หลายคนที่ติดตามคลิปสั้นในแอปพลิเคชันฮิตแห่งยุคอย่าง Tiktok ก็คงจะได้เห็นปรากฏการณ์หนึ่งที่มีขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ นะครับ นั่นก็คือ การกลับมาฮิตอีกครั้งของเพลงเก่า ๆ ซึ่งด้วยความที่เวลา TikToker ถ่ายทำคลิปลงใน Tiktok ก็มักจะมีการใส่เพลงประกอบเข้าไปด้วย และหลาย ๆ ครั้งก็มักเป็นการนำเอาเพลงเก่ามาประกอบคลิป ไม่ว่าจะเป็นการเอาเพลงมาใช้โดยตรงเลย การเอาท่อนเพลงฮิตมาตัดต่อ ตบแต่งให้กลายเป็นเพลงใหม่ หรือเอามาทำการรีมิกซ์ หรือไม่ก็เป็นลักษณะของการเอาคลิปมา Cover ใหม่เลย ซึ่งพอคลิปไหนฮิต คนดูเยอะ ก็มักจะส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้คนได้ยินและรู้จักเพลงนั้น ๆ ไปด้วย

ปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกครับ อย่างเช่น ณ ตอนนี้ ถ้าใครที่ตามบัญชี Tiktok ของต่างประเทศ ก็มักจะได้ยินเพลงเก่า ๆ 2 เพลงนี้กลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเพลงยุคคุณน้าคุณพี่โน่นเลย อย่างเช่นเพลง Rasputin เพลงดิสโก้ยุค 70’s จากคณะดนตรีดิสโก้ชื่อดัง Boney M ซึ่งกลับมาโด่งดังอีกครั้งเพราะมีคนเอาเพลงไปใช้ประกอบคลิป Tiktok เยอะมาก

คลิป TikTok เต้น Cover เพลง Rasputin โดย Boney M

ในเมืองไทยก็มีปรากฏการณ์อะไรคล้าย ๆ แบบนี้เหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงนี้มีเพลงหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันใน Social Media คือต่อให้ไม่เคยได้ยินเพลง ก็ต้องได้ยินใครสักคนพูดถึงในสเตตัสบ้างแหละ เพลงที่ว่านี้ก็คือเพลง “สิบสอง” ซึ่งเป็นเพลง Cover โดย “จ๊ะ อาร์สยาม” ที่ลงในช่องยูทูบ “อีจ๊ะ Channel” ซึ่งตอนนี้ยอดวิวปาเข้าไป 4,200,000 วิวแล้ว

ถ้าให้พูดถึงเพลงนี้ โดยรวม ๆ ก็คือเป็นเพลงที่ใช้ชื่อเดือนต่าง ๆ ของไทยที่มีความคล้องจองกันอยู่แล้วมาสอดทำนองเข้าไปให้กลายเป็นเพลงนั่นเอง โดยเพลง Cover เวอร์ชันนี้เป็นการตัดตอนมาจากเนื้อเพลงต้นฉบับเดิม แล้วใ่ส่จังหวะโจ๊ะ ๆ และผสมเสียงกีตาร์ที่เล่นเลียนแบบลายพิณอีสาน และตามด้วยจังหวะดนตรีแบบอินเดียเข้าไปอีก เล่นเอาคนฟังหลอน เอ๊ย ติดหูจนติดเทรนด์ในโลกโซเชียล โดยเฉพาะในแอปพลิเคชัน TikTok ที่ต่างก็มีคนเอาเพลงนี้ไปทำคลิป Cover และประกอบคลิปสนุก ๆ โดยคลิปที่มีการติดแฮชแท็ก #สิบสอง มียอดเข้าชมใน TikTok รวมกันมากกว่า 73.2 ล้านครั้งแน่ะ

แล้วต้นฉบับของเพลงนี้มาจากไหน?

ต้นฉบับของเพลง “สิบสอง” ของ จ๊ะ อาร์สยาม ที่ดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองตอนนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ “ตัดตอน” ออกมาจากเนื้อเพลง “นาฏศิลป์อินเดีย” ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย ครูพยงศ์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2534 และเจ้าของรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550 ผู้มีผลงานแต่งเพลงลูกทุ่ง และลูกกรุงดัง ๆ มากมายเช่น ยอยศพระลอ (ชินกร ไกรลาศ) และ สาวสวนแตง (สุรพล สมบัติเจริญ) เป็นต้น

พรทิพา บูรณะกิจบำรุง

เพลงนี้ขับร้องโดย พรทิพา บูรณะกิจบำรุง หนึ่งในศิลปินลูกศิษย์ครูพยงศ์ เจ้าของฉายา “นักร้องเสียงผิดสปีด” เนื่องจากเสียงร้องของเธอที่แหลมสูงคล้ายกับเสียงร้องเพลงในของแผ่นเสียงที่เล่นผิดสปีด โดยเธอเคยมีผลงานเพลงมากมาย อาทิ ลาแล้วบางกอก, กรุงเทพบ่ใช่สวรรค์, คุณแม่จ๋า, บุหงาซากุระ, น้ำใจชาวเหนือ, เอื้องเมืองเหนือ, มนต์เมืองใต้ เป็นต้น ฯลฯ และเคยมีผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่อง กลางดงเสือ (2506) ร่วมกับไชยา สุริยัน, เมตตา รุ่งรัตน์, ทักษิณ แจ่มผล, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ และจิตรกร สุนทรปักษิน

โปสเตอร์ภาพยนตร์ กลางดงเสือ (2506)
(ในโปสเตอร์ระบุชื่อว่า “พรทิพย์ภา บูรกิจบำรุง”)

ฮัดช่า กาโฮ กาโฮ โห่โฮโห่ฮา
ฮัดช่า กาโฮ กาโฮ โห่โฮโห่ฮา
นาฏศิลป์อินเดีย อินเดีย ร้อน ๆ จ้า
เต้นรำทำท่าให้ชม ก็พอจะทำไหว
แต่ร้องภาษาอินเดีย อ่อนเพลียหัวใจ
เลยร้องเป็นไทยให้ฟัง ฟังแล้วอย่าฮา

ให้ฟัง ฟังแล้วอย่าฮา

“มกรา กุมภา มีนา มีนา เมษา
เมษา พฤษภา มิถุนา กรกฎา
สิงหา กันยา ตุลา พฤศจิกา
พอถึงธันวา ฮัลเลวังกา ก็กลับมามกรา
…”

เพลงนาฏศิลป์อินเดีย ต้นฉบับแผ่นเสียงแผ่นครั่ง (ชื่อที่ปรากฏบนเลเบิลแผ่นเสียง ระบุชื่อว่า “พรทิพย์ภา บูรกิจบำรุง”)

คนที่ Cover เพลงนี้ก่อน
ไม่ใช่จ๊ะ อาร์สยาม แต่เป็นน้าโย่ง เชิญยิ้ม !

ผู้เขียนยอมรับว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าเคยมีการ Cover เพลงนี้อย่างเป็นทางการในเวอร์ชันอื่น ๆ อีกหรือไม่ แต่ที่ผู้เขียนทราบแน่นอนในฐานะแฟนคณะตลก “โย่ง เชิญยิ้ม” ก็คือ เพลง “นาฏศิลป์อินเดีย” นี้ น้าโย่ง เชิญยิ้มเคยนำมาปรับให้เป็น “เพลงออกแขก” (เพลงทำนองแขกที่ใช้ร้องก่อนทำการแสดงลิเก) ในเทปวิดีโอตลกบางตอนที่น้าโย่งและชาวคณะแสดงมุกตลกลิเกด้วย สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะตัวเพลงที่มีทำนองอินเดีย ซึ่งก็คล้ายคลึงกับเพลงออกแขก ที่มีจังหวะแบบแขกพอดิบพอดี

“มกรา กุมภา กุมภา มีนา เมษา
เมษา พฤษภา มิถุนา กรกฏา
สิงหา กันยา ตุลา พฤศจิกา
พอถึงธันวา ฮัลเลวังกา แขกมาพอดี
ลาลาลา ลาลาลา ล้าลาลา ล้าลาลา…”

ซึ่งคลิปด้านล่างนี้ มีช่วงที่น้าโย่งได้นำเอาเพลงนี้มาร้องเป็นเพลงออกแขก แต่ที่แปลกออกไปคือ นอกจากจะมีเวอร์ชัน 12 เดือนแล้ว ยังมีเวอร์ชัน 7 วันจันทร์-อาทิตย์อีกต่างหาก!

ตลกคณะโย่ง เชิญยิ้ม พ.ศ. 2542 (น้าโย่งร้องออกแขก นาทีที่ 10:32)
ลิเกน้าโย่ง น้าพวง น้านงค์ ในจำอวดหน้าม่าน (คุณพระช่วยสำแดงสด)
นอกจากจะมีเวอร์ชันเดือน วัน ยังมีเวอร์ชั่นปีนักษัตร และเวอร์ชันอื่น ๆ อีก!

“จันทร์ จันทร์ จันทร์
จันทร์ อังคาร พุธ
อังคาร พุธ
พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เฮ้…
จันทร์ จันทร์ จันทร์

จันทร์ อังคาร พุธ
อังคาร พุธ
พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เฮ้…”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส