‘Frederik Lou Ottens’ หรือ ‘Lou Ottens’ (ลู ออตเทนส์) อดีตวิศวกรและนักประดิษฐ์ของบริษัท ‘Philips‘ บิดาผู้ให้กำเนิดฟอร์แมตการฟังเพลงขนาดกะทัดรัดที่ฮิตที่สุดในโลกในช่วงหนึ่ง (และกลับมาฮิตในปัจจุบันอีกครั้ง) อย่าง ‘เทปคาสเซ็ตต์’ (Tape Cassette) ชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) เสียชีวีตแล้ว เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา สิริรวมอายุ 94 ปี

#beartaiBUZZ จึงขอนำทุกท่านไปย้อนดูต้นกำเนิดของเทปคาสเซ็ตต์ เพื่อรำลึกถึงบิดาผู้ให้กำเนิดเทปคาสเซ็ตต์กันครับ

เทปคาสเซ็ตต์
เทปคาสเซ็ตต์อัลบั้ม ‘Pillow war’ อัลบั้มที่ 3 ของ Polycat หนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่
ที่มีการผลิตอัลบั้มในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์ออกมาด้วย

ในสมัยอดีต การบันทึกข้อมูลด้วย ‘แถบเทปแม่เหล็ก’ (Magnetic tape) นั้นแทบจะไม่ได้ใช้เพื่อการฟังเพลงเลยด้วยซ้ำ แต่มักถูกใช้ในการบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในรูปของเทปม้วนใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าเทปรีล (Reel-to-reel tape) ด้วยความที่เครื่องบันทึกและอ่านในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่ และมีราคาแพงมาก ทำให้เทปแม่เหล็กยังเป็นเพียงฟอร์แมตที่นิยมใช้กันในสถานีวิทยุ และสตูดิโอบันทึกเสียงเสียเป็นส่วนใหญ่

เทปคาสเซ็ตต์
เครื่องเล่นเทปแม่เหล็ก (Magnetic tape)

นับตั้งแต่ที่มีการคิดค้นเทปแม่เหล็กขึ้นในปี 1928 จริง ๆ ความพยายามในการคิดค้นเทปแม่เหล็กให้มีขนาดเล็ก เพื่อที่จะใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าในสมัยนั้นก็ยังมีขนาดที่ใหญ่และมีราคาแพงอยู่ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคทั่วไปสักเท่าไร

เครื่องบันทึกแถบแม่เหล็กที่ใช้ในสำนักงานในอดีต

แม้ว่าบริษัท ‘RCA Victor‘ บริษัทผลิตเครื่องเสียง และสื่อบันทึกเสียงของสหรัฐอเมริกา จะคิดค้นตลับเทปขนาด 5×7 นิ้ว ที่เรียกว่า ‘8-Track‘ หรือที่เรียกกันในวงการว่า ‘เทปแปดแทร็ก’ ออกมาก่อนแล้วในปี 1958 แต่ด้วยความที่มันบันทึกข้อมูลได้แค่ 8 แทร็ก (หรือประมาณ 45 นาที) ขนาดที่ใหญ่เทอะทะ (ประมาณสองเท่าของเทปคาสเซ็ตต์) เล่นเดินหน้าได้อย่างเดียว กรอไปกลับ ปรับสปึด หรือข้ามแทร็กไปฟังเพลงที่ชอบไม่ได้ และมีคุณภาพเสียงในระดับปานกลาง (พอฟังได้ แต่ไม่ได้มีมิติเสียงอะไรเท่าไหร่) ก็ทำให้ได้รับความนิยมเฉพาะในวงจำกัดแคบ ๆ เฉพาะคนที่มีเครื่องเล่นเทปชนิดนี้ในรถยนต์เท่านั้น

เทปคาสเซ็ตต์
เทป 8-Track อัลบั้ม “Off the wall” ของ Michael Jackson
เทปคาสเซ็ตต์
ส่วนใหญ่ Tape Deck มักนิยมใช้ในเครื่องเสียงรถยนต์
เทปคาสเซ็ตต์
โครงสร้างภายในของ Tape Deck ภายในจะมีเนื้อเทปที่ต่อเป็นสายเดียวกันตลอดทั้งม้วน
ทำให้สามารถเล่นวนได้ไม่มีสิ้นสุด แต่ไม่สามารถกรอไปกลับ หรือปรับสปีดความเร็วในการเล่นได้

ออตเทนส์เริ่มเข้าทำงานกับ Philips แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 1952 และ 8 ปีต่อมา เขาได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Philips จนกระทั่งในปี 1962 หลังจากที่ ออตเทนส์ได้ทดลอง ประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่แก้ปัญหาเดิม ๆ ของเทปแม่เหล็ก ที่มียุ่งยากในการใช้งาน จัดเก็บยาก และขนาดม้วนที่ใหญ่เทอะทะ ให้อยู่ในรูปของม้วนเทปที่ขดรวมอยู่ในตลับพลาสติกเล็ก ๆ ที่มีขนาดเพียง 3×4 นิ้ว และหนาเพียง 3/8 นิ้วเท่านั้น จนสามารถใส่ในกระเป๋าเสื้อได้ และให้ชื่อว่า ‘เทปคาสเซ็ตต์’

เทปคาสเซ็ตต์

โคยคำว่า ‘คาสเซ็ตต์”‘(Cassette) เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ตลับหรือกล่องเล็ก ๆ ‘ โดยเขาได้สร้างต้นแบบแรกของเทปคาสเซ็ตต์รุ่นใหม่ขึ้นจากไม้ หลังจากนั้น Philips จึงได้เริ่มต้นผลิตเทปคาสเซ็ตต์ออกมาจำหน่ายครั้งแรกในยุโรปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1963 พร้อมคำโฆษณาที่ว่า “เล็กกว่าซองบุหรี่” Smaller than a pack of cigarettes!)

เทปคาสเซ็ตต์
อัลบั้ม Love for Sale โดย Eartha Kitt หนึ่งในอัลบั้มแรก ๆ ที่มีการผลิตเป็นเทปคาสเซ็ตต์
เทปคาสเซ็ตต์
หน้าโฆษณาเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตต์ในรถของ Philips

แม้ว่าเทปคาสเซ็ตต์ในสมัยแรก ๆ จะยังมีคุณภาพเสียงในระดับที่เรียกว่า “พอฟังได้” แต่ด้วยการที่ Philips รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่จากฝั่งเอเชียอย่าง Sony ก็สนใจอยากจะผลิตเทปคาสเซ็ตต์ขายบ้าง แต่พอผลิตออกมาแล้ว กลับมีรูปแบบและคุณภาพที่แตกต่างจากต้นฉบับที่ผลิตโดย Philips พอสมควร

นั่นจึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองบริษัทต้องมาทำความตกลง และจดสิทธิบัตรร่วมกัน เพื่อให้มีมาตรฐานในการผลิตและคุณภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ทำให้เทปคาสเซ็ตต์ได้รับความนิยมเหนือฟอร์แมตอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว จนสามารถขึ้นมาเป็นฟอร์แมตหลักที่เทียบเท่า และทำยอดขายแซงแผ่นเสียงไวนิลได้ในที่สุด และกลายมาเป็นฟอร์แมตการฟังเพลงสามัญประจำบ้าน แถมเครื่องเล่นก็มีหลากหลายตั้งแต่ขนาดพกพา เครื่องเล่นเทปมินิคอมโป จนไปถึงเครื่องเล่นสเตอริโอขนาดใหญ่ และเครื่องเล่นเทปใบ้ (Tape Deck) สำหรับนักฟังเพลงมืออาชีพ

เทปคาสเซ็ตต์
Tape Deck หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “เทปใบ้” เพราะเป็นเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตต์ที่ไม่มีภาคขยาย (Amprifier) และลำโพงในตัว
ต้องต่อภาคขยายและลำโพงแบบแยกส่วนเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

โดยในระหว่างนั้น คุณภาพเสียงของเทปคาสเซ็ตต์เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นฟอร์แมตหลักในการฟังเพลงของคนทั่ว ๆ ไปในช่วงทศวรรษ 1970-1990 โดยเฉพาะในยุค 80’s จากการมาของเครื่องเล่นเทปพกพาขนาดเล็กของ Sony ที่เรียกว่า ‘Walkman’

เทปคาสเซ็ตต์อัลบั้ม “Pillow war” อัลบั้มที่ 3 ของ Polycat หนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่ที่มีการผลิตอัลบั้มในรูปแบบเทปคาสเซ็ตต์ออกมาด้วย
เครืองเล่นเทปคาสเซ็ตต์ TPS-L2 หรือ Sony Walkman รุ่นแรกของโลก

ออตเทนส์ได้เปิดเผยความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“สำหรับผม สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ คนที่ทำวอล์กแมนได้ กลับไม่ใช่ Phillips แต่เป็น Sony”

หน้าโฆษณาเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตต์พกพาของ Philips ก่อนที่ Sony จะส่งเครื่องเล่น Walkman ออกมาตีตลาด

นับตั้งแต่มีการผลิตเทปคาสเซ็ตต์ออกมาในปี 1963 ยอดขายเทปคาสเซ็ตต์ทั้งโลก น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 1 แสนล้านตลับ ก่อนที่จะเริ่มเสื่อมความนิยมจากการมาของฟอร์แมตใหม่ที่มีชื่อว่า ‘CD’ (Compact Disc) ในปี 1982 ซึ่งจริง ๆ แล้ว ออตเทนส์เองนี่แหละที่ร่วมมือกับ Sony อยู่เบื้องหลังการคิดค้นซีดีที่สามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่า และพกพาได้สะดวกกว่า แถมยังให้ความมั่นใจว่า “นับแต่นี้เป็นต้นไป แผ่นเสียงแบบเดิม ๆ จะกลายเป็นของล้าสมัย”

ออตเทนส์ทำงานกับ Philips ที่ทำงานแรกและที่ทำงานเดียวตลอดชีวิต จนกระทั่งเกษียณในปี 1986 ซึ่งเขาเคยตอบคำถามในการให้สัมภาษณ์ว่า เขาภูมิใจไหมที่สิ่งประดิษฐ์ของเขาสามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงดนตรีได้ เขาได้ให้คำตอบว่า

“ผมไม่ได้ภูมิใจกับสิ่งนี้เท่าไหร่หรอก สิ่งประดิษฐ์ทั้งคู่ (เทปคาสเซ็ตต์และซีดี)
ล้วนแต่เป็นความพยายามของทีมงานต่างหาก”

เทปคาสเซ็ตต์
Lou Ottens บิดาผู้ให้กำเนิดเทปคาสเซ็ตต์

และเขายังได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการกลับมาของเทรนด์เทปคาสเซ็ตต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า

“สำหรับผม…ไม่มีอะไรเสียงดีเท่ากับซีดีอีกแล้วล่ะ”


อ้างอิง
https://bit.ly/3rLXmiU
https://bit.ly/2PHmv06
https://bit.ly/2OmHm8F
https://bit.ly/3ekUWUO
https://bbc.in/3l236mm
https://bit.ly/3qDQdzU

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส