เป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการดนตรีที่ได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อวงคู่หูดูโออิเล็กทรอนิกส์จากปารีสในชุดหุ่นยนต์สุดเท่ “Daft Punk” ได้ปล่อยภาพยนตร์สั้นความยาว 8 นาทีที่ชื่อ “Epilogue” (ปัจฉิมบท) ที่เป็นเสมือนคำตอบถึงการสิ้นสุดการเดินทางร่วมกันของคู่หูนักดนตรีคู่นี้

ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมา (1993-2021) สองคู่หูนักดนตรี กีย์ มานูเอล เดอ โฮเมม–คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และ โทมัส แบงกาลเตอร์ (Thomas Bangalter) ในนาม ‘Daft Punk’ ได้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพและมอบความสดใหม่ให้กับโลกดนตรีมาโดยตลอด ด้วยการผสมผสานงานดนตรีเฮ้าส์ให้เข้ากับงานดนตรีฟังก์ เทคโน โซล ดิสโก้ ร็อก และซินธ์พอป ได้อย่างแปลกใหม่และลงตัวเป็นที่สุด พร้อมด้วยเอกลักษณ์สุดล้ำจากการแต่งตัวเป็นคู่หูหุ่นยนต์ราวกับทั้งคู่เป็นอาร์ทูดีทูแห่งโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์

ถึงแม้วันนี้ทั้งคู่จะปิดตำนานอันยาวนานกว่า 28 ปีลงแล้ว แต่เรื่องราวและบทเพลงของทั้งคู่ก็จะยังคงอยู่ในใจของแฟนเพลงเสมอ และบทเพลงเหล่านั้นก็ยังรอให้เราได้ย้อนกลับไปฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกราวกับท่วงทำนองและคำร้องที่เล่นวนซ้ำไปมาอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในงานของพวกเขา และต่อไปนี้ก็คือ 10 บทเพลงที่นิยามความเป็น Daft Punk ได้เป็นอย่างดี ขอให้เพลิดเพลินไปกับโลกแห่งเสียงดนตรีของพวกเขากันครับ

‘Da Funk’

จุดจบมักนำพาเรามาหาจุดเริ่มต้นเสมอ ย้อนกลับไปสู่งานเพลงจากอัลบั้มแรกของ Daft Punk ในปี 1997 ‘Homework’ กับซิงเกิลที่ทำให้พวกเขากลายเป็นดาวเด่นของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์-แดนซ์  ‘Da Funk’ คืองานดนตรีที่ไม่มีวันล้าสมัยจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างงานดนตรีเฮ้าส์ของยุค 90s ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกรู๊ฟเจ๋ง ๆ ในแบบฉบับของแรปเปอร์จากฝั่งเวสต์โคสต์ที่เรียกว่า ‘G-funk’ หรือ ‘gangsta-funk’ เราจะเห็นเอกลักษณ์ของ Daft Punk ได้ตั้งแต่ในเพลงนี้ไม่ว่าจะเป็นการเล่นลูกซ้ำ ชั้นเสียงที่วางอย่างมีมิติ รวมไปถึงท่วงทำนองสุดฟังกี้จากซินธิไซเซอร์ และแน่นอนเมื่อมันมารวมกับงานเอ็มวีที่ชวนให้เรารู้สึกเหงาบนท่วงทำนองตื๊ดและตัวเอกที่เป็นมนุษย์หมา ! ผลงานการกำกับของ Spike Jonze มันก็ช่างเป็นส่วนผสมที่แปลกแต่มีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก ทำให้เราไม่งงเลยว่าทำไมผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Her’ คนนี้ถึงเล่าเรื่องราวความเหงาของชีวิตภายใต้แสงสีในเมืองใหญ่และในโลกที่เทคโนโลยีกำลังก้าวไกลได้ดีขนาดนั้น

‘Around The World’

อีกหนึ่งซิงเกิลเด่นจากอัลบั้ม ‘Homework’ บทเพลง ‘Around The World’ ได้พางานดนตรีแดนซ์ไปสู่พรมแดนใหม่ด้วยการผสมผสาน 3 สไตล์ทางดนตรี ‘ดิสโก้-ฟังก์ และ อิเล็กทรอแดนซ์’ เข้าไว้ด้วยกันอย่างเพลิดเพลิน พร้อมด้วยเนื้อร้องในสไตล์มินิมอลในแบบฉบับของ Daft Punk ที่ในเพลงนี้เสียงร้องวน ‘Around The World’ ซ้ำไปมาก็พาเราโยกไปอย่างไม่รู้ตัวเหมือนโดนสะกดจิต อีกทั้งเอ็มวีจากการกำกับของ Michel Gondry ก็มินิมอลแต่แฝงไว้ด้วยความจี๊ดจ๊าดอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาไม่ว่าจะสีสัน งานภาพ หรือการกำกับท่าเต้นและจังหวะ ซึ่งเราจะเห็นเอกลักษณ์แบบนี้ในงานกำกับเอ็มวีอื่น ๆ ของ Michel Gondry เช่นในงานของ Chemical Brothers และ Kylie Minogue และเชื่อว่ามันคงได้สร้างแรงบันดาลใจทั้งงานเพลงและเอ็มวีให้กับวงที่งานดนตรีมีความมินิมอลและเอ็มวีเน้นคอรีโอกราฟฟีอย่าง OK GO

‘One More Time’

มันคือการโคจรมาพบกันที่สุดจะแหวกแต่ลงตัวสุด ๆ ระหว่างงานเพลงของ Daft Punk จากอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Discovery’ กับแอนิเมชันไซไฟจากญี่ปุ่นเรื่อง Interstella 5555: The 5tory of the 5ecret 5tar 5ystem เพราะฉะนั้นเราจะได้ฟังงานเพลงจากอัลบั้มนี้คู่กับแอนิเมชันที่ถูกตัดมาเป็นเอ็มวีเพลงต่าง ๆ อย่างเพลิดเพลิน  ด้วยบีทแดนซ์ เสียงร้องของอเมริกันดีเจ Anthony Wayne Moore หรือ Romanthony ที่ปรับแต่งด้วย Vocoder และริฟฟ์ที่แซมเปิลมาจากบางส่วนของเพลง ‘More Spell On You’ เพลงดิสโก้ฉ่ำ ๆ จาก ‘Eddie Johns’ ทำให้‘One More Time’ คือท่วงทำนองแห่งการเฉลิมฉลองที่ไพเราะเพราะพริ้งและมีบรรยากาศของความโรแมนติก เป็นบทเพลงที่จะเปลี่ยนค่ำคืนของคุณให้ชุ่มชื่นใจไปกับท่วงทำนองแดนซ์สุดละมุน

‘Harder, Better, Faster, Stronger’

ชาวฮิปฮอปน่าจะรู้จักกับเพลงนี้ดีเมื่อ Kanye West แซมเปิลเอาไปใช้ในเพลง ‘Stronger’ เพลง ‘Harder, Better, Faster, Stronger’ คืออีกหนึ่งงานเพลงที่น่าหลงใหลจากอัลบั้ม ‘Discovery’ ด้วยบีทสุดฟังกี้ที่แซมเปิลจากเพลง ‘Cola Bottle Baby’ ของ Edwin Birdsong มาผสมความโรโบติกจากเสียงร้องผสม Vocoder ในแบบฉบับของ Daft Punk และท่วงทำนองที่ปรุงแต่งให้มีความสดใหม่และลูกเล่นลีลาที่แปลกใหม่ ทำให้บทเพลงนี้เป็นอีกเพลงที่นิยามความเป็นนักทดลองทางดนตรีผู้มีความสร้างสรรค์อย่าง Daft Punk ได้ดี

‘Digital Love’

นี่คือเพลงรักใส ๆ ในแบบฉบับของ Daft Punk ที่เกิดจากการผสานกันของซาวด์แซมเปิลจากเพลงรักในสไตล์แจ๊สฟิวชันของ George Duke ที่มีชื่อว่า ‘I Love You More’ และ ซาวด์เก๋ ๆ จากเปียโนไฟฟ้า Wurlitzer ในท่อนบริดจ์ที่ให้ซาวด์ในแบบฉบับของวง Supertramp อย่างในเพลง ‘The Logical Song’ พร้อมด้วยท่อนโซโลสุดเร่าร้อนแฃะปรุงแต่งรสชาติด้วยเนื้อร้องใส ๆ ในอารมณ์โรแมนติกที่แต่งโดย DJ Sneak และ Daft Punk แค่นี้ก็ทำให้ฟินสุด ๆ แล้ว “Last night I had a dream about you / In this dream I’m dancing right beside you / And it looked like everyone was having fun / That kind of feeling, I’ve waited so long”

‘Aerodynamic’

นี่คือเพลงที่โซโลกีตาร์ได้มันส์ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีแดนซ์แล้ว เชื่อเลยว่าในปี 2001 ที่ปล่อยเพลงนี้ออกมานี่คืออะไรที่มีความล้ำสมัยแบบสุด ๆ ‘Aerodynamic’ โชว์ความล้ำด้วยการวางโครงสร้างเพลงออกเป็น 3 ส่วนส่วนแรกคืองานดนตรีฟังก์สุดโจ๊ะ ส่วนต่อมาคืองานโชว์กีตาร์โซโลสุดมันส์ด้วยเทคนิค tapping และส่วนสุดท้ายปิดฉากด้วยไลน์ซินธ์ที่บรรเลงลงไปในท่วงทำนองของงานดนตรีคลาสสิกยุคบาโรกที่ชวนให้คิดถึงงานสุดคลาสสิกของ Johann Sebastian Bach

‘Technologic’

มาถึงงานเพลงชุดที่ 3 ในปี 2005 ที่มีชื่อว่า ‘Human After All’ กับบทเพลงที่มีชื่อว่า ‘Technologic’ ที่มาพร้อมบีทเฮ้าส์ เสียงร้องที่ฟังดูเหมือนเสียงโรบอตเด็ก และงานเอ็มวีสุดหลอนกับโรบอตเบบี้ที่ดูไปมาแล้วก็เหมือนกับชัคกี้แค้นฝังหุ่นในร่างหุ่นยนต์ เพลงนี้ Daft Punk ต้องการสะท้อนภาพของโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น เราจึงเห็นคำกริยามากมายที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและเทคโนโลยีในบทเพลงนี้ “Buy it, use it, break it, fix it, trash it, change it, mail, upgrade it” ท่อนร้องสั้น ๆ รัว ๆ ติดกันแบบนี้ฟังไปฟังมาก็ชวนให้นึกถึงเพลง ‘Sorry,Sorry’ ของ Super Junior เหมือนกันนะ

‘Robot Rock’

อย่างมันส์เลยครับเพลงนี้ แค่ขึ้นอินโทรมาด้วยลูกกลองกับกีตาร์สุดร็อกนี่ก็โยกไปแล้วครึ่งตัว เพลงนี้คือเพลงที่ผสานความเป็นร็อกและอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ได้อย่างถึงอารมณ์เป็นเพลงที่เหมาะจะเล่นในคอนเสิร์ตเป็นที่สุด ด้วยส่วนผสมของแซมเปิลจากเพลง ‘Release the Beast’ ของ Breakwater เสียงร้องของโรบอต และกีตาร์สุดเร้าใจที่ใส่เอฟเฟกต์จากซินธ์ของ Moog ทำให้มันเป็นอะไรที่ unique และเร้าใจสุด ๆ

‘Get Lucky’

‘Get Lucky’ คือความสำเร็จในระดับแมสของ Daft Punk สิ่งที่เกิดขึ้นกับบทเพลงนี้และงานเพลงในอัลบั้มจากปี 2013 ที่ชื่อว่า ‘Random Access Memories’ เปรียบเสมือนการเดินทางของหุ่นยนต์มาสู่ความเป็นมนุษย์ เมื่อ Daft Punk ผู้ซึ่งสร้างสรรค์งานดนตรีจากชิ้นส่วนของสไตล์ดนตรีจากยุค 70s-80s อย่างฟังก์​ โซล ดิสโก้ และแปลงร่างมันด้วยความเป็นอิเล็กทรอนิกส์บนบีทแดนซ์ของงานดนตรีเฮ้าส์ในยุค 90s มาโดยตลอด ใน ‘Get Lucky’  Daft Punk เลือกที่จะใช้เครื่องดนตรีจริง ๆ บรรเลงดิสโก้กรู๊ฟผสานกับลายเซ็นของความเป็นโรโบอิเล็กโทรของพวกเขา อีกทั้งยังมีมือกีตาร์ขาฟังก์อย่าง ไนล์ ร็อดเจอร์ส และ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ ที่ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณใด ๆ ผลที่ได้รับก็คือความสำเร็จและความนิยมอย่างล้นหลามจนได้เอารางวัลแกรมมี่หลาย ๆ ตัวไปนอนกอดที่บ้าน ‘Get Lucky’ สมชื่อเพลงกันล่ะ !

‘Starboy’ และ ‘I Feel It Coming’

ปิดท้ายด้วยบทเพลงที่ Daft Punk ไปร่วมงานกับศิลปินคนอื่นซึ่งก็โดดเด่นไม่แพ้กับงานของตัวเอง โดยเฉพาะผลงานที่ไปฟีเจอริ่งกับ Abel Tesfaye หรือ The Weeknd ที่กำลังฮอตอยู่ ณ ขณะนี้จากโชว์ halftime ของ Super Bowl ไม่น่าเชื่อเลยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจากการฟีเจอริ่งกันของทั้งสองฝ่ายมันช่างกลมกล่อมอร่อยเหอะ อย่างใน ‘Starboy’ ด้วยการร้องสไตล์อาร์แอนด์บีกับซาวด์จาก Daft Punk ก็มูฟอารมณ์ได้ดีและเท่มาก ส่วนใน ‘I Feel It Coming’ นั่นคือความกลมกล่อมอย่างที่สุด กับเสียงร้องของ The Weeknd ที่ราวกับสวมจิตวิญญาณของไมเคิล แจ็กสันในท่วงทำนองสุดละมุนแบบเพลงบัลลาดของแจ็กสันในอัลบั้ม ‘Off The Wall’ และซาวด์ละมุนกับบีตชวนโยกเบาๆ  ของ Daft Punk ที่สวมกอดบทเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม (แถมด้วยเอ็มวีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง 2001 The Space Odyssey) แค่นี้ก็ทำให้บทเพลงนี้คืองานพอปสุดคลาสสิกแห่งยุคสมัยแล้ว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส