ข้อมูลจากเว็บไซต์วิเคราะห์ตลาดดนตรี Chart Master ที่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อ 10 นักร้อง-ศิลปินที่มียอดเข้าชมผ่านเว็บไซต์ YouTube มากที่สุด ประจำปี 2020 หรือ YouTube’s Most Streamed Artists of 2020 ในแต่ละประเทศออกมารวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเป็นการนับรวมทุกบทเพลงของศิลปินรายนั้น ไม่ใช่เพียงจากแชนแนลหลักแต่อย่างเดียว
โดยมีผลการสำรวจดังต่อไปนี้
- อันดับ 1 มนต์แคน แก่นคูน 976 ล้านวิว
- อันดับ 2 Blackpink 749 ล้านวิว
- อันดับ 3 Youngohm 663 ล้านวิว
- อันดับ 4 พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ 587 ล้านวิว
- อันดับ 5 illslick 579 ล้านวิว
- อันดับ 6 ไผ่ พงศธร 497 ล้านวิว
- อันดับ 7 BTS 492 ล้านวิว
- อันดับ 8 จินตหรา พูนลาภ 444 ล้านวิว
- อันดับ 9 RachYo 357 ล้านวิว
- อันดับ 10 ลำเพลิน วงศกร 355 ล้านวิว
Chart Master ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อดูจากชาร์ตเพลงของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วมักพบว่าถึงแม้จะมีศิลปินอินเตอร์ติดอันดับที่สูงแต่มักมีศิลปินจากประเทศนั้น ๆ ติดชาร์ตในอันดับที่สูงกว่าหรืออย่างน้อยก็อยู่ในอันดับอื่น ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทยที่ นักร้องหนุ่มอีสานผู้มีสมญานามว่า “ผู้บ่าวเสียงสุดสะแนน มนต์แคน แก่นคูน” ได้ขึ้นอันดับหนึ่งด้วยยอดวิวกว่า 976 ล้านวิว เบียดแซงศิลปินกลุ่ม K-POP ยอดนิยมอย่าง BLACKPINK ที่มียอดวิว 749 ล้านวิว ซึ่งมนต์แคนมียอดวิวมากกว่า BLACKPINK ถึง 200 กว่าล้านวิว ! รวมไปถึงมีศิลปินไทยอีกหลายคนที่เอาชนะวง K-POP ชายอย่าง BTS ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 ส่วนสาเหตุที่ BLACKPINK ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทยทาง Chart Master ก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะว่า LISA หนึ่งในสมาชิกวงนั้นเป็นคนไทยนั่นเอง
ส่วนตัวอย่างประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโครงสร้างชาร์ตคล้ายกันกับไทยก็คือ เวียดนาม ที่ศิลปินอันดับหนึ่งคือดีเจชาวเวียดนาม K-ICM และอันดับที่สองคือ นักร้องลูกครึ่งเวียดนาม-เยอรมัน Trong Hieu ซึ่งเอาชนะ BLACKPINK และ BTS ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 และ 6 ตามลำดับ
ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียสองอันดับแรกคือวง BLACKPINK และ BTS โดย BLACKPINK ครองอันดับสูงสุดในฟิลิปปินส์ ส่วน BTS ครองอันดับสูงสุดในอินโดนีเซีย และมีข้อน่าสังเกตคือหากรวม BLACKPINK และ BTS แล้วในฟิลิปปินส์มีศิลปินต่างประเทศติดอันดับถึง 6 อันดับ โดยใน 6 อันดับนี้มีวงเกาหลี 3 วงคือ BLACKPINK , BTS และ TWICE ส่วนในอินโดนีเซียนอกจาก 2 อันดับแรกที่เป็นศิลปินต่างชาติแล้วที่เหลือเป็นศิลปินในประเทศทั้งหมดเลย
จากอันดับในชาร์ต YouTube’s Most Streamed Artists of 2020 ของ Chart Master ทำให้เราพบว่าอันดับยอดวิวบนยูทูบสะท้อนพฤติกรรมการฟังเพลงของคนในประเทศนั้น ๆ จาก 10 อันดับนี้เราสามารถสรุปได้ว่าแนวเพลงที่คนไทยนั้นชอบฟังประกอบไปด้วย เพลงลูกทุ่ง, เพลงฮิปฮอป ,K-POP และเพื่อชีวิต (เพลง Pop-Rock หายไปไหน)
จัดแนวเพลงจากทั้ง 10 อันดับ
ในอันดับทั้ง 10 สามารถจัดประเภทตามแนวเพลงได้ดังนี้ 1. เพลงลูกทุ่ง เป็นแนวเพลงที่มีศิลปินที่มียอดวิวใน youtube สูงที่สุดครอบครองไป 4 อันดับ นับได้เป็นเกือบครึ่งหนึ่ง มีศิลปินในกลุ่มนี้คือ มนต์แคน แก่นคูน , ไผ่ พงศธร, จินตรา พูนลาภ และ ลำเพลิน วงศกร
รองลงมาเป็นแนว hip-hop มีศิลปินที่ครองอันดับ คือ Youngohm , illslick และ RachYo
อันดับถัดมาคือแนวเพลง K-POP ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ศิลปินที่ครองอันดับยอดวิวสูงสุด ได้แก่ BLACKPINK เป็นตัวแทน K-POP ยอดนิยมฝ่ายหญิง และ BTS เป็นตัวแทน K-POP ยอดนิยมฝ่ายชาย
แนวเพลงสุดท้ายที่ได้ติดอันดับในลิสต์นี้และมีศิลปินที่เป็นตัวแทนแนวดนตรีนี้ก็คือ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 4 และมียอดวิวกว่า 587 ล้านวิว
ข้อสังเกตและข้อสมมติฐานเบื้องต้นที่เรามองเห็นจากผลการสำรวจในครั้งนี้ก็คือ คนไทยชอบฟังเพลงที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต อย่างเพลงลูกทุ่งนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ฟังเพลงส่วนใหญ่โดยเฉพาะบนยูทูบนั้นไม่ได้เป็นแต่คนในเมืองหลวง หากแต่เป็นคนไทยทั่วประเทศในทุกแห่งหน หรือรวมไปถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง ซึ่งเพลงลูกทุ่งนั้นได้ช่วยชุบชูจิตใจและคลายความคิดถึงบ้านของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
ส่วนเพลงเพื่อชีวิตนั้นก็เป็นบทเพลงที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต สภาพสังคม เศรษกิจ และการเมืองของคนไทย และศิลปินเพื่อชีวิตที่ยังคงมีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ และเพลงเพื่อชีวิตก็ยังคงได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ดพ้วยเช่นกัน เห็นได้จากการที่มีวงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่อย่าง ‘ไททศมิตร’ ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยนี้
ส่วนเพลงฮิปฮอปนั้นแทบไม่ต้องสงสัยเพราะกระแสความนิยมดนตรีแนวนี้เป็นที่เฟื่องฟูในไทยอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนวง BLACKPINK และ BTS ก็คือกระแสความนิยมในระดับโลกแต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้สะท้อนถึงการเจริญเติบโตของดนตรีจากฝั่งเอเชียที่ก้าวไกลทะยานไปในระดับโลก
จากผลสำรวจของ Chart Master จึงนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่าทำไม ‘มนต์แคน แก่นคูน’ และเพลงลูกทุ่งจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในบ้าน และเมื่อเราได้ตอบคำถามนี้แล้วเราคงเข้าใจในบริบทของการฟังเพลงในสังคมไทยได้ดีมากยิ่งขึ้น
ทำไมคนไทยถึงชอบฟังเพลงลูกทุ่ง ?
จากผลการวิจัยของงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการในการสื่อสารของเพลงลูกทุ่งผ่านการเล่าเรื่องตามค่านิยมของสังคมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน”ของ ทัศน์วศิน ธูสรานนท์ และ ผศ. ดร. พรพรรณ ประจักษ์เนตร พบว่ามีประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่งอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ
- เพลงลูกทุ่งสื่อถึงความเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีแสดงความเป็นอยู่ที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของเพลง
- มีการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ของวัฒนธรรมจากเพลงลูกทุ่งซึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดสะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทยโดยมีท่วงทํานอง คําร้อง สําเนียงและลีลาการร้องการบรรเลงที่เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะซึ่งให้บรรยากาศ ความเป็นลูกทุ่ง
- เพลงลูกทุ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแล้วแต่บริบททางสังคมของยุคนั้น ๆ
เพลงของมนต์แคน แก่นคูน คือตัวอย่างหนึ่งของเพลงลูกทุ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามแต่บริบททางสังคมของยุคนั้น ๆ ทั้งในด้านของเนื้อหาและการใช้ภาษา
จากงานวิจัยเรื่อง “คำปนภาษาอังกฤษในเพลงของ มนต์แคน แก่นคูน” ของ ศิรินภา นรินทร์ พบว่า การใช้ภาษาในเพลงสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม และทำให้เห็นถึงลักษณะการใช้ภาษาในบริบทต่าง ๆ การปนภาษาอังกฤษในเพลงลูกทุ่งของมนต์แคน แก่นคูน ซึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งที่ใช้คำภาษาถิ่นอีสานกับภาษาไทยมาตรฐาน แต่ผลงานเพลงชุดที่ 7 “ให้เขารักเธอ เหมือนเธอรักเขา” เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2559 (ซึ่งมีเพลงฮิตยอดวิวทะลุร้อยล้านอย่างไตเติลแทร็ก ‘ให้เขารักเธอ เหมือนเธอรักเขา’
และ ‘คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส’ ซึ่งเป็นเพลงที่มียอดวิวสูงสุดบนยูทูบของมนต์แคน แก่นคูน) กลับปรากฏการปนภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก แม้ว่าในอดีตจะมีการปนภาษาอังกฤษในเพลงลูกทุ่งอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่คนไทยคุ้นชินและใช้มานานในขณะที่บทเพลง มนต์แคน แก่นคูน มักเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เพลง ‘คอยน้องที่ช่องเม็ก’มีการใช้คำว่า ‘ไลน์’ ในท่อน “คือลืมไวแท้ไปแล้วบ่แคร์บ่โทร บ่ไลน์คิดฮอดโทรหาเป็นตาเหลือใจ จั๊กให้ผู้ใด๋ตอบมา” ซึ่ง ‘ไลน์’ (Line) เป็น application ที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยนี้ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้ว่าเพลงลูกทุ่งนั้นเล่าเรื่องตั้งแต่ยุคที่ติดต่อหากันด้วยจดหมาย มาโทรศัพท์ และจนถึงยุคของการแชตผ่านไลน์ในปัจจุบัน ซึ่งในแทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม ‘เขาขอไลน์ อ้ายขอลา’ ก็มีการเน้นย้ำถึงประเด็นการสื่อสารผ่านไลน์อีกครั้ง “เขาขอไลน์อ้ายก็เลยขอลา รู้ดีว่าวันหน้าต้องเจออะไร อ้ายกับเขาเทียบฟอร์ม บ่ยอมก็พ่าย”
จากงานวิจัยเรื่อง “อัตลักษณ์เลขนศิลป์ลูกทุ่งไทย” ของ กาญจนา สิงห์อุดม ได้กล่าวถึง ‘กลุ่มเป้าหมายและการสื่อสารของเพลงลูกทุ่ง’ มีใจความสำคัญว่า แต่เดิมเพลงลุกทุ่งถือกำเนิดมาในฐานะ ‘เพลงตลาด’ เพื่อตอบรับความต้องการสิ่งบันเทิงในระดับชาวบ้าน มุ่งสื่อสารกับชุมชนในระดับกว้าง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้าจากการทำงานหรือชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ และอารมณ์ ความรัก ความสุข ความสนุกง่าย ๆ ที่พบเห็นได้ ทำให้เพลงลูกทุ่งสามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้ง่าย
การที่เพลงลูกทุ่งเข้าถึงจิตใจคนได้ดีประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น เนื้อร้องของเพลง ทำนองของเพลง และการเรียบเรียงแยกเสียงประสาน สอดคล้องกันเป็นอย่างดี ชวนให้ฟังง่าย ๆ และเข้าใจง่าย ๆ เพราะธรรมชาติของคนเรานั้นในอันดับแรกต้องการสิ่งง่าย ๆ เช่น ฟังเพลงลูกทุ่งแล้วเนื้อหาของเพลงเข้าถึงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เข้าถึงชีวิตประจำวัน เข้าถึงประเพณี และ การนิยมของคนพื้นบ้าน (ชาญชัย บังบัวศร, “ทำไมเพลงลูกทุ่งจึงเข้าถึงจิตใจคนได้ดี” ใน เส้นทางเพลงลูกทุ่ง (กรุงเทพฯ : สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2533), 155.)
จากข้อมูลเหล่านี้เราได้พบว่าเพลงลุกทุ่งนั้นมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อคนไทยอย่างยิ่งในแง่ของเนื้อหานั้นเพลงลูกทุ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมอุดมคติและวัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนไปอีกด้วย ส่วนในด้านของดนตรีและองค์ประกอบโดยรวมนั้นเพลงลูกทุ่งนับว่าเป็นเพลงที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และมีเนื้อร้อง ทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสานที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี ทำให้เพลงลูกทุ่งกลายเป็นสื่อบันเทิงทางวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้ฟังนั้นเกิดความผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้าจากการทำงานหรือชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
ทำไมอันดับ 1 ถึงเป็นมนต์แคน แก่นคูน ?
จากการวิเคราะห์โดยนำเอาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และเป้าหมายของเพลงลูกทุ่งมาใช้วิเคราะห์เพลงของ มนต์แคน แก่นคูน พบว่า เพลงของมนค์แคนในด้านของดนตรีนั้นเป็นเพลงที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และมีเนื้อร้อง ทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสานที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี ส่วนในด้านเนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ความรัก ครอบครัว การประกอบอาชีพ อารมณ์และความรู้สึกของคนที่เป็นไปตามบริบททางสังคมและวิถีชีวิตของคนร่วมสมัย ซึ่งเราจะพบได้ในบทเพลงของมนต์แคน โดยเฉพาะหากลองฟังเพลงที่มียอดวิวเกิน 100 ล้านวิวของเขา นั่นคือ ‘คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส’, ‘คอยน้องที่ช่องเม็ก’, ‘ให้เขารักเธอ เหมือนเธอรักเขา’, ‘อ้ายฮักเขา ตอนเจ้าบ่ฮัก’, ‘เจ้าตั๋วว่าฮักอ้าย’, ‘สัญญาน้ำตาแม่’ และ ‘งานแต่งคนจน’ ก็จะพบว่าเป็นไปตามลักษณะที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บทเพลงของมนต์แคน แก่นคูน ได้รับความนิยมและส่งผลต่อยอดวิวบนยูทูบซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่มีความน่าสนใจนั่นก็คือ ‘มิวสิกวิดีโอ’ ซึ่งจากบทวิเคราะห์ความสำเร็จของบทเพลง ‘คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส’ โดยครูสลา คุณวุฒิ จากบทความ ‘”ครูสลา” เผยตัวแปร! “คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส” “มนต์แคน” ฮิตติดลมบน’ บนเว็บไซต์ ‘สยามดารา’ พบว่า บทเพลง คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส (ซึ่งปัจจุบันคือบทเพลงของมนต์แคนที่มียอดวิวสูงที่สุดคือ 398 ล้านวิว ณ ปัจจุบัน [มกราคม 2564] ) เป็น 1 ใน 3 เพลงจากมิวสิกซีรีส์ของ มนต์แคน แก่นคูน (อีก 2 เพลงคือ ‘คอยน้องที่ช่องเม็ก’, ‘ให้เขารักเธอ เหมือนเธอรักเขา’) ที่เริ่มฉายในเดือนตุลาคมปี 2016 เนื้อหาของเรื่องกล่าวถึงความรักไม่สมหวังของสาวลาว-บ่าวไทย จึงทำให้เกิดกระแสความนิยมของเพลง
ซึ่งครูสลา คุณวุฒิ ผู้แต่งเนื้อร้องทำนอง และดูแลการผลิตผลงานของมนต์แคน แก่นคูน ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เพลงนี้มีกระแสว่า “ประการแรกคงมาจากตัวศิลปินเอง คือ มนต์แคน แก่นคูน ที่ห่างหายจากการออกอัลบั้มเดี่ยวมาสักพัก ที่สำคัญมนต์แคนมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ดังนั้นเมื่อมีผลงานออกมาจึงมีกระแสตอบรับที่ดี ประการต่อมา คงจะเป็นเรื่องของ MV ที่มีเนื้อหาถูกใจแฟนเพลงคือ ความรักไม่สมหวังของสาวลาว-บ่าวไทย ที่สุดท้ายก็ไม่ได้ครองรักกัน เราโชคดีได้นักแสดงมือใหม่ แต่แสดงได้อย่างดีจนทำให้คนดูอินตาม นางเอกของเรื่องก็มาจากสปป.ลาว จริงๆ ส่วนพระเอกก็มาจากจังหวัดสกลนคร ทุกอย่างจึงลงตัว อีกประการหนึ่งก็คือ พี่น้องดีเจทั่วประเทศ และสื่อมวลชน รายการทีวีต่างๆ ให้ความเมตตาเปิดเพลงนี้จนเกิดกระแส เชิญไปออกรายการมากมาย เช่น รายการเรื่องเล่านี้ ช่อง 3, รายการกิ๊กดู๋ ช่อง 7 เป็นต้น หนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็เขียนช่วย ก็ต้องขอบคุณไปยังสื่อมวลชนทุกแขนงมา ณ ที้นี่ด้วย ประการสุดท้าย คงจะเกิดจากกระแสโซเชียลที่ปัจจุบันนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญช่วยกันแชร์ ช่วยกันกดไลค์ ครูว่าปัจจัย 4 ประการนี้ที่ทำให้เพลงนี้เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงทั่วประเทศ”
ซึ่งจากการวิเคราะห์ของครูสลา จากบทความนี้น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบสำคัญที่ทำให้พบว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อยอดวิวบนยูทูบก็คือ ‘มิวสิกวิดีโอ’ เพราะช่องทางการเสพเพลงผ่านทางยูทูบนั้นผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังแต่อย่างเดียว หากแต่ยังต้องการรับชมมิวสิดวิดีโอของเพลงนั้น ๆ ด้วย หากเพลงที่ดีและเป็นที่ชื่นชอบอยู่แล้วมีมิวสิดวิดีโอที่ดีย่อมส่งผลต่อความนิยมและยอดวิวบนยูทูบอย่างแน่นอน
(อ่านต่อหน้า 2 กับประวัติของมนต์แคน แก่นคูณ)
มนต์แคน แก่นคูน มีชื่อจริงว่า สิบเอก กิตติคุณ บุญค้ำจุน ปัจจุบันมีอายุ 47 ปี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 โดยตอนเกิดนั้นใช้ชื่อว่า ‘เพชรพร บุญค้ำจุน’ เป็นคนอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เด็กชายเพชรพรเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้มาเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง แต่ด้วยการซึมซับการร้องการรำจาก นาย ทองคำ บุญค้ำจุน ผู้เป็นพ่อที่เป็นหมอลำกลอนคู่ และมีทุ่งนาเป็นห้องเรียนรู้วัฒนธรรมอีสานแขนงนี้ จึงได้บ่มเพาะความเป็นศิลปินตั้งแต่วัยเด็ก
มนต์แคนเริ่มเข้าสู่เส้นทางดนตรีจากการเล่นในวงดนตรีของ วิฑูรย์ วงศ์ไกร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยโสธร ต่อมาได้มีโอกาสไปเทสต์เสียงที่บริษัท เสียงสยาม จนได้ออกผลงานอัลบั้มแรกที่มีชื่อว่า ‘ลำเพลิน ลำร็อค’ ในปี 2534 มีเพลงฮิตคือ ‘เสียศูนย์เมื่อบุญผะเวช’ โดยใช้ชื่อในวงการว่า ‘พรเพชร บุญค้ำจุณ’ และได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 ลำเพลิน ลำร็อค 2 ในปีต่อมา
จนหมดสัญญากับทาง เสียงสยาม มนต์แคนได้มาทำอัลบั้มใหม่กับ อาร์.เอส. โปรโมชั่น โดยใช้ชื่อว่า ‘มานพ วงศ์เพชร’ ออกผลงานมาสองชุดคือ ‘เข็มพรแกล้งพี่’ ในปี 2537 และ ‘ท็อปฮิต ลูกทุ่งมาตรฐาน 1’ ในปี 2539
จากนั้นมนต์แคนต้องมาเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และไปรับใช้ชาติเป็นเวลา 2 ปี ที่ค่ายบดินทรเดชา ก่อนทิ้งหายอัลบั้มไปหลายปี หลังจากพ้นจากทหารก็สอบนายสิบต่อได้เป็นทหาร และก็ยังติดต่อกับ ครูสลา คุณวุฒิ โดยตลอด หลังจากห่างหายไปเป็นเวลาเกือบ 10 ปี มนต์แคนจึงได้กลับมาสู่วงการดนตรีในฐานะนักร้องของในสังกัดแกรมมี่ โกลด์และมีผลงานชุดแรกภายใต้ชื่อ ‘มนต์แคน แก่นคูน’ คือ ‘ชุดที่ 1 ยังคอยที่ซอยเดิม’ ในปี พ.ศ. 2548 และมีผลงานกับทางแกรมมี่ โกลด์จนถึงปัจจุบันคือ 9 อัลบั้มซึ่งทั้งหมดนั้นดูแลโดย ครูสลา คุณวุฒิ อัลบั้มล่าสุดคือ ‘ไปรวยเอาดาบหน้า’ ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปัจจุบันนอกจากการเป็นนักร้องแล้วมนต์แคนยังรับราชการทหารประจำอยู่ในสังกัดของกรมการขนส่งทหารบกในส่วนของการดูแลกิจกรรมสันทนาการ (หน้าที่เดียวกันกับ เรืออากาศตรี วีรยุทธิ์ นานช้า หรือ บ่าววี)
ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี มนต์แคน แก่นคูน ได้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพออกมามากมายจนกลายเป็นหนึ่งในนักร้องลูกทุ่งหมอลำชาวไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน มีผลงานเพลงฮิตมากมาย อาทิ ยังคอยที่ซอยเดิม, ยามท้อขอโทรหา, สร้างฝันด้วยกันบ่, อ้ายฮักเจ้าเด้อ, โรงงานปิดคิดฮอดน้อง, ยังฮักคือเก่า, ชีวิตเพื่อชาติ หัวใจเพื่อเธอ, ฝันอีกครึ่งต้องพึ่งเธอ, ตรงนั้นคือหน้าที่ ตรงนี้คือหัวใจ, อ้ายบ่แม่นเขา, ให้เขาไปหรือให้อ้ายเจ็บ ฯลฯ และได้รับฉายาว่า “ผู้บ่าวเสียงสุดสะแนน มนต์แคน แก่นคูน” ซึ่งคำว่า ‘สุดสะแนน’ นั้นมาจากท่วงทำนองแคน หรือ ลายแคน ประเภทหนึ่งซึ่งเรียกว่า ‘ลายสุดสะแนน’ ซึ่งคำว่า “สะแนน” คาดว่าคงเพี้ยนมาจากคำอีสานคำหนึ่งคือ “สายแนน” มีความหมายว่า ต้นตอ หรือสายใย เช่น ถ้าคนเราเคยเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันหรือสามีภรรยากันในอดีต ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นดังอดีตอีก เขาเรียกว่าคนเกิดตามสาย “แนน”
เนื่องจาก ลายสุดสะแนน เป็นลายครูของแคน มีความไพเราะเป็นพิเศษ จังหวะกระชับและมีลีลาท่วงทำนองตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา เป็นลายที่หมอแคนจะต้องเป่าให้เป็นก่อน จึงจะก้าวไปสู่ลายแคนอื่นๆ ได้ ดังนั้นคำว่า สุดสะแนน ในเรื่องของลายแคนจึงหมายถึง ความไพเราะจับใจ ใครได้ฟังลายนี้แล้วมักจะคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน คิดถึงบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือต้องใช้คำว่าเกิดความออนซอน ขึ้นมาอย่างที่สุด นั่นก็คือเขาคิดหวนกลับไปถึง สายแนน ดั้งเดิมของเขานั่นเอง ดังนั้นฉายา ‘ผู้บ่าวเสียงสุดสะแนน’ ของมนต์แคน แก่นคูน จึงสื่อความหมายว่าเสียงร้องของมนต์แคนนั้นเป็นเสียงแห่งความคิดถึงที่ทำให้ผู้ฟังได้คิดถึงถิ่นฐานบ้านเกิดที่จากมา หรือครอบครัว คนรักที่รอคอยเราอยู่ที่บ้านนั่นเอง
อ้างอิง
- กาญจนา สิงห์อุดม. (2555). อัตลักษณ์เลขนศิลป์ลูกทุ่งไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ชาญชัย บังบัวศร.(2533). “ทำไมเพลงลูกทุ่งจึงเข้าถึงจิตใจคนได้ดี” ใน เส้นทางเพลงลูกทุ่ง, กรุงเทพฯ : สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
- ทัศน์วศิน ธูสรานนท์, ผศ. ดร. พรพรรณ ประจักษ์เนตร.(2560). พัฒนาการในการสื่อสารของเพลงลูกทุ่งผ่านการเล่าเรื่องตามค่านิยมของสังคมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน.วารสารนิเทศศาสตร์และนวัตกรรม นิด้า.4(2).
- ศิรินภา นรินทร์.(2561). คำปนภาษาอังกฤษในเพลงของ มนต์แคน แก่นคูน. การนำเสนอโครงการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานระดับชาติของนักศึกษา ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1/2561, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
- ครูสลาเผยตัวแปร ! “คำว่าฮักกัน มันเหี่ยถิ่มไส” “มนต์แคน” ฮิตติดลมบน
- แคน ท่วงทำนองของฅนอีสาน
- มนต์แคน แก่นคูน วิกิพีเดีย
- มนต์แคน แก่นคูน 10 เรื่องน่ารู้ นักร้องลูกทุ่งหมอลำขวัญใจมหาชน ที่คว้าอันดับ 1 ศิลปินยอดสตรีมสูงสุดในไทยปี 2020
- Chart Master
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส