หากไม่ใช่ช่วงเวลาของสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้ เชื่อว่าหนังที่ใช้ฉากหน้าในการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นหนังสยองขวัญตั้งแต่ตัวอย่างแรกและโปสเตอร์ต่าง ๆ อย่าง Antebellum น่าจะเป็นที่พูดถึงมากกว่านี้ในเรื่องของความ “เหวอ” ของหนังที่มาจากการหักมุมในองก์ที่ 3 ของเรื่อง ซึ่งต้องบอกว่า คอหนังคนไหนที่อยากจะดูในโรงช่วงนี้ ก็ควรต้องรีบไปดูก่อนโดยสปอยล์ หรือถ้าจะอยากเก็บไว้ดูในอนาคตก็ขอให้อยู่รอดปลอดภัยก่อนจะถึงเวลานั้น และสำหรับใครที่ได้ชมไปแล้ว และอยากจะรู้ที่มาที่ไปของผู้กำกับว่า อะไรทำให้เขาเลือกจะหักมุมหนังแบบนี้ What the Fact ขอชวนมาถกกันอย่างเต็มสูบ
(ย้ำอีกครั้ง หลังจากย่อหน้านี้ไปจะสปอยล์เต็มสูบแล้วนะ)
เริ่มกันตั้งแต่ตัวอย่างแรกที่ออกมา ซึ่งลูกเล่นการตัดต่อหลาย ๆ อย่าง ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังฉบับเต็มทั้งหมด ภาพจากตัวอย่างจงใจให้เราปะติดปะต่ออะไรไม่ได้มากนัก นอกจากชวนให้คิดว่าหนังจะมาในแนวสยองขวัญ (สิ่งลี้ลับบางอย่างที่เข้ามาทำร้ายนางเอก ภาพของคนทำท่าทางประหลาด ๆ ) หรือหนังผีสุดหลอน (เด็กน้อยสวมชุดโบราณ) และก็อาจจะพอเดาได้ว่าหนังน่าจะเกี่ยวข้องกับ “ช่วงเวลาในอดีต” ที่เห็นภาพของคนผิวดำในยุคสงครามกลางเมืองกำลังทำไร่ (อย่างในหนัง 12 Years a Slave (2013) หรือ Django Unchained (2014)) หรือรถม้าที่โผล่เข้ามาในยุคปัจจุบัน ทำให้เห็นว่า ฉากเหล่านี้ที่อยู่ในเรื่องจริง ๆ แล้ว กลับดูไม่สมเหตุสมผลเลย แต่กลับได้ผลอย่างมากในการนำมาตัดเป็นหนังตัวอย่าง แต่ก็ยังงง ๆ ว่าเสียงเรียกขอความช่วยเหลือ 911 ในยุคปัจจุบันนั้นมาเกี่ยวอะไรกับภาพของอดีต
พอมาถึงตัวอย่างที่ 2 ตัวอย่างเปิดมาด้วยตัวละครของนางเอก Veronica ที่ดูจะเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจอะไรสักอย่าง ก่อนที่เธอจะถูกเลือก (ตามคำโปรยในตัวอย่าง) จากอะไรสักอย่างที่ทำให้เธอถูกส่งย้อนเวลากลับไปในอดีต ตัวละคร Veronica ของนักแสดง Janelle Monáe ปรากฏตัวอยู่ในชุดชาวไร่กับบรรยากาศชนบทของยุคสงครามกลางเมือง (จังหวะที่เธอโผล่มานั้น ใช้การตัดต่อแบบผลุบ ๆ โผล่ ๆ) คนดูได้เห็นทหารที่แต่งตัวตามยุคสมัยนั้น และเห็นว่า Veronica วางแผนจะหนีจากที่นั่น ซึ่งก็พออนุมานได้ว่า อาจจะเป็นการหนีข้ามมิติหรือข้ามเวลากลับมาในเส้นเรื่องปัจจุบัน นอกจากนั้น ตรงชื่อเรื่องก็มีการใช้เทคนิคกลับด้านตัวอักษรตัว E เพื่อทำให้คิดไปว่า หนังเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการกลับด้านหรือมีตัวละครเดียวกันใน 2 ยุคของเวลา
พอมาถึงตัวอย่างสุดท้ายที่เอาทั้งสองตัวอย่างแรกมายำรวมกัน และปักเส้นเรื่องหลักให้คนรับรู้ว่า คงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่อมานางเอก Veronica คงจะถูกกลุ่มคนหรือองค์กรกระทั่งอำนาจลี้ลับอะไรบางอย่างส่งตัวเธอกลับไปในอดีต จนเธอต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวเองกลับมายุคที่คนผิวดำยังถูกทรมานทรกรรม กลับมายังยุคปัจจุบันที่มีทั้งสามีและลูกน้อยรอคอยอยู่ให้ได้ (ในทีแรกก็มีคนเชื่อมโยงว่า หรือจริง ๆ แล้ว Antebellum นั้นดัดแปลงมาจากหนังสือ Kindred ของนักเขียนหญิงผิวดำ Octavia Butler ที่เล่าเรื่องของทาสและการเดินทางข้ามเวลา)
พอมาถึงตรงนี้สำหรับคนที่เคยดูตัวอย่างหนังมาแล้ว เมื่อเข้าไปดูก็คงจะแปลกใจตั้งแต่การที่หนังเปิดเรื่องมาในยุคอดีตที่นางเอกถูกจับตัวมาจากที่ไหนสักที่นึง หนังค่อย ๆ เฉลยว่าเธอชื่อ Eden ไม่ใช่ Veronica เธอถูกจับกลับมาหลังจากพยายามหนีจากที่แห่งนี้ เพื่อนที่ร่วมหนีกับเธอถูกลงโทษถึงตาย ส่วนเธอนั้นยังรอดอยู่เพราะเป็นคนโปรดของผู้นำกองพันทหารที่ดูแลพื้นที่นี้ แต่เธอก็ถูกทารุณอย่างหนักเป็นการลงโทษ หนังค่อย ๆ เล่าองก์แรกให้เห็นถึงความหดหู่ของคนผิวดำที่ถูกจับมาใหม่ ทหารผิวขาวที่ปฏิบัติกับทาสผิวดำอย่างกับสัตว์เดรัจฉาน ระหว่างที่ทาสทำงานกันอยู่ก็ปรากฏเสียงดังหึ่ง ๆ อย่างประหลาดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งหนังจะไปเฉลยตอนองก์ 3 ว่าคือเสียงอะไร
ก่อนที่หนังจะตัดฉับเข้าองก์ 2 ของเรื่อง กลับมาที่ยุคปัจจุบัน เราได้เห็นนางเอกในชื่อ Veronica เหมือนในตัวอย่าง ใช้ชีวิตอย่างหรูหราอยู่ในเมืองใหญ่กับครอบครัว บนฝาผนังมีรูปของ Eden ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำทำงานเป็นทาสในอดีตและเธอก็ศึกษาเรื่องราวของทาสมาเป็นอย่างดี เพื่อใช้เขียนหนังสือและทำงานเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจเรื่อสิทธิสตรี เธอจำเป็นต้องเดินทางไปยังอีกเมืองหนึ่งเพื่อพูดในงานอีกงาน
ระหว่างนั้นเธอถูกรังควานจากผู้หญิงลึกลับที่เธอไม่รู้จัก แต่คนดูได้เห็นมาแล้วว่า เป็นนายทาสหญิงสุดโหดจากองก์ 1 ทำให้พาลคิดไปได้ว่า ผู้หญิงคนนี้อาจจะตามล้างตามเช็ดมาถึงภพชาติใหม่ เมื่อ Veronica เดินทางไปถึงโรงแรมที่จะต้องขึ้นเวทีพูด หนังก็เริ่มใส่องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งภาพบ้านเก่าซึ่งเหมือนกับบ้านที่ Eden ถูกใช้แรงงานทาส เริ่มมีเด็กสาวหน้าขาวเหมือนผีปรากฏตัวที่โถงห้องพักของโรงแรม มีคนส่งแจกันดอกไม้ประหลาดด้วยข้อความว่า “ขอต้อนรับกลับมา, X” ให้กับเธอ
มาถึงตรงนี้ถ้าใครดูหนังดูละครมาเยอะหน่อยก็อาจจะเดาถึง ดอกไม้ที่ดมกลิ่นแล้วทำให้ระลึกชาติทำนองตำนานของดอกลั่นทมในไทยอะไรแบบนั้น หรืออาจจะมีคนเริ่มเดาว่า หรือ Veronica คือทายาทของ Eden ในอดีตที่มาทวงความยุติธรรมในรุ่นหลาน หรือกระทั่งว่าเรื่องราวของ Eden ที่ปรากฏในองค์ 1 นั้นเป็นนิยายหรือจินตนาการของ Veronica ที่เธอเขียนมาเป็นหนังสืออย่างที่นึกภาพตัวเองเป็นตัวละครเอก
จนกระทั่ง Veronica ออกไปแฮงเอาท์กับเพื่อนและถูกจับตัวไป มาถึงตรงนี้หนังก็เผยให้เห็นสาวลึกลับที่เป็นนายทาสรวมถึงชายที่เป็นทหารคุมทาสปรากฏตัวขึ้นให้เป็นคนจับตัวเธอ ในตอนนั้นกับคนดูที่เพิ่งจะดูหนังอย่าง Tenet มาก็อาจจะคิดว่า จริง ๆ แล้วสองคนนี้คือคนในอนาคตที่ไล่จับคนส่งกลับไปในอดีต (เหมือนหนัง Looper (2012)) หรือเจ้าสองคนนี้ตามมาล้างแค้นจากชาติก่อนหรือไร จนกระทั่ง Veronica กลับไปปรากฏตัวอีกครั้งในองก์ 3 ซึ่งไปต่อกับฉากจบขององก์ 1 จุดหักมุมของหนังก็เริ่มขึ้น
เมื่อทหารใหญ่ผู้นำกองพันซึ่งหลับนอนกับ Veronica อยู่ลุกขึ้นมารับโทรศัพท์มือถือที่แขวนไว้ในถุงกับม้าที่เทียมไว้นอกชาน (ตอนนั้นยังคิดว่า หนังเรื่องนี้เล่นแบบที่ให้ตัวละครที่ข้ามเวลาเอามือถือย้อนกลับมา แล้วยังใช้ได้แบบนี้เลยเหรอ) ทหารใหญ่รับโทรศัพท์และบอกว่า ตัวเองเป็นวุฒิสมาชิกและจับตัว Veronica มาเพราะเธอเป็นพวกผิวดำที่ลุกขึ้นมาทำตัวเด่นดังและต่อต้านคนผิวขาว หนังยังซ้ำด้วยการเฉลยถึงการอยู่ในยุคปัจจุบัน ด้วยเสียงหึ่ง ๆ ที่คนงานในไร่ได้ยินในตอนแรก็คือ “เสียงเครื่องบิน” ก่อนจะตัดภาพมาที่เครื่องบินบนท้องฟ้า (ซึ่งก็สะท้อนใจว่า จะมีใครเห็นและมาช่วยพวกเขาที่โดนจับมาด้านล่างนี้ไหม?)
ต่อมาหนังจึงค่อย ๆ เฉลยว่า สิ่งที่ตัวอย่างหนังและเรื่องสององค์แรก “แกง” (หมายถึงหลอก) มาตลอดว่า หนังเป็นเรื่องราวของการย้อนยุคของตัวละคร หรือการระลึกชาติ ทำนองละครไทย “ทวิภพ” “บ่วงบรรจถรณ์” “บุพเพสันนิวาส” นั้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่! เพราะ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่นางเอกและคนผิวดำอีกหลายคน ถูกจับมาขังไว้ในหมู่บ้านจำลองยุคสงครามกลางเมืองที่ชื่อ “Antebellum”
ส่วนสิ่งที่เป็นจริงคือ เจ้าพวกคนโรคจิตร่วม ๆ ร้อยคนนี้ ได้สวมบทเป็นทหารและนายทาสที่เกลียดชังคนผิวดำจริงถึงขั้นฆ่าแกงกันจริง ๆ หนังอธิบายว่า คนผิวดำเหล่านี้มีทั้งระดับศาสตราจารย์ ทำนองเดียวกับพวกที่ถูกจับไปค้ามนุษย์หรือให้ไปขายบริการ หลังจากนั้นหนังก็เล่าถึงการหนีเอาตัวรอดของ Veronica ที่ชิงโทรศัพท์ของทหารใหญ่มาได้ และโทรหาตำรวจ 911 และส่งพิกัด GPS ให้กับสามี แม้ว่าจะต้องหาสัญญาณในพื้นที่อับสัญญาณก็ตาม
(อ่านต่อหน้าถัดไป)
บอกเลยว่าสำหรับใครที่เคยดูหนัง The Village (2004) ของผู้กำกับ M. Night Shyamalan มาก่อน เมื่อชม Antebellum ก็อดที่จะนึกถึงหนังเรื่องนั้นไม่ได้ เพราะหนังใช้แนวคิดการหักมุมเดียวกัน นั่นคือ การหลอกให้คนดูเข้าใจว่า ชุมชนลึกลับนั้นอยู่ในยุคโบราณ แต่แท้จริงแล้วนั้นก็อยู่ในยุคปัจจุบันเพียงแต่คนในเรื่องกลุ่มหนึ่ง พาตัวเองและลูกหลานไปหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ หวังว่าจะรอดพ้นจากสังคมภายนอกไปอยู่ในสังคมปิด ก่อนที่จะมีคนได้รับบาดเจ็บและส่งนางเอกตาบอดออกไปถึงถนนของอุทยาน (หมู่บ้านซ่อนตัวอยู่ในอุทยานห่างไกล) และขอยามารักษาคนบาดเจ็บจนได้
สองผู้กำกับอย่าง Gerard Bush และ Christopher Renz เล่าว่า เขามีหนังอย่าง Requiem for a Nan (1975) หนังที่ออกฉายทางทีวีของ William Faulkner ที่เขาเขียนเป็นนิยายมาก่อนมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ รวมถึงสองผู้กำกับก็อยากให้หนังเป็น Gone with the Wind (1939) ฉบับสยองขวัญ พวกเขาจึงใช้กล้อง Panavision ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้เลนส์ซึ่งผลิตออกมาก่อนปี 1940 ในการถ่ายทำ
ความจริงคือเราอยากให้คนดูพุ่งประเด็นไปที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ (ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน คนผิวดำก็ยังถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมเหมือนเดิม) พวกเราสนุกมากที่ได้เห็นปฏิกิริยาของผู้ชมในรอบทดลองฉาย พวกเราบอกตั้งใจแฝงเฉลยของหนังไว้ตั้งแต่ประโยคแรกของหนังแล้วเลย แต่คนดูก็คิดไปต่าง ๆ นานาตามที่แต่ละคนเข้าใจ มันสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ชมเชื่อในสิ่งที่เห็นสำหรับองก์แรก” ซึ่งผู้กำกับก็ทำให้คนดูหดหู่ไปกับชะตากรรมของทาส จนลืมไม่ได้คิดเรื่องการย้อนเวลาหรือระลึกชาติจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม หนังที่โฆษณาว่ามาจากผู้สร้างเดียวกันกับ Get Out (2017) และ Us (2019) อาจจะตื้นเขินเกินไปในแง่ของการชี้ประเด็นหรือลงลึกถึงการตีความปัญหาสีผิว แต่สำหรับการหักมุมของหนังในองก์สุดท้ายนั้นก็ทำได้ชวนให้เหวอจริง ๆ และนึกถึงตอนที่ได้ดูหนังของ M. Night Shyamalan ยุคแรก ๆ ซึ่งสำหรับหนังหักมุมอะไรแบบนี้ก็คงกลับมาดูซ้ำอีกทีไม่สนุกเท่ารอบแรก ดังนั้นอย่างที่บอก หลีกเลี่ยงการจะไปสปอยล์คนอื่นหรือถ้าจะดูก็ต้องหนีสปอยล์ให้ทันไว้เป็นดีที่สุด ส่วนสองผู้กำกับอย่าง Gerard Bush และ Christopher Renz ก็เป็นที่น่าติดตามว่าจะเดินสายสร้างหนังหักมุมต่อไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า? (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่อง Antebellum ของ WTF)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส