One For The Road เป็นหนังไทยโดยฝีมือผู้กำกับ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ซึ่งเคยมีผลงานเรื่อง Countdown (2555) และ ฉลาดเกมส์โกง (2560) ด้วยความสำเร็จอย่างสูงของหนังเรื่องหลัง ทำให้ชื่อของบาสกลายเป็นที่จับตามองจากผู้ชมในกลุ่มประเทศเอเชียที่หนังเข้าฉาย และกลายเป็นหนังไทยที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในต่างประเทศมากที่สุด เพียงแค่ในประเทศจีนก็ทำเงินไปกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าไปแล้ว
ไม่แปลกเลยที่ชื่อของบาสจะไปเข้าหูและเข้าตาของคนทำหนังระดับสากลที่อยากจะร่วมงานกับเขา และเจ้าพ่อหนังเหงาอย่าง หว่องกาไว ก็กลายเป็นชื่อแรกที่เข้ามาอำนวยการสร้างให้หนังใหม่ของบาส โดยโพรเจกต์นี้มีการพูดคุยตั้งแต่ปี 2560 และใช้เวลากว่า 3 ปี กลายเป็นหนังเรื่อง One For The Road นี้เอง
One For The Road เล่าเรื่องราวของ บอส (ต่อ ธนภพ) บาร์เทนเดอร์หนุ่มไทยมากเสน่ห์ในเมืองนิวยอร์กที่มีชีวิตน่าอิจฉาและมีสาว ๆ มารุมล้อมมากมาย แต่ในคืนหนึ่ง เขาได้รับโทรศัพท์จาก อู๊ด (ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์) เพื่อนที่ห่างเหิน โทรมาแจ้งข่าวร้ายว่าเขากำลังจะตายด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และขอให้บอสกลับเมืองไทย เพื่อทั้งคู่จะได้ออกเดินทางในไทยอีกครั้งร่วมกันเพื่อย้อนความหลัง และนำสิ่งของไปคืนให้บรรดาแฟนเก่าของอู๊ด แต่บอสไม่ได้รู้ความจริงทั้งหมดและความลับที่อู๊ดปกปิดบอสไว้มานาน อาจทำให้ความเป็นเพื่อนรักของทั้งคู่ต้องจบลง เมื่ออู๊ดเหลือของชิ้นสุดท้ายที่ต้องเอาไปคืน และของชิ้นนี้อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา
และเมื่อหนึ่งชื่อระดับตำนานเป็นโพรดิวเซอร์ และอีกหนึ่งชื่อเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่หลายทวีปจับตามอง หนังจึงกลายเป็นความน่าสนใจที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ คิม ยูทานิ ผู้คัดเลือกหนังและจัดเทศกาลซันแดนซ์ปีล่าสุดได้เลือกหนังมาฉายเปิดตัวครั้งแรกของโลกในเทศกาลนี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา
“ปกติเราจะจับตามองโครงการหนังที่น่าสนใจตั้งแต่ตั้งไข่ แต่สำหรับ One For The Road นั้น มันมาแบบไม่รู้ตัว และเราก็เลือกให้หนังได้ฉายวันแรกของงาน ในหมวดการประกวดหนังจากทั่วโลก (นอกอเมริกา) ในประเภทดราม่า (World Cinema Dramatic Competition) ซึ่งหนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายของหว่องกาไวในแง่ของความคิดถึง ความสวยงาม และอารมณ์ต่อความไม่เที่ยงของชีวิต มันเหนือความคาดหมายของฉันมาก และฉันอยากให้มันเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ของเทศกาลด้วย”
ในขณะที่นิตยสาร Variety ชื่นชมว่า หนังอัดแน่นไปด้วยอารมณ์มากมายตลอด 137 นาที และสมแล้วที่มันชนะหนังหลายสิบเรื่องจนถูกเลือกมาฉายวันเปิดเทศกาลซึ่งมีพื้นที่สำหรับหนังเพียง 6 เรื่องเท่านั้น ทางนิตยสารค่อนข้างชื่นชมในลูกเล่นการเล่าเรื่องที่ฉลาดของบาส ที่พลิกไปพลิกมาแถมบางครั้งยังกล้าล้มล้างพล็อตตั้งต้นอย่างมีรสนิยมเสียด้วย หนังมีความลับที่ซ่อนไว้ค่อนข้างมาก (ซึ่งถ้าหากสปอยล์อาจจะเสียอรรถรสไปหลายส่วน)
“เป็นที่ชัดเจนว่าผู้กำกับจัดเจนในการคุมอารมณ์ของผู้ชม สามารถพูดได้เลยว่าหนังเรื่องนี้คือการขึ้นลิฟต์สูง 30 ชั้น ที่ผู้กำกับกำหนดไว้แล้วว่าจะกดปุ่มหยุดได้ทั้ง 30 ชั้น”
และการที่หนังค่อย ๆ เฉลยผ่านการพบพานกันของตัวละครแต่ละตัว จนถึงครึ่งหลังที่หนังพลิกไปอย่างชวนช็อก ประกอบกับกิมมิกที่หนังฉลาดใช้อย่างการที่ตัวละครของไอซ์ซึที่เป็นมะเร็งจะลบรายชื่อในโทรศัพท์ลงทุกครั้งหลังจากได้ติดต่อคนนั้นไป การที่เขาส่งมอบของบางอย่างให้แฟนแต่ละคน หรือการที่ตัวละครของต่อที่เป็นบาร์เทนเดอร์จะผสมค็อกเทลแต่ละรสชาติให้กับความสัมพันธ์แต่ละเรื่องที่เขารับรู้
และที่น่าตื่นเต้นมากคือ ตัวละครของวี ที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ จะเป็นจุดสำคัญที่ Variety บอกว่าทำให้ตัวหนังจากที่ตอนแรกมีกลิ่นจะเป็นเพียงหนังอีกเรื่องที่คล้าย 50/50 ของ โจนาธาน เลวีน กลับมาเป็นหนังที่ไม่เหมือนใคร และส่งผลกับหนังอย่างมาก (ดูเหมือนทางผู้รีวิวจะประทับใจตัวละครนี้ไม่เบาทีเดียว)
ด้านเว็บไซต์หนังอย่าง Deadline บอกว่า แม้จะน่าเสียดายที่หว่องกาไวไม่ได้สร้างหนังอะไรมา 8 ปีแล้ว แต่การมาอำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ก็งดงามและพิเศษไม่แพ้กันเลย
ส่วนตัวหนังนั้นได้รับการชมว่า เป็นหนังที่สำรวจลึกในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ และแม้หนังส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะเลือกผสมหลายรสหลายสูตรเป็นผัดรวมมิตร ทว่าหนังของบาสกลับเคี่ยวเน้น ๆ ด้วยอารมณ์เศร้าลึกไปตลอดเรื่อง ซึ่งหาได้ยากในหนังสมัยใหม่
นอกจากนี้ยังเห็นตรงกันในความเก่งของการเล่าเรื่องที่รักษาสมดุลการเล่าเรื่อง จากทั้งฝั่งนิวยอร์กและฝั่งประเทศไทย โดยหลอกล่อคนดูด้วยความไม่ชัดเจนของสถานที่และลำดับเวลาได้ดี ซึ่งต้องชมอย่างยิ่งกับการตัดต่อหนัง ที่เล่าเรื่องสลับไปมาเหมือนกระโดดไปรอบ ๆ แต่กลับเรียบเรียงอารมณ์ได้ดี จนถึงการหักเฉลยที่ทำให้ตัวละครแต่ละตัวได้เผยตัวตนที่แท้จริง ซึ่งน่าประทับใจมาก
และเป็นอีกครั้งที่บทวิจารณ์ ได้พูดถึง วี วีโอเล็ต และตัวละครของเธอเป็นพิเศษด้วย (น่าสนใจแล้วสิ)
สุดท้ายสำหรับคำวิจารณ์จากสื่อใหญ่ Indiewire ถล่มหนังด้วยเกรด C+ และนิยามว่าหนังมีความละมุนหวนไห้อดีตที่สวยงาม ราวกับการพินิจรถคลาสสิกเรียบหรู ทว่าเมื่อผู้กำกับเข้าเกียร์เดินเครื่องแต่ละทีกลับกระชากและให้อารมณ์ที่รุนแรงท่วมท้นไปพร้อมกัน
ความไม่เข้ากันระหว่างพาร์ตของตัวละครไอซ์ซึและตัวละครต่อ ทำให้เมื่อหนังเฉลยเรื่องราวของทั้งคู่ในช่วง 45 นาทีท้าย มันจึงดูไม่น่าเชื่อนัก นอกจากนี้ผู้กำกับบาสยังหยิบยืมความเป็นหว่องกาไวมาสรรเสริญอย่างไม่เข้าท่า หนังอาจกระตุ้นอารมณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ออกไปทางน้ำเน่ามากกว่าจับใจ และท้ายสุดคือ หนังแบกรับพล็อตที่มากมายเกินไปและไปได้ไม่สุด
“รถคลาสสิกที่ชื่อ One For The Road คันนี้ ได้น้ำมันหมดก่อนที่มันจะไปถึงเส้นชัย”
นอกจากนี้เว็บไซต์อย่าง Screendaily ก็พูดถึงส่วนที่ไม่ชอบของหนัง ว่ามีช่วงที่หนังหลงทางไปกับการเล่าเรื่องของตัวละครต่ออยู่พักใหญ่ แต่ก็ยังชอบในการนำเสนอแบบหวนไห้อดีตของหนัง ขณะที่เว็บไซต์ flickeringmyth มีอาการชอบแบบออกนอกหน้าด้วยคะแนน 4/5 และแนะนำให้ชมก่อนที่ฮอลลีวูดจะซื้อไปรีเมกเลยทีเดียว
ซึ่งตอนนี้ (29 มกราคม) คะแนนใน iMDb หนังได้ไป 7.3/10 จากจำนวน 24 โหวต ส่วน Rotten Tomatoes ก็ได้มะเขือเทศสดไป 80% จาก 5 รีวิวด้วย
โดยรวม ที่ทุกรีวิวพูดคล้าย ๆ กันคือ มีความเป็น โร้ดมูฟวี่ ที่ขายประเด็นความสัมพันธ์หลายแง่มุม ผ่านภาพสวยงามและดนตรีเก่าที่ชวนระลึกถึงอดีต หนังน่าจะเป็นดราม่าซึมลึกที่มีความตลกแซมเล็กน้อย และที่สำคัญคือหนังมีความซับซ้อนในการเล่า ทั้งลำดับเวลาและสถานที่ ตลอดจนเก็บงำความลับของตัวละคร แบบพลิกไปพลิกมาที่ต้องรอเฉลยในตอนท้ายเพื่อคลี่คลายหนังทั้งหมดอีกที ที่สำคัญดูเหมือน วี วิโอเลต จะได้รับการจดจำไม่น้อยทีเดียว
ก็น่าจะเป็นหนังส่วนตัวของผู้กำกับที่ได้ทำหนังตามใจตัวเอง อาจไม่ใช่หนังตลาดที่ถูกใจคนดูทั่วไปแบบ ฉลาดเกมส์โกง แต่แม้จะดูอินดี้ดราม่าเน้นอารมณ์เอื่อย ๆ ซึมลึก แต่หนังก็มีการเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดาและชวนตกตะลึงในบทสรุปอยู่แน่นอน อยากให้เข้าฉายในไทยจนทนไม่ไหวแล้วครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส