ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์เมื่อ 30 ปีก่อนซึ่งก็คือปี 1991 R.E.M. วงดนตรีร็อกอเมริกันได้ออกอัลบั้มชุดที่ 7 ที่มีชื่อว่า ‘Out of Time’ ซึ่งมียอดขายถล่มทลายกว่า 4 ล้านก็อปปี้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากความสำเร็จของซิงเกิลแรกจากอัลบั้ม ‘Losing My Religion’ ที่ทำให้วงดนตรีวงนี้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านยอดขายและมีชื่อเสียงขจรขจายกลายเป็นตำนานแห่งวงการอัลเทอร์เนทีฟร็อกมาจนถึงทุกวันนี้ การันตีด้วยรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best Alternative Music Album ที่เพิ่งมีครั้งแรกในปี 1991 และ R.E.M. ก็เป็นวงดนตรีวงแรกที่ได้รับรางวัลนี้ (เพราะคนที่ได้รับรางวัลในปีแรกเป็นศิลปินเดี่ยวคือ Sinéad Marie Bernadette O’Connor) นอกจากนี้ ‘Losing My Religion’ ยังคว้าไปอีก 2 รางวัลคือ ‘Best Pop Performance by a Duo or Group with Vocal’ และ ‘Best Short Form Music Video’
‘Losing My Religion’ เป็นเพลงที่ทำให้สถานะทางดนตรีของ R.E.M. ก้าวกระโดดไกล การที่เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ต เป็นเพลงที่ขึ้นชาร์ตสูงที่สุดของ R.E.M. โดยอยู่ที่อันดับที่ 4 ของชาร์ตบิลบอร์ด Hot 100 ทำให้ดึงดูดแฟนเพลงใหม่ ๆ ให้เข้ามาสนใจวงมากยิ่งขึ้นเป็นการขยายฐานแฟนเพลงให้กว้างขวางขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ไมเคิล สไตป์ (Michael Stipe) เคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่าเนื้อเพลงของเพลงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่วลี ‘Losing My Religion’ นั้นเป็นสำนวนที่มาจากพื้นที่ทางตอนใต้ของอเมริกาซึ่งหมายถึงอาการที่เรา “สูญเสียการควบคุมอารมณ์” หรือ “รู้สึกสิ้นหวัง” มันคือการต่อสู้ภายในที่มีทั้งความโหยหาและความหดหู่ใจไปพร้อม ๆ กัน และสไตป์ก็เคยบอกว่าเพลงนี้แท้จริงแล้วเกี่ยวกับความรักแต่เป็นความรักที่ไม่สมหวัง อารมณ์ในเพลงเหมือนผู้เล่ากำลังถ่ายทอดอารมณ์ “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง” ของตัวเองอยู่ เนื้อเพลงจะสะท้อนถึงความกลับไปกลับมา ดึงเข้าผลักออกแบบนี้ตลอด สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ‘Losing My Religion’ กลายเป็นเพลงฮิตอมตะนั้นส่วนหนึ่งก็คงอยู่ที่เนื้อเพลงที่เขียนขึ้นโดย ไมเคิล สไตป์เองซึ่งใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่ว่ามีการเปิดพื้นที่ไว้ให้คนได้ตีความ เวลาได้ฟังเพลงนี้จะมีความรู้สึกเหมือนเข้าถึงได้ สัมผัสอารมณ์ได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นอาจเป็นข้อดีเพราะมันทำให้ผู้ฟังสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปในบทเพลงและในขณะเดียวกันก็สามารถตีความให้เข้ากับประสบการณ์และความรู้สึกของตัวเองได้ด้วย ครั้งหนึ่งสไตป์ได้กล่าวเอาไว้ถึงแนวคิดในการเขียนเพลงว่า “ผมว่านะเพลงที่ดีที่สุดคือเพลงที่ใคร ๆ ก็สามารถฟังได้ เอาตัวเองเข้าไปในนั้นได้ แล้วพูดว่า ‘เฮ้ย ! นี่มันเรื่องของเรานี่หว่า’”
“That’s me in the corner
That’s me in the spotlight
Losing my religion
Trying to keep up with you
And I don’t know if I can do it
Oh no, I’ve said too much
I haven’t said enough”
“นั่นคือผมเองที่หลบอยู่ในมุมหนึ่ง
นั่นคือผมเองที่อยู่ท่ามกลางแสงไฟ
กำลังสูญเสียการควบคุม
ผมพยายามจะไล่ตามคุณไป
และผมก็ไม่รู้ว่าจะทำมันได้ไหม
โอ้ไม่ ผมว่าผมพูดมากไปแล้ว
แต่ผมก็ยังพูดไม่จบนะ”
ส่วนเสน่ห์อีกประการก็มาจากท่วงทำนองที่ติดหูซึ่งเกิดจากความพยายามของมือกีตาร์นาม ปีเตอร์ บัค (Peter Buck) ที่พยายามจะเล่น ‘แมนโดลิน’ ให้ได้ บัคจะใช้วิธีฝึกด้วยการบันทึกเสียงการเล่นของเขาในแต่ละครั้งและกลับมาย้อนฟังเพื่อหาข้อบกพร่องในการเล่นของเขา จากการพยายามเล่นและทำความคุ้นเคยในเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของแมนโดลิน ในที่สุดบัคก็พบช่วงเวลาแห่งยูเรก้าและสามารถสร้างริฟฟ์เจ๋ง ๆ ขึ้นมาจากมันได้
“ผมเริ่มมันด้วยแมนโดลินและคิดท่อนริฟฟ์กับคอรัสมาก่อน ส่วนท่อนร้องจะเป็นในสไตล์ที่ R.E.M. ใช้เสมอมา นั่นคือเริ่มจากคอร์ดหนึ่งไมเนอร์และค่อยเคลื่อนไปที่คอร์ดไมเนอร์อีกตัวและคอร์ดอื่น ๆ คล้าย ๆ กับในเพลง ‘Drive 8’ นั่นแหละ ซึ่งมันเวิร์กแน่ ๆ เพราะคุณก็คงจะไม่พบว่ามันแย่ตรงไหนกับคอร์ดอย่าง Em Am D และ G พวกมันเป็นคอร์ดที่ดีเลยล่ะ” บัคเล่าให้ฟังถึงที่มาของเพลง ‘Losing My Religion’
การประยุกต์ใช้โครงสร้างของเพลงพอปคลาสสิกแบบนี้ทำให้บทเพลงนี้สามารถสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ฟังแต่ในขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างความสดใหม่ให้เกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน [เหมือนเวลาที่คนเขียนบทหนังใช้โครงสร้างการเล่าเรื่องตามทฤษฎี 3 องก์เป็นหลักเพื่อให้ผู้ชมคุ้นเคย แต่ในความคุ้นเคยนั้นผู้เล่าเรื่องก็สามารถสร้างความสดใหม่อะไรลงไปบนพื้นที่นั้นได้อย่างอิสระ]
ส่วนขั้นตอนในการเขียนเพลงออกมาให้เรียบร้อยนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อเลย บัคได้เล่าถึงขั้นตอนการทำเพลงนี้ไว้ว่า “ดนตรีแต่งเสร็จภายในเวลา 5 นาที ครั้งแรกที่วงเล่นมันด้วยกัน มันเข้ากันได้ดีอย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนไมเคิลก็เขียนเนื้อเพลงเสร็จในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว และในขณะที่เราเล่นเพลงนี้กันเป็นครั้งที่ 3 หรือ 4 นี่แหละ ผมก็พบว่าผมรู้สึกโดนอย่างมากตอนที่ได้ยินเสียงร้องของไมเคิลเชื่อมต่อกับเสียงดนตรีได้เป็นอย่างดี สำหรับผม ‘Losing My Religion’ เป็นเหมือนกับแม่พิมพ์ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศที่เราสามารถคล้องและดึงเอามันลงมาได้ ถ้าการแต่งเพลงทั้งหมดมันจะง่ายขนาดนี้นะ”
เพลง ‘Losing My Religion’ ถูกบันทึกเสียงในเดือนกันยายนปี 1990 ที่ Bearsville Studio A ในวูดสต็อก นิวยอร์ก R.E.M. เรียบเรียงเพลงกันในสตูดิโอด้วยเครื่องดนตรีหลัก ๆ อย่างแมนโดลิน เบสไฟฟ้า และกลอง ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) มือเบสของวงมาพร้อมกับเบสไลน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากไลน์เบสของ John McVie แห่งวง Fleetwood Mac บัคเล่าว่าการเรียบเรียงของเพลงให้ความรู้สึกเหมือน “มีหลุมโพรงอยู่ในนั้น เพราะมันไม่มีช่วงเสียงกลางอยู่เลย มีแค่ช่วงเสียงต่ำและสูงเท่านั้น และไมค์ก็มักจะเล่นโทนเสียงต่ำด้วยการเดินเบสของเขาอยู่แล้ว” ซึ่งการเรียบเรียงเพลงในรูปแบบนี้ทำให้ตัวเพลงมีพื้นที่ว่างที่เสียงร้องกับแมนโดลินจะเข้ามาสร้างอารมณ์ได้อย่างเต็มที่ส่วนเสียงดนตรีก็ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศโอบล้อมเอาไว้นอกจากสมาชิกวงหลัก ๆ ทั้ง 4 คนคือ บิล เบอร์รี (กลอง,เพอร์คัสชัน) ปีเตอร์ บัค (กีตาร์ไฟฟ้า, แมนโดลิน) ไมค์ มิลส์ (เบส, คีย์บอร์ด,เรียบเรียง) และ ไมเคิล สไตป์ (ร้องนำและเขียนเนื้อ) แล้วก็ยังมีอีกหนึ่งสมาชิกคือ ปีเตอร์ โฮลส์แอปเปิล (Peter Holsapple) มือกีตาร์ที่ร่วมเล่นตอนออกทัวร์กับวงมาทำหน้าที่บันทึกเสียงกีตาร์อะคูสติก บัคได้เล่าถึงช่วงเวลาตอนบันทึกเสียงด้วยกันกับโฮลส์แอปเปิลว่า “มันเจ๋งสุดเลยล่ะ ปีเตอร์กับผมอยู่ในคอกเล็ก ๆ เหงื่อไหลกัน และบิลกับไมค์ก็อยู่กันในอีกห้องนึง มันให้ความรู้สึกที่มหัศจรรย์มากเลย” ส่วนเสียงเครื่องสายออร์เคสตรานั้นเรียบเรียงโดย มาร์ก บิงแฮม (Mark Bingham) ซึ่งเติมมาทีหลังโดยให้วง Atlanta Symphony Orchestra มาบันทึกเสียงที่ Soundscape Studios ในแอตแลนตา,จอร์เจีย ในเดือนต่อมา
ในด้านการอัดร้องของไมเคิล สไตป์นั้น สถานการณ์ที่ไม่เป็นใจดูเหมือนว่าจะช่วยให้ความรู้สึกหงุดหงิดใจจากในเนื้อเพลงสะท้อนออกมาอย่างใกล้เคียงกับความต้องการของสไตป์ได้เป็นอย่างดี นั่นก็เพราะในตอนที่กำลังจะอัดร้องนั้นสไตป์รู้สึกค่อนข้างหัวเสียมากที่เขาไม่สามารถถ่ายทอดบทกวีของเขาได้อย่างจริงใจในสภาพแวดล้อมที่อบอ้าวของสตูดิโอ สไตป์เล่าถึงความระอุในวันนั้นว่า “ผมเองก็รู้สึกหัวร้อนดังนั้นผมก็เลยถอดเสื้อผ้าออกและอัดเพลงนี้ในสภาพที่แทบจะเปลือยเปล่า” แม้ว่านี่จะไม่ใช่สภาพที่น่าอภิรมย์นักของการอัดเพลง แต่ก็ต้องขอบคุณกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้สไตป์สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของบทเพลงจากถ้อยคำเปี่ยมอารมณ์กวีได้อย่างดีและน่าประทับใจ
การอัดร้องกับแมนโดลินถูกบันทึกเสียงด้วยการเล่นแบบหนึ่งเทคยาวไปเลยรวดเดียว ทำให้มันมีอารมณ์ของความสดอยู่ในนั้น “ผมมีความรู้สึกภูมิใจที่จะบอกว่าเสียงทุกเสียงของแมนโดลินในเพลงนี้บันทึกแบบสด” บัคกล่าว “ผมไม่ได้ทำการอัดทับ (Overdub) เลย ถ้าคุณลองฟังดี ๆ มันจะมีท่อนนึงที่ผมอุดสายเอาไว้และมันทำให้ผมคิดได้ว่า เออดีผมจะกลับไปแก้อะไรมันไม่ได้แล้ว มันควรที่จะต้องเป็นแทร็กเล่นสดแบบนี้แหละ นี่มันเป็นไอเดียที่ดีแล้ว” และด้วยความสด ดิบ จริงใจที่มีในบทเพลงนี้ เชื่อเลยว่านี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลงนี้เข้าถึงใจของนักฟังเพลงทั่วโลก
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ถูกกำกับโดยผู้กำกับหน้าใหม่ เป็นหนุ่มวัย 30 ที่เพิ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาพยนตร์ที่ Art Center College of Design ในพาซาดีนา ที่ทำงานขายรถในช่วงซัมเมอร์เพื่อหาค่าเล่าเรียนแต่ก็เคยกำกับเอ็มวีอยู่สองเพลงให้กับ Suzanne Vega และ En Vogue และสุดท้ายเจ้าหนุ่มเชื้อสายอินเดียที่มีชื่อว่า ‘ทาเซ็ม ซิงห์ (Tarsem Singh)’ คนนี้ก็ได้รับโอกาสให้กำกับเอ็มวีของเพลงที่จะกลายเป็นตำนานอย่าง ‘Losing my Religion’ จนได้รับรางวัลจาก MTV Video Music Awards ถึง 6 รางวัล ซึ่งมีสาขา Best Video และ Best Direction อยู่ด้วย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best Short Form Video อีก และตั้งแต่นั้นมาเราก็ได้รู้จักกับทาเซ็ม ซิงห์ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์คนหนึ่งจากผลงานที่ผสมผสานจินตนาการสุดบรรเจิดให้เข้ากับภาพสะท้อนของจิตใจมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Cell (2000)’ , ‘The Fall (2006)’ หรือภาพยนตร์สโนว์ไวท์ในเวอร์ชันสุดแฟนตาซี ‘Mirror Mirror (2012)’
มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ไม่เหมือนกับเพลงอื่น ๆ ของ R.E.M. ตรงที่ไมเคิล สไตป์ตกลงที่จะร้องลิปซิงก์ไปด้วยทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาปฏิเสธที่จะลิปซิงก์มาโดยตลอด ส่วนแนวคิดของเอ็มวีนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างความคิดที่สไตป์และซิงห์จินตนาการไว้ สไตป์ต้องการให้มันดูเป็นเอ็มวีที่เล่นกันสด ๆ ตรงไปตรงมาคล้ายกับเพลง ‘Nothing Compares 2 U’ ของ Sinéad O’Connor ส่วนซิงห์นั้นต้องการสร้างเอ็มวีให้ออกมาเหมือนการสร้างหนังอินเดียคือมีการผสมผสานกันระหว่าง “ความเมโลดรามาและความฝัน” นอกจากนี้ซิงห์ยังได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นของเจ้าพ่อสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ เรื่อง “A Very Old Man with Enormous Wings” ที่ว่าด้วยเรื่องของทูตสวรรค์ที่เข้ามาอยู่ในเมืองและชาวบ้านต่างก็มีปฏิกิริยาต่อเขาต่าง ๆ นานา ซึ่งเชื่อว่า กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์คงมีอิทธิพลต่อทาเซ็ม ซิงห์มากเพราะภาพยนตร์ที่เขากำกับส่วนใหญ่ก็มีความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างชัดเจน
ภาพในเอ็มวีเริ่มต้นจากห้องที่หม่นมืดมีหยดน้ำไหลมาจากขอบหน้าต่าง ซึ่งน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Sacrifice’ ของผู้กำกับระดับตำนานชาวรัสเซีย ‘อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี’ บัค, เบอร์รี และมิลส์วิ่งไปทั่วห้อง ในขณะที่สไตป์ยังคงนั่งนิ่งอยู่หน้าเหยือกนมที่รอคอยหยาดยดของน้ำที่หลั่งไหลลงมาจากขอบหน้าต่าง ก่อนที่มันจะหล่นลงมาแตกกระจายอยู่เบื้องล่าง จากนั้นบทเพลงก็เริ่มบรรเลงขึ้น มู้ดและโทนของงานยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านอกจาก กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และ อังเดรย์ ทาร์คอฟสกีแล้ว ซิงห์ยังได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดของจิตรกรชาวอิตาลี ‘คาราวัจโจ’ อีกด้วย จะเห็นว่าในหลายๆ ฉากจะจำลองเรื่องราวและการจัดองค์ประกอบมาจากภาพของคาราวัจโจ และยังมีเทพฮินดูหลายองค์ปรากฏอยู่ในเอ็มวีตัวนี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบางช็อตที่ทาเซ็ม ซิงห์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะยุคปฏิวัติของรัสเซียด้วย
‘Losing My Religion’ ไม่เพียงแต่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทั้งของวง R.E.M. และ ทาเซ็ม ซิงห์ แต่ยังเป็นบทเพลงที่มีความสดใหม่และพิถีพิถันทั้งในด้านงานเพลง เนื้อร้องและดนตรี อีกทั้งเอ็มวียังทำออกมาได้อย่างแปลกใหม่และมีรายละเอียดที่น่าสนใจและไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่บทเพลงนี้ก็ยังคงเป็นตำนานของวงการดนตรีให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้อยู่เสมอ
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส