ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังฮีโรในจักรวาลมาร์เวลแล้ว ความอลังการของงานวิชวลเอฟเฟกต์หรือคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นไม่เป็นสองรองใคร จนถึงขณะนี้ Avengers: Endgame (2019) ก็ยังครองสถิติหนังที่มีช็อต CGI มากที่สุดในโลกอยู่ราว ๆ 3,000 ช็อต (โดยเฉลี่ยหนังฟอร์มยักษ์สักเรื่องจะมีอยู่ 1,000-1,500 ช็อตก็หรูแล้ว) แสดงให้เห็นว่า Marvel Studios ให้ความสำคัญกับเอฟเฟกต์ในฉากเหล่านี้อย่างมาก และก็เป็นความคาดหวังของแฟน ๆ ด้วยที่จะได้เข้าไปตื่นตาตื่นใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่า งาน CGI ของหนัง MCU จะน่าประทับใจหรือดูดีไปหมดทุกเรื่อง เพราะที่พลาดก็มีเหมือนกัน
ฉากต่อสู้ของ Black Panther และ Killmonger ใน Black Panther (2018)
แน่นอนว่า Black Panther นั้นเป็นความยอดเยี่ยมในหลาย ๆ อย่าง ทั้งการเป็นหนังของฮีโรผิวดำเรื่องแรก การเป็นหนังแยกเดี่ยวที่ทำรายได้สูงสุดในสหรัฐ และยังเป็นหนังที่จะต้องมีการเปลี่ยนเรื่องราวและตัวนักแสดงในเร็ว ๆ นี้จากการเสียชีวิตของ Chadwick Boseman หนึ่งในฉากที่เป็นจุดด้อยของเรื่อง ก็คือการต่อสู้กันของตัวเอกและตัวร้ายที่แม้จะเป็นฉากต่อสู้ครั้งสำคัญ แต่ทั้งฉากและตัวละครต่างถูกทำเป็น CGI ที่ดูหลอกตาเหมือนอยู่ในวิดีโอเกมมากไปหน่อย
ฉากการพบกันของ Thor และ Eitri ใน Avengers: Infinity War (2018)
นักแสดงมากฝีมืออย่าง Peter Dinklage ก็ได้มาร่วมในจักรวาลหนังมาร์เวลด้วย แม้จะมาแบบรับเชิญสั้น ๆ ก็ตามกับบท Eitri ตอนที่ Thor, Groot, and Rocket เดินทางไปยังดาวอันห่างไกลเพื่อสร้างอาวุธใหม่ให้กับเทพเจ้าสายฟ้า Dinklage เป็นคนแคระซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกปรับขนาดให้เขากลายเป็นยักษ์ แม้ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องระดับสายตาของคนดูไปได้ (เพราะ Hemsworth สูงมาก ถ้าร่วมเฟรมคงถ่ายได้แค่ภาพมุมกว้างเท่านั้น) แต่กลายเป็นว่าภาพคนแคระยักษ์ที่ออกมาก็ดูไม่เข้าที่เข้าทาง เอฟเฟกต์ของฉากพื้นหลังถูกเติมเข้ามาภายหลัง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉากนี้ไม่เนียน แถมยังถูกออกแบบให้ดูมืดมากเกินไปจนไม่เห็นรายละเอียด
ฉากกองทัพของ Thanos บุกวากานดา Avengers: Infinity War (2018)
ฉากต่อสู้ของ Avengers นั้นมักจะเป็นฉากไคลแม็กซ์ที่หลายคนรอคอย ถึงอย่างนั้นในหลายภาคฉากนี้กลับกลายเป็นปัญหาเพราะความไม่เนียนของคอมพิวเตอร์กราฟิกในช่วงโรมรันพันตูของเหล่าสมุนตัวร้ายกับเหล่าฮีโร อย่างใน Infinity War ฉากที่เหล่าสมุนของมหาวายร้าย Thanos บุกอาณาจักรวากานดาของ Black Panther เหล่าสมุนดูจะเป็นงานหยาบและลวกที่ไม่ได้ถูกเก็บรายละเอียดมากนัก
พวกมันไม่ได้มีอารมณ์ร่วมเหมือนอยู่ในส่วนหนึ่งของการต่อสู้ (อาจจะพอ ๆ กับเหล่าสมุนของตัวร้ายใน Justice League (2017) ที่ก็เจอปัญหาความไม่เนียนนี้เหมือนกัน แต่ The Lord of the Rings (2001-2003) กลับไม่เจอปัญหานี้) บวกกับเนื้อเรื่องที่ไม่มีที่มาที่ไปของการปรากฏตัว ก็ทำให้แฟน ๆ อาจเกิดอาการอิหยังวะได้ (เว้นแต่สนุกจนลืมตัวอยู่)
ฉากต่อสู้ที่ลานสนามบินใน Captain America: Civil War (2016)
ฉากประจัญบาน (แม้จะเป็นการสู้กันเองก็เถอะ) ในหนัง Captain America: Civil War (2016) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Avengers ภาค 2.5 เพราะตัวละคร MCU มากันเกือบครบ และยังเป็นภาคเปิดตัวทั้ง Spider-Man ที่ได้กลับบ้าน Marvel และ Black Panther ด้วย ฉากการต่อสู้ที่สนามบินแม้จะสนุกแต่จริง ๆ แล้วถ้าดูอย่างละเอียดลออก็จะพบว่า CGI หลายช็อตนั้นทำไม่ค่อยเนียนโดยเฉพาะไลต์ติงหรือการจัดแสดงนั้นสลับไปมา ไม่รู้ว่าแสงอาทิตย์มาจากทางไหนกันแน่ ผนังสนามบินบางจุดก็ไม่สะท้อนแสง หรือเนียนเป็นส่วน ๆ ซึ่งต้องบอกเลยว่าที่เป็นงานเผาขนาดนี้คงเพราะทีมเอฟเฟกต์รีบจริง ๆ
ฉากข้ามาเพื่อต่อรองกับ Dormmamu ใน Doctor Strange (2016)
หนังที่ยกระดับงานวิชวลเอฟเฟกต์ของ MCU เรื่องนึงก็คือ Doctor Strange ที่ภาพมิติกระจกแค่ฉากเดียวก็กินขาดเกินหน้าเกินตาเพื่อนไปหลายเรื่อง ไม่แปลกที่หนังจะถึงขึ้นเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมได้เลยทีเดียว หนังเกือบจะคะแนนสิบสิบสิบไม่หักแล้ว ถ้าไม่มาพลาดตรงฉาก “ข้ามาเพื่อต่อรอง” ที่หมอแปลกเหาะไปเจรจากับวายร้ายผู้กลืนกินดวงดาวอย่าง Dormmamu ทีมงานออกแบบตัวร้ายตัวนี้ออกมาดูไม่น่ากลัวมากเกินไป อาจเป็นเพราะไม่ใช่ตัวร้ายที่มีบทบาทตลอดเรื่อง ทำให้ทีมงานไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก แต่ถ้าจะกลับมาอีกละก็ ขออย่าให้ภาพออกมาเป็นเหมือนโปสเตอร์หนังยุค 80s เชย ๆ ก็พอแล้ว
ชุดของ Iron Man บนศึกดาวไททันใน Avengers: Infinity War (2018)
ชุดเกราะเหล็กของ Iron Man แม้จะมีหลายเวอร์ชันเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามจำนวนภาคที่เพิ่มขึ้น แต่กลายเป็นว่าเกราะเหล็กในหนังภาคแรกยังคงเป็นภาพจำและความประทับใจของแฟน ๆ Tony Stark ส่วนใหญ่ ส่วนชุดเกราะที่ดูไม่เนียนและไม่เข้าท่าที่สุดก็คือ ชุดในภาค Avengers: Infinity War (2018) กับฉากการรบบนดาวไททัน นาไนต์สูทก็ดูจะเข้าทีในแง่ที่ถูกสร้างมาสำหรับเปลี่ยนไปมาภายใต้สถานการณ์สู้รบที่ไหนก็ตาม (บนโลกหรือบนอวกาศ) ดีไซน์ดูปลอมและเป็นวิดีโอเกมมากไปหน่อย และในบางฉากมันก็สะท้อนแสดงแบบหลอก ๆ ด้วย แฟนมาร์เวลบางคนยังแซวด้วยว่า เหมือนชุดที่ยังทำไม่เสร็จมากกว่า
แรดของวากานดาใน Black Panther (2018)
หนัง Life of Pi (2012) ของ Ang Lee ได้เซ็ตมาตรฐานการสร้างสัตว์จากคอมพิวเตอร์กราฟิกให้สมจริงเอาไว้ ทำให้คอหนังได้เห็นหนังอย่าง The Jungle Book (2016) หรือ The Lion King (2019) เป็นสัตว์สร้างโดยคอมพิวเตอร์แทบทั้งเรื่องอย่างเนียน ตัดภาพมาที่น้องแรดของ Black Panther เอาจริง ๆ แรดของเมืองวากานดาก็ดูตุ้ยนุ้ยน่ารักดีอยู่ เพียงแต่ว่ามันเห็นกันชัด ๆ ไปหน่อยว่ามันคือคอมพิวเตอร์กราฟิก อาจจะเป็นความผิดพลาดของการออกแบบการถ่ายทำที่เลือกไปถ่ายฉาก Close up เยอะ เพราะถ้าถ่ายภาพกว้างเห็นน้องแรดไกล ๆ มันก็ยังพอจะเนียนได้อยู่
แขนจักรกลของตัวร้าย Klaue ใน Black Panther (2018)
มุกแขนขาดดูจะเป็นที่ชื่นชอบของทีม Marvel Studios ซึ่ง Kevin Feige หัวเรือใหญ่ก็เคยบอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจเต็ม ๆ มาจากมือที่ขาดไปของ Luke Skywalker ที่ถูก Darth Vader ฟันทิ้งใน Star Wars ทำให้ตัวละครอย่าง Winter Soldier เสียแขนซ้ายไป เอฟเฟกต์แขนของ Bucky ดูจะไปรอดในหลาย ๆ ภาค ต่างจากแขนซ้ายที่ก็ขาดเหมือนกัน (เพราะ Ultron) ของตัวร้ายรองใน Black Panther อย่าง Ulysses Klaue แม้ว่าตอนที่มันยังไม่ปล่อยพลังอะไรก็ดูจะสมจริงดีอยู่ แต่พอแขนปล่อยพลังออกมา มันกลับกลายเป็นเอฟเฟกต์ที่ไม่เนียนและโดดจากการแสดงของ Andy Serkis อย่างชัดเจนเกินไป ไม่แน่ว่าทีมอาจจะอยากยัดอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวร้ายตัวนี้ดูร้าย ๆ กว่าเดิม
พลังของตัวร้าย Extremis ใน Iron Man 3 (2013)
ภาคที่สนุกที่สุดในไตรภาคของ Iron Man กับเส้นเรื่องและการนำเสนอที่ดูมีอะไร เรื่องนี้คงจะพูดว่าสร้างมาแบบแฟนตาซีไม่ได้ เพราะฉากตัวร้ายของ Extremis นั้นถูกวางไว้ให้เป็นตัวร้ายตัวจริงของเรื่อง (ต่างจาก Mandarin ตัวปลอมซึ่งเป็นตัวร้ายแบบหักมุมและเฮฮา) แต่เอฟเฟกต์พลังของตัวร้ายที่ปล่อยพลังราวกับก๊อดซิลลานั้นอาจจะดูแหม่ง ๆ ไปสักหน่อยเพราะทำให้ตัวร้ายกลายเป็นตัวประหลาดไปซะงั้น แถมพลังนี้ยังปล่อยกันเรี่ยราดพอสมควร เพราะมีตัวร้าย 3 ตัวที่ใช้พลังที่เหมือนตัวจะระเบิดตลอดเวลา และ Pepper Potts ก็พ่วงไปอีกหนึ่งคนในภาคนี้ที่เป็นก๊อดซิลลากับเขาด้วย
ฉากการต่อสู้ครั้งแรกของ Hela ใน Thor: Ragnarok (2017)
หากตัดความรู้สึกไม่สมจริงออกไป เพราะภาค 3 ของ Thor ใน Ragnarok ของผู้กำกับ Taika Waititi นั้น ถูกออกแบบมาให้แฟนตาซีและเน้นฮาเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ฉากเขากวางบนหัวของตัวละคร Hela นั้นมันก็ยังดูประดักประเดิดและชวนให้ขำ แม้จะถูกสมอยู่บนหัวของสุดยอดนักแสดงที่น่าเกรงขามอย่าง Cate Blanchett ก็ตาม ฉากการต่อสู้ของ Hela ในหลาย ๆ ฉากก็ดูออกเลยว่า เป็น CGI รวมถึงตัวนักแสดงด้วย (ทำนองเดียวกับการใช้ CGI กับ Keanu Reeves ใน The Matrix ภาค 2-3 (2003) แต่นั่นมันก็ตั้ง 14 ปีมาแล้ว) หวังว่าถ้าคนดูจะได้เจอกับ Hela อีกในอนาคต ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข
Thanos ในทุกเรื่อง
ในทีแรกแฟน ๆ มาร์เวลอาจจะรู้สึกติดขัดกับรูปลักษณ์ของเจ้าหัวมันม่วงอย่างมหาวายร้าย Thanos บวกกับความไม่สมจริงและไม่ค่อยเข้ากันเท่าไรกับสภาพแวดล้อมหรือตัวละครอื่น ๆ แต่อยู่ไปอยู่มาก็ชักจะเริ่มชินและมองข้ามสัดส่วนหัวโตและตัวโตแค่ปล้องกลางของตัวละครนี้ไป ในส่วนนี้อาจจะบ่นทีมวิชวลเอฟเฟกต์ได้ไม่เต็มปากนัก เพราะเป็นเรื่องงานแต่งหน้าของทีมมากกว่า ความไม่สมจริงนี้จัดอยู่ในขั้นเดียวกับอย่าง Apocalypse ใน X-Men: Apocalypse (2015) ที่ตัวร้ายดูอัปลักษณ์มากกว่าน่ากลัว
เมืองวากานดา ใน Black Panther (2018)
นับตั้งแต่แง้มเปิดฉากใน End Credit ของ Captain America: Civil War (2016) เมืองวากานดาน่าจะเป็นเมืองที่เวอร์วังอลังการที่สุดแล้วในหนังจักรวาล MCU ด้วยความที่เป็นเมืองศิวิไลซ์ขั้นสุดด้านวิทยาการและความรุ่มรวย ภาพที่ออกมาก็ควรจะสะท้อนความรู้สึกนั้น ซึ่งถ้าเทียบกันในหนังจักรวาลมาร์เวล ก็คงต้องพูดว่า ฉากเอฟเฟกต์ของเมืองวากานดาทำได้ตามมาตรฐาน (และก็อาจจะสวยงามพอ ๆ กับฉากเมืองบนดาวต่าง ๆ ของหนัง Star Wars) แต่สำหรับแฟน ๆ ที่อยากเห็นตึกรามบ้านช่อง รถไฟ ยานบิน และวิทยาการต่าง ๆ ที่ดูสมจริงกว่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าหนังนำเสนอภาพเมืองจากมุมมองทางอากาศ ทำให้เห็นตึกเล็กจิ๋วเกินไป เอาเป็นว่าภาคต่อไปก็น่าจะได้เห็นรายละเอียดเหล่านี้มากขึ้น
Hulk ใน Thor: Ragnarok (2017)
แม้ว่า Hulk ในหนังจักรวาลมาร์เวลนับตั้งแต่ The Avengers (2012) จะดูสมจริงมากกว่า Hulk (2003) สมัยของผู้กำกับ Ang Lee และใน The Incredible Hulk (2008) ของ MCU เอง แต่พักหลัง ๆ Hulk ก็ดูจะกลับมาเป็นตัวการ์ตูนมากขึ้นและลืมความสมจริงไป หากจัดลำดับความสมจริงทั้งสัดส่วนและความไม่ดูหลอกตา Hulk ใน The Avengers ก็จัดได้ว่าเป็นภาคที่ Hulk ดูดีสุดโดยเฉพาะในฉากที่เข้าคู่กับ Natasha Romanov หรือเทพเจ้า Thor ส่วนภาคที่ดูหลุดจากความเนียนที่สุดคือภาค Ragnarok (2017) ในฉากที่เข้าคู่กับ Thor หรือตัวละครอื่น ๆ ที่เป็นมนุษย์ก็เห็นชัดเจนเลยว่า Hulk นั้นสร้างมาจาก CGI แต่อาจมีคนเถียงว่า ใครจะสนล่ะ ถ้าหนังจะสนุกขนาดนั้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส