยู่

โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (2538)

https://www.youtube.com/watch?v=RXVoNi-aMy8&t=1s

“เราไม่ได้รักใครง่าย ๆ อย่างที่นายคิดนะ” ประโยคในตำนานที่สุดในภาพยนตร์ไทยประโยคหนึ่ง ที่สะท้อนความรู้สึกของนางเอกอย่าง ‘ป้อน’ ที่ส่งให้นักแสดง นุ๊ก-สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ถูกจดจำและยอมรับในฐานะนักแสดง จนสามารถรับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีตุ๊กตาทอง (รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี) ครั้งที่ 27 ตั้งแต่การแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก และหลังจากออกอัลบั้มในฐานะศิลปินเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2537

หนังสามารถทำรายได้ตลอดการฉายไปกว่า 55 ล้านบาท ความโด่งดังของหนังแจ้งเกิดคู่ขวัญคู่จิ้นแห่งยุค 90s “เต๋า-นุ๊ก” จนมีหนังและละครคู่กันตามมาอีกหลายเรื่อง นอกจากนั้น หนังยังมีการแสดงที่ยอดเยี่ยมของตัวร้ายอย่าง “เอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย” ที่เล่นได้โหดเหี้ยมสุด ๆ ส่วนผู้กำกับนั้นคือ ราเชนทร์ ลิ้มตระกูลที่ต่อมากลายเป็นผู้บริหารค่ายหนังในเครืออาร์เอสอย่างอาวองท์ แต่เขาก็ไม่เคยกำกับหนังในค่ายที่บริหารอีกเลย จนมากำกับหนังใหญ่อีกครั้งคือ จีจ้า ดื้อ สวย ดุ (2552) ให้สหมงคลฟิล์ม ส่วนบทของหนังนั้นก็เขียนโดยอีกหนึ่งผู้กำกับมากฝีมือของไทยอย่าง คงเดช จาตุรันต์รัศมี จาก ตั้งวง (2556) , Snap (2558) และ Where We Belong (2562)

เพลง “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” ร้องโดยเต๋า-สมชาย กลายเป็นเพลงฮิตตลอดกาลของนักร้องและอาร์เอส นอกจากนั้นหนังก็กวาดรางวัลมากมาย นอกจากรางวัลตุ๊กตาทอง นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ก็ยังมีนักแสดงดาวรุ่งชายยอดเยี่ยม รางวัลตุ๊กตาเงิน (สมชาย เข็มกลัด) รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี และกวาดอีก 8 รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 5 โดยเฉพาะรางวัลใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายและหญิงยอดเยี่ยม

  • นักแสดง: เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, นุ๊ก-สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ปราโมทย์ แสงศร, เอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, อรุณ ภาวิไล, รุจน์ รณภพ
  • ผู้กำกับ: ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล
  • เรื่องย่อ: “ไม้” (สมชาย เข็มกลัด) และ “เม่น” (ปราโมทย์ แสงศร) สองพี่น้องที่หลงรักผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “ป้อน “(สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา) แต่เนื่องจากฐานะทางครอบครัวที่กำลังย่ำแย่ ทำให้สองพี่น้องต้องก้าวขาเข้าสู่โลกสีเทา ด้วยการเข้าร่วมแก๊งขโมยรถที่มี “โต” (สุรศักดิ์ วงษ์ไทย) เป็นหัวโจกของแก๊ง และจากจุดเปลี่ยนนี้เองที่นำพาให้ชีวิตของทั้งสามคนให้ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป

เกิดอีกทีต้องมีเธอ (2538)

https://www.youtube.com/watch?v=cxp7SJIC2kA

หลังความสำเร็จระดับปรากฎการณ์ของ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว หนังอันดับที่สองอย่างเป็นทางการของอาร์เอสฟิล์ม ก็ตามเข้าฉายให้หลัง 3 เดือนในวันที่ 29 กันยายน 2538 โดยได้ทั้งพระเอกและผู้กำกับจาก รองต๊ะแล่บแปล๊บกลับมา ประกบกับนางเอกชื่อดังในเวลานั้น นิ้ง-กุลสตรี ศิริพงศ์ปรีดา ทำให้ทัช-นิ้ง กลายเป็นคู่ขวัญตลอดกาลอีกคู่หนึ่งของค่ายอาร์เอส (เล่นละครประกอบคู่กับทัชในปีนั้นอีกเรื่องอย่าง ภูตพิศวาส (2538) ต่อด้วย รักไร้อันดับ (2540), พริกกับเกลือ (2543) และแสงดาวฝั่งทะเล (2545))

เกิดอีกทีต้องมีเธอ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง พระสุรัสวดี ในสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม, เทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ (ต่อมาคือรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ) จากสาขาเพลงนำยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยม และเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ที่อาจเป็น Easter Egg หรือเบาะแสบอกใบ้เนื้อหาของสำคัญของหนัง ดิว..ไปด้วยกันนะ (2019) ของผู้กำกับมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ก็คือในฉากเปิดเผยความจริงช่วงท้ายเรื่องของครูภพ และหลิวที่ห้องของหลิวนั้น บนผนังห้องมีโปสเตอร์หนัง “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” แปะอยู่ด้วย นอกจากนั้น ยังมีหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ CEO ของ Beartai ร่วมแสดงอยู่ด้วย ลองไปหาดูเองว่าฉากไหน ใบ้ว่าเป็นฉากในลิฟต์

หนังรักสุดดราม่า "ดิวไปด้วยกันนะ" ผลงานล่าสุดของ "มะเดี่ยว"
  • นักแสดง: ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, นิ้ง-กุลสตรี ศิริพงศ์ปรีดา, โชคชัย เจริญสุข, ปภัสรา ชุตานุพงษ์, เทพ โพธิ์งาม
  • ผู้กำกับ: ปรัชญา ปิ่นเแก้ว (รองต๊ะแล่บแปล๊บ, องค์บาก, ต้มยำกุ้ง)
  • เรื่องย่อ: “แทน” (ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง) และ “เพียง” (กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา) เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งคู่ขณะเดินทางไปเชียงใหม่ ทำให้วิญญาณของทั้งคู่ต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายการเดินทางใหม่เมื่ออยู่ในโลกหลังความตาย โดยภายใน 7 วันจะต้องกลับไปถึงประตูแห่งการเกิดใหม่ ซึ่งนั่นก็คือไปยังสถานที่ที่พวกเขาตายนั่นเอง หากกลับไปไม่ทันดวงวิญญาณก็จะไม่ได้ไปผุดไปเกิด ระหว่างทางทั้งคู่ต้องฝ่าฝันอุปสรรรคจากวิญญาณร้ายที่อยากได้พลังของเพียงที่มีพลานุภาพมากเพราะตายในวันเกิด ส่วนเพียงก็ดูจะตัดใจจากแฟนที่รักมากไม่ได้

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

เด็กระเบิด ยืดแล้วยึด (2539)

https://www.youtube.com/watch?v=HWJaZn13F1s

หนังที่มีจุดตั้งต้นของการนำตัวเด่นของนักร้องแต่ละวงหรือจากคู่ดูโอมาเล่นหนัง ทั้ง ต๊ะกับดิ๊บ จาก Boyscout ออยจาก ลิฟต์-ออย จอนนี่กับหลุยส์แห่งวง Raptor หลังจากไปรับเชิญใน โลกทั้งใบให้นายคนเดียว จอนนี่ก็มาเล่นภาพยนตร์เต็มตัวครั้งแรกที่เรื่องนี้ หนังไม่ได้มีเนื้อหาที่ดูแล้วจับต้องอะไรได้มากมาย เป็นแนวผสมระหว่าง Die Hard กับ Airheads ของฮอลลีวูดที่ตัวละครหลักจะต้องเอาตัวรอดจากเหตุการณ์โจรปล้นตึกให้ได้ หนังยังมาพร้อมกับกลยุทธ์ปล่อยเพลงฮิตของนักแสดงในหนังออกมาให้ฮิตระเบิดก่อนที่จะให้ไปฟังวนแบบรวมฮิตในหนังอีกที

เกร็ดเล็กน้อยก็คือ ต๊ะ-ฌานิศ พระเอกของเรื่อง มาได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก เด็กเสเพล ในปี 2539 (หนังที่สร้างโดยค่ายไฟว์สตาร์ ซึ่งในตอนนั้นก็มีหลายเรื่องของค่ายนี้ที่ได้นักแสดงจากฝั่งอาร์เอสไปร่วมแสดง) และหนังเด็กระเบิด ยังเป็นผลงานของสยมภู มุกดีพร้อม ตากล้องที่โกอินเตอร์ในฐานะผู้กำกับภาพ Call Me By Your Name (2019) ด้วย โดยในเรื่องนี้เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

  • นักแสดง: ต๊ะ-ฌานิศ ใหญ่เสมอ (ต๊ะ บอยสเก๊าท์), นุ๊ก-สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ออย-ธนา สุทธิกมล, จอนนี่ อันวา, ดิ๊บ-ธนพงศ์ คล้ายพงษ์พันธ์, ปภัสวรรณ ยอดเณร
  • ผู้กำกับ: คมสัน ศรีสวัสดิ์ (เขียนบท-ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน, กำกับภาพ-เศียรสยอง, มหาลัยเที่ยงคืน)

เจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ (2539)

https://www.youtube.com/watch?v=7IM8mAIvGnE

หลังจากให้ออย คู่หูได้ชิมลางเล่นหนังไปก่อนแล้ว ฝั่งลิฟต์ก็ตามมาในหนังปีเดียวกันอีกเรื่อง (รวมถึง โจ Boyscout ที่แยกจากเพื่อนมาเล่นเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน) หนังมีความตลกเหมือนหนังฮอลลีวูดที่เล่นกับตลกสถานการณ์และการปลอมตัวให้เป็นผู้หญิง อย่างหนัง Tootsie หนังได้นางเอกวัยรุ่นเบอร์หนึ่งของอาร์เอสในเวลานั้นอย่าง โบว์-ปรารถนา องค์ชัยศักดิ์ ที่ต่อมาก็ได้ประกบคู่กับออยใน 18-80 เพื่อนซี้ไม่มีซั้ว ด้วยเหมือนกัน นอกจากนั้น ในยุคนั้นหนังวัยรุ่นบรรยากาศหอพักนักศึกษาก็กำลังมาแรง เพราะฝั่งแกรมมี่ฟิล์มก็มี จักรยานสีแดง (2540) หนังที่เอานักร้องมาเป็นนักแสดงอย่างมอสและทาทาเข้าฉายด้วยเช่นกัน

  • นักแสดง: ลิฟท์-สุพจน์ จันทร์เจริญ, โบว์-ปรารถนา องค์ชัยศักดิ์, โจ-ธเนศ ฉิมท้วม (โจ บอยสเก๊าท์), น้ำฝน-กุลณัฐ ปรียะวัฒน์, โด่ง-สิทธิพร นิยม, เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย
  • ผู้กำกับ: ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์) และ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล (ก็เคยสัญญา, ศพ (อาจารย์ใหญ่)
  • เรื่องย่อ: “เจน” (ลิฟต์ สุพจน์) หนุ่มหน้าใสของคณะเศรษฐศาสตร์ ต้องมาเจอกับเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออก เมื่อรายชื่อของเขาถูกจัดเข้าไปอยู่ในหอพักนักศึกษาหญิงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “เจนนี่” หรือก็คือเจนที่ต้องปลอมตัวเป็นหญิงนั่นเอง เจนจะมาในตอนกลางวัน ส่วนเจนนี่จะมาในตอนกลางคืน ทุกอย่างกลับมาสับสนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อ “แม็ก” (สิทธิพร นิยม) พยายามที่จะเปิดโปงสถานภาพจริงของเจนให้ “ปิ่น” (โบว์-ปรารถนา) ได้รู้

ล่องจุ๊น ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน (2539)

https://www.youtube.com/watch?v=T1rrhzz7JFY

ด้วยความที่ฉบับภาพยนตร์ออกฉายไล่หลังฉบับละครแค่เพียง 2 ปีแถมฉบับละคร ปี 2537 นั้น ก็ยังนำแสดงโดยนักแสดงร่วมค่ายอาร์เอสอย่าง หนุ่ม-ศรราม และนุ๊ก-สุทธิดา (แต่สร้างโดยบริษัท กันตนา) อาจจะทำให้คนดูย้อนความจำไปสับสนบ้าง (แต่คงไม่สับสนเท่าหนังและละคร คู่กรรม ที่นำแสดงโดยเบิร์ด-ธงไชย ทั้งคู่) ล่องจุ๊นฉบับหนังยังเป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวของ วอย จากคู่ดูโอ เจอาร์-วอย และนำแสดงโดย ตุ๊กตา-อุบลวรรณ บุญรอด นักแสดงประจำค่ายอาร์เอสอีกคน แต่ช่วงหลังจะไปรับบทตัวร้ายมากกว่า

หนังได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง พระสุรัสวดีในสาขา ผู้กำกับคิวบู๊ยอดเยี่ยม และเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และในปี 2563 นี้ เวอร์ชันละครก็จะกลับมาให้ชมกันอีกครั้งภายใต้การสร้างของช่อง ONE 31

  • นักแสดง: เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, ตุ๊กตา-อุบลวรรณ บุญรอด, วอย-เกรียงไกร อังคุณชัย (เจอาร์-วอย), สรพงษ์ ชาตรี, หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร
  • ผู้กำกับ: กมล ศรีสวัสดิ์
  • เรื่องย่อ: “วายุ ภูบาลบริรักษ์” หรือ “ล่องจุ๊น” ลูกชายคนกลางของครอบครัวที่พ่อไม่เคยให้ความสนใจ เพราะพ่อคิดว่าล่องจุ๊นเกิดมาเป็นตัวซวยของครอบครัว จึงให้ชื่อว่า “ล่องจุ๊น” ทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยแท้ วายุเกิดมาในช่วงที่พ่อต้องขาดทุนกับธุรกิจถมที่ ซึ่งต่างจากพี่น้องอีก 2 คนนั้นคือ “พี่ถม” พี่ชาย และ “ลัคกี้” น้องชาย ต่อมาครอบครัวภูบาลบริรักษ์มีปัญหา วายุต้องต่อสู้กับชีวิตที่โดนตราหน้าว่าเป็นตัวซวยอย่างไม่เลิกรา แต่ในที่สุดเขาก็สามารถทำให้ทุกคนยอมรับได้และครอบครัวกลับมาอบอุ่นอีกครั้ง

18-80 เพื่อนซี้ไม่มีซั้ว (2540)

https://www.youtube.com/watch?v=ILc0wQ5Rs28&t=6s

ผลงานชิ้นแรกของผู้กำกับมากฝีมือที่ฝากผลงานให้กับวงการหนังไทยมากมายอย่าง เรียว-กิติกร เลียวศิริกุล (เป็นผู้กำกับที่ทำหนังกับอาร์เอสฟิล์มมากที่สุดถึง 6 เรื่อง ได้แก่ 18-80 เพื่อนซี้ไม่มีซั้ว, ปาฏิหาริย์ โอมสมหวัง, เดอะเมีย, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม, เมล์นรก หมวยยกล้อ และดรีมทีม ซึ่งจากหน้าฉากที่ดูเป็นหนังตลก แต่ด้วยฝีมือของผู้กำกับเรียวก็เปลี่ยนองก์ที่ 3 ของเรื่องให้กลายเป็นหนังดราม่าเรียกน้ำตาได้เลยทีเดียว หนังคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง พระสุรัสวดี ในสาขาแต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม ที่ดูได้จากการแปลงโฉมอนันต์ บุนนาคให้เป็นคุณปู่วัย 80 หนังก็สมควรจะได้รับรางวัลนี้ไปครอง

เกร็ดเพิ่มเติมก็คือ หลังจากนั้นในปี 2541 โบว์ก็ได้มาประกบทั้งลิฟต์และออยในหนัง ปาฏิหาริย์ โอม สมหวัง โดยเป็นหนังแค่ 3 เรื่องของอาร์เอสที่โบว์แสดงไว้ ส่วนละครนั้น โบว์ก็มาคู่กับลิฟต์ใน ตุ๊ต๊ะต๋อมแต๋ม (2541) และโลกทั้งใบให้นายคนเดียว (2543) และมาคู่กับออยใน ผยอง (2543) ก่อนจะขอไปเรียนต่อและมีผลงานการแสดงจบแค่ปี 2545 ใครที่คิดถึงเธอก็ชมคลิปด้านล่างนี้ได้เลย

  • นักแสดง: ออย-ธนา สุทธิกมล, เอ-อนันต์ บุนนาค, โบว์-ปรารถนา องค์ชัยศักดิ์, ธงชัย ประสงค์สันติ, ผัดไท-นิลุบล อมรวิทวัส
  • ผู้กำกับ: กิตติกร เลียวศิริกุล (Goal Club เกมล้มโต๊ะ, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม, เมล์นรก หมวยยกล้อ)
  • เรื่องย่อ: “โอ๊ต” (ออย-ธนา) เด็กหนุ่มวัย 18 ปี มีพรสวรรค์ทางด้านการเล่นดนตรี เดินทางไปที่เกาะกับปู่วัย 80 ปี โอ๊ดต้องการที่จะทิ้งปู่ไว้ที่เกาะแล้วไปร่วมประกวดวงดนตรีกับพวกเพื่อน ๆ แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เขาออกจากเกาะไม่ได้เพราะมีพายุ แต่เขาก็ไม่ได้เสียใจเพราะ “โบว์” (โบว์-ปรารถนา) คือเหตุผลที่ทำให้เขาอยากที่จะอยู่บนเกาะนี้นาน ๆ ส่วนปู่กลับมาที่เกาะนี้ก็เพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างเมื่อครั้งอดีต และก็ได้รู้ว่าถ้าเขามีความกล้าพอที่จะบอกความรู้สึกที่เขามีต่อผู้หญิงที่เขารักในวันนั้น เขาคงไม่ต้องมาเสียใจกับชีวิตที่เงียบเหงาในวันนี้

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน (2540)

https://www.youtube.com/watch?v=S3C5ww8yZb4

ในปีเดียวกันนั้นเองกับหนังตลก 18-80 เพื่อนซี้ไม่มีซั้ว ก็มีหนังดราม่าเรื่องราวหนัก ๆ ที่หลายคนบอกว่า ทำให้นึกถึงหนังฮ่องกงที่เน้นเรื่องราวความรักท่ามกลางอุปสรรคและมีตัวร้ายเป็นแก๊งอันธพาล หนังเรื่องนี้ยังเป็นหนังเรื่องแรกของ หนุ่ม-ศรราม กับอาร์เอส แม้ว่าจะเป็นพระเอกอันดับต้น ๆ ของค่ายก็ตาม และก็ได้นางเอกอันดับหนึ่งของค่ายเช่นกัน อย่าง นิ้ง-กุลสตรี มาเล่นเป็นเรื่องที่ 2 (และเรื่องสุดท้ายจนค่ายปิดตัวไป) รวมถึงปี 2540 ก็มีหนังของอาร์เอสฟิล์มที่ อนันต์ บุนนาค เล่นทั้งสองเรื่อง

ด้านรางวัลทางการแสดงที่หนังได้รับนั้น นิ้ง-กุลสตรีคว้ารางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ส่วนอนันต์ บุนนาค ก็คว้ารางวัลเดียวกันในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม นอกจากนั้นก็ยังกวาดรางวัลสาขา ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ฝีมือของนักดนตรีชื่อดัง จำรัส เศวตาภรณ์

  • นักแสดง: หนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์, นิ้ง-กุลสตรี ศิริพงศ์ปรีดา, เอ-อนันต์ บุนนาค, ปี๊บ-รวิชญ์ เทิดวงศ์, วิทิต แลต, เสนาหอย-เกียรติศักดิ์ อุดมนาค, มิ้งค์-ปอรรัชม์ ยอดเณร
  • ผู้กำกับ: องค์อาจ สิงห์ลำพอง (แตก 4 รัก โลภ โกรธ เลว, ชู้)
  • เรื่องย่อ: “นัย” (ศรราม เทพพิทักษ์) ชายหนุ่มที่รักและดูแล “หนึ่ง” (อนันต์ บุนนาค) พี่ชายแท้ ๆ ของตนเองที่พิการปัญญาอ่อนเหมือนเด็กอายุ 10 ขวบ เพราะตอนเป็นเด็กหนึ่งได้เข้าไปช่วยนัยที่ติดอยู่ในบ้านที่กำลังไฟไหม้ นัยที่มีอาชีพขายของตามตลาดนัดได้พบกับ “พิม” (กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา) หญิงสาวผู้ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักร้อง ทั้งคู่เริ่มมีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน ระหว่างนั้นฝันของพิมได้กลายเป็นความจริง เมื่อเธอเข้าประกวดร้องเพลง โดยมี “ธนา” (รวิชญ์ เทิดวงศ์) หนุ่มนักธุรกิจคอยผลักดันและคอยกีดกันไม่ให้พิมไปยุ่งกับนัยที่กลายเป็นคนละชนชั้น แต่พิมก็ยังคงรักนัยอยู่ ต่อมา เบิ้ม (วิทิต แลต) ถูกตำรวจจับเพราะหนึ่งเป็นพยาน ทำให้เบิ้มกับพวกตามมาล้างแค้น นัยจึงต้องลุกขึ้นสู้

แตก 4 รัก โลภ โกรธ เลว (2542)

เว้นว่างปี 2541 ที่อาร์เอสฟิล์มไม่มีหนังเข้าฉายเลย และปี 2542 ก็กลับมาในหนังดรามาจริงจัง (ไม่ตลกสนุกสนาน) ทั้ง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องนี้ที่ได้ทั้งเต๋าและหนุ่ม ซึ่งต่างก็เป็นนักแสดงที่ครองสถิติพระเอกที่แสดงหนังของค่ายมากที่สุดร่วมกันถึง 4 เรื่อง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่พวกเขาได้เล่นด้วยกัน รวมถึง 3 นักแสดงนำจาก โลกทั้งใบให้นายคนเดียว ก็กลับมารวมตัวกันหมด และปราโมทย์ แสงศร ซึ่งร่วมแสดงในเรื่องนี้ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับในหนังเรื่องนี้ด้วย ก่อนที่ต่อมาก็ผันตัวไปเอาดีในการเป็นผู้กำกับหนังและคนเบื้องหลังวงการหนังไทย ส่วนองค์อาจ สิงห์ลำพอง ผู้กำกับ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ในเครืออาร์เอส ที่ทำหน้าที่ด้านการผลิตละครโทรทัศน์

  • นักแสดง: เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, หนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์, นุ๊ก-สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ปราโมทย์ แสงศร, ขจรศักดิ์ รัตนนิสัย, ฐิติ พุ่มอ่อน
  • ผู้กำกับ: องค์อาจ สิงห์ลำพอง (ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน, ชู้)
  • เรื่องย่อ: เด็กหนุ่มสาวจากจังหวัดเชียงใหม่ “เดียว” “น้ำ” และ “น้อย” ทั้ง 3 เปิดร้านกาแฟและร้านอาหารที่กรุงเทพมหานคร วันหนึ่ง “อิฐ” เพื่อนสนิทในกลุ่มตอนเด็กก็กลับมา อิฐหลบหนี “บิ๊ก” ซึ่งเคยร่วมแก๊งปล้นรถขนเงินธนาคารมาก่อน บิ๊กตามมาทวงเอาเงินคืนโดยจับน้อยไปเรียกค่าไถ่ ทั้งหมดจึงตามไปด้วยช่วยน้อย บิ๊กโดนยิงตาย แต่น้อยก็ได้รับบาดเจ็บจนเสียสติ ความทรงจำเลอะเลือนไป ส่วนเดียวก็ถูกรถไฟทับขาขาดและถูกจับเข้าคุกหมดอนาคตที่จะเป็นตำรวจตามที่ฝันไว้ ต่อมา อิฐรู้สึกผิด จึงพยายามชดเชยความผิดให้เพื่อน ด้วยการยอมรับใช้นักการเมืองผู้โกงชาติ แลกกับการช่วยเหลือเพื่อนออกจากคุก แต่สุดท้ายพวกเขาทุกคนก็ต้องได้รับผลของการกระทำของอิฐในครั้งนี้อยู่ดี

โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน (2542)

หนังเรื่องแรกของค่ายอาร์เอสฟิล์มที่ไม่ได้นำแสดงในบทนำโดยศิลปินในค่าย แถมยังเป็นศิลปินของค่ายคู่แข่งอย่างแกรมมี่เสียด้วย สำหรับหนุ่ย อำพลแห่งวงไมโคร ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องบอกว่า หนุ่ย อำพลเป็นนักแสดงมากความสามารถที่เล่นหนังกับทุกค่ายแต่เดิมอยู่แล้ว ทั้งกับไฟว์สตาร์และสหมงคลฟิล์ม สะท้อนให้เห็นว่า อาร์เอสจริงจังกับการทำหนังที่ไม่ได้เน้นขายศิลปินของตัวเองมากขึ้น รวมถึงยังได้ อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส นักแสดงจากละครโทรทัศน์มาเล่นหนังเป็นเรื่องแรก (ก่อนจะไปดังสุด ๆ กับ มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544))

อำพล ลำพูน ชนะรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี จากสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ส่วนรางวัลตุ๊กตาเงิน ดาวรุ่งฝ่ายหญิง ตกเป็นของ อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส หนังยังได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ภาพยนตร์ไทยที่เข้าร่วมประกวดในงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิค ครั้งที่ 44 อีกด้วย

  • นักแสดง: อำพล ลำพูน, อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส, ชาย เมืองสิงห์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, ดร.เสรี วงศ์มณฑา, เศรษฐา ศิระฉายา, สุดา ชื่นบาน
  • ผู้กำกับ: ปิติ จตุรภัทร์ (ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน)
  • เรื่องย่อ: นิวัฒน์ (อำพล ลำพูน) ต้องผจญกับเหตุการณ์ไม่ธรรมดา เมื่อมีคนที่หน้าตาเหมือนเขาทุกประการ พยายามฆ่าเขาเพื่อที่จะเข้ามาแทนที่และแย่งชิงทุกอย่างไปจากเขา ทั้งเพื่อน ครอบครัวและคนที่เขารักมากที่สุดคือเมย์ (สิริยากร พุกกะเวส) เขาจึงต่อสู้เพื่อทวงชีวิตซึ่งเขาเคยเป็นคืนมา พร้อมกับสืบหาความลับของชายลึกลับ b-7 (อำพล ลำพูน) ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร รวมถึงหาทางยุติเขาอีกคนให้ได้

มือปืน/โลก/พระ/จัน (2544)

https://www.youtube.com/watch?v=c_dtam3Ertg

ภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาทเรื่องเดียวของอาร์เอสฟิล์ม (124 ล้านบาท) ที่เปลี่ยนชื่อเป็นค่ายอาวองท์ เป็นครั้งแรกภายใต้การบริหารของ “ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล” ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการพลิกแนวแบบสุด ๆ ของอาร์เอสที่หยิบเอาตลกแถวหน้าของเมืองไทย 4 คนในเวลานั้นอย่าง เทพ โพธิ์งาม, หม่ำ จ๊กม๊ก, เท่ง เถิดเทิง และถั่วแระ เชิญยิ้ม มาร่วมทีมนักฆ่าสุดฮา ปะทะกับ เต๋า-สมชาย

ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค (ที่อกหักจากการอดกำกับ O-Negative รักออกแบบไม่ได้ (2541) มาจากค่ายแกรมมี่) ที่ทำหนังออกมาได้ถึงใจ และตัวเขาก็ยังอยู่สร้างผลงานในวงการหนังไทยมาจนถึงทุกวันนี้ หนังยังเป็นต้นทางของหนังซีรีส์มือปืนของต้อม (ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคแรกและไม่ได้สร้างโดยอาร์เอสฟิล์ม) ทั้ง มือปืนดาวพระเสาร์ (2553), หมาแก่ อันตราย (2554), มือปืนพระอาทิตย์ (2555) และ มือปืน/โลก/พระ/จัน 2 (2563) ทั้งหมดนำแสดงโดยตลกแถวหน้าของวงการ

มือปืน/โลก/พระ/จัน ส่งให้ เต๋า-สมชาย เข็มกลัด ชนะรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี จากสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้แสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (สุเทพ โพธิ์งาม), ผู้แสดงบทตลกยอดเยี่ยม (ถั่วแระ เชิญยิ้ม), ผู้กำกับคิวบู๊ยอดเยี่ยม และตุ๊กตาเงิน ดาวรุ่งฝ่ายหญิง (ไพลิน พิจิตรอำพล)

  • นักแสดง: เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, เทพ โพธิ์งาม, หม่ำ จ๊กม๊ก, เท่ง เถิดเทิง, ถั่วแระ เชิญยิ้ม, ไพลิน พิจิตรอำพล, ไอริณ ศรีแกล้ว, สีเทา, กฤตธีรา อินพรวิจิตร
  • ผู้กำกับ: ยุทธเลิศ สิปปภาค (กุมภาพันธ์, สายล่อฟ้า, บุปฝาราตรี, รัก สาม เศร้า)
  • เรื่องย่อ: “เป๋ ปืนควาย” (เทพ โพธิ์งาม) อดีตมือปืนรุ่นใหญ่ถูกปล่อยตัวออกจากคุก พร้อมสังขารที่ชราภาพ งานแรกที่ได้รับการติดต่อให้สังหาร “เถกิง” มือปราบตงฉินฉายาตำรวจเหล็ก เป๋จัดการรวบรวมทีมงานที่เคยคุ้นมือ ซึ่งปัจจุบันล้วนได้ชื่อว่าเป็นมือปืนตกรุ่น ไปแล้ว ทุกคนต่างมีความหวังที่จะกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง ได้แก่ “หมา ลูกบักเขียบ” (หม่ำ จ๊กม๊ก) มือระเบิดลูกอิสานจอมโว, “เอ๋อ เอลวิส” (เท่ง เถิดเทิง) นักฆ่าหมื่นศพ, สิงห์สำอาง “ผี ไรเฟิล” (ถั่วแระ) นักแม่นปืนจิตหลอน ขณะเดียวกัน “คิด ไซเลนเซอร์” (สมชาย เข็มกลัด) มือปืนรุ่นใหม่ค่าตัวสูงลิบและทำงานคนเดียว ก็ได้รับการว่าจ้างให้ลงมือฆ่าตำรวจเหล็กคนนี้ด้วยเช่นกัน สุดท้ายจึงเป็นการปะทะฝีมือระหว่างมือปืนตกรุ่นกับรุ่นใหม่ไฟแรง

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

เก้าพระคุ้มครอง (2544)

https://www.youtube.com/watch?v=Q5ZtR10qXKA

อนัน อันวา เป็นนักร้องเด็กที่โด่งดังตามรอยพี่ชายอย่าง จอนนี่ อันวา Raptor มีเพลงดัง ๆ อย่าง “ตะลึง” และก็ไม่พลาดที่จะมาแสดงในภาพยนตร์ของอาร์เอสฟิล์มด้วย โดยเรื่องนี้ก็เป็นการรวมนักแสดงเด็กและวัยรุ่นที่ค่ายอาร์เอสกำลังปั้นอยู่ในเวลานั้น โดยคนที่ดังที่สุดก็คือ บีม-กวี ตันจรารักษ์ หรือ บีม D2B ที่ต่อมาได้แสดงหนังของอาร์เอสฟิล์มอีก 2 เรื่อง เก้าพระคุ้มครองอาศัยหนังไทยแนวแอ็กชันเมื่อปี 2519 เรื่อง เสาร์ 5 ซึ่งกำกับโดย วินิจ ภักดีวิจิตร เป็นต้นแบบ และควบคุมการผลิตโดย อุดม อุดมโรจน์ อีกหนึ่งผู้กำกับชื่อดังของวงการหนังไทยที่เคยกำกับเรื่อง ปุกปุย (2533) ซึ่งเป็นหนังเด็กน้ำดีมาก่อน

  • นักแสดง: อนัน อันวา, ตะวันไท ไทยสวัสดิ์, กวี ตันจรารักษ์, อิซเบล เลเต้, มาลิต้า ซีลิ่ง, ธวัช ทัศนาพลพินิจ, รุ่งนภา พงศ์ทิพย์สุคนธ์, สกลเดช อัชวรานนท์, ประวัตร ทองมีน
  • ผู้กำกับ:  ธีระธร สิริพันธ์วราภรณ์ (ก็เคยสัญญา, เสือคาบดาบ, เสือภูเขา, ผีเลี้ยวลูกคน)
  • เรื่องย่อ: เด็กต่างจังหวัด 5 คน ผู้มีกิจกรรมหลักหลังเลิกเรียน คือแกล้งหญิงโรคประสาท “ยายผีปอบ” แต่แล้ววันหนึ่ง “จูน” เด็กหญิงคนเดียวในกลุ่มเกิดหกล้มขณะที่รถไฟจะพุ่งเข้าชน ยายผีปอบได้พุ่งตัวเข้ามาช่วยชีวิตเด็กหญิงไว้จนเธอเองต้องถูกรถไฟชนแทน อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เด็กๆ รู้สึกผิดที่ชอบแกล้งยายผีปอบ ซึ่งในระหว่างที่เธอหมดสติอยู่ที่โรงพยาบาล เด็ก ๆ ตั้งใจจะชดเชยด้วยการตามหา “ต๋อง” ลูกชายยายปอบ ที่หายสาบสูญไป พวกเขาออกตามหาต๋องมาถึงกรุงเทพ ในการไปกรุงเทพ เด็ก ๆ จึงต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ติดตัวไปด้วยพระเครื่อง (ปลอม) จึงเป็นสิ่งที่คนเล่นกล หลอกให้เด็ก ๆ เช่าในราคาถูก ซึ่งทำให้พวกเขาฮึกเหิม และมั่นใจในการออกไปผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิต ด้วยความบังเอิญ ณ เมืองหลวงที่แสนจะวุ่นวายแห่งนี้ ได้มีคนอีก 4 คนที่ต้องมาร่วมชะตากรรมเดียวกับพวกเด็ก ๆ ด้วย

ผีสามบาท (2544)

ออกฉายในปลายปี 2544 โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ตอนใหญ่ บทภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นแนวสยองขวัญของ มนัส จรรยงค์ นักเขียนในอดีตผู้ได้รับฉายาราชาเรื่องสั้นของเมืองไทย กำกับการแสดง 2 ตอนแรก “ท่อนแขนนางรำ” และ “น้ำมันพราย” โดย พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม และในตอนสุดท้าย “จองเวร” ได้ผู้กำกับชาวฮ่องกงที่โด่งดังมากในยุคนั้นอย่างอ็อกไซด์ แปง จากคนเห็นผี (2545) และ Bangkok Dangerous (2543) มากำกับ

เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของหนังประเภทแบ่งเป็นหลายตอนในเรื่องใหญ่เรื่องเดียว ที่ภายหลังมีหนังไทยในแนวเดียวกันนี้ตามมาอีกหลายเรื่องเช่น อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (2545), หลอน (2546), สี่แพร่ง (2551), ห้าแพร่ง (2552) และตายโหง (พ.ศ. 2553) หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ไปถึง 90 ล้านบาท และค่ายอาวองท์ก็เคยมีแผนจะทำภาค 2 ตอนปี 2546 ก่อนที่สุดท้ายจะพับโครงการไป

  • นักแสดง: พิมพ์ศิริ พิมพ์ศรี, เบญจพล เชยอรุณ, ปราโมทย์ แสงศร, พีท ทองเจือ, โกวิทย์ วัฒนกุล, ดาหวัน สิงห์วี, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ดวงชีวัน โกมลเสน, กัลยณัฐ สีบุญเรือง
  • ผู้กำกับ: พิสุทธิ์ แพรแสงเอี่ยม (พันธุ์ร็อกหน้าย่น, ไทยถีบ, Super แหบ-แสบ-สะบัด) และอ๊อกไซด์ แปง (คนเห็นผี, ท้าฟ้าลิขิต, Bangkok Dangerous)
  • เรื่องย่อ:
    • ตอน “ท่อนแขนนางรำ” : “โหงด” (ปราโมทย์ แสงศร) ชายหน้าตาอัปลักษณ์คนหนึ่งแอบหลงรัก ผกา (พิมพ์ศิริ พิมพ์ศรี) ซึ่งเป็นนางรำ แต่เมื่อผกามีชายอื่นมาติดพันจนถึงขั้นหมั้นหมาย เขาจึงทำการตัดแขนเธอนำไปซ่อนไว้ในกลองและลอกผิวหนังทำเป็นหนังกลอง หากเรื่องราวไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อวิญญาณของเธอยังวนเวียนผูกพันข้ามมาถึงปัจจุบันพร้อมกับกลองใบนั้น กรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2544 เจี๊ยบ (พิมพ์ศิริ พิมพ์ศรี) หญิงสาวนักค้าและสะสมวัตถุโบราณ ได้รับกลองโบราณ อายุ 70 ปี ใบหนึ่งมาโดยบังเอิญ สิ่งที่ตามมาด้วยคือความฝันอันแปลกประหลาด เจี๊ยบสงสัยว่า สาเหตุของเรื่องแปลก ๆ ทั้งหมดน่าจะมาจากกลอง
    • ตอน “น้ำมันพราย” : “แพน” (ดาหวัน สิงห์วี) หญิงสาววัยเบญจเพส ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและอ้างว้าง ในกรุงเทพฯ แพนกำลังแสวงหาความรักจากผู้ชายที่สามารถพาเธอให้หลุดจากโลกที่น่าเบื่อนี้ แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้พบกับทางลัด เมื่อเพื่อนใหม่คนหนึ่งแนะนำให้เธอใช้น้ำมันพรายโดยพวกหมอผี แพนใช้น้ำมันพรายเพื่อทำเสน่ห์ให้ผู้ชายที่เคยมองผ่านเธอหันกลับมาหลงใหลโดยที่เธอไม่รู้เลยว่า เมื่อเธอเริ่มใช้มันมากขึ้นจนสุดท้ายคนที่จะกลายเป็นเหยื่อ ก็คือตัวเธอเอง
    • ตอน “จองเวร” : “กันยา” (กัลยณัฐ สีบุญเรือง) ผูกคอตายที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง รูปการณ์ดูเหมือนว่าเธอจะฆ่าตัวตาย แต่ “นพ” (พีท ทองเจือ) นายตำรวจหนุ่มอนาคตไกลกลับไม่เชื่อเช่นนั้น เขาเชื่อว่ามันมีเงื่อนงำอะไรอยู่เบื้องหลัง ถึงแม้ผู้บังคับบัญชา (สุเชาว์ พงษ์วิไล) จะไม่ใส่ใจ เขาจึงสืบหาประวัติของเธอและเริ่มได้รู้เรื่องราวชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดของเธอ ในขณะเดียวกันนพก็รู้สึกได้ว่า วิญญาณของกันยายังวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวเพื่อชี้ทางแกะปมปริศนาการตายของเธอ

สังหรณ์ (2546)

https://www.youtube.com/watch?v=Lc03qBbm9VI

จากการอำนวยการสร้างและเขียนบทโดยสองพี่น้องอ็อกไซด์และแดนนี่ แปง ที่ขึ้นชื่อเรื่องของการสร้างหนังผี และได้นักแสดงเป็นนักร้องวงที่กำลังดังที่สุดของประเทศเวลานั้นอย่าง D2B ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ บิ๊ก แดน และบีม ได้แสดงอยู่ในเรื่องเดียวกัน ก่อนที่บิ๊กจะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปีนั้นจนเป็นเจ้าชายนิทราในเวลาต่อมา ในฉากหน้าของหนังดูจะเป็นหนังผี แต่จริง ๆ แล้วเป็นหนังรักที่ขับเคลื่อนด้วยบรรยากาศสยองขวัญชวนขนลุกมากกว่า และก็มีตอนจบที่ขมวดปมปริศนาต่าง ๆ ได้อย่างเข้าท่า ไม่เสียชื่อมือเขียนบทระดับเอเชีย หนังทำรายได้ไป 25 ล้านบาท

  • นักแสดง: บิ๊ก-อภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ, แดน-วรเวช ดานุวงศ์, บีม-กวี ตันจรารักษ์, พิสมัย วิไลศักดิ์, สุภัชญา รื่นเริง
  • ผู้กำกับ: ธรรมรักษ์ กมุทมาโนชญ์ (รักข้ามคาน)
  • เรื่องย่อ: “แดน” “บิ๊ก” บีม” (ใช้ชื่อเหมือนตัวนักแสดงจริง) ทั้ง 3 คนทำงานอยู่ฝ่ายศิลปกรรมของนิตยสารฉบับหนึ่ง แดนถูกภาพหลอนจากบางสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เขาขับรถชนต้นไม้จนยับไปทั้งคัน เมื่อลืมตาขึ้นก็มองเห็นยายเฒ่าท่าทางประหลาดยืนอยู่ตรงหน้า ส่วนบิ๊กก็รู้สึกได้ถึงความผิดปกติ เมื่อเขาขับรถมาติดไฟแดง ที่สี่แยกแห่งหนึ่ง เด็กหนุ่มขายพวงมาลัยก็โผล่พรวดขึ้นมาข้างกระจก ในขณะเดียวกัน “อ้อม” (สุภัชญา รื่นเริง) หญิงสาวที่ประวัติไม่เปิดเผย ก็พาตัวเองเข้ามาผูกพันกับบีมอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วจนผิดสังเกต ลางสังหรณ์บางอย่างเกิดขึ้นและบ่งบอกอย่างเด่นชัดว่า 1 ใน 3 จะถึงฆาต แล้วพวกเขาจะรอดจากเจ้ากรรมนายเวรที่ตามทวงชีวิตในครั้งนี้หรือไม่

Sex Phone คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน (2546)

Sexphone คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน เป็นผลงานภาพยนตร์ลำดับที่สองของเหมันต์ เชตมี ต่อจากเรื่อง ปอบ หวีด สยอง (2544) โดยได้ บีม D2B และพอลล่า เทเลอร์ เข้าฉายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2546 และได้รับการตอบรับอย่างดีจนเกิดกระแสปากต่อปาก แต่เนื่องจากโรงภาพยนตร์ไม่มีรอบฉายที่มากพอให้กับเรื่องนี้ จึงทำให้หนังทำรายได้ตลอดการเข้าฉายไปเพียง 26 ล้านบาท ถึงอย่างนั้นหนังก็ยังถูกพูดถึงในภายหลังตอนออกขายเป็นแผ่นดีวีดีและออกฉายโทรทัศน์ฟรีทีวีว่าเป็นหนังที่น่ารักที่สุดเรื่องหนึ่งของวงการหนังไทย ผู้กำกับเหมันต์ เชตมี ก็เอาดีกับการทำหนังรักต่อมาอีกหลายเรื่อง ทั้ง รักจัง (2549), รักนะ 24 ชั่วโมง (2550) และ ม.3 ปี 4 เรารักนาย (2552)

หนังเรื่องนี้ยังเป็นการฝากผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของนักแสดงอาวุโสสมชาย สามิภักดิ์ในบทคุณปู่ เขาเป็นสามีของนักแสดงอาวุโสจุรี โอศิริ (แม่ของนักแสดงตู่-นพพล โกมารชุน) ซึ่งผลงานเรื่องสุดท้ายของป้าจุ๊ ก็คือ ม.3 ปี 4 เรารักนาย หนังของผู้กำกับเหมันต์ เชตมีที่กำกับ Sexphone นี้เอง

  • นักแสดง: กวี ตันจรารักษ์(บีม D2B), พอลล่า เทเลอร์, อนันต์ บุนนาค, เชษฐวุฒิ วัชรคุณ, สมชาย สามิภักดิ์, ปัญญาพล เดชสงค์, โอฬาริก จารุวัฒน์
  • ผู้กำกับ: เหมันต์ เชตมี (ปอบ หวีด สยอง, พันธุ์เอ็กซ์ เด็กสุดขั้ว, รักจัง, ม.3 ปี 4 เรารักนาย)
  • เรื่องย่อ: “ดื้อ” (กวี ตันจรารักษ์) ดีเจหนุ่มรักสงบที่อาศัยอยู่กับคุณปู่ (สมชาย สามิภักดิ์) ข้างบ้านของเขาคือ “เจ” (พอลล่า เทเลอร์) หญิงสาวลูกครึ่งที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ทั้งสองคนคือเพื่อนบ้านที่ไม่ลงรอยกันมาตลอด แต่เมื่อ “เอ็มม่า” (โอฬาริก จารุวัฒน์) เพื่อนสนิทของเจ ได้ฝากเบอร์โทรศัพท์ของบ้านเจ เอาไว้ให้กับสถานีวิทยุที่ชื่อ “คลื่นเหงา” ของดีเจแมน (อนันต์ บุนนาค) ที่ดื้อทำงานเป็นผู้ช่วยสถานีวิทยุอยู่ วันหนึ่ง ดื้อต้องจัดรายการวิทยุจำเป็น เขาได้ต่อโทรศัพท์เข้าบ้านของเจแล้วเกิดการเข้าใจผิดกัน ทำให้เจคิดว่าคนที่เธอคุยอยู่นั้น คือ “เซ็กส์โฟน” แต่หลังจากคืนนั้น ทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนคุยที่รู้ใจกันผ่านรายการวิทยุ โดยหารู้ไม่ว่าคนที่ทั้งสองคุยกันนั้นก็คือเพื่อนบ้านตัวแสบที่ไม่ลงรอยกันนั้นเอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส