การเดินทางไกลย่อมมีวันถึงจุดสิ้นสุด สองคู่หูดูโอหุ่นยนต์จากฝรั่งเศส Daft Punk ที่ภายใต้หน้ากากของพวกเขาคือเพื่อนซี้อย่าง กีย์ มานูเอล เดอ โฮเมม–คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และ โทมัส แบงกาลเตอร์ (Thomas Bangalter) เลือกเอาวันเลขสวย 22/02/2021 เป็นวันประกาศการสิ้นสุดการเดินทางที่ยาวนานของพวกเขาในวงการดนตรี
จากคู่หูที่โด่งดังในวงการเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 28 ปี ในที่สุดเขาก็กลายมาเป็นหนึ่งในศิลปินระดับโลกที่มีเอกลักษณ์อันน่าสนใจ จากการสวมหน้ากากเพื่อปิดบังซ่อนเร้นตัวตน และให้ผลงานดนตรีเป็นเครื่องตัดสินคุณภาพมาอย่างยาวนาน
หากจะให้จำกัดความลายเซ็นที่เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของ Daft Punk นอกจากความโดดเด่นในการสวมหน้ากากหุ่นยนต์ที่แหวกแนว เพลงของ Daft Punk เกือบทุกอัลบั้มมักมีลายเซ็นร่วมกันอย่างหนึ่งคือ การผสมผสานสุ้มเสียงสังเคราะห์ที่เข้มข้น จัดจ้าน มีการใส่บีต จังหวะ สุ้มเสียงแปลก ๆ รวมถึงการทดลองสร้างจังหวะที่แปลกใหม่ขึ้นในหลาย ๆ เพลง ทำให้แม้ว่าผลงานสตูดิโออัลบั้มของพวกเขาจะมีแค่ 4 ชุด (ไม่รวมอัลบั้มรีมิกซ์/บันทึกการแสดงสด/อัลบั้ม Original Soundtrack) แต่เมื่อมาย้อนฟังกันอีกรอบ กลับพบว่าทุกอัลบั้มต่างก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างชัดเจนแบบสุดขั้วเหมือนกันนะครับ
ในวาระที่พวกเขากำลังจะ Shut Down ตัวเองหลังจากเดินเครื่องมาอย่างยาวนานเกือบสามสิบปี บทความนี้จึงขอย้อนไปดูผลงานต่าง ๆ ที่พวกเขาได้สร้างเอาไว้ตลอด 28 ปีบนเส้นทางสายดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังจะกลายเป็นตำนานของพวกเขากันครับ
Early “Daft Punk”
ก่อนจะเป็น “หุ่นยนต์”
Darlin‘
หลายคนอาจไม่ทราบว่า Daft Punk กับวงอินดี้พอป Phoenix นั้นมีจุดกำเนิดร่วมกัน! เพราะก่อนที่ Daft Punk จะเกิดขึ้น กีย์-มานูเอล, ธอมัส และ Laurent Brancowitz (มือกีตาร์วง Phoenix) เคยก่อตั้งวงพังก์ร็อกเล็ก ๆ ในนามว่า Darlin‘ ที่ได้ชื่อมาจากเพลงของ The Beach Boys จนกระทั่งพวกเขาปล่อยเพลง “Cindy, So Loud” ออกมา เพลงนี้ดันไปเข้าหูคอลัมนิสต์นักวิจารณ์ดนตรีของนิตยสาร Melody Maker ในอังกฤษอย่าง Dave Jennings คราวนั้นเขาได้เขียนวิจารณ์เพลงนี้อย่างรุนแรงว่า “A Daft Punky Thrash” (เพลงพังก์ขยะ ๆ ของพวกโง่)
ถ้าดูกันตามสภาพ ก็ต้องยอมรับว่า วง Darlin‘ เองนั้นนอกจากจะไม่ดังแล้ว ฝีมือด้านดนตรียังเข้าขั้น “มือสมัครเล่น” จริง ๆ Laurent จึงตัดสินใจลาออกจากวง ก่อนจะไปร่วมกับวงดนตรีของน้องชายตัวเองที่ชื่อ Phoenix ส่วนกีย์-มานูเอลและธอมัส ก็เทิร์นตัวเองเข้าสู่วงการเพลงอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มตัว พร้อมกับการเอาคำวิจารณ์นั้นมากร่อนลง และขนานนามชื่อใหม่ของตัวเองว่า Daft Punk
“The New Wave” [EP]
เดือนกันยายน ปี 1993 คู่หู Daft Punk ตัดสินใจเดินเข้าไปมอบเดโมเพลงแนวอิเล็กโทรเฮาส์ ให้กับทางค่าย Soma Recordings จนกระทั่งทางค่ายก็ได้ตัดเดโมเหล่านั้นออกมาเป็น EP ชิมลางแบบจำนวนจำกัดก่อนในชื่อว่า “The New Wave” ถ้าฟังกันดี ๆ จะค้นพบว่า งานเพลงแนวเฮาส์ในแบบของ “Daft Punk ยุคแรก” ยังเต็มไปด้วยความ “ดิบ” “หนัก” และ “จัดจ้าน” อยู่มากทีเดียว และในหน้า B ของอีพีนี้ มีแทร็กสุดท้ายที่ชื่อว่า “Alive” ที่กำลังจะไปเป็นส่วนหนึ่งของเพลงในอัลบั้มแรกในชีวิตของพวกเขาด้วย
Homework (1997)
อัลบั้ม French House ผู้ปลุกกระแสดนตรีแนวเฮาส์ให้ “แมส”
Daft Punk เริ่มต้นบันทึกเสียงอัลบั้มแรกในเดือนพฤษภาคม ปี 1995 โดยเริ่มแรกกับซิงเกิล “Da Funk” จนกระทั่งในปี 1996 ทั้งคู่ก็ได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่อย่าง Virgin/EMI และก่อตั้งค่ายเล็ก ๆ เป็นของตัวเองในชื่อว่า Daft Trax เพื่อดูแลด้านโพรดักชันงานเพลง จนกระทั่งในที่สุด ซิงเกิล “Da Funk” / “Musique” ก็ได้ปล่อยออกมา ก่อนที่อีกหนึ่งปีต่อมา พวกเขาจะรวมซิงเกิลต่าง ๆ เป็นอัลบัม และปล่อยออกมาในชื่ออัลบัม “Homework” โดยที่ตอนแรกที่ทำเพลง ทั้งคู่ไม่ได้ตั้งใจจะทำออกมาเป็นอัลบั้ม แต่ตั้งใจจะให้ออกมาเป็น “ซิงเกิล” มากกว่า ซึ่งทำให้โทนโดยรวม ๆ ของอัลบั้มนี้จึงออกมา “ไร้ธีม”
หลังจากวางแผง อัลบั้มนี้ติดชาร์ตสูงสุดอันดับ 3 ของฝรั่งเศส ติดอันดับ 8 บน UK Albums Chart ติดอันดับหนึ่งบน US Billboard Hot Dance และอันดับที่ 61 ใน Billboard Hot 100 ทำยอดขายทั่วโลกได้มากถึง 2 ล้านก็อปปี ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก และทำให้แนวดนตรี French House ที่เป็นแนวทางหลักของอัลบั้มนี้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
การแสดงสดของ Daft Punk ในยุคแรกยังไม่ได้ใส่ชุดหุ่นยนต์ และแต่งตัวด้วยชุดฟอร์มที่เข้าคู่กันอย่างที่เราคุ้นเคยนะครับ แต่เป็นลักษณะของการอำพรางใบหน้าที่แท้จริง ด้วยการใส่หน้ากากหลากหลายแบบมากกว่า นับตั้งแต่การแสดงสดครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี 1996 พวกเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะดีเจที่แต่งชุดหลากหลายสไตล์เพื่อปิดบังอำพรางใบหน้าที่แท้จริง
แม้ว่าจะเป็นวงหน้าใหม่ แต่ในอัลบั้มนี้ก็มีเพลงที่ได้ทำ MV มากถึง 4 เพลง! แถม 2 เพลงในอัลบั้มยังกำกับ MV โดยผู้กำกับเบอร์ใหญ่! ทั้งเพลง “Da Funk” MV เรื่องราวของมนุษย์หัวหมาในโลกสุดเหงาที่กำกับโดย Spike Jonze และ “Around the World” MV โคตรดังกำกับโดย Michel Gondry ที่มีหุ่นยนต์ มัมมี่ ฯลฯ ออกมาเต้นตามจังหวะเพลง MV ทั้ง 4 เพลงในอัลบั้มนี้พร้อมเบื้องหลังเคยถูกรวมไว้ใน DVD ที่มีชื่อว่า D.A.F.T.: A Story About Dogs, Androids, Firemen and Tomatoes วางแผงในปี 2000
“Alive 1997” (2001)
อัลบั้มบันทึกการแสดงสดอัลบั้มแรกที่แม้จะบันทึกไว้ในปี 1997 แต่ Virgin เพิ่งจะปล่อยออกมาในปี 2001 (หลังอัลบั้ม Discovery วางแผงโน่นเลย) อัลบั้มนี้มีแทร็กเดียวถ้วน ความยาว 45 นาที ลักษณะเป็นการใช้ Sample เพลงจากในอัลบั้ม Homework นำเอามารีมิกซ์ ปรับจังหวะใหม่ให้เฟี้ยวฟ้าวในแบบฉบับของพวกเขาเอง เป็นงานที่ไม่แพร่หลายเท่าไหร่ แต่ถือเป็น Live Album เด็ดดวงที่แฟนพันธุ์แท้ไม่ควรพลาด
Discovery (2001)
ดิบน้อยลง หรูหรามากขึ้น
มีนาคม 2021 เป็นวันแรกของการวางแผงอัลบั้มที่ 2 ในชื่อว่า Discovery แม้โดยโครงสร้างเพลงหลัก ๆ ยังคงเป็นแนวเฮาส์ แต่ในอัลบั้มนี้มีการหยิบเอาแนวดนตรีเต้นรำทั้งแนวฟังกี้ ดิสโก้ โพสต์ดิสโก้ และ R&B มาเพิ่มเข้าไปให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมกับธีมของเพลงที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความทรงจำในวัยเด็ก ความรัก และความชื่นชอบในตัวละครและภาพยนตร์” ลดทอนความดิบสาก จัดจ้านในอัลบั้มแรก กลายเป็นอัลบั้มอิเล็กทรอนิกส์ที่เต็มไปด้วยความหรูหรา ดูเป็นขั้วตรงข้ามของอัลบั้มที่แล้วอยู่เหมือนกัน เหมาะแก่การเปิดฟังในคลับเก๋ ๆ แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยดิบ แต่ภาคดนตรีก็ยังเต็มไปด้วยความจัดจ้านชวนเต้นได้ไม่แพ้กัน
อัลบั้มนี้ ทั้งคู่เริ่มต้นบันทึกเสียงที่บ้านของโธมัสในฝรั่งเศส โดยเป็นการทยอยทำงานมาตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปี 2000 โดยแทร็กในอัลบั้มนี้ทั้ง “One More Time ” และ “Too Long” แทร็กที่ยาวที่สุดใน (ทุก) อัลบั้มถูกบันทึกเสร็จสิ้นเป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งในอัลบั้มนี้ มีความพิเศษที่แตกต่างก็คือ พวกเขาเลือกที่จะบันทึกเสียงสด ๆ จากเครื่องดนตรีเป็นหลัก พร้อมกับการทดลองแนวทางใหม่ ๆ เช่นแนว Cut & Paste ในเพลง Harder, Better, Faster, Stronger หรือ Short Circuit ที่เป็นแนวย้อนยุค 80’s ไปเลย
แถมยังเป็นอัลบั้มแรกที่มีศิลปินมาร่วม Featuring อีกด้วย ทั้ง Romanthony (ศิลปิน,ดีเจ) ในเพลง “One More Time”, “Too Long” และ Todd Edwards (ศิลปิน,ดีเจ) ในเพลง “Face to Face”
Interstella 5555: The 5tory of the 5ecret 5tar 5ystem | インターステラ5555 (2003)
เรียกว่าเป็นการโกอินเตอร์ครั้งแรกก็ว่าได้ กับงานอนิเมะที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Daft Arts (บริษัทดูแลงานด้านวิชวลของ Daft Punk) กับ Toei Animation บริษัทผลิตอนิเมชันยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ร่วมกันผลิต DVD แอนิเมชันเรื่องนี้ออกมา โดยมี Leiji Matsumoto นักเขียนอนิเมะเจ้าของผลงานดัง ๆ อย่าง
Galaxy Express 999 และ Space Battleship Yamato มาดูแลด้านเนื้อเรื่องให้
เนื้อเรื่องว่าด้วยวงดนตรีต่างดาว 4 คนจากดาวอันไกลโพ้น ที่รักการเล่นดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็โดนลักพาตัวไปยังโลก ถูกจับย้อมสีให้เหมือนมนุษย์ และบังคับให้ออกอัลบั้มเพื่อหวังกอบโกยกำไร จนนักบินอวกาศหนุ่มคนหนึ่ง ที่เคยเฝ้าฝันถึงหญิงสาวมือเบส หนึ่งในสมาชิกวงรู้เรื่องนี้เข้า จึงได้ติดตามไปช่วยเธอและพวกเขากลับคืนมายังดาวบ้านเกิดอีกครั้ง
หนังเรื่องนี้ไม่มีไดอะล็อกใด ๆ มีเพียงแต่เสียงเอฟเฟกต์ และเนื้อเรื่องที่สอดประสานเข้ากับทุกเพลงในอัลบั้มนี้เพียงเท่านั้น โดยในภายหลังยังได้มีการตัดตอนเพลงจากอะนิเมะเรื่องนี้มาทำเป็น MV อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานศิลปะ 2 แขนงได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ
สังเกตให้ดี ๆ จะได้พบ Daft Punk ในแอนิเมชันเรื่องนี้ด้วย และถ้าสังเกตดี ๆ จะมีฉากหนึ่งที่ยามรักษาความปลอดภัยกำลังดูฟุตบอลทางทีวี ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างทีม “ญี่ปุ่น” (โตเอะ) กับทีม “ฝรั่งเศส” (Daft Punk) แถมสกอร์ตอนนั้นยังเสมอกันที่ 1-1 ด้วย เป็นกิมมิกที่น่ารักดีครับ
Human After All (2001)
งานแนวทดลองแห่งความ “ดาร์ก” และ “ดุดัน”
หาก Discovery คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยความหรูหรา สุนทรี และทุ่มทุนไปกับโพรดักชันและการบันทึกเสียง อัลบั้มนี้ก็เหมือนขั้วตรงข้าม เพราะพวกเขาเลือกที่จะ “เล่นเล็ก” ด้วยการบันทึกเสียงแบบง่าย ๆ ในบ้าน และเน้นไปที่ความดาร์ก ความจริงจัง ความดุดัน ความน่ากลัว ความหวาดระแวง ความเกี่ยวข้องกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เป็นอัลบั้มที่ไม่ขายความสุนทรีแบบอัลบั้มที่แล้ว แต่ขายความเป็น “หุ่นยนต์” ความประดิษฐ์สังเคราะห์กันแบบโต้ง ๆ โดยที่ปกของอัลบั้มนี้เป็นรูปทรงจอทีวี โธมัสบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ “1984” ของ จอร์จ ออร์เวล
ในภาคดนตรีของอัลบั้มนี้ อย่างที่บอกแล้วว่า เป็นการลดทอนความหรูหรา ร่วมสมัย สู่ความดิบกร้าว สะท้อนได้จากหลาย ๆ แทร็กในอัลบั้มนี้ที่เพิ่มความจัดจ้านของสุ้มเสียงกีตาร์ และดรัมแมชชีน เริ่มเบนแนวทางจากแนวเฮาส์ มาสู่แนวทดลอง และร็อกที่มีความหนักกบาล และหลุดโลกกว่าชุดอื่น ๆ ที่ผ่านมา จนได้เสียงคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลก และขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Dance/Electronic และคว้ารางวัลแกรมมี่อวอร์ด สาขาเพลงอิเล็กทรอนิกส์/แดนซ์ ในปี 2006
ถ้าสังเกต MV ทุกตัวในอัลบั้มนี้จะเห็นความเชื่อมโยงกันอย่างหนึ่งคือ จะมี “โทรทัศน์” ปรากฏอยู่ใน MV ทุกเพลง แถมในอัลบั้มนี้ ยังมีแทร็กที่มีชื่อเกี่ยวกับโทรทัศน์อย่าง “Television Rules the Nation” “ON/OFF” และ “Prime Time of your life” อีกต่างหาก
Daft Punk’s Electroma (2006)
ถ้าใครที่ได้ชมคลิป “Epilogue” ที่เหมือนเป็นจดหมายร่ำลาของทั้งคู่ จะบอกว่าคลิปนั้นตัดมาจากช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องแนวทดลองที่ได้มีโอกาสฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2016 เรื่องนี้นี่แหละครับ โดยหนังเรื่องนี้ Daft Punk ร่วมกันเขียนบท โธมัสรับหน้าที่กำกับภาพ แต่ทั้งคู่ไม่ได้แสดงเอง (ให้ตัวแสดงแทนมาใส่หน้ากาก) แถมดันเป็นหนัง Daft Punk ที่ไม่ได้ใช้เพลงของ Daft Punk มาประกอบเลยแม้แต่เพลงเดียว! แถมยังไม่มีบทพูดอะไรเลยอีกด้วย เอากับเขาสิ
พล็อตเรื่องว่าด้วยหุ่นยนต์หมายเลข 1 และหุ่นยนต์หมายเลข 2 ที่เกิดไม่อยากเป็นหุ่นยนต์ เลยไปเข้าไปในแล็บเพื่อหวังอยากเปลี่ยนเป็นมนุษย์ แต่แล้วพวกเขาก็รู้สึกแปลกแยกและขัดแย้ง จนนำไปสู่ฉากระเบิดตัวเอง อย่างที่ได้เห็นในคลิป Epilogue นั่นแหละครับ
Alive (2007)
อัลบั้มบันทึกการแสดงสดอัลบั้มที่ 2 (และอัลบั้มสุดท้าย) ที่บันทึกการแสดงสดใน World Tour (ครั้งสุดท้าย) ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2007 รวมถึงในงานเทศกาลดนตรี Coachella ส่วนที่ได้ยินในอัลบั้มเป็นการบันทึกเสียงในการแสดงที่ฝรั่งเศสในปี 2007 ที่ได้รับคำชมทั้งด้าน Setlist และวิชวลที่จัดเต็มทั้งเวที แสง สี เสียง ไฟ ที่ปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กับเพลงตลอดเวลา พร้อมกับเวทีทรงพีระมิดที่ตั้งตรงกลางตระหง่าน ดูก็รู้ว่าลงทุนมหาศาล จนคนที่ได้ดูในคลิป หรือจากแผ่น Bonus DVD ในอัลบั้มต่างก็หวังว่า อยากจะไปชมเป็นบุญตาบุญหูสักครั้งในชีวิต ซึ่งก็แน่นอนว่า น่าจะไม่มีโอกาสนั้นแล้วล่ะครับ T T
โชว์ Alive 2007 ที่รันเพลงออกมาได้เนี้ยบไม่มีสะดุด เบื้องหลังคือ Daft Punk เขาใช้โพรแกรม Ableton Live ที่รันอยู่บน “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” ที่ปรับแต่งสำหรับโชว์ครั้งนี้โดยเฉพาะ!
Daft Punk Unchained (2015)
สารคดีอย่างเป็นทางการเรื่องแรกและเรื่องเดียวของ Daft Punk ที่จัดจำหน่ายโดย BBC Worldwide เล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ Daft Punk ในฐานะผู้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ความยากลำบากในการฟอร์มวง Darlin’ จนมาถึงยุคทอง ที่ต้องฝ่าฟันกับดีเจมากมาย เพลงของเขาถูกยกให้กลายเป็นแฟชัน จนกระทั่งพวกเขาเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นหุ่นยนต์ และสร้างหลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่เป็นที่กล่าวขาน จนมาถึงอัลบั้ม ‘Random Access Memories’ ที่ทำให้เพลงฟังกี้กลายเป็นดนตรีกระแสหลักของโลกได้ในช่วงเวลาหนึ่ง
แฟน ๆ Daft Punk จะรู้กันดีครับว่า พวกเขามักไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ หรือออกงานปรากฏตัวกับสื่อสักเท่าไหร่ ทำเพลงทีหนึ่งก็หายไปทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นสัมภาษณ์นี้จึงเน้นไปที่การสัมภาษณ์ผู้คนเบื้องหลังและศิลปินที่เคยมีโอกาสร่วมงานกับพวกเขา เช่น Pharrell Williams, Giorgio Moroder, Nile Rodgers,
Skrillex, Kanye West และ Michel Gondry เพียงเท่านั้น
Tron : Legacy (2010)
เพลงอิเล็กทรอนิกส์ + ดนตรีคลาสสิก = โคตรล้ำอลังการ
เพลง Original Soundtrack หนึ่งเดียวที่ Daft Punk ได้เข้าไปมีส่วนร่วมงานกับภาคต่อหนังไซไฟอนาคตสุดคลาสสิกของ Disney โดยทั้งคู่ได้ร่วมงานกับผู้ประพันธ์เพลงคลาสสิก Joseph Trapanese ที่ก็เป็นเแฟนเพลงของ Daft Punk เช่นเดียวกัน โดยทั้งคู่ได้ร่วมประสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับวงออเครสตราที่ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี 85 ชิ้น และทำการบันทึกเสียงในสตูดิโอที่ลอนดอน และมี Joseph Kosinski ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้รับหน้าที่โพรดิวเซอร์ควบคุมการผลิต จนในที่สุดก็ได้เพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีส่วนผสมของดนตรีคลาสสิกและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (ที่มีกลิ่นอายสกอร์เพลงประกอบภาพยนตร์ยุค 80’s) ที่ทั้งล้ำ และยิ่งใหญ่อลังการมาก ๆ
ในอัลบั้มนี้ ถ้าเป็นเวอร์ชันอัลบั้มปกติ จะมี 22 แทร็ก แต่ใน Edition อื่น ๆ จะมี Bonus Track เพิ่มขึ้นมาแตกต่างกันไปไม่เท่ากัน ซึ่ง Edition ที่สมบูรณ์จริง ๆ มีทั้งหมด 31 แทร็ก
Random Access Memories (2013)
เพลงฟอร์มยักษ์ย้อนยุคที่ “ไร้กาลเวลา”
หลังจากอยู่ใต้ชายคา Virgin/EMI มาโดยตลอด ในที่สุดทั้งคู่ก็ก้าวออกมาจากบ้านหลังเล็ก ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหญ่ Columbia Records พร้อมกับการทำงานครั้งแรกในรอบ 8 ปี จนได้ 13 แทร็ก (บวกเพลง “Horizon” เพลงโบนัสแทร็กที่มีเฉพาะในการจัดจำหน่ายที่ญี่ปุ่น) ที่กลิ่นอายที่ชวนให้นึกถึงดนตรีเต้นรำยุค 70’s – 80’s ภายใต้ชื่ออัลบั้มล้ำ ๆ ว่า Random Access Memories
แม้ว่าโทนโดยรวมของอัลบั้มนี้จะเน้นหนักไปทางฟังกี้และอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นการเล่นสดโดยไม่ใช้ Sample ใด ๆ เลย ขนาดเสียงอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังเป็นเสียงที่ให้กำเนิดจากซินธิไซเซอร์แท้ ๆ ไม่ใช่ซินธิไซเซอร์ในโพรแกรม พร้อมกับการร่วมงานกับศิลปิน นักดนตรี นักร้องมากมาย ทั้งบทสัมภาษณ์ของ Giorgio Moroder, เสียงร้องของ Panda Bear, Julian Casablancas, Todd Edwards, DJ Falcon, Pharrell Williams, Paul Williams และเสียงกีตาร์ฟังกี้จากราชากีตาร์ฟังก์ Nile Rodgers แต่จริง ๆ แล้วแนวของอัลบั้มนี้ไปไกลตั้งแต่ฟังกี้ ดิสโก้ โพรเกรสซีฟร็อก แจ๊ส จนไปถึงฮิปฮอป!
ผลจากการลงทุนสรรพกำลังและเงินทุนมหาศาล ทำให้อัลบั้มนี้ขายได้กว่า 3 แสนชุดในสัปดาห์แรก ติดชาร์ตในกว่า 30 ประเทศ กลายเป็นอัลบั้มเดียวที่ติดอันดับ US Billboard 200 ได้รับการรับรองยอดขายระดับ Platinum เพลง “Get Lucky” ซิงเกิลแรกกลายเป็นเพลงที่มียอดขายในรูปแบบดิจิทัลที่ดีที่สุดในโลกเพลงหนึ่ง
และที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ อัลบั้มนี้กวาดรางวัล Grammy Awards ครั้งที่ 56 ในปี 2014 โดยคว้าไปได้ 4 รางวัล ได้แก่สาขาอัลบั้มยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม (เพลง “Get Lucky”), ศิลปินคู่/กลุ่มยอดเยี่ยม (Daft Punk และ Pharrell Williams & Nile Rodgers) และอัลบั้มเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกส์ยอดเยี่ยม รวมทั้งนิตยสาร Rolling Stone ยังจัดให้อัลบั้มนี้อยู่ในอันดับที่ 295 ในรายชื่อ “500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” แถมยังเป็นอัลบั้มที่ทำให้เพลงแนวฟังกี้ กลายเป็นกระแสนิยมของโลกในช่วงระยะเวลาหนึ่งอีกด้วย
แม้ต่อไปเราอาจจะไม่ได้ฟังผลงานเพลงอิเล็กทรอนิกส์จากพวกเขาอีกแล้ว (และก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะรีเทิร์นกลับมาเมื่อไหร่ด้วย) และผู้เขียนเองก็ยังคงมองไม่ออกเหมือนกันว่า จะมีใครมาสร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ยาวนานได้อย่างพวกเขาหรือไม่
แต่ผู้เขียนเชื่อครับว่า ต่อไปนี้ พวกเขาจะกลายเป็นตำนานที่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และวงการเพลงโลก ที่ผู้คนจะจำได้ตลอดไปครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส