ด้วยเสน่ห์ของความลึกลับและกลิ่นอายของการผจญภัย ทำให้เรื่องราวทางดาราศาสตร์มักจะถูกนำมาใช้บอกเล่า ผูกโยงร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์เสมอ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ผู้ชมเชื่อหรืออินไปด้วย ก็ต้องสร้างให้มีความสมจริง และเพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ รวมถึงอวกาศเองนั้นอยู่ไกลตัว ไม่ใช่คนทั่วไปใคร ๆ ก็สัมผัสได้ ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงให้ความสนุกสนาน (โอเค บ้างเรื่องก็ไม่สนุกล่ะนะ) ควบคู่ไปกับความรู้ที่ผิด ๆ นักบินอวกาศจึงขอออกมาบอกกันสักหน่อยว่า เรื่องไหนที่ขัดกับความเป็นจริง และมัน ไม่-โอ-เค อย่างแรง

การจัดอันดับภาพยนตร์จากใจนักบินอวกาศ

แต่ก่อนจะไปรู้ว่ามีภาพยนตร์อวกาศเรื่องไหนบ้างนั้น เรามาทำความรู้จักผู้ที่ทำการจัดอันดับกันสักหน่อย ซึ่งแน่นอนว่า แม้การจัดอันดับครั้งนี้จะมาจากนักบินอวกาศเพียงคนเดียว แต่เท่าที่เราลองสืบเสาะหาความเห็นของนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ที่ทำงานในนาซา ซึ่งเคยที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ต่างก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน รายชื่อภาพยนตร์อวกาศยอดแย่นี้ จึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่า ‘มันแย่’ ในแง่วิทยาศาสตร์จริง ๆ นะเออ 

ผู้จัดอันดับที่ว่าก็คือ อะบิเกล “แอบบี้” แฮริสัน (Abigail “Abby” Harrison) หญิงสาวอเมริกันวัย 23 ปี ที่เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘Astronaut Abby’ หรือ ‘นักบินอวกาศแอบบี้’ แม้จะอายุน้อยแค่นี้แต่ดีกรีไม่ธรรมดาเพราะเป็นทั้งนักเขียน นักวิทยาศาสตร์ อินฟลูเอนเซอร์ นักพูด และวิทยากรในโครงการสะเต็ม (STEAM education) ของสหรัฐอเมริกาในด้านที่เกี่ยวกับอวกาศ นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร The Mars Generation ที่มุ่งเน้นให้คนตื่นตัวในเรื่องการสำรวจอวกาศด้วย

อะบิเกล “แอบบี้” แฮริสัน (Abigail “Abby” Harrison) หรือ ‘Astronaut Abby’ สาวน้อยมากความสามารถที่แม้แต่นาซายังยอมรับ

และคำเรียก ‘นักบินอวกาศแอบบี้’ นั้นก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะนอกจากเธอจะมีเป้าหมายในชีวิต มุ่งมั่นที่จะเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ได้ไปเหยียบดาวอังคารแล้ว เธอยังเคยเดินทางไปใช้ชีวิตในสถานีอวกาศนานาชาตินานถึง 6 เดือน เพื่อถ่ายทอดให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้ว่าการใช้ชีวิตบนนั้นเป็นเช่นไร ผ่านช่อง Youtube และโซเซียลมีเดียของเธอเองด้วย 

คลิปฉบับเต็มที่ ‘Astronaut Abby’ จัดอันดับ 5 ภาพยนตร์ยอดแย่ไว้เผยแพร่ผ่าน You tube Channel

ดังนั้นแล้ว 5 อันดับที่ว่าจึงเป็นภาพยนตร์อวกาศยอดแย่ในใจของคนที่รู้เห็นและเข้าใจสมจริงในแง่ดาราศาสตร์ และหากมันจะขัดใจคนทั่วไปอยู่บ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านหลังเลย)

5 Armageddon

หลายคนอาจจะขยี้ตามองซ้ำให้ชัด ใช่แล้วนี่เรากำลังพูดถึงหนังอวกาศยอดแย่อยู่นะไม่ใช่ยอดเยี่ยมสักหน่อย เมื่อภาพยนตร์ที่ฉายในปี 1998 และกำกับโดย ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) เรื่องนี้ติดโผมา คุณอาจจะไม่เชื่อสายตาตัวเองเท่าไหร่ เพราะ ‘Armageddon: อาร์มาเก็ดดอน วันโลกาวินาศ’ นั้นดังระเบิดเถิดเทิง แถมยังติด box office หลายสัปดาห์กวาดเงินไปมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยก็เกินหมื่นล้านบาทไปอีก) เป็นที่ติดตาตรึงใจใครหลายคนมาก ๆ แต่ความจริงก็คือ มันมีหลายอย่างขัดกับหลักทางวิทยาศาสตร์เต็มไปหมด นักวิทยาศาสตร์ในนาซาหลายคนรวมทั้ง แอบบี้ ผู้จัดอันดับหนังอวกาศยอดแย่จึงพากันเทคะแนนให้ภาพยนตร์ดราม่าน้ำตาท่วมจอยอดนิยมเรื่องนี้

แอบบี้ได้ให้คำอธิบายว่า ในภาพยนตร์ ฝนดาวตกทำให้เกิดระเบิดที่เมืองต่าง ๆ ไปทั่ว ซึ่งนั่นมันเกินว่าความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ และอันที่จริงแล้วฝนดาวตกก็ไม่ได้อันตรายขนาดนั้น ส่วนใหญ่พวกมันมีขนาดที่เล็กมาก เผาไหม้ไปหมดเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและทำให้เกิดเป็นดาวตก แต่ในหนังถึงกับระเบิดเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กหรือปารีสทั้งเมืองได้

เหตุผลต่อมาที่ขัดกับความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์อย่างแรงคือ วิธีที่จำกัดดาวเคราะห์น้อยกำลังจะพุ่งชนโลก ด้วยการระเบิดมันทิ้ง อันที่จริงถ้าจะทำเช่นนั้น ต้องใช้ระเบิดที่มีพลานุภาพมหาศาล มีความรุนแรงมากกว่า H-Bomb ซึ่งเป็นระเบิดที่มีกำลังทำลายล้างมากที่สุดที่เคยสร้างมาในโลกนี้ถึง 1 พันล้านเท่า

และอันที่จริงเรื่องนี้มันแย่มากถึงขั้นที่ได้คะแนนเพียง 38% ใน Rotten Tomatoes และแม้กระทั่งไมเคิล เบย์ เองยังออกมาบอกว่าเสียใจที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาด้วย 

ไม่น่าเชื่อเลยว่าภาพยนตร์ที่น่าประทับใจ มีการเดินเรื่องครบอารมณ์ทั้งสนุกเศร้าเคล้าน้ำตา แถมมีเพลงประกอบติดชาร์ต จะชิงตำแหน่งนี้มาได้ ชักหวั่นใจเสียแล้วสิว่า อันดับอื่นจะเป็นอย่างไร

4 The Black Hole

‘The Black Hole’ ฉายในปี 1979 ผลิตโดยดิสนีย์ (Disney) และกำกับโดยแกรี เนลสัน (Gary Nelson) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังโรเบิร์ต แอบเรต (Robert Ebret) กล่าวว่า “The Black Hole พาเราไปยังขอบอวกาศก็เพียงเพื่อจะทำให้เราจมดิ่งลงไปในเรื่องราวประโลมโลก มีแต่นักวิทยาศาสตร์ที่บ้าคลั่งและบ้านผีสิง” คำวิจารณ์นี้ฟังดูออกจะโหดร้าย แต่แอบบี้ก็บอกว่า ไม่ผิดไปจากนั้น เพราะนอกจากเป็นหนึ่งในภาพยนตร์อวกาศที่มีความไม่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดตลอดกาล เพราะตัวละครเรื่องนี้หลุดเข้าออกผ่านหลุมดำได้ราวกับเป็นรูหนอน ซึ่งต่างกับข้อเท็จจริงของหลุมดำโดยสิ้นเชิง 

นอกจากนี้ เอฟเฟกต์ภายในเรื่องยังจัดว่าแย่มาก ๆ เมื่อเทียบกับก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคนั้น ในทรรศนะของแอบบี้เธอมองว่า มันคือละครน้ำเน่าแห่งห้วงอวกาศเลยทีเดียว ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 2 สาขา นั่นคือ กำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography) and เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects) หากอยากรู้ว่าจะเยี่ยมรึจะแย่ก็ต้องตามไปดูแล้วตัดสินด้วยตัวเองแล้วล่ะ

3 Red planet

มาถึงอันดับ 3 กันบ้าง สำหรับอันดับนี้ แอบบี้ถึงกับหัวเสียเหมือนพูดถึง ภาพยนตร์อวกาศชื่อเด่นชัดว่า ‘Red Planet: ดาวแดงเดือด’ แต่มันช่างแตกต่างกับดวงดาวที่เธอรู้จักและอยากไปถึงเสียเหลือเกิน ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในปี 2000 และกำกับโดย แอนโธนี ฮอฟแมน (Anthony Hoffman) ได้คะแนนเพียง 14% ใน Rotten Tomatoes นอกจากคะแนนที่ย่ำแย่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เพราะสร้างด้วยงบประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับทำรายได้เพียง 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

เท่านั้นยังไม่พอ บทสนทนาในเรื่องยังแห้งแล้งยิ่งกว่าสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์สีแดงเสียอีก แต่ที่บ้าบอที่สุด ที่ไม่ใช่แค่แอบบี้ที่อยากทึ้งผมเมื่อชม แต่เราเองก็เห็นแล้วอยากทึ้งด้วยเหมือนกัน นั่นก็คือ ความจริงที่ว่าตัวละครทุกตัวเดินทอดน่องไปทั่วดาวอังคาร โดยไม่สวมหมวกอวกาศกันเลย!  ถึงจะมีอากาศแล้วไงละ รังสีล่ะ สารอื่น ๆ ล่ะ โอ้ย สุดแสนจะปวดใจเกินบรรยาย

เห้อ….ย่ำแย่ขนาดนี้ยังอยู่แค่เพียงอันดับ 3 แล้วอันดับต่อไปจะเป็นยังไงละเนี่ย

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

2 Mission to the Mars

‘Mission to Mars: ฝ่ามหันตภัยดาวมฤตยู’ เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับดาวอังคารและฉายในปี 2000 เช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ไบรอัน เดอ พาลมา (Brian De Palma) แม้จะได้คะแนนจาก Rotten Tomatoes มากกว่าเรื่องก่อนหน้า ( 24 %) เพราะการเดินเรื่องที่ดีกว่า แต่ก็ถือเป็นภาพยนตร์รวมฮิตสิ่งที่ไม่ถูกต้องขัดกับหลักทางวิทยาศาสตร์ แถมยังขัดกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่คาดหวังว่า ‘ภารกิจพิชิตดาวอังคาร’ (ตามชื่อ) ควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง แอบบี้จึงจัดให้อันดับเหนือกว่าอย่างง่ายดาย (และนักวิทยาศาสตร์จากนาซาหลายรายก็พูดถึงด้วยเช่นกัน)

แอบบี้กล่าวว่า จุดที่เธอรำคาญใจที่สุดของเรื่อง ก็คือฉากที่มีตัวละครตัวหนึ่งอยู่ในห้อง และอาศัยระบบช่วยชีวิตเพียงอย่างเดียวนั่นคือพืชเพียงหนึ่งกำมือ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่สามารถให้ออกซิเจนได้เพียงพอ (นั่นทำให้ The Martian ดูดีขึ้นมาเลย แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นแย้งว่า The Martian เองก็ยังมีข้อผิดพลาดเรื่องชีววิทยาอยู่มากก็ตาม) พร้อมกำชับว่าอย่าได้ริเอาอะไรแบบนี้ลองทำที่บ้านเชียว 

1 Gravity

ใช่แล้ว ‘Gravity: กราวิตี้ มฤตยูแรงโน้มถ่วง’ ภาพยนตร์ที่ฉายในปี 2013 กำกับโดย อัลฟอนโซ กัวรอน  (Alfonso Cuaron) ผู้กำกับชื่อดัง แถมหนังยังคว้ารางวัลออสการ์ไปถึง 7 สาขานั่นแหละ ที่คว้าอันดับ 1 ภาพยนตร์ยอดแย่ไปครองแบบไม่มีเสียงแตกเลย ทั้งแอบบี้และนักวิทยาศาสตร์ทุกคนต่างพากันยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้คือสุดยอดความวินาศสันตะโร พร้อมพ่นความขัดเคืองที่มีต่อหนังกันซะไม่มีชิ้นดี

เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั้งสเปเชียเอฟเฟกต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้จัดว่าดีมาก ๆ อย่างไรก็ตาม พลอตของเรื่องกลับไม่สมเหตุสมผล นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีนักบินอวกาศคนใดจะมีอารมณ์แบบที่ตัวเอกของเรื่องขึ้นไปทำภารกิจ และมีความ ‘ไม่เป็นมืออาชีพ’ หนักหน่วงเท่านี้ แถมชุดที่อยู่ในชุดอวกาศ เหมือนถอดออกมาก็ดูเนี้ยบเว่อร์สวยเกินจริง (ไหนละ ผ้าอ้อมนักบิน) แล้วยังฉากหอบหายใจด้วยความตระหนกที่ขัดหูขัดตานั่นอีก

แอบบี้เองก็ให้เหตุผลว่า จอร์จ คลูนีย์ (George Clooney) ที่รับบทนักบินอวกาศร่วมทีมไม่จำเป็นต้องตายด้วยซ้ำ แค่แซนดรา บูลล็อก (Sandra Bullock) ตัวเอกของเรื่องดึงเขากลับไปด้วยสายรัดโดยใช้แรงเพียงเล็กน้อยก็ช่วยชีวิตไว้ได้แล้ว นอกจากหายนะจะไม่เกิด ก็ยังมีเรื่องหายนะของหายนะอีกอย่างที่ไม่ควรจะมีในภาพยนตร์ด้วย นั่นก็คือ ตำแหน่งของสถานที่และระยะทางของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่ดูผิดเพี้ยนไปหมด 

ในภาพยนตร์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล สถานีอวกาศนานาชาติ และสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ของจีน ก็อยู่ใกล้กันกว่าความเป็นจริงหลายเท่า  ยิ่งไปกว่านั้นดาวเทียมที่เป็นตัวก่อหายนะในเรื่องก็ไม่อาจทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตได้เหมือนในหนัง และก็ไม่ได้เป็นเศษซากที่อันตรายเสียทั้งหมด 

แต่แอบบี้กล่าวว่า หากเป้าหมายของคุณในการชมภาพยนตร์คือ การเห็นแซนดราถูกเหวี่ยงไปมาในสภาวะเกือบไร้น้ำหนัก (Microgravity) อย่างไม่มีที่มาที่ไปแล้วละก็ คุณก็คงจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เพลิดเพลินแหละ (แต่เธอทำใจไม่ได้จริง ๆ )

และเพราะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก แอบบี้จึงทิ้งท้ายด้วยว่า เธอสนับสนุนให้ค่ายหนัง ส่งสคริปต์มาให้นักวิทยาศาสตร์อ่านก่อนสักหน่อย และถ้าไม่มีใครทำ เธอก็พร้อมจะอาสาทำเองเลยทีเดียว

เกิดเป็นนักวิทยาศาสตร์จะดูหนังให้สนุกมันช่างลำบากเหลือหลาย ช่างน่าเห็นใจแอบบี้และนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ เสียจริง ๆ 

อ้างอิง

Iflscience.com

Themarsgeneration.org

Cbc.ca

Wikipedia.org 1

Wikipedia.org 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส