ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแนวเพลง J-pop ในยุค 70s-80s ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “City pop” กำลังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามนอกประเทศญี่ปุ่นทั้งในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยมีศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่นที่เป็นแนวหน้าของงานดนตรีในแนวนี้เช่น Tatsuro Yamashita, Mariya Takeuchi, Taeko Onuki และ Toshiki Kadomatsu
City pop เป็นแนวเพลงยอดนิยมของญี่ปุ่นที่สร้างสรรค์โดยศิลปินรุ่นใหม่ที่แสวงหาแรงบันดาลใจจากนอกประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความสนใจของวัยรุ่นในสมัยนั้นที่โหยหาวิถีชีวิตที่เป็นสากล ด้วยท่วงทำนองที่มีรายละเอียดซับซ้อน สีสันจากเสียงสังเคราะห์ จังหวะที่สนุกเร้าใจ และเมโลดี้ที่ไพเราะ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานงานดนตรีจากอเมริกาอย่างฟังก์ โซล บลูส์ แจ๊ส ให้เข้ากันกับดนตรีเจพอปจากญี่ปุ่นจนกลายเป็นดนตรีตะวันตกในรูปแบบของญี่ปุ่นที่กลมกล่อมและลงตัวกลายเป็นเอกลักษณ์ทางดนตรีที่เปี่ยมสีสันและกลายเป็นภาษาทางดนตรีที่สามารถเข้าถึงคนฟังได้จากทุกมุมโลก
คำว่า ‘City pop’ นั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ชื่อของงานดนตรีในแนวนี้ แต่เป็นชื่อที่ผู้ฟังในยุคนี้ใช้เรียกหรือนิยามงานดนตรีในลักษณะนี้ ซึ่งเพิ่งมีการบัญญัติมาในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลทางดนตรีของอเมริกาได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ผนวกกับเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวและเพื่องฟูอย่างยิ่งตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมาทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตแบบใหม่ที่มีความทันสมัย ตื่นตัวในวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกา และอยากจะพัฒนาตนให้มีความ ‘ทัดเทียม’ หรือ ‘ล้ำหน้า’ กว่านานาประเทศ ทำให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากอเมริกาไม่ว่าจะเป็น เสื้อฟ้า แฟชั่น เทคโนโลยี และดนตรี ทำให้อิทธิพลทางดนตรีอย่าง ฟังก์ โซล บลูส์ แจ๊ส ได้ไหลมาผสมกับท่วงทำนองและเมโลดี้ที่มีความเป็นญี่ปุ่นจนเกิดเป็นดนตรี City pop อันเป็นแนวเพลงที่ฉายภาพการใช้ชีวิตของคนเมืองที่มีชีวิตชีวาในที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เราได้หลับตาและปล่อยใจให้ไหลไปกับท่วงทำนองของ City pop จึงมักปรากฏมโนภาพของแสงสี ชีวิตยามราตรี แสงไฟ ป้ายนีออน หรือบรรยากาศของแสงตะวันในช่วงฤดูร้อน หาดทราย สายลม แสงแดด ไม่ว่าจะเป็นภาพยามค่ำคืนหรือยามกลางวัน ดนตรี City pop ก็ให้ภาพของชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความหวังทั้งสิ้น เพราะมันได้กักเก็บความทรงจำ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนในช่วงเวลานั้นที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อ ความหวัง ความสุข และหากจะเป็นความทรงจำมันก็เป็นความทรงจำที่งดงามไม่แปรเปลี่ยน ซึ่งท่วงทำนองที่มอบความรู้สึกเช่นนี้ให้กับเรานี่แหละที่เป็นสิ่งที่นักฟังเพลงทั้งหลายกำลังต้องการในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาให้เราได้รับมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ดูเหมือนว่าบทเพลงแรกที่นำพาให้ผู้ฟังในยุคนี้ให้ความสนใจในดนตรี City pop คงจะเป็นเพลง ‘Plastic Love’ จาก มาริยะ ทาเคอุจิ ศิลปินหญิงที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของงานดนตรีแนวนี้ ซึ่งเพลง Plastic Love ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังจากอัลกอริธึม YouTube ได้แนะนำเพลงนี้ให้คนทั่วโลกได้รู้จักจนมีจำนวนผู้ชมหลายล้านครั้ง ซึ่งต้นกำเนิดของไวรัลอาจจะมาจากยูเซอร์ที่ใช้ชื่อว่า ‘Sona’ อัพโหลดขึ้นระบบเป็นรายแรก แต่ต่อมาได้ถูกลบไปเพราะเรื่องลิขสิทธิ์และมียูเซอร์ชื่อ ‘Plastic Lover’ อัพโหลดเพลงนี้เป็นเวอร์ชันมิกซ์ใหม่ความยาว 7 นาที และหลังจากนั้นบทเพลง City pop ของศิลปินคนอื่นก็ค่อย ๆ ทยอยถูกอัปโหลดเข้ามาในโลกออนไลน์และทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงได้ง่ายในที่สุด จนในตอนนี้งานเพลงของศิลปิน City pop หลายคนอย่าง Anri, Kiyotaka Sugiyama & Omega Tribe, Miki Imai, Hiromi Iwasaki, Junko Ohashi และอีกมากมายก็ได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางระบบสตรีมมิง ยิ่งทำให้กระแสความนิยมในดนตรี City pop พุ่งสูงขึ้นเข้าไปใหญ่ อีกทั้งแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ตต์ ซีดี ของศิลปิน City pop กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนตามหาอยากเก็บมาสะสมไว้ในคอลเล็กชัน City pop ของตัวเอง
ท่ามกลางกระแสดนตรี City pop ที่หลั่งไหลและความนิยมที่เพิ่มพูน ได้มีอีกหนึ่งบทเพลงที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ ณ ขณะนี้ก็คือบทเพลงจากปี 1979 ที่ชื่อว่า“ Mayonaka no Door – Stay With Me” ของนักร้องสาว ‘มิกิ มัตสึบาระ’ (Miki Matsubara) นักร้องสาวร่างเล็กฟันกระต่ายผู้มีพลังเสียงไม่เล็ก ซึ่งได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงเวลานี้ Stay With Me ได้ไต่อันดับสตรีมมิงทั่วโลกเช่นใน J-pop list ของ Apple Music ใน 98 ประเทศ และชาร์ตไวรัลทั่วโลกของ Spotify (ขึ้นอันดับ 1 เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 10-16 ธันวาคม 2020) รวมถึงอันดับไวรัลในอีก 42 ประเทศมี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นต้นทางของกระแสความนิยมรวมอยู่ด้วย
การที่เพลง“ Stay With Me” ของมิกิ มัตสึบาระ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากเผยแพร่มาแล้วกว่า 40 ปี น่าจะเกิดขึ้นจากการที่ยูสเซอร์ใน YouTube ชาวอินโดนีเซียชื่อ ‘Rainych’ นักร้องสาวชาวมุสลิมที่มาพร้อมน้ำเสียงไพเราะ น่ารัก ซึ่ง cover บทเพลงพอปญี่ปุ่น รวมไปถึงเพลงพอปสากลที่ถูกแปลงเป็นเนื้อญี่ปุ่นจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนได้รับความสนใจจากศิลปินเจ้าของบทเพลงเช่น The Weekend และ Doja Cat ที่เธอนำเอาเพลง ‘Blinding Lights’ และ ‘Say So’ มาคัฟเวอร์ในเวอร์ชันเจพอปอย่างชวนว้าวจนศิลปินเจ้าของเพลงอดไม่ได้ที่จะเข้ามาคอมเมนต์และชื่นชมเธอ ช่องของเธอมีผู้ติดตามเกือบ 1.3 ล้านคน ซึ่ง Rainych ได้คัฟเวอร์เพลง “Stay With Me” ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและทำ MV ที่เป็นไลน์ร้องประกอบภาพอนิเมะในสไตล์ City pop ได้อย่างน่าสนใจทำให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จักเพลงนี้ก็เริ่มอยากรู้ว่าต้นฉบับนั้นเป็นของใคร จากติดใจกลายเป็นติดตามกลายเป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก อีกทั้งงานเพลงของมิกิ มัตสึบาระยังสามารถหาฟังได้ทางสตรีมมิงอย่าง Apple Music และ Spotify ได้แล้วในตอนนี้ ยิ่งทำให้ความนิยมและยอดสตรีมพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญเพราะในขณะที่ ‘Plastic Love’ เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น“ เพลงฮิตที่มองไม่เห็น” เพราะไม่สามารถใช้งานได้บนแพลตฟอร์มสตรีมมิง แต่เมล็ดพันธุ์ของ ‘Stay With Me’ กลับงอกงามและได้รับความนิยมอย่างมากนอกประเทศบ้านเกิด ทำให้เพลงนี้กลายเป็น “เพลงฮิตที่มองเห็นได้” ในอันดับสตรีมมิงมากมาย
คัฟเวอร์เวอร์ชันเพลง Stay With Me ของ Rainych ยังคงให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลเหมือนต้นฉบับในขณะเดียวกันก็ฟังดูทันสมัยมากขึ้นและเหมาะกับเสียงร้องเบา ๆ สบาย ๆ น่ารักของเธอ ผ่านการเรียบเรียงของ Natsuki Harada นักร้องและนักแต่งเพลงของวงดนตรีญี่ปุ่นชื่อ ‘evening cinema’ และ มิวสิกวิดีโอในสไตล์ City pop กำกับโดย DiAN ศิลปินมัลติมีเดียจากปักกิ่ง ความนิยมของ Rainych ทำให้เธอได้ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียง อย่างงานเพลงคัฟเวอร์ Say So ของ Doja Cat ในเวอร์ชันญี่ปุ่นของเธอก็ไปถูกตาต้องใจศิลปินอินดี้ญี่ปุ่นนาม tofubeats จนทำเวอร์ชันรีมิกซ์ใหม่ให้เธอและมี official MV ออกมา ทำให้เพลงนี้กลายเป็นซิงเกิลเดบิวต์ในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของ Rainych
“Mayonaka no Door – Stay With Me” วางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน ปี 1979 ในฐานะซิงเกิลเปิดตัวของมัตสึบาระ (ต่อมาได้ถูกรวมไว้ในอัลบั้มเดบิวต์ของเธอในปี 1980 ชื่อว่า ‘Pocket Park’) ซึ่งตอนนั้นเธอเพิ่งมีอายุเพียง 19 ปี เนื้อร้องเขียนโดย Yoshiko Miura (บางเครดิตจะใช้ชื่อว่า Tokuko Miura ซึ่งเกิดจากการที่ชื่อของเธอนั้นสามารถอ่านได้สองแบบ มิอุระเป็นคนแต่งเนื้อเพลง Hadashi No Kisetsu ซิงเกิลแจ้งเกิดของ Seiko Matsuda ไอดอลตลอดกาลของญี่ปุ่น) เรียบเรียงดนตรีโดย Tetsuji Hayashi (คนแต่งเพลงจบไอ้มดดำ Black RX) ถึงแม้มิกิจะเป็นนักร้องที่มีอายุน้อย แต่ด้วยฝีมือและประสบการณ์การร้องเพลงจากบาร์แจ๊ส ทำให้มิกิได้เดบิวต์ในฐานะนักร้องรุ่นใหม่ที่ไม่ถูกจัดอยู่ในประเภท “ไอดอล” ของศิลปินเจพอปหญิงเดี่ยว
ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของเธอ มิกิ มีผลงานทั้งหมด 8 ซิงเกิลกับอีก 12 อัลบั้ม นอกจากการเป็นนักร้องในแนวเพลง City Pop แล้วมิกิยังเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักแต่งเพลงและนักร้องเพลงประกอบอนิเมะด้วย ตั้งแต่ยุค 90s เป็นต้นมามิกิได้ทำงานเพลงซาวด์แทร็กประกอบอนิเมะหลายต่อหลายเรื่องรวมไปถึงได้ทำเพลงโฆษณาด้วยเช่น “Neat na Gogo 3 ji” (1981) ซิงเกิลที่ห้าของเธอ ที่เป็นเพลงแคมเปญฤดูใบไม้ผลิของ Shiseido แบรนด์ยักษ์ใหญ่ด้านความงามของญี่ปุ่น หรือว่า “THE WINNER” (1991) เพลงเปิดของซีรีส์อนิเมะเรื่อง กันดั้ม 0083 ความทรงจำแห่งละอองดาว (Mobile Suit Gundam 0083 Stardust Memory) ก็เป็นฝีมือการแต่งของเธอ นอกจากนี้มัตสึบาระยังเคยได้ร่วมงานกับศิลปินในแนวแจ๊สฟิวชันจากค่าย Motown ‘Dr.Strut’ ที่มาเป็นวงแบ็กอัปให้กับเธอในอัลบั้ม ‘Cupid’ นอกจากนี้เธอยังมีอัลบั้ม cover เพลงแจ๊สชื่อว่า ‘BLUE EYES’ แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ที่เราจะไม่ได้ฟังบทเพลงใหม่ ๆ จากเธออีกแล้วเพราะว่าในปี 2001 มิกิตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อมะเร็งและเข้ารับการรักษาจนถึงปี 2004 และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวัย 44 ปี
นอกเหนือจากอิทธิพลดนตรีจากตะวันตกแล้วลักษณะสำคัญอีกอย่างของเพลง Stay With Me ที่ดึงดูดใจผู้ฟังนอกประเทศญี่ปุ่นก็คือ วลีภาษาอังกฤษ ‘Stay With Me’ ในท่อนฮุกนั่นเองซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้ฟังที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ช่วยให้จดจำเพลงได้ง่ายและทำให้พอจะเข้าใจความหมายของเพลงได้จากวลีท่อนนี้และอารมณ์ที่ส่งผ่านมาทางบทเพลงและเสียงร้องของมิกิ โดยที่อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจเนื้อร้องในภาษาญี่ปุ่นตรงท่อนอื่น ๆ เลย ซึ่งเรามักพบลักษณะของการแต่งเพลงโดยการตั้งชื่อเพลงหรือใส่ท่อนสำคัญลงไปเป็นภาษาอังกฤษในการเขียนเพลงญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ซึ่งน่าจะเป็นด้วยสาเหตุตามที่กล่าวมานั่นเอง
Stay with me…真夜中のドアをたたき
帰らないでと泣いた
あの季節が 今 目の前
Stay with me…口ぐせを言いながら
二人の瞬間を抱いて
まだ忘れず 大事にしていた
Stay with me…ฉันเคาะประตูเมื่อยามเที่ยงคืน
ร่ำร้องให้เธอไม่กลับบ้านไปในคืนนี้
ฤดูกาลแห่งความร่ำไห้ของฉันนั้นปรากฏอยู่เบื้องหน้าของเธอ
Stay with me…จงเอื้อนเอ่ยถ้อยคำที่เราชอบใจ
โอบกอดช่วงเวลาอันแสนสั้นนี้ไว้
ฉันจะไม่มีวันลืมตราบที่ยังมีลมหายใจ
น่าเสียดายที่มิกิ มัตสึบาระไม่ได้รับรู้ว่าบทเพลงของเธอนั้นกำลังได้รับความนิยมมากขนาดไหนในทุกวันนี้ แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์ความนิยมของ “Stay With Me” ก็ได้เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ว่าดนตรีที่ดีไม่เคยตกยุคและไม่มีพรมแดนใด ๆ ขวางกั้นไม่ว่าจะเป็นพรมแดนทางภาษาหรือว่าแนวดนตรีก็ตาม
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส