เทรนท์ เรซเนอร์ กับ แอตติคัส รอสส์ สองคู่หูนักทำเพลงประกอบภาพยนตร์จากวง Nine Inch Nails ได้ปล่อยผลงานใหม่ล่าสุดนั่นคือสกอร์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Mank’ ผลงานการกำกับของผู้กำกับสายนัวร์ ‘เดวิด ฟินเชอร์’ ที่เป็นการร่วมงานกับ Netflix และเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดหลังจากที่ฟินเชอร์ได้ฝากฝีมือเอาไว้ในซีรีส์สุดสะพรึงเรื่อง ‘MINDHUNTER’
Mank เป็นเรื่องราวของ ‘ฮอร์แมน แมนคีวิซ’ มือเขียนบทหนังตกอับที่ถูกว่าจ้างให้มาช่วยเขียนบทหนังระดับตำนานเรื่อง Citizen Kane โดยผู้กำกับ ออร์สัน เวลส์ ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวในชีวิตของวิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ มหาเศรษฐีและเจ้าพ่อแห่งวงการหนังสือพิมพ์ เรื่องราวถูกถ่ายทอดในบรรยากาศความนัวร์แบบลุ่มลึกตามสไตล์ของเดวิด ฟินเชอร์ บวกกับผลงานการแสดงอันน่าประทับใจจากแกรี่ โอลด์แมน ในบทบาทของแมนคีวิซที่มีลุ้นออสการ์นำชายปีหน้าแน่ ๆ อีกทั้งยังได้ซาวด์แทร็กสุดเจ๋งจากเทรนท์ เรซเนอร์ กับ แอตติคัส รอสส์ยิ่งไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง
สกอร์ของหนังเรื่อง Mank ที่แต่งโดยเทรนท์ เรซเนอร์ กับ แอตติคัส รอสส์มีทั้งหมด 52 แทร็กรวมความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชันพิเศษที่มีเพลงที่ไม่ได้ถูกใช้ในหนังรวมไปถึงเพลงเวอร์ชันเดโม่รวมความยาวกว่า 2 ชั่วโมงซึ่งสามารถหาฟังได้จากทาง Bandcamp ที่เดียวเท่านั้น
“พวกนี้คือเพลงที่เป็นเวอร์ชันที่แตกต่างไปจากที่ใช้ประกอบในหนังรวมทั้งเพลงเวอร์ชันเดโม่ก่อนที่จะใส่เสียงออร์เคสตราเข้ามาคัดเลือกโดยเทรนท์และแอตติคัส และแน่นอนมันพร้อมให้คุณได้ฟังในทุกฟอร์แมตที่คุณต้องการรวมไปถึง loseless ด้วย” Nine Inch Nails ได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ “และสำหรับแฟน ๆ ที่ชอบสะสมแผ่นไวนิล พวกเราจะจัดทำสกอร์หนังเรื่องนี้เป็นไวนิลแน่นอนต้นปีหน้า แต่สกอร์ในไวนิลจะไม่รวมเพลงพิเศษความยาว 2 ชั่วโมงที่ว่ามานี้”
ก่อนหน้าที่จะมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Mank ให้กับเดวิด ฟินเชอร์ เทรนท์ เรซเนอร์ กับ แอตติคัส รอสส์ เคยร่วมงานกับผู้กำกับสายนัวร์คนนี้มาแล้ว 3 ครั้งกับภาพยนตร์ 3 เรื่องก่อนหน้านี้ตั้งแต่ The Social Network ในปี 2010 ที่คว้ารางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขา Best Original Score มาครอง ต่อด้วย The Girl with the Dragon Tattoo (2011) และ Gone Girl (2014) จุดเด่นในงานเพลงของทั้งคู่คือการผสมผสานซาวด์อิเล็กทรอนิกให้เข้ากับห้วงอารมณ์อันเข้มข้นได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์ แต่ใน Mank ทั้งคู่มาในทางที่แตกต่างด้วยงานดนตรีแบบออร์เคสตราที่ให้อารมณ์ของซาวด์แทร็กในยุค 1930s ตามบริบทของตัวหนังได้อย่างแนบเนียนและไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นงานเพลงของทั้งคู่เพราะมันแตกต่างจากผลงานที่ทั้งคู่เคยทำมา แต่ทั้งนี้ทั้งคู่ก็ไม่ลืมที่จะใส่เพลงที่มีความเหงาเศร้าอันงดงามตามสไตล์ของพวกเขาลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีบทเพลงในสไตล์แจ๊สอันเริงรื่นซึ่งเป็นแนวดนตรีที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงเวลานั้น อย่าพลาดชมหนังเรื่องนี้และไปฟังสกอร์ดี ๆ จากเทรนท์ เรซเนอร์ และ แอตติคัส รอสส์กันครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส