ฟิล สเปกเตอร์ (Phil Spector) หนึ่งในโปรดิวเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของวงการดนตรีร็อกแอนด์โรล ผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงฮิตแห่งทศวรรษ 60s ผู้บุกเบิกเทคนิคการบันทึกเสียงที่เรียกว่า ‘Wall of Sound’ และได้ใช้เทคนิคนี้ในอัลบั้ม Let It Be ของวงสี่เต่าทอง The Beatles และทำให้พอล แม็กคาร์ตนีย์ ยี้จนต้องทำอัลบั้ม ‘Let It Be…Naked’ ออกมา ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 81 ปี ซึ่งคาดว่าสเปกเตอร์อาจเสียชีวิตเพราะติดโควิด-19 หลังจากมีผลตรวจวินิจฉัยว่าติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อ 4 สัปดาห์ก่อนและถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำ แต่ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์รัฐแคลิฟอร์เนียออกแถลงการณ์ว่าแพทย์นิติเวชจากเขตซานวาคีน จะตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงสเปกเตอร์ต่อไป
ฟิล สเปกเตอร์ คือหนึ่งในนักดนตรีและโปรดิวเซอร์มือทองของวงการที่สร้างสรรค์บทเพลงฮิตมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50s “To Know Him Is to Love Him” เพลงบัลลาดชวนฝันสุดฮิตที่ขายได้เกินล้านก็อปปี้ที่ออกมาในปี 1958 คือเพลงฮิตเพลงแรกของ ฟิล สเปกเตอร์ที่เขาเขียนให้กับวง The Teddy Bears ที่เขาและเพื่อนสมัยเรียนอีก 2 คนร่วมกันก่อตั้งขึ้น โดยชื่อเพลงนั้นมีที่มาจากข้อความที่สลักไว้บนป้ายหลุมศพคุณพ่อของเขานั่นเอง
“To Know Him is To Love Him” – The Teddy Bears (1958)
บทเพลงนี้คือบทเพลงแรกที่เป็นประจักษ์พยานในฝีมือการแต่งเพลงและโปรดิวซ์เพลงของสเปกเตอร์ ที่มาพร้อมท่วงทำนองอ่อนหวานละมุน และการร้องประสานที่ไพเราะนุ่มนวลที่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ในงานของสเปกเตอร์
ในทศวรรษ 60s สเปกเตอร์ได้สร้างสรรค์บทเพลงฮิตให้กับศิลปินมากมายไม่ว่าจะเป็น “He’s a Rebel”, “Uptown”, “Then He Kissed Me” และ “Da Doo Ron Ron” ของวง The Crystals “Be My Baby” และ“Walking in the Rain” ของวง The Ronettes “Spanish Harlem” ของ Ben E. King รวมไปถึง “You’ve Lost That Loving Feeling” และ บทเพลงสุดโรแมนติกอย่าง “Unchained Melody” ในเวอร์ชันของวง The Righteous Brothers ที่กลายเป็นบทเพลงที่ถูกเล่นมากที่สุดในวิทยุและโทรทัศน์ในศตวรรษที่ 20 และถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ดราม่าโรแมนติกเรื่อง ‘Ghost’
“He’s a Rebel” – The Crystals (1962)
แรกเริ่มเดิมทีเวอร์ชันดั้งเดิมของเพลงนี้เป็นของวง The Blossoms แต่งโดยจีน พิตนีย์แต่ถูกนำมาขัดสีฉวีวรรณโดยสเปกเตอร์และให้วง The Crytals ขับร้องจนกลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตของยุค 60s บทเพลงนี้ได้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของสเปกเตอร์ในการเรียบเรียงดนตรีและเรียบเรียงการร้องประสานเสียงในสไตล์เกิร์ลกรุ๊ปของยุค 60s เพลงนี้ได้รับการยกย่องจาก Billboard ให้อยู่ในอันดับที่ 31 ของ 100 บทเพลงของวงเกิร์ลกรุ๊ปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
“Be My Baby” – The Ronettes (1963)
เบื้องหลังบทเพลงนี้นอกจากจะโชว์การเรียบเรียงเสียงประสานออร์เคสตราหลายชั้นแล้ว ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสเปกเตอร์กับนักร้องสาว เวโรนิกา เบนเน็ตต์ หรือ รอนนีย์ ที่เป็นสาเหตุให้ชีวิตรักระหว่างสเปกเตอร์กับภรรยา แอนเน็ตต์ มีราร์ นักร้องนำวง The Spectors Three มีอันต้องสิ้นสุดลง และ สเปกเตอร์ก็ได้แต่งงานกับรอนนีย์ในเวลาต่อมา
หนึ่งในซิกเนอเจอร์ของฟิล สเปกเตอร์คือเทคนิคการบันทึกเสียงที่มีชื่อว่า ‘Wall of Sound’ ซึ่งเป็นการสร้างเสียงที่มีความหนาแน่น มีมิติ และความก้องกังวานด้วยการใช้กีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์อะคูสติก และเครื่องดนตรีออร์เคสตราบางส่วน โดยให้นักดนตรีเล่นโน้ตตัวเดียวกันพร้อม ๆ กัน และบันทึกเสียงในห้องที่โถงที่ก้องสะท้อน โดยการใช้ไมโครโฟนจับเสียงเอคโค่ที่ก้องไปมาอยู่ในห้อง เพื่อให้เกิดซาวด์ที่ก้องพร่าเหมือนภาพมายา ซึ่งเป็นแนวคิดที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากการฟังงานเพลงคลาสสิกของ ริชชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) นักแต่งเพลงคลาสสิกชื่อดังชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงทางด้านอุปรากรและการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตรา
“บทเพลงเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาแบบเพลงโอเปร่าของวากเนอร์ พวกมันเริ่มต้นอย่างเรียบง่ายและลงท้ายด้วยพลังอันหลากล้นอย่างมีเป้าหมายและเปี่ยมด้วยความหมาย ดังก้องอยู่ในใจเหมือนกับหนังอาร์ต” สเปกเตอร์ได้กล่าวถึงเทคนิคอันเป็นลายเซ็นของเขา
ตัวอย่างหนึ่งของเพลงในยุค 60s ที่ใช้เทคนิคนี้ก็คือเพลง “River Deep, Mountain High” ของวงดูโอ Ike & Tina Turner ที่บันทึกเสียงโดยใช้นักดนตรีถึง 21 ชีวิตบวกด้วยนักร้องแบ็กอัพอีก 21 ชีวิตเท่ากัน !!
“River Deep – Mountain High” – Ike & Tina Turner (1966)
นี่คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของความทะเยอะทะยานและการสร้างสรรค์อันระห่ำของสเปกเตอร์ด้วยการเรียบเรียงเสียงประสานหลากหลายชั้นด้วยการซ้อนทับเสียงเครื่องเป่า เครื่องสาย ด้วยการให้นักดนตรี 21 คนเล่นโน้ตเดียวกันพร้อม ๆ กัน และเสียงเหล่านั้นก็ประสานไปกับการร้องอันทรงพลังของทีนา เทอร์เนอร์ที่คลอเคล้าด้วยเสียงประสานจากนักร้องแบ็กอัพอีก 21 คนเช่นกัน เพลงนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของสเปกเตอร์ และถูกนิตยสาร Rolling Stone จัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 33 ในลิสต์ 500 บทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล อีกทั้งยังถูกเสนอชื่อให้อยู่ในหอเกียรติยศ Grammy Hall of Fame ในปี 1999
เทคนิค ‘Wall of Sound’ ของสเปกเตอร์กลายเป็นที่โด่งดังและได้ส่งอิทธิต่อบรรดาโปรดิวเซอร์และเหล่าศิลปินมากมายที่นำเอาเทคนิคนี้ไปใช้ไม่ว่าจะเป็นวง The Beach Boys ไปจนถึง Bruce Springsteen ยันแนวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกต้นยุค 90s อย่าง Shoegaze ก็นำเอาเทคนิคนี้ไปใช้ด้วยการสร้าง ‘กำแพงแห่งเสียง’ ด้วยเสียงกีตาร์อันแตกพร่าจากกีตาร์สองตัวขึ้นไปให้ความนัวร์ของเสียงมันผสมกัน อีกทั้งยังใส่เอฟเฟกอย่าง delay, chorus และริฟฟ์อันล่องลอยกับนอยซ์อันหนักนัว
หลังจาก The Beatles แยกวงกันในปี 1970 อัลเลน ไคลน์ผู้จัดการวงก็ได้ติดต่อสเปกเตอร์เพื่อให้เขาจัดการกับอัลบั้มเพลงที่วงยังทำค้างเอาไว้นั่นก็คืออัลบั้ม “Let It Be” นั่นเอง จากนั้นมาสเปกเตอร์ก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับจอห์น เลนนอน โดยโปรดิวซ์เพลง “Imagine” และอัลบั้ม “John Lennon/Plastic Ono Band” กับ “Rock ’n’ Roll” และร่วมงานกับจอร์จ แฮริสันในอัลบั้ม “All Things Must Pass” และ “The Concert for Bangladesh”
อัลบั้ม “Let It Be” ได้รับเสียงตอบรับที่หลากหลายบ้างก็ชื่นชอบ บ้างก็รู้สึกไม่โดน หนึ่งในคนที่ไม่ชอบเลยก็คือ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ที่ยี้กับการที่มีเสียงคอรัสเยอะ ๆ และ ออร์เคสตราแน่น ๆ โดยเฉพาะเพลง “The Long and Winding Road” เพราะอยากจะให้งานเพลงของพวกเขากลับมาเป็นสไตล์ร็อกแอนด์โรลดิบ ๆ ในแบบงานยุคแรก ๆ มากกว่าที่จะมีออเคสตราหรือว่าการประสานเสียงเติมแต่งอะไรเยอะ ๆ แบบสไตล์ของสเปกเตอร์ จนในที่สุดได้มีการทำอัลบั้ม “Let It Be . . . Naked” ออกมาในปี 2003 (เรื่องราวของการทำเพลงในอัลบั้ม “Let It Be” นี้จะถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์สารคดีที่กำกับโดยปีเตอร์ แจ็กสัน ที่ใช้ชื่อว่า “The Beatles: Get Back” ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ชมกันในปีนี้)
“Let It Be” – The Beatles (1970)
เมื่อตอน Let It Be ถูกปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลในเดือนมีนาคมปี 1970 เวอร์ชันนั้นโปรดิวซ์โดยจอร์จ มาร์ติน ซึ่งจะมีท่อนโซโลกีตาร์ที่นุ่มนวลกว่าและการมิกซ์เสียงออร์เคสตราที่เบากว่าเวอร์ชันอัลบั้มที่โปรดิวซ์โดยสเปกเตอร์ซึ่งจัดเต็มในแบบฉบับ Wall of Sound ของเขา ซึ่งมาพร้อมกับการตกแต่งเสียงของเครื่องดนตรีทุกชิ้น รวมไปถึงท่อนโซโลกีตาร์ที่ดุดันกว่าและเสียงประสานออร์เคสตราที่กระหึ่ม !
“All Things Must Pass” – George Harrison (1970)
“All Thing Must Pass” หนึ่งในบทเพลงจากทริปเปิลอัลบั้มของจอร์จ แฮริสัน ในชื่อเดียวกันที่โปรดิวซ์โดยสเปกเตอร์ งานนี้เทคนิคการเรียบเรียงเสียงประสานแบบ Wall of Sound ของสเปกเตอร์ช่างเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับบทเพลงอันงดงามของ จอร์จ แฮริสัน ที่มาพร้อมกับท่วงทำนองอันไพเราะเนื้อร้องที่คมคาย สละสลวย
“Instant Karma! (We All Shine On)” – John Lennon and the Plastic Ono Band (1970)
“Instant Karma! (We All Shine On)” ผลงานจาก John Lennon and the Plastic Ono Band บทเพลงจากเลนนอนที่ว่าด้วยเรื่องของสันติภาพโดยชี้ให้เห็นว่าเราทุกคนต้องได้รับผลจากการกระทำของตัวเองและต้องตายจากไปไม่วันใดก็วันหนึ่งแล้วทำไมเราจึงไม่หันมาทำดีให้กันล่ะ เพลงนี้คือหนึ่งในตัวอย่างอันดีของงานร่วมงานกันระหว่างเลนนอนและสเปกเตอร์ ที่แสดงให้เห็นถึงการผสานกันระหว่างอารมณ์และปณิธานอันแน่วแน่ของเลนนอนกับการประสานเสียงแบบ Wall of Sound ของสเปกเตอร์ที่ปลุกเร้าพลังในบทเพลงของเลนนอนให้เป็นเสมือนบทเพลงของการรณรงค์เพื่อสันติภาพอันร้อนแรง
และในปี 2003 ปีเดียวกับที่อัลบั้ม “Let It Be . . . Naked” ได้ออกมานี่เอง ที่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสเปกเตอร์อย่างใหญ่หลวง ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ สเปกเตอร์หลังจากดื่มอย่างหนักจากในบาร์ House of Blues ก็ได้ขับรถกลับบ้านพร้อมนักแสดงสาว Lana Clarkson ซึ่งเธอทำงานเป็นโฮสเตสอยู่ที่นั่น ก่อนที่ไม่กี่นาทีต่อมาจะมีคนพบสเปกเตอร์ยืนอยู่พร้อมปืนหนึ่งกระบอกในมือ และร่างของ Clarkson ที่ฟุบอยู่บนเก้าอี้ในบ้านของสเปกเตอร์โดยมีแผลถูกยิงเข้าที่ปาก สเปกเตอร์พยายามอ้างว่ามันเป็นอุบัติเหตุและเกิดการไต่สวนเป็นเวลานานหลายปี ผลสุดท้ายศาลตัดสินว่าสเปกเตอร์มีความผิดจริงและได้ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 19 ปีและได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตในเรือนจำนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ฟิล สเปกเตอร์ได้ถูกเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศ Rock and Roll Hall of Fame ในปี 1989 และ Songwriters Hall of Fame ในปี 1997 และในปี 2004 นิตยสาร Rolling Stone ได้จัดอันดับให้สเปกเตอร์เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อันดับที่ 63