กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ น้อย วงพรู คือหนึ่งในศิลปินแนวหน้าของเมืองไทยที่มีผลงานอันโดดเด่นทั้งในด้านการเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง จากในฐานะวงพรู และศิลปินเดี่ยว รวมไปถึงการเป็นนักแสดงคุณภาพที่ฝากฝีมือไว้ในผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องอาทิ หัวใจทรนง (2547) ทวารยังหวานอยู่ (2547) และ 13 เกมสยอง (2549) ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี 2549 นอกจากนี้น้อยยังมีบทบาทของการเป็นผู้บริหารกิจการโรงแรม เดอะ สยาม โรงแรมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นกิจการที่ทำร่วมกับครอบครัวอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นน้อยกลับรู้สึกว่าตนเองไม่มีอะไรให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้อื่นได้ เพราะตนเองเชื่อว่าชีวิตที่แท้นั้นคือชีวิตที่ต้องสู้ ต้องล้มลุกคลุกคลานและฟันฝ่าในมรสุมปัญหาของชีวิต
“ผมรู้สึกว่า ผมเกิดมาโชคดี ผมรู้สึกว่า inspiration มันเริ่มจากคนที่ไม่ไหวจริง ๆ แล้วสามารถลุกได้ เจอแสงสว่าง ผมรู้ว่า ผมโชคดี ผมรู้ว่าผมไม่ได้ลำบากเหมือนคนตามท้องถนน มีคนที่ลำบากกว่าเราเยอะ นั่นคือ the real world ผมว่านั่นแหละคือ inspiration ที่ช่วยคนอื่นได้”
แต่ชีวิตของคนเรามักมีบทเรียนแตกต่างกันไปและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบ character ของคนไหนแล้วได้แรงบันดาลใจจากจุดไหนบ้าง บางทีเราอาจได้รับบทเรียนบางอย่างจากการที่น้อยบอกว่าเป็นคนโชคดีก็เป็นได้
และต่อไปนี้คือเรื่องราวของชายผู้เริ่มต้นชีวิตด้วยความโชคดี แต่กลายเป็น Nobody จนอายุสามสิบปี สู่การเป็นศิลปินที่แสวงหาการได้รับความยอมรับของหนึ่งในศิลปินที่ได้ชื่อว่ามีบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยท่วงทำนองแห่งความเศร้าและลีลาการแสดงบนเวทีที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานที่มากล้น
“น้อย พรู”
[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP.35 น้อย พรู | NOI PRU part 1]น้อยเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นนักธุรกิจครึ่งนึง ศิลปินครึ่งนึง แม้แต่คุณแม่ (กมลา สุโกศล) ก็เป็นทั้งนักธุรกิจและนักร้องด้วยบรรยากาศของการเติบโตมาในครอบครัวแบบนี้มันเป็นยังไง
มันมี freedom ที่ค่อนข้างเยอะเหมือนกันนะฮะ แต่ก็อย่าลืมว่าผมมีคุณพ่อเป็นคนอเมริกัน และคุณพ่อผมก็ไม่ได้เป็นคนมีฐานะเหมือนคุณแม่ เค้าเติบโตมาบนฟาร์ม แล้วเค้าก็ค่อนข้างมีอิทธิพลเยอะในการสอนให้เรา เรียนรู้ ไม่สปอยล์ลูก ลูกจะทำอะไรต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อพิสูจน์ตัวเอง และเรื่องความผิดความถูกเป็นเรื่องสำคัญ ไปโบสถ์กันทุกอาทิตย์ (ตอนนี้น้อยไม่ได้เป็นคริสต์แต่ก็นับถือทุกศาสนา) ทำอะไรต้องมี discipline (ระเบียบวินัย) เล่นกีฬาก็ต้องไปเล่นกับผู้ใหญ่คนโตกว่า จะได้พัฒนาตัวเอง ต้องเก่งขึ้น
หลังจากนั้น พอคุณพ่อคุณแม่เลิกกันตอนอายุได้ 10 ขวบ คุณแม่ก็ให้อิสระ ไว้ใจและปล่อยให้ตัดสินใจเองมากกว่า ก็เลยมีชีวิตอิสระที่ได้ไปเที่ยวตั้งแต่อายุ 15-16 แต่ก็ไม่ได้สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า
ตอนเด็ก ๆ ยังไม่ค่อยไปด้านศิลปินเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะได้อิทธิพลจากพี่ชาย คือ สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์ มือกีตาร์วงพรู และหนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงเบเกอรี่มิวสิก และเลิฟอีส) ซึ่งรู้ตัวว่าอยากเป็นร็อกเกอร์ตั้งแต่ 10 ขวบ เลยชวนน้อยมาร้องด้วยกัน วงมีสมาชิก 5 คนเลยตั้งชื่อวงว่า ‘เพนทากอน’ คิดแบบเด็ก ๆ แล้วก็ร้องกันในโรงเรียน เล่นเพลงร็อกเช่นวง Queen , Led Zeppelin, Pink Floyd เพลงที่ร้องบ่อยก็จะเป็น Hotel California ของ The Eagles น้อยก็เล่นเบสด้วย และ เพลง “We Will Rock You” ของวง Queen
The Beginning จุดเริ่มต้น
การที่คุณพ่อคุณแม่แยกทางกันในวัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร
ในตอนนั้นมันไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่นัก เพราะยังเด็กเกินไป แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความรู้สึกทุเรศในตัวเอง ทั้งทุเรศทั้งเสียดายที่พอพ่อไม่อยู่แล้วตอนนั้นรู้สึกดีใจที่ไม่ต้องไปโบสถ์แล้ว และก็รู้สึกเสียดายที่ถ้าพ่ออยู่ด้วยนานกว่านี้ผมอาจจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ พ่อคงจะสอนให้มีพลัง มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ สู้ได้มากกว่านี้ มันมีบางอย่างที่ผมไม่ไหวแล้วว่ะก็มี พ่อน่าจะสอนให้ผมไม่ยอมแพ้ได้มากกว่านี้
คุณแม่เป็นคนมีฐานะแล้วจะไปแต่งงานกับผู้ชายอเมริกันที่เกิดในฟาร์ม ตอนนั้นคุณตาเลยโกรธและไม่เห็นด้วยที่ทั้งสองคนจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน น้อยมองชีวิตคุณพ่อคุณแม่เหมือนเรื่องราวของ Romeo กับ Juliet ตอนที่คุณแม่ไปเรียนเมืองนอกและร้องเพลง ตอนนั้นคุณพ่อเป็นนักร้องแบ็กอัป จากนั้นพ่อกับแม่ก็ตกหลุมรักกัน พอคุณตารู้จึงโวยวายเพราะหวังว่าแม่จะแต่งงานกับคนมีฐานะ จากนั้นคุณพ่อก็ไปเป็นทหารที่ญี่ปุ่น ส่วนคุณแม่อยู่เมืองไทย คุณแม่เลยตัดสินใจบอกคุณตาว่าจะแต่งงานกับคุณพ่อ คุณตาจึงเขียนจดหมายไปบอกคุณพ่อห้ามมาเหยียบเมืองไทยเด็ดขาด พอช่วง break จากฐานทัพที่โอกินาว่า คุณพ่อบอกผู้บังคับบัญชาและเพื่อน ๆ ว่าตั้งใจจะมาเมืองไทยเพื่อไปแต่งงานแต่โดนพ่อตาขู่ไว้ เพื่อน ๆ เลยบอกว่าต้องไฟต์เพราะนี่เป็นการขู่ ‘american military’ เลยนะ เลยพยายามหาวิธีเพื่อให้คุณพ่อได้มาขอคุณแม่แต่งงานในที่สุด จนคุณตาได้พบกับคุณพ่อและได้เห็นว่าเป็นคนดีจึงให้การยอมรับในที่สุด
การที่คุณพ่อคุณแม่หนีไปแต่งงานด้วยกัน มันสวยงาม เป็นความรักที่กล้า กล้าที่จะรักและกล้าที่จะไขว่คว้าความรักนั้นไว้ เป็นความกล้าที่เกิดขึ้นมาเพราะความรัก ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว แต่ด้วยความรักที่มีก็ทำให้อยู่ร่วมกันมากว่า 20 ปี น้อยมองว่าความซ่าและกล้าของคุณพ่อคุณแม่คือเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีน้อยในวันนี้อย่างแน่นอน
น้อยเป็นลูกคนสุดท้อง จากพี่น้องทั้งหมด 4 คน สำหรับน้อยแล้วมันเป็นข้อดี เพราะมีอะไรแม่ก็โอ๋มากหน่อย เวลาพี่ ๆ ต้องการอะไรก็ส่งน้อยไปขอคุณแม่ กับพี่น้องก็มีเรื่องชกกันบ่อย กับสุกี้นี่ชกกันบ่อยมาก กับพี่สาวก็มี แม่ก็ปล่อยให้เรียนรู้กันเอง ตอนนั้นผมซ่า สุกี้ก็ตั้งใจทำโมเดลเรือเป็นเดือน อยู่ดี ๆ ผมอยากแกล้งพี่ชาย พี่ชายชอบสั่งผมก็เดินไปเตะเลย ผมซนพูดเยอะ ผมมาเงียบทีหลัง หลังจากนั้นผมนั่งกินไอติมแล้วสุกี้ก็มาต่อยผมปลิวไปเลย ก็สมควรแล้วครับ ก็เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ตอนเด็กน้อยชอบเล่นกีฬามาก ตอนนั้นไป ISB (International School Bangkok (ISB) โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ) เด็กอเมริกันเยอะ ผมเล่นเทนนิส แล้วก็ฟุตบอล แล้วก็เบสบอล ที่ ISB เค้าโหวตให้ผมเป็นนักกีฬายอดเยี่ยมของโรงเรียน
ตอนเด็กมีความฝันเป็นพิเศษมั้ย
ก็เน้นกีฬาเล่นกับเพื่อนเหมือนเด็กทั่วไปฮะ พออายุ 12 ผมก็เริ่มเปลี่ยน เริ่มมาเงียบ อาจเป็นความเป็นศิลปินเริ่มมา ผมเริ่มดูหนัง ดู somewhere in time อินกับหนังรักเรื่องนี้มาก แล้วเพลงก็เพราะมาก แล้วผมก็นั่งฟังใน walkman ทุกวัน แล้วก็เริ่มมาเงียบตอนนั้น อยากหาคนที่รักที่ใช่เหมือนในหนัง เริ่ม dreamer คิดฝัน ผมจะไม่มีเซ็กส์กับใครจนกว่าผมเจอคนที่ผมรัก มัน influence ผมมากเลย แค่ตอนเกรด 3 ผม 8 ขวบ ผมก็นึกว่าผมเป็นแฟนกับสาวชาวสวีเดนคนนึง แล้วเค้าก็เลิกกับผม ผมก็ร้องไห้ใหญ่เลย แล้วมันก็เป็นสาเหตุที่ผมชอบแต่เพลงช้า ผมไม่ชอบเขียนเพลงเร็วสักเท่าไหร่ สมัยพรูทำเพลงเร็วเพราะวงอยากให้ร็อกหน่อย แต่ถ้าผมทำเองส่วนใหญ่เป็นเพลงช้า เพลงกลาง ๆ หมดเลย
In Search of Identity เวลาแห่งการสร้างตัวตน
ผมไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เพื่อนก็ดื่มก็สูบ มีเซ็กส์ แต่ผมจะคิดเสมอว่า “I’m not doing that” ผมก็ภูมิใจในจุดนั้นนะครับเด็กทุกคนก็อยากมี identity ของตัวเอง เป็น unique ของตัวเอง แค่เป็นนักกีฬาอาจไม่พอ ผมอยากฉีกออกไป พอจบมัธยม คุณแม่อยากให้ไปเรียนธุรกิจโรงแรม ไปเรียนแต่ก็ลาออก ปีนึงก็ออก มันไม่ใช่เรา ไม่สนุกกับมัน สมัยนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรที่เรารัก ตอนนั้นไปเรียนที่บอสตัน เริ่มชอบสะสมของเก่า มีโอกาสได้ท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ เลยตัดสินใจเรียน Anthropology (มานุษยวิทยา) แล้วต้องเขียนธีสิส เลยเขียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของโสเภณีในประเทศไทย แล้วผมเป็นคนชอบปลดปล่อยอารมณ์บางทีมันเวอร์ไปด้วย เลยตัดสินใจว่าเป็นนักกีฬาไม่ได้แล้ว เพราะมันเก่งไม่พอ เลยตัดสินใจว่ามีเวทีไหนที่สามารถปลดปล่อยอารมณ์ได้ ก็เลยดูเรื่องการแสดงบนเวที Theater ซึ่งมันก็คล้าย ๆ กับการเป็นนักร้อง นักแสดง โชคดีที่มีคนจ่ายเงินให้เราแสดงออกได้ เลยตัดสินใจเรียนโทด้านนี้
ทำไมตัดสินใจทำธีสิสเกี่ยวกับโสเภณีไทย
ผมเที่ยวพัฒพงศ์กับเพื่อน ๆ สมัยเด็ก ๆ ไม่ได้เที่ยวผู้หญิง แต่เห็นอยู่บ่อย ๆ มันเป็นการทำมาหากิน ที่บ้านเราค่อนข้างดัง หลายคนมาไทยเพราะธุรกิจนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของ culture เราด้วยซ้ำ ที่ไม่มีใครอยากพูด มันเลยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ พอทำความรู้จักคนที่ทำงานแบบนี้ เค้าอาจดูเซ็กซี่เวลาคุยกับลูกค้า คุยกับฝรั่ง แต่เวลานอกงานเค้าเป็นคนละคนกันเลยใส่เสื้อยืดสวมกางเกงยีนส์ เค้าเดือดร้อนเลยต้องทำมาหากินส่งเงินให้ครอบครัว เค้าเป็นส่วนนึงที่ดึงนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยได้ ผมก็อยากให้มัน legal แบบฮอลแลนด์ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ตอนไปเรียนที่บอสตันเป็นอย่างไรบ้าง
ผมไม่แฮปปี้เลยครับ อยากรีบออก มันไม่ได้อบอุ่นเหมือนอยู่ ISB กับเพื่อน ๆ ไม่สามารถเข้ากับคนอเมริกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ connect เลยคิดว่ามีสเตทไหนที่อินเตอร์ที่สุดคือ นิวยอร์ก เลยตัดสินใจไปที่นั่น มันมีคนจากทั่วโลก อินเตอร์กว่า อยากไปบรอดเวย์ เลยอยากให้ชีวิตอย่างนั้น
ตอนอยู่ที่นั่นน้อยทำงานบ๋อย ตระเวนออดิชั่นตามเวทีละคร ?
ใช่ครับ เราก็ใช้ชีวิตแบบคนที่อยากเป็นนักแสดง กลางวันก็ออดิชั่นไปเทสต์ และก็หางานที่ลาออกเมื่อไหร่ก็ได้เวลาที่ได้งานแสดง เลยทำงานบ๋อย และ furniture mover
ชีวิตจริงเหมือนในหนังอย่างใน La La Land ไหม
เหมือนในหนังครับ ใช่เลย เค้าก็ให้บทมา เราก็ต้องรีบท่องบทเข้าไปในห้องแล้วก็แสดง บางทีเค้ามองเราก็รู้แล้วว่าลุคไม่ใช่ ไม่เอา เค้าไม่อยากเสียเวลา ถึงแม้แต่เรานั่งท่องตั้งนานลุ้นตั้งนาน น้อยสุดคือพอเข้าไปเค้าเห็นหน้าเราเค้าก็ I’m so sorry แล้ว เพราะลุคมันไม่ใช่แบบที่คิด แต่เราก็เข้าใจ บางครั้งก็เจอคนแสดงโคตรเก่งก่อนหน้าเรา หลังจากนั้นขั้นตอนมันก็เยอะมาก มันต้องไม่มีอีโก้ให้ได้ มันเป็นงาน เราต้องพร้อมที่จะออดิชันใหม่เสมอ บางครั้งก็ได้บทเล่นละคร พออาทิตย์นึงปิดก็ต้องเริ่มใหม่ ตอนเรียนเค้าก็บอกแล้วว่าต้องรักสิ่งที่ทำ เพราะมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ที่จะทำมาหากินในอาชีพการแสดงได้ นักแสดง Hollywood แบบดัง ๆ นี่มันน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์อีก ในวงการนี้ แม้คุณจะเก่งที่สุด ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะประสบความสำเร็จที่สุดคุณต้องรักมันมากจริง ๆ 4 ปีออดิชันไปกว่า 40 กว่าเรื่องได้เล่นเพียงเรื่องเดียว ก็มีท้อบ้าง แต่มีคนบอกว่า คุณสามารถกลับไปแสดงที่เมืองไทยได้นะ คุณมีความเป็นเอเชียอยู่ “you มี option นะ” ใช่ว่ะ แล้วเมืองไทยนี่ยอมรับลูกครึ่งด้วย เลยกลายเป็นแต้มต่อ รู้สึกว่าเราโชคดีว่ะ
สิ่งที่เรียนรู้มากที่สุดในอเมริกาและชีวิตหลังกลับมาจากที่นั่น
ถ้าคุณอยากเป็นนักร้อง นักแสดง อยากเป็นระดับโลก คุณต้องมีวินัยอย่างสูง ผมเองก็ยังไม่มีพอด้วยซ้ำ ที่นู่นมันอีกระดับนึงจริง ๆ แต่คนไทยเรา culture เราสบาย ๆ ถ้าไปอยู่ที่นั่นต้องเปลี่ยนความคิดอย่างสูง ต้องมี discipline ต้องพร้อมที่จะลุย เลยตัดสินใจกลับมาเมืองไทย ช่วงที่สุกี้ตัดสินใจทำ เบเกอรี่ มิวสิก กับ บอย (โกสิยพงษ์) และ สมเกียรติ (อริยะชัยพาณิชย์) เมืองไทยไม่เหมือนเมืองนอก เป็นนักร้องก็เป็นนักแสดงได้ เมืองนอกมันน้อยคนที่จะทำได้ น้อยร้องได้ในระดับนึง และแสดงได้ เห็นโอกาสเลยตัดสินใจกลับมา ตอนนั้นก็ดูแล เบเกอรี่ อินเตอร์ เขียนไบโอของศิลปิน ให้โปรดิวเซอร์เมืองนอกมารีมิกซ์ซิงเกิลของศิลปินในค่าย
ช่วงพีคของการเป็นศิลปินมันคือช่วงอายุ 20 แต่น้อยก็ใช้ชีวิตในอเมริกาช่วง 20-25 พอกลับมาไทย ทำเบเกอรี่ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จใช้เวลาไปอีก 5 ปี 25-30 เริ่มรู้สึกว่ามันเลยช่วงสุกงอมไปแล้ว รู้สึกอิจฉา โจอี้ โมเดิร์นด็อกที่ได้เป็นศิลปิน แล้วรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะถึงตาเราบ้าง รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ แฟน คนที่ใช่ก็หาไม่ได้ ไปเซ็นกับค่ายอื่นก็ไม่ได้ 20-30 เป็นช่วงที่ไม่มีความสุขเท่าไหร่ ยังไม่ประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่าง
ผมอยาก connect กับคนไทย ผมมีปมด้อยอยู่ คือผมก็ไม่ได้อยากไปทำตัวไฮโซ มันมีความรู้สึกว่า คนจะจับจ้อง หมั่นไส้เรา ยิ่งเรายังไม่สำเร็จอะไรเลยยิ่งกดดัน ผมอยาก connect กับคนไทยตามท้องถนนให้ได้ วิธีที่จะ connect ต้องผ่านการเป็นนักร้อง นักแสดง มันสามารถทำให้จับมือกับพี่วิน มอเตอร์ไซค์ได้ มันคือความสวยงามของ showbiz
พอรู้สึกอย่างนั้นผมก็ยังมุ่งมั่น รู้ว่าจะมีวงร็อกกับสุกี้ ถ้าสุกี้ไม่ทำก็จะไปหาค่ายอื่น แต่ไม่อยากทรยศพี่ชาย เราอยากได้รับการยอมรับ สุดท้ายสุกี้ recover จากต้มยำกุ้งได้ และก็พร้อมที่จะทำวงแล้ว สุกี้เค้าก็อยากเป็นร็อกสตาร์ตอนนั้น บอย สมเกียรติ ก็มีอัลบั้มแล้ว แต่สุกี้เค้าต้องรับผิดชอบบริษัท ดูแลศิลปินก่อน
อะไรถึงทำให้อยากได้รับการยอมรับ
ทุกคนก็อยากเป็น somebody ผมก็ดูว่าชีวิตนึงเรามีพรสวรรค์ตรงจุดไหน เราก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แต่มันก็เป็นการยอมรับจากประชาชนด้วยอ่ะครับ ผมอยู่อเมริกันก็เข้ากับเค้าไม่ได้ มาไทยคนก็ดูว่าเราฝรั่ง ๆ หน่อย ผมอยากจะ connect กับคนไทย เมื่อก่อนผมก็จะ “I’m not a hiso man!” เพราะผมรู้ว่าการเป็นคนมีฐานะ มันมากับเรา มันไม่ต้องพิสูจน์ตัวเอง มันเกิดมาก็เป็นแบบนี้ได้แล้ว แต่ว่าผมอยากทำอะไรที่ต้องพิสูจน์ตัวเองจริง ๆ แล้วได้รับการยอมรับ และผมเชื่อว่าการเป็นนักร้อง นักแสดงนี่มันเป็นวงการที่แฟร์มาก ถ้าจะอยู่ได้ คุณต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่ว่าจนหรือรวย เวลามาร้องเพลงแสดง มันขึ้นอยู่กับฝีมือจริง ๆ นี่มันคือความสวยงามของ showbiz ถึงพรูอาจได้ออกอัลบั้ม เพราะวงเป็นเจ้าของค่าย แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้เพลงของพรูดังได้
The Acceptance ณ จุดที่ถูกยอมรับ
อะไรทำให้รู้สึกว่ามันได้เวลาแล้ว
พอทุกคน recover จากต้มยำกุ้ง ทุกคนก็ลงตัว สุกี้อาจเห็นใจน้อยก็ได้ ทุกคนก็มานั่งคุยกัน วงร็อกก็ต้องเขียนเพลงกันเอง ก็เลยคิดว่าสุกี้เขียนได้ในระดับนึง น้อยก็ไม่เคยทำเพลงมาก่อน เขียนอะไรมาก่อน แต่ผมว่าผมก็ทำได้นะ แล้วก็ชวน คณินเพื่อนเรียน ISB ตอนเด็กเป็นคนหล่อสาวชอบเลยชวนมาตีกลอง ส่วนยอดเถามือเบสก็เป็นคนที่เราออดิชันเข้ามา
จากนั้นน้อยเลยลองเขียนเพลง สุกี้ก็เขียนเมโลดี้เหมือนกันแต่ไม่เท่าน้อย น้อยก็เลยเริ่มเป็นคนทำเพลง เป็น performer เริ่มต้นใหม่ค้นหาตัวเองใหม่ ในการเป็น performer เป็นคนทำเพลง ส่วนมากเมโลดี้มาก่อน โดยน้อย ฮัม ๆ มา แล้วสุกี้ก็หาคอร์ดทำนองมาลง
ตอนเขียนเพลง เรานึกภาพว่าพรูคืออะไร เล่าเรื่องอะไรอยู่
ทุกอย่างมันเป็นนิทานหมด แล้วผมก็ได้อิทธิพลเยอะจาก film score พรูมีความเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ บางเพลงก็ยาว ในการเขียนเพลงสำหรับน้อย น้อยมองตัวเองเป็นคนสกอร์หนัง เห็นภาพนิทานในเพลงนี้แล้ว มีภาพในจอ ก็จะรู้ว่าเพลงมันควรมาทางไหน ให้เข้ากับตัวละครในเพลง น้อยมักเล่าเรื่องราวชีวิตคนอื่น ไม่เคยเล่าเรื่องตัวเอง อารมณ์เลยไปทางนั้น แล้วสุกี้ก็มี taste ในทางนี้เหมือนกัน
บางทีเราจะเน้นอารมณ์เพลงมากกว่าเนื้อหา ในไทยเนื้อเพลงสำคัญ เมืองนอกอารมณ์ทำนองสำคัญกว่า แต่อาจไม่ใช่สำหรับทุกคน ผมเขียนเนื้อไทยไม่ได้ ก็ให้บอย โกสิยพงษ์มาเขียนให้ เคยขอให้คนอื่นมาช่วยแล้วมันไม่ได้ เคยมีที่เป็นคนดัง ๆ ด้วยต้องมอบดอกไม้แล้วขอโทษจริง ๆ ว่ามันไม่ใช่ และก็เคยมี เล็ก Greasy Cafe เคยเขียนให้ในอัลบั้มเดี่ยวของน้อย มันสุดยอดมาก แต่เวลาร้องมันต้องมาจากเค้าจริง ๆ มันถึงจะใช่ เพลง ‘ทุกสิ่ง’ โป้ โยคีเพลย์บอยก็เป็นคนเขียน หลายคนคิดว่าเป็นน้อย แต่ส่วนใหญ่คนแต่งจะเป็น บอย โกสิยพงษ์ เวลาเขียนเพลงบางทีน้อยก็เขียนเนื้อเป็นภาษาอังกฤษ บางทีก็เล่าให้เค้าฟังไปเลย บอกเค้าว่าไม่ต้องแปลทุกคำ แค่สื่ออารมณ์ได้ก็พอแล้ว
ตอนที่อัลบั้มเสร็จ วางแผง ตอนนั้นรู้สึกยังไง
ทุกคนก็ลุ้นอยู่แล้ว เราเป็นมนุษย์ เราก็อยากได้รับการยอมรับ มั่นใจว่าจะมีเพลงฮิตนะ เราจะไม่ปล่อยสิ่งที่เราไม่มั่นใจว่าจะเป็นเพลงที่ดี เรามั่นใจว่าทุกเพลงที่ปล่อยออกไปคือเพลงที่ดี
ชุดแรกของพรูกระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ดังหลายเพลง ประสบความสำเร็จ ได้ไปทัวร์เล่นตามที่ต่าง ๆ บางวัน วันเดียวหลายมหาลัย คนก็บอกกันปากต่อปาก พูดถึงวงพรู เหมือนที่พ่อสอน “keep doing it” สุดท้ายในที่สุดแล้วมันก็อยู่ที่เพลง ไม่ว่าเราจะเป็นมาจากไหนก็ตาม
Gift From Fear ของขวัญ…จากความกลัว
ลีลาของน้อยบนเวที จากนักร้องกลายเป็นนักบัลเลต์ หลายคนเรียกท่านกกระเรียน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มีคนแซวผมเยอะ เด็กไฮโซมาเต้นบัลเลต์ร้องเพลงอัลเทอร์ มันเริ่มต้นจากพื้นฐานกีฬา การกลัวการอายตื่นเวที หลายครั้งพูดไม่รู้เรื่องเวลาไปรับรางวัล ใจสั่นมีปัญหามาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เด็กเวลาไปพูดหน้าห้อง public speaking ถึงแม้ผมจะรู้ว่าผมมีพรสวรรค์ด้านการแสดง แต่ผมก็กลัวมาก เทคนิคผมคือ i have to be someone else ผมต้องกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ไม่งั้นผมเขว ร้องเริ่มไม่อิน เสียเซลฟ์ ทุกคนมีกีตาร์เหมือนมีหมอนมันอุ่นใจ ทุกคนเริ่มหาเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ผมไม่รู้จะทำอะไร ผมมองว่าร่างกายผมเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง แล้วผมก็จะ move ไปกับท่วงทำนอง เคลื่อนไหวไปกับกลองของคณิน เปียโนของสุกี้ ผมเลยพยายามหยิบทุกอย่างมาเป็นสไตล์ของตัวเอง ผมเลยต้องเอาวิธีของหลาย ๆ คนที่แตกต่างกันมาทำในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง หาสิ่งที่ unique และ comfortable พื้นฐานเราเป็นนักกีฬา มีความคล่องตัว เลยเป็นนักเต้น
แต่ในสายตาผู้ชม กลับรู้สึกว่าน้อยคือคนที่มั่นใจในตัวเองสูง มีความกล้าบ้าบิ่น ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น แต่เหตุผลที่แท้กลับกลายเป็นการทำเพื่อเอาชนะความกลัว กลบเกลื่อนความไม่มั่นใจ
การเต้นมันเป็น shell ของผม มันเป็นการแสดง เป็นการสวมบทบาท ก็เป็น alter ego เป็นคาแรกเตอร์ที่สร้างขึ้นเวลาอยู่บนเวที แต่มันก็เป็นน้อย เวลาร้องไห้มันก็ร้องจริง จากความรู้สึกของน้อย มันเป็นการ release ของน้อย ปล่อยมันออกมาในเพลง มันผสมผสาน เอาความเก็บกดข้างในมาปลดปล่อยอารมณ์ ปัญหาในจิตใจ ผมถือว่ามันเป็นโชค งานนักร้องสามารถตะโกน ร้องไห้ ปลดปล่อย แล้วก็มีคนดู คนเชียร์ แถมมีรายได้ด้วย (หัวเราะ)
ผมรู้สึกว่ามันเป็นวงการสำหรับเด็กจริง ๆ คุณไม่ต้องรับผิดชอบอะไร นั่งรถตู้ ไปร้อง 10 เพลง ก็ลงเวที คุณแค่รับผิดชอบในโชว์นั้น ไม่เหมือนการรับผิดชอบพนักงานหรือบริษัท มันเป็นงานที่แบบ … ไม่รู้ว่ามันชีวิตจริงมั้ย real world มั้ย
ตอนที่ดังมากกับพรู ก็ดังในหมู่นักศึกษา ในหมู่คนฟังเพลง แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ขึ้นหน้าหนึ่ง กลับเป็นเหตุการณ์ น้อย เสก ที่นิวยอร์ก…
To Be Continued…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส