ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2527 ‘ไนท์สปอต’ บริษัทที่ทำธุรกิจรายการวิทยุและจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศได้ผันตัวเองมาสู่ค่ายเพลงหัวก้าวหน้าตั้งบริษัท WEA Records (Thailand) เพื่อผลิตผลงานเพลงไทยสากลระดับตำนานที่ยกระดับมาตรฐานวงการเพลงไทยไว้มากมาย ศิลปินที่ออกผลงานกับทางค่ายล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพประดับวงการเพลงไทยทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น อัสนี-วสันต์ , มัน ลาโคนิคส์, มาลีวัลย์ เจมีน่า, เบิร์ดกะฮาร์ท, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ และ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล ศิลปินเบอร์แรกของค่ายที่เปิดตัวด้วยผลงานชุด ‘ไปทะเล’ ในปี พ.ศ. 2527

ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล

ปานศักดิ์ มีดีกรีทางด้านดนตรีที่เข้มข้นทั้งชนะเลิศการแข่งขันดนตรีชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2512 ในนามวง Soul & Blues และ รางวัลชนะเลิศแชมป์กีต้าร์แห่งประเทศไทย จัดโดยสยามกลการ เมื่อ พ.ศ. 2521 นอกจากนี้ยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการแสดงกีตาร์ Southeast Asian Guitar Festival’78 ร่วมแสดงกีตาร์กับตัวแทนจากประเทศเอเชีย 7 ประเทศ พ.ศ. 2521 จากประสบการณ์ทางดนตรีที่เข้มข้นและประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดนจากการไปศึกษาสาขาศิลปะเพื่อการโฆษณาที่ University of Montevallo รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกาทำให้ผลงานเพลงของปานศักดิ์ มีความแปลกใหม่ ล้ำสมัย และฉีกขนบของงานเพลงไทยในยุคนั้น นอกจากนี้ปานศักดิ์ยังเป็นนักร้องคนแรก ๆ ของไทยที่นำเอาเทคนิคการเปล่งเสียงออกจากปอดมาใช้ในการร้องเพลงไทยอีกด้วย

ปกอัลบั้ม ‘ไปทะเล’

‘ไปทะเล’ มีการบันทึกเสียงที่อเมริกาและออกแบบปกอัลบั้มที่ไม่เหมือนใครด้วยการใช้ภาพกราฟิกแทนที่จะเป็นภาพถ่ายของศิลปินเหมือนปกเพลงไทยสมัยนั้น ลวดลายกราฟิกบนปกอัลบั้ม ‘ไปทะเล’ ดู ๆ ไปก็ให้ความรู้สึกคล้ายงานปกอัลบั้มเพลงแนว City Pop ในยุค 80s ของญี่ปุ่นที่ออกแบบโดย Hiroshi Nagai อยู่เหมือนกัน บทเพลงทั้ง 9 ในอัลบั้ม ‘ไปทะเล’ คือเพลงไทยสากลที่มีสีสันหลากหลายอันผสานไว้ด้วยอิทธิพลของดนตรีตะวันตกอย่าง พอป ร็อก เร็กเก โฟล์ก คันทรี มีทั้งเพลงร้องและเพลงบรรเลง และเนื้อหาของเพลงก็มีความแปลกใหม่และน่าสนใจมีทั้งเพลงรัก เพลงที่สอดแทรกปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังแฝงไว้ด้วยแง่มุมเชิงปรัชญา เนื้อร้องไม่มีการเล่าเรื่องที่ฟุ่มเฟือยมีการใช้คำง่าย ๆ แต่คมคายและชวนคิดนึกตรึกตรอง อย่างเพลงที่มีชื่อว่า “รักเป็นฉันใด” ก็เป็นเพลงร็อกสนุก ๆ ที่ตั้งคำถามถึงนิยามของคำว่า ‘รัก’  หรือ “มาช่วยกันสร้าง” ก็เป็นบทเพลงที่กระตุ้นเตือนให้เราไม่ลุ่มหลงอยู่ในวงจรของวัตถุนิยมที่ทรัพย์สินเงินทองมีค่ามากกว่าสิ่งใด  “เพื่อน” และ “ชายทะเล (ภูเก็ต)” ก็เป็นสองเพลงบรรเลงกีตาร์ที่เรียบง่ายและฟังเพลินอย่างเพลงหลังที่หลับตาฟังเมื่อใดก็ได้กลิ่นทะเลโชยมาเลย  

อีกหนึ่งเพลงรักในอัลบั้มที่มาด้วยกลิ่นอายเพลงคันทรีในจังหวะสนุก ๆ และท่วงทำนองที่น่ารัก “ฉันรักเธอทุกเวลา” เป็นเพลงรักหวาน ๆ ฟังเพลินเพลงหนึ่งเลยทีเดียว แถมมีโชว์ลีลาโซโลกีตาร์สุดเท่สมดีกรีแชมป์ประเทศไทย “แผ่นดินไทย” ก็เป็นเพลงรักเช่นกันแต่รักครั้งนี้ไม่ได้มีไว้ให้กับคนที่หมายปอง แต่เป็นรักบ้านเกิดเมืองนอน เสียงเกากีตาร์อะคูสติกเคล้าไปในท่วงทำนองละมุนกับเสียงร้องเจืออารมณ์เศร้าของปานศักดิ์ก็ปลุกเร้าความรู้สึกได้ดีเลยทีเดียว

หากถามถึงเพลงช้าอกหักว่ามีไหมในอัลบั้มนี้ก็คงต้องตอบว่ามีเพลงที่เข้าข่ายอยู่เหมือนกันเพลงนั้นก็คือ “คิดว่าสักวัน” ที่เปิดมาด้วยท่อนร้องอันคมคายว่า “รักเธอนั้น ช่างเหมือนกับสายน้ำวน สุดที่จะหยั่งถึงได้ รักฉันนั้น ปล่อยไปตามสายน้ำวน สุดที่สายน้ำจะพา” ก่อนจะนำพาให้สู่ห้วงแห่งความละมุนเศร้า ถ่ายทอดอารมณ์ครุ่นคิดถึงความสัมพันธ์ที่เลยผ่าน ไม่ใช่เพลงรักอกหักแบบเฝือ ๆ แต่เป็นเพลงรักอกหักของคนที่มีวุฒิภาวะ ครุ่นคิดถึง ขบคิด และทำความเข้าใจในความแตกต่างของคนสองคนบนความสัมพันธ์เพื่อพัฒนามันในครั้งต่อ ๆ ไป เนื้อเพลงใช้สำนวนโวหารเปรียบเปรยได้อย่างลุ่มลึกคมคายและเลื่อนไหลไปในท่วงทำนองของดนตรีอะคูสติกละมุนละไม

“อย่ามัวฝัน” หนึ่งในไฮไลต์ของอัลบั้มที่มาพร้อมกับท่วงทำนองละมุนชวนล่องลอย ไลน์ดนตรีปรุงกันมาได้กำลังดีมีทั้งความเท่ ความฟุ้งฝัน และความงาม มีการเติมความเท่ด้วยการร้องรวบคำนิด ๆ ตรงท่อนร้อง ในช่วงท้ายมีการเติมเสียงแซ็กโซโฟนเข้ามาได้อย่างสดฉ่ำล้ำเลิศชวนเคลิบเคลิ้มมาก ๆ  พอมาเจอกับเนื้อร้องที่กระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการลงมือทำ “อย่ามัวฝัน เวลานั้นไม่คอยท่า อย่ามัวช้าไปเลย ถ้าหากวันนี้ เราทำให้มันมีค่า วันข้างหน้าฝันนั้นเป็นจริง” แล้วเหมือนกับกำลังโดนสะกดจิตเลยทีเดียว

ส่วน “ไปทะเลกันดีกว่า” แทร็กแรกอันเป็นที่มาของชื่ออัลบั้ม เป็นเพลงที่แปลกใหม่ด้วยการเป็นเพลงเร็กเกเนื้อไทยที่ถือว่าล้ำสมัยในยุคนั้น เนื้อหาไม่มีอะไรมากนอกเสียจากอยากให้เราพักกายใจและไปทะเลกัน ฟังแล้วใจมันสดชื่นรื่นรมย์ หัวใจโหยหาทะเลขึ้นมาทันที “ทะเลนั้นเป็นเพื่อน ที่ไม่เคยมุ่งหวัง อะไรจากใจ อย่างที่คนคอยเฝ้าหวัง ไปทะเลกันดีกว่า ไปทะเลกันดีกว่า” นอกจากนี้สิ่งที่พิเศษสำหรับ “ไปทะเลกันดีกว่า” ก็คือการเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่มีมิวสิกวิดีโอแบบจริงจัง เพราะก่อนหน้านั้นเอ็มวีเพลงไทยส่วนใหญ่จะเป็นภาพศิลปินมาเล่นดนตรีกัน ไม่มีเรื่องราวอะไรทั้งนั้น

มิวสิกวิดีโอ “ไปทะเลกันดีกว่า” ได้ต่อ สันติศิริ ครีเอทีฟโฆษณามือทองมาครีเอทงานสุดติสต์ และได้ ไมเคิล วอล มาเป็นผู้กำกับ คอนเซปต์ของเอ็มวีต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายหน่ายชีวิตของสังคมในเมืองหลวงด้วยการสะท้อนให้เห็นสภาพความวุ่นวาย ผู้คนที่พลุกพล่านมากมายแต่ใส่หน้ากากคล้าย ๆ  กันไปหมด ‘ปานศักดิ์’ จึงต้องออกมาพร้อมบทเพลงไทยเร็กเกชวนหนีร้อนกายร้อนใจไปพึ่งทะเลกันดีกว่า อีกเพลงในอัลบั้มที่ทำเอ็มวีออกมาก็คือ “รักเป็นฉันใด” ที่นำเสนอออกมาด้วยสีสันฉูดฉาดแปลกตาให้อารมณ์เหมือนงานพอปอาร์ต เข้ากันดีกับสปอนเซอร์งานเพลงชุดนี้อย่างฟิล์มสีโกดัก เรียกได้ว่าสดใหม่และแปลกใหม่เป็นที่จดจำของผู้คนในยุคนั้นและกลายเป็นตำนานของวงการเพลงไทยตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาในปี 2529 ปานศักดิ์ได้ออกผลงานชุดที่ 2 มีชื่อว่า “ไปเป็นชาวเกาะ” แต่ย้ายสังกัดมาอยู่กับ Creatia Artists ที่มีทีมงานคุณภาพอย่าง พนเทพ สุวรรณะบุณย์, ประภาส ชลศรานนท์, อิทธิ พลางกูร, ธเนส สุขวัฒน์ และจิระ มะลิกุล และมีศิลปินแนวหน้าของวงการเพลงไทยอย่าง ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว , รวิวรรณ จินดา, ชรัส เฟื่องอารมณ์ เป็นต้น “ไปเป็นชาวเกาะ” ให้อารมณ์เหมือนเป็นภาคต่อจาก “ไปทะเล” ที่ตอนแรกแค่อยากพาตัวเองมาหย่อนกายหย่อนใจที่ทะเล แต่ไป ๆ มา ๆ คราวนี้รู้สึกเบื่อเมืองกรุงมุ่งแสวงหาธรรมชาติก็เลยอยากจะ “ไปเป็นชาวเกาะ” มันซะเลย “จะจูบอำลาสังคม แสงสีในเมืองนภา หากเบื่อชีวิตในเมืองกรุง และคิดใจมุ่งแสวงหา มีธรรมชาติในวิญญา ตามฉันมาเป็นชาวเกาะเอย”

ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล คือหนึ่งในศิลปินคุณภาพที่สร้างสรรค์ผลงานขับเคลื่อนวงการเพลงไทยเอาไว้ ถึงแม้จะมีผลงานออกมาแค่เพียง 2 อัลบั้ม แต่ก็ต้องยอมรับว่างานทั้ง 2 อัลบั้มนี้เป็นงานคุณภาพระดับพรีเมียมเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์อันละมุนละไมที่เป็นหมุดหมายสำคัญของวงการเพลงไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส