“ทุก ๆ ที่แม้ตรงนี้คือขอบฟ้า ที่สายตามองมาว่าไว้สวย
จะดั้นด้นค้นหาไปทำไม… จงมาช่วยสร้างตรงนี้ให้ศิวิไลซ์”
‘แดนศิวิไลซ์’ อัลบั้มล้ำสมัยแห่งยุค 80s ผลงานเพลงสร้างสรรค์ที่นำพาความแปลกใหม่ทั้งในด้านเนื้อหาและดนตรี ปลุกความคิดและจิตใจให้ไตร่ตรองอย่างละเมียดละไมในวิถีชีวิตที่เรากำลังดำเนินอยู่ ‘แดนศิวิไลซ์’ แท้จริงแล้วนั้นอยู่แห่งหนใด ณ ขอบฟ้าที่ห่างไกล หรือ อยู่ในใจที่สงบสุข
หากจะให้นิยามว่า ‘ธเนศ วรากุลนุเคราะห์’ นั้นคือใคร เป็นไปได้ที่คำตอบที่เราได้รับนั้นอาจจะไม่ตรงกัน เพราะพี่เอก ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ นั้นมีบทบาทที่แตกต่างหลากหลายมากมายเหลือเกินไม่ว่าจะเป็น นักแต่งเพลง นักร้อง นักดนตรี นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ ดีเจ เจ้าของค่ายเพลง รวมไปถึงการเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของนักแสดงคุณภาพผู้ล่วงลับศรัณยู วงษ์กระจ่าง ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็อาจจะรู้จักพี่เอกธเนศในฐานะนักแสดง (โฮมสเตย์, ฉลาดเกมส์โกง, ป๊อปอาย มายเฟรนด์) ถ้าเป็นวัยรุ่นยุค 90s-2000s ก็คงจะรู้จักในฐานะเจ้าของค่ายเพลง มิวสิค บั๊กส์ (Music Bugs) ค่ายเพลงอินดี้ที่ให้กำเนิดศิลปินเบอร์ต้น ๆ ของไทยเอาไว้มากมาย อาทิ Bodyslam , Big Ass และ Labanoon แต่หากย้อนไปในช่วงยุค 80s แล้วล่ะก็ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ก็คือศิลปินคนสำคัญที่ได้จุดประกายความสร้างสรรค์ให้กับวงการดนตรีไทยเอาไว้อย่างน่าชื่นชม
‘แดนศิวิไลซ์’ คือผลงานเพลงชุดแรกของธเนศ ออกกับทางค่ายไนท์สปอตในปี 2528 ซึ่งแน่นอนว่าผลงานเพลงจากค่ายนี้จะต้องล้ำยุคล้ำสมัยและน่าสนใจเป็นแน่แท้ และ ‘แดนศิวิไลซ์’ ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ อัลบั้มนี้เป็นงานดนตรีในแนว ‘ร็อก’ ที่มีกลิ่นอายของงานดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกและซินธ์พอปเข้ามาผสมผสาน มีการผสมกันระหว่างงานดนตรีร็อกกับซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างกลมกลืนกลมกล่อม อีกทั้งยังมาพร้อมเนื้อหาเชิงปรัชญา สะท้อนสังคม สะกิดต่อมความคิดให้เราหันมามองสังคมรอบตัวที่เป็นอยู่ด้วยสายตาที่คิดนึกตรึกตรองมากขึ้น
อัลบั้มชุดนี้ได้ อัสนี โชติกุลมาเป็นโพรดิวเซอร์ร่วมกับเลีย ฮาร์ต (Lea Hart) นักร้อง นักแต่งเพลงและนักดนตรีมากฝีมือที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรีร็อกของอังกฤษและเคยมาเล่นดนตรีที่บ้านเราด้วยในนามของวง Ya Ya และ Lea Hart & The Roll Up นอกจากนี้ยังได้ทีมนักดนตรีเป็นชาวต่างชาติครบเซ็ต Lea Hart – กีตาร์ , Terry Stevens – เบส , Ray Callcut – ลีดกีตาร์ , Graham Garrett – กลอง , Nick Coler – เปียโน, คีย์บอร์ด ,Jeff Finch – เฟรทเลสเบส , John Earle – อัลโตแซ็กโซโฟน และ Gary Edwards ที่เคยร่วมงานกับ George Martin, Roxy Music, Queen และ Rainbow เป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ ส่วนเนื้อร้องและทำนองของเพลงทั้งหมดในอัลบั้มแต่งโดยธเนศเอง อัลบั้มชุดนี้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร DDT (ฉบับที่ 27 ประจำเดือนเมษายน 2007) ให้เป็นหนึ่งใน “10 Cool Albums in the Past 25 Years” ร่วมกับอัลบั้ม “คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต” อัลบั้มชุดต่อมาของธเนศด้วย
‘แดนศิวิไลซ์’ บันทึกเสียงกันไกลถึง Village Recorders ณ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไนท์สปอตจองห้องอัดในการบันทึกเสียงทั้งสิ้น 14 วัน แต่ได้ทำงานจริง 12 วันเนื่องจากเครื่องบันทึกเสียง 24 แทร็กเสียต้องใช้เวลาซ่อม 2 วัน ส่วนการทำงานนั้นธเนศและอัสนีระดมสมองร่วมกันเป็นแรมปีกว่าจะมีเดโมเพื่อส่งให้กับนักดนตรีได้ซ้อมกันล่วงหน้า เป็นงานดนตรีที่มีสีสันและไม่ซับซ้อนจนเกินไปภายใต้คอนเซปต์ที่ธเนศต้องการคือเป็นงานดนตรีที่นำเสนอต่อ ‘คนรุ่นใหม่’
ในภาพรวมงานดนตรีของอัลบั้มนี้มีความล้ำด้วยการใส่ซาวด์จากเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาไม่ว่าจะเป็น ซินธิไซเซอร์ กลองไฟฟ้า หรือว่าซาวด์เอฟเฟก นอกจากเพลงในอัลบั้มนี้จะล้ำแล้ว การตั้งชื่อเพลงในอัลบั้มก็ไม่ธรรมดา เรียกได้ว่าแค่กวาดสายตาไปอ่านบนปกก็ดึงดูดให้อยากเข้าไปฟังข้างในแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ‘เบื่อคนบ่น’ ‘ลุงคิดกับหลานชิดชัยและแดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า’ รวมไปถึงพวกเพลงที่มีคำแสดงความรู้สึกอย่าง ‘ไม่รู้รึไง…โอ๊ย’ หรือ ‘โธ่…ผู้หญิง’ หรือพวกเพลงที่ใส่คำในวงเล็บเพิ่มความงงงวยเข้าไปใหญ่ว่าชื่อของเพลงนั้นจะสื่อถึงอะไรเช่น ‘(จริง ๆ )…เพลงในใจ’ ‘(อะไร)…ในถนน’ และ ‘คนเกลียดคน…อย่า (ก) ออกไป’ ก่อนจะฟังนั่งจ้องชื่อเพลงอยู่ 2 วันก็ไม่เข้าใจ
มาเริ่มกันที่เพลงแรก ‘เบื่อคนบ่น’ ไลน์ซินธ์กับไลน์เบสเพลงนี้มันช่างเท่ดีเหลือเกิน ไลน์ซินธ์มีความเท่มีเสน่ห์ชวนให้จดจำ ส่วนไลน์เบสก็ดึ๊งดึ่งชวนโยกเหลือเกิน อีกทั้งยังดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงไทยเพลงแรก ๆ เลยที่ใช้วิธีการร้องแบบแรปเข้ามาผสม เนื้อหาของเพลงเหมือนเป็นการระบายจากความเบื่อหน่ายของมนุษย์เงินเดือนที่โดนติติงว่ากล่าวนู่นนี่ รวมไปถึงคนที่อาจจะตั้งใจทำอะไรดี ๆ แต่เจอพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำมาก่อกวนด้วยการพ่นน้ำลายไปวัน ๆ สุดท้ายทำอะไรไม่ได้ก็คงได้แต่บ่นออกไปว่าเบื่อ และก็ ทน…ทน..ทน..ทนไป
‘ดนตรี’ เป็นเพลงร็อกที่ให้อารมณ์สนุก ๆ มันส์ ๆ พูดถึงความสำคัญของเสียงดนตรีที่คอยกล่อมเกลาจิตใจให้หายเศร้า เพลงนี้มีการวางจังหวะของคำและใช้ภาษาได้อย่างมีลูกเล่นและสละสลวย
พักเพลงมันส์ ๆ ไว้ก่อนแล้วมาต่อกันที่ ‘ดีใจ’ บทเพลงที่คลุกเคล้าอารมณ์เหงา ๆ ถ่ายทอดความรู้สึก ‘ดีใจ’ เมื่อได้พบกับคนที่รักและคิดถึง เป็นเพลงพอปในสไตล์ไทยที่ไพเราะ ฟังไปได้แบบเพลิน ๆ
เปิดอินโทรมาก็เจอริฟฟ์เร้าใจสไตล์ชาวร็อกเลย กรูฟกลองตึกตักชวนโยกดีแท้ ดนตรีร็อกเร้าใจส่วนท่วงทำนองก็สดใสวัยหวานดี ‘ไม่รู้รึไง..โอ๊ย’ เป็นเพลงรักอารมณ์วัยรุ่นที่บอกรักกันตรง ๆ เลยว่าก็ฉันไงที่เฝ้ารัก เฝ้าหลงใหล เพ้อในตัวเธอ แต่เธอก็ไม่รู้สักที จนต้องอุทานออกมาว่า โอ๊ย…ไม่รู้รึไง (วะ!)
เพลงต่อมานี่คือไฮไลต์ ‘ลุงคิดกับหลานชิดชัยและแดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า’ เพลงชื่อยาวที่มาพร้อมกับเรื่องเล่าเชิงนิทานปรัมปรากับเนื้อหาเชิงปรัชญา เล่าถึงลุงคิดที่ขายนาเพื่อจะพาหลานชิดชัยไปยังแดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า มุ่งหาความเจริญ (ในด้านวัตถุ) ความสะดวกสบายและทันสมัย เฝ้าฝันใฝ่ในสิ่งที่ปรารถนา แต่ทว่ายิ่งหาเท่าไหร่ก็ยิ่งหาไม่พบ พบแต่ความยากแค้นดิ้นรนและโหยหา และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ลุงกับหลานจะเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วนั้นแดนศิวิไลซ์ที่ว่าหาใช่อยู่ที่ไหนไกล หากแต่อยู่ที่ใจของเรานั่นเอง เพลงนี้คือเพลงที่มีท่วงทำนองดนตรีร็อกที่เร้าใจกับซาวด์ดนตรีที่มีลีลาน่าสนใจเปี่ยมเสน่ห์และสีสัน เนื้อหาที่มีนัยเชิงปรัชญาก็เล่าออกมาได้อย่างเรียบง่าย คมคายและชวนคิดนึกตรึกตรอง ทุกครั้งที่ฟังเพลงนี้เราจะนึกถึงนิยายเรื่อง ‘ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน’ (The Alchemist) ของเปาโล โคเอลโยที่มีแก่นใหญ่ใจความแบบเดียวกันกับเพลงนี้ขึ้นมาทุกที
เพียงขึ้นอินโทรมาเราก็รู้ได้เลยว่าท่วงทำนองของเพลงนี้มีความหวานยิ่งได้ยินสำเนียงเสียงแซกโซโฟนเข้ามายิ่งฉ่ำหวานเข้าไปใหญ่ สไตล์การร้องอ้อน ๆ ของพี่เอกและถ้อยคำในบทเพลงยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นเพลงมีความหวานล้ำ ‘โธ่…ผู้หญิง’ เป็นบทเพลงที่พูดถึงธรรมชาติของผู้หญิงในแง่มุมหนึ่งที่ผู้ชายทั้งหลายคงเคยเจอเมื่อพยายามค้นลงไปในหัวใจของพวกเธอที่ยากแท้หยั่งถึงสุดจะคาดเดา จะรักหรือไม่รักหรืออย่างไรเรามิอาจเข้าใจความรู้สึกที่แท้ของเธอได้เลย
จุดเด่นอย่างหนึ่งของอัลบั้ม ‘แดนศิวิไลซ์’ ก็คือการเขียนเพลงซึ่งแตกต่างจากเพลงไทยในยุคนั้นที่จะมีการเล่าเรื่องหรือบรรยายความรู้สึกที่ชัดเจนเข้าใจได้ง่าย แต่การเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ยกตัวอย่างเช่นในเพลง ‘(จริงๆ)…เพลงในใจ’ จะมีลักษณะการเขียนเพลงแบบ ‘เติมคำในช่องว่าง’ คือมีพื้นที่ว่างให้ผู้ฟังได้ตีความจากถ้อยคำที่เรียงร้อยเอาไว้ในบทเพลง ซึ่งปัจจุบันเราพบการเขียนเพลงลักษณะนี้มากโดยเฉพาะในกลุ่มของเพลงอินดี้ ซึ่งเหมือนจะไม่เข้าใจเมื่อแรกฟังแต่เมื่อได้ลองตั้งใจฟังอีกสักทีก็พอจะเข้าใจในความหมายของบทเพลง ‘(จริงๆ)…เพลงในใจ’ ต้องการจะสื่อถึงสภาวะอารมณ์ของคนที่ยังสับสนอยู่ภายในใจ ไม่มั่นใจในชีวิตวันนี้และวันข้างหน้า แต่ว่าในท่อนฮุคจะคล้ายเป็นการปลุกปลอบใจให้มีความหวังและเชื่อมั่นในตนและเชื่อมั่นว่าวันข้างหน้าที่สดใสจะมีอย่างแน่นอน ชื่อเพลงเหมือนจะบอกว่านี่คือบทเพลงที่ร่ำร้องอยู่ภายในใจเป็นการพูดคุยและตกตะกอนกับตัวเอง ส่วนคำว่า ‘จริง ๆ’ ก็คือการบอกกับตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองตั้งใจหมายไว้นั้นจะมีอยู่จริง ๆ ส่วนในภาคดนตรีก็ทำออกมาได้ดีมาก สะท้อนสภาวะอารมณ์ตามบทเพลง เช่น ในท่อนร้องไลน์กีตาร์จะมีกลิ่นความพิศวงนิด ๆ ผสมซาวด์ซินธ์ที่มีความเวิ้งว้างวังเวงให้ความรู้สึกสับสันมืดมนอยู่ในปัญหา ก่อนที่ท่อนฮุคจะเปลี่ยนเป็นดนตรีร็อกเข้มแข็งเหมือนเป็นการดึงเอาพลังใจออกมาให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองเพื่อก้าวเดินฝ่าปัญหาที่เผชิญต่อไป
‘(อะไร)….ในถนน’ เปิดเพลงมาด้วยเสียงผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมาบนท้องถนน ก่อนสุ้มเสียงของดนตรีร็อกอันหนักแน่นจะดังขึ้นมา ‘ในโลกทันสมัยใบนี้ สิ่งชั่วมีมากล้ำจำไว้’ นี่คือหัวใจสำคัญของบทเพลงนี้ที่ต้องการจะเตือนเพื่อน ๆ ร่วมโลกให้ระวังถึงความทันสมัย ความศิวิไลซ์ที่กำลังมาเยือนเราที่ไม่ได้มาตัวเปล่าหากแต่เอาความชั่วร้ายและภัยอันตรายมาด้วยหากเราลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ในด้านหนึ่งของความเจริญย่อมต้องมีความเสื่อมเป็นธรรมดา หากเราหลงใหลมัวเมาในวัตถุและมายา มันจะนำพาให้เราพบกับความพินาศวอดวาย สิ่งที่เพลงนี้ทำได้ก็คือ ได้แต่เตือน เตือน เตือน ให้ระวัง ‘อะไร’ เหล่านั้นที่ผ่านเข้ามาเยือนบนถนนแห่งชีวิตของเรา
เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม ‘คนเกลียดคน..อย่า(ก)ออกไป’ คล้ายเป็นบทสนทนาสองจิตสองใจของตัวเอง ที่กำลังต่อสู้ว่าคืนนี้จะออกไปตามกิเลสตัณหาและแรงปรารถนาหรือไม่ เหมือนเป็นภาคต่อจากเพลงก่อนที่ได้เตือนให้ระวังภัยแล้ว คราวนี้ก็แล้วแต่ว่าจะเชื่อตามนั้นหรือเปล่า ตัวเพลงคึกคักเหมือนจะแทนอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ‘อยากออกไป’ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกเสียงหนึ่งคอยเตือนว่า ‘อย่าออกไป’ จนฟังไปฟังมาเริ่มรู้สึกแยกไม่ออกแล้วว่าท่อนไหนร้องว่า ‘อยาก’ ท่อนไหนร้องว่า ‘อย่า’ เหมือนคนเราเวลาสับสนในตัวเองที่ความคิดในหัวมันผสมปนเปกันไปหมด
ปิดท้ายด้วย ‘เบื่อคนบ่น (รีมิกซ์)’ มาแดนซ์กันยาว ๆ อีกสักทียาวร่วม 7 นาทีก่อนที่จะพาตัวเองออกไปเผชิญชีวิตใน ’แดนศิวิไลซ์’ กันต่อไป
Source
ขอขอบคุณข้อมูลเบื้องหลังของอัลบั้มจากคุณ kilroy ใน OK Nation
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส