Hybrid Theory คือหนึ่งในอัลบั้มร็อกที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ที่ไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับเด็กหนุ่มที่รวมตัวกันในนาม Linkin Park เท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายต่อนักฟังเพลงทั่วโลกอีกด้วย

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2543 สมาชิกของวง Linkin Park ที่อยู่ในวัยยี่สิบต้น ๆ เป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่หาอะไรทำตามประสาอยู่ในเขตชานเมืองลอสแองเจลิส ได้หาญกล้าสร้างผลงานเขย่าวงการดนตรีด้วยการนำเอาแนวเพลงร็อกมาผสมผสานกับแรป ฮิป-ฮอป รวมไปถึงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จนออกมาเป็นงานดนตรีที่ถูกขนานนามว่า ‘Nu-Metal’ ที่มีความดุดัน เข้มข้น โฉบเฉี่ยวและละไมไพเราะในคราวเดียวกัน จนในที่สุดเด็กหนุ่มทั้ง 5 เชสเตอร์ เบนนิงตัน (ร้องนำ) , ไมค์ ชิโนดะ (ร้องแรป) , แบรด เดลสัน (กีตาร์,เบส) , ร็อบ บอร์ดอน (กลอง) และ โจ ฮาห์น (มือสแครช / ดีเจ / โปรแกรมเมอร์) ก็ได้กลายเป็นตำนานของวงการดนตรีร็อกในที่สุด

ในช่วงปลายยุค 90s ที่กำลังก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ในช่วงเวลานั้นคุณต้องเลือกทางใดทางหนึ่งว่าจะเป็นชาวร็อกหรือเป็นเด็กแรป ณ จุดนั้นเรามิอาจจินตนาการถึงงานดนตรีที่มีความเป็นร็อกและแรปผสมผสานกันอย่างลงตัวได้เลย จนสิ่งที่ Linkin Park ได้ทำไว้ในอัลบั้ม Hybrid Theory ซึ่งชื่อของมันก็ได้บอกอยู่แล้วว่าพวกเขาต้องการที่จะนำเอาสไตล์ดนตรีที่แตกต่างหลากหลายมาหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน ได้กลายเป็นมรดกของวงการดนตรีในที่สุด

ในเชิงพาณิชย์ Hybird Theory ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีด้วยการเป็นหนึ่งในอัลบั้มร็อกที่ขายดีที่สุดตลอดกาลด้วยยอดจำหน่ายกว่า 10.8 ล้านชุดทั่วโลก ในด้านคุณค่าทางศิลปะผลพวงของอัลบั้มนี้ก็คือการปูทางแนวดนตรีที่มีชื่อว่า ‘Nu-Metal’ เอาไว้ให้กับโลกใบนี้ ‘Crawling’ ‘One Step Closer’ และ ‘In The End’ คือซิงเกิลแนวหน้าที่ Linkin Park ได้ปล่อยออกมาเขย่าโลกใบนี้ ซึ่งนักฟังเพลงทั่วโลกก็ได้ให้การต้อนรับมันอย่างดีด้วยความตื่นเต้น หรือแม้แต่สถาบันอันทรงเกียรติอย่างแกรมมี่อวอร์ดก็พร้อมที่จะมอบรางวัลให้กับผลงานดนตรีอันยอดเยี่ยมเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ในปี 2020 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของอัลบั้มนี้ทางวงก็ได้รวบรวมผลงานที่ยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อนรวมไว้ใน Hybrid Theory: 20th Anniversary Edition ให้พวกเราได้ตื่นเต้นกับผลงานเพลงที่ยังไม่เคยได้ฟังมาก่อน ส่วนงานเพลงทั้ง 12 บทเพลงจากอัลบั้มนี้ก็ยังคงมีเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจและเราไม่เคยได้ล่วงรู้มาก่อนรอให้เราได้สัมผัสและเดินทางไปกับบทเพลงเหล่านี้อีกครั้ง

Papercut

นอกจาก ‘In The End’ แล้ว “Papercut’ คืออีกเพลงนึงที่ไมค์ ชิโนดะให้ความสำคัญและรู้สึกว่าได้ใส่เอกลักษณ์ของ Linkin Park ลงไปอย่างเต็มที่จึงเหมาะมากที่จะใช้เป็นเพลงเปิดอัลบั้ม ‘Papercut’ เกิดจากความตั้งใจของ Linkin Park ที่จะเอาส่วนผสมทางดนตรีที่หลากหลายใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นร็อก เมทัล ฮิปฮอปและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเข้ากันได้ดีกับชื่ออัลบั้ม ‘Hybrid Theory’ เพลงนี้จึงแสดงออกถึงความเป็น hybrid อย่างชัดเจน บีทเป็นฮิปฮอป กีตาร์เป็นริฟฟ์แบบเมทัล ร้องเป็นแรปผสมร็อก อีกทั้งไมค์และเชสเตอร์ยังร้องผสานกันในท่อนฮุคซึ่งมีการมิกซ์จนฟังดูราวกับทั้งสองเสียงเป็นเสียงเดียวกันอีกด้วย เก๋ไปเลยจริง ๆ

One Step Closer

ดอน กิลมอร์ ได้เป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวเองไม่ถนัดเรื่องดนตรีฮิปฮอปเลยสักนิด ซึ่งดอนก็บอกกับ Linkin Park ตรง ๆ ว่าจะไม่ยุ่งตรงจุดนี้ ส่วนเหตุผลที่ทางวงเลือกที่จะทำงานร่วมกับดอนก็เป็นเพราะเชื่อในมือของเขาและมั่นใจว่าดอนเองก็เข้าใจในทิศทางของวงด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นในส่วนที่วงถนัดก็ทำไปในส่วนที่ดอนเติมเต็มได้ก็ช่วยอย่างเต็มที่อย่างเรื่องการมิกซ์เสียง การทำซาวด์เอ็นจิเนียร์ในสตูดิโอ รวมไปถึงการเรียบเรียงเครื่องดนตรี การวางเสียงกีตาร์ วางแทร็กร้องในวิธีที่จะได้ซาวด์สุดเจ๋งซึ่งทางวงไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยก็เลยมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากดอน

แต่ถึงอย่างนั้นพอเริ่มลงมือทำงานด้วยกันปัญหาก็เกิดขึ้น ทางค่ายไม่เข้าใจในทิศทางของวงและรู้สึกว่าการเอาแนวดนตรีหลายอย่างมายำกันมันจะเวิร์กหรอ และดอนเองก็ไม่สามารถปกป้องความต้องการของวงได้ ก็เลยเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนและไม่แน่ใจในตัวดอน ซึ่งส่วนหนึ่งของความรู้สึกขัดแย้งนี้ก็ได้ถูกแปรเปลี่ยนเข้าไปในบทเพลงของอัลบั้มนี้ อย่างน้อยก็เพลงนึงคือ ‘One Step Closer’ นี่ล่ะ

เชสเตอร์เขียนเพลงนี้ขึ้นมาจากความรู้สึกไม่เข้าใจที่มีต่อดอน ท่อนร้อง ‘Shut up’ ในเพลงนี้ที่จริงคือความตั้งใจที่อยากจะตะโกนใส่หน้าของดอนว่า ‘ทำไมคุณ(มึง) ถึงไม่เชื่อเราวะ’  และท่อน ‘Shut up’ นี้สำหรับชิโนดะแล้วเขาเองก็ได้ reference มาจากท่อน “F–k you, I won’t do what you tell me” จากเพลง ‘Killing in the Name’ ของ Rage Against The Machine และอยากให้เพลง ‘One Step Closer’ มีอารมณ์เหมือนกับเพลงนี้ สุดท้ายพอได้คุยกับเชสเตอร์ทั้งคู่ก็มีความเห็นเป็นทางเดียวกันและเขียนเนื้อร้องลงไปง่าย ๆ เลยว่า ‘Shut up’ ตอนนั้นทั้งคู่ก็คิดว่าเออมันจะง่ายไปมั้ย เราต้องใส่อะไรลงไปอีกรึเปล่า แต่เชสเตอร์ก็บอกว่า ‘ฉันคิดว่ามันจะต้องออกมาเจ๋งโคตร ๆ ว่ะเพื่อน !’ สุดท้ายท่อนนี้ก็เลยเป็นอย่างที่เราได้ยินกัน

จากนั้น Linkin Park ก็ไปบอกดอนว่าจะอัดท่อนบริดจ์ ‘Shut up’นี้ แต่ไม่ยอมบอกรายละเอียดว่าเป็นยังไง ดอนก็งง ๆ และก็รู้สึกเสียว ๆ ไปในคราวเดียวกันว่ามันต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี และเพลงนี้ก็เกิดขึ้นได้จากการผ่านความรู้สึกขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่มี จนสุดท้าย Linkin Park ก็ได้พิสูจน์ในสิ่งที่พวกเขาเชื่อจนออกมาเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด

With You

เพลงนี้ Linkin Park ได้ร่วมงานกับ Dust Brothers ดูโออิเล็กทรอนิกส์ ฮิปฮอป ที่เคยโปรดิวซ์ผลงานเจ๋ง ๆ ให้กับศิลปินอย่าง Beastie Boys และ Beck พวกเขาได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างซาวด์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สุดเจ๋งให้กับเพลงนี้ด้วยการมอบท่อนรีมิกซ์ที่ทำเก็บไว้มาใส่เข้าไปในเพลงเช่นท่อน ‘วี้ด ๆ วื้ด ๆ’ ในตอนต้นเพลงรวมไปถึงลูปและดรัมเบรกหลายท่อนในเพลงก็มาจาก Dust Brothers ด้วยเช่นกัน ตอนนั้น Linkin Park รู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมงานกับ Dust Brothers เพราะว่าพวกเขาได้เสริมเติมแต่งเพลงของ Linkin Park ให้มีความเท่และสดใหม่

Points of Authority

จุดเด่นของเพลงนี้อยู่ที่การร้อง scat เลียงเสียงสแครชแผ่นในท่อนอินโทรซึ่งพวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากอเมริกันแรปเปอร์นาม Black Thought และวง The Roots ซึ่งใช้การร้องแบบนี้ในอัลบั้ม ‘Illadelph Halflife’ ซึ่งว่าไปแล้วการร้อง scat ก็เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับเสียงสแครชแผ่น ส่วนท่อนกีตาร์นั้นในตอนแรกจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราได้ยิน แต่ชิโนดะรู้สึกว่ามันธรรมดาไปก็เลยจับมาตัดหั่นและจัดวางใหม่ทำมันเหมือนกับเป็นเสียงแซมเปิลเลย ส่วนท่อนคอรัสนั้นตอนแรกก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำกันยังไง รู้แต่ว่าไม่อยากให้มันซอฟต์ไปก็เลยตัดสินใจใส่เป็นการร้องลงไปบนคอร์ดสองคอร์ดคือ Em กับ F ง่าย ๆ เลยแบบที่เราได้ยินกัน และ MV ของเพลงนี้ในเวอร์ชันรีมิกซ์ Reanimation ที่เป็นแอนิเมชีนนั้นเป็นฝีมือการกำกับของ โจ ฮาห์น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan

Crawling

MV ของเพลงนี้ก็กำกับโดย โจ ฮาห์นเหมือนกัน เรื่องของเรื่องคือ ‘Crawling’ นั้นเป็นซิงเกิลที่สองต่อจาก ‘One Step Closer’ และทางค่ายเพลงก็ทุ่มเงินให้กับ MV เพลงนี้ไปมากแล้ว ตอนนั้นทางค่ายก็เลยต้องหาคนทำ MV ใหม่ในงบที่จำกัด จนสุดท้าย โจ ฮาห์นก็ออกมาอาสาทำให้ด้วยความมั่นใจ ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างมากเลย

การที่ Crawling ถูกปล่อยมาหลัง One Step Closer ซึ่งเป็นเพลงที่ดุเดือดมาก ทำให้แฟนเพลงมีการเปรียบเทียบเพลงทั้งสองและได้เห็นถึงพลังงานอีกด้านของ Linkin Park เพราะเพลงนี้มีความนุ่มนวลและมีเมโลดี้ที่ไพเราะติดหูทั้งในท่อนร้องและท่อนฮุค แต่ก็ไม่ลืมที่จะใส่ความดุดันจากท่อนว้ากเข้าไปด้วย อีกทั้งยังมีการจัดวางการร้องของเชสเตอร์และไมค์ที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของบทเพลง ทำให้แฟนเพลงได้สัมผัสว่าจุดเด่นของ Linkin Park นั้นคือความหนักแน่นดุดันที่งดงาม เป็นการผสมผสนกันอย่างลงตัวระหว่างความไพเราะและความเข้มข้นเร่าร้อน

เพลงนี้ได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขา ‘best hard rock performance’ และ ในตอนที่ได้รับรางวัล Linkin Park ทุกคนรู้สึกว่ารางวัลนี้มันเป็นของเชสเตอร์ ซึ่งชิโนดะได้กล่าวว่า “นี่มันเป็นรางวัลแกรมมี่สำหรับการร้องของเชสเตอร์ ใช่มันเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมมาก แต่ถ้าให้พูดแบบซื่อสัตย์สุด ๆ เลยนะ เหตุผลที่เราได้รับรางวัลแกรมมี่จากเพลงนี้ก็เพราะการร้องของเชสเตอร์ในเพลงที่มันสุดติ่งไปเลย มันบ้ามากเลย ! ผมไม่คิดว่าผมจะได้ยินเขาร้องได้แบบนี้อีกแล้ว มันมีความกร้าวแบบพิเศษในเสียงร้องของเขาที่เราบันทึกได้ในวันนั้น นาน ๆ ครั้งเชสเตอร์ถึงจะมาพร้อมเสียงร้องแบบนั้นและเราจะรู้เลยว่าเราจะต้องอัดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แบบว่านายช่วยอัดร้องให้เราสักห้าเพลงได้มั้ย อะไรแบบนั้น (หัวเราะ)”

Runaway

“Runaway” เดิมมีชื่อว่า“ Stick and Move” และเนื้อเพลงก็ซ้ำซาก แต่มันก็เป็นเพลงที่เล่นได้อย่างสนุกสนานและแฟนเพลงก็มักจะพูดถึงมันเสมอหลังจากจบไลฟ์ ทางวงก็เลยคิดว่านี่เป็นเพลงสำคัญที่จะต้องนำไปขัดสีฉวีวรรณให้เอี่ยมในสตูดิโอ และเมื่อเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มเริ่มเป็นรูปเป็นร่างพวกเขาก็กลัวว่า ‘เพลงที่ดีที่สุด’ เพลงหนึ่ง กำลังจะกลายเป็นเพลงที่ ‘แย่ที่สุด’ หากพวกเขาไม่ทำอะไรกับมันให้ดีกว่านี้จากนั้นพวกเขาก็เลยทำการแยกชิ้นส่วนเพลงออกทั้งหมดและเขียนใหม่ เก็บคอร์ดและไลน์กลองบางส่วนไว้ และได้เพิ่มสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปและเขียนเนื้อเพลงทั้งหมดใหม่จนมันได้กลายเป็น“ Runaway” ในที่สุด

“Runaway” เป็นตัวแทนของบทเพลงที่มีความเป็นสูตรเพราะ Linkin Park แต่งมันขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะทดลองและฝึกฝนในเรื่องของโครงสร้างเพลงที่มีการไล่อารมณ์ตั้งแต่เบา ๆ ไปจนถึงจุดเดือด และด้วยเหตุนี้มันก็เป็นเพลงหนึ่งที่ฟังติดหูจนหลายคนเข้าใจไปว่ามันเป็นเพลงที่ถูกตัดเป็นซิงเกิลเพราะสถานีวิทยุหลายแห่งเลือกที่เล่นเพลงนี้เองโดยที่วงไม่ได้ไปโปรโมทเลยหรือแม้แต่มิวสิกวิดีโอก็ไม่มีด้วยเหมือนกัน

By Myself

อีกหนึ่งเพลงเจ๋ง ๆ ที่มีการไล่ระดับอารมณ์ได้ดี ให้อารมณ์ตั้งแต่การจับคอเสื้อเพื่อจัดให้มันเข้าที่เข้าทางไปจนถึงกระชากคอเสื้อเพื่อสำรอกใส่หน้า !! เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่เล่นไลฟ์ได้มันมากเช่นกัน

มีเรื่องฮา ๆ เกี่ยวกับตอนที่แต่งเพลงนี้ ซึ่งชิโนดะได้เล่าให้ฟังว่า ผมจำได้ว่าผมกำลังทำเดโมเพลงนี้อยู่ในอพาร์ตเมนต์ของผมในเกลนเดลในแอลเอ ตอนนั้นเพื่อนบ้านของผมคงเกลียดผมมากเลยเพราะผนังอพาร์ตเมนต์ของผมนั้นมันบางยังกับกระดาษ ตอนที่เชสเตอร์กรีดร้องพวกเขาคงคิดว่าเรากำลังฆ่าใครสักคนอยู่ในห้อง เราทั้งคู่ตะโกนกันใหญ่เลยและผมก็จะคอยเชียร์เชสเตอร์อีกว่า ‘ไม่ ! ดังขึ้นอีกกกก!!’ (หัวเราะ) เพื่อนบ้านของผมจะทุบกำแพงตอนราว ๆ 4 ทุ่มทุกคืนเพื่อไล่ให้เราไปนอนได้แล้ว ดังนั้นเราก็เลยบันทึกเสียงไปถึง 4 ทุ่มแล้วหลังจากนั้นเราก็ได้ยินเสียงเคาะผนังดังขึ้น จากนั้นเราก็ใส่หูฟังไว้และทำงานของเราต่อไป ตอนนั้นเพื่อนบ้านคงเดือดมาก เลยพยายามชกกำแพงตุ้บตั้บเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเราและตะโกนบอกให้เราหุบปากเสียที”

และในที่สุดบทเพลง “By Myself” ก็กลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของการร้องประสานกันระหว่างเชสเตอร์และไมค์ที่มีความแตกต่างแต่ผสมกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดีราวกับ Dr.Jekyll  กับ Mr. Hyde ยังไงยังงั้น

In The End

ชิโนดะได้เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่แต่งเพลงฮิตระดับตำนานของ Linkin Park เพลงนี้ขึ้นมาว่า “เรามีเพลงมากมายที่เราชอบมาก แต่เรารู้ว่าเราต้องการอย่างอื่นที่เจ๋งขึ้นไปอีกขั้นนึง และผมบอกกับตัวเองว่าผมจะต้องหามันให้เจอให้ได้ ผมขังตัวเองอยู่ในสตูดิโอที่ใช้ซ้อมของเราใน Hollywood and Vine ในช่วงเวลานั้นบรรยากาศรอบ ๆ Hollywood and Vine มีทั้งคนติดยาและโสเภณีทุกหนทุกแห่ง ดังนั้นเราจะไม่เข้า ๆ ออก ๆ ที่นั่นแน่ พอถึงเวลาประมาณทุ่มนึงผมก็เลยเข้าไปล็อคประตูแล้วค้างคืนที่นั่น มันไม่มีหน้าต่างหรืออะไรเลย ผมไม่รู้ว่าตอนนั้นกี่โมงแล้ว ผมเขียนเพลงอยู่ทั้งคืนและจบลงด้วยการได้ “In The End” มาในตอนเช้า”

หลังจากนั้นร็อบมือกลองก็เป็นคนแรกที่ได้ฟังเพลงนี้ตอนนั้นเขาตื่นเต้นมากและพูดขึ้นมาว่า “ฉันกำลังคิดจินตนาการว่าเรากำลังต้องการเพลงเพราะ ๆ ที่พาเราไปอีกระดับหนึ่ง โดยที่ท่อนฮุคของเพลงนั้นต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และเพลงที่นายทำนี่แหละคือสิ่งที่ฉันจินตนาการถึงอยู่เลยเพื่อน”  นั้นคือความมั่นใจแรกที่ชิโนดะได้รับ หลังจากนั้นความมั่นใจอื่น ๆ จากสมาชิกวงก็ตามมาสมทบ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีเรื่องให้ดราม่าเมื่อ ฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน หรือ A&R ของค่ายกำลังกังวลใจกับการแรปของชิโนดะ เขาคอยเปิดเพลงนี้ให้คนอื่นฟังและถามว่า ‘มันไม่โอเคใช่มั้ย ?’ เขาพยามจะให้ชิโนดะเลิกร้องแรปและไปเล่นแต่กีตาร์หรือคีย์บอร์ดเพียงอย่างเดียว แต่สุดท้ายเชสเตอร์นั่นแหละที่เข้ามาช่วยชิโนดะไว้และยืนยันว่ามันต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นจนในที่สุดสองประสานระหว่างชิโนดะและเชสเตอร์ได้กลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของ Linkin Park ที่มิอาจปฏิเสธได้

A Place For My Head

เพลง “A Place For My Head” แต่เดิมมีชื่อว่า “ Esaul” เป็นหนึ่งในเพลงแรก ๆ ที่ทำเดโมตั้งแต่ Linkin Park มีกันอยู่แค่ไมค์ ชิโนดะ กับ มาร์ก เวกฟีลด์ และผ่านการทำซ้ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชัน แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบเสมอมา ชิโนดะเลยคิดว่ายังไงก็จะต้องเอาเพลงนี้ไปบันทึกในสตูดิโอสำหรับอัลบั้ม Hybrid Theory ให้ได้ และเมื่อมันได้ถูกบันทึกพลังงานของเพลงนี้ก็เพิ่มขึ้นมากและมักจะกลายเป็นเพลงที่ใช้เล่นเปิดมาโดยตลอดเคียงคู่กับ “One Step Closer”

โจ ฮาห์นได้พูดถึงความเดือดของเพลงนี้ไว้ว่า ในขณะที่พวกเรากำลังทำเพลงเหล่านี้ที่มีพลังมหาศาลซึ่งจะทำให้ผู้คนอยากจะกระโดดเข้าไปมอชใส่กัน ผมคิดว่านั่นคือเป้าหมายของเรา นั่นคือ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกหงุดหงิดและตึงเครียดที่ผ่านมาเข้าไปในเนื้อร้องและท่วงทำนองของบทเพลงราวกับว่าคุณกำลังบรรจุขวดที่เต็มไปด้วยอารมณ์เหล่านั้นจากนั้นคุณก็เขย่ามันจนระเบิด ผมคิดว่าเพลงเหล่านี้ทำหน้าที่ได้ดีมาก ๆ เลยล่ะ”

Forgotten

“Forgotten” ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ชิโนดะเริ่มทำเดโมขึ้นมากับมาร์ก ตอนนั้นพวกเขาเรียกเพลงนี้กันว่า “ Rhinestone” (สามารถฟังเวอร์ชันดั้งเดิมของเพลงนี้ได้ในอัลบั้มครบรอบ 20 ปี Hybrid Theory) ในช่วงเวลาที่ทำอัลบั้มชิโนดะได้นำเอาเพลงนี้มาพัฒนาต่อในแนวทางที่วงตั้งใจไว้ ฮาห์นบอกว่าเพลงนี้ให้ความรู้สึกที่ดีและลงตัวเหมือนการเลือกวัตถุดิบจากหลากหลายที่มาปรุงอาหารที่เรียบง่ายแต่หรูหรา “มันเยี่ยมมากเลยครับเพราะในตอนนั้นเราแค่เอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อผมได้ยินเพลงนี้ทีไรผมเหมือนได้เห็นส่วนผสมในแบบที่เชฟกำลังทำอาหารสักจานและเลือกส่วนผสมที่แตกต่างกันด้วยวิธีที่เรียบง่ายแต่หรูหรา และมันเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี”

Cure For The Itch

เพลงนี้เกิดขึ้นจากความชอบในดนตรีอิเล็กทรอนิกและทริปฮอปของชิโนดะและฮาห์น โดยเฉพาะเพลงของ DJ Shadow และ Aphex Twin ชิโนดะมีความชื่นชอบเวลากลุ่ม DJ จัดเซ็ตเพลงของพวกเขาในการโชว์ซึ่งมักจะใส่ลูกเล่นอะไรที่เรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ “Cure For The Itch” ก็เลยเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเหมือนตัวเบรกความเข้มข้นของอัลบั้มนี้ให้แฟนเพลงรู้สึกผ่อนคลายและมีอะไรที่มันแตกต่างออกไปให้ได้ฟังเล่น ๆ อีกทั้งยังจะได้มีเพลงที่ส่องสปอตไลต์ไปที่โจ ฮาห์นเพื่อให้เข้าได้โชว์ความสามารถอย่างเต็มที่อีกด้วย

Pushing Me Away

แทร็กสุดท้ายของอัลบั้มที่เกิดขึ้นจากไอเดียที่อยากให้มีเพลงที่มีเมโลดี้ติดหูเหมือนกับเพลง “Crawling” กันอีกสักเพลง และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  กับบทเพลงที่ไม่หนักจนเกินไปและมีท่อนเพลงที่ลงตัวทั้งท่อนร้องท่อนแรปและรายละเอียดดนตรีกับเมโลดี้ที่ติดหูคนฟัง ในช่วงหลัง ๆ มานี้ Linkin Park ก็นำเอาเพลงนี้มาอยู่ในเซ็ตเพลงแสดงสดซึ่งส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบอะคูสติกบัลลาดสุดเพราะเพื่อสร้างความประทับใจให้กับแฟนเพลง

https://www.youtube.com/watch?v=UctHqXdPtXI

Source

Billboard

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส