ในเย็นย่ำของเดือนกุมภาพันธ์อันแสนสั้น เราเกิดคิดที่จะเติมสีสันให้กับมันด้วยเสียงเพลง จึงเดินไปหาบรรดาแผ่นเสียงที่เคยซื้อเก็บไว้ไล่นิ้วสัมผัสไปบนขอบสันของมันทีละแผ่น ๆแล้วก็สะดุดเข้าให้กับแผ่นเสียงแผ่นหนึ่งที่ได้มาจากร้านขายแผ่นเสียงมือสอง เป็นผลงานที่จำได้ว่าเคยฟังจากสตรีมมิงแล้วชื่นชอบมากเสียจนต้องหามานอนกอดที่บ้านให้ได้ สุดท้ายวันนี้เห็นทีจะต้องได้ฟังกันอีกครั้ง หน้าปกอัลบั้มที่ดูเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์บางอย่างที่ไม่อาจละสายตาไปได้ หญิงสาวในชุดไหมพรมหันหลังพิงขอบหน้าต่างพลางส่งสายตาและรอยยิ้มบาง ๆ มาที่เรา ในมือของเธอมี ‘Tapestry’ (แทพ’พิสทรี) หรือผืนพรมแขวนผนังถักลาย พร้อมกับเจ้าแมวสีเทาตัวอ้วนใหญ่ที่ซ่อนแววตาของมันไว้ภายใต้เงาดำ นี่คือปกอัลบั้ม ‘Tapestry’ ผลงานระดับตำนานจาก นักร้อง-นักแต่งเพลงที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการดนตรี ‘แคโรล คิง’ (Carole King) ผู้ถ่ายทอดบทเพลงจากเรื่องราวและประสบการณ์ในชีวิตผ่านน้ำเสียงที่จริงใจและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อัลบั้มนี้มีอายุครบ 50 ปีไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ใครที่เคยฟังงานเพลงจากอัลบั้มนี้คงรู้สึกเหมือนกันว่ามันทั้งอบอุ่น จริงใจ งดงามละมุนละไมและเข้ามาอยู่ในใจของเราในทันทีที่ได้ฟังจบและไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนเราก็จะย้อนกลับมาฟังเพื่อรับพลังดี ๆ จากอัลบั้มนี้กลับไปทุกที ว่าแล้วเราก็บรรจงหยิบแผ่นเสียงออกมาวางลงบนแป้นหมุน แล้วเมื่อเข็มจรดลงไปบนแผ่นทันใด เสียงแห่งบทเพลงอันไพเราะจากปี 1971 ก็เดินทางข้ามกาลเวลามาสู่ปี 2021…
‘Tapestry’ เป็นอัลบั้มชุดที่ 2 ของแคโรล คิง ออกจำหน่ายในปี 1971 โพรดิวซ์โดย ลู แอดเลอร์ (Lou Adler) อัลบั้มชุดนี้มียอดขายกว่า 14 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกจนติดอันดับที่ 81 ของอัลบั้มที่มียอดขายสูงที่สุดตลอดกาล อีกทั้งยังได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1972 หลายสาขารวมทั้ง Album of the Year นอกจากนี้นิตยสาร Rollingstone ยังจัดให้ Tapestry อยู่ในอันดับที่ 25 ของอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
ชีวิตบนเส้นทางสายดนตรีของแคโรล คิงนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่เธอเป็นเพียงแค่สาวน้อยอายุ 15 ปีที่ยืนรอคอยลิฟต์ในออฟฟิศแห่งหนึ่งในเมืองแมนฮัตตันในชุดกระโปรงพลิ้วพุดเดิลสเกิร์ตแบบที่สาว ๆ ทั้งหลายชอบใส่กันในยุค 50s เพื่อขึ้นไปยังค่ายเพลงพร้อมโน้ตเพลงเป็นปึกในอ้อมแขนน้อย ๆ ของเธอเพื่อขอออดิชันด้วยบทเพลงที่เธอแต่งขึ้นเองทั้งหมด นั่นคือช่วงเวลาในปี 1957 เด็กสาววัยรุ่นจากบรุกลิน ลูกสาวครูสอนเปียโนและนักดับเพลิงที่หย่าร้างกันตั้งแต่เธอยังเด็ก ที่กำลังจะกลายเป็นตำนานของวงการดนตรีผู้สรรค์สร้างผลงานอันงดงามให้กับโลกใบนี้
ด้วยความเป็นคนฉลาดและแน่วแน่เด็ดเดี่ยว คิงตัดสินใจเซ็นสัญญาแรกกับทาง ABC-Paramount ในปีเดียวกัน แล้วเธอก็แต่งงานกลายเป็นคุณแม่ลูกสองตั้งแต่อายุ 20 ปี อาศัยอยู่ในย่านชานเมืองนิวเจอร์ซีย์กับสามีและนักแต่งเพลงคู่ใจ เจอร์รี กอฟฟิน (Gerry Goffin) พ่อหนุ่มหัวดีที่เธอพบตอนเรียนอยู่ที่ Queens College และชักชวนให้เข้ามาอยู่ด้วยกันในโลกแห่งเสียงดนตรี ประสบการณ์แห่งความรักของทั้งคู่ได้กลายเป็นต้นธารชั้นดีของบทเพลงฮิตที่ทั้งสองคนเขียนร่วมกันให้กับศิลปินชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็น “The Loco-Motion” ของลิตเติลเอวา (Little Eva) , “Will You Love Me Tomorrow” ของเดอะเชอเรลเลส(The Shirelles) และ “(You Make Me Feel Like) A Natural Woman” ของอารีธา แฟรงคลิน (Aretha Franklin) ทั้งคู่อยู่ด้วยกันในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีเปียโนอัพไรท์อยู่หลังหนึ่งและมักจะแต่งเพลงด้วยกันในช่วงเวลาเย็นย่ำ คิงค่อย ๆ บรรยายถ้อยคำและสรรหาท่วงทำนองอันไพเราะเหมาะเจาะลงไปในบทเพลงของเธอ ในบางครั้งเธอก็เขียนเพลงเสร็จในหนึ่งคืนหลังจากที่ลูก ๆ ได้นอนหลับกันไปแล้ว
ก่อนที่อัลบั้ม ‘Tapestry’ จะได้ถือกำเนิดมา คิงในวัย 29 ปีที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมากว่าทศวรรษได้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของดนตรีจากยุคของเพลงรักหวานใสไปสู่ยุคแห่งนักร้อง-นักแต่งเพลง รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านบนเส้นทางชีวิตของเธอ คิงได้เลิกรากับเจอร์รี พาลูก ๆ ทั้งสองคน หลุยส์และเชอร์รี และแมวอีกหนึ่งตัวคือเจ้าเทเลมาคัส (Telemachus) ซึ่งตั้งชื่อตามตัวละครจากเทพนิยายกรีกบุตรแห่งโอดิสเซียสและเพเนโลพี (เจ้าแมวอ้วนตัวที่อยู่บนปกอัลบั้ม Tapestry นั่นล่ะ) คิงย้ายข้ามประเทศไปยังฮอลลีวูดฮิลส์ที่ซึ่งเธอได้สัมผัสช่วงเวลาแห่งการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ จากการค้นพบตัวเอง ในช่วงเวลานั้นเธอเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของจิตวิญญาณและกลายเป็นสาวกของ Swami Satchidananda ในที่สุดเธอก็เริ่มเขียนเนื้อเพลงของตัวเองด้วยความตั้งใจจริงโดยเขียนเพลงมากกว่าครึ่งอัลบั้มรวมไปถึงเพลงยอดนิยมทั้งหมดจากอัลบั้ม Tapestry ด้วยตัวคนเดียว
เนื้อเพลงของคิงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของถ้อยคำที่เรียบง่ายที่หลั่งไหลไปบนท่วงทำนองที่เรียบร้อยงดงาม ละมุนละไมและหนุนเนื่องให้ความรู้สึกอันจริงแท้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสัตย์ซื่อ ซึ่งนี่แหละคือสิ่งสำคัญของบทเพลงที่จะได้รับการยกย่องว่า ‘คลาสสิก’ ส่วนใหญ่คำที่คิงใช้ในเพลงจะเป็นคำที่พบในบทสนทนาของคนทั่วไป มีความกระชับ และเชื่อมโยงกับเราได้เป็นอย่างดีซึ่งถูกถ่ายทอดลงไปบนบทเพลงที่มีการผสมผสานความงดงามและสีสันจากดนตรีหลากสไตล์ไม่ว่าจะเป็นพอป ร็อก โซล บลูส์ กอสเปล หรือว่าอาร์แอนด์บี
คิงบันทึกเสียงอัลบั้ม Tapestry ที่ A&M Studios ในฮอลลีวูดที่สตูดิโอ B ที่ซึ่งในปีต่อมาวง The Carpenters จะใช้สตูดิโอ A อัดเพลง “It’s Going to Take Some Time” ที่แต่งโดยแคโรล คิง ส่วนในสตูดิโอ C โจนี มิตเชลล์ (Joni Mitchell) ก็ใช้มันบันทึกเสียงอีกหนึ่งอัลบั้มคลาสสิกของวงการดนตรีนั่นคืออัลบั้ม ‘Blue’ นั่นเอง วงของคิงมักแอบไปดูสตูดิโอที่มิตเชลล์ใช้ตอนที่เธอไม่อยู่ และมิตเชลล์เองก็แว่บมาร้องแบ็กอัปให้กับคิงร่วมกันกับเจมส์ เทย์เลอร์ (James Taylor) คิงและเทย์เลอร์เป็นคู่จิ้นของวงการดนตรีแห่งยุค 70s ที่สุดท้ายทั้งคู่ก็ไม่มีอะไรเกินเลยกันไปกว่าคำว่ามิตรภาพที่งดงาม มิตรภาพของทั้งสามเป็นอะไรที่งดงามและไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเสียงของทั้งสามคนจึงคู่ควรที่จะไปอยู่ร่วมกันในเพลง “You’ve Got a Friend” และ “Will You Love Me Tomorrow?” ซึ่งเพลงหลังนั้นเป็นเพลงโปรดของมิตเชลล์ด้วย
ในขั้นตอนการบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้ลู แอดเลอร์ต้องการให้งานของคิงมีความเรียบง่ายเหมือนกับเวลาที่เธอทำเดโมให้กับศิลปินคนอื่น ๆ อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับคนฟังเหมือนได้สัมผัสตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังขับขานบทเพลงบนเปียโนที่อยู่ต่อหน้าเรา ด้วยความเรียบง่ายและไม่ปรุงแต่งอะไรจนเกินไปทำให้ Tapestry มีจิตวิญญาณของความจริงใจอันไพเราะที่สกัดออกมาจากตัวตนที่แท้ บทเพลงที่หล่อหลอมจากการเดินทางของชีวิตเธอและพัฒนาการของเสียงดนตรีจากยุคสมัย 50s มาสู่ยุค 70s
บทเพลงทั้งหลายในอัลบั้ม Tapestry เป็นการสะท้อนภาพและอารมณ์ความรู้สึกจากชีวิตประจำวันของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอารมณ์อันอ่อนไหวและความรู้สึกที่ละเมียดละไม มันมีทั้งความเปลี่ยวเหงา สับสน คลางแคลงใจหรือปวดร้าวแต่ทั้งหมดทั้งมวลถูกถ่ายทอดออกมาด้วยท่าทีที่สง่างามและพลังของความหวังและความเชื่อมั่นในด้านที่ดีงามของโลกใบนี้ ดังนั้นความเศร้าในเพลงของเธอจึงไม่สร้างทุกข์ ส่วนเพลงสุขก็มอบความอบอุ่นให้หัวใจ ด้วยการที่แต่งเพลงให้คนอื่นนับร้อยพันจนเชี่ยวชาญทำให้คิงรู้ว่าเพลงที่ดีนั้นต้องมีอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่จริงแท้ ถ้อยคำที่ละเมียดละไมและอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะสปาร์กคนฟังได้ รวมไปถึงเสียงร้องอันจริงใจที่ขับขานบทเพลงออกมาจากข้างใน
เปิดมาด้วยแทร็กแรก “I Feel the Earth Move” คิงมาพร้อมเนื้อเพลงที่เฉียบคมและท่วงทำนองที่เปี่ยมไปด้วยจังหวะจะโคนเป็น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เรื่อง “For Whom the Bell Tolls” ที่ตัวละครร่วมรักกันในป่าและเกิดความรู้สึกราวกับ “โลกกำลังเคลื่อนไหวออกไปจากเบื้องล่างของพวกเขา” เธอเขียนเพลงนี้เมื่อต้นปี 1971 ในวันเกิดของเธอวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ซานเฟอร์นานโดและนั่นก็เป็นที่มาของเนื้อเพลงในเพลงนี้ด้วย “I feel the earth move under my feet / I feel the sky tumblin’ down” คิงร้องเพลงนี้ด้วยสำเนียงแบบบลูส์ถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่ห้วงอารมณ์รักและความหลงใหลกำลังขยับเขยื้อนให้แผ่นเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนไหว
บทเพลงต่อมาคือ “So Far Away” คิงเขียนเพลงนี้ในขณะที่กำลังเดินทางไกลทำให้คิดถึงสามีคนที่สองของเธอ ‘ชาร์ลส์ ลาร์กีย์ (Charles Larkey)’ อดีตสมาชิกวง ‘The Fugs’ และเพื่อนร่วมวง ‘The City’ ที่มี 3 สมาชิกคือแคโรล คิง ลาร์กีย์ และ แดเนียล คอร์ชแมน (Daniel Korchman) (ทั้ง 3 ได้ออกผลงานด้วยกันหนึ่งอัลบั้มคือ “Now That Everything’s Been Said” ในปี 1968) “So Far Away” คือบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของความคิดถึง ความเหงา และการโหยหาจากการที่ต้องอยู่ไกลกัน “So far away / Doesn’t anybody stay in one place anymore?” บนท่วงทำนองที่ร้อยเรียงอย่างกลมกล่อมมันจึงเป็นเพลงรักหวานขมที่สร้างรอยประทับลงไปในใจของผู้ฟัง
บทเพลง “It’s Too Late” ที่คิงเขียนร่วมกันกับ โทนี สเติร์น (Toni Stern) ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักที่เดินทางมาถึงวันที่อาจจะต้องร้างลากันไป วันที่รู้สึกว่าความพยายามใด ๆ ก็คง ‘สายเกินไป’ และไม่อาจทำให้ความรักที่เคยหวานชื่นนั้นคืนกลับมา ถึงแม้จะเป็นบทเพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์ในช่วงเวลาที่ชวนปวดร้าวใจแค่คิงก็ถ่ายทอดมันออกมาได้งามจับใจยิ่งนัก “And it’s too late, baby now, it’s too late / Though we really did try to make it / Somethin’ inside has died, and I can’t hide /And I just can’t fake it, oh, no, no”
ใน “Home Again“ บทเพลงที่มาพร้อมท่วงทำนองเปลี่ยวเหงาอันไพเราะ ถ้อยคำของคิงได้ถ่ายทอดความรู้สึกคิดถึงของคนที่อยู่ไกลห่างจากคนรักด้วยหัวใจที่หวังจะให้เธอนั้นมาอยู่ด้วยกันตรงนี้ทั้ง ๆ ที่มันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ละคำที่เธอสกัดออกมานั้น ช่างเฉียบคมและงดงามมาก “Snow is cold / Rain is wet / Chills my soul to the marrow” ส่วนเสียงร้องของคิงเองก็เข้ากันดีกับเนื้อหาของเพลงอย่างในท่อนที่ยกมานี้ เธอร้องได้อย่างมีพลังเปี่ยมอารมณ์จนรู้สึกหนาวไปถึงไขกระดูกจริง ๆ
ในช่วงที่เขียนเพลงในอัลบั้ม Tapestry เป็นช่วงเวลาที่คิงได้เรียนรู้เรื่องราวของจิตวิญญาณ การทำสมาธิ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองที่สวยงามของเพลง “Beautiful” เพลงที่คิงได้มอบแรงบันดาลใจกับเราเพื่อให้เราได้เริ่มต้นค้นพบความสวยงามในตนเองและเปล่งประกายออกไปยังโลกภายนอกเพราะสิ่งที่ผู้คนแสดงต่อเราคือภาพสะท้อนที่เรามอบให้กับผู้คนนั่นเอง “You’ve got to get up every morning / With a smile in your face / And show the world all the love in your heart / Then people gonna treat you better”
อีกเพลงหนึ่งที่สะท้อนความสงบของจิตใจ คือ “Way Over Yonder” ที่เนื้อหาและท่วงทำนองของบทเพลงให้ความรู้สึกเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจทำให้รู้สึกผ่อนคลายสลายความกังวล ด้วยเสียงร้องของคิงและเสียงร้องแบ็กอัปในสไตล์กอสเปลจากเมอร์รี เคลย์ตัน (Merry Clayton) บนถ้อยคำอันสวยงามเปี่ยมความสงบในจิตใจ “Is the sun shining golden / Shining right down on me / Then trouble’s gonna lose me / Worry leave me behind / And I’ll stand up proudly / In true peace of mind”
มีถ้อยคำในบทเพลงเพียงไม่กี่บทเพลงเท่านั้นในประวัติศาสตร์เพลงพอปที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรและอบอุ่นใจได้เท่ากับ “You’ve Got a Friend” “Winter, spring, summer or fall / All you have to do is call / And I’ll be there, yes, I will / You’ve got a friend” แต่ละโน้ตที่คิงร้องลงไปล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่อบอุ่น อ่อนโยนและจริงใจ ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่ปลอบประโลมใจในวันที่ท้อแท้ได้ดีเลยทีเดียว แค่เพียงได้เปิดฟังก็รู้สึกราวกับมีใครอยู่ใกล้ ๆ คอยเป็นกำลังใจให้เราแล้ว ถึงแม้จริง ๆ แล้วคิงไม่ได้ตั้งใจจะแต่งให้กับเทย์เลอร์ แต่เธอก็เขียนมันขึ้นมาจากน้ำเสียงและวิธีการร้องในแบบเทย์เลอร์ และในที่สุด “You’ve Got a Friend” ก็ได้พาเจมส์ เทย์เลอร์ขึ้นสู่อันดับ 1 ของชาร์ตเพลงในตอนที่เขาได้ขับขานมันในเวอร์ชันของตัวเองและใส่ไว้ในอัลบั้ม “Mud Slide Slim and the Blue Horizon” (1971) ซึ่งคิงเป็นคนบรรเลงดนตรีในเวอร์ชันนี้ให้ด้วย (คิงเคยบอกว่าการทำอัลบั้มของเธอและเทย์เลอร์ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอัลบั้มภาคต่อของกันเพราะว่าใช้นักดนตรีแทบจะชุดเดียวกันทั้งหมด) ที่ผ่านมาเทย์เลอร์เองเป็นคนที่คอยบอกคิงอยู่เสมอว่าให้เธอร้องเพลงของเธอเอง และนั่นทำให้เพลง “You’ve Got a Friend” เป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพอันเป็นอมตะของทั้งคู่ ถึงแม้ทั้งคู่จะเป็นคู่จิ้นแห่งยุค 70s ที่ดูสมกันดี แต่ถึงอย่างนั้นทั้งคู่ก็ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นอื่นเลย และนั่นอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ทั้งคู่มีให้กันและมันทำให้มิตรภาพของทั้งคู่ยืนนานเป็นนิรันดร์เคียงคู่กับบทเพลงอมตะที่ทั้งคู่ได้สร้างสรรค์เอาไว้
“Where You Lead” เพลงใส ๆ ในอารมณ์สบาย ๆ อีกบทเพลงที่คิงเขียนร่วมกับโทนี สเติร์นถ่ายทอดความรู้สึกมั่นใจ อบอุ่นใจ สบายใจที่หญิงคนหนึ่งมีให้กับชายคนรักที่ไม่ว่าเขาจะพาเธอไปที่ไหน เธอก็พร้อมที่จะ ‘ไปไหนไปกัน’ กับเขา “Where you lead, I will follow / Anywhere that you tell me to / If you need, you need me to be with you / I will follow where you lead” ส่วนในท่อนที่ร้องว่า “All you have to do is call my name / And I’ll be there on the next train” ก็ชวนให้คิดถึงเพลง “You’ve Got a Friend” ขึ้นมาทันทีเลย ซึ่งทั้งเพลงนี้และอีก 2 เพลงคือ “Beautiful” และ “You’ve Got a Friend” ได้ถูกบาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand) นำไปคัฟเวอร์ไว้ในอัลบั้มชุดที่ 13 “Barbra Joan Streisand” นอกจากนี้บาร์บรายังเอาเพลง “Where You Lead” ไปเมดเลย์รวมกับเพลง “Sweet Inspirations” ของวง The Sweet Inspirations กลายเป็น “Sweet Inspiration/ Where You Lead” เป็นไลฟ์เวอร์ชันจากอัลบั้ม Live Concert at the Forum
“Will You Love Me Tomorrow?” คือเพลงฮิตเพลงแรกที่คิงและเจอร์รีเขียนร่วมกันและวงเดอะเชอเรลเลสได้นำมันไปขับร้องจนโด่งดัง นั่นทำให้เจอร์รีตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้ช่วยนักเคมีและมาทำงานเขียนเพลงแบบเต็มตัวร่วมกันกับคิงที่ลาออกมาจากงานเลขาด้วยเช่นกัน ในตอนที่ “Will You Love Me Tomorrow?” ได้กลายเป็นเพลงฮิต คิงเพิ่งจะมีอายุได้ 19 ปี เธอเรียบเรียงเสียงเครื่องสายจากหนังสือการเรียบเรียงเสียงประสานที่เธอยืมมาจากห้องสมุดสาธารณะ และบรรเลงมันด้วยเปียโนของเธอ เนื้อเพลงของเพลงนี้เป็นการต่อยอดมาจากเพลงฮิตก่อนนี้ของวงเดอะเชอเรลเลสที่มีชื่อว่า “Tonight’s the Night” แต่เป็นการนำมาเล่าในอีกมุมหนึ่ง การเล่าเรื่องของหญิงสาวที่กำลังมีความสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืนในยุค 60s นั้นเป็นอะไรที่แหวกมากและไม่แน่ใจว่าผู้คนจะยอมรับมันได้มั้ย แต่ในที่สุดเพลงนี้ก็ขึ้นไปสู่อันดับ 1 และกลายเป็นเพลงสุดคลาสสิกของเกิร์ลกรุ๊ปยุค 60s คิงและเจอร์รีภูมิใจกับเพลงนี้มากและมันทำให้เสียงกริ่งประตูบ้านของทั้งคู่ดังอยู่ตลอดเพื่อต้อนรับเพื่อน ๆ ที่มาหาเพื่อที่จะขอให้ทั้งคู่เล่นเพลงนี้ให้ฟัง แต่ในมุมหนึ่งมันก็เป็นเหมือนเป็นสัญญาณของการเลิกรากันของทั้งคู่ที่กำลังรออยู่ในอนาคต คิงได้ร้องเพลงนี้ไว้ในอัลบั้ม Tapestry ด้วยน้ำเสียงที่เจือไว้ด้วยร่องรอยของความทรงจำที่ประทับลงไปในแต่ละตัวโน้ต “Tonight you’re mine completely / You give your love so sweetly /Tonight the light of love is in your eyes / But will you love me tomorrow?”
ถึงแม้ว่าแทร็กต่อมาที่มีชื่อว่า “Smackwater Jack” จะเป็นเพลงที่คิงแต่งร่วมกับเจอร์รีแต่มันกลับมีความแตกต่างจากเพลงอื่นที่ถ่ายทอดอารมณ์และประสบการณ์ส่วนตัว ในบทเพลงจังหวะชัฟเฟิลที่สนุกสนานนี้กลับเล่าเรื่องราวการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าวายร้าย Smackwater Jack และผู้รักษากฏหมายนายอำเภอ Big Jim “You know, you know, you can’t talk to a man / With a shotgun in his hand.”
“Tapestry” ไตเติลแทร็กของอัลบั้มนี้คือบทเพลงอารมณ์ละมุนละไมที่มีความแตกต่างจากบทเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มด้วยการเรียงร้อยเรื่องราวและถ้อยคำเชิงกวีที่เปิดพื้นที่ให้เราได้เข้าไปตีความ ในแต่ละท่อนเพลงเหมือนซ่อนไว้ซึ่งสัญลักษณ์บางอย่างที่คิงต้องการสื่อสารออกมา สำหรับเราแล้วเรารู้สึกว่าเพลงนี้ของคิงพยายามจะเปรียบเปรยบทเพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้เหมือนกับการถัก Tapestry พรมถักลายที่มองเห็นความสวยงามและสัมผัสมันได้แต่มิอาจจะถือครองมันได้ เปรียบเสมือนกับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้เราได้ชื่นชมและสัมผัสจนเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ได้กลายเป็นความทรงจำ บทเพลงในอัลบั้มจึงเป็นเสมือนกับพรมถักลายที่ถักทอขึ้นมาจากเรื่องราวและความรู้สึกเหล่านั้นให้เราได้ย้อนกลับไปสัมผัสกับมันเพียงชั่วคราวและต้องปล่อยมันย้อนคืนกลับไปในวันวานเหล่านั้นดังเช่นที่คิงได้ร้องเอาไว้ว่า “A tapestry to feel and see, impossible to hold” นั่นเอง
ปิดท้ายอัลบั้มด้วย“(You Make Me Feel Like A) Natural Woman” อีกหนึ่งบทเพลงที่บันทึกเรื่องราวความรักของคิงและเจอร์รีเอาไว้เพราะมันเป็นเพลงสุดท้ายก่อนที่ทั้งคู่จะแยกทางกัน และนั่นทำให้บทเพลงนี้มีความหมายมากเมื่อคิงนำมันมาร้องด้วยตัวเธอเอง คิงและเจอร์รีได้เขียนเพลงฮิตเพลงนี้ให้กับอารีธา แฟลงคลินหลังจากที่ผู้บริหารค่าย Atlantic ‘เจอร์รี เว็กซ์เลอร์’ (Jerry Wexler) เจอทั้งคู่กำลังเดินอยู่ที่บรอร์ดเวย์ เขาลดกระจกลีมูซีนลง,kและถามทั้งคู่ว่าสนใจจะเขียนเพลงฮิตให้อาเรธาที่มีชื่อว่า “Natural Woman” มั้ย จากนั้นทั้งคู่ก็รีบขับรถกลับบ้านที่นิวเจอร์ซีย์ ฟังเพลงอาร์แอนด์บีและกอสเปลจาก WNJR รายการวิทยุที่เปิดเพลงของคนผิวดำ และค่อย ๆ สร้างสรรค์ผลงานระดับตำนานขึ้นมา แน่นอนว่า “(You Make Me Feel Like A) Natural Woman” ในเวอร์ชันของคิงจะไม่เหมือนกับเวอร์ชันของราชินีแห่งเพลงโซลจากปี 1967 อย่างแน่นอน แต่ว่าในเวอร์ชันของคิงนั้นเปี่ยมไปด้วยความอ่อนไหว ในขณะที่เวอร์ชันของอาเรธาเธอคือนางพญาผู้องอาจ แต่ในเวอร์ชันของคิงนั้นมันคือความอ่อนไหวจากในหัวใจที่บริสุทธิ์ “When my soul was in the lost and found / You came along to claim it / I didn’t know just what was wrong with me /’Til your kiss helped me name it”
ถึงแม้ว่าคิงจะไม่ค่อยโปรโมทอัลบั้มนี้เท่าไหร่ แต่ยังไง Tapestry ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ดี ถึงขนาดที่เป็นอันดับ 1 ของอัลบั้มเพลงในสหรัฐอเมริกานานกว่า 15 สัปดาห์ และอยู่ในชาร์ตเพลงยาวนานกว่า 5 ปี คิงได้รับรางวัลแกรมมี่จากอัลบั้มนี้ในปี 1972 แบบถล่มทลายมากกว่าที่ศิลปินคนใด ๆ จะได้รับจากงานเพลงหนึ่งอัลบั้ม เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดพิธีมอบรางวัลทางโทรทัศน์แต่คิงก็ไม่ได้ไปรับรางวัลด้วยตัวเองเพราะเธอต้องอยู่บ้านเลี้ยง ’มอลลี’ ลูกสาวตัวน้อยคนที่สามที่เพิ่งเกิด
หนึ่งในพลังงานที่ไหลเวียนอยู่ในอัลบั้ม Tapestry ก็คือ ‘ความเป็นแม่’ ตลอดชีวิตการทำงานบนเส้นทางดนตรีไม่มีวันไหนเลยที่เธอจะไม่ได้ทำหน้าที่แม่ ภาพของคิงที่เล่นกับลูกในสตูดิโอหรือออกมาให้นมในระหว่างพักจากการบันทึกเสียงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งโทนี่ สเติร์นได้เล่าว่าในขณะที่คิงกำลังบันทึกเสียงเพลงในอัลบั้ม Tapestry เธอกำลังเล่นเบสด้วยมือซ้ายในขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกด้วยมือขวา คิงเองก็บอกว่าการเลี้ยงลูก ๆ นั้นทำให้เธอ “อยู่กับความเป็นจริง”
และด้วยความเป็นจริงนี่แหละที่ได้มอบชีวิตให้กับทุกท่วงทำนองและทุกถ้อยคำในอัลบั้ม Tapestry อัลบั้มที่พุ่งตรงเข้าไปในหัวใจของเราสร้างความสั่นไหวข้างในนั้น รื้นค้นความทรงจำของเราและประทับรอยเอาไว้ให้เราได้กลับมาหวนคิดถึงมันตลอดไป.
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส