หลังจากที่ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่ และได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) (MONO NEXT) และมีการปรับแผนสู่การเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจคอนเทนต์หนังและซีรีส์ทั้งไทยและต่างประเทศ
พร้อม ๆ กันนั้น ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในฝั่งของธุรกิจภาพยนตร์ โดยมีการปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทในเครืออย่าง MONO FILM ก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โมโน สตรีมมิ่ง จำกัด (Mono Streaming) พร้อมเดินหน้าเต็มตัวกับบริการดิจิทัล โดยมีธุรธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์ (VOD – Video On Demand) ที่กำลังมาแรงของบริษัทอย่าง MONOMAX เป็นทัพหน้า
ในฐานะที่ โมโนฟิล์ม เป็นผู้นำเข้าภาพยนตร์หลากหลายแนวจากต่างประเทศ เช่น Sing Street (2016) Suburbicon (2017) HEREDITARY (2018) และดำเนินธุรกิจลงทุนและผลิตหนังไทยที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้ง หอแต๋วแตก, หลวงพี่เท่ง, App War แอปชนแอป, The Pool นรก 6 เมตร (ภายใต้ชื่อ T Moment)
#beartai เองที่ก็เป็นคอหนังของ MONO FILM หลาย ๆ เรื่องก็เลยเกิดความสงสัยและตกใจเล็ก ๆ ว่า การเปลี่ยนชื่อเป็น Mono Streaming ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอะไรกับธุรกิจการ Distribution หนังฉายโรงที่ทำมาแต่ดั้งเดิมหรือไม่
เพราะอย่างที่รู้กันว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจภาพยนตร์ล้วนกระอักเลือดกันถ้วนหน้า เราเลยขอติดต่อสัมภาษณ์ตรงกับ คุณปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อคลายข้อสงสัยนี้กันครับ
การเปลี่ยนชื่อ MONO FILM เป็น Mono Streaming เริ่มมานานแค่ไหนแล้วครับ?
การเปลี่ยนชื่อจาก MONO FILM เป็น Mono Streaming เริ่มมีผลมาตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนเป็นต้นมา โดยเป็นการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ แต่การทำงานต่างๆ เราได้ปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้วครับ
การเปลี่ยนชื่อเป็น Mono Streaming ครั้งนี้ มีการปรับโครงสร้างบริษัทหรือไม่อย่างไรบ้างครับ?
มีการเปลี่ยนครับ มีหลายสาเหตุด้วยกัน เพราะเรามองว่า Streaming หรือบริการชมภาพยนตร์ออนไลน์มีโอกาสเติบโตสูง ลำพังด้วยคำว่า film นั้น อาจจะทำให้คิดได้ว่า เราเป็นเพียงบริษัทผลิตภาพยนตร์เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้ เราได้ลดสัดส่วนในการผลิตหนังเอง และใช้วิธีการซื้อหนังแบบสำเร็จรูป หรือจ้างทีมผู้ผลิตประสบการณ์สูงมาผลิตให้มากกว่า การเปลี่ยนชื่อจึงเป็นการแสดงถึงการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์องค์กร ที่เน้นในการเผยแพร่แบบดิจิทัลมากขึ้น ส่วนการปรับองค์กรนั้น เราก็ได้ปรับงานหลาย ๆ ส่วนให้หันมาทำงานด้านดิจิทัลมากขึ้นไปด้วยครับ
การเปลี่ยนครั้งนี้ พอทราบมาว่า จะเป็นการเน้นไปที่ MONOMAX เป็นหลัก หมายความว่าจะมีการยุบธุรกิจ Distribution หนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์เป็นการถาวรลงด้วยหรือไม่ครับ?
ไม่ได้ยุบเรื่องการนำหนังเข้าโรงหนังครับ เพราะตอนนี้เราก็ยังมีหนังอยู่ นั่นก็คือ “Black Water Abyss” ที่เข้าโรงไปเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว ซึ่งก็มีผลตอบรับที่ดี แล้วเราก็ยังมี line-up หนังที่จะเข้าในโรงหนังอีก 3 เรื่องครับ
ทาง Mono Streaming จะมีแผนในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงบริการของ MONOMAX หรือไม่ อย่างไรบ้างครับ?
เราจะเน้นไปที่ซีรีส์ Asian ที่สนุก เข้าใจง่าย พากย์ไทยให้เรียบร้อยครับ ซึ่งมีคนจดจำเราได้เยอะ ตั้งแต่ ตำนานรักนางพญางูขาว, ยอดพ่อครัวจักรพรรดิ, สัประยุทธ์ทะลุฟ้า, ล่าสุดคือ ฉางอันสิบสองชั่วยาม และเร็ว ๆ นี้ ซีรีส์ที่ทุกคนรอคอยเรื่อง หมาป่าจอมราชันย์ (The Majesty of wolf) เป็นซีรีส์ฟอร์มใหญ่ที่จะฉายที่ MONOMAX ที่แรกที่เดียวครับ ซึ่งทุกเรื่องล้วนมีคนชื่นชอบ ดังนั้นก็จะมีการเพิ่มปริมาณซีรีส์แบบนี้เข้ามาให้ได้รับชมอีก
นอกจากนี้ยังมีการเสริมแนวทางของเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น แนวตลกทะลึ่ง ซึ่งทาง Mono จะจ้างทีมผลิตจาก Rush Magazine (นิตยสารในเครือที่ปิดตัวไป และผันตัวมาผลิตคลิป) และรวมถึงแนววัยรุ่นโรแมนติกจากนวนิยายเครือแจ่มใสด้วย
เราจะจัดหาสิ่งที่เรียกว่า Exclusive Content (มีเฉพาะ MONOMAX เพียงแห่งเดียว)สำหรับเรื่องที่มีนักแสดง บท และการถ่ายทำที่โดดเด่น ซึ่งเป็นการแข่งขันของบริการ SVOD (Subscription Video On Demand) และระบบการจดจำความสนใจของผู้ชมแต่ละคน เพื่อจะแนะนำหนัง หรือซีรีส์เรื่องต่อไปที่เขาชื่นชอบได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาค้นหามากนัก ซึ่งจะที่จะทำให้คนนึกถึงเราที่เดียว
ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่อยู่กับ MONO FILM เดิม จะมีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง จะนำเอามาลงใน MONOMAX ครบทุกเรื่องหรือไม่ครับ?
โดยปกติ หนังของ Mono Streaming จะเข้าสู่ MONOMAX ทั้งหมดอยู่แล้วครับ และจะมีหนังและซีรีส์ที่ MONOMAX ซื้อมาเพิ่มเติมโดยเฉพาะ หรือซื้อสิทธิ์พ่วงกับ Mono29 ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเรื่องประเภทลิขสิทธิ์และการคาดการณ์เรื่องกลุ่มผู้ชมว่าจะเหมาะสมกันหรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้ว MONOMAX จะตอบรับผู้ชมได้หลากหลายกว่าแบบ long-tail เพราะผู้ชมเลือกได้เอง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการจัดผังเหมือนโทรทัศน์
ดังนั้น ในระบบควรจะมีคอนเทนต์ให้หลากหลายไว้ก่อน ซึ่งสิ่งที่ยากสำหรับบริการ SVOD แบบ MONOMAX คือการสร้างความหลากหลายโดยยังมีเป้าหมาย มีทิศทาง ไม่มั่วซั่วน่ะครับ
ไม่เช่นนั้น ก็จะคุมงบประมาณไม่ได้ และวัดผลไม่ได้ครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส