ช่วงนี้ในบ้านเรากำลังมีภาพยนตร์เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกอย่าง Greenland เข้าฉาย (โชคดีที่คนไทยได้ดูก่อน เพราะจะเข้าฉายในสหรัฐฯ ก็ช่วงเดือนธันวาคมเลย) นำแสดงโดย Gerard Butler ที่ติดใจการทำงานร่วมกับผู้กำกับ Ric Roman Waugh จาก Angel Has Fallen (2019) จึงได้หวนกลับมาร่วมงานในหนังเเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งหนังเองก็ดูสนุกเหมาะกับแนวหนังหายนะภัยโลกแตก ที่คอหนังชาวไทยน่าจะชอบหนังแนวนี้กันอยู่แล้ว (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)
แต่หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน หนังแนวอุกกาบาตถล่มโลกนี้ก็เคยมีเข้าฉายมาแล้ว แถมในปีที่ไล่เลี่ยกันก็มีหนังฟอร์มยักษ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาถึง 2 เรื่องและมีความคล้ายกันในเนื้อหาหลาย ๆ อย่าง เรื่องแรกคือ Deem Impact (1998) นำแสดงโดย Morgan Freeman, Robert Duvall, Tea Leoni, Elijah Wood และ Vanessa Redgrave และกำกับโดยผู้กำกับหญิง Mimi Leder จาก The Peacemaker (1999) และ On the Basis of Sex (2018) ส่วนเรื่องที่ออกฉายทีหลังแค่ 3 เดือนคือ Armageddon (1998) นำแสดงโดยนักแสดงเบอร์ใหญ่กว่าอย่าง Bruce Willis, Billy Bob Thornton, Ben Affleck, Liv Tyler, Will Patton และ Owen Wilson และก็ยังกำกับโดยผู้กำกับสายระเบิดภูเขาเผากระท่อมที่กำลังโด่งดังขีดสุดในยุคนั้นอย่าง Michael Bay จาก Pearl Harbor (2001), แฟรนไชส์ Transformers (2007-2017) และ The Rock (1996)
เนื้อหาของ Deep Impact เล่าเรื่องราวของ นักดาราศาสตร์วัยรุ่น Leo Biederman (Elijah Wood) และอาจารย์ของเขาค้นพบวัตถุน่าสงสับบางอย่างท่ามกลางดวงดาวยามกลางคืน แม้ข้อมูลจะมีไม่มาก แต่พวกเขามั่นใจว่านั่นคือดาวหางที่กำลังจะพุ่งมาชนโลกในอีกไม่ช้า น่าเศร้าที่ผู้เป็นอาจารย์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะตั้งใจเดินทางไปแจ้งการค้นพบครั้งนี้ให้ทางการทราบ แต่ประธานาธิบดี “เบ็ค” (Morgan Freeman) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้รับข้อมูลแล้วเรียบร้อย
องค์การนาซาจึงได้เตรียมแผนส่งนักบินอวกาศไปรับมือกับวิกฤติใหญ่ในครั้งนี้ โดยพวกเขาต้องทำลายดาวหางให้แตกสลายก่อนมันเดินทางเข้าใกล้โลก ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีก็ได้สร้างหลุมหลบภัยขนาดใหญ่ไว้เพื่อหลบภัย แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน โดยให้สิทธิ์จับสลากเพื่อสุ่มหาผู้จะมีโอกาสได้รอดชีวิตเพียง 800,000 คนที่ได้เข้าไปยังหลุมหลบภัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ และผู้มีวิชาชีพที่เหมาะกับการสร้างโลกใหม่หลังหายนะอีกแค่ 200,000 คน ถือเป็นแผนสำรองหากภารกิจทำลายดาวหางเกิดล้มเหลวขึ้นมา
ส่วนเนื้อหาของ Armageddon เล่าถึงดาวหางยักษ์ขนาดเท่ารัฐเท็กซัส กำลังพุ่งเข้าหาโลกด้วยความเร็วกว่า 20,000 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยเหลือเวลาเพียง 18 วันก่อนดาวหางพุ่งชนโลก มีทางเดียวที่จะหยุดหายนะวันสิ้นโลกครั้งนี้ได้ คือการให้ทีมนักบินอวกาศนำระเบิดนิวเคลียร์ไปฝังไว้ที่แกนกลางของอุกกาบาต องค์การนาซาและคนทั้งโลกฝากความหวังเดียวไว้กับ Harry S. Stamper (Bruce Willis) และลูกทีมนักขุดเจาะน้ำมันที่ไม่มีพื้นที่ใดบนโลกที่พวกเขาขุดเจาะไม่สำเร็จ พวกเขามีเวลา 12 วันในการฝึกหลักสูตรนักบินอวกาศเพื่อขึ้นไปทำภารกิจ สุดระทึกและอันตรายถ้าพวกเขาพลาดหมายถึงหายนะของโลก
มีบ้างบางครั้งเหมือนกันที่ฮอลลีวูดคิดจะสร้างหนังที่มีเนื้อหาคล้ายกันออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สักครั้งหนึ่งก็มีการยอมถอยเลิกสร้างไปเรื่องหนึ่ง (เช่น Baz Luhrmann เคยจะทำหนัง Alexander The Great ที่นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio แต่ถอยทัพกลับไปให้ Oliver Stone ที่ก็จะสร้างเนื้อหาเดียวกันและได้ Colin Farrell มานำแสดง ซึ่งดีแล้วที่เลิกไปเพราะในที่สุดหนังก็เจ๊งไม่มีดี)
แต่สำหรับหนังอุกกาบาตชนโลกเรื่องนี้ต่างไม่มีใครยอมถอยเพราะเชื่อว่าหนังตัวเองมีดีไม่แพ้กัน เมื่อส่องรายได้วัดความสำเร็จ Deep Impact ก็ไม่ได้ทำรายได้ไปอย่างขี้เหร่ จากทุนสร้าง 75 ทำรายรับรวมทั่วโลกไป 349 ล้านเหรียญฯ แต่ Armageddon ดูไปได้สวยกว่า จากทนุสร้าง 140 สุดท้ายทำรายรับรวมทั่วโลกไป 553 ล้านเหรียญฯ แถมเพลง “I Don’t Wanna Miss a Thing” ของ Aerosmith ที่เป็นเพลงประกอบเรื่องนี้ก็ฮิตและกลายเป็นเพลงอมตะตลอดกาลอีกเพลงไปแล้วในทุกวันนี้
หากจะวิเคราะห์กันว่าสุดท้ายแล้วหนังเรื่องไหนสนุกกว่า หรือทำได้ดีกว่าในการสู้กันครั้งนี้ เริ่มจาก Armageddon นั้น มีภาษีดีกว่าตรงที่มีนักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง Bruce Willis และ Ben Affleck มานำแสดง รวมถึงเรื่องราวที่ออกแนวฮีโรและปาฏิหาริย์กับการเอานักขุดเจาะน้ำมันขึ้นไปฝังระเบิดที่อุกกาบาตซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าชนโลก ในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปได้ยากอยู่แล้วที่พวกเขาซึ่งไม่เคยเป็นนักบินอวกาศมาเลย จะฝึกเพียงไม่กี่วันแล้วขึ้นไปทำภารกิจได้ (แต่ใครจะสนล่ะ? Michael Bay กล่าว)
หนังยังอุดมไปด้วยสีสันของความตลก เมื่อแก๊งเพื่อนฝูงของ Harry S. Stamper คือพวกไม่เป็นโล้เป็นพาย ตามสไตล์กรรมการขุดเจาะน้ำมัน แต่ละคนก็มีปัญหาเมียทิ้ง ติดพนัน เป็นคนเพี้ยนกันไปบ้าง ซึ่งก็ทำให้คอหนังต้องลุ้นว่า เจ้าพวกนี้นะหรือที่จะไปทำภารกิจกู้โลก แต่ถึงอย่างนั้นในฉากที่ตัวละครเหล่านี้ต้องเสียสละชีวิตไปกับภารกิจทีละคน ก็ทำให้คนดูอดเสียน้ำตาไม่ได้เพราะผูกพันกับพวกเขาไปเสียแล้ว
ความสนุกของหนังยังมีเส้นเรื่องความดราม่าปนน้ำเน่าแฝงเอาไว้ที่ตัวละครของ A.J. Frost (รับบทโดย Ben Affleck) ลูกน้องที่ไม่ค่อยเอาไหนของ Harry S. Stamper ที่กำลังหลบซ่อนปลูกต้นรักกับ Grace Stamper แน่นอนว่าคุณพ่อ Stamper นั้นไม่เห็นด้วยกับความรักครั้งนี้และก็ทำให้ต้องทะเลาะกับ Grace ก่อนจะขึ้นไปทำภารกิจ แต่ท้ายที่สุดแล้วในฉากที่ต้องร่ำลากันของพ่อลูกในตอนท้ายก็กลายเป็นฉากไคลแม็กซ์เรียกน้ำตาที่มาได้ถูกจังหวะถูกเวลาของหนัง เมื่อพ่อเสียสละให้คนรักกลับไปใช้ชีวิตกับลูกสาว และทำให้หนังจบแบบ Happy Ending มากกว่า Deep Impact ซึ่งจบแบบหดหู่กว่า (ไม่น่าดึงดูดให้คนกลับมาดูซ้ำรอบสอง)
ส่วนด้านเอฟเฟกต์นั้นก็ต้องยอมรับว่า Armageddon ของ Bay นั้นมีวิชวลเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่แนบเนียนกว่าของ Deep Impact ยกตัวอย่างเช่นฉากห่าฝนอุกกาบาตถล่มเมืองนิวยอร์ก หรือฉากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสถูกถล่มด้วยอุกกาบาตเหมือนระเบิดนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ใช่ว่า Deep Impact จะทำได้ไม่ดีเพราะฉากคลื่นน้ำสูงเท่าตึก 100 ชั้นถล่มนิวยอร์กและฉากคลื่นน้ำถล่มเมืองต่าง ๆ ก็ทำเอาขนลุกได้ไม่แพ้กัน เพียงแต่ฉากเอฟเฟกต์อื่น ๆ ในเรื่องนั้นดูดีน้อยกว่ามาตรฐานทั่วไปของหนังฟอร์มยักษ์
ส่วนใน Deep Impact นั้น หนังไม่ได้นำเสนอในแง่มุมขำขันเลย เพราะจะเป็นแนวดราม่าซีเรียสตลอดทั้งเรื่อง โดยแบ่งบทบาทกระจายไปทั้งเรื่องให้กับ President Beck ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ Morgan Freeman และบท Jenny Lerner นักข่าวสาวที่ทำหน้าที่จนวินาทีสุดท้าย ของ Téa Leoni ที่พูดถึงพ่อแม่ของเธอที่แยกทางกันและเธอพยายามจะเป็นกาวใจประสานรอยร้าวแต่ทำไม่สำเร็จ หัวหน้านักบินอวกาศที่จะต้องไปทำภารกิจระเบิดอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกอย่าง Spurgeon Tanner รับบทโดย Robert Duvall และปิดท้ายที่ Leo Biederman บทของ Elijah Wood วัยรุ่นนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบอุกกาบาตพุ่งชนโลกและต้องพาแฟนรวมถึงน้องสาวแฟนให้รอดชีวิตจากเหตุครั้งนี้เพราะไม่ได้ถูกเลือกให้เข้าไปยังหลุมหลบภัยด้วย
ฉากที่น่าจดจำของหนังคือตอนที่ President Beck ต้องออกมาแถลงต่อประชาชนว่าจะมีคนแค่ไม่กี่คนเทียบกับประชาชนทั้งหมดที่จะมีชีวิตรอดจากการเข้าไปหลบในหลุมหลบภัยขนาดยักษ์ และสร้างอารยธรรมมนุษย์ขึ้นมาใหม่หลังจากอุกกาบาตพุ่งชนไปแล้ว Morgan Freeman แสดงเป็นประธานาธิบดีใจหินที่ต้องพูดในสิ่งที่ยากที่สุดแต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นั่นคือ บอกว่าคนส่วนใหญ่จะตายแล้วคนส่วนน้อยจะรอด แนวคิดนี้ของหนังก็จะคล้าย ๆ กับ 2012 (2009) ที่ขนคนขึ้นเรือเพื่อรอดชีวิต ซึ่งหนังแนวนี้เกือบทุกเรื่องก็จะต้องเล่นประเด็นความเป็นความตายว่า ไม่มีใครรอดทุกคน
หนังยังมีฉากเรียกน้ำตาในทำนองเดียวกันกับ Armageddon ด้วยในภารกิจฆ่าตัวตายของยานอวกาศ Messiah ที่หลังจากวางระเบิดแล้ว อุกกาบาตดันแตกออกเป็นสองเสี่ยง ทำให้ต้องใช้ยานพุ่งชนเสี่ยงหนึ่ง เพื่อไม่ให้อุกกาบาตเสี่ยงนั้นต้องชนโลก นักบินอวกาศต่างต้องร่ำลาครอบครัวผ่านจอวิดีโอบนยาน รายหนึ่งนั้นเกิดอุบัติเหตุระหว่างภารกิจทำให้ตามองไม่เห็นจึงทำได้แค่ร่ำลาลูกผ่านทางเสียงเพราะมองไม่เห็น
โดยสรุปแล้ว หนังทั้งสองเรื่องก็จัดอยู่ในหนังฟอร์มยักษ์ที่มาตรฐานไม่ได้ดีน้อยไปกว่ากันมากนัก รวมถึงก็ทำได้ดีตามสิ่งที่อยากจะนำเสนอถึงภาพความหายนะจากภัยนอกโลก และเรื่องราวของมนุษย์ที่จะขับเน้นดราม่าให้เกิดขึ้นกับตัวละครต่าง ๆ มากมายในเรื่อง เพียงแต่ Armageddon ทำรายได้มากกว่าและถูกพูดถึง รวมถึงเมื่อกลับไปดูซ้ำก็ยังสนุกมากกว่าเพราะหนังมีความบันเทิงกับฉากหายนะ ความน้ำเน่า ความดราม่า มากกว่านั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส