เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่นมาน นิตยสาร TIME ได้ทำการจัดอันดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2020 นี้ ได้จัดอันดับแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง (Leaders), ผู้บุกเบิก (Pioneers), ศิลปิน (Artists), บุคคลจากภาคเศรษฐกิจและสังคมที่มีชื่อเสียง (Titans) และบุคคลผู้เป็นแบบอย่าง (Icons) โดยในหมวดผู้นำทางการเมืองนั้น ในปีนี้มีผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองโลกติดอยู่ในอันดับถึง 22 ราย
Beartai ขอนำเสนอบุคคลที่ทรงอิทธิพลฯ จำนวน 13 คนที่น่าจับตามองเรื่องราวของพวกเขาในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม ที่อยากให้แฟน ๆ นักอ่านได้อัปเดตสำหรับผู้ทรงอิทธิพลที่รู้จักเขาอยู่แล้ว หรือถ้าไม่รู้จักก็จะได้ไม่ตกข่าวตกเทรนด์ว่า เพราะเหตุใดพวกเขาเหล่านี้จึงถูกจัดอันดับในปีนี้
- ข้ามไปอ่าน Joe Biden, Kamala Harris, Angela Merkel กดตรงนี้
- ข้ามไปอ่าน Nathan Law, Shiori Ito, Bong Joon-Ho กดตรงนี้
- ข้ามไปอ่าน Selena Gomez, Michael B. Jordan, Dr. Tedros Adhanom, Dr. Anthony Fauci กดตรงนี้
Xi Jinping ประธานาธิบดี (ตลอดกาล?) ของจีน
สีจิ้นผิง” บุรุษวัย 67 ปี ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีจีนในปี 2013 ได้รับฉายา “ประธานาธิบดีปราบโกง” จากการกวาดล้างนักการเมืองคอรัปชั่นจากฐานอำนาจเดิม เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจีน เพื่อหวังที่จะเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ ประชาชนจีนก็ยังคงนิยมชมชอบเขาเช่นเดิม ในฐานะผู้นำที่รวบอำนาจไปจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ “สีโคโนมิกส์” ตามที่ชาติตะวันตกเรียกขาน เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ และมหาเศรษฐีผูกขาดเหมือนอย่างรัฐบาลก่อนหน้า เขาเริ่มเน้นการผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณเหมือนอย่างในอดีต โดยหวังว่ายุทธศาสตร์นี้ จะทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจโลก
สีจิ้นผิงเน้นส่งเสริมการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่กว้างขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ต ยินยอมให้เอกชนเข้าซื้อ และควบกิจการของตะวันตกที่แล้วที่เล่า ประกาศแผน Made In China 2025 เพื่อยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมของจีนภายในระยะเวลา 10 ปี ประกาศแผน AI 2030 เพื่อยกระดับการผลิต ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายใน 15 ปี เหตุนี้จึงทำให้จีนยังคงยิ่งใหญ่ในเวทีโลก และแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ากระหน่ำอย่างหนัก แต่จีนก็ยังเป็นประเทศเดียวที่มีรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP เป็นบวก
ในปีนี้รัฐบาลของสีจิ้นผิงต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมืองอู่ฮั่นของจีนก็คือต้นตอของการระบาดที่ทำให้น็อกไปทั้งโลก เขายอมรับว่าเป็นโรคระบาดที่ควบคุมยากสุดในรอบ 70 ปี แต่รัฐบาลจีนก็รับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุขของคนจีนได้ดีพอสมควร เมื่อการแพร่ระบาดในวงกว้างเริ่มถูกจำกัดได้ในช่วงกลางปี สียอมรับว่า จีนจำเป็นต้องเรียนรู้จากข้อบกพร่องที่ปรากฏชัดเจนในการตอบสนองต่อโรคระบาด และต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต และเขายังให้ความมั่นใจว่า การประเมินสถานการณ์การระบาดของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นถูกต้องแม่นยำ ที่ผ่านมามีการสั่งการได้ทันท่วงที และใช้มาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งบทบาทอันทรงอิทธิพลของสีในปีนี้คือ การลงนามในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ที่จะให้อำนาจรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปควบคุมฮ่องกงได้มากขึ้น ซึ่งจะถูกนำไปใส่ไว้ในธรรมนูญการปกครองของฮ่องกง มีใจความสำคัญที่กำหนดให้การปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และจะเปิดทางให้ทางการเข้าไปจัดการต่อการชุมนุมประท้วงได้มีประสิทธิภาพขึ้น
นาง Carrie Lam ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นการช่วยอุดช่องโหว่เรื่องความมั่นคงของชาติ ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ และความไร้เสถียรภาพจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง ส่วนฝ่ายต่อต้านจีนโต้กลับว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเสียหายต่อความเป็นอิสระของกฎหมายพื้นฐานที่รับรองเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมในการแสดงความคิดเห็น
Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (สมัยเดียว? เพราะโควิด)
กำลังจะอยู่ครบวาระ 4 ปีเต็ม สำหรับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนที่ 45 มหาเศรษฐีประธานาธิบดีซึ่งนิตยสาร Forbes รายงานไว้เมื่อปี 2016 ว่า เขามีทรัพย์สินอยู่ราว 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท เขามาพร้อมนโยบาย Made America Great Again และขณะเดียวกันก็ทำให้อเมริกามาพร้อมทั้งความวุ่นวายและความอลหม่านทั้งในประเทศตัวเองและบนเวทีโลกเช่น สร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเม็กซิโก นโยบายกีดกันไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศ สนับสนุนกฎหมายค้าอาวุธปืนเสรี การออกมาทวีตว่าจะปราบปราบกลุ่มผู้ประท้วงเรื่องผิวดำด้วยถ้อยคำรุนแรงจนทวิตเตอร์ต้องขึ้นประกาศคำเตือนให้ใช้วิจารณญาณ ล่าสุดก็ประกาศสงครามกับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีของจีนอย่างชัดเจน
ประธานาธิบดีที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือทหารคนแรกของประเทศ มีค่าหัว 80 ล้านเหรียญฯ หรือราว 2,400 ล้านบาท จากการหมายหัวของผู้นำทางทหารของอิหร่าน ฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 มาได้อย่างยากลำบาก จึงเบี่ยงเบนความสนใจของความล้มเหลวนี้ไปที่นโยบายต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของเขาจากกลุ่ม Swing Vote ที่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมแบบเขา หรือขั้วตรงข้ามเสรีนิยมที่ยังไงก็เลือก Joe Biden จากพรรคเดโมแครตอยู่แล้ว โดยเฉพาะการพุ่งเป้าโจมตีว่า ต้นเหตุความผิดพลาดของการแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน ก่อนหน้านี้ Trump ก็ถูกโจมตีว่าเป็นผู้นำที่ไม่จริงจังในการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่ใส่หน้ากากอนามัยขณะออกพบปะกับประชาชนในที่สาธารณะ ก่อนที่ต่อมาจะทนรับแรงกดดันไม่ไหวยอมใส่หน้ากากอนามัยในที่สุด
เมื่อมานานมานี้ สุนทรพจน์ที่เขาบันทึกลงวิดีโอและเผยแพร่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN Trump ใช้ถ้อยคำโจมตีจีนอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องทั่วโลกให้ร่วมกดดันจีนเพื่อรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 200,000 ราย นอกจากนี้เขายังกล่าวโจมตีองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นองค์การที่ควบคุมโดยประเทศจีนอีกด้วย
ผลงานด้านการต่างประเทศล่าสุดของเขา คือการฟื้นฟูข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน ที่โดยเขากล่าวว่านี่คือ “รุ่งอรุณของตะวันออกกลางยุคใหม่” แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้ด้านการต่างประเทศก็คือ การลงนามในคำสั่งพิเศษยุติสถานภาพพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กรณีที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและทำลายอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกง
Tsai Ing-wen ประธานาธิบดีหญิงแกร่ง พาไต้หวันต้านอำนาจจีน
ไช่ อิงเหวิน เดิมทีเป็นอาจารย์กฎหมาย เข้าทำงานตำแหน่งรัฐมนตรี ในปี 2004 เธอเข้าร่วมพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) หลังจากนั้นแค่ 4 ปี เธอก็ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2012 แต่แพ้ไปในครั้งแรก ผ่านไปอีก 4 ปี เธอขอกลับมาลงสมัครอีกครั้ง โดยชูนโยบายที่ท้ารบกับจีนแบบเปิดหน้า ขอปลดแอกไต้หวันจากจีนแผ่นดินใหญ่ เชิดชูระบอบประชาธิปไตยซึ่งตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งสนับสนุนสิทธิชาว LGBTQ+
โฆษกรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ จึงออกโรงตอบโต้โดยด่วน แถลงการณ์ว่าจีนจะไม่เปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวัน แสดงให้เห็นจุดยืนว่าแผ่นดินใหญ่พร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดทุกรูปแบบหากไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้ง ไช่ อิงเหวินนั้นแทบจะเป็น “นารีขี่ม้าขาว” มาถูกที่ถูกเวลา (มากกว่า 4 ปีก่อน) เพราะประชาชนชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่พอใจกับนโยบายพินอบพิเทาต่อจีนของประธานาธิบดี หม่า อิ๋งเจียว (Ma Ying-jiu) ประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2008-2016 บานปลายไปถึงความกลัวว่า หากจีนจะรวบหัวรวบหางไต้หวัน ผู้นำของไต้หวันเองจะยอมตั้งแต่หน้าประตู จึงถึงเวลาที่จะได้ผู้นำหัวใหม่อย่างเธอมาเปลี่ยนทิศทางการเมืองของไต้หวัน ท้ายที่สุดไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ในปี 2016
ช่วงปี 2018 คะแนนนิยมของพรรค DPP เริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย คณะบริหารของ ไช่ อิงเหวิน พ่ายแพ้หลายเมืองในการเลือกตั้งผู้แทนสภาท้องถิ่น ผลงานไม่โดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน พร้อมกับเสียงวิจารณ์จากจีนว่าประธานาธิบดีหญิงกำลังพ่ายแพ้ คนไต้หวันอยากกลับไปซบอกจีนอีกครั้งด้วยหลายเหตุผล แต่ต่อมาดันเกิดกรณีลมหวนกลับ ปี 2019 ไช่ อิงเหวิน ประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้ชุมนุมฮ่องกง พร้อมยืนยันคำเดิมว่าจะไม่ผูกมิตรกับจีน และจะทำให้ไต้หวันได้รับเอกราชอย่างที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ได้รับความนิยมจากนโยบายชาตินิยมกลับมาอีกครั้ง เธอจึงลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในเดือนมกราคม ปี 2020
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไต้หวันได้ถูกบันทึกไว้ในปีนี้ว่า ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 19 ล้านคน ออกไปใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการ และทำให้ ไช่ อิงเหวิน กวาดคะแนนเสียงแบบขาดลอยอีกครั้ง ด้วยคะแนนกว่า 8.17 ล้านเสียง ทิ้งห่าง ฮั่น กั๋วหยู (Han Kuo-yu) ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีนโยบายหาเสียงจับมือกับจีนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้คะแนนประมาณ 5.4 ล้านเสียง หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความยินดีและย้ำว่า ไต้หวันเป็น “ประเทศ” (จริง ๆ ไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามกฎหมายระหว่างประเทศ) แห่งการยึดมั่นในและแสวงหาประชาธิปไตย
Joe Biden หรือจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป?
Joe Biden ผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 1973 และเป็นมายาวนานกว่า 30 ปี ลงสมัครเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อปี 1987 และดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นเวลา 8 ปีในฐานะรองประธานาธิบดีสมัย Barack Obama ในปีนี้เขานำเสนอนโยบายที่แทบจะเป็นขั้วตรงข้ามกับ Donald Trump ไล่ตั้งแต่การเพิ่มภาษีนิติบุคคล และอาจปรับฐานภาษีในอัตราก้าวหน้า ไม่ลดภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเหล่าบริษัทที่ทำธุรกิจและผู้มีฐานะปานกลางจนถึงรวยที่จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ขณะที่ Trump จะให้คงภาษีนิติบุคคลไว้ที่ระดับเดิม แถมยังให้ลดภาษีบุคคลธรรมดาด้วย
ส่วนประเด็นสำคัญที่น่าจะส่งผลต่อภาคธุรกิจของโลกนั้น Biden ชูนโยบายเน้นการเจรจาการค้าบนเวทีโลกผ่านองค์การทางการค้า สนับสนุนให้เลิกผูกขาดธุรกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เน้นนโยบายพลังงานสีเขียว ต่างจาก Trump ที่แสดงท่าทีอันแข็งกร้าวในภาคธุรกิจกับประเทศจีน สหภาพยุโรป และเม็กซิโก รวมถึงเน้นการขุดเจาะน้ำมัน ขัดขวางประเทศอื่นไม่ให้ผลิตน้ำมันได้ และไม่สนใจนโยบายพลังงานสีเขียว Trump ต้องการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ด้วยการทำสงครามการค้ากับจีนและตั้งกำแพงภาษีเพื่อไม่ให้สินค้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เข้ามาตีตลาดในประเทศได้ ในขณะที่ Biden นั้นเชื่อในรูปแบบการค้าเสรีมากกว่า
ส่วนนโยบายภาคสังคมนั้นก็แตกต่างกันตามแนวทางของพรรคเสรีนิยม (เดโมแครต) และอนุรักษ์นิยม (รีพับลิกัน) ปัญหาสีผิวและการประท้วง Black Lives Matter ฝั่ง Biden นั้นเห็นด้วยกับแนวคิดว่ากลุ่มคนผิวดำนั้นไม่ได้รับความยุติธรรมจากระบบของสหรัฐฯ จริง ๆ ส่วน Trump นั้นก็มีแนวคิดว่ามาตลอดให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและรุนแรงกับการประท้วงของคนผิวดำและกลุ่มคนที่เข้าร่วม ในด้านผู้อพยพและการเข้าเมือง Trump ยังคงจะเดินหน้าผลักดันนโยบายการตั้งกำแพงตามแนวพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกให้สำเร็จ รวมถึงผลักดันให้การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของลูกหลานผู้อพยพเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตรงข้ามกับ Biden ที่ต้องการให้สหรัฐฯ กลับไปเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อผู้อพยพอีกครั้งด้วยการให้สัญญาไว้ว่า เขาจะยกเลิกทุกนโยบายที่ Trump เคยทำไว้
Kamala Harris อาจได้เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ
Kamala Harris วุฒิสมาชิกของรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยเป็นตัวแทนในศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเพื่อลงสมัครเป็นประธานาธิบดีปี 2019 กับ Biden มาก่อน และเธอก็ถูก Biden โจมตีอย่างหนักบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ในหลายครั้งจน Kamala Harris ประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันไปในที่สุด แต่การเมืองก็คือการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เธอเคยอาจเป็นศัตรูที่กล้าแกร่งในวันนั้น แต่วันนี้ก็สามารถกลายเป็นอาวุธที่ทรงพลังสำหรับพรรคและตัวเขาได้ด้วยเช่นกัน
Kamala Harris ซึ่งเป็นลูกครึ่งอินเดียและจาเมกา ถือเป็น “ตัวเลือก” ที่เหมาะสมลงตัวกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คือมีทั้งความเป็นเอเชียนและแอฟริกัน-อเมริกันภายในตัวคนเดียว และฐานเสียงฝั่งคนดำจากสถานการณ์ Black Lives Matter ที่ไม่กี่เดือนก่อนที่มีผู้ออกมาประท้วงต่อต้าน Trump จำนวนมาก กลุ่มคนเหล่านั้นก็พร้อมจะเป็นฐานเสียงสนับสนุน Biden อย่างนอนมา รวมกับฐานเสียงคนผิวขาวที่มีอันจะกินที่เป็นฝั่งความคิดเสรีนิยมฐานเสียงของ Barack Obama ที่เบือนหน้าหนี Trump และพรรครีพับลิกันมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว
แม่ของ Kamala เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาเอก ส่วนพ่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผิวดำจากจาเมกาที่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาโท ส่วน Kamala เคยทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการเขตของซานฟรานซิสโก ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลงเล่นการเมืองเอง และชนะเลือกตั้งจนได้เป็นอัยการประจำเขตซานฟรานซิสโกในปี 2003 และได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2010 และสมาชิกวุฒิสภามลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2016
Kamala นั้นอายุเพียง 55 ปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ยังมีโอกาสและเวลาเหลือสำหรับเธออีกเยอะ หากคิดจะลงสมัครเป็นตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอีก 4 ปีข้างหน้าก็ทำได้ รวมถึง Joe Biden ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่า ตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่เขาเลือก Kamala มานั่งใน Running Mate ตอนนี้นั้นมีความสำคัญต่อตัวเขา พรรค และสหรัฐฯ เพราะด้วยวัย 77 ปีของ Biden เองก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันทางสุขภาพอันจะทำให้เขาเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีได้ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดช่องไว้หลายเหตุหากเกิดเหตุที่ประธานาธิบดีทุพพลภาพ ก็จะส่งให้รองประธานาธิบดีกลายเป็นประธานาธิบดีทันที
Angela Merkel นายกรัฐมนตรี 4 สมัยของเยอรมนี
ผู้นำของประเทศเยอรมนี ที่มีประชากรราว 80 ล้านคน หญิงแกร่งทัดเทียมกับผู้นำผู้ชายประเทศอื่น เธอได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ของนิตยสาร Forbes ตั้งแต่ปี 2011-2018 อดีตประธานาธิบดี Barack Obama แห่งสหรัฐฯ ยังเคยยกย่องว่า เธอคือผู้นำแห่งโลกเสรีที่แท้จริง “คนสุดท้าย” Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกว่า 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2005 ปัจจุบันอายุ 66 ปี และเธอได้บอกไว้ว่า จะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยสุดท้ายแล้วก่อนจะขอลาออกจากการเมืองอย่างถาวร
ชีวิตที่น่าสนใจของเธอเริ่มตั้งแต่การที่เธอ เรียนสายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่จบการศึกษาสาขาฟิสิกส์ และจบปริญญาเอกปรัชญาสาขาควอนตัมเคมี จากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิก มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป เมื่อเรียนจบเธอเข้าทำงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์เยอรมนี ต่อมาเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายในปี 1989 เธอก็เปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากการเป็นนักวิชาการเบนเข็มสู่การเป็นนักการเมืองของฝั่งเยอรมนีตะวันตก เธอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม Democratic Awakening (DA) หรือกลุ่มตื่นตัวทางประชาธิปไตย มีเป้าหมายต้องการรวมเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกอย่างรวดเร็ว และยังต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก
ในยุคทศวรรษที่ 80s อย่างชัดเจน Angela Merkel ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) จนได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภา เธอได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวและผู้หญิง และกระทรวงสิ่งแวดล้อม นับเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี ด้วยความเป็นผู้หญิง รวมถึงการมีชีวิตครอบครัวที่ผ่านการหย่าร้างมาหนึ่งครั้ง ทำให้การทำงานการเมืองของเธอไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรค CDU เป็นพรรคที่เคร่งศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกอย่างจริงจัง จึงเชื่อเรื่องการแต่งงานครั้งเดียว และยังเป็นพรรคที่สมาชิกผู้ชายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานการเมืองอย่างหาตัวจับยาก เธอจึงกลายเป็นนักการเมืองที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุด แตกต่างจากผู้นำเยอรมนีคนอื่นในอดีต ตรงที่เป็นทั้งสตรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเป็นผลิตผลจากเมืองคอมมิวนิสต์อย่างเยอรมนีตะวันออก
นาง Merkel ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปี 2005 นับถึงตอนนี้ก็ 15 ปี แล้ว เธอชนะการเลือกตั้ง 4 สมัยซ้อน ทำให้กลายเป็นผู้นำหญิงที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานที่สุดในโลก ทำลายสถิติเดิมของนายกหญิง Margaret Thatcher ของอังกฤษ นิตยสาร Time ประกาศยกย่องให้เธอเป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2015 และทำให้เธอเป็นผู้หญิงคนที่ 4 ที่ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารนี้
ในตอนนั้น Time ชมเชยบทบาทของเธอในการต่อสู้ และรับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศกรีซ และการรับเป็นเจ้าภาพการประชุมเรื่องกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้เธอถูกมองว่าเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพยุโรปหรือ EU โดยพฤตินัย หลายครั้ง Merkel ได้รับเลือกเป็นประธานคณะมนตรีแห่งยุโรป และยังได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มประเทศ G8 อีกด้วย
(อ่านต่อหน้าถัดไป)
Nathan Law นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
Nathan Law อายุ 27 ปี เมื่อ 4 ปีก่อนเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง แต่รัฐบาลฮ่องกงคัดค้านการดำรงตำแหน่งของเขา ด้วยเล่ห์เพทุบายทางการเมือง ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 14 กรกฎาคม 2017 ภาพจำของเขาคือ คนหนุ่มคนนี้ยืนอยู่เคียงข้าง Joshua Wong ผู้ก่อตั้ง “ขบวนการร่ม” เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่ปี 2015 พวกเขามีความตั้งใจจะไม่ยอมให้รัฐบาลปักกิ่ง มากำหนดชะตากรรมของเกาะฮ่องกง จนเกิดการปะทะกับตำรวจ และเกิดการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ ทั้งที่ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงถูกมองว่าไร้เดียงสา เพราะกลุ่มผู้นำส่วนใหญ่เป็นเยาวชน
แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว Nathan Law ได้ก้าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายของฮ่องกง หรือที่เรียกว่า Legislative Council (Legco) กลายเป็น 1 ใน 6 คนของ ส.ส. ทั้งหมดของสภา 70 คน (35 คนผ่านมาเลือกตั้งทางตรง ส่วนอีก 35 คนผ่านระบบคัดสรรมาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่เป็นนอร์มินีของรัฐบาลปักกิ่ง) ทั้ง 6 คนนี้ล้วนมีอายุระหว่าง 20 ถึง 30 และเรียกตัวเองว่าเป็น “นักต่อสู้ท้องถิ่น” หรือ Localists ที่ต้องการให้การเลือกสมาชิกสภาพนิติบัญญัติฮ่องกงมีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจจากส่วนกลางหรือก็คือรัฐบาลจีน หรือกลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
Agnes Chow, Joshua Wong และ Nathan Law เป็นสามแกนนำการประท้วงฮ่องกง พวกเขาเป็นนักเคลื่อนไหวอายุน้อยที่ผลักดันตัวเองมาอยู่แถวหน้าสุดของขบวนการ Agnes มาร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองกับทั้งสองคนโดยใช้ชื่อว่า “พรรคเดโมซิสโต” (Demosisto Party) ในปี 2016 ขณะที่ Nathan Law ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค หลังจากได้รับการเลือกตั้ง เขากลับถูกตัดสิทธิทางการเมืองในภายหลังด้วยความผิดฐานโจมตีรัฐบาลจีน จัดตั้งการชุมนุมขัดต่อกฎหมาย เหตุผลทั้งหมดทำให้ Nathan ถูกห้ามลงเลือกตั้ง 5 ปี ต่อมาในปี 2018 ที่มีการเลือกตั้งซ่อม Agnes ตัดสินใจทิ้งสัญชาติอังกฤษ หยุดเรียนกลางคัน และเป็นตัวแทนพรรคท้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาแทน Nathan
ในปี 2019-2020 หลังปักหลักชุมนุมยาวนาน ชาวฮ่องกงต้องเจอกับกระสุนปืนยาง แก๊สน้ำตา และการทำร้ายร่างกาย ในเดือนมิถุนายน 2020 Agnes และ Nathan ประกาศลาออกจากพรรคที่พวกเขาเป็นคนก่อตั้งและออกแถลงการณ์ยุบพรรค ยุติการทำกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคเดโมซิสโต สืบเนื่องมาจากรัฐบาลจีนได้ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดบทลงโทษทางอาญาจากการกระทำผิดแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง สมคบคิดกับต่างชาติ และก่อการร้าย ถ้าหากนักการเมืองพรรคเดโมซิสโตไม่ยุบพรรค พวกเขาทุกคนอาจมีความผิดทางกฎหมายทันที และอาจถูกจับไปยังประเทศจีน Nathan หนีออกนอกประเทศก่อนกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจุบัน Nathan ลี้ภัยอยู่ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ตอนที่เขาประกาศลี้ภัยนั้น Nathan ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่เขาลี้ภัยนี้ไม่ได้เป็นการลี้ภัยเพื่อล้มเลิกหรือยุติการเคลื่อนไหว เพียงแค่เขามีความจำเป็นที่ต้องลี้ภัยถอยออกมาตั้งหลักที่ต่างประเทศ เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัยของตนเอง การลี้ภัยของเขาจึงมีเป้าหมายเพื่อรักษาตัวรอด และขยายแนวร่วมของการประท้วงผ่านการรวบรวมสมาชิกพรรคพวกให้มีขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยใช้โอกาสที่สังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษหยิบยื่นให้
Shiori Ito นักข่าวหญิงผู้ชนะคดีข่มขืนในญี่ปุ่น
ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาสู้คดีการถูกคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2015 แล้วชนะคดี ศาลตัดสินให้เธอได้รับเงินชดเชย 3.3 ล้านเยน หรือเกือบ 1 ล้านบาท พลิกหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในญี่ปุ่น ตอกย้ำว่า ความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมของชาวเอเชีย และโดยเฉพาะสังคมอนุรักษนิยมทางเพศที่ถือว่าชายเป็นใหญ่อย่างสังคมญี่ปุ่นนั้นได้ถูกจารึกอย่าชัดแจ้งในปี 2019 ที่ผ่านมา
ช่วงเริ่มต้นของคดีในปี 2017 นักข่าวสาวอิสระ ชิโอริ อิโตะ (Shiori Ito) แถลงข่าวว่าเคยถูกอดีตผู้สื่อข่าว ของ สำนักข่าวTBS ประจำ Washington DC ข่มขืน แต่กลับพบกับความไม่เป็นธรรมทั้งจากตำรวจ อัยการ รวมไปถึงศาล หลังจากที่เธอต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาตลอด 2 ปี จึงทำให้เธอต้องออกมาแถลงข่าวด้วยชื่อจริงและนามสกุลจริง พร้อมเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากสังคม ชนิดที่ไม่จำเป็นต้องอับอายอีกต่อไป กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นที่ต้องรักษาหน้าตา สถานะทางสังคม โดยเฉพาะชื่อเสียงของครอบครัว เธอถูกกระแสโต้กลับในทางลบจากการออกมาครั้งนี้ ทั้งที่เธอเป็นผู้เสียหาย
ความน่าสะเทือนใจที่เหมือนดาบทิ่มแทงเธออีกหลายรอบหลังจากโดนข่มขืนไปแล้ว คือการถูกสังคมตราหน้าว่า ที่ถูกข่มขืนเพราะเธอยั่วผู้ชายเอง ผิดเองที่ไปกินเหล้าสองต่อสองกับผู้กระทำความผิด และมีบอกว่าเธอสมยอม บ้างก็ว่าเธอทำตัวไม่เห็นเหมือนผู้เสียหาย ทำไมถึงไม่ตีหน้าเศร้าแล้วร้องไห้อย่างที่ควรจะเป็น? เลยเถิดไปจนถึงการตำหนิว่าเพราะเธอหน้าตาดีเกินไปก็มี (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเรื่องผิดตรงไหน?)
กระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นก็เลวร้ายแทบไม่ต่างจากภาคสังคมที่รุมกระหน่ำซ้ำเติมเธอ ชิโอริได้เข้าแจ้งความ แต่กลับถูกตำรวจที่รับเรื่องและอัยการบอกว่า ให้ทำใจเพราะคดีแบบนี้สู้ไปก็ไม่ชนะ แต่เธอก็ตัดสินใจสู้ต่อจนถึงขั้นที่ตำรวจออกหมายจับ และมีการวางแผนว่าจะจับกุมอดีตผู้สื่อข่าว TBS รายนั้นขณะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่สุดท้ายก็ถูกอำนาจมืดที่มองไม่เห็น ทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญากับผู้ต้องหาได้ จนสุดท้ายศาลมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เธอจึงหันไปฟ้องคดีแพ่งแทน และชนะคดี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ในที่สุด
ชิโอริ อิโตะเขียนเล่าเรื่องราวทั้งหมดไว้ในหนังสือชื่อ Black Box ซึ่งเป็นคำในภาษาการสอบสวนของตำรวจญี่ปุ่น ที่จะสื่อถึงคดีประเภทที่ที่เกิดเหตุเป็นห้องปิดที่มีคนรู้กันแค่สองคนและขาดหลักฐานที่เพียงพอจะดำเนินคดีกับคนร้าย ช่วงปี 2017 ชิโอริ อิโตะ จึงกลายเป็นเป็นผู้จุดกระแส #Metoo ในญี่ปุ่น เธอออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่น่าสงสารและต้องเก็บความอับอายที่ถูกกระทำไว้คนเดียวลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
Bong Joon-Ho ผู้กำกับหนังรางวัลออสการ์คนแรกของเกาหลีใต้
การจัดอันดับในครั้งนี้ แน่นอนว่าชื่อของบงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ติดเข้ามาได้ก็เพราะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ปีล่าสุด ที่เขาพาหนังชนชั้น Parasite ไปคว้ารางวัลสูงสุดของงานชนิดหนังฝรั่งเรื่องอื่นได้แต่มองตาปริบ ๆ กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกจากเกาหลีใต้ บงจุนโฮเองนั้นก็ไม่ใช่ผู้กำกับที่มากฝีมือในวิชาการทำภาพยนตร์เท่านั้น แต่หนังของเขาในทุกเรื่องก็มักจะแฝงแง่คิดเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเพื่อกระตุ้นเตือนหรือให้สังคมได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ
บงจุนโฮ เกิดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1969 (ปัจจุบันอายุ 51 ปี) มักจะใช้ช่วงเวลาหลังจากที่คนในครอบครัวนอนหลับไปกับการดูภาพยนตร์ผ่านทางโทรทัศน์ (คุณแม่ไม่ค่อยยอมพาเขาไปดูในโรงภาพยนตร์เพราะกลัวติดเชื้อโรค) โดยเฉพาะในคืนวันศุกร์และเสาร์ เขาค่อยๆ สะสมความคลั่งในโลกภาพยนตร์ของเขามาเรื่อย ๆ
เขาดูหนังทุกประเภท ทุกสัญชาติ มีผู้กำกับหนังแนวทริลเลอร์และหักมุมอย่าง Alfred Hitchcock เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะเรื่อง Psycho (1960) ที่เขายกให้เป็นภาพยนตร์ที่ชอบและดูซ้ำมากที่สุดในชีวิต เขาอยากเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสาขาภาพยนตร์ แต่ก็ไม่อาจขัดความต้องการของพ่อและแม่ ที่มองว่าสาขานี้เป็นศาสตร์ของศิลปะที่ไม่มากพอจะหารายได้ได้ในอนาคต เขาจึงเลือกเรียนต่อในสาขาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยยอนเซ และค่อยทำตามใจตัวเองด้วยการเข้าเรียนต่ออีก 2 ปีที่ Korean Academy of Film Arts
ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มต้นก้าวแรกในฐานะนักทำหนังจากผลงานภาพยนตร์สั้นถึง 3 เรื่อง เก็บประสบการณ์จากการเป็นคนเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับเป็นเวลา 6 ปี นอกจากนั้นการคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองก็หล่อหลอมทัศนคติและมุมมองทางสังคม ด้านความไม่เท่าเทียมและปัญหาชนชั้นวรรณะ จนผลงานแรกของเขาได้ปรากฏในปี 2000 Barking Dogs Never Bite เต็มไปด้วยความตลกร้าย เสียดสี สุดปั่นป่วน ที่บงจุนโฮนำเสนอเรื่องราวของชายหนุ่มที่จิตแทบหลุดเพราะต้องทนฟังเสียงเห่าของหมู่มวลน้องหมาที่มีคนแอบเอามาเลี้ยงในอพาร์ตเมนต์ วิพากษ์สังคมเกาหลี ทั้งสภาพชีวิต ชนชั้น ไปจนถึงแง่มุมการถึงเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนกันเอง
เรื่องต่อมา Memories of Murder (2003) ทำให้บงจุนโฮแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา เขาหยิบเรื่องจริงของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในยุค 80s ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังปิดคดีไม่ได้มานำเสนอ อีกครั้งที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคมที่มีปัญหาผ่านชีวิตของคนตัวเล็ก ๆ จนกระทั่งต่อมาเขาได้ทำหนังฟอร์มยักษ์ของประเทศ The Host (2006) หนังสัตว์ประหลาดที่พาผู้ชมไปไกลกว่าแค่เรื่องราวสัตว์ประหลาด เพราะเต็มด้วยเนื้อหาวิพากษ์ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างบาดลึก ผ่านเรื่องราวของครอบครัวข้นแค้นทว่าเปี่ยมสุข หนังยังไปไกลกว่านั้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของคนเกาหลีใต้ด้วย ทำให้ The Host กลายเป็นดาวเด่นที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ พร้อมด้วยบทวิจารณ์อันยอดเยี่ยมจากสื่อชั้นนำทั่วโลก
เรื่องที่ 4 Mother (2009) บงจุนโฮเลือกสะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของระบบยุติธรรม ผ่านความรักอันลึกซึ้งของแม่ เมื่อลูกชายสุดรักถูกสงสัยว่าเป็นฆาตกรผ่านกระบวนการสืบสวนที่เร่งรีบ และเพื่อจะปกป้องลูกชาย เธอจึงต้องออกสืบหาความจริงเพื่อนำฆาตกรตัวจริงมาลงโทษ เรื่องที่ 5 ผลงานฮอลลีวูดเรื่องแรกของเขา Snowpiercer (2013) หนังไซไฟกรุ่นกลิ่นดิสโทเปีย เล่าถึงโลกอนาคตที่มนุษย์กลุ่มสุดท้ายต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดบนขบวนรถไฟที่ต้องวิ่งวนไปเรื่อย ๆ หนังเสียดสีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะทางสังคมบนโบกี้บนรถไฟได้อย่างคมคาย
เรื่องที่ 6 Okja (2017) ผลงานที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์และนำไปฉายบน Netflix เป็นเรื่องแรก ๆ (และเป็นหนังเรื่องแรกใน Netflix ที่มีระบบเสียง Dolby Atmos ให้เลือก) ว่าด้วยการผจญภัยของเด็กสาวตัวน้อยที่พยายามช่วยเหลือเจ้าหมูยักษ์จากองค์กรผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ตีแผ่ลัทธิบริโภคนิยม การตัดต่อทางพันธุกรรมในอาหารที่กำลังเติบโตและแผ่อิทธิพลต่อปากท้องมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก
จนกระทั่งมาถึงเรื่องที่ 7 Parasite (2019) ที่จิกกัดระบบทุนนิยม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับ และส่งให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าผลงานเรื่องต่อไปของเขา จะเสียดสีตีแผ่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจแบบไหนต่อไป
Selena Gomez นักร้องวัยรุ่นผู้เป็นกระบอกเสียงแห่งความเท่าเทียม
Selena Gomez อดีตศิลปินวัยรุ่นที่โตเป็นสาวแล้วในวันนี้ ประสบความนำเร็จกับอัลบั้ม Revival ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2015 และมีเพลงฮิตอย่าง “Good for You, Same Old Love” และ “Hands to Myself” แต่เธอเพิ่งออกมาสัมภาษณ์ในปีนี้ว่า ในตอนนั้นเธอรู้สึกกดดันกับการต้องขายภาพลักษณ์เซ็กซี่ ซึ่งทำให้เธอไม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ในปีนั้นเอง Selena ก็ต้องเจอปัญหามากมายในชีวิต ไล่ตั้งแต่เข้ารับการรักษาอาการโรคแพ้ภูมิตัวเองและปีถัดมาจะมีการเปลี่ยนไตกับเพื่อนสนิท
เธอยังกล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอพยายามลดการเล่นโซเชียลมีเดีย ไม่อ่านคอมเมนต์ที่ไม่จรรโลงใจ ไม่อ่าน Direct Message หรือใช้ Google เสิร์ชหาเรื่องราวของตัวเอง เพื่อทำให้สุขภาพจิตขอเธอดีขึ้น ส่วนโพสต์ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์ผลงานต่างๆ ของเธอก็ให้ทีมงานด้านประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด เธอยังอธิบายถึงอาการทางจิตอย่างไบโพลาร์ที่เธอเป็นอยู่ด้วยว่า “ฉันเป็นคนที่มีหลายอารมณ์มาโดยตลอดและไม่รู้จะควบคุมมันอย่างไร แต่มาวันนี้ฉันรู้สึกดีที่เข้าใจตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีแค่ฉันที่เป็นอาการนี้คนเดียว ฉันเลยมี Passion มากที่จะออกมาพูดเรื่องนี้เพื่อช่วยคนอื่น”
ในปี 2020 นี้ เธอได้ออกมาเปิดตัวแบรนด์ความงาม Rare Beauty ที่เน้นสื่อสารกับทุกคนเกี่ยวกับความงามตามแบบฉบับของเธอว่า ความงามที่หายากไม่ได้เกี่ยวกับว่าคนอื่นเห็นเราเป็นอย่างไร มันเกี่ยวกับวิธีที่เราจะมองเห็นคุณค่าในตัวเองอย่างไรต่างหาก เธอมุ่งมั่นในการพาแบรนด์นี้ให้เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนหยุดเปรียบเทียบกับคนอื่น และเริ่มหันมายอมรับตัวเอง
Selena ประกาศตั้งเป้าระดมทุน 100 ล้านเหรียญฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อระดมทุนให้กับกองทุน Rare Impact Fund โดย Rare Beauty ผลักดันโครงการด้านสุขภาพจิตสำหรับเข้าช่วยเหลือชุมชนที่ด้อยโอกาส นอกจากนี้เธอยังตั้งใจว่าจะหัก 1% จากยอดขายของแบรนด์ Rare Beauty ทั้งหมด รวมถึงเงินทุนจากการเป็นพาร์ตเนอร์จากมูลนิธิ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าสมทบทุนในโครงการนี้
Michael B. Jordan นักแสดงที่ยืนเคียงข้าง #BlackLiveMatter
หนึ่งในนักแสดงแอฟริกัน-อเมริกันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคปัจจุบัน หนีไม่พ้นนักแสดงอย่าง Michael B. Jordan ที่แฟนหนังทั่วโลกรู้จักจากบทตัวร้ายของ Black Panther (2018) อย่าง Killmonger ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นวายร้ายที่น่าจดจำมากที่สุดตัวหนึ่งของหนังจักรวาลมาร์เวล แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะมีผลงานเด่น ๆ แค่จากหนังเรื่องนี้เท่านั้น เพราะสำหรับคอหนังพันธุ์แท้ย่อมจะรู้จักเขาจากหลายบทบาทในหนังดราม่าอื่น ๆ ด้วย เขาแจ้งเกิดจากหนังยอมมนุษย์วัยรุ่นแนวฟาวด์ฟุตเตจอย่าง Chronicle (2012)
ก่อนจะไปแสดงในหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง เกี่ยวกับคนผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวทำร้ายจนเสียชีวิต ก่อให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรม (ทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์เข้าจับกุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุจน George Floyd ชายผิวดำเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในปีนี้) อย่าง Fruitvale Station (2013) ที่ทำให้เขาได้ทำงานกับ Ryan Coogler ผู้กำกับของ Black Panther ที่กลายเป็นผู้กำกับคู่บุญของเขา เพราะได้ร่วมงานในหนังนักมวยภาคแยกของ Rocky Balboa เรื่อง Creed (2015)
Jordan นั้นเข้าร่วมการประท้วง #Blacklivesmatter เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามาที่เซ็นจูรีซิตี้ จุดที่อยู่ใกล้กับศูนย์บัญชาการของตำรวจ LAPD เมืองลอสแอนเจลิส โดยมีประชาชนออกมาประท้วงในเมืองลอสแอนเจลิสร่วมพันคนในหลาย ๆ จุด
ทุกคนรู้ว่าปีนี้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และมันดูจะเป็นเรื่องง่ายที่จะออกไปลงคะแนนเสียง และแน่นอนผมเคารพสิ่งนั้น แต่ดูรอบตัวสิ ผมว่าแค่การเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วล่ะ” Jordan พูดในที่ชุมนุม
วงการบันเทิงเคยบอกว่า จะจ้างงานคนผิวดำในอัตราส่วน 50:50 แต่ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เห็นการจ้างงานคนผิวดำมากถึงขนาดนั้น จะมีก็แค่ในงานที่มาจากผู้บริหารแอฟริกัน-อเมริกัน หรือที่ปรึกษาของคนกลุ่มเดียวกัน แต่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนทั้งในกลุ่มวงการกีฬาหรือวงการแสดงตลกก็ตาม ผมอยากให้ธุรกิจวงการบันเทิงนำไปสู่การสร้างแบรนด์ของคนผิวดำ ผู้นำที่เป็นคนผิวดำ และองค์กรที่ให้ความสำคัญของคนผิวดำ” Jordan กล่าว
นอกจากนี้ Jordan ยังได้เรียกร้องต่อผู้บริหารของสตูดิโอในฮอลลีวูดให้เพิ่มบทของนักแสดงแอฟริกัน-อเมริกันมากขึ้นระหว่างเข้าร่วมการประท้วง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีการเรียกร้องกันมาตลอดสิบปีหลังมานี้ โดยเขายังได้กล่าวว่า ตลอดที่ทำงานในวงการภาพยนตร์มา เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทีมงานและสตูดิโอหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังดูน้อยเกินไป เชื่อว่า การกล้าจะก้าวออกมาสู่สปอตไลต์ในเวทีของการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าทีมของคนผิวดำในปีนี้คือแรงส่งให้เขาได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ปี 2020
Dr. Tedros Adhanom ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)
Dr. Tedros Adhanom ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ชาวเอธิโอเปียวัย 55 ปี เป็นผู้อำนวยการอนามัยโลกคนแรกที่ไม่ได้เรียนจบสาขาแพทย์ศาสตร์มาโดยตรง แต่ต้องมารับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติในปีนี้ เขาเข้าสู่วงการสาธารณสุขโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการต้องเห็นน้องชายแท้ ๆ ของตัวเองตายไปต่อหน้าเพราะการป่วยเป็นโรคหัด เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเอธิโอเปีย ระดับปริญญาโท ด้านวิทยาภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาเอกด้านสาธารณะสุขชุมชนจากมหาวิทยาลัยลอนดอน
เข้าก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติของเอธิโอเปียในฐานะสมาชิกพรรคร่วม EPRDF ที่ปกครองเอธิโอเปียในปี 2019 ส่งผลให้เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขในปี 2005 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในปี 2012 ในช่วงเวลานั้นสื่อต่างชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณจากประเทศจีนได้ไหลเข้าสู่ประเทศเอธิโอเปียอย่างมาก เพราะจีนต้องการใช้เอธิโอเปียเป็นฐานที่มั่นในการขยายธุรกิจที่ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้เขายังเคยโดยข้อกล่าวหาว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นได้ทำการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคในประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2006, 2008 และ 2011 ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
เมื่อ Dr. Tedros Adhanom ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ก็มีข่าวลือว่ารัฐบาลจีนโดยนักการทูตจีนได้พยายามล็อบบี้เสียงของประเทศกำลังพัฒนาอย่างหนักจนสุดท้าย Tedros Adhanom ก็ได้รับชัยชนะจนกระทั่งปี 2020 นี้เขาก็ต้องเผชิญกับกระแสในทางลบจากฝั่งสหรัฐฯ อยู่ตลอดทั้งปี Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยต่อ ส.ส.อังกฤษระหว่างเยือนกรุงลอนดอน อ้างว่ามีหลักฐานที่ประเทศจีนซื้อตัว Dr. Tedros Adhanom โดยบอกชี้อีกว่าว่าประเทศจีนเป็นตัวการปล่อยเชื้อโควิด-19 คร่าชีวิตชาวอังกฤษหลายหมื่นคน นอกจากนั้นเขาก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ทำการกีดกันไต้หวันที่เป็นชาติที่รับมือกับการแพร่ระบาของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดชาติหนึ่ง โดยมีการบีบให้ไต้หวันออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรอนามัยโลกเพียงเพราะจีนกดดันให้ทำเช่นนั้น
ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของ Dr. Tedros Adhanom ในปีที่ผ่านมา ด้านที่โดดเด่นมีทั้งภารกิจเรียกร้องให้นานาชาติ ละวางผลประโยชน์ของตนเองให้เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในความพยายามจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนในประเทศตนเอง ซึ่งเขายังย้ำว่า การตักตวงทรัพยากรเพื่อจัดทำวัคซีนให้กับชาติของตนเองนั้น จะทำให้สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เลวร้ายมากขึ้น
Dr. Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ
Dr. Anthony Fauci วัย 79 ปี เป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIAID ตั้งแต่ปี 1984 ผู้มีประสบการณ์โชกโชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่เกือบ 40 ปี และมีส่วนในการนำพาสหรัฐฯ รอดจากโรคระบาดมาแล้วหลายสิบครั้งรวมถึงเมื่อครั้งโรคเอดส์หรือไวรัสเอชไอวี อย่างไรก็ตาม Fauci เป็นคนหนึ่งที่ยืนยันข้อมูลว่า ไวรัสที่เป็นต้นเหตุการระบาดใหญ่นี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากห้องทดลองในประเทศจีนอย่างที่มีการลือเรื่องทฤษฎีสมคบคิดกัน
ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาได้ออกมาขอร้องให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่าประมาทต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และเชื้อแพร่กระจายมากขึ้น โดย Anthony Fauci ได้กล่าวว่า ในคลื่นการแพร่ระบาดลูกที่สองหรือเวฟ 2 อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อลดลงมา 15 ปี เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ยอมเว้นระยะห่างทางสังคม โดยนายแพทย์เฟาซีกล่าวในขณะกำลังพูดคุยกับ Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กว่า เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะต้องดูแลตนเองและสังคม
นายแพทย์ Fauci มักจะขัดแย้งกับประธานาธิบดี Donald Trump ในเรื่องการรับมือและการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด เขากล่าวว่า สหรัฐฯ จะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนมีโรคระบาดในปีหน้าหรืออาจจะถึงปลายปีหน้า และโรคระบาดอาจกลับมารุนแรงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งสวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ระบุว่า สหรัฐฯ จะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำทำเนียบขาวว่า นายแพทย์ Fauci ไม่ได้รับเชิญให้สรุปรายงานข้อมูลกับ Trump และไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบข่าวมานานแล้ว รวมถึง Fauci ก็ไม่ได้คุยกับ Trump เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน
ล่าสุดในเดือนตุลาคม ออกมากล่าวถึงความจริงที่ว่าโลกของเรายังห่างไกลจากการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ
เราจะรู้ว่ามีวัคซีนตัวหนึ่งตัวใดหรือไม่ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม วัคซีนจำนวนหนึ่งจะสามารถเข้าถึงได้ในเดือนธันวาคม แต่แน่นอนว่ามันจะไม่เพียงพอสำหรับฉีดให้กับทุกคน พวกคุณจำเป็นต้องรออีกหลายเดือน” Fauci กล่าว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส