ออกฉายมาตั้งแต่ 4 กันยายนที่ผ่านมาทั้งทางสตรีมมิง Disney+ สำหรับประเทศที่มีแพลตฟอร์มนี้ให้บริการ และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์สำหรับประเทศที่ไม่มี (อย่างเช่นในประเทศไทย) What the Fact ได้เคยนำเสนอเรื่องราว “9 เรื่องน่ารู้ ก่อนดู Mulan ฉบับคนแสดงของ Disney” ซึ่งอุดมไปด้วยดราม่าต่าง ๆ ของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมถึงดราม่าที่เกิดจากนักแสดง “หลิวอี้เฟย” ผู้มารับบท มู่หลาน แต่ดูเหมือนว่าหลังจากหนังฉายแล้วก็ยังมีดราม่าเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก
Mulan เปิดตัวในประเทศจีนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างดับฝัน Disney ที่หมายมั่นจะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นของฮิตในบ้านเกิดของเรื่องราวที่นำมาทำเป็นหนัง รวมถึงยังจะเป็นประเทศที่โกยรายได้ให้ถึงทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ แต่ล่าสุดตามรายงานของ Deadline เปิดเผยว่า Mulan จะทำรายได้สุดสัปดาห์นี้ไปไม่เกิน 25 ล้านเหรียญฯ จากที่ Disney อยากให้เป็น 100 ล้านเหรียญฯ (เพราะตลาดจีนเปิดตัวหนังฟอร์มยักษ์กันที่ระดับนั้น) ถึงขนาด Disney ยอมตัดตัวละครมังกร Muzu ออกไป เพราะเมื่อครั้งฉบับปี 1998 บังเกิดดราม่าในหมู่ชาวจีนว่า เอาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศมาทำเป็นตัวตลก
และนักวิเคราะห์ก็มองว่า หนังคงปิดโปรแกรมไปได้แค่ 100 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น ส่วนรายได้ทั่วโลกนอกสหรัฐฯ นั้น ตอนนี้ทำรายได้ไปแล้ว 11.3 ล้านเหรียญฯ และทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง Disney+ ก็ทำรายได้ไป 33.5 ล้านเหรียญฯ
Mulan ยังกลายเป็นหนังผลงานที่ได้รับการจัดอันดับและได้คะแนนต่ำที่สุดของเว็บไซต์ iMDB ซึ่งเป็นเว็บฐานข้อมูลวงการภาพยนตร์ที่เปิดให้คอหนังทั่วโลกมาให้คะแนนหรือเรตติ้งกับหนังได้ด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คะแนนไปเพียง 5.4/10 เท่านั้น เมื่อเทียบกับ Mulan ฉบับการ์ตูนแอนิเมชันเมื่อปี 1998 หนังก็ยังได้คะแนนน้อยกว่าเยอะ เพราะเรื่องนั้นทำไปได้ถึง 7.5/10 เลยทีเดียว และเมื่อเหลียวมองไปที่คะแนนเฉลี่ยส่วนใหญ่ในหมู่ผลงานไลฟ์แอ็กชันจากหนัง Disney ด้วยกันแล้ว ก็พบว่า คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 โดยหนัง ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ The Jungle Book (2016) ของผู้กำกับ Jon Favreau ได้ไป 7.5/10
ดราม่าเรื่องถัดมาเริ่มต้นขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีแฟนหนังตาดีเห็นช่วงเครดิตตอนจบของเรื่อง ทีมงานได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานของรัฐหลายแห่งในเขตปกครองตนเองซินเจียง รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะในเขตถูหลู่ฟาน (Turpan) และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการภูมิภาคพรรคคอมมิวนิสต์ เขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลในมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ทางการของเขตปกครองตนเองซินเจียงแห่งนี้ เป็นหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของซินเจียง และถูกกล่าวหาจากประชาคมโลกว่า ควบคุมตัวชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชาวมุสลิมถึง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคาราคาซังกันอยู่บนเวทีโลก
นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านจีนระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะในถูหลู่ฟานมีหน้าที่ดำเนินการค่าย “ปรับทัศนคติ” ของจีนซึ่งเป็นค่ายที่เชื่อว่ามีการควบคุมตัวชาวอุยกูร์เอาไว้เป็นจำนวนมาก ด้านสภาอุยกูร์โลกได้ทวีตข้อความระบุว่า ในภาพยนตร์เรื่องนี้เชื่อมโยงกับค่ายกักกันในเตอร์กิสถานตะวันออก ขณะที่ชอว์น จาง นักกิจกรรมก็ออกมาวิจารณ์ Disney เช่นกัน โดยตั้งคำถามว่า มีชาวอุยกูร์มากแค่ไหนที่ถูกกักกันอยู่ในค่ายกักกันระหว่างที่ Disney ถ่ายทำภาพยนตร์ Mulan กันอยู่
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2017 Niki Caro ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้โพสต์ภาพเมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงผ่านอินสตาแกรม ส่วนทีมงานเบื้องหลังก็ได้เผยกับนิตยสาร Architectural Digest ว่า พวกเขาใช้เวลาหลายเดือนในซินเจียงเพื่อศึกษาสถานที่ถ่ายทำ
BBC รายงานข่าวว่า ขณะนี้สตูดิโอ Disney ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการใช้สถานที่ถ่ายทำและให้เครดิตขอบคุณดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลจีนก็ยืนยัน ค่ายกักกันหรือค่ายปรับปรุงตัวในเขตปกครองตนเองซินเจียงนั้นตั้งขึ้นตามความจำเป็นต่อความมั่นคงในพื้นที่นั้นของประเทศจีน
นอกจากนั้นยังมีรายงานจาก Reuters อีกว่า รัฐบาลจีนได้ร้องขอ (หรือก็คือบังคับนั่นเอง) ให้สำนักข่าวต่าง ๆ ในจีนไม่รายงานข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ Mulan ไม่ว่าจะในเนื้อหาเรื่องใดรวมถึงการโปรโมตภาพยนตร์ด้วย หลังจากมีข้อสังเกตจากแฟนหนังทั่วโลกว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเข้าไปถ่ายทำที่เขตซินเจียง
สื่อจีนอย่างน้อย 3 แห่งยืนยันว่า ได้รับการติดต่อจากสำนักงานดิจิทัลของรัฐบาลจีนไม่ให้รายงานข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่สร้างจากตำนานวีรสตรีชาวจีนเรื่องนี้ ขณะที่อีกหนึ่งสำนักข่าวก็รายงานว่า ได้รับคำสั่งเดียวกันผ่านทางข้อความโทรศัพท์ โดยทั้งหมดไม่ได้ระบุเหตุผลว่าเพราะเหตุใดถึงให้รายงานข่าวนี้ไม่ได้ นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า เหตุการณนี้สืบเนื่องมาจากทางการจีนไม่อยากให้มีการพูดถึงประเด็นเรื่องชาวอุยกูร์ขึ้นมาอีก หากมีการเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์หนัง Mulan
ขณะที่เมื่อวันพุธที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าว Global Times ของรัฐบาลจีนตีพิมพ์บทความวิจารณ์ภาพยนตร์ Mulan ว่าเป็นการมองชนชาติจีนอย่างสุดโต่งจากสายตาของชาวอเมริกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทีมผู้สร้างไม่ได้ตั้งใจจะทำความเข้าใจวิถีวัฒนธรรมของชาวจีนเพื่อถ่ายทอดออกมาให้เป็นภาพยนตร์ระดับโลก แต่เน้นไปที่การนำเสนอภาพยนตร์แบบแมสและฉาบฉวย เพียงเพื่อให้ผู้ชมทั่วโลกเข้าถึงได้มากกว่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส