หากให้พูดถึงชื่อศิลปินหญิงเดี่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน เชื่อได้ว่าจะต้องมีชื่อของ “อิ้งค์ วรันธร เปานิล” อยู่ในนั้นด้วยอย่างแน่นอน หลายคนอาจรู้จักเธอจากบทบาทของการเป็นศิลปินเดี่ยวในนาม “อิ้งค์ วรันธร” เจ้าของบทเพลงสดใสไพเราะหรือช้าเศร้าซึ้งอย่าง ‘เหงา เหงา’ ‘เกี่ยวกันไหม’ ‘ดีใจด้วยนะ’ หรือว่าซิงเกิลล่าสุดอย่าง ‘ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม’ บ้างก็รู้จักเธอจากบทบาทการแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘Snap’ ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี บ้างก็อาจรู้จักและติดตามเธอมาตั้งแต่เป็นเกิร์ลกรุ๊ปในค่าย Kamikaze ในนามวง ‘Chilli White Choc’ !
นี่คือเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาจาก ‘อิ้งค์ วรันธร’ จากความสดใสของการเป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปแห่ง Kamikaze สู่การสร้างตัวตนใหม่ในฐานะของศิลปิน Synth – Pop ที่น่าจับตามองในปัจจุบัน เรื่องราวที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของสาววัย 26 ปีคนนี้พร้อมให้ทุกท่านได้สัมผัสแล้วครับ
คุณ คงเดช จาตุรันต์รัศมี เคยบอกกับอิ้งค์เอาไว้ว่า เมื่อโตขึ้นไปจะถูกโบกโบยตี ตอนที่ได้ยินคำนี้ครั้งแรกรู้สึกยังไง และเมื่อผ่านมาจนถึงวันนี้รู้สึกกับคำนี้ยังไงบ้าง
ตอนที่ได้ยินครั้งแรกอิ้งค์รู้สึกว่ามันจะโบยตีอะไรหรอ ตอนนั้นอิ้งค์เล่นหนังกับพี่เดชเมื่อ 6 ปีที่แล้ว กำลังเรียนอยู่ปี 3 ตอนนั้นเป็นคนสดใสมาก ไม่เคยเจอความทุกข์มากมายอะไรในชีวิตอ่ะค่ะ แล้วก็สนุกสนานพูดอะไรก็ขำ เป็นเด็กหญิงคนนึงที่มีความสดใส แล้วพี่คงเดชก็จะหมั่นไส้ความสดใสของเราเวลาอยู่กอง เราก็จะแบบร้องเพลงเล่น แกล้งเพื่อนไปเรื่อย ๆ จนพี่เดชมองตาเราและบอกว่าเก็บความสดใสอันนี้เอาไว้นะ ถ้าวันนึงโตขึ้นไปให้จำความสดใสอันนี้เอาไว้ อิ้งก็เลยถามว่าทำไมอ่ะ ก็เราเป็นคนสดใสอยู่แล้วโตไปมันก็ต้องสดใส พี่คงเดชเลยบอกว่า ไม่ วันนึงแกจะโดนโลกโบยตี แกจำคำชั้นไว้นะ “แกจะโดนโลกโบยตี แล้วความสดใสของแกมันจะหายไป” ตอนนั้นพอฟังก็ยังไม่ได้กลัวว่าความสดใสจะหายไป แต่ว่าพอโตขึ้นมาอ่ะค่ะ รู้เลยว่ามันค่อย ๆ ลดไปจริง ๆ ความสดใสที่เคยมีอ่ะค่ะ
The Beginning จุดเริ่มต้น
ชีวิตของอิ้งค์น่าสนใจมาก ป.1 ได้ร้อง ได้บันทึกเสียงเพลงของวง Time อายุ 12 มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง ม.ปลายเรียนดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยเรียนโอเปร่า และปัจจุบันนี้ก็เป็นศิลปิน เหมือนว่าอิ้งค์ชัดเจนและมุ่งมั่นในแนวทางนี้มาก ๆ อะไรที่มันเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
ตอนที่ได้ร้องเพลง ‘ก่อนมะลิบาน’ ของวง Time ตอนนั้นอิ้งค์น่าจะเรียนอยู่ประมาณ ป.2 อิ้งค์นั่งเรียนข้าง ๆ แอ๊นท์ลูกพี่โอ๊บ (เพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ สมาชิกวง Time และผู้บริหาร Muzik Move Records) แล้วอิ้งค์เป็นเด็กที่ต้องอ่านทำนองเสนาะ ต้องประกวด แล้วตอนนั้น Time กำลังทำเพลง ‘ก่อนมะลิบาน’ แล้วอยากได้เสียงเด็ก แอ๊นท์ก็คงไปบอกคุณพ่ออ่ะค่ะว่ามีเพื่อนร้องเพลงเพราะนะ ก็เลยได้ไปลองอัดดูค่ะ
ตอนที่เข้าไปอยู่กับ Kamikaze ตอนนั้นมันเกิดขึ้นได้ยังไงครับ
ตอนนั้นก็ประมาณ ม. 1 อิ้งค์เข้าไปเรียนร้องเพลงที่โรงเรียนสอนร้องเพลงของ ครูกานต์ KPN ค่ะ แล้วครูกานต์ก็ทำ casting อยู่ที่อาร์เอสด้วย ปกติเวลาเรียนเราจะเรียนกันเป็นกลุ่ม ๆ ไม่ได้เรียนเดี่ยว มีวันนึงก็มีทีม casting มาจากอาร์เอสมาที่โรงเรียนก็จะมีพี่เอฟู (ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ อดีตโปรดิวเซอร์มากฝีมือของ Kamikaze) อ่ะค่ะ แล้วก็ให้เราสี่คนยืนร้องเพลงด้วยกัน เราก็ลองดูลองทำ เค้าก็ติดต่อเราเข้าไปในค่าย ไปลองถ่ายโพรไฟล์ ถ่ายนู่นถ่ายนี่ก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่ดี แล้วพอเค้าประกาศว่าเราจะได้ทำเพลงกับ Kamikaze นะจะเดบิวต์ในอีกหนึ่งปี เราก็โอเค
ตอนนั้นค่าย Kamikaze ยังไม่มีแต่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นมา อิ้งค์รู้สึกยังไงกับความเป็นค่ายอาร์เอสบ้าง เราเป็นแฟนเพลงอาร์เอสมั้ย เพลงที่เราฟังยุคนั้นมันเป็นเพลงอะไร
ยุคนั้นอิ้งค์น่าจะฟังหลายแนวมากเลยค่ะ ทั้งที่คุณพ่อชอบฟัง ทั้งที่โรงเรียน เยอะมาก แล้วก็ในหัวเรารู้จักแต่แกรมมี่ อาร์เอส สำหรับอาร์เอสตอนนั้นก็คิดว่าเป็นอะไรที่น่าทำ เพราะรู้จักพี่ ๆ โฟร์-มดที่ดังมาก เราก็แบบ…เราชอบโฟร์-มด
เราเป็นเด็กน้อยอายุ 12-13 ที่เข้าไปทำงานในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ตอนนั้นบรรยากาศการทำงานเป็นยังไงบ้าง
การทำงานตอนนั้นเหมือนอิ้งค์ไปเข้าค่ายมากกว่าค่ะ เหมือนได้ไปเจอเพื่อน ไปเรียนเต้น ซ้อมเต้น 20 กว่าคนอะไรอย่างนี้อ่ะค่ะ แล้วทุกคนก็จะมีของใหม่ ๆ อย่างเกมนินเทนโด ตุ๊กตา อะไรแบบนี้มาอัปเดต พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ตอนนั้นอิ้งค์เด็กที่สุดในค่ายเลยด้วย เพื่อนร่วมคลาสก็หมดทุกคนเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น หวาย ขนมจีน มิล่า เฟ-ฟาง-แก้ว พี่ ๆ โฟร์-มด K-otic ที่นั่นก็จะมีจัดคลาสเอาไว้ เวลาเราเลิกเรียนที่โรงเรียนก็จะมาที่อาร์เอสเพื่อเรียนคลาสพัฒนาในแต่ละวัน ซึ่งบางวันเราก็ไม่ได้เรียนกับเพื่อนร่วมวง ก็จะมีเรียนสลับ ๆ กันทำให้ได้รู้จักกันหมดเลย ตอนนั้นก็รู้สึกเหมือนไปโรงเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ได้ไปเจอเพื่อน งานจ้างก็ไม่ได้มีเยอะมาก ยิ่งเป็นเด็กด้วยงานตามร้านนี่เล่นไม่ได้แน่ ก็จะได้ไปเล่นตามสยามเซ็นเตอร์น่ารัก ๆ เหมือนได้ไปเล่นกับเพื่อนค่ะ
ตอนนั้นมีบรรยากาศของการแข่งขันกันบ้างมั้ยครับ
ถ้าถามว่ามีการแข่งขันกันมั้ย อิ้งค์ว่าไม่มีค่ะ เพราะทุกคนถูกจัดเป็นกลุ่มก้อน มีวงเป็นของตัวเองหมด ถ้าจะให้ไปแข่งกับพี่ ๆ โฟร์-มด มันก็ไม่ใช่ มันเหมือนทุกคนมาทำในเรื่องของตัวเองให้ดีที่สุดอ่ะค่ะ ทุกคนก็ทำตามที่พี่ ๆ เค้าบอก อย่างอิ้งค์ก็อะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ใส่อะไรก็ได้
แล้วเรารู้สึกแบบว่าต้องมาทำงาน สูญเสียชีวิตวัยรุ่นอะไรแบบนี้มั้ยครับ
ไม่รู้สึกแบบนั้นเลยค่ะ รู้สึกสนุกมาก เพื่อนที่โรงเรียนก็เล่นกันเต็มที่ในตอนกลางวันอยู่แล้วค่ะ แล้วเพื่อนก็จะเชียร์เรามาก อย่างวันไหนมีคอนเสิร์ตที่จะสยามก็จะตามไปดูกัน
ประสบความสำเร็จแค่ไหนครับตอนนั้นกับ ‘Chilli White Choc’
ถ้ามองในแง่รายได้อาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับเด็กอิ้งค์มองว่ามันเป็นการที่เราได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากเลยค่ะ เราก็ร้องเพลงมาตั้งแต่ ป. 1 จนถึงตอนนั้นก็ 6 ปี เราก็เพิ่งมีเพลงที่เป็นเสียงของเราจริง ๆ ได้แต่งตัว ได้มาทำงานอยู่ในค่ายเพลง มันเหมือนเป็นอีกสเต็ปหนึ่งของเด็กคนนึงที่มองเห็นการร้องเพลง ที่ไม่ใช่การร้องเพลงเฉย ๆ เราได้เอาเพลงเราไปให้คนอื่นฟัง และเค้าก็ชอบเรา และก็ทำให้เราได้เห็นเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง
[หนึ่งในเพลงที่เป็นที่รู้จักของ Chilli White Choc คือ ‘Chatsanova’ ซึ่งมีท่าเต้นเหมือนสแครตช์แผ่นซึ่งทำให้อิ้งค์ถูกล้อมาจนถึงทุกวันนี้]อะไรทำให้อิ้งค์ตัดสินใจไม่ทำต่อ
ตอนนั้นจบอัลบั้มพอดี แล้วเราได้มีเวลาทบทวนค่ะ ตอนนั้นผลการเรียนอิ้งค์แย่มากเลยค่ะ มันเหมือนเราแบ่งเวลาไม่เป็น บาลานซ์มันไม่ได้ และทางนึงก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดที่เราจะทิ้งอีกสิ่งนึงไปทำ อิ้งค์ก็เลยคิดว่าเบรกก่อนมั้ย ตอนนั้นสัญญาจริง ๆ ก็ยังอยู่ แต่มันก็ไม่ได้มีแพลนว่าจะทำอะไรต่อ ก็เลยขอกลับมาเรียนก่อนดีกว่า ก็เลยออกมาแบบไม่ได้มีปัญหาอะไรกันค่ะ
ตอนนั้นก็โดนคุณพ่อดุด้วยอ่ะค่ะ เหมือนเราไม่รับผิดชอบทิ้งการเรียนไปเลย หลงไปอีกโลกนึง มีโทรศัพท์มีอะไรออกใหม่เราก็หลงเราก็ตามมันไป แล้วทีนี้ก็กำลังจะจบม. 3 จะขึ้นม.4 แล้วด้วย อิงค์ก็เลยคิดว่าน่าจะยังไม่ใช่เวลาของมันรึเปล่า ก็เลยออกจาก Kamikaze แล้วกลับมาเรื่องเรียนก่อนดีกว่าค่ะ
(อ่านต่อหน้า 2 ถึงจุดเปลี่ยน ออกจาก Kamikaze)
Turning Point จุดเปลี่ยน
แล้วมันส่งกับเกรดเราทำให้ตอนนั้นอิ้งค์เลือกเรียนแผนภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งถ้าเกรดถึงเราก็สามารถเลือกได้เลย พอเกรดไม่ถึงก็ต้องไปสอบ ทีนี้พอไปสอบก็สอบไม่ติดอ่ะค่ะ จำได้ว่าตอนนั้นเป็นอะไรที่เฟลมากที่สุด เฟลสุด ๆ เลยค่ะ เหมือนมองไปทางไหนก็เห็นว่าเพื่อนเราเค้าได้เรียนเอกที่อยากเรียนทั้งหมดเลย ตอนประกาศผลมันจะมีบอร์ดอ่ะค่ะ ซึ่งเราจะเห็นหมดว่าใครติดแผนไหน ๆ ทีนี้อิ้งค์ก็มีชื่ออยู่แผนภาษาอังกฤษเป็นตัวสำรองอันดับที่สองประมาณนี้ค่ะ แล้วเพื่อนคนอื่นก็ติดทุกแผนที่อยากได้ แล้วแบบทุกคนเฮ แต่เราเฟลมากที่ไม่ได้แผนที่เราอยากได้ ทำไมอีกแค่สองคนเองเราก็จะได้แล้ว
วันนั้นก็เลยเป็นจุดที่อิ้งค์เปลี่ยนความคิดทุกอย่างเลย มันไม่มีใครเข้าใจเลย เพราะทุกคนก็สมหวัง มีความสุขหมด เราก็กลับมาที่บ้านร้องไห้เลย พ่อก็บอกว่า ถ้าสมมติว่าติดแผนภาษาอังกฤษแล้วเราจะทำอะไร มหาลัยจะเลือกเรียนอะไร จบมาจะทำงานอะไร เราก็ตอบไม่ได้ ทีนี้พ่อก็เลยถามว่าแล้วอะไรที่เรารักมากที่สุด ตอนนั้นเราก็คิดถึงอย่างเดียวเลยคือการร้องเพลง เพลงเป็นสิ่งที่ชอบทำและก็ทำมันมาโดยตลอด ทีนี้พอก็เลยถามอิ้งว่า สมมติว่าอิ้งค์เรียนแผนดนตรี ม.4-ม.6 พอมหาลัยแล้วอิ้งจะไปยังไงต่อ จบไปจะทำอาชีพอะไร อิ้งก็ตอบได้เลยว่าอิ้งเห็น อิ้งค์ชอบ พ่อก็ไม่ได้ชี้นำเราอ่ะค่ะว่าให้เรียนแผนดนตรี แต่แค่ทำให้เราเห็นว่าผิดหวังเป็นยังไง และต่อจากนั้นเราวางแผนไปยังไงต่อ เราก็เลยตัดสินใจว่าเราจะเข้าแผนดุริยางคศิลป์ตะวันตก และสอบตรงเข้าศิลปกรรมศาสตร์ จุฬา เอกวอยซ์ให้ได้ แล้วจากนั้นอิ้งค์ก็เดินตามแผนและสอบตรงเข้าได้จริง ๆ มันไม่ใช่ว่าเราเข้าไปและทำมันได้เลย แต่มันเป็นเพราะการวางแผนของเรา 3 ปีเพื่อที่จะมีวันนั้น มันเป็นความพยายามแรกของชีวิตอิ้งค์ที่ทำเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการเลยค่ะ อย่างอิ้งค์ไม่ค่อยเก่งด้านวิชาการใช่มั้ยคะ อิ้งก็จะมีสมุดเล่มเล็ก ๆ เก็บไว้ที่กระโปรง เวลาเราทำข้อสอบอันไหนผิด ก็เรียนอะไรมาอิ้งค์ก็จะจดเก็บไว้ จดเก็บไว้ แล้วเวลาว่างก็เอามันออกมาดู เหมือนเป็นการอุดรอยรั่วของเราไปเรื่อย ๆ จนเรารู้สึกมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะไปทางนี้จริง ๆ จนในที่สุดมันก็ทำได้ตามที่ตั้งใจค่ะ
พอมองย้อนกลับไปวันนั้น ก็เหมือนมันจะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าหากเรียนเก่ง ก็คงไม่ได้เรียนเรื่องดนตรีแบบนี้รึเปล่า
ใช่ค่ะ เพราะถ้าชีวิตหนูสบายตลอด หนูอาจจะไม่ได้มายืนตรงนี้ก็ได้ หนูอาจไม่ได้เห็นค่าของความพยายามก็ได้ หนูอาจจะไม่ได้พบกับความพยายามครั้งแรกในชีวิตเลยก็ได้ มันเลยกลายเป็นจุดที่มันทำให้หนูค้นพบตัวเองมากขึ้น หลังจากหนูออกจาก Kamikaze หนูก็ไม่ได้เลิกร้องเพลงนะคะ หนูก็ไปเรียนร้องเพลง หนูไปสอบบรอดเวย์วิสิคของลอนดอนก็ได้ใบเกรดมา ก็ตั้งใจทำมันต่อ แต่ไม่ได้เดินสายในวงการแบบเต็มตัว ก็เรียนนั่นเรียนนี่ ลองทำ สนุกกับมันไปต่อ
ตอนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่ามันจะเป็นไปได้จริง ๆ มั้ย เพราะเราก็น่าจะรู้ว่าการอยู่ในวงการเพลงนั้นมันไม่ได้ง่าย
ถ้าพูดถึงวงการเพลงบ้านเราว่ายากแล้วใช่มั้ยคะ วงการเพลงคลาสสิกบ้านเรายากกว่ามากค่ะ แล้วอิ้งค์เรียนด้านเพลงคลาสสิกอยู่ตอนนั้น ตอนนั้นถามว่ามองเห็นตัวเองในวงการเพลงพอปมั้ย คือตอนนั้นยังไม่เห็นเลยค่ะ ตอนนั้นก็คิดไปเรียนต่อโท เพราะจะได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนดนตรีได้ แต่ปรากฏว่าไม่ชอบสอนเลย มองว่าอันนี้น่าจะไม่เหมาะกับเราแน่ ๆ เลย ก็เลยคิดว่าถ้าจบป.โทแล้วกลับมาสอนจริง ๆ มันจะต้องไม่โอเคแน่ ๆ เลย เหมือนมองตัวเองเป็นอาจารย์แล้วก็รู้สึกว่าไลฟ์สไตล์มันไม่ได้อ่ะค่ะ เลยพยายามมองหาจุดอื่น แล้วโชคดีมากที่ตอนนั้นได้ไปเล่นหนัง
Another Change Emerges เมื่อโอกาส…กลับมาอีกครั้ง
ได้ไปทำงานกับพี่คงเดชเป็นยังไงบ้าง
อิ้งค์ก็ไปหาข้อมูลพี่เค้ามาประมาณนึง แล้วก็คิดว่าเค้าต้องติสต์แน่นอน แต่พอได้ไปคุยปรากฏว่า เหมือนคุยกับป๋าเต็ดแบบนี้เลยค่ะ เหมือนเป็นพี่คนนึงที่เราพร้อมนับถือไปเลยอ่ะค่ะ เราฟังเค้าพูด วิธีที่เค้าพูดกับเรา แล้วเรารู้สึกว่าพี่เค้าใจดีกว่าที่เราคิดมาก แล้วเค้าก็ถามเรื่องของหนูทุกเรื่องเลย ยกเว้นเรื่องแสดงจริง ๆ หนูก็งงว่านี่เราแคสต์อยู่หรอ เราโดนหรอกรึเปล่าเนี่ย แล้วพี่เค้าก็บอกว่าเสร็จแล้ว อิ้งค์ก็เอ๊ะ เสร็จแล้วหรอคะ หลังจากนั้นเดือนนึงเค้าก็โทรมาบอกว่าได้นะ
วันนั้นเราน่าจะยังไม่มั่นใจว่าจะเล่นได้จริง ๆ
พ่อก็บอกว่ารับมาแล้วก็ต้องทำให้ดี แม่ก็ส่งเสริมว่าดี ๆ แม่ชอบ แม่ชอบโทนี่ ก็ทำเพื่อแม่ (หัวเราะ) ก็ไปเล่น ยากค่ะ เหมือนต้องไปทำทุกอย่างจากศูนย์หมดเลยค่ะ แต่สนุกมากค่ะ รู้สึกดีมากที่ได้ไปเล่นค่ะ เพราะสุดท้ายหนังเรื่อง ‘Snap’ ทำให้อิ้งค์ได้เห็นอะไรหลาย ๆ สิ่งในโลกใบนี้มากขึ้น ทำให้เรามองหนังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ว่าหนังไม่ได้มีแค่แมสนะ หนังไม่ได้มีแค่ดูง่าย ๆ นะ เหมือนเราเจอหนังดูยากเราก็ไม่ดูมาโดยตลอด แต่พอเราได้มีโอกาสได้ไปเล่น เราก็รู้ว่าหนังมันมีอะไรให้คิดมากกว่านั้น ก็ดีมากเลยค่ะ
หลังจากนั้นได้เล่นหนังอีกมั้ยครับ มันบอกอะไรเรารึเปล่าที่เราไมได้เล่นหนังอีกเลย
อาจจะบอกว่าเราไม่ดีพอรึเปล่าคะ (หัวเราะ) ไม่ค่ะ คือ จริง ๆ มันก็มีติดต่อเข้ามานะคะ แต่พอเรามายืนตรงจุดนี้จริง ๆ อิ้งค์มองว่าถ้าทำอะไรก็ทำให้มันสุด ๆ ไปเลยอ่ะค่ะ เหมือนช่วงที่มาทำแรก ๆ อ่ะค่ะ ก็ตั้งเป้าว่าเราอยากเป็นศิลปิน ก็จะเป็นศิลปิน เพราะถ้าวันนึงเราเป็นทั้งศิลปิน ทั้งนักแสดง คนจะจำภาพไหน ก็เลยทำให้เราค่อนข้างปฏิเสธทุกสิ่งที่เข้ามา เราขอทำภาพตรงนี้ให้ชัดก่อน ให้คนจำเราในฐานะ ‘อิ้งค์ วรันธร ‘และถ้าวันนึงคนจำเราในฐานะ ‘อิ้งค์ วรันธร’ เค้าก็จะเรียกเราว่าอิ้งค์ วรันธร ไม่ได้เรียกเราว่า ‘นางเอกเรื่องนี้’ อ่ะค่ะ
(อ่านต่อหน้า 3 ก้าวสู่ศิลปินเดียว)
Being An Artist สู่การเป็น…ศิลปินเดี่ยว
แล้วเราได้มาเป็น ‘อิ้งค์ วรันธร’ แบบนี้ได้ยังไงครับ
ก็น้าโอ๊บเลยค่ะ กับพี่พล (คชภัค ผลธนโชติ สมาชิกวง Clash แล้วโปรดิวเซอร์ฝ่ายบริหารค่าย Boxx Music) ก็หลังจากที่เล่น Snap จบอ่ะค่ะ ก็เป็นช่วงที่น้าโอ๊บกับพี่พละกำลังจะทำค่าย Boxx พอดี ก็โทรมาแล้วบอกว่ากำลังจะทำค่ายเพลงนะ เดี๋ยวเรามานัดคุยกันดีกว่า อย่างน้าโอ๊บตั้งแต่อิ้งค์ออกจาก Kamikaze ก็ยังคุยติดต่ออยู่ เวลามีร้องคอรัสอะไรก็ยังเรียกเราไปร้อง แล้วพอเรามาเรียนดนตรีที่จุฬาด้วย เล่นหนังด้วย น้าโอ๊บก็เลยค่อนข้างเห็นว่าเรากลับมาสนใจด้านบันเทิงอีกทีนะ ก็เลยโทรมาว่า “อิ๊งค์ยังอยากทำเพลงอยู่มั้ย พี่กำลังทำกับพี่พลนะ เป็นค่ายใหม่ แต่ว่ายังไม่มีแพลนอะไรมากนะ อยากให้เข้ามาคุยก่อน” ตอนนั้นก็เข้าไปคุยค่ะ เข้าไปคุยที่บ้านน้าโอ๊บ
ทำไมถึงตัดสินใจทำกับแก๊งนี้
อิ้งค์ไว้ใจมาก อุ่นใจมากค่ะ อิ้งค์อุ่นใจกับพี่พลกับน้าโอ๊บมาก ๆ เพราะว่าอิ้งค์รู้จักเค้ามาตั้งแต่อิ้งค์อยู่ ป. 2 แล้วพี่โอ๊บเป็นโปรดิวเซอร์ Clash ใช่มั้ยค่ะ อิ้งค์ก็สนิบกับลูกน้าโอ๊บ พอไปเที่ยวกันก็มีพี่ ๆ วง Clash ไปด้วยอ่ะค่ะ พี่พลเห็นอิ้งค์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ป. 2 อ่ะค่ะ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเค้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรามาตั้งแต่ ป. 2 อยู่แล้ว ไม่เครียดเลย เรารู้สึกว่าเราสามารถเป็นตัวเองกับเค้าได้ตั้งแต่แรกเลย พี่พลยังเคยไปรับอิ้งค์ที่โรงเรียน สาธิตประสานมิตรเลยค่ะ จอดรถหน้าโรงเรียนแล้วยืนเรียงกันเลยค่ะ พี่ยักษ์ พี่แอ็ค พี่พล แล้วก็พี่สุ่มยืนเรียงกันเลยค่ะ แต่พี่แบงค์ไม่ได้ไป ใส่ชุดดำแล้วก็มายืนเรียงกันเลยค่ะ (หัวเราะ) แม่ก็บอกว่า “อิ้งค์ ๆ วันนี้ให้กลับมากับพี่พลนะลูก พอดีแม่ไม่ว่างไปรับ เดี๋ยวแม่ไปรับที่บ้านน้าโอ๊บ” อิ้งค์ก็แบบว่า โอเค ๆ แต่พอเดินออกมาไม่คิดว่าภาพมันจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ภาพตอนนั้นมันยังอยู่ในใจอยู่เลย จำได้ว่าทุกคนที่เป็นเด็กนักเรียนเดินผ่านแล้วก็แบบ เฮ้ยวง Clash เค้ามาทำอะไรอ่ะ แล้วเราเดินไปหาเค้าอ่ะ ทุกคนก็มองแบบว่า ทำไมถึงมารับอิ้งค์ ถ้าไม่ใช่วง Clash ก็เหมือนแก๊งลักเด็กอ่ะค่ะ ใส่ชุดดำ แว่นดำ แล้วก็มายืน (หัวเราะ)
พอได้มาทำเพลง แนวดนตรีที่เราทำ แน่นอนมันแตกต่างจาก “Chilli White Choc” มันมาแนว City Pop ที่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรา ณ ตอนนั้น อยากรู้ว่าทำไมถึงเลือกมาแนวนี้ มันเป็นตัวเรา หรือว่าพี่พล หรือ พี่โอ๊บ
ก็คือเราเอาสิ่งที่เราชอบฟังในตอนนั้นไปให้พี่โอ๊บฟัง ตอนนั้นประมาณปี 3-4 ก็เริ่มฟัง City Pop เหมือนขับรถไปแล้วแอปพลิเคชันที่เราฟังเพลงมันเด้งขึ้นมา แล้วเราก็แบบอุ๊ย ! เพลงนี้คือของใครนะ ก็เริ่มเข้าไปดูอัลบั้ม เริ่มฟังอัลบั้มเค้าทั้งอัลบั้มอ่ะค่ะ เริ่มหาเพลงที่คล้ายมานั่งฟัง ตอนแรกพี่โอ๊บก็มีหลายแนวมาก แต่สุดท้ายก็เลือกแนวนี้ พี่โอ๊บก็บอกว่าเราเลือกแนวซินธ์ป๊อป 80s 90s นี่ล่ะ แต่ว่ามาทำเมโลดี้ให้มันฟังง่าย คลุมมันด้วยความเป็น City Pop คนไทยก็จะเปิดรับมันได้ เพราะเมโลดี้มันฟังง่าย
แล้วก็การสร้างเอกลักษณ์ของศิลปินอ่ะค่ะ อิ้งค์ว่ามันค่อนข้างสำคัญ อย่างสมมติว่าเราออกไปโดยที่ไม่ได้เป็นแนวใดแนวหนึ่ง คนก็จะไม่ค่อยจำ เราก็คิดว่าโอเค จะทำซินธ์ป๊อปนี่ล่ะ แล้วเราก็จะยึดให้เป็นแนวที่เราจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
อย่างอิ้งค์นี่ถือว่าเป็นศิลปินอินดี้เนอะ ถึงมันจะฟังง่ายแต่ด้วยโครงสร้าง ด้วยอะไรหลายอย่างทำให้มันมีองค์ประกอบที่ไม่แมสขนาดนั้น โดยปกติแล้วศิลปินอินดี้จะทำทำเพลงเองทั้งหมดเกือบทุกขั้นตอน แต่อิ้งค์จะมีคนแต่งให้ มีทีมทำให้ เราเคยรู้สึกเราทำน้อยไปมั้ย มีส่วนร่วมน้อยไปมั้ย หรือจริง ๆ แล้วมันมีบางสิ่งที่เราได้มีส่วนร่วมแต่คนไม่ค่อยจะรู้กัน
จริง ๆ เคยคิดว่าตัวเองทำน้อยไปมั้ย…จริง ๆ ก็เคยคิดนะคะ เราคิดว่าคนอื่นเค้าแต่งเพลงเอง คนอื่นเค้าทำเองได้ ตัวเองไม่ได้มีความสามารถในการแต่งเพลง มันน้อยไปมั้ย แต่ว่าเราก็มาคิดว่าสิ่งที่เราชอบคืออะไร มันก็คือการร้องเพลง แล้วเราก็ได้ทำในสิ่งที่เราชอบแล้ว แต่ทุกเพลงอิ้งค์ก็จะพยายามมีส่วนร่วมกับมันให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้อ่ะค่ะ เวลาทำเพลงหนูก็จะไปอยู่ด้วย คอนเทนต์ก็จะมาจากสิ่งที่หนูเป็น หนูรู้สึก สิ่งที่มันเข้ากับหนูอยู่แล้วอ่ะค่ะ ก็มีเพลงที่หนูร่วมแต่งอยู่ 2-3 ที่หนูทำกับพี่แทน (Lipta) อ่ะค่ะ เราอาจจะทำสิ่งนี้ไม่เก่งอ่ะค่ะ แต่เราพยายามเอาตัวไปอยู่รอบ ๆ มัน เพื่อให้สิ่งที่ทำออกมามันเป็นตัวเราให้มากที่สุดอ่ะค่ะ
อิ้งค์เคยพูดว่าในช่วงแรกของการเป็นศิลปิน อิ้งค์เป็นคิดมาก คิดมากกับคอนเมนต์ที่เข้ามา กับสิ่งที่ตัวเองทำ มันเป็นอย่างนั้นจริงมั้ยครับ
ใช่ค่ะ ช่วงแรก ๆ เก็บมาคิดทุกอย่างเลยค่ะ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ คอมเมนต์ต่าง ๆ แบบว่าทำไมต้องคิดมากขนาดนี้ เรื่องที่นำไปพัฒนาได้อิ้งค์ก็เก็บหมดเลยนะคะ ส่วนเรื่องที่นำไปพัฒนาไม่ได้ก็เก็ยมาเหมือนกันค่ะ เก็บจนในใจมันทุกข์อ่ะค่ะ แล้วก็มองว่าทำไมมันถึงหนักหนาขนาดนี้ ทำไมเขาถึงหาว่าเราเป็นยังงี้ มันเหมือนกับเราไม่รู้ว่าจะจัดการมันยังไง มันก็เลยสะสมมาเป็นก้อน ๆ นึง ไม่ถึงขั้นที่ไม่อยากทำแล้ว แต่กลับมาร้องไห้ก็เคยค่ะ อยากที่บอกว่าก่อนหน้านี้มันสดใสมาก (เริ่มรู้สึกถึงการถูกโบยตี) มันไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันยังไง มันก็เลยเศร้ามาก
อะไรที่มันจี๊ดสุดสำหรับเรา ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องประมาณยังไงครับ
อย่างหนูไปร้องเพลงในคอนเสิร์ต แล้วก็มีคนมาพิมพ์ว่านี่หรอคนเรียนจบร้องเพลงมา ร้องได้แค่นี้หรอ พอเห็นแล้วมันก็ร้องไห้เลยค่ะ เราก็ฟังว่าเราร้องแย่ขนาดนั้นมั้ย ทุก ๆ ครั้งที่ก่อนขึ้นน่ะค่ะ มันมีทั้งความกลัว ความตื่นเต้น มันก็เลยอาจทำให้การร้องในตรงนั้น มันไม่เป๊ะเหมือนกับในมาสเตอร์บ้าง แต่เราก็มาทบทวนว่าเราเต็มที่แล้วหรือยัง หนูก็มองว่า ณ จุด ๆ นั้นน่ะเราเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่หนูก็จะเก็บมาแล้วครั้งหน้าหนูจะร้องให้ดีมาก ๆ ๆ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่เกิดคอมเมนต์แบบนี้ขึ้นอีกอ่ะค่ะ เราก็เลยได้กลับมามองว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย ซึ่งมันก็อาจไม่ได้เหมือนในมาสเตอร์เป๊ะหรือเป็นอย่างที่เค้าคาดหวัง แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราต้องมาพัฒนาตัวเองต่อ
แล้วเราผ่านโมเมนต์นั้นมาได้ยังไง ยังอ่านอยู่มั้ย
อ่านค่ะ อ่านจนบางทีก็อยากตีตัวเองว่าจะไปอ่านทำไม แต่ก็มองว่าเราจะได้รู้ว่าคนอื่นเค้าคิดยังไง แต่อันไหนที่มันทำให้เราดีขึ้นได้อิ้งค์ก็อยากทำ แต่ถ้าเค้าคอมเมนต์เรื่องหน้าเราอ้วน ก็จะให้เราทำยังไง เราก็ทำดีที่สุดในตอนนี้แล้วนะ (หัวเราะ) แล้วถ้าหนูหน้าเรียวหนูก็เหมือนคนอื่นไง หนูก็แฮปปี้ที่เป็นอิ้งค์หน้าอ้วนแบบนี้แหละ แต่แค่ทำยังไงให้ทุกคนโอเค อิ้งค์ว่าทุกคนมีความสวยแบบของตัวเองหมดเลย ก็ดีใจที่หลัง ๆ มาทุกคนไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้แล้วค่ะ
เวลาเราเจอคอมเมนต์ร้าย ๆ ที่เป็นอารมณ์ล้วน ๆ ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผล เรารอดมาได้ยังไง
อย่างศิลปินที่เป็นผู้หญิงเวลาถูกแชร์ไป ก็มักมีคอมเมนต์ที่ไม่ค่อยดีบ้าง แต่สำหรับอิ้งค์คือน้อยมากค่ะ ศิลปินคนอื่นอาจโดนเยอะกว่าอิ้งค์ ถึงแม้ว่าจะโดนน้อยแต่ก็ยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่หนูก็คิดว่าบางทีเราต้องปล่อยมันไปอ่ะค่ะ ถ้าเราไปนั่งว่า นั่งแชร์ว่าเค้า เมนต์ว่าเค้า หนูต้องทำแบบนี้ตลอดชีวิตเลยนะ เราก็ทำในจุดที่เราไม่ไปโดนด่าแล้วนะ เราไม่ได้แต่งตัวโป๊ ถึงมีคนแต่งโป๊คุณก็ไม่มีสิทธิจะไปว่าเค้า เราเซฟตรงไหนได้ในใจเรา เราก็เซฟไป ตรงไหนที่มันเกินการควบคุมของเรา เราก็ไม่รู้ว่าจะไปจัดการกับเค้ายังไง ให้เราไปคอมเมนต์ว่าเค้า เราก็รู้สึกว่าคนที่เสียคือตัวเรารึเปล่า เพราะเค้าย่อมดูแย่จากสิ่งที่เค้าทำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
อิ้งค์เป็นศิลปินที่มีแฟนคลับค่อนข้างเหนียวแน่นอยู่พอสมควร อย่างแฟนคลับ BNK บางคนก็มาเชียร์อิ้งค์อยู่ด้วย ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใช่มั้ย มีป้ายไฟ มีอะไรแบบนี้
อิ้งค์ว่าจริง ๆ แฟนคลับอิ้งค์หลายกลุ่มมากเลยค่ะ ไม่สามารถระบุได้เลยค่ะว่าเป็นกลุ่มคนแบบไหน
การมีกลุ่มแฟนคลับใหญ่มากแบบนี้ มันมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้างครับ
หนูยังไม่เห็นข้อเสียอ่ะค่ะ ข้อดีก็คือหนูได้เจอคนเยอะมากเลยค่ะ หนูก็ดีใจนะคะที่หนูไม่ต้องไปจำกัดว่าคนประเภทนี้ต้องเป็นแฟนคลับหนูเท่านั้น ไม่ว่าใครที่ชอบเพลงหนูก็เป็นแฟนคลับหนูได้หมด หนูก็ดีใจอ่ะค่ะ
มองอนาคตตัวเองยังไง ในฐานะ ‘อิ้งค์ วรันธร’
อิ้งค์มองภาพตัวเองเป็นทีละจุดสั้น ๆ ค่ะ ไม่ชอบมองภาพตัวเองเป็นจุดใหญ่ แบบอิมแพค อารีน่า อะไรแบบนี้อ่ะค่ะ (หัวเราะ) ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อิ้งค์ว่าอิ้งค์อยู่ในจุดที่พอดีกับตัวเองมาตลอดเลยค่ะ แล้วความพอดีอาจค่อย ๆ ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ตามสิ่งที่เราเดินอย่างไม่รีบและมีความสุขกับมันไปเรื่อย ๆ ตอนนี้หนูมองว่าหนูมีความสุขกับจุดที่หนูยืนมาก ๆ เลย อาจจะไม่ได้โกอินเตอร์หรือว่ามียอดวิว 100 ล้านวิว แต่ว่าหนูมีความสุขที่หนูได้ออกมาทำงาน ได้เจอคนแล้วก็มีคนจำนวนนึงที่ชอบเพลงหนู รู้จักหนู แล้วปีหน้าหนูอาจทำในสิ่งที่อยากทำ คือ อัลบั้มเต็ม หนูก็มองเป็นจุดสั้น ๆ ว่าปีหน้าความพอดีของหนูคือ หนูอยากทำอัลบั้มเต็ม แล้วก็ถ้ามีโอกาสหนูอยากจัดคอนเสิร์ตอีก แต่ก็ไม่อยากได้ใหญ่มาก แบบใหญ่เกินตัว อยากได้ใหญ่แบบพอดีตัว เราแฮปปี้ พอดีตัว สื่อสารกับคนได้ อะไรแบบนี้อ่ะค่ะ เหมือนตัวเองเป็นจุดค่อย ๆ เดิน แต่เดินอย่างมีความตั้งใจและก็มีความสุขค่ะ
(อ่านต่อหน้า 4 เรื่องสุขภาพของอิงก์)
Being Ink ความเป็นอิ้งค์
เราบาลานซ์ความเป็นตัวเองกับการเป็นคนสาธารณะได้ยังไง
การที่คนจะมองเราเป็นยังไง ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราแสดงออกไปค่ะ ทุกครั้งที่เราจะแสดงอะไรออกไปอิ้งค์ก็จะคิดก่อน อย่างคนบอกว่าอิ้งค์เป็นคนที่ร่าเริงสดใส แต่จริง ๆ อิ้งค์ก็ไม่ใช่คนที่ร่าเริงหรือสดใสตลอดเวลา อิ้งค์มีมุมที่อิ้งจริงจัง เครียด โกรธ แต่ว่าอิ้งค์เลือกที่จะจัดการมันด้วยตัวเองอ่ะค่ะ อิ้งค์จะไม่เอาไปโพสต์ ไปบอกคน ไปทวีต เพราะอิ้งค์คิดว่าแฟนคลับเราเค้าอาจมีเรื่องเครียดในวันนั้น แล้วการที่เราโพสต์สิ่งที่เราไม่สบายใจ มันอาจทำให้เค้ารับเรื่องที่ไม่ดีเข้าไปในชีวิตเค้าเพิ่มอีกเรื่อง ซึ่งในการใช้โซเชียลให้คนได้รู้จักเรา เห็นเรา แล้วเห็นเรายิ้ม หรืออาจจะกลาง ๆ แต่จะไม่มีแนวลบค่ะ เพราะคนเค้าอาจเจอเรื่องไม่ดีมาทั้งวันแล้ว
ไม่อึดอัดใช่มั้ยอย่างนี้
ไม่ค่ะ สมมติอย่างอิ้งค์มีเพื่อน ๆ อ่ะค่ะ เพื่อนๆ ก็จะแบบรู้จักหรือรู้เรื่องอิ้งค์จากการคุยส่วนตัวมากกว่า ไม่ได้รู้จากโซเชียล เพราะอิ้งค์จะไม่ได้บอกว่าตัวเองรู้สึกยังไงในแต่ละวันผ่านโซเชียลอ่ะค่ะ แต่อิ้งค์จะเลือกบอกเป็นคน ๆ มากกว่าค่ะ สมมติว่าอิ้งค์คุยกับคุณพ่อคุณแม่ คุยกับเพื่อน เรารู้สึกว่าเราได้แก้ความไม่สบายใจของเราได้กับการพูดคุยกับคนที่เค้ามีรีแอคกับเรามากกว่าอ่ะค่ะ
ทราบว่าเป็นเนื้องอกในมดลูก ตอนแรกที่ทราบรู้สึกยังไงครับ
กลัวค่ะ กลัวมากตอนนั้น จำได้ว่าก่อนมีคอนเสิร์ตใหญ่ตัวเอง 3 วัน เริ่มจากอิ้งค์ปวดท้องยิบย่อยไปเรื่อย ๆ ก็ไปหาหมอด้านกระเพาะ หาไป 3 ครั้งก็ไม่ดีขึ้น ก็เลยเช็กละเอียดเค้าก็จับไปซีที สแกน ก็ไม่เจออะไรในระบบอาหารแต่ไปเจอในมดลูกแทน เราไม่เคยเป็นโรคอะไรจริง ๆ จัง ๆ เลย ก็รู้สึก blank เลย ก็โทรหาแม่ ตอนนั้นหมอบอกว่า 7 ซม. ก็ถือว่าใหญ่ประมาณนึงค่ะ ก็คุยกับแม่ว่าทำไงดี พอกลับมาบ้านทุกคนก็ดูไม่เครียด เพราะเค้าคงไม่อยากให้เราเป็นห่วง แต่ก็มารู้ทีหลังว่าพ่อแม่ร้องไห้เลย ตอนนั้นเหมือนเรายังมีภาระที่ต้องทำคอนเสิร์ตใหญ่ ก็เครียดมากเลยค่ะ ต้องไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล และต้องทานยา แล้วพอถึงวันคอนเสิร์ตอ่ะค่ะ ยาที่ทานมันจะทำให้เราไม่มีแรง ทำให้เราเวียนหัว อารมณ์ไม่ดี เหมือนกินฮอร์โมนอ่ะค่ะ แล้วเราต้องทานยาในวันนั้นที่ดันเป็นวันแรกในคอนเสิร์ตพอดีอ่ะค่ะ ก็ต้องปรับให้ตัวเองทำให้ได้ ก็วุ่นวายมากแต่ก็ผ่านมาได้ค่ะ
มีมั้ยบนเวทีที่รู้สึกไม่มีแรง
ไม่มีเลย วันแรกเราพยายามทำทุกอย่างให้ปกติหมด ไม่คิดถึงมันเลย แล้วมีเต้นมีอะไรแบบนี้ก็คือสุดหมดเลย ปล่อยหมด วันที่สองก็ไปเล่น วันนั้นตัดสินใจบอกคนดูด้วยค่ะ บอกกลางคอนเสิร์ตตอนจบคอนเสิร์ตเลย เอาจริง ๆ ไม่มีใครรู้ว่าอิ้งค์จะบอก และอิ้งค์ก็ไม่คิดที่จะบอก ตอนนั้นเป็นเพลงสุดท้าย “ดีใจด้วยนะ” แล้วต้องเดินผ่านคนดูไปร้องเพลง “เหงา เหงา” ตอนนั้นรู้สึกสบายใจที่อยู่ตรงนี้ เรารู้สึกสบายใจที่จะบอกทุกคนตรงนี้ เหมือนเป็นคนที่เราไว้ใจมากเลย แล้วอิ้งค์รู้ว่าต่อจากนี้อีกสองสามเดือนเราจะต้องพัก และยังไงเค้าก็ต้องรู้ คนกลุ่มนี้เป็นคนที่รักเรามาก ๆ อ่ะ อิ้งค์ก็เลยอยากจะบอกสิ่งที่อึดอัดในใจอิ้งค์ตอนนั้นออกไปว่าอิ้งค์เจอนะแต่ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วงอิ้งค์เลย อิ้งค์อยากให้ทุกคนรู้ว่าอิ้งค์ไม่เป็นอะไรนะ และวันนึงถ้ามีข่าวออกไปจะได้รู้ว่าอิ้งค์ไม่เป็นไร อิ้งค์โอเค พอหันไปพี่พล พี่แทนร้องไห้หมดเลยเพราะไม่มีใครรู้ว่าอิ้งค์จะพูด แต่มันเป็นสิ่งที่ดีหมดเลย เพราะเราไว้ใจทุกคนตรงนั้นมาก แล้วเราได้บอกสิ่งที่เป็นความลับที่สุดของเรา ณ ตอนนั้นออกไปหมดเลยค่ะ
แล้วรู้สึกสบายใจมั้ย
ตอนแรกรู้สึกสบายใจ แต่หลังจากที่คนรู้กันเยอะ ๆ ก็แอบคิดอ่ะค่ะว่าเราทำให้เค้าเป็นห่วงรึเปล่า แต่ว่ารู้สึกสบายใจที่ได้บอกว่าเราไม่เป็นอะไรนะมากกว่า เพราะว่าคงไม่มีโอกาสที่จะมีคนมาอยู่ด้วยกันเยอะ ๆ แบบนี้ ถ้าบอกในโพสต์คนก็คงสัมผัสไม่ได้ว่าเราไม่เป็นอะไรจริง ๆ อ่ะค่ะ ก็เลยคิดว่าการบอกตรงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่เป็นห่วงเรามากที่สุดแล้ว แล้วมันก็สบายใจเราด้วยที่เราได้บอกทุกคน มันเป็นซีนขอบคุณด้วยค่ะ เป็นซีนที่ร้องไห้อยู่แล้ว ขอบคุณพ่อแม่อะไรแบบนี้ จริง ๆ อิ้งค์ไม่ได้ตั้งใจจะร้องไห้ อิ้งค์เคยร้องไห้บนเวทีคอนเสิร์ตมาแล้ว คราวนี้อิ้งค์เลยอยากพูดแบบเข้มแข็ง แต่จริง ๆ ตอนนั้นเราไม่เข้มแข็งเลย ก็แบบพยายามทำในสิ่งที่ตัวเองเข้มแข็งมาก ๆ กล้ามาก ๆ แล้วค่ะ แล้วทุกคนที่อยู่รอบตัวอิ้งค์ ช่วยอิ้งค์มาก ๆ เลยในตอนนั้น แล้วมันก็ทำให้เรามองทุกคนแล้วร้องไห้ออกมา แบบคุณพ่อคุณแม่อิ้งค์รู้เลยว่าเค้าเป็นห่วงอิ้งค์มากเลยที่เรามาขึ้นคอนเสิร์ตสองวันนี้ แต่เค้าเลือกที่จะยิ้มให้เราแล้วบอกว่าเอาเลยลูก ไม่มาบอกว่าเฮ้ยอย่าทำเลยเดี๋ยวมันจะเอฟเฟกต์ เค้ายิ้มให้เราไม่แสดงออกความเศร้าออกมาให้เราเห็นเลย อิ้งค์ก็เลยคิดว่าดีมากเลยค่ะตอนนั้นที่บอกไป
ตอนนั้นทำไมถึงตัดสินใจบอกนะ มันคิดมาก่อนว่าจะบอก หรือตัดสินใจตรงนั้นเลย
บนนั้นเลยค่ะ เหมือนอิ้งค์พูดขอบคุณหมดแล้ว ตอนนั้นมันเหมือนเป็นความเงียบเหมือนทุกคนรอเราพูดอะไรบางอย่าง คือทุกคนพร้อมฟังเรามากเลยค่ะตอนนั้น เราก็แบบไม่ไหวแล้วอ่ะ อิ้งค์อยากบอกทุกคนมาก แล้วก็อยากขอบคุณพ่อแม่ด้วยที่ดูแลเราอย่างดี พี่ ๆ ที่ซัปพอร์ตเราอย่างดีในเรื่องเนื้องอก เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นก่อนงานคอนเสิร์ต 3 วันอ่ะค่ะ อะไรที่นัดไว้ว่าจะซ้อม อิ้งค์ก็ทำไม่ได้อ่ะค่ะ เพราะต้องไปหาหมอ ทุกคนก็เหมือนกับว่าต้องทำงานให้อิ้งค์ อิ้งค์ก็เลยอยากขอบคุณมาก ๆ ที่เค้าซัปพอร์ตเราอ่ะค่ะ เพราะถ้าเค้าไม่เข้าใจเราจะแย่มากเลย เพราะว่า ณ จุดนั้นเราไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นเนื้อดี เนื้อร้าย มันใหม่มากและไม่รู้จะจัดการกับมันยังไง สิ่งที่เราต้องทำคือตัดมันก่อนขึ้นเวทีเลย แล้วทุกคนก็พร้อมที่จะซัปพอร์ตเรา พร้อมที่จะอุ้มเราเลย เหมือนอย่างนั้นเลยค่ะ ก็เลยคิดว่าดีมากเลยที่มีทีม มีพ่อแม่ และทุกคนที่เข้าใจหมดเลย
นี่ผ่านมากี่ปีแล้วครับเหตุการณ์นี้
ปีที่แล้วค่ะ
แล้วตอนนี้เป็นยังไงบ้างครับอาการ
ดีค่ะ หายแล้ว ก็ผ่าเนื้องอกออกค่ะ หลายคนอาจสงสัยว่าผ่ามดลูกออกหมดเลยรึเปล่า จริง ๆ เปล่าค่ะ คือคุณหมอที่ไปผ่าด้วยคือเก่งมาก ๆ ค่ะ แต่ก็ต้องไปตรวจเช็กประจำปีค่ะ
กลัวตายมั้ยวันที่รู้ว่าเป็น
อิ้งค์กลัวค่ะ อิ้งค์กลัวความตายมาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง เราคิดมีสิ่งที่อยากทำ อยากมีโมเมนต์ต่าง ๆ ชีวิต อยากรู้ว่าเราใจไปกว่านี้จะเป็นยังไง มันมีความอยากใช้ชีวิตต่อ แต่ก็ไม่อยากพูดว่าถ้าวันนึงตายเราจะไม่เสียดาย เพราะว่าก็คิดว่าตัวเองคงเสียดายโอกาสอะไรหลาย ๆ อย่าง ในชีวิตหนูหนูสัมผัสกับการสูญเสียแค่เพียงครั้งเดียวคือคุณปู่ ก่อนนั้นก็ไม่มีการสูญเสียอะไร จะมีก็สุนัข แต่ก็คือแบบเป็นการสูญเสียที่เราเริ่มเรียนรู้ แต่พอเป็นคุณปู่หนูก็แบบรู้สึกไม่ค่อยอยากจะวบายใจกับความตายอ่ะค่ะ เพราะเราใช้ชีวิตในแต่ละวันบางทีเราก็ประมาทนะคะ อย่างการขับรถ อย่างอะไรอิ้งค์ก็ประมาท ก็พยายามมองภาพกว้าวมากขึ้น กลัวมันมากขึ้น อย่างตอนที่เป็นเนื้องอกคือกลัวมันขึ้นมาเลยค่ะ รู้สึกว่าเรายังไม่ได้ทำอันนั้นเลยนี่หว่า ยังไม่ทำอันนี้เลยนี่หว่า แบบว่ามันแว้บขึ้นมาเลยนะคะ แล้วก็ทำให้เราคิดว่าถ้าเรามีโอกาสทำอะไรเราก็อยากจะไปทำ อย่างนั้นเลยค่ะ
คุณเคยถามพี่คงเดชว่า พี่คงเดชทำงานไปเพื่ออะไร พี่คงเดชก็ตอบมาว่า ทำงานเพื่อมีชีวิต ถ้าเกิดสมมติต้องตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง ตอนนี้อิ้งค์ทำงานไปเพื่ออะไร
ก็เพื่อมีชีวิตจริง ๆ ค่ะ อย่างที่อิ้งค์เคยสารภาพกับป๋าเต็ดตอน Zoom อ่ะค่ะ เรื่องตอนที่มีโควิดเข้ามาอ่ะค่ะ รู้เลยว่าการทำงานของเรามันแบบดีแค่ไหน เราอาจจะมองว่ามันเครียด มันนู่นนี่เยอะจังเลย ทำไมการเป็นศิลปินมันต้องมาเจอมาทำอะไรที่มีขั้นตอนเยอะแยะมากขนาดนี้ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้อิ้งค์มีชีวิตมากเลยค่ะ พอเรามาอยู่บ้านเฉย ๆ เราหายใจแต่ว่า เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากใช้ชีวิตกับมัน การทำงานมันเลยเป็นสิ่งที่อิ้งค์มองว่าทำเพื่อชีวิตจริง ๆ อ่ะค่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส