ในวันนี้หากพูดชื่อวงดนตรีวงหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Getsunova’ เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักวงดนตรีเจ้าของบทเพลงฮิต ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ ที่มีเอกลักษณ์จากการตั้งชื่อเพลงและการเล่าเรื่องในบทเพลงที่มีความย้อนแย้งแต่กลมกลืนและเข้าถึงง่าย
หากพูดถึงแบ็กกราวด์ชีวิตของสมาชิก Getsunova ทั้ง 4 หลายคนอาจคิดว่าชีวิตที่ร่ำรวยและสวยงามด้วยกลีบกุหลาบของพวกเขานั้นคงเป็นการง่ายที่จะทำอะไรก็ได้แม้กระทั่งการทำอัลบั้มเพลงสักอัลบั้ม แต่ในความเป็นจริงแล้วเส้นทางแห่งกุหลาบที่พวกเขาดุ่มเดินกลับเต็มไปด้วยขวากหนามที่ต้องฟันฝ่าด้วยตัวเอง วันคืนพ้นผ่านเนิ่นนานกับบททดสอบที่ผู้มีใจกล้า อดทน และรักในสิ่งที่ทำอย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะผ่านมันไปได้
พบกับเรื่องราวการเดินทางบนเส้นทางแห่งเสียงดนตรีของ เนม และ นต และเส้นทางการต่อสู้ของวงดนตรียอดนิยมที่มีชื่อว่า ‘Getsunova’ ที่แต้มต่อใด ๆ ก็ไม่อาจช่วยสร้างความนิยมได้ทั้งนั้นนอกจากความมุ่งมั่นของพวกเขาเอง
เราเป็นคุณหนูมั้ยตอนเด็ก ๆ
ก็ยอมรับว่าเป็น เพราะว่าตั้งแต่จำความได้ ทุกคนที่เนมเจอไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือคนที่อายุมากกว่าก็จะเรียกเนมว่า ‘คุณเนม’ เสมอ จนถึงทุกวันนี้แม้แต่เพื่อนพ่อแม่เนมหรือเพื่อนสนิทที่โตมาด้วยกันก็ยังเรียกอยู่ว่า ‘คุณเนม’ ผมเติบโตมาในครอบครัวที่เจอบุคลากร S&P ก็จะเรียกเราว่า ‘คุณเนม’ ก็เลยยอมรับว่าค่อนข้างคุณหนูเหมือนกัน
มันเป็นข้อดีข้อเสียอะไรมั้ยครับ อย่างเวลาไปเจอเพื่อนในโรงเรียนที่บางคนอาจจะมีความเรื้อนกว่าเรา
เนม : สมัยประถมจะไม่ค่อยเป็นเด็กที่ลุยหรือขี้เล่นจนถึงโต อยู่ในโซนของตัวเอง เราจะมีความนิ่ง ไม่ค่อยพูดเยอะ พ่อแม่ก็เลี้ยงแบบทะนุถนอม มีคนรถไปส่ง แต่เราก็เห็นเพื่อนคนอื่นเค้าดูเหมือนพ่อแม่ปล่อยกว่าเนม คนอื่นเค้าจะมีความลุยกว่า มันเริ่มรู้ตอนโตเวลาเพื่อนคนอื่นอยู่กับพ่อแม่ คนดู relax กว่าเวลาเนมอยู่กับพ่อแม่ มันควรจะสนิทกว่านี้ บางอย่างก็คุยกับพ่อแม่ไม่ได้หมด
นต : บ้านผมก็เป็นนักธุรกิจ แต่ก็ไม่ถึงขนาดคุณหนู พี่เนมจะเจอเรียกว่าคุณเนม แต่ของผมจะเจอเรียกว่า ‘คุณน้อง’ ทุกวันนี้แม่บ้านที่อายุเด็กกว่าผมก็ยังเรียกผมว่าคุณน้อง พนักงานที่ออฟฟิศก็เรียกว่าคุณน้อง เหมือนเป็นคำที่เค้าเรียกตาม ๆ กันมา คุณพ่อนตก็เป็นอาจารย์สอนศิลปะที่จุฬา ฯ เค้าก็จะมีความปล่อยเลย สบาย ๆ ลูกอยากกระโดดเล่นคลองหลังบ้านก็ไปเลย แต่ถ้าแม่มาก็นะ …โอเค ๆ
การมีส่วนผสมของความเป็นนักธุรกิจและศิลปินภายในบ้านมันมีส่วนช่วยเราอย่างไรบ้างรึเปล่า
นต : ก็ใช่นะครับ เหมือนเข้าใจทั้งสองโลก เข้าใจทั้งสองมุม คุณแม่และญาติ ๆ ก็เรื่องระเบียบไม่แพ้ทางพี่เนม แต่จะมีคุณพ่อที่ปล่อยเรา เราก็เลยได้บาลานซ์ทั้งสองฝ่าย พอเจอคนบุคคลแบบไหนก็จะรู้ว่าเราควรวางตัวยังไง
เนม : เนมจะมาเรียนรู้การอยู่ในโลกแบบลุย ๆ ตอนเนมโตแล้ว เพราะจะได้เจอคนเยอะ อย่างตอนมาทำงานตรงนี้
เนมไปเรียนต่างประเทศเร็วมากใช่มั้ยครับ
เนม : ใช่ครับ ไปตั้งแต่จบ ป. 4 ยังไม่สิบขวบเลยครับ พ่อแม่ส่งไปอังกฤษ เป็นผู้ดีอังกฤษ เป็นโรงเรียนประจำ อยู่ใกล้ ๆ ปราสาทวินด์เซอร์เลย แต่งเครื่องแบบ ผูกเนกไททุกวัน พอเข้าแฮโรลด์สคูลมีแยกบ้านเหมือนแฮรี่ พอตเตอร์ (แฮรี่ พอตเตอร์ก็ถ่ายทำที่นี่) ระเบียบมากต้องใส่หมวกฟาง tail coat วันธรรมดาก็ใส่เนกไท สูท เต็มทุกวัน เหมือนดูเป็นคนเรียบร้อย แต่จริง ๆ เราก็มีแอบลงไปซื้อเหล้าแล้วเอามาขายเพื่อนที่โรงเรียน จนถึงขั้นเพื่อนที่มาซื้อดื่มกันจนครูจับได้และโดนไล่ออก แล้วก็จะมีพวกมาม่า cup noodles เราขาย 1 ปอนด์ต่อคัพเลย เอามาจากเมืองไทย ถือว่าเป็นช่วงเกเรนิดนึงตอนนั้น
นต : นตไปตอนประมาณ ม. 3 ครับ ตอนนั้นก็ประมาณ 14-15 จริง ๆ ตอนนั้นก็ตั้งวงกับไปร์ท (มือกลอง Getsunova) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เล่นมาด้วยกันตั้งแต่ ม. 1 แต่ตอนที่ผมจะไปเมืองนอกตอน ม. 3 ผมมีเพื่อนสนิทอีกคนนึงที่สนิทกันมาก โคตรรักกันเลย แล้วเค้าจะไปเรียนอังกฤษพอดี เราก็เฮ้ยเพื่อนจะไป เราก็เลยไปด้วย แล้วปรากฏว่าเพื่อนเทไปอเมริกา เราเลยเซ็งเลย แต่มีข้อดีคือมันก็เลยฝากเพื่อนคนนึงไว้ ซึ่งต่อมากลายเป็นคนสำคัญที่สุดในชีวิตคนนึงก็คือ นาฑี (มือกีตาร์ Getsunova) ตอนนั้นนาฑีมันก็คูลที่สุดของเด็กไทยในอังกฤษเลย เพื่อนผู้หญิงก็เยอะ เพื่อนผู้ชายก็มีเป็นแก๊ง ใครอยากจะเข้าแก๊งนี้ก็ต้องมาหานาทีเลย ทุกคนก็เรียนโรงเรียนประจำ พอเวลาเสาร์-อาทิตย์ก็มาเจอกัน ใครจะนั่งโต๊ะที่มีนาฑีอยู่ได้เนี่ยต้องกินเหล้าดวลกับมันอ่ะ ต้องมีดวลช็อตสู้กัน อย่างผมเป็นรุ่นน้องเวลาเข้ามาก็จะต้องกินช็อตกันกี่ช็อตเหมือนรับน้อง กินแอปซินธ์ ใครกินได้ก็ผ่านเข้ารอบ อยู่ด้วยกันได้ (หมายเหตุ : Absinthe แอบซินธ์ หรือ แอบแซ็งธ์ คือ เหล้าชื่อดังอันทรงพลังที่คอเหล้าทั้งหลายรู้จักกันดี คิดค้นขึ้นโดยนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส ปิแยร์ โอร์ดิแนร์ ความแรงของแอบซินธ์อยู่ระหว่าง 50–75 ดีกรี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกลั่นให้อยู่ที่ 60 ดีกรี คำว่า Absinthe มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน “Absinthium” ที่มาจากภาษากรีก “Apsinthion” แปลว่า “ไม่สามารถดื่มได้” )
The Lucky Beginning เริ่มต้น…ที่ความ ‘โชคดี’
ช่วงเวลาแถว ๆ นั้นรึเปล่าที่เนมกลับมาออกอัลบั้มที่เมืองไทย
เนม : ใช่ครับ คือต้องใช้คำว่าโชคดีด้วย ผมต้องยอมรับตรงนี้ว่าคุณพ่อหรือคุณน้าผมเป็นเพื่อนสนิทของคุณ บุษบา ดาวเรือง แล้วก็อยู่ดี ๆ ก็ได้ทำอัลบั้มกับกรีนบีน (เป็นค่ายสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ของแกรมมี่) มีพี่อาร์มเป็นคนดูแล (ผู้บริหาร White Music ที่ Getsunova ทำงานด้วยในปัจจุบัน) ผมไม่รู้ว่าผมทำได้ยังไง แต่ผมจำได้ว่าผมต้องทะเลาะกับพ่อแม่หนักมากเพื่อมาออกอัลบั้ม เพราะผมต้องหยุดเรียนไปปีนึง ตอนเรียนที่เมืองนอกตอนนั้นมันจะมี option ให้เราเลือกเทค Gap Year ซึ่งเราสามารถที่จะเลือกไปไหนก็ได้ในปีนั้น ไปเดินทางรอบโลก ฝึก work experience ที่นี่ที่นั่น เราเลยเลือกที่จะเป็นนักร้อง เลยทะเลาะกับพ่อแม่หนักมาก ร้องไห้ร้องห่มสู้กันเลย เหมือนเค้ากลัวว่าเราจะไม่กลับไปเรียนต่อ
นต : ซึ่งถ้าตอนนั้นดังก็คงไม่กลับไปเรียนจริง ๆ น่ะ
เนม : นั่นสิ โชคดีนะที่ไม่ดัง (หัวเราะ) เป็นอัลบั้มที่ผมงงมากเลย นี่ก็เกือบจะ 20 ปีแล้ว
ผมจำได้ว่าซิงเกิลแรกคือเพลง ‘Princo’ ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อของ CD-R สุดฮิตในยุคที่พวกเราไรท์ซีดีกัน ในตอนนั้นทำงานกันยังไง
เนม : ผมจะมีทีมโปรดิวเซอร์ จำได้ว่าตอนนั้นผมอยากจะเป็นบริตพอป ผมมีส่วนร่วมในการเขียนเนื้อเพลงหลายเพลงอยู่เหมือนกัน แต่ในเรื่องของดนตรีผมเองก็ยังแต่งเองไม่เป็นหรอก เค้าก็เหมือนทำเพลงมาให้ คือตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าเพลงดีไม่ดี แต่มีคนทำให้เราแล้วตั้ง 10 เพลง เราก็ร้องไปดิ เอาดิวะ บางเพลงมันดีนะอัลบั้มนั้นน่ะ
นต : ที่จริงมันดีนะครับ ผมว่ามันดีนะ
ป๋าเต็ด : จริง ๆ ซาวนด์มันต่างจากเพลงแกรมมี่ในยุคนั้นด้วยซ้ำไป มันมีอะไรแบบที่ก็ไม่ได้แมส และก็ไม่แมสจริง ๆ (หัวเราะ)
เนม : มันมีความขาด ๆ เกิน ๆ ด้วยลุคของเนมในตอนนั้น ที่มีทีม PR เค้าจับแต่งตัวใส่แว่นหนาเตอะขอบดำอะไรอย่างนี้ แล้วผมยาวรากไทร คือมันคงไม่ใช่ลุคที่เมืองไทยต้องการในตอนนั้น
นต : ผมว่ามันกลาง ๆ ไปมันไม่สุดไปฝั่งอินดี้เลย และมันก็ไม่ได้สุดมาฝั่งเมนสตรีมนะ
ป๋าเต็ด : นี่มันก็เป็นปัญหาเลย ที่เราอยู่ตรงกลาง ๆ มันก็เลยทำให้ฝั่งอินดี้ก็ไม่เอา ฝั่งเมนสตรีมก็ไม่เอาอีก
เนม : อีกอย่างนึงผมว่าประเด็นหลักเลยที่ผมต้องพูดเลยว่าที่มันไม่ success มันอยู่ที่ตัวผมนี่ล่ะ คือ หนึ่งเลยเสียงร้องของเนมตอนนั้น มันยังไม่ใช่แบบที่คนรู้จักในทุกวันนี้ เสียงร้องเนมตั้งแต่นั้นมาจนถึงก่อน ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ มันไม่ใช่แบบที่ทุกคนจำได้ แล้วก็จะมีคนวิจารณ์เยอะเรื่องเสียงเนมตั้งแต่ไหนแต่ไรเลย และเราเป็นคนที่ค่อนข้าง self เรื่องร้องเพลง เพราะเราเกิดมาในครอบครัวที่มีญาติพี่น้องเป็นคนที่ร้องเพลงเก่งมาก (เช่น คุณ วิฑูร ศิลาอ่อน) แล้วพ่อก็เป็นคนชอบเล่นดนตรีมาก่อน แล้วเราไปเรียนเมืองนอก แล้วเราอยู่ใน Choir ที่ได้ร้องเพลงในโบสถ์ที่ได้คัดเลือกจากทั้งโรงเรียนไปอยู่ แล้วได้มาทำงานที่เราควรจะภูมิใจแต่กลับถูกคนวิจารณ์เราเยอะ ถึงขนาดมีรุ่นพี่คนนึงมาเล่าให้ฟังว่าพี่เปี๊ยกดีเจสยามถึงขนาดเดินมาบอกรุ่นพี่ผมตอนที่กำลังเลือกซื้อซีดีว่า แผ่นนี้อย่าซื้อ ไม่ต้องซื้อ ! (หัวเราะ)
ป๋าเต็ด : แล้วหลังจากนั้นได้เคลียร์กับพี่เปี๊ยกมั้ยครับ
เนม : ได้เคลียร์ครับ พี่เปี๊ยกก็บอกว่าตอนนั้นมึงร้องแย่จริง อะไรประมาณนั้น
แล้วเรายอมรับรึเปล่าว่าตอนนั้นเรายังไม่ถึง
เนม : ยังไม่ถึง แล้วก็ผมจะร้องเพราะ ตอนที่เสียงยังไม่แตกเป็นโซปราโนอะไรแบบนี้ พอแตกปุ๊บเนี่ย เสียงพูดมันก็จะมีความเป็นเป็ด ๆ อยู่แล้ว เลยหาช่องไม่ถูก ยังไม่เจอช่องที่มันใช่ พอกลับมาฟังแล้วมันก็ไม่เพราะจริง ๆ
นต : เพลง ‘รูปที่ยังวาดไม่เสร็จ’ นั่นน่ะดี พี่เนมเขียนเองด้วย อันนั้นน่ะผมแนะนำ
ได้เขียนไปกี่เพลงครับตอนนั้น
เนม : มี 4 เพลงครับ มีแพลงนึงชื่อ ‘แพนด้า’ แล้วก็มีเพลง ‘รูปที่ยังวาดไม่เสร็จ’ ‘Please Hold My Hand’ มันเขิน (หัวเราะ) แล้วก็อีกเพลงนึงชื่อ ‘So What’s Your Name?’ ก็น่าจะเขียนเอง
นต : พูดชื่อมา มันก็น่าจะเขินจริง ๆ (หัวเราะ)
เสียใจมั้ยที่การทำงานครั้งนั้นมันไม่เวิร์ก
เนม : ไม่ได้ถึงกับเสียใจแต่มันเป็นความอายในตัวเองบางอย่างมากกว่า คือมันอายเพื่อน อายคนที่เห็นเรา เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก มีคนวิจารณ์แล้วเราก็คิดเยอะ แต่ไม่ถึงกับโศกเศร้า มันเฟลอ่ะ คิดว่ามันจะเท่มีอัลบั้มของตัวเอง มีแผ่นคาราโอเกะ เฮ้อ เสียดายไม่อยากจะอวด เพื่อนฝรั่งก็ถามเป็นไงมีอัลบั้ม
มันส่งผลให้อยากทำเพลงต่อหรือเปล่า
เนม : ส่งผลให้อยากทำเพลงต่อ เพราะว่าหนึ่งเลยเราอยากมีวงเป็นของตัวเอง เรารู้สึกว่าเรามีอะไรที่อยาก offer มากกว่านี้ ภาพที่เราเห็นมันมากกว่านี้
และนี่ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของ Getsunova ตอนนั้นมันเริ่มต้นได้ยังไงครับ
นต : ช่วงที่เค้าปล่อยอัลบั้มนี้ออกมา เราก็เหมือนเป็นกองเชียร์อยู่แล้วนะ เหมือนพี่เนมเค้าก็มาขายฝันเราไว้ ‘เนี่ยเดี๋ยวพออัลบั้มนี้จบนะ กูจะมาพวกมึงเข้ามาแกรมมี่’
เนม : เฮ้ยสบายรู้จักเค้า เข้ามาเลย (หัวเราะ)
นต : ก็เริ่มทำเดโมเลย แต่ว่าแน่นอนมันก็มี ไอ้จุดที่พี่เนมเค้าบอกว่า อันนี้มันยังไม่ใช่ มันก็เลยเป็นการบ้านของวงว่าอะไรที่ใช่ เราก็จะทำให้มันเป็นบริตร็อก หรืออินดี้บริตให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วเราอยู่กันที่อังกฤษก็เริ่มจากการไปดูคอนเสิร์ตด้วยกันก่อน มันก็ดูตลกดีที่เราเริ่มจากการดูคอนเสิร์ตก่อนที่จะเริ่มแต่งเพลง เราก็เริ่มคุยกันว่าชอบวงอะไร แน่นอนยุคนั้นก็มี The Libertines , Arctic Monkeys ก็คือ reference หลักชอบ
เนม : The Strokes !
นต : ถูกเลย แล้วก็เราก็ทำเดโมอะไรกันมาหลาย ๆ เพลง ก็ทำกันอยู่เยอะหลายรอบนะ ก็ยังมีกลุ่มโปรดิวเซอร์เก่าที่ทำเพลงกับพี่เนม เราก็เอาเพลงที่ทำนี่ล่ะไปส่งเค้า แล้วก็ทำเดโมไปส่งค่ายสนามหลวง
เนม : นี่ผมก็เลยอยากถามป๋าเต็ดว่า…
ป๋าเต็ด : คือจะถามว่ามาเจอผมได้ยังไงใช่มะ ก็ดีเหมือนกัน ก็เมื่อกี๊ก็เพิ่งคุยกันว่า เราทำงานด้วยกันตอนอยู่สนามหลวง แต่เราไม่มีโอกาสได้คุยกันแบบนี้เลยเนอะ มันจะเป็นแบบนัดมาเจอกันแล้วก็คุยกันนิดนึง จุดเริ่มต้นมันหยั่งงี้ มีวันนึงผมนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงานในสนามหลวง ตอนนั้นผมกลับจากแฟต เรดิโอ กลับมาทำแกรมมี่ อากู๋ให้มาทำสนามหลวง ระหว่างนั้นก็มีโทรศัพท์มาอากู๋โทรมา อากู๋พอเค้านึกอะไรออกเค้าจะโทรเลย แล้วเสียงฟังดูรู้ว่ากำลังประชุมนั่งหัวโต๊ะอยู่เลย เค้าก็บอกว่า ‘เต็ด มันมีวงนึงส่งเดโมมาลองเอาไปดูซิ เผื่อว่ามันจะเข้ากับสนามหลวง’ ผมก็ไปรับแผ่นมา ปกติวันนึงเราจะฟังเดโมกันเยอะมาก แล้วแผ่นเดโม Getsunova แผ่นนั้นน่าเสียดายที่ตอนนี้ผมหามันไม่เจอ ด้วยความที่มันเป็นแผ่น Princo CD-R มาเลย แต่มันไม่ได้มาแค่เพลง มันเหมือนกับมีภาพถ่าย มี look book แบบพวกผมจะแต่งตัวแบบนี้อ่ะ แล้วเหมือนไปถ่ายที่บ้านนาฑีด้วยใช่มั้ย
เนม / นต : ใช่ ๆ ๆ ครับ จ้างตากล้องมาเลย พี่เชนมาเลย
ป๋าเต็ด : โห เชน ตอนนั้นก็ถ่ายปกแฮมเบอร์เกอร์ A day อะไรอย่างนี้นะ ปกติเดโมมันจะเป็นภาพถ่ายกันเอง ถ่ายแบบง่าย ๆ แต่นี้แบบ โห เอาจริงเว้ย เหมือนมีเล่าประวัติ มีอะไรค่อนข้างครบ ผมยังคุยกับทีมงานเลยว่า นี่มันเหมือนกับถ่ายปกมาเสร็จแล้ว พร้อมออกเลย ผมจำไม่ได้ว่ามันมีเพลงอะไรบ้าง แต่พอดูข้อมูลว่าทำเพลงเองด้วยก็เลยสนใจ เพราะสนามหลวงเราอยากได้วงที่ทำเพลงเองด้วย ก็เลยเรียกมาคุย นี่แหละที่มาคืออย่างนี้
Take Chances , Make Mistakes เข้าหาโอกาส…และเผชิญความล้มเหลว
ป๋าเต็ด : ผมจำได้ว่าตอนนั้นพอมาคุยกันแล้ว คุณก็มีเพลงมาประมาณหนึ่ง ผมก็ไปหาโปรดิวเซอร์ เพราะผมก็ไม่ได้มีความสามารถทางด้านดนตรีที่จะไปดูคุณในห้องอัดได้ ก็เลยได้ สก็อตต์ วงมอฟฟ์แฟตต์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ ที่เราเลือกสก็อตต์ก็เพราะว่าเค้าประสบความสำเร็จกับการทำงานกับ Slot Machine มา แล้วเป็นฝรั่งด้วยว่ะ งานคุณก็เป็นแนว ๆ ด้วยก็เลยได้เป็นงานอัลบั้ม ‘Electric Ballroom’ มา
คุณรู้สึกยังไงกับงานทำงานเพลงชุดนี้และการทำงานกับสนามหลวงบ้าง
นต : จริง ๆ ต้องบอกว่าตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราโคตรเท่เลยนะ ได้สก็อตต์ด้วย ได้สนามหลวงมีป๋าเต็ดที่ทำแฟตเรดิโอ มันถูกต้องที่สุดแล้ว ยังไม่ทันออกก็รู้สึกเท่แล้ว แน่นอนพอสก็อตต์มาเค้าก็เอาความ professional เข้ามา เข้ามาสอน เข้ามาซึมซับ สอนให้เล่นให้ตรงบีท รู้สึกว่าผลงานเราตอนนั้นมันล้ำสมัยเลย
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น
นต : ผมว่าเราทำถูกต้องทุกอย่างแต่แค่ มันเร็วไปสำหรับที่นี่ ตอนนั้นเราก็กำลังบ้าซินธ์ อิเล็กทรอนิกส์ ผมว่ามันเร็วไปประมาณ 2-3 ปี ตอนนั้นคนกำลังอินอีโม ร็อก ตอนนั้น Retrospect กำลังดัง
เนม : มันก็คงเป็นที่เสียงด้วยที่มันยังไม่นิ่งอ่ะตอนนั้น เราไม่ได้เสียงเหมือนพี่ เฟิด Slot Machine ที่ให้เสียงมันพุ่งไปแบบนั้น ยังไม่เจอเสียงของเรา
เรารู้สึกยังไงกับจุดที่เรายืนอยู่ ณ ตอนนั้น
นต : ตอนนั้นเริ่มท้อแล้ว ตอนแรกยังมีไฟ ปล่อย EP 3 เพลงกับป๋าเต็ด รู้สึกว่าไม่เป็นไรเพิ่งเริ่มต้น เลยมีกำลังใจมาทำต่อรอบสองกับสก็อต และทีมดี ๆ แถมมีพี่ย้ง ทรงยศ ทำ MV ให้ด้วย พอมันเซลฟ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งขึ้นสูงก็ยิ่งตกลงมาเจ็บ ก็เริ่มรู้สึกเฟลขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นก็ตั้งใจจะออก CD ด้วย และก็มาถึงช่วงท้ายของสนามหลวง ป๋าเต็ดก็มาทำ Big Mountain ตอนนั้นมันก็รู้เฟลละ ป๋าเต็ดไม่อยู่มันก็รู้สึกไม่มีหัวหน้าที่คอยยึดเหนี่ยว เหมือนเราถูกโยนไปนู่นไปนี่ ไม่รู้พี่เค้าต้องการเรารึเปล่า
เนม : ตอนนั้นเราก็คิดนะที่ป๋าเต็ดไม่อยู่แล้ว เพราะเราทำเค้าเจ๊งรึเปล่าวะ (หัวเราะ)
ป๋าเต็ด : ความจริงคืออย่างนี้ ตอนนั้นเนี่ยมันเป็นช่วงที่พี่ต้องเริ่มทำ Big Mountain แล้วโพรเจกต์มันใหญ่มากซะจน ทำพร้อมกันสองอย่างไม่ได้ ก็เป็นช่วงที่มาก่อตั้งหน่วยงานที่ชื่อ ‘เกเร’ แล้วสนามหลวงก็เปลี่ยนผู้บริหารไป เป็นช่วงรอยต่อ แล้วเวลาก็ผ่านไปแล้วก็ได้ยินว่า Getsunova ไปอยู่ทีมนี้ทีมนั้น กี่ปีอ่ะทั้งหมดตั้งแต่วันที่ออก EP. แรก
นต : EP. แรกก็ประมาณ 2007 แล้วก็มา ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ คือประมาณ 2012 ประมาณ 5 ปี
ป๋าเต็ด : สำหรับผม ผมว่ามันน่าสนใจสำหรับ 5 ปีนี้ ที่เราอยู่กับความคิดว่าเค้าต้องการเรารึเปล่า
เราอยู่กับภาวะนั้นยังไง
นต : ก็เหมือนยังดื้อรั้น ยังอยากทำ ยังรักดนตรีอยู่ เราก็ถูกโยนไปโยนมาจนได้มาเจอ พี่อั๋น ค่าย Duckbar เรา Getsunova ก็กล้าพูดเลยว่าผู้ให้กำเนิดคือ ป๋าเต็ด แต่ว่าก็จะมีพี่อั๋น ที่เราเรียกว่าเป็นผู้ชุบชีวิต ตอนนั้นชีวิตเราเหมือนวงมันตายไปช่วงนึง จนมาเจอพี่อั๋นที่ก็คงเห็นว่า วงมันเด้งไปเด้งมา ก็เลยมาดูแลต่อให้
Period of Struggling 5 ปี…แห่งการดิ้นรนและฝ่าฝัน
ป๋าเต็ด : ผมว่าตอนนั้นมันก็คงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ล่ะนะครับ ว่านี่มันวงไฮโซ วงลูกคนรวย เก่งจริงรึเปล่าวะ คุณอยู่กับเรื่องแบบนี้ยังไง คุณทำยังไงกับมัน
นต : จริง ๆ เราก็ไม่ได้เถียงนะ มันก็เป็นจริง ..
เนม : จริง ๆ มันก็เป็นจริงตามที่เค้าว่า ก็อย่างที่เนมบอกตั้งแต่แรก ว่ามันมีคอนเนกชัน อย่างนึงที่ไม่เถียงก็คือ ก็เราไม่เก่งจริง ๆ ตอนนั้น ก็ไม่ดีจริง ๆ
นต : ผมว่า 5 ปีที่มันเฟล มันค่อย ๆ บอกเราว่ามึงอย่ามาแต่ใช้เส้นสายหรือวิธีทางลัดอะไรนะ มันพรูฟว่าการมีเส้นมันไม่ได้ช่วยอะไรเลยในวงการดนตรี เพลงดังมันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ มันต้องเก่งเอง ทำเอง เลยมาถึงจุดที่เราคุยกันว่า เออมึงไม่เก่งอะไร มึงร้องไม่เก่งก็ฝึกร้องใหม่ อีกอันที่ผมว่ามันเป็นปัญหาของเราก็คือเนื้อเพลงมันไม่สื่อสารเลย ก็มาค่อย ๆ analyse กัน เราก็ต้องไปเรียนรู้เรื่องดนตรีใหม่ ร้องเพลงใหม่ ฝึกแต่งเพลงใหม่ มีจะเลิกไปแล้วด้วยนะตอนนั้น ให้พี่ฟองเบียร์เขียนก็ได้ครับ แต่การได้ไปอยู่กับพี่ฟองเบียร์ทำให้เราคิดว่าเราควรไปเรียนและฝึกเขียนเองจะดีกว่า จะให้เค้าเขียนตลอดก็ไม่ได้ และเราก็อยากเก่ง อยากเรียนรู้ พี่อั๋นก่อนที่จะให้เราออกซิงเกิลสุดท้ายของวงเราที่เราคุยกันตอนนั้นนะครับ ก็คือ ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ นี่ล่ะ เราคิดว่าแค่วงเราเฟลกันเองมันก็โอเคนะ แต่ให้ทีมของเราเฟลไปด้วยมันไม่ได้นะ นี่ล่ะครับคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราได้เริ่มต้นใหม่
การฝึกร้องนี่มันฝึกยังไงครับ จริงจังแค่ไหน
เนม : ก็ถูกส่งไปเรียนกับครูโรจน์ที่แกรมมี่นี่ล่ะครับ ผมไปเรียนเป็นปี ก็เรียนไล่สเกล เรียนอะไร วันนึงผมก็เริ่มร้องอีกแบบไปเลย เสียงนี่ไม่รู้ว่ามันมาให้เนมใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ด้วย ก็ยังไม่รู้วันไหนจากที่อยู่ดี ๆ เราร้องแบบนี้กลายมาร้องแบบนี้ แต่แน่นอนว่าครูโรจน์เจออะไรบางอย่าวงที่เนมไม่เคยรู้ว่ามันมี เจอวิธีการร้องแบบนี้ เจอเส้นเสียงแบบนี้
นตไปเรียนเขียนเพลงมาเป็นยังไงบ้าง
นต : ก็จะมีพี่ยักษ์เป็น lyric director แล้วเค้าก็จะพาเราไปรู้จักกับทั้งพี่ฟองเบียร์ พี่เป๋า พี่ตู๋ แล้วก็ไปนั่งฟังพี่ ๆ ทีมเพลงลุกทุ่ง เราก็เลยไปซึมซับตรงนั้น จังหวะนั้นผมปลดล็อกตัวเองหมดแล้วนะ ไอ้ความอยากเท่ อยากอะไร ไม่มีแนวเพลง แค่อยากสื่อสารให้เข้าใจ นั่นคือเป้าหมายเลย จากคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน จนรู้ว่าหนังสือนี่มันมีประโยชน์ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องเนื้อเพลงได้ง่าย ๆ เลย จากนั้นผมก็เริ่มไปเน้นเลย เข้าร้านหนังสือ ผมก็จะเลือกทุกอันที่เป็นอันดับ 1, 2, 3 อ่านให้เข้าใจ เอาที่พอปอย่างเดียว แสดงว่าคนต้องชอบ คนไทยต้องอยากฟังถ้ามันเป็นเนื้อเพลง ช่วงนั้นผมไม่ฟังเพลงเลย วางกีตาร์ วางคอม เข้าร้านหนังสืออ่านอย่างเดียว จนเจอคำที่มันย้อนแย้งกับได้กลิ่นแบบ ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ เลย จำได้ว่าทุกเล่มที่อ่านมันจะมีอะไรแบบนี้ มันเป็นวิธีตั้ง chapter สำหรับนักเขียนเค้า ถ้าคนเค้าชอบวิธีเล่าแบบนี้แต่ไม่มีใครเอามาเขียนเพลงเลย ถ้าเราดึงมาใช้ในเรื่องของเพลง มันก็เป็น identity ของเราได้เหมือนนะเนี่ย ในที่สุดมันก็ออกมาเป็นเพลง ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ พี่เนมเหมือนจะทุบหม้อข้าวแล้วถ้าเพลงนี้ไม่ดัง ก็จะเลิกเลย ด้วยมันเหนื่อยด้วย เราก็พยายามส่งเพลงไปเรื่อย ๆ ตอนแรกทุกคนไปส่งกันหมด จนมันเหนื่อยแทบไม่มีใครรู้สึกอยากไปส่งเพลงแล้ว บางทีตอนส่งเปิดเพลงแค่ขึ้นมาปุ๊บก็ปิดไม่เอาแล้ว จนในที่สุดมันก็ผ่านแค่เพลงเดียวคือ ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ นี่ล่ะที่ผ่าน ฟังจนจบฮุคแรก ยาวที่สุดแล้วที่เค้าจะฟัง
ได้มานั่งวิเคราะห์มั้ยครับว่าอะไรทำให้ ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ มันผ่าน
นต : ถ้าให้วิเคราะห์จริง ๆ ผมว่าก็คือเนื้อเพลงนี่ล่ะ แล้วก็แมสเซจของมันที่ถูกส่งออกมาคือ คำว่า ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ คำนี้มันยังไม่เคยถูกนำมาใช้ หรือวิธีการเล่าแบบนี้ตอนนั้นยังไม่มีใครเล่าได้ชัดเจน แล้วก็เมโลดี้ก็เป็นเมโลดี้ที่เข้าใจง่าย แปลกแต่ก็ไม่ได้แปลกเกินไป ฟังแล้วก็ติดหู
พอมัน release ออกมาแล้วมันน่าจะนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของ Getsunova เลยใช่มั้ยครับ อะไรที่มันเป็นจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นครับ
เนม : ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่ทุกสิ่งเกิดขึ้นเร็วมากครับ พอปล่อยออกมาแล้วก็ไปโปรโมคไปทัวร์ แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่แปลกประหลาด นั่นก็คือการแต่งตัวของพวกเราครับ ผู้ชายสี่คนปิดหน้า บวกกับชื่อเพลง บวกกับภาพโปรโมตผู้ชายใส่ชุดดำสี่คนเหมือนโหด แต่พอฟังเพลงแล้วไม่โหด มันเลยมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่แล้ว
แล้วเรื่องการใส่หน้ากากนี้มันมายังไงครับ
นต : คือพวกเราไปได้มีโอกาสไปงานอวอร์ดต่าง ๆ เยอะใช่มั้ยครับ เราก็สังเกตว่าทำไมวงร็อกต้องใส่สูทเป็นแพตเทิร์นกันไม่รู้เลยว่าวงไหนเป็นวงไหน แล้วมันมีวิธีไหนมั้ยที่มันแตกต่างเดินเข้ามาแล้วรู้เลยว่าเป็นวงนี้แล้วชี้ได้โดยที่ไม่ต้องมองหน้านักร้อง ก็เลยว่าเค้าจำหน้าวงที่เหลือได้อยู่แล้ว เราปิดหน้าให้เค้าตกใจเลยดีกว่า เลยกลายเป็นกิมมิกเรา แล้วช่วงนั้นเราก็พยายามไม่ใส่สูทก่อน เสื้อยืดก็ได้วะ แต่ปิดหน้าไว้ให้ดูแปลก แต่ทุกวันนี้ไม่แปลกแล้ว เพราะทุกคนปิดกันหมด ไม่ปิดสิแปลก (หัวเราะ)
อย่างชื่อเพลง ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ คล้าย ๆ จะกลายเป็นท่าไม้ตายประจำตัวไปแล้ว อันนี้ตั้งใจหรือตกกระไดพลอยโจน
นต : ก็มีแอบหยุดบ้าง แต่ผู้ฟังส่วนใหญ่เรียกร้อง ผมรู้สึกนะ ทุกครั้งที่เราปล่อยเพลงไม่ขัดแย้งออกมา ก็จะมาแก้กันให้ได้ นี่มันเพลง Getsunova ปลอมนี่หว่ าก็เป็นข้อดีละข้อเสียเหมือนกัน อันนึงที่เป็นข้อดีคือ พอมันขัดแย้งปุ้บไม่ว่าจะทำดนตรีแนวไหน คนก็จะรู้ว่าเป็น Getsunova จริง ๆ Getsunova แอบเปลี่ยนดนตรีเปลี่ยนสไตล์มาเยอะแล้ว แต่เราอยู่รอดได้โดยไม่มีใครครหาว่าเปลี่ยนแนวเพราะว่าเรายังใช้คำเหล่านี้เป็นชื่อเพลง มาเป็นตัวเชื่อมทุกอย่างอยู่ อย่าง ‘รู้ดีว่าไม่ดี’ กระแสฮิปฮอปกำลังมา เราก็เอาวะมาฮิปฮอปละ มี Youngohm มาฟีเจอริ่งด้วย ทุกคนก็ยังรู้สึกว่าเป็น Getsunova เหมือนเดิม DNA เรายังอยู่
Remain Successful รักษาความสำเร็จ
พอ ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ มันประสบความสำเร็จวิธีการทำงานของ Getsunova มันเปลี่ยนไปมั้ยครับ
เนม : มันก็มี debate ว่าแบบเพลงแรกมันประสบความสำเร็จขนาดนี้ คนจะมองว่าเป็น one hit wonder รึเปล่า จำได้เลย มันมีงานอวอร์ดวันนึง พี่โอม Cocktail มาบอกว่า เพลงนี้มันดีมากเลยแต่ระวังนะอย่าให้มันเป็น one hit wonder
นต : อย่างพี่พล ที่เป็นโปรดิวเซอร์ก็เคยพูดนะ แต่เราไม่เคยคิดถึงคำพูดนี้เลย จนกระทั่งตอนนั้นที่เราได้รับรางวัล nine entertain เรากำลังฉลองกันเลย พี่พลโทรมาว่า ‘นต มึงอย่าดีใจ’ คือเหมือนแทบจะโดนดุแล้ว ด้วยมุมความซีเรียสของพี่พลด้วย ‘อย่าเพิ่งดีใจ วันนี้เราได้รางวัล อีกแค่ปีเดียวรางวัลนี้ก็กลายเป็นของคนอื่นแล้ว ที่ที่เราดีใจอยู่ตอนนี้อีกแป๊ปเดียวมันก็หายไป ที่เราต้องทำคือตั้งใจทำเพลงดี ๆ แบบนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ’ แล้วในมู้ดผมตอนนั้นเราเป็นเด็ก กำลังดีใจก็โดนดึงมู้ดเลย มันเป็นจังหวะที่ผมเองก็ช็อกเหมือนกัน นี่ก็เพิ่งมาหลัง ๆ ไม่กี่ปีที่เราคิดถึงประโยคนี้แล้วรู้สึกว่ามันโคตรมีพลังเลยอ่ะ ถ้าไม่มีคนคอยพูดอะไรแบบนี้กับเรา กดเราไว้ไม่สปอยล์ เราอาจจะเหลิงไม่มีไอเดียที่อยากทำต่อ หลัง ๆ เราจำได้ว่าไม่มีมาฉลองกันแล้ว มีแต่คิดว่าจะทำยังไงต่อให้มันประสบความสำเร็จ
อยู่กันมา 16 ปีแล้วมันมีแนวโน้มที่จะวงแตกบ้างมั้ย
นต : ตอนที่รู้ว่าป๋าเต็ดเชิญ เราก็คิดแล้วว่าวงเราคงไปไม่ได้ว่ะ เพราะวงเรายังไม่แตก (หัวเราะ) ก็ไม่มีหรอกผมว่า มันไม่ถึงขั้นแตก แต่ทะเลาะผิดใจกันน่ะมี
ทริคมันคืออะไร ที่ทะเลาะกันแล้วยังสามารถอยู่กันต่อได้
นต : ของเราผมยังไม่เคยเห็นใครที่ทะเลาะกันแล้วไฝว้กันเลย ปกติพอทะเลาะกันแล้วมันจะมีคนคอยรับอ่ะ
เนม : ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเนมกับนาฑีนี่หล่ะ ที่เป็นคนคอยรับ มันจะมีอยู่ช่วงนึง ก่อน ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ ที่เราเฟล ๆ กันอยู่ ตอนนั้นไปร์ทร้องไห้เลย ช่วงนั้นเนมก็เกเร ๆ มาซ้อมสาย แล้วไปร์ทเค้าก็จะเป็นคนตรงเวลา เรียกซ้อมวันนี้เนมมาสาย ไม่มา มาก็ไม่ได้ตั้งใจ แล้วเหมือนมันเห็น มันก็บิลท์อัป แล้วเราไม่ถ่ายรายการเสร็จมานั่งกินข้าวเฟล ๆ กัน ไปร์ทหรือนตนี่ล่ะก็พูดขึ้นมา แต่จำได้ว่ามันมีการทุบโต๊ะแล้วก็ร้องไห้ เหมือนแบบไปร์ทกับนตแทบจะกรีดเลือดเลยนะที่ทำให้วงมันอยู่รอด ก็เลยอยากให้พี่เนมกับนาฑี put effort กันหน่อย ตั้งใจหน่อย
นต : แล้วมันได้ผลมั้ย
เนม : ก็ไม่ได้ผล (หัวเราะ)
นต : แต่มันก็ทำให้มีไฟขึ้นมา ผมว่าพอมันมีเพลงดังมันก็ทำให้ทุกคนสวิตช์กลับมา มีทางไปแล้ว ตอนนั้นผมว่าไอ้ทางฝั่งนี้ที่มันทุบโต๊ะก็เพราะว่ามันมีความท้อด้วยล่ะ ไม่ได้ว่าเราไปโกรธอะไรเค้านะ คือมันมองไปมันไม่เห็นทาง ก็เลยแบบขอสักหน่อยวะ (หัวเราะ)
จริง ๆ พวกคุณทั้งสี่ไม่จำเป็นต้องมีวงดนตรีก็ได้ แต่นี่ก็เหมือนพวกคุณตั้งใจทำแบบที่ไม่ใช่งานอดิเรกเลย ตั้งใจแบบนี้มานานแค่ไหนแล้วครับ
นต : ตั้งแต่ต้นเลยนะผมว่า มันคือการเอาจริงมาโดยตลอด ถ้าในมุมคิดกลับแบบไม่ต้องทำก็ได้ก็กลับบ้านไปทำธุรกิจที่บ้าน ผมว่าจังหวะนั้นที่กลับไปทำมันจะเฟลยิ่งกว่าไม่ได้ทำต่ออีก เจอหน้าพ่อแม่เนี่ย มึงกระจอกกลับมาเลยนะ ไปทำอะไรตั้งนานยังไม่เคยสำเร็จเลย มันเหมือนคนเฟลกลับมาขอตังค์พ่อแม่ ผมเองก็ไม่อยากทำยังงั้น ทุกคนก็ไม่อยากทำยังงั้น ยิ่งถอย มันยิ่งเป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ตลอดกาล ยิ่งคนบอกว่าแต่งเพลงไม่ดี เสียงไม่ดี วันนึงมันต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ถ้าปล่อยให้หลุดไป มันจะกลายเป็นเรื่องโจ๊กตลอดชีวิต
เนม : อีกอย่างเรามี believe ในหัวเรา เราไม่เคยหยุดที่จะเชื่อว่าเราทำได้ แต่มันเหมือนแค่แบบยังไม่เจออะไรที่เป็นเราจริง ๆ
Being Getsunova ความเป็น…เก็ตสึโนวา
ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาของการเป็น Getsunova มันมีช่วงเวลาไหนที่ประทับใจที่สุดครับ
เนม : ของเนมก็เป็นตอนที่ได้รับรางวัล Song of the Year ของ nine entertain มันเป็นความแฮปปี้ที่สุดอันนึงตั้งแต่ทำวงมา จังหวะที่เค้าประกาศชื่อเรากระโดดกันหมดดีใจที่สุด แล้ววันนั้นมีคุณพ่อมีน้องสาวมานั่งลุ้นอยู่ด้วย พอเค้าประกาศแล้วน้องสาวผมร้องไห้เลยดีใจมาก พ่อดีใจมาก พูดแล้วจะร้องไห้เลย เหมือนเค้าเห็นว่าเราพยายามมาแล้วเห็นเราประสบความสำเร็จ คือน้องสาวเราเค้าเป็น biggest critic ของเนมเลย คือมีอะไรก็จะให้เค้าฟัง แล้วเค้าจะบอกเราว่าอันนี้ไม่ดี ไม่ดี อะไรแบบนี้ แม้กระทั่งเพลง ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ มาให้เค้าฟังตอนแรกเค้าก็ไม่ชอบ บอกว่าเพลงอะไรวะมันไม่ใช่ แต่โมเมนต์ที่น้องสาวมานั่งดูเรารับรางวัลแล้วเค้าภูมิใจในตัวเราว่าเราทำได้แล้วนะ
นต : ของผมให้นึกขึ้นมาเร็ว ๆ ตอนนี้ก็คงจะเป็นตอน Big Mountain รอบที่เรากลับมาอีกที อย่างครั้งแรกที่เราไปมันเป็นโจ๊กติดตัวมาตลอด ได้เล่นแล้วนะเว่ยแต่มันไม่มีคนดู ไม่มีคนร้องเพลงเราได้เลยสักแอะ แต่พอกลับมามันไม่ได้มีเพลงเดียวแล้ว มันเป็นโชว์จริง ๆ ขึ้นไปจับกีตาร์แล้วมันก็เหมือนลอย ๆ ทุกสิ่งผ่านเข้ามาและผ่านไป อธิบายไม่ถูก จำไม่ได้เลยว่าผมเล่นยังไงเดินท่าไหน แต่จำความอิ่มได้ มันพีคสุด ๆ เลยตอนนั้น มันเหมือนเป็นเส้นชัยให้เราปลดล็อกอะไรทุกอย่าง ว่ามันคุ้มค่าแล้วกับสิ่งที่พยายามมาโดยตลอด
ตลอดชีวิตการทำงานมาจนถึงวันนี้ บทเรียนที่สำคัญที่สุดคืออะไรครับ
นต : ผมว่าต้องฟังผู้ใหญ่ เรียนรู้จากประสบการณ์ผู้ใหญ่นี่ล่ะเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุด ที่เราเฟลตอนแรก ๆ มันอาจจะเป็นเพราะว่าผมไฟแรงและไม่ฟังคำแนะนำ ก็แข็งข้อคิดว่าตัวเองเก่ง เจ๋งแล้ว พอมันมาถึงจุดนึงไอ้ความล้มเหลวทั้งหลายมันสอนให้เรารู้ว่าถ้าเราฟังเค้า มันน่าจะพาเราไปยังจุดที่ดีกว่านี้ มันมากระเทาะเราจนพบว่าเรามันเป็นแค่ไอ้เด็กกระจอก และให้เราไปเรียนรู้จากเค้า ฟังทุก ๆ คำสอนที่เค้าสอนเรา ทุกวันนี้เราก็คิดว่าเราเป็นมนุษย์คนนึงที่พร้อมจะรับฟัง หรือเด็กรุ่นใหม่มาเราก็ต้องพยายามเข้าใจเค้า รับฟังและเรียนรู้ด้วย ฟังผู้ใหญ่เนี่ยผมใช้มาสักพักแล้วนะ แต่ผมเพิ่งมาเรียนรู้ว่าต้องฟังเด็กมันด้วยนะ เด็กเก่งมันเยอะมาก
เนม : เนมเรียนรู้อย่างนึงว่าเราต้องมีความอดทน มันเป็นคำนึงที่แบบเราจะทำอะไรก็ตามเราต้องมีความอดทนในสิ่งที่เราทำอยู่ เราต้องยอม sacrifice ตัวเอง ยอมเหนื่อย เพื่อให้สิ่งที่เราทำอยู่มันออกมาดี ถ้างานเราออกมาดี เราก็จะแฮปปี้ คนดูแฮปปี้ ทุกคนแฮปปี้ เนมรู้สึกว่าเวลามันไม่รอใคร เราไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรในอนาคต เราก็ควรที่จะต้องทำในสิ่งที่เราทำอยู่ให้ดีที่สุด อะไรที่มันยังค้างคาใจว่าเรายังไม่ได้ทำ เราก็ควรที่จะทำมันขึ้นมาให้ได้ อยากจะใช้ชีวิตในทุกทุกวันให้มันดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เนมก็เริ่มวงนี้ตั้งแต่เด็กจนตอนนี้มีลูกหนึ่งแล้ว คือเวลามันเดินเร็วมาก มันไม่เคยรอใครเลยจริง ๆ ก็พยายามทำทุกอย่างที่เราทำอยู่ให้มันดีที่สุดแล้วเราก็จะภูมิใจกับมันครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส